ภาวะทารกตาและตัวเหลือง อันตรายที่พ่อแม่ควรรู้
ลูกแรกเกิดตัวเหลือง ตาเหลืองเกิดจากอะไร ลูกตัวเหลืองอันตรายไหม หรือที่มีความเชื่อว่า แม่ท้องห้ามกินของสีเหลือง ให้ลูกดื่มน้ำเปล่าเยอะ ๆ จะช่วยป้องกันอาการตัวเหลืองได้ เรื่องนี้จริงหรือเท็จแค่ไหน คุณหมอมีคำแนะนำในการดูแลลูกทารกแรกเกิดที่มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองมาบอกค่ะ
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด คืออะไร
ภาวะทารกตัวเหลือง ตาเหลือง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารกแรกเกิด 2-3 วันหลังคลอดค่ะ โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนด อาการเกิดจากมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” ในเลือดสูงกว่าปกติ บิลิรูบินนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาในร่างกายของคนปกติ บิลิรูบินในเลือดจะผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ตับและถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ
ภาวะตัวเหลืองมีอาการอย่างไร
- ตาของทารกจะดูมีสีเหลือง
- ผิวหนังของทารกจะดูมีสีเหลือง
เด็กแต่ละคนจะมีระดับของความเหลืองหรือที่เรียกว่าระดับบิลิรูบินไม่เหมือนกัน บางคนเป็นน้อยถ้าไม่สังเกตก็จะไม่ทราบ บางคนก็มีระดับความเหลืองสูงจนคุณแม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า
สาเหตุของตัวเหลืองแบ่งเป็น 2 กลุ่ม
- ภาวะตัวเหลืองปกติ ทารกมักไม่มีอาการอื่นร่วมด้วยและจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่มีอันตราย
- ภาวะตัวเหลืองผิดปกติ เนื่องจากมีปัญหาบางอย่าง เช่น
- ปัญหาของกลุ่มเลือดของแม่กับลูกที่ไม่สัมพันธ์กัน พบในคู่ที่แม่มีเลือดหมู่โอกับลูกหมู่เลือดเอหรือบี หรือ คู่ที่แม่มีหมู่เลือด Rh ลบกับลูกหมู่เลือด Rh บวก
- ปัญหาจากการขาดเอนไซม์ในเม็ดเลือดแดง ชื่อ G6PD จึงทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ
- ปัญหาทีสัมพันธ์กับการกินนมแม่ เช่น การที่ทารกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ
- ปัญหาอื่นๆ เช่น โรคท่อน้ำดีตีบ โรคตับ ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กําเนิด ฯลฯ
ภาวะตัวเหลืองปกติในเด็ก จะพบบ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากระบบการทำงานของตับยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ส่วนมากจะหายไปได้เอง
การรักษาภาวะตัวเหลืองหลังคลอด
การรักษาภาวะตัวเหลืองหลังคลอดขึ้นกับความรุนแรงค่ะ หากเกิดจากภาวะตัวเหลืองปกติ ไม่ต้องทำอะไร มักจะหายเอง แต่ในกรณีที่ตัวเหลืองชัดเจน และตรวจพบว่ามีระดับบิลิลูบินสูงถึงเกณฑ์ที่อาจจะเกิดอันตรายได้ คุณหมอจะพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ตามความเหมาะสม ได้แก่ การส่องไฟรักษา (แสงแดดตามธรรมชาตินั้น ไม่สามารถรักษาภาวะตัวเหลืองได้) ในกรณีที่ระดับบิลิรูบินมีค่าสูงมากๆหรือเริ่มมีอาการทางสมอง จำเป็นจะต้องลดระดับบิลิรูบินอย่างรวดเร็ว อาจต้องได้รับการรักษาด้วยการเปลี่ยนถ่ายเลือด
ป้องกันภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
ภาวะตัวเหลืองในเด็กไม่สามารถป้องกันได้ แต่หากคุณแม่มีการเตรียมพร้อมที่ดี ก็อาจจะลดโอกาสเกิดภาวะตัวเหลืองของลูกน้อยได้ เช่น
- การฝากครรภ์ ควรเริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อจะได้ให้คุณหมอตรวจประเมินความเสี่ยง ตรวจเลือดหาความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือตรวจหาภาวะติดเชื้อในมารดา เพราะโรคบางอย่างหากวินิจฉัยได้เร็ว ก็สามารถรักษาได้หลังคลอด
- มารดาควรให้ลูกได้ดูดนมเร็วที่สุด ให้ลูกดูดบ่อยๆ เพราะจะทำให้ลำไส้ของลูกเคลื่อนตัวทำงานได้ดี ช่วยขับสารสีเหลืองออกไปได้ดี
ความเชื่อเรื่องภาวะตัวเหลือง ตาเหลืองของทารกแรกเกิด
- ทารกเพิ่งคลอดห้ามให้ใส่เสื้อผ้าสีเหลือง จะทำให้ทารกตัวเหลืองจริงหรือไม่
ไม่จริงค่ะ แต่บางครั้งแพทย์บางท่านจะแนะนำในทารกที่ยังต้องสังเกตอาการตัวเหลือง ให้หลีกเลี่ยงการใส่ขุดสีเหลือง เพื่อให้คุณแม่ไม่สับสนและง่ายต่อการสังเกตว่าลูกยังมีอาการตัวเหลืองจริงหรือไม่
วิธีสังเกตว่าลูกตัวเหลืองหรือไม่ อีกวิธีคือให้เด็กอยู่ในห้องที่มีแสงธรรมชาติเพียงพอ ลองใช้นิ้วกดลงบนผิวหนังเด็กเบา ๆ บริเวณแขน หรือ ขา เมื่อปล่อยมือควรจะเห็นสีขาวซีด แต่ถ้าเห็นเป็นสีเหลือง แสดงว่าลูกยังคงตัวเหลืองจริง หากคุณหมอมีนัดติดตามอาการ ก็ควรไปตามนัด
- ทารกตัวเหลือง ต้องให้กินน้ำ ตัวจะได้ไม่เหลืองจริงไหม
ไม่จริงค่ะ การกินน้ำไม่ช่วยลดสารเหลืองในร่างกาย เพราะสารพวกนี้ไม่ละลายน้ำ และอาจเกิดอันตรายหรือเกิดผลเสียมากกว่าด้วยซ้ำ เช่น
- ขาดสารอาหารที่จำเป็น เพราะเมื่อป้อนน้ำในปริมาณมาก มักจะทำให้ทารกกินนมได้น้อยลง
- มีโอกาสติดเชื้อทางเดินอาหารจากความสะอาดของภาชนะ และจากน้ำที่สะอาดไม่เพียงพอค่ะ
การรับข่าวสารต่าง ๆ จากคุณแม่ด้วยกันหรือการพูดคุยกันในกลุ่มไลน์หรือเฟซบุ๊ก คุณแม่ต้องคิดไตร่ตรองสอบถามแพทย์ประจำตัว หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้ ก่อนที่จะทำให้ลูกนะคะ เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน เขาอาจจะทำได้กับลูกของเขา แต่อาจจะไม่เหมาะกับลูกของเรา คุณหมอเป็นกำลังใจให้คุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย เลี้ยงลูกอย่างมีความสุขด้วยสติ แค่นี้ลูกก็จะมีสุขภาพกายและใจที่ดีแน่นอนค่ะ
รักลูก Community of The Experts
พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม