พ่อแม่หลายคนคงกังวลเรื่องการอ่านเขียนของลูก เพราะเด็กบางคนจะขึ้นชั้น ป. 1 แล้วยังอ่านหนังสือไม่ออก ก็อาจจะกังวลว่าลูกตนเองเป็นโรค LD หรือเปล่า ซึ่งสำหรับนิยามของโรคทักษะการเรียนรู้บกพร่อง (learning disorder) หรือ LD นั้นจะหมายถึงเด็กที่มีทักษะด้านการอ่าน การเขียน หรือ การคำนวณ ต่ำกว่าระดับความสามารถจริงของเด็ก เกิน 2 ชั้นเรียน
ซึ่งการที่เด็กมีพัฒนาการด้านการเรียนที่ช้ากว่าปกติอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเรียนในหลักสูตร english program หรือ ที่บ้านเลี้ยงแบบเด็ก 2 ภาษา หรือแม้กระทั่งตอนเรียนภาษาไทย ลูกอาจไม่ได้สนใจเรียนเท่าใดนัก เป็นต้น ซึ่งการแก้ไข ไม่ว่าลูกจะเป็น LD หรือไม่ พ่อแม่สามารถทำได้ดังนี้
1. ฝึกอ่านเขียนจะทำให้อาการดีขึ้น โดยให้ลูกอ่านเขียนภาษาไทยอย่างสม่ำเสมอ เริ่มจากหัดเขียนตัวอักษรที่ลูกสับสน อย่างน้อยประมาณ 3-5 ตัวต่อวัน และควรฝึกเขียนกันทุกวัน เพื่อพัฒนาความสามารถในการอ่านเขียนของลูกค่ะ
2. ปรับการอ่านเขียนเป็นเกมส์จะยิ่งสนุก เพราะบางครั้งเด็กก็ไม่อยากนั่งคัดตัวหนังสือไปเรื่อยๆ เพียงอยางเดียว ดังนั้น หากเราปรับการเรียนรู้ให้เป็นเกม เช่น การเขียนตัวอักษรให้ตรงกับรูป หรือ จับคู่ภาพกับตัวอักษร ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกสนุกกับการเรียนได้ แต่ขอย้ำว่าให้ทำทีละน้อยแต่บ่อยๆ นะคะ
3. อย่าลืมส่งเสริมศักยภาพด้านที่เด็กทำได้ดี เพราะบางครอบครัวจับเด็กอ่านเขียนจนความสามารถด้านอื่นๆ เช่น ดนตรี ศิลปะ หรือการคำนวณนั้นถดถอย ดังนั้นพ่อแม่ควรส่งเสริมความสามารถด้านอื่นๆ ที่ลูกถนัดด้วยเพื่อให้เป็นความสามารถพิเศษติดตัวเขาไปในอนาคต หรืออาจต่อยอดเป็นอาชีพได้
อันที่จริงแล้วเด็กในวัยชั้นอนุบาล 2 หรือ 3 ยังเป็นวัยที่กำลังเตรียมพร้อมสู่การเรียนรู้ การเล่นและการทำกิจกรรมต่างมักจะเป็นหลักมากกว่าการอ่านเขียน จึงไม่แปลกหากลูกจะยังอ่านหนังสือไม่ได้
แต่สำหรับเด็กโตที่อยู่ชั้นประถม 1-2 ขึ้นไป หากยังมีความบกพร่องด้านการอ่านเขียน หรือฝึกแล้วไม่ก้าวหน้าก็อาจพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียดและรักษาให้ตรงจุดได้