องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยข้อมูลว่าแต่ละปีวัคซีนช่วยป้องกันโรคภัยต่างๆ และลดการเสียชีวิตของมนุษย์ได้มากถึง 2-3 ล้านคน และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 ล้านคน หากมีการพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
เด็กทารกควรได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิดเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของเขา โดยเฉพาะกลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น โรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบ โปลิโอ ที่ก่อให้เกิดทั้งการเจ็บป่วยเรื้อรัง ความพิการ และเสียชีวิตได้
ดังนั้นวิธีหนึ่งที่ป้องกันลูกน้อยจากโรคต่างๆ ที่ง่าย และได้ผลดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนให้เขา โดยเฉพาะวัคซีนรวม 6 โรค ที่จะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้ลูกรักเจริญเติบโตสมวัย
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แนะนำพ่อแม่ให้พาลูกไปฉีดวัคซีนตามวัยในแต่ละปี เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคต่างๆ ที่อาจเกิดกับลูก
ซึ่งเด็กทารกแรกเกิด – 12 เดือนต้องฉีดวัคซีนหลายเข็มเพื่อป้องกันหลายๆ โรคที่อาจเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนรวมจึงถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับครอบครัวยุคนี้มาก
ฉีดเข็มเดียว ไม่ต้องเจ็บตัวบ่อย : เนื่องจากเป็นวัคซีนรวม 6 โรค ลูกจึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหลายๆ เข็ม ทำให้ลดจำนวนครั้งของการฉีด ช่วยให้ลูกเกิดความกลัวน้อย เพราะฉีดยาเพียงครั้งเดียว แต่ได้รับวัคซีนหลายชนิด
ประหยัด : ประหยัดทั้งเงิน ประหยัดทั้งเวลา ลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ทั้งค่าวัคซีน ค่าเดินทางไปโรงพยาบาล
ครอบคลุมหลายโรค : พ่อแม่มั่นใจได้ว่าลูกจะได้รับการปกป้องอย่างดีจากวัคซีนป้องกันโรคหลายๆ โรคในคราวเดียว ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมฉีดวัคซีนโรคใดโรคหนึ่ง ลดความสับสนของพ่อแม่ เมื่อต้องพาลูกไปรับวัคซีนหลายครั้ง
วัคซีนรวมมีความปลอดภัยสูง : เพราะรูปแบบของวัคซีนมีความปลอดภัยสูง ลดปัญหาการปนเปื้อนของยา และมีผลข้างเคียงน้อย
การฉีดวัคซีนรวม 6 โรค สามารถฉีดในช่วงอายุ 2-4-6 เดือนเพื่อภูมิต้านทานที่ดี ทำให้ลูกรักมีการเจริญเติบโตสมวัย นำไปสู่การเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีของลูกรัก
วัคซีนรวม 6 โรคที่รวมเอาไว้ในเข็มเดียว ช่วยป้องกันการติดต่อโรคดังนี้
โรคคอตีบ(Diphtheria)เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อได้จากการไอ จาม สัมผัสกัน ก่อให้เกิดอาการอวัยวะในลำคอบวม หายใจลำบาก กล้ามเนื้ออักเสบ เป็นอันตรายต่อระบบหายใจ
โรคบาดทะยัก(Tetanus) เป็นโรคติดต่อจากแผลติดเชื้อที่เป็นพิษต่อระบบประสาท เกิดอาการเกร็งกระตุกขากรรไกรแข็ง เจ็บปวดกล้ามเนื้อ เช่น แผลอักเสบจากสะดือเด็กที่ไม่สะอาด ทำให้ติดเชื้อบาดทะยักได้
โรคโปลิโอ (Polio) เป็นโรคที่ติดต่อจากการกินหรือดื่มน้ำปนเปื้อนเชื้อโรค ก่อเกิดอาการแขนขาลีบ อ่อนแรง เป็นอัมพาต สมองอักเสบ หายใจไม่ได้ และเสียชีวิตได้
โรคตับอักเสบบี (Hepatitis B) ติดต่อได้ง่ายจากแม่สู่ลูก หรือติดต่อจากเลือดและสิ่งคัดหลั่ง เด็กที่รับเชื้ออาจกลายเป็นพาหะแพร่สู่ผู้อื่นได้ด้วย ต้นเหตุของอาการตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับได้
โรคไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ติดต่อง่าย ก่ออาการหายใจติดขัด ไอเป็นชุดจนสำลัก ปอดบวม อาจมีอาการแทรกซ้อนทางสมอง ทำให้ชัก สมองพิการได้
โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ (Hib) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจากแบคทีเรียฮีโมฟิลัส อินฟลูเอนซ่า ชนิดบี หรือ เชื้อฮิบ ซึ่งมีความรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
1. ตรวจสอบกำหนดนัดรับวัคซีน และนำสมุดบันทึกสุขภาพไปด้วยทุกครั้ง
2. บอกลูกว่าจะพาไปฉีดยา พูดคุยกับลูกให้ลูกรับรู้ แม้ว่าลูกยังเล็กก็ตาม บอกลูกว่าการฉีดยาจะทำให้ลูกแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย
3. อาบน้ำ เตรียมตัวลูกให้เรียบร้อย
4. เตรียมของเล่นที่ช่วยดึงดูดความสนใจของลูกระหว่างฉีดยา
5. ทำความคุ้นเคย เช่น เอากระบอกฉีดยาของเล่นมาลองฉีดยิงน้ำ พ่นระบายสี เป็นต้น
6. หลอกล่อลูกด้วยการร้องเพลงหลอก คุยหลอก เมื่อได้จังหวะก็ให้คุณหมอฉีดปั๊บเข้าไปเลย เด็กที่ถูกล่อหลอกอาจจะลืมร้องไห้ได้
7. เมื่อลูกฉีดวัคซีนเสร็จแล้วอย่าลืมปรบมือให้กำลังใจลูกด้วยนะคะ
ในวันฉีดวัคซีนหากลูกมีไข้สูง สามารถเลื่อนการฉีดวัคซีนเป็นเดือนถัดไปได้ หรือหากคุณพ่อคุณแม่ลืมพาลูกไปรับวัคซีน เมื่อพ้นกำหนดไปแล้ว ก็ให้พาลูกไปรับวัคซีนในเดือนถัดไปโดยไม่ต้องเริ่มใหม่ค่ะ ถ้าลูกมีประวัติแพ้ เช่น ยา อาหาร นม ก็ต้องแจ้งคุณหมอทุกครั้ง