
ลูกทารกมักหลับไม่สนิททำให้แม่กังวลว่าลูกจะนอนไม่พอ แม่เองก็เพลียใช่ไหมคะ นี่คือ 10 วิธีทำให้ลูกทารกหลับสนิทตลอดคืนที่ใช้ได้ผลแน่นอน
10 วิธีช่วยลูกนอนทารกหลับสนิท ทารกหลับยาวตลอดคืนจนแม่สบายใจ
- อาบน้ำ ทาแป้งหอม พาเบบี้อาบน้ำอุ่นๆ ใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อนุ่ม ไม่หนาหรือบางจนเกินไป จะช่วยให้สบายตัว ไม่เหนียวเหนอะหนะ เมื่อรู้สึกสบายตัว อารมณ์ดีก็ช่วยให้ลูกนอนหลับได้ง่ายขึ้น
- นวดตัวลูกเบาๆ หรือนวดไปพร้อมๆ กับการทาโลชั่นบริเวณแขนและขา จะช่วยสร้างความผ่อนคลายทำให้ลูกหลับง่ายขึ้น
- ดูดนมก่อนนอน เด็กแรกเกิด – 6 เดือน โดยธรรมชาติจะมีวงจรการนอนหลับ (Sleep cycle) 10 รอบ/คืน โดยทุกๆ 1-2 ชั่วโมงจะตื่น บางคนตื่นมาไม่เจอใครก็จะร้องไห้งอแง การดูดนม จึงเหมือนเป็นการปลอบ ทำให้รู้สึกสบาย หลับต่อได้อย่างมีความสุข แต่ไม่ควรทำบ่อยเพราะมีผลทำให้เลิกดูดนมยากค่ะ
- ไกวเปลลูกนอนหลับง่ายขึ้น เมื่อเห็นว่าลูกมีทีท่าจะง่วงนอนแล้ว ให้พาไปนอนในเปล และแกว่งไปมาเบาๆ พร้อมกับร้องเพลงกล่อมตามไปด้วย ลูกจะเคลิบเคลิ้มหลับง่ายมาก
- จับ ถือ ลูบ เพลินๆ หาสิ่งของที่ลูกติด เช่น ตุ๊กตา หมอนนุ่ม ผ้าห่ม เพื่อให้จับ ถือหรือลูบก่อนนอน จะทำให้มีอารมณ์เพลิดเพลิน ช่วยให้ลูกนอนหลับได้ง่ายขึ้น
- ตบก้น ลูบหลัง ขณะที่ลูกกำลังจะหลับ คุณพ่อคุณแม่อาจตบก้นเบาๆ หรือ ลูบหลัง ซึ่งการสัมผัสเบาๆ จะทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจที่พ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ไม่รู้สึกกลัว นอนหลับอย่างสบายใจ
- เปิดเพลงบรรเลง เบาๆ ฟังสบายๆ ช่วยให้มีอารมณ์ดี ลูกนอนหลับได้ง่าย และยังเป็นการช่วยพัฒนาสมอง จัดระบบการเรียนรู้และความจำที่ดีอีกด้วย
- อุณหภูมิห้องพอเหมาะ ถ้าอากาศภายในห้องนอนมีความร้อนหรืออับชื้น จะทำให้ลูกอึดอัด ไม่สบายตัว อารมณ์หงุดหงิดง่าย จึงควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม ไม่หนาวหรือร้อนจนเกินไป และใช้ผ้าห่มนุ่มๆ ห่มทับบริเวณหน้าอก เพื่อให้รู้สึกอบอุ่นขึ้น
- อย่าส่งเสียงดัง ห้องนอน หรือสิ่งแวดล้อมรอบๆ ควรมีความเงียบสงบ ไม่มีเสียงดังอึกทึกจนเกินไป เช่น ไม่ควรมีเสียงโทรทัศน์ หรือพ่อแม่คุยกันเสียงดัง เพราะอาจกระตุ้นให้ลูกตื่นเต้นจนนอนไม่หลับได้
- แสงไฟสลัวภายในห้องนอน เพราะลักษณะแสงไฟแบบนี้จะช่วยให้ลูกสบายตา และยังสามารถเห็นคุณพ่อคุณแม่อยู่ใกล้ๆ ทำให้ลูกนอนหลับอย่างอุ่นใจมากขึ้น
แต่ถ้าเด็กทารกคนไหนที่ทำยังไง ก็ยังไม่หลับ พ่อแม่ไม่ต้องกังวลจนเกินเหตุ เพราะธรรมชาติของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลองปรับสภาพแวดล้อมและการดูแล กำจัดสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้นอนไม่หลับก็จะช่วยได้ แต่ถ้าไม่สบายใจจริงๆ กลัวว่าจะมีสิ่งผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อความสบายใจนะคะ
สาเหตุที่ทำให้ลูกนอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท
ลูกทารกนอนหลับไม่สนิท นอนไม่พอจะส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเขา ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังนี้
- เกิดจากสิ่งแวดล้อมมีเสียงดัง หรือพลุกพล่าน กระตุ้นให้มีความตื่นเต้น จนไม่ยอมนอน
- ปัจจุบันพ่อแม่ทำงานกลับบ้านดึก ส่งผลให้ลูกรอหรือพอกลับมาก็มาเล่นกับลูกอีกจนเลยเวลานอนไปแล้ว จึงทำให้ลูกนอนดึกและกลายเป็นเด็กหลับยากได้
- เกิดจากความกลัว เพราะวัย 6 เดือนขึ้นไป เริ่มมีการจำและติดพ่อแม่ กลัวต้องแยกจากพ่อแม่ ทำให้นอนยาก และตื่นบ่อย
- เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น เป็นหวัด ท้องอืด ทำให้ไม่สบายตัว ดังนั้น ต้องสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ มีน้ำมูก หรือท้องอืดหรือไม่ ยิ่งในเด็กแรกเกิด เวลาดูดนมอาจดูดไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดลมในท้อง ถ้าไม่มีการเรออย่างถูกวิธีลมจะตีขึ้น รู้สึกปวดท้อง ร้องไห้งอแงไม่ยอมนอนได้
พ่อแม่ต้องรีบจัดการปัญหาเหล่านี้ออกไป แล้วลูกจะหลับง่ายขึ้น อย่าลืมว่าการนอนหลับที่เพียงพอจะช่วยให้ทารกมีพัฒนาการและความจำที่ดีค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
พญ.อัมพร สันติงามกุล
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์

จบปัญหาลูกทารกนอนยาก ลูกทารกไม่ยอมนอน ตื่นตอนกลางดึก ร้องไห้งอแง ด้วย 4 เทคนิคช่วยลูกหลับสบายตลอดทั้งคืน มาดูกันค่ะ
4 เทคนิคช่วยลูกทารกหลับสบาย นอนยาวตลอดคืน
1. ป้องกันความเปียกชื้น ให้หนูน้อยสบายตัว
ปัญหาที่มักจะพบบ่อยสำหรับเด็กแรกเกิด ทันทีที่รู้สึกไม่สบายตัวเพราะความเปียกชื้นจากปัสสาวะ หรือความอับชื้นจากอากาศ ลูกจะตื่นมาร้องงอแงเสมอ เพราะฉะนั้นช่วงกลางคืนที่ลูกใส่ผ้าอ้อมนอน การทาแป้งเด็กที่ป้องกันความเปียกชื้น และเคลือบผิวลูกจากความอับชื้น ช่วยให้ผิวแห้งสบาย และทำให้ลูกหลับได้ยาวขึ้น แต่ก็ต้องเลือกที่ปลอดภัย มาดูเคล็ดลับการเลือกแป้งเด็กอย่างไรให้ปลอดภัยกับลูกกันค่ะ
เคล็ดลับเลือกแป้งเด็ก
- ผลิตจากธรรมชาติ เช่น แป้งข้าวเจ้า แทนส่วนผสมของทัลคัม เพื่อความปลอดภัยและสามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ไม่ตกค้างในร่างกายไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม
- ป้องกันความเปียกชื้นได้ เพื่อความแห้งสบายตัวของลูก
- สะอาด ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
- ผ่านการทดสอบว่าไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ (Hypoallergenic)
วิธีทาแป้งสำหรับเด็ก เพียงคุณแม่เทแป้งเด็กลงบนฝ่ามือเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ ทาลงบนผิวลูก และไม่ควรใช้แป้งโรยสะดือเด็กแรกเกิด หรือบริเวณจุดซ่อนเร้น เช่น อวัยวะเพศโดยตรง ระมัดระวังอย่าให้แป้งเข้าจมูกและปากของลูก หรือเทคนิคง่าย ๆ โดยใช้พัฟฟ์นิ่ม ๆ แทนการเทแป้ง เพียงซับพัฟฟ์ลงบนแป้งแล้วค่อย ๆ ลูบบริเวณผิวลูกน้อย วิธีนี้จะช่วยลดการฟุ้งกระจายของแป้งได้มากทีเดียวค่ะ

2. ฝึกลูกน้อยให้นอนเป็นเวลา
การพาลูกเข้านอนและตื่นตอนเช้าไม่ตรงเวลาทำให้ลูกสับสนได้ค่ะ วิธีแก้คือ ควรพาลูกเข้านอนตรงเวลา ทำบ่อย ๆ ให้ลูกคุ้นเคย อาจใช้ตุ๊กตา ผ้าห่มนิ่ม ๆ หรือหมอนใบโปรดของลูก มาเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศการนอน ตอนที่ลูกหลับคุณแม่อย่าลืมห่มผ้าหรือห่อตัวให้ ลูกจะได้รู้สึกอบอุ่นและหลับสบาย
3. ปรับบริเวณห้องนอน ไม่ให้มีเสียงรบกวนลูก
ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่แค่เสียงดังแค่เล็กน้อยก็ทำให้ตื่นได้แล้ว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรปรับสภาพแวดล้อมภายในห้องไม่ให้มีเสียงรบกวน หรือมีเสียงรบกวนน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้รบกวนเวลานอนของลูกได้ค่ะ
4. กิจกรรมเบา ๆ ก่อนนอน
ก่อนนอนคุณพ่อคุณแม่สามารถทำกิจกรรมเบา ๆ กับลูกน้อย เช่น ร้องเพลงกล่อม เล่านิทาน หรือเปิดดนตรีเพลงทำนองสบาย ๆ เสียงสีขาว หรือภาษาอังกฤษว่า White Noise ลองใช้มือลูบบริเวณท้อง หลัง และลำตัวลูก เพราะการสัมผัสอย่างอ่อนโยนจะสามารถช่วยให้ลูกน้อยหลับสบาย ผ่อนคลาย อีกทั้งยังช่วยสานสัมพันธ์พ่อแม่ลูก

ประโยชน์ของการนอนที่ดีและมีคุณภาพ
- ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของลูก ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะหลั่งมากในเวลากลางคืน หลังจากที่หลับไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องความสูง
- ช่วยเรื่องการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย จะสังเกตได้ว่าถ้าช่วงไหนที่เราไม่สบาย ร่างกายจะส่งสัญญาณให้เรามีความต้องการนอนมากกว่าปกติด้วยนั่นเอง
- ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ทุกครั้งที่ลูกนอนหลับร่างกายจะหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ
- ช่วยให้หัวใจแข็งแรง เด็กที่ได้นอนหลับอย่างเพียงพอ จะไม่มีความเสี่ยงจากภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ โดยเด็กที่นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอทำให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ สังคมที่ดีขึ้น
การนอนหลับของทารกยังส่งผลให้ตอนเขาตื่น การเรียนรู้ก็ยังคงต่อเนื่องและต่อยอดไปถึงอนาคต นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมการนอนถึงสำคัญกับเด็ก ๆ ค่ะ มาดูช่วงเวลาการนอนที่เหมาะสมของเด็กวัยแรกเกิด - 6 ปีกัน

ช่วงเวลานอนที่เหมาะสมในลูกวัยแรกเกิด – 6 ปี
• แรกเกิด – 3 เดือน นอนกลางวัน 8 – 9 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 8 – 10 ชั่วโมง = 16 – 18 ชั่วโมงต่อวัน
• 3 – 6 เดือน นอนกลางวัน 5 – 6 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 9 – 10 ชั่วโมง = 14 - 16 ชั่วโมงต่อวัน
• 6 – 12 เดือน นอนกลางวัน 3 – 4 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 8 – 10 ชั่วโมง = 12 - 14 ชั่วโมงต่อวัน
• 1 – 2 ปี นอนกลางวัน 1 – 2 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 11 – 12 ชั่วโมง = 13 – 14 ชั่วโมงต่อวัน
• 2 – 3 ปี นอนกลางวัน 1 – 2 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 11 ชั่วโมง = 12 – 14 ชั่วโมงต่อวัน
• 3 – 6 ปี นอนกลางวัน 0 – 2 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 10 – 11 ชั่วโมง = 11 – 13 ชั่วโมงต่อวัน
ชวนคุณพ่อคุณแม่มาสร้างช่วงเวลาการนอนที่มีคุณภาพให้ลูกกันค่ะ การฝึกให้ลูกนอนหลับยาวในช่วงเวลากลางคืน ถือเป็นภารกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ จะดีแค่ไหนถ้าลูกน้อยสามารถนอนยาวนานขึ้น ไม่ตื่นมางอแงในช่วงเวลากลางคืนบ่อย ๆ โดยมีเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่หายเหนื่อย แถมช่วยสร้างพัฒนาการที่ดีของลูกได้อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก www.reiscare.com

ตรวจสอบข้อมูลโดย นพ.ชาญสิริ เสกสรรค์วิริยะ
โสต ศอ นาสิกแพทย์ อนุสาขาเวชศาสตร์การนอนหลับ
โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี
(พื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์)
ทำไมทารกแรกเกิดถึงตื่นนอนตอนดึกขึ้นมาร้องไห้โยเย ทารกที่ตื่นกลางดึกมีสาเหตุจากอะไร มาเช็กกันตรงนี้พร้อมวิธีทำให้ลูกทารกหลับยาวตลอดคืนค่ะ
7 สาเหตุที่ลูกทารกมักตื่นมาตอนกลางดึก ร้องไห้โยเย
-
ทารกตื่นกลางคืนเพราะความเปียกชื้น
ปัญหาที่มักจะพบบ่อย ๆ สำหรับเด็กแรกเกิด ทันทีที่ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัว เพราะความเปียกชื้นของผ้าอ้อมที่ใส่ ลูกจึงตื่นมาร้องงอแงตอนกลางคืน ดังนั้นก่อนที่จะพาลูกน้อยเข้านอนคุณแม่ควรเลือกผ้าอ้อมที่มีคุณสมบัติป้องกันความเปียกชื้นหรือผ้าอ้อมสำหรับตอนกลางคืนค่ะ
- ทารกตื่นกลางคืนเพราะเสียงรบกวน
เสียงกวนใจลูกน้อย เพียงแค่เสียงดังเล็กน้อยก็ทำให้เจ้าตัวเล็กตื่นขึ้นมาได้ตอนกลางคืน ดังนั้นคุณแม่ควรปรับสภาพแวดล้อมภายในห้องไม่ให้มีเสียงรบกวนหรือมีเสียงรบกวนน้อยที่สุด นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถเลือกใช้ดนตรีกล่อมนอนเป็นประจำทุกคืน ลูกน้อยจะคุ้นเคยกับเสียงดนตรีและหลับตานอนเองค่ะ
-
ทารกตื่นกลางคืนเพราะอากาศ
อากาศเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกมักจะตื่นมาตอนกลางคืน เพราะร่างกายของเด็กกับของผู้ใหญ่ไม่เหมือนกัน และเด็กยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ดังนั้นเมื่อลูกรู้สึกว่าร้อนเกินไปหรือว่าหนาวเกินไปก็มักจะร้องไห้เป็นการบอกคุณแม่ค่ะ
-
ทารกตื่นกลางคืนเพราะหิว
โดยปกติแล้วลูกน้อยที่ตื่นมานั้นก็มีสาเหตุมาจากการหิวนม เมื่อลูกไก้กินนมจนอื่มแล้วก็จะเริ่มหลับอีกครั้ง หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกหิว ให้คุณแม่สังเกตอาการของลูกน้อยค่ะ ลูกจะตื่นมาร้องไห้แล้วจะพยายามแสดงอาการไขว่คว้าและเอ้าหน้ามาซุกที่หน้าอก หรือที่หมอน อาการแบบนี้แสดงว่าลูกกำลังหิวอยู่ค่ะ
-
ทารกตื่นกลางคืนเพราะลูกผวา
อาการผวาเกิดขึ้นจากการตกใจหรืออาจจะเกิดจากการเล่นและสนุกสนานมากเกินไป โดยเฉพาะก่อนที่ลูกจะนอน ทำให้ลูกสะดุ้งตื่นขึ้นมาร้องไห้ได้ วิธีแก้ไขนั้นง่ายเพียงนิดเดียว แค่คุณแม่อุ้มลูกน้อยขึ้นมา อุ้มไปเรื่อย ๆ จนกว่าลูกหลับหรือคุณแม่อาจจะร้องเพลงช่วยกล่อมด้วยก็ได้นะค
-
ทารกตื่นกลางคืนเพราะไม่อยากนอนอีกแล้ว
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะการนอนกลางวันของลูกน้อยเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ลูกตื่นมาตอนกลางคืน ลูกนอนจนเต็มอิ่มและมักจะตื่นมาตอนกลางคืน โดยมีวิธีการแก้ไขเพียงแค่คุณแม่พยายามชวนลูกเล่นหรือพาออกไปเดินเล่นข้างนอก จะช่วยให้ลูกนอนหลับตอนกลางคืนได้ค่ะ
-
ทารกตื่นกลางคืนเพราะที่นอนไม่สบายตัว
ความคุ้นชินของที่นอนก็สามารถทำให้ลูกตื่นมาตอนกลางคืนหรือไม่นอนตอนกลางคืนได้ค่ะ ยิ่งตอนไปนอกสถานที่ยิ่งไม่หลับกันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรแก้ด้วยการพาลูกเข้านอนให้ตรงเวลา ทำบ่อย ๆ จะทำให้ลูกชินกับเวลาในการนอน หรือการใช้สิ่งของที่อยู่ติดตัวลูกตอนนอน ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา หมอนที่ใช้นอนปกติ ก็จะสามารถทำให้ลูกนอนต่างที่และไม่ตื่นมาตอนดึกได้ค่ะ
สาเหตุที่ทำให้ลูกตื่นมาร้องไห้กลางคืนนั้น มีหลากหลายสาเหตุ ดังนั้นคุณแม่ควรดูดี ๆ ว่าเพราะอะไรที่ทำให้ลูกน้อยตื่นมาตอนกลางคืน คุณแม่จะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุดค่ะ

การนอนหลับของเด็กทารกช่วยให้สมองมีการประมวลความจำ เมื่อเขาตื่นการเรียนรู้ก็ยังคงต่อเนื่องและต่อยอดไปถึงอนาคตได้
7 เหตุผลที่เด็กต้องนอนหลับอย่างเพียงพอ
การนอนของทารกเชื่อมโยงกับการทำงานของสมองเด็ก เด็กทารกที่มีตารางการนอนชัดเจน การนอนหลับเพียงพอ จะสามารถเรียนรู้ได้ทั้งกลางวัน และกลางคืน เพราะเซลล์สมองมีการเจริญเติบโต เชื่อมโยงเส้นใยประสาท ประมวลประสบการณ์บันทึกไว้เป็นความจำในเวลานอน
- การนอนหลับของทารกช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต เพราะช่วงที่เด็กนอนหลับสนิทเป็นช่วงที่ฮอร์โมนการเจริญเติบโตหรือโกรทฮอร์โมนทำงานได้ดี
- การนอนหลับของทารกช่วยให้หัวใจแข็งแรง เด็กที่ได้นอนหลับอย่างเพียงพอจะไม่มีความเสี่ยงจากภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
- การนอนหลับของทารกส่งผลต่อน้ำหนักตัว เด็กที่นอนไม่พอมีความเสี่ยงจะเป็นโรคอ้วน
- การนอนหลับของทารกช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ทุกครั้งที่ลูกนอนหลับร่างกายจะหลั่งสารไซโตไคน์ ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ
- การนอนหลับของทารกช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ เด็กมักจะอยู่ไม่นิ่ง จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ การนอนหลับจะช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอได้
- การนอนหลับของทารกช่วยลดอาการสมาธิสั้น มีการศึกษาพบว่าเด็กอายุ 3 ขวบที่นอนน้อยกว่าวันละ 10 ชั่วโมงมีโอกาส ซน สมาธิสั้น อารมณ์รุนแรง วู่วาม
- การนอนหลับของทารกช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยเด็กที่นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอทำให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ สังคม ที่ดีขึ้น
การนอนหลับของทารกยังส่งให้เมื่อเขาตื่น การเรียนรู้ก็ยังคงต่อเนื่องและต่อยอดไปถึงอนาคต นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมการนอนถึงสำคัญกับเด็ก ๆ

เด็กที่นอนหลับไม่เพียงพอ หลับไม่สนิทในภาวะ REM Sleep อาจส่งผลถึงฮอร์โมนการเจริญเติบโต และพัฒนาการ การเรียนรู้ในอนาคตได้ค่ะ
REM Sleep ปัญหาการนอนของเด็ก หลับไม่สนิท ส่งผลต่อพัฒนาการเด็ก
'การนอน' มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของเด็ก พบว่าฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth Hormone) จะหลั่งมากในเวลากลางคืน หลังจากที่หลับไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้เติบโตสมวัย ถ้าร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลให้การหลั่งของฮอร์โมนการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลเสียพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกได้
REM (Rapid Eye Movement) คืออะไร
การนอนหลับในช่วงหลับฝันหรือการนอนที่มีการเคลื่อนไหวตาไปอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะหลับไปแล้วแต่สมองก็ยังทำงานอยู่เหมือนตื่น จะเป็นช่วงการนอนที่ส่งผลต่อความจำ ความฝัน การเรียนรู้และการสร้างจินตนาการ
เกิดขึ้นประมาณ 90 นาทีหลังจากที่เรานอนหลับ โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที ช่วงที่สองจะใช้เวลานานขึ้น ช่วงที่สามจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงหรือมากกว่า โดยเด็กจะใช้เวลา 50% ที่อยู่ในโหมด REM Sleep
REM (Rapid Eye Movement) เป็นอย่างไร
- หลับไม่สนิท
- มีการกลอกตา
- นิ่วหน้านิ่วตา
- หายใจแรง
- ดิ้นหรือขยับตัว
ทางการแพทย์มีความเชื่อว่า การนอนหลับในช่วง REM มีผลและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาการของเด็กทารก เมื่อเด็กโตขึ้นช่วงการนอนในระดับ REM จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อลูกอายุครบ 3 ปีอาจจะเหลือเพียง 30% ของชั่วโมงการนอนทั้งหมดของลูก และจะลดลงเรื่อยๆ อีกเหลือเพียงประมาณ 20% เมื่อลูกก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น
NON-REM (Non Rapid Eye Movement) คืออะไร
NON-REM sleep คือ การนอนหลับที่ดวงตาของคุณจะไม่ขยับ คลื่นสมองของคุณจะช้าลงมาก รักษาระดับกล้ามเนื้อไว้ได้ดี
- นอนนิ่ง
- หลับลึก
- ร่างกายหลั่ง Growth Hormone ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้เติบโตสมวัย
ขณะที่ลูกเริ่มนอนหลับ หากเป็นเด็กทารกแรกเกิด - 6 เดือน จะเริ่มหลับในช่วง REM ก่อน และจะค่อยๆ เข้าสู่การหลับลึกหรือ Non REM และก็จะสลับกลับไปเป็นช่วง REM แบบนี้ทุกๆ 20 นาทีพอลูกอายุครบ 3 เดือน การเปลี่ยนจาก REM ไปเป็น Non REM จะขยายเวลาเป็น 60 นาที และเมื่อโตมากขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเปลี่ยนเป็น 90 นาทีต่อรอบ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกที่การนอนของลูกในระดับ Non REM ยังไม่สมบูรณ์ ลูกของคุณจึงตื่นได้ง่าย หรือดูเหมือนว่า ลูกจะนอนเพียงครั้งละ 20 นาทีก็รู้สึกตัวแล้ว ขอให้คุณพ่อคุณแม่อดทนและเข้าใจลูกด้วย เมื่อลูกอายุมากขึ้น จะสามารถนอนหลับได้นานขึ้น และตื่นยากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เด็กยัง NON-REM sleep ได้ไม่ดี
- ใส่เสื้อผ้าไม่สบายตัว
- ผ้าอ้อมที่เปียกชื้น
- ฝันร้าย
- รู้สึกหวาดกลัวกับสภาพแวดล้อม
- คลื่นสมองมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
- เล่นกับเด็กมากเกินไปในช่วงเย็นหรือหัวค่ำ
วิธีทำให้ลูกนอนหลับสนิท นอนหลับยาวตลอดคืน
- สวมใส่เสื้อผ้าผ่อนคลาย และสบายตัว
- เช็กดูผ้าอ้อม เปลี่ยนผ้าอ้อมก่อนนอนทุกครั้ง
- ใช้ผ้าห่อลูกให้เขารู้สึกปลอดภัย
- ไม่ปลุกหรือเขย่าตัวให้ตื่น
- อยู่ในห้องนอนที่ไม่มีเสียงและแสงรบกวน
- อาจเปิดเพลงกล่อมเด็กเบา ๆ ช่วยให้ลูกผ่อนคลาย
การนอนหลับอย่างมีคุณภาพจะส่งผลดีต่อการเรียนรู้ สมาธิ ความจำ และการตัดสินใจ มีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้สมบูรณ์ สังเกตได้จากโรคภูมิแพ้จะกำเริบมากขึ้นหากนอนน้อย นอกจากนี้ โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยเร่งความสูงของเด็กๆ จะหลั่งได้ดีในช่วงกลางดึกที่เด็กหลับสนิทระยะหนึ่ง หากเด็กนอนน้อยจะกระทบต่อการหลั่งโกรทฮอร์โมน และอาจมีผลต่อศักยภาพในด้านความสูงของเด็กได้
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข, พญ.ศุภรัตนา คุณานุสนธิ์ กุมารแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

ท่านอนทารกแรกเกิด ควรนอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคงถึงจะถูกต้องตามพัฒนาการและปลอดภัยสำหรับลูกเล็ก เรามีท่านอนของทารกแรกเกิด - 6 เดือนมาแนะนำค่ะ
ท่านอนทารกแรกเกิด ท่านอนที่ทำให้ลูกหลับสบายและปลอดภัยสำหรับแม่มือใหม่
ท่านอนลูกแรกเกิดถึง 3 เดือน
นอนตะแคงหรือนอนหงาย เป็นท่าที่เหมาะกับพัฒนาการของกล้ามเนื้อคอที่ยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก ทำได้เพียงหันซ้ายและขวา สามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวและฝึกการมองได้ ขณะที่การนอนคว่ำเสี่ยงกับโรค SIDs หรือ ไหลตาย
ท่านอนลูกทารก 4-6 เดือน
เหมาะกับการนอนคว่ำ ด้วยกล้ามเนื้อคอที่แข็งแรงมากขึ้น ทำให้ลูกสามารถชันคอและยกศีรษะได้ แต่ควรมีที่นอนและหมอนที่ไม่นุ่มนิ่มจนเกินไป เพื่อไม่ให้ปิดกั้นทางเดินหายใจ
ท่านอนลูกทารก 6 เดือนขึ้นไป
กล้ามเนื้อคอและหลังแข็งแรงแล้ว แถมยังสามารถพลิกตัวได้ด้วยค่ะ เหมาะกับท่านอนหลายแบบ อาจจะเป็นการนอนตะแคง นอนหงาย กึ่งนั่งกึ่งนอน หรือนอนคว่ำก็ได้

ท่านอนสัมพันธ์กับพัฒนาการของลูกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามแบบนี้ จึงควรจัดท่าให้เหมาะกับวัยลูกนะคะ ที่สำคัญ ควรเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาดสะอ้าน อากาศถ่ายเทสะดวก และปลอดภัยกับลูกค่ะ

ลูกทารกชอบนอนบนอกพ่อแม่เพราะติดกลิ่น รู้สึกอบอุ่น หรือเพราะอะไรกันแน่ เรามีคำตอบพร้อมวิธีกล่อมลูกทารกนอนหลับยาวมาฝากค่ะ
ทารกนอนบนอกแม่อันตรายไหม ทำไมลูกทารกถึงชอบนอนทับอกพ่อแม่
ลูกร้องไห้โยเยเพราะอยากนอนทับอกใช่ไหม
การที่ลูกทารกร้องไห้โยเยไม่ได้หมายความว่าลูกต้องการนอนแต่บนอกของคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นนะคะ บางครั้งลูกอาจรู้สึกไม่สบายตัว ไม่เรอหลังกินนม ผ้าอ้อมเปียกชื้นมากเกินไป หิวนม หรือปวดท้องโคลิก สิ่งเหล่านี้บ่งบอกอาการร้องไห้โยเยของลูกได้เช่นกัน
ทำไมลูกทารกชอบนอนบนอกพ่อแม่
- ต้องการความอบอุ่น ต้องการไออุ่น
- รู้สึกปลอดภัยเหมือนตอนที่อยู่ในท้องของคุณแม่
- ได้ยินเสียงหัวใจแม่เต้น ทำให้หลับง่ายเหมือนตอนอยู่ในท้องแม่
- ได้กลิ่นพ่อแม่แล้วรู้สึกสบายใจ คุ้นเคย หลับง่าย
ทารกนอนบนอกแม่ อันตรายไหม
ลูกทารกชอบนอนบนอกพ่อแม่ ไม่อันตรายค่ะ สามารถให้ลูกทารกนอนหลับได้สบาย ๆ แต่ควรให้ลูกนอนบนอกตอนร้องงอแงมากเพื่อทำให้รู้สึกปลอดภัยหลับสบาย แต่หากลูกหลับบนที่นอนได้เอง ไม่ร้องไห้งอแงก็ไม่ควรกล่อมลูกนอนหลับบนอกพ่อแม่ทุกครั้งค่ะ เพราะเขาจะติดจนรู้สึกว่าการนอนบนที่นอนไม่ปลอดภัย นอนไม่หลับ หลับยาก
วิธีกล่อมลูกทารกให้หลับง่าย หลับยาว
- ใช้ผ้าห่มผืนน้อยช่วยให้ลูกหลับได้ เด็กทารกจะรู้สึกปลอดภัยที่สุดเมื่อได้รับความอบอุ่นอยู่เสมอ การที่ลูกน้อยออกมาสู่โลกกว้างอาจทำให้ไม่คุ้นชินได้ เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเอาผ้าห่มมาปิดที่บริเวณหน้าอกของลูกน้อยก็สามารถช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยได้ค่ะ
- จัดห้องนอน ที่นอนให้อยู่ในมุมที่แสงไม่กวน เสียงไม่ดัง แสงและเสียงจะไม่รบกวนให้ลูกตื่น ลูกทารกจะนอนหลับได้ง่ายและนอนยาวขึ้น
- เปิดเพลงกล่อมเด็กเบา ๆ หรือ เพลงกล่อมเด็กนอนประเภท White Noise ช่วยให้ลูกทารกรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ หลับง่าย
- ถ้าลูกทารกติดกลิ่นพ่อแม่ ลองวางเสื้อคุณพ่อคุณแม่ไว้ใกล้ ๆ ลูกหน่อยก็ได้ค่ะ เพื่อให้เขายังได้กลิ่นที่คุ้นเคย
เชื่อว่าเมื่อลูกมานอนใกล้ ๆ หรืออ้อนขอนอนบนอก คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ต้องชอบทั้งนั้น แต่การให้ลูกนอนแบบนี้ไปจนโตอาจทำให้เกิดผลเสียได้ ทั้งสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่เอง และอาจทำให้ลูกมีสภาวะนอนหลับไม่สนิทซึ่งมีผลกับพัฒนาการของลูกได้ ดังนั้นค่อยๆ ปรับให้ลูกนอนที่นอนของตนเองเมื่อถึงวัยอันควรค่ะ
ทำไมเด็กทารกนอนหลับแล้วยังส่งยิ้มได้ ข้อนี้เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทารกไหม เรามีคำตอบค่ะ
ทำไมลูกทารกชอบยิ้มตอนหลับ ทารกยิ้มตอนหลับได้อย่างไร
- เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า การยิ้มระหว่างหลับของทารกในช่วง 0 - 1 เดือนแรกหลังคลอด ไม่ได้มาจากการฝันนะคะ แต่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า เพราะทารกยังไม่สามารถแยกแยะอารมณ์ความรู้สึกได้
- ลูกกำลังฝัน ช่วง 6 เดือนขึ้นไป ทารกจะเริ่มฝันแล้ว เนื่องจากทารกวัยนี้มองเห็นได้อย่างเต็มที่ จึงเกิดการเก็บไปฝัน ซึ่งการฝันของทารกวัย 6 เดือน จะยังไม่เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนผู้ใหญ่ แต่จะเป็นภาพสไลด์แบบไม่ต่อเนื่อง และทารกจะยังไม่เข้าใจว่านี่คือความฝัน
- พัฒนาการกล้ามเนื้อใบหน้า ในช่วง 2 - 5 เดือน ขณะหลับทารกจะมีอาการทางสีหน้าหลายอย่าง เช่น สีหน้าบึ้งตึง ขมวดคิ้ว ทำปากขมุบขมิบ และยิ้ม อาการเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าทารกกำลังฝันหรือกำลังเล่นกับแม่ซื้ออยู่ แต่คือพัฒนาการกล้ามเนื้อใบหน้าของทารกเท่านั้น
ลูกชอบยิ้มตอนหลับไม่ใช่เพราะลูกกำลังเล่นกับแม่ซื้อตามความเชื่อที่เราเคยได้ยินนะคะ แต่เกิดจากพัฒนาการกล้ามเนื้อใบหน้าตามที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ พัฒนาการต่างๆ จะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กฉลาดในอนาคตแน่นอนค่ะ
“โกรทฮอร์โมน” ฮอร์โมนสำคัญมากกว่าแค่ลูกโตไว โตช้า โตไม่สมวัย แต่เป็นต้นทางของการทำงานในร่างกายทุกส่วน จะทำอย่างไรให้โกรทฮอร์โมนสมดุล
ฟัง The Expert พญ.นวลผ่อง เหรียญมณี
กุมารเวชศาสตร์ โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม โรงพยาบาลพญาไท 2
รู้จัก Growth Hormone
Growth Hormone คือฮอร์โมนการเจริญเติบโตเป็นฮอร์โมนแห่งการสร้าง ช่วยสร้างเซลล์ ทําให้เซลล์กระดูกเติบโตเด็กสูง ทําให้เซลล์กล้ามเนื้อแข็งแรงเด็กมีกําลัง ทําให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงการทํางานของหัวใจดี นอกจากนี้โกรทฮอร์โมนยังช่วย สร้างน้ำตาลด้วยทําให้ตับสร้างน้ำตาล ปล่อยน้ำตาลออกมาในกระแสเลือดทําให้เซลล์ต่างๆ ได้พลังงานจากน้ำตาลเซลล์ก็ทํางานดี ช่วยทำให้เกิดการสร้างพลังงานจากการสลายไขมัน
การที่ Growth Hormone จะทำงานได้ดีต้องมี 3 เรื่องสำคัญได้แก่
1. อาหารต้องครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะกลุ่มโปรตีน ซึ่งจะไปกระตุ้นการสร้าง Growth Hormone แต่ทุกอย่างต้องพอดีไม่มากเกินไป Growth Hormone ก็จะออกได้น้อย เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องกินแบบพอเหมาะตามวัย
2. ออกกําลังกายอย่างเพียงพอ ครั้งละ 30-60 นาที แนวของแอโรบิก ประมาณ 5-7 วันต่ออาทิตย์
3. การนอน Growth Hormone จะออกมาช่วงที่เราหลับสนิท ซึ่งแต่ละวัยก็ควรจะนอนให้เหมาะสมกับวัยด้วยค่ะ อายุ 3-6 ปี นอนประมาณ 9-10 ชั่วโมงต่อวัน อายุ 6-10 ปี นอนประมาณ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน ช่วงมัธยม-ผู้ใหญ่นอนประมาณ 6-7 ชั่วโมงต่อวัน
Growth Hormone ไม่สมดุลกระทบกับสุขภาพ
คําว่าไม่สมดุลเราแบ่งเป็น ถ้ามันเยอะเกินกับน้อยเกิน สำหรับเด็กจะเจอแบบที่น้อยเกินไปมากกว่า ทำให้เด็กโตช้ากว่าเพื่อน กล้ามเนื้อต่างๆ พัฒนาไม่ค่อยดี โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่อาจจะไม่แข็งแรงเท่าเพื่อน โครงสร้างกระดูกพัฒนาช้าลักษณะภายนอกที่เห็นได้คือหน้าจะกลมๆ เล็กๆ ถ้าพูดกันตามวิชาการเด็กกลุ่มนี้จะหน้าเหมือนตุ๊กตา พอโตขึ้นไปแล้วยังไม่มี Growth Hormone จะมีผลกับคอลลาเจนและผิวเหี่ยวเร็ว นอกจากนี้ Growth Hormone ยังเกี่ยวกับการสร้างน้ำตาล อาการที่เกิดขึ้นได้จั้งแต่แรกเกิด คือเด็กอายุ 1 เดือนมีอาการชัก น้ำตาลต่ำ พอตรวจก็เจอภาวะ Growth Hormone ต่ำ ซึ่งส่งผลกับสมองใช้พลังงานไม่ได้ทำให้ IQ ต่ำ รวมถึงเด็กกลุ่มนี้ก็จะค่อนข้างแบบอ้วนหน่อยๆ เพราะอย่างที่บอกว่า Growth Hormone ช่วยสลายไขมัน ถ้าสลายไขมันได้ไม่ดีก็จะทำให้ดูอ้วน กลม เตี้ย เนื้อนิ่มๆ
รักษา Growth Hormone
การรักษาต้องเป็นแบบฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนังฉีดทุกวัน แต่ตอนนี้กําลังพัฒนาชนิดที่ฉีดสัปดาห์ละหนึ่งครั้งแต่ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย ส่วนที่โฆษณาว่าเป็น Growth Hormoneชนิดกิน ต้องบอกว่าเป็นลักษณะพวกโปรตีน เพราะอาหารกลุ่มโปรตีนจะไปกระตุ้นให้ร่างกาย สร้างโกรทฮอร์โมนต่อ ถามว่าพูดผิดไหมก็ไม่ผิดแต่เป็นการก้าวข้ามบางประโยคไปว่าเป็นสารอาหารที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง Growth Hormone ได้เพียงพอมากกว่า แต่ก็อาจจะเป็นช็อตสั้น ๆ ว่าเป็น Growth Hormone ชนิดรับประทาน แต่ไม่ได้พูดคําว่ามันเพียงพอ หรือมันจะมีผลอะไรแต่ว่ามันเป็นในรูปแบบของโปรตีนมากกว่า หากถามว่าเด็กสามารถกินได้ไหม สำหรับเด็กที่กินอาหารได้ดีแล้วการเสริมเข้ามาอาจจะไม่ได้ช่วย มันก็เป็นสิ่งที่เกินจําเป็น แต่ถ้าเด็กคนไหนที่กินยากจริงๆ แล้วจะเสริมด้วยโปรตีนเสริมก็ไม่มีผลกระทบ แต่ต้องดูว่ามีอย.และเด็กสามารถใช้ได้ไหม และควรปรึกษาคุณหมอของลูกด้วยก็ได้
เพราะการที่ได้รับฮอร์โมนเยอะเกินไปด้วยความที่เป็นฮอร์โมนแห่งการสร้างการเติบโตของเซลล์ถ้ามันเยอะเกินไป อาจจะทำให้เกิดเซลล์เติบโตมากผิดปกติ แล้วเป็นเนื้องอก หรือถ้าหากกินเราก็อาจจะต้องตรวจวัดระดับฮอร์โมนในเลือดว่าพอดีเปล่าเพราะถ้าให้มากไปก็ล้นเป็นข้อเสีย แล้วก็มีอีกหนึ่งวิธีสังเกตตั้งแต่แรกเกิดเลยคือ พ่อแม่สังเกตว่าทําไมลูกชายอวัยวะเพศเล็กหรือสั้นจัง ซึ่งคุณหมอก็จะเช็กระดับโกรทฮอร์โมน ว่ามันมาจากโกรทฮอร์โมนต่ําหรือว่ามันเป็นภาวะที่มันเกิดขึ้นตามวัยของเด็กหรือมีภาวะอื่นด้วย
ถ้าหาก Growth Hormoneสูง เด็กจะโตเร็วโครงสร้างของกระดูกใหญ่ ตัวสูง มือจะดูหนาๆใหญ่ๆ แต่ก็อาจจะไม่ได้มีแสดงออกของเรื่องฮอร์โมนเพศ เรื่องสิว เต้านม นอกจากจะโดนเพื่อนล้อแล้วอีกประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ Growth Hormone ทําให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจเติบโต การมีฮอร์โมนเยอะก็ทำให้หัวใจต้องทํางานมากไปทำให้หัวใจโต หัวใจวายได้
ซึ่งการรักษาคือเจาะวัดระดับ Growth Hormone ในเลือดหรือMRI เพื่อดูว่ามีเนื้องอกเกิดขึ้นไหมมีขนาดเท่าไหร่ถ้ามีก็อาจจะต้องตัดออก ซึ่งที่โรงพยาบาลพญาไท2 มีโปรแกรมการตรวจวัดระดับ Growth Hormone ก็เป็นจุดสําคัญเบื้องต้นที่ทำให้รู้ว่าขาด Growth Hormone หรือเปล่า ซึ่งตรวจได้ตั้งแต่อายุ 4 ปี
สำหรับการดูแลสุขภาพต้องมีพื้นฐาน 3 ข้อค่ะ ได้แก่เรื่อง 3 อ. ได้แก่ อ. แรกคือ เรื่องอาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ก็คือการนอนเร็วก็จะช่วยให้เด็กอารมณ์ดี และก็ทำให้ฮอร์โมนสมดุลด้วย
Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB
Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube: https://bit.ly/3cxn31u
พ่อแม่มือใหม่อาจกำลังเจอปัญหา ลูกทารกนอนผวา ผวาร้องไห้บ่อย ๆ สาเหตุที่ลูกนอนผวาอาจมีสิ่งรบกวน ซึ่งพ่อแม่ดูแลได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
ลูกทารกนอนผวา ทารกผวาร้องไห้เกิดจากอะไร และต้องดูแลอย่างไร
เวลาลูกนอนเราอาจจะเห็นลูกๆ โดยเฉพาะในช่วงขวบแรกมีอาการ หรือปฎิกิริยาตอนนอนแบบต่างๆ เคยสงสัยไหมคะว่า เวลานอนของลูก ทารกจะมีอาการผวา สะดุ้งตื่นขึ้นมา บางครั้งก็มีอาการร้องไห้ร่วมด้วย อาการแบบนี้ผิดปกติหรือไม่ และควรแก้ไขอย่างไรดี
ทารกนอนผวา ทารกผวาบ่อยและร้องไห้ เกิดจากอะไร
จะเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 เดือนแรก เกิดจากระบบสมองที่ยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ระบบประสาทอัตโนมัติจงทำงานโดยเด็กไม่ได้ตั้งใ ฉะนั้นเมื่อมีอะไรมากระทบ เด็กก็อาจเกิดอาการผวาหรือขยับตัวนิดหน่อย และเด็กยังมีอาการผวาอีกช่วงคือ 6 เดือน – 1 ขวบ มีอาการร้องละเมอ เอะอะโวยวาย ตีแขนตีขาทั้งที่ตายังหลับสนิท จนบางทีคุณพ่อคุณแม่ตกใจ แม้จะปลุกก็ทำได้ยาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของช่วงวัยนี้ ไม่น่าเป็นห่วงค่ะ
ในทางการแพทย์แล้ว การนอนผวาไม่ได้เกิดกับเด็กทุกคนและไม่ส่งผลต่อการเรียนรู้หรือพัฒนาการแต่อย่างใด หากไม่อยากให้ลูกนอนผวาก็ไม่ควรมีสิ่งต่างๆ ไปกระทบลูก เช่น ทำเสียงดัง หรือเปิดไฟจนสว่างจ้าเกินไป เป็นต้น
วิธีที่จะช่วยลดอาการทารกนอนผวา นอนผวาบ่อยและร้องไห้
-
คุณแม่อุ้มลูกน้อยแนบตัวคุณแม่ให้นานที่สุด
เวลาที่จะวางลูกลงบนที่นอน ให้ค่อยๆ ปล่อยลูกหลังจากที่หลังของลูกน้อยสัมผัสที่นอนแล้วเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกรู้สึกว่ากำลังจะหล่น และทำให้เกิดอาการผวาได้
- ห่อตัวลูกน้อย
จะช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัย เหมือนกลับไปขดตัวในมดลูกอีกครั้ง นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกนอนหลับนานขึ้นอีกด้วย
- นอนกอดลูกเบาๆ
คุณแม่จะต้องนอนกอดลูกเบาๆ เพื่อให้ลูกรับรู้ถึงอ้อมกอดที่อบอุ่นของคุณแม่ ทั้งนี้อาจลองสังเกตดูว่า ลูกมักจะมีอาการผวาตอนช่วงเวลาไหนบ่อยที่สุด แล้วนอนกอดลูกเมื่อถึงช่วงเวลานั้นเสมอ
การเห็นลูกมีอาการฝันผวาสามารถทำให้คุณกลุ้มใจมาก แต่อาการดังกล่าวไม่เป็นอันตราย และไม่เกิดขึ้นยาวนาน โดยทั่วไปแล้ว อาการฝันผวาไม่ได้เป็นสัญญาณของปัญหาที่ร้ายแรง สุดท้ายแล้วอาการดังกล่าวจะหายไปเอง

การห่อตัวเด็กทารกแรกเกิดจะช่วยให้ทารกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย หลับง่ายขึ้น วิธีห่อตัวทารกมีกี่แบบและควรเลือกใช้ผ้าห่อตัวทารกแบบไหน เรามีคำแนะนำค่ะ
วิธีห่อตัวเด็กทารก การห่อตัวเด็กทารกแบบต่าง ๆ และเลือกผ้าห่อตัวทารกที่นุ่มน่ากอด
ทำไมต้องห่อตัวทารกแรกเกิด
ทารกแรกเกิดจะคุ้นชินกับการนอนคดคู้ในมดลูกแม่ มีพื้นที่จำกัด มีน้ำคร่ำ รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย แต่เมื่อคลอดออกมาแล้วถึงเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทารกจะได้สัมผัสกับแสง เสียง อากาศ และบรรยากาศรอบตัวที่ต่างไปจากเดิมมาก จึงอาจทำให้รู้สึกระแวง ไม่มั่นคงปลอดภัย ส่งผลให้ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะร้องไห้บ่อย หลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่นอนยาว การห่อตัวทารกจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เขาค่อย ๆ ปรับตัวกับโลกภายนอนได้ดีขึ้นนั่นเองค่ะ
ประโยชน์ของการห่อตัวทารกแรกเกิด
- การห่อตัวทารกช่วยทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เหมือนตอนอยู่ในท้องแม่
- การห่อตัวทารกช่วยลดอาการสะดุ้งตกใจจากเสียงดัง
- การห่อตัวทารกช่วยรักษาความอบอุ่นทำให้ทารกไม่รู้สึกหนาว
- การห่อตัวทารกช่วยให้นอนหลับได้นานขึ้น
ควรห่อตัวทารกถึงอายุเท่าไหร่
ปกติแล้วจะแนะนำให้ห่อตัวทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุไม่เกิน 3 สัปดาห์ เพราะทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนไหวตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการพลิกตะแคง พลิกคว่ำ หากห่อตัวในช่วงที่ทารกพลิกคว่ำเองได้ อาจเสี่ยงต่ออาการหลับไหลตาย-Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) เนื่องจากหน้าจมลงที่นอน หายใจไม่ออกและยังไม่สามารถพลิกตัวกลับมาในท่านอนหงายได้เอง
ดังนั้น ในระหว่างวันหรือตอนกลางคืนที่ห่อตัวให้ลูกนอน พ่อแม่ต้องคอยสังเกตดูว่าลูกเริ่มขยับพลิกตัวได้บ้างหรือยัง รวมถึงอาจมีบางช่วงที่ลองไม่ห่อตัว หรือห่อหลวม ๆ เพื่อให้เขาได้ขยับตัว สังเกตว่าหลับได้เองดีขึ้นไหม เพื่อเลิกห่อตัวและให้ลูกนอนได้อย่างอิสระมากขึ้นค่ะ
การห่อตัวเด็กทารกแบบต่าง ๆ
- วิธีห่อตัวทารกแบบเปิดศีรษะอิสระ
- วิธีห่อตัวเด็กแบบคลุมทั้งศีรษะ โผล่เห็นหน้าใบหน้า
- วิธีห่อตัวเด็กแบบครึ่งตัวช่วงล่าง เปิดอิสระตั้งแต่ศีรษะถึงหน้าอก
คลิปวิธีห่อตัวทารกแบบเปิดศีรษะอิสระ และ แบบคลุมทั้งศีรษะ
YouTube Channel: LoeppkysLife
----------------------------------------------
วิธีห่อตัวเด็กแบบครึ่งตัวช่วงล่าง เปิดอิสระตั้งแต่ศีรษะถึงหน้าอก

