Self Esteem คือการรับรู้คุณค่าของตัวเอง ไม่ว่าคนจะสูงต่ำดำขาวอ้วนผอม เชื้อชาติอะไร เพศอะไร ทุกคนล้วนมีคุณค่า ในการเลี้ยงลูก คำพูดของพ่อแม่สามารถสร้างและทำลาย Self Esteem ของลูกได้เลยนะคะ ยิ่งลูกวัยอนุบาลกำลังกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ คำพูดของพ่อแม่ที่สร้างสรรค์จะช่วยพัฒนาด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคม ของลูกได้ค่ะ
1. พ่อแม่ใช้คำพูดขู่ลูก มักเกิดในบริบทที่พ่อแม่ห้ามไม่ให้ลูกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และต้องมีการลงโทษลูกหากเขาไม่หยุดกระทำ เช่น
❌ ถ้าไม่หยุดขว้างของแม่จะไม่รักหนูนะ
❌ ถ้าไม่ยอมกินข้าวแม่จะปล่อยให้หนูอดตาย
เปลี่ยนคำขู่เป็นคำที่แสดงความรู้สึก เมื่อลูกไม่ยอมเชื่อฟัง แทนที่จะใช้คำพูดขู่ ลองเปลี่ยนไปใช้คำพูดที่สื่อความรู้สึกแท้จริงของพ่อแม่ว่ารู้สึกอย่างไร เพื่อให้ลูกรับรู้ความรู้สึกดีๆ และเข้าใจเหตุผลของสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ เช่น
✔ แม่รักลูกนะ แต่แม่ไม่ชอบที่ลูกทำแบบนี้
✔ แม่รักและอยากให้ลูกแข็งแรงมีสุขภาพดีแม่เลยต้องการให้หนูกินข้าวเยอะๆ
2. พ่อแม่ไม่แนะนำสิ่งที่ควร เป็นคำพูดที่มาพร้อมกับอารมณ์บอกว่าสิ่งที่ลูกทำนั้นผิด แต่ไม่บอกให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ที่เขาควรทำ เช่น
❌ หยุดพูดแทรกได้แล้วลูก...น่ารำคาญ
❌ อย่าซนได้มั้ยลูก...เล่นแบบนี้อีกแล้ว
เปลี่ยนเป็นอธิบายและให้เหตุผล เมื่อจะดุลูก หรือสั่งให้เขาหยุดทำอะไร ควรใช้การโน้มน้าวชักชวนเขาไปทำกิจกรรมอื่นที่เห็นว่าเหมาะสม จะเป็นการดีกว่าไปหยุดหรือเบรกเขากะทันหัน พร้อมทั้งแนะนำเขาด้วยว่าเขาควรไปทำอะไร เช่น
✔ แม่จะคุยธุระกับคุณย่า 2 คน หนูชวนพี่ตุ๊กตาหมีไปเดินเล่นก่อนดีมั้ยลูก
✔ สนามหน้าบ้านยังมีน้ำขังอยู่ พ่อว่าเราไปเล่นปลูกต้นไม้หลังบ้านกันดีกว่านะลูก
3. พ่อแม่ใช้คำพูดหลอกให้กลัว การหยอกล้อในสิ่งไม่สมควรทำให้ลูกกลายเป็นตัวตลก แม้เป็นเป็นความหวังดี ไม่อยากให้ลูกมีอันตรายก็ตาม เช่น
❌ เงียบนะลูก อย่าร้องไห้ เดี๋ยวแม่ให้ตำรวจมาจับเลย
❌ กิ๊วกิ๊ว... หนูหน้าตาไม่เหมือนพ่อแม่เพราะถูกเก็บมาเลี้ยงจากถังขยะ
เปลี่ยนคำหยอกล้อเป็นการอธิบายเหตุผล เด็กที่ถูกหลอกจะถูกลดทอนความภาภูมิใจ เขาจะเกิดคำถามและรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเขาหรือเขาไม่ดีพอสำหรับพ่อแม่ และลูกจะคำพูดประเภทนี้จนอาจติดความกลัว กลายเป็นความหวาดระแวงที่ติดอยู่ในใจเขาไปตลอด ควรเปลี่ยนเป็นการอธิบายเหตุผลของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างแท้จริงจะดีกว่า เช่น
✔ หยุดร้องไห้เถอะนะลูก เดี๋ยวคอหนูจะเจ็บนะจ๊ะ
✔ ที่หนูหน้าตาไม่เหมือนพ่อกับแม่เพราะ... (กรรมพันธุ์) แต่หนูก็เหมือนคุณยายนะลูก
4. พ่อแม่ที่เอาเอาตัวตนลูกมาตำหนิ การตำหนิที่ตัวตนลูกเมื่อลูกทำอะไรไม่ดี ไม่สำเร็จ โง่จริงลูก...
❌ ง่ายๆ แค่นี้ก็ทำไมได้
❌ เด็กดื้อ...ไม่น่ารักเลย
เปลี่ยนเป็นดุลูกที่การกระทำ ดุเมื่อลูกทำไม่ได้ต้องบอกเขาเลยว่าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้องอย่างไร แล้วสิ่งที่เขาควรทำคืออะไร อย่าตำหนิที่ตัวตนลูกเพราะจะทำให้เขาไม่เกิดการเรียนรู้ เช่น
✔ เรื่องนี้ยากนะลูก หนูต้องค่อยๆ ฝึกทำ ค่อยๆ คิดเรียนรู้นะจ๊ะ
✔ การที่ลูกดื้อ ไม่ฟังแม่... ไม่ถูกต้องนะจ๊ะ หนูควรจะฟังเวลาที่ผู้ใหญ่พูดด้วยนะลูก
5. พ่อแม่ชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น เรื่องของการเปรียบเทียบกับพี่น้อง หรือเด็กข้างบ้าน เช่น
❌ ทำไมยุกยิกจัง ไม่เรียบร้อยเหมือนลูกบ้านโน้นเลย
❌ พี่เรียนเก่งกว่าหนูอีกนะเนี่ย ทำไมหนูเรียนไม่เก่งเท่าพี่เลย
เปลี่ยนการเปรียบเทียบปรับให้เท่าเทียม คำเปรียบเทียบจะทำให้ลูกคิดว่าตัวตนเขาไม่มีค่าพอ หรือเขาไม่ดีพอ พ่อแม่จึงชอบเปรียบเทียบเขากับคนอื่น ดังนั้น เปลี่ยนเป็นการอธิบายหรือแสดงให้ลูกเห็นและเข้าใจว่า ‘ทุกคนเท่าเทียมกัน’ มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน เพื่อให้ Self Esteem ของลูกแข็งแกร่ง เช่น
✔ ลูกบ้านโน้นเรียบร้อยจัง แต่ลูกแม่ก็ไม่กระโดกกระเดกและอยู่นิ่งๆ ได้เหมือนกันใช่มั้ยจ๊ะ
✔ พี่คิดเลขเก่งจัง แต่หนูก็ทำการบ้านภาษาอังกฤษถูกหมดเลยนะลูก
เพราะคำพูดแย่ๆ ส่งผลกระทบกับพัฒนาการลูก เพราะฉะนั้นทิ้งประโยคต้องห้ามเหล่านั้นเสียค่ะ ยิ่งในวัย 3-6 ปี เป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้การเข้าสังคม ลูกเริ่มพัฒนาเรื่องการรู้คุณค่าในตัวเอง พ่อแม่รู้สึกอย่างไรกับเขา คือสิ่งที่จะส่งผลถึงเรื่องของความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือ Self Esteem ของลูก