ฝีดาษลิงเกิดจากอะไร ฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ แม้ยังไม่พบในประเทศไทยก็ควรเฝ้าระวังค่ะ เพราะถ้าเด็กเป็นแล้วมีความเสี่ยงสูง
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน
โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคใหม่ เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า คนเองก็สามารถติดโรคได้
• คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ
• ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน
• การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
• ติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย
• การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ
• เชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน
• เริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
• ภายใน 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัว
• ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง • ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา
• อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นไข้ทรพิษ หรือฝีดาษลิงในเด็ก โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ปอดอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
2. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ
3. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
4. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
6. โรคฝีดาษติดต่อกันผ่านการหายใจ ไอ จาม เพราะฉะนั้นการใส่หน้ากากอนามัยสามารถช่วยป้องกันได้
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคฝีดาษลิงได้โดยตรง แพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคอง และรักษาตามอาการ