วิธีเลือกผ้าห่อตัวทารกแรกเกิด
- เลือกผ้าที่เบาสบาย อากาศถ่ายเทงาน
- ผ้าไม่หนาหรือบางเกินไป ไม่ระคายเคืองผิว
- เนื้อผ้านุ่ม ไม่มีขนผ้าฟุ้งกระจายหรือหลุดง่าย
ตัวอย่างผ้าที่สามารถใช้ห่อตัวทารกแรกเกิดได้ เช่น ผ้าเช็ดตัวสำหรับเด็ก ผ้าสาลูผืนใหญ่ ผ้าห่อตัวเยื่อไผ่ ผ้าฝ้าย ผ้านาโน เป็นต้น

เด็กทารกตกเตียงเป็นอันตรายจากการนอนที่พ่อแม่มักไม่ระวัง เพราะบางครั้งอุบัติเหตุตอนทารกนอนหลับก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ เรามีวิธีป้องกันและการดูแลทารกตอนนอนมาแนะนำค่ะ
อุบัติเหตุตอนนอนที่อาจเกิดกับลูกทารก อันตรายถึงขั้นทำให้ลูกเสียชีวิตได้
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร กล่าวว่า เด็กทารกในวัยแรกเกิด – 4 เดือน เป็นวัยบอบบางที่พ่อแม่ต้องดูแลไม่ให้คลาดสายตา เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อเด็กได้ รวมถึงการนอนของเด็กด้วย หากเด็กนอนด้วยท่านอนที่ไม่เหมาะสมและที่นอนที่ไม่ปลอดภัย อาจเป็นสาเหตุให้เด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน จึงแนะนำว่า การนอนของเด็กแรกเกิด – 4 เดือน พ่อแม่ควรจัดท่านอนที่เหมาะสม ที่นอนที่ปลอดภัย
5 คำแนะนำการนอนของเด็กแรกเกิด – 4 เดือน
- แยกที่นอนมาอยู่ด้านข้างผู้ใหญ่ ด้วยระยะห่างประมาณเอื้อมมือระหว่างผู้ใหญ่หรือติดชิดกับผู้ใหญ่ เพราะอาจจะเผลอหลับนอนเบียดหรือทับเด็กจนหายใจไม่ออกหรือโดนผ้าห่ม หมอนของพ่อแม่ทับเด็กโดยไม่รู้ตัว
- ที่นอนของเด็กควรสูงประมาณ 2 ฟุต หากจำเป็นต้องนอนด้วยเตียงนอนควรมีที่กันตก
- ขอบเตียงต้องมีระยะห่างของรั้วน้อยกว่า 15 เซนติเมตร และมีที่นอนพอดีกับเตียงไม่มีช่องห่างระหว่างที่นอนกับขอบเพราะอาจเกิดการติดศรีษะระหว่างช่องห่าง
- ต้องระวังผ้าห่ม หมอน มุ้ง เพราะอาจปิดทับจมูกทำให้หายใจไม่สะดวกหรืออุดกั้น
- ไม่ควรนั่งอุ้มจนหลับ เพราะผู้ปกครองอาจจะเผลอปล่อยเด็กออกจากมือทำให้ตกลงมาได้
ท่านอนที่เหมาะสำหรับเด็ก นอนด้วยท่านอนหงายไม่ใช่นอนคว่ำ เพราะอาจกลั้นทางเดินหายใจ และลองเปลี่ยนท่าให้นอนเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กได้นอนหลับสบายที่สุด
เด็กแรกเกิด – 4 เดือน ควรนอนตะแคงหรือนอนหงายเป็นท่าที่เหมาะกับการพัฒนาการของกล้ามเนื้อที่ยังไม่ค่อยแข็งแรงทำได้เพียงหันซ้ายขวาและสามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวและฝึกการมองได้ วัย 5-6 เดือน แล้วกระดูกคอจะเริ่มแข็งแรง และวัย 7-12 เดือนสามารถนอนได้ทุกท่าเพราะเด็กพลิกตัวด้วยตนเองได้แล้วที่สำคัญผู้ปกครองต้องสังเกตเด็กและสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กจะต้องไม่มีอะไรมาปิดหน้าระหว่างที่เด็กหลับ โดยเฉพาะเด็กที่มีนิสัยชอบคว้าสิ่งของรอบตัว
พญ.นนธนวนัณท์ สุนทรา กล่าวว่า เด็กอายุเกิน 1 ปี ที่เริ่มยืนได้ ควรจัดให้นอนเตียงเด็กอย่างถูกวิธีคือ
- เตียงเด็กต้องมีราวกันตกที่มีซี่ราวแนวตั้งตรง ไม่ใช่แนวนอน และห่างกันไม่เกิน 15 เซนติเมตร
- ราวกันตกจะต้องมีตัวยึดแน่น เด็กไม่สามารถเหนี่ยวให้เคลื่อนไหวได้เอง ไม่อ้า ไม่เผยอ จนเกิดช่องห่างจากเตียงจนลำตัวเด็กลอดตกได้
- เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียงและไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตก
- มุมเสาทั้ง 4 มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน 1.5 มิลลิเมตร
- ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัดตกแต่งให้เกิดร่องและรู
- จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 65 เซนติเมตร และ
- เด็กที่มีความสูงเกินกว่า 89 เซนติเมตร มีความเสี่ยงต่อการปีนราวกันตกและตกจากที่สูงได้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องระวังหากพบว่าเด็กแน่นิ่ง ตัวซีดหรือเขียวคล้ำให้จับเด็กนอนหงาย พยายามปลุกหรือเรียก
- สังเกตการหายใจโดยดูการเคลื่อนไหวของหน้าอก หน้าท้อง ถ้าเรียกไม่รู้ตัวลักษณะเหมือนไม่หายใจ ให้กดทรวงอกบริเวณ สันอกทันที สลับกับการเป่าปากหรือเป่าจมูก-ปากเด็กในเวลาเดียวกันและรีบตามหน่วยฉุกเฉิน 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลให้ทันเวลาต่อไป
พ่อแม่มือใหม่ที่ยังกล่อมลูกหลับยาวตลอดคืนไม่ได้ มารวมกันตรงนี้ค่ะ เรามีเทคนิคกล่อมลูกนอนหลับยาวตลอดคืนมาแนะนำให้ลองไปปรับใช้กันค่ะ
เทคนิคกล่อมลูกทารกให้หลับสบายตลอดทั้งคืน หลับยาวตลอดคืน
การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญต่อเด็กทารกเป็นอย่างยิ่ง เด็กแรกเกิด – 3 เดือน ควรนอนวันละ 14-17 ชั่วโมงเด็กทารก อายุ 4-11เดือนควรนอน 12-15 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่เด็กวัย 1-2 ปี ควรนอน 11-14 ชั่วโมงต่อวัน
ทั้งนี้การนอนหลับที่เพียงพอ จะช่วยสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโต หรือ Growth Hormones เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยในเรื่องการเรียนรู้ และจดจำ มีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นรากฐานของพัฒนาการของสมองที่ดี หากลูกนอนหลับไม่เพียงพอ นอกจากสมองจะพัฒนาช้าแล้ว ยังส่งผลกระทบกับสุขภาพ ภูมิคุ้มกันในร่างกาย การซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ในร่างกายลูกน้อย รวมถึงเสี่ยงกับโรคภัยต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต ความดัน เบาหวาน เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วย

