น้ำหนักตัวแม่ท้อง ตั้งแต่วันแรกที่ท้องจนถึงวันคลอดควรน้ำหนักขึ้นเท่าไหร่ดี
น้ำหนักตัวคนท้อง น้ำหนักตัวแม่ท้อง เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่คุณหมอใช้ประเมินสุขภาพแม่ท้อง และ ทารกในครรภ์ได้นะคะ แม่ท้องควรน้ำหนักขึ้นเท่าไหร่ตลอดการตั้งครรภ์ เรามีคำแนะนำ พร้อมวิธีดูแลตัวเองอย่างถูกต้องทั้งการเพิ่มน้ำหนักตัวอย่างเหมาะสม การกินอาหาร หรือ ในกรณีที่น้ำหนัดตัวแม่ท้องเกินมาตรฐานค่ะ
แม่ท้องควรน้ำหนักขึ้นเท่าไหร่ ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน
โดยเฉลี่ยแล้ว แม่ตั้งครรภ์ควรจะหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยประมาณ 12.5 กิโลกรัม โดยการตั้งครรภ์แต่ละไตรมาสก็จะมีน้ำหนักตัวแม่ท้องเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน ดังนี้ค่ะ
- น้ำหนักตัวแม่ท้องช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1 อายุครรภ์ 1-3 เดือน น้ำหนักตัวว่าที่คุณแม่ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์จะเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก บางคนน้ำหนักอาจจะลดลงด้วยซ้ำ เพราะมีอาการแพ้ท้องจนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ ตลอด 3 เดือน ช่วงนี้ถ้าน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นก็มักไม่เกิน 2 กิโลกรัม
- น้ำหนักตัวแม่ท้องช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 อายุครรภ์ 4-6 น้ำหนักจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ประมาณสัปดาห์ละ 0.25 กิโลกรัม หรือเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรกคุณอาจดูแค่อิ่มเอิบขึ้นนิด ๆ ได้เวลาใส่ชุดคลุมท้องแล้ว แต่อาจมีคุณแม่บางคนพอหายแพ้ท้องก็อยากกินโน่นกินนี่แบบยั้งไม่อยู่
- น้ำหนักตัวแม่ท้องช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 อายุครรภ์ 7-9 ช่วงนี้รูปร่างของคุณจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม หรือประมาณเดือนละ 2-2.5 กิโลกรัม ในเดือนสุดท้ายน้ำหนักจะคงที่หรือลดลงเล็กน้อย ช่วงนี้ลูกจะเจริญเติบโตเร็วมาก ทั้งทางสมองและร่างกายและเป็นช่วงที่คุณเจริญอาหารมากที่สุดด้วย
หมายเหตุ:
- ในกรณีที่น้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วงตั้งท้องได้ 2-4 เดือน หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่า 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในเดือนที่ 4-6 หรือมีน้ำหนักเพิ่มมากกว่าครึ่งกิโลกรัม ต่อสัปดาห์ในเดือนที่ 7-9 อย่ารอช้า รีบไปพบแพทย์ดีกว่าค่ะ
- สำหรับคุณแม่ลูกแฝดก็ไม่ได้หมายความว่าน้ำหนักจะต้องเพิ่มเป็น 2 เท่าหรือ 3 เท่าตามจำนวนลูกน้อยในครรภ์ แต่อาจจะหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ คือประมาณ 17-22 กิโลกรัม
แม่ท้องน้ำหนักตัวมากเกินไปต้องทำอย่าง
แม่ท้องที่น้ำหนักตัวมากกว่ามาตรฐานอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ รวมถึงการคลอดด้วยค่ะ เช่น ทารกตัวโตคลอดลำบาก คุณแม่เหนื่อยง่าย ปวดหลังมากขึ้น เส้นเลือดขอดมากขึ้น ถ้าผ่าคลอดก็จะทำให้แผลผ่าตัดติดช้า เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดได้ง่าย พอคลอดแล้วยังลดน้ำหนักให้หุ่นเข้าที่ได้ยากอีกด้วย
ถ้าแม่ท้องน้ำหนักเพิ่มมากเกินไป อย่าใช้วิธีอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักนะคะ เพราะลูกจะถูกจำกัดอาหารไปด้วย ทำให้ลูกขาดอาหารและเสี่ยงต่อการแท้งมากขึ้น ถ้ารู้ตัวว่าน้ำหนักมากเกินไป พยายามเลือกกินให้ถูกสัดส่วนและควบคุมปริมาณอาหารทันที เป็นวิธีเดียว ที่จะควบคุมน้ำหนักของแม่ตั้งครรภ์โดยไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
ส่วนคุณแม่ที่ผอมแห้งแรงน้อย ท้องแล้วหุ่นยังแบบบางเหมือนนางแบบก็ใช่ว่าจะดี เพราะถ้าน้ำหนักคุณไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน ก็เป็นอันตรายกับลูกอีก ลูกจะมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ เกิดมาตัวเล็กมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของลูกอย่างแน่นอนค่ะ
อาหารคนท้อง แม่ท้องควรกินอย่างไรให้น้ำหนักตัวได้มาตรฐาน ได้สารอาหารดีสำหรับทารกในครรภ์
- แม่ท้องกินอาหารธรรมชาติ ควรรับประทานอาหารธรรมชาติ หรือที่ใกล้เคียงธรรมชาติให้มากที่สุด คือ อาหารสดใหม่ ผ่านขั้นตอนการปรุงน้อย เพื่อคงคุณค่าอาหารไว้ให้มากที่สุด ควรหลีกเลี่ยงอาหารบรรจุกระป๋องทุกชนิด
- แม่ท้องกินเพิ่มขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรกินอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มขึ้นอีก 500 แคลอรีต่อวัน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายและการเติบโตของลูก
- แม่ท้องกินบ่อย ๆ แม่ตั้งครรภ์มักจะกินไม่ได้มากเท่ายามปกติ เพราะระบบการย่อยเปลี่ยนไปและกระเพาะถูกเบียด แทนที่จะกินมื้อใหญ่ 2-3 มื้ออย่างเมื่อก่อน ควรแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อย ๆ วันละ 5-6 มื้อแทน
- แม่ท้องกินให้ครบคุณค่า ควรเน้นอาหารประเภทโปรตีน เพื่อช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของลูกน้อย และคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานในการทำกิจวัตรประจำวันของคุณ แต่ต้องไม่ลืมที่จะเลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ให้เพียงพอ โดยเฉพาะธาตุเหล็กซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยให้ไม่หงุดหงิด เหนื่อยง่าย และยังลดอาการแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ด้วย