เมื่อลูกเข้าโรงเรียน หนึ่งในสิ่งที่พ่อแม่กังวลใจ คือ กลัวลูกถูกเพื่อนแกล้ง หรือลูกไปแกล้งเพื่อน อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่มองข้ามได้นะคะ เพราะปัญหานี้อาจจะฝังใจและอยู่กับเด็กๆ ไปจนโตได้ค่ะ หากมีเรื่องแกล้งกันขึ้นมา ควรรีบหาทางแก้ปัญหากับครูที่โรงเรียนเลยค่ะ
ถ้าเห็นเด็กรังแกกัน ให้แยกสองฝ่ายออกจากกันในระยะเวลาสั้นๆ ก่อน เพื่อให้อารมณ์ของเขาเย็นลง หากรู้ทีหลัง ต้องรีบแจ้งผู้ปกครองของเด็กที่ถูกแกล้งทันที ให้คำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันให้เด็กที่ถูกรังแกอุ่นใจ เช่น "ครูรักหนูนะ ครูจะปกป้องหนูเหมือนคุณพ่อคุณแม่ดูแลหนู ไม่ให้ใครมารังแกหนูอีก" ปรับพฤติกรรมของเด็กจอมรังแก สอนให้เขารู้จัก 'ขอโทษ' และบอกถึงผลเสียเมื่อรังแกผู้อื่น ให้เขาสำนึกผิดจากใจ สอนผู้ที่ถูกรังแกให้รู้จัก 'การให้อภัย' เพราะจะช่วยพัฒนาทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อตัวเขาเองจะได้ไม่ผูกใจเจ็บจนบั่นทอนพัฒนาการ อาจให้ทั้งสองฝ่ายช่วยเสนอแนะทางออก โน้มน้าวให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ขอโทษกันและสัญญากับครูว่าจะไม่ทำอีก อย่ายื่นข้อเสนอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรให้ผู้ปกครองเป็นคนหาทางออกที่พึงพอใจก่อน ครูต้องเป็นกลาง
สังเกตขอบเขตการถูกรังแกของเด็กว่ารุนแรงและบ่อยแค่ไหน ถ้ามีพฤติกรรมทำซ้ำหรือร้ายแรงจนน่าห่วง ขอให้คุณครูรีบสื่อสารกับพ่อแม่ของเด็กทันที ท่าทีในการสื่อสารของคุณครูก็สำคัญค่ะ ใช้วิธีพูดคุยในทำนองบอกเล่าเรื่องราวและปรึกษา แต่อย่าปกปิดเหตุการณ์ หรือแทรกแซงสถานการณ์ อย่าตำหนิย้ำถึงปมด้อยของเด็กทั้งสองฝ่าย เพราะจะทำให้พ่อแม่ร้อนใจ ให้หาทางออกที่ดีต่อเด็กและพ่อแม่ของเด็กที่ถูกรังแกมากที่สุด
มีท่าทีที่ดี เมื่อคุณครูบอกเล่าถึงพฤติกรรมของลูกเมื่ออยู่โรงเรียน เพราะนั่นแสดงว่าคุณครูดูแลเอาใจใส่ลูกคุณเป็นอย่างดี อย่าติดป้ายเด็กคู่กรณีว่าเป็นเด็กมีปัญหา แต่เขาอาจทำผิดพลาดได้ และมีโอกาสที่จะสำนึกผิดได้ ควรหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียน ด้วยการพูดคุย เล่ารายละเอียด เพื่อร่วมกันหาทางออก หากเหตุการณ์รุนแรงมาก และอีกฝั่งไม่ได้มีท่าทีสำนึกผิดใดๆ ต้องให้กฎหมายเข้าช่วยปรับพฤติกรรมเด็ก เพื่อเป็นตัวอย่างว่าอย่าไปแกล้งใครรุนแรงแบบนี้ และอาจย้ายโรงเรียนลูกไปในที่ๆ ดีกว่า เป็นทางออกสุดท้ายค่ะ
บอกลูกอย่าอยู่ใกล้ๆ เพื่อนที่ชอบแกล้งตอนที่ไม่มีเพื่อนหรือคุณครูอยู่ด้วย เพราะจอมแกล้งเขาอาจจะหมั่นเขี้ยว อยากรังแกเพื่อนคนเดิมซ้ำอีก ไม่ตอบโต้ด้วยการใช้กำลังหรือคิดแก้แค้น เพราะจะยิ่งทำให้เรื่องไปกันใหญ่ หากเจอเหตุการณ์รุนแรงมาก เด็กที่ถูกรังแกต้องได้รับการเยียวยาจิตใจกับจิตแพทย์เด็ก
ทั้ง พ่อแม่และคุณครู ล้วนเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยสร้างกำลังใจให้เด็ก สอนเด็กๆ ให้มีความเชื่อมั่น และกล้าปกป้องตัวเองเมื่อถูกรังแก
ย้ำกับเด็กว่า 'ถึงเพื่อนคนนั้นจะชอบรังแกหนู แต่เพื่อนคนอื่นกับครูรักหนูมากนะ' แต่อย่าลืมว่าต้องไม่ใช่การยุหรือผลักดันให้หนูตอบโต้ หรือหันมาใช้พฤติกรรมไม่น่ารักเหมือนที่เขาถูกเพื่อนทำนะคะ แต่งตั้งให้เด็กที่รังแกผู้อื่น เป็นผู้ช่วยคุณครูดูแลเพื่อนๆ เขาจะได้แก้นิสัยของตัวเองและเพื่อนที่เป็นจอมรังแกได้ ครูต้องดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หัวรุนแรง ควรได้รับการเฝ้ามองพฤติกรรมมาก
หากลูกถูกแกล้งไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงมาก พ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัยของลูก หาทางออกของผู้ใหญ่แล้ว อย่าลืมรักษาจิตใจของลูกด้วยนะคะ เพราะการถูกแกล้งส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กในระยะยาวมากๆ ค่ะ