8 สาเหตุที่ทำให้ลูกตื่นมากลางดึก
- ความเปียกชื้น ปัญหาที่มักจะพบบ่อยสำหรับเด็กแรกเกิด ทันทีที่รู้สึกไม่สบายตัวเพราะความเปียกชื้นจากปัสสาวะ หรือความอับชื้นจากอากาศ ลูกจะตื่นมาร้องงอแงเสมอ เพราะฉะนั้นช่วงกลางคืนที่ลูกใส่ผ้าอ้อมนอน การทาแป้งเด็กที่ป้องกันความเปียกชื้น และเคลือบผิวลูกจากความอับชื้น ช่วยให้ผิวแห้งสบาย และทำให้ลูกหลับได้ยาวขึ้น แต่ก็ต้องเลือกที่ปลอดภัย
- เสียงรบกวน แค่เสียงดังเล็กน้อยก็ทำให้ลูกตื่นได้แล้ว ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรปรับสภาพแวดล้อมภายในห้องไม่ให้มีเสียงรบกวน หรือมีเสียงรบกวนน้อยที่สุด
- อากาศไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะร้อนเกินไป หนาวเกินไป ทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัว ตื่นขึ้นมากลางดึกได้
- ความหิว เป็นอีกสาเหตุที่ปลุกให้ลูกตื่นขึ้นมากลางดึก สังเกตได้จากท่าทางที่ลูกตื่นขึ้นมาแล้วพยายามไขว่คว้าเอาหน้ามาซุกอก หรือที่หมอน และเมื่อให้กินนมจนอิ่มลูกก็จะนอนหลับอีกครั้ง
- ฝันร้ายหรือลูกผวา เป็นอาการตกใจที่อาจเกิดจากการเล่นสนุกมากเกินไปก่อนนอน ทำให้ลูกสะดุ้งตื่นขึ้นมาร้องไห้ได้ วิธีแก้คือให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกขึ้นมากล่อม อุ้มไปเรื่อยๆ จนกว่าลูกหลับ
- ลูกตื่นแล้ว เนื่องจากลูกนอนเต็มที่แล้วในช่วงกลางวันเมื่อถึงเวลานอนในตอนกลางคืนเขาจึงตื่นขึ้นมาตาใส พร้อมเล่นอยู่ตลอดเวลา วิธีแก้ไขเพียงคุณพ่อคุณแม่ชวนลูกเล่นหรืออุ้มเดินรอบๆ บ้าน ก็ช่วยกล่อมให้ลูกนอนหลับต่อได้
- ลูกไม่ได้ถูกฝึกให้นอนเป็นเวลา การพาลูกเข้านอนและตื่นตอนเช้าไม่ตรงเวลาทำให้ลูกสับสน รวมถึงถ้าที่นอนไม่คุ้น ลูกหลับยากเช่นกัน วิธีแก้คือ ควรพาลูกเข้านอนตรงเวลา ทำบ่อยๆ ให้ลูกคุ้นเคย อาจใช้ตุ๊กตา ผ้าห่มนิ่มๆ หรือหมอนใบโปรดของลูกมามาเป็นตัวช่วยสร้างบรรยากาศการนอนให้ลูกก็ได้ค่ะ
- ความเจ็บป่วยทำลูกนอนไม่หลับ เวลาลูกไม่สบาย มีไข้ เป็นหวัด ปวดท้อง ฟันขึ้น เหล่านี้เป็นอาการป่วยที่คอยกวนใจทำให้ลูกร้องงอแงตลอดทั้งคืน วิธีแก้คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปหาคุณหมอเพื่อรักษาตามอาการ และขอคำแนะนำในการดูแลลูกอย่างถูกต้อง

วิธีกล่อมลูกนอนหลับยาวตลอดคืน
-
ปลุกลูกให้กินนมก่อนที่แม่จะไปนอน
-
เพิ่มนมหรืออาหารในช่วงกลางวันให้มากขึ้น เพื่อให้ลูกอิ่มและอยู่ท้องไปจนถึงกลางคืน
-
สร้างบรรยากาศการนอนให้เหมาะสม ไม่มีมีเสียงรบกวน ไม่ร้อน ไม่หนาวเกินไป หรืออาจเปิดเพลงกล่อมเบาๆ
-
ให้ลูกเล่นให้เต็มที่ในช่วงกลางวัน เพราะเมื่อถึงเวลานอนตอนกลางคืน ลูกจะหมดแรงหลับได้เร็ว และยาวนานขึ้น
-
ทาแป้งให้ลูกก่อนนอนเพื่อให้ผิวแห้งสบาย และลดการระคายเคืองจากเหงื่อและความเปียกชื้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้แป้งที่ผลิตจากธรรมชาติ เช่น แป้งข้าวธรรมชาติ ปราศจากทัลคัม ที่ปลอดภัย ไม่สะสมในร่างกาย รวมถึงมีคุณสมบัติป้องกันความเปียกชื้นได้ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก www.reiscare.com
ตรวจสอบข้อมูลโดย พญ. รัตนา เพ็ญศรีชล
กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลเวชธานี
(พื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์)

การนอนของทารก-เด็ก 6 ปี พ่อแม่ต้องรู้จำนวนชั่วโมงการนอน เพื่อให้ลูกได้พักอย่างเต็มที่ การนอนที่ทีคุณภาพช่วยส่งเสริมพัฒนาการได้ค่ะ เด็กแต่ละวัยควรนอนมากน้อยแค่ไหน เช็กกันเลยค่ะ
เวลานอนของลูกทารกวัยแรกเกิด – 6 ปี และวิธีกล่อมลูกหลับตรงเวลา
ทารกแรกเกิด – อายุ 3 เดือน
- ทารกแรกเกิดนอนกลางวัน 8 – 9 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 8 – 10 ชั่วโมง = 16 – 18 ชั่วโมงต่อวัน
- ทารกอายุ 3 – 6 เดือน นอนกลางวัน 5 – 6 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 9 – 10 ชั่วโมง = 14 - 16 ชั่วโมงต่อวัน
ทารกอายุ 6 – 12 เดือน
- นอนกลางวัน 3 – 4 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 8 – 10 ชั่วโมง = 12 - 14 ชั่วโมงต่อวัน
เด็กอายุ 1 – 2 ปี
- นอนกลางวัน 1 – 2 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 11 – 12 ชั่วโมง = 13 – 14 ชั่วโมงต่อวัน
- อายุ 2 – 3 ปี นอนกลางวัน 1 – 2 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 11 ชั่วโมง = 12 – 14 ชั่วโมงต่อวัน
เด็กอายุ 3 – 6 ปี
- นอนกลางวัน 0 – 2 ชั่วโมง + นอนกลางคืน 10 – 11 ชั่วโมง = 11 – 13 ชั่วโมงต่อวัน
วิธีกล่อมลูกนอน สร้างวินัยการนอนให้เด็ก
- ควรให้นมในเวลาที่แน่นอนและสม่ำเสมอ ถ้าลูกตื่นกลางดึก
-
ไม่ควรให้นมทันที รอก่อนสัก 5 นาที
-
ควรกล่อมด้วยการกอด ตบก้น หรือไกวเปล เพื่อให้เจ้าตัวเล็กนอนหลับง่ายยิ่งขึ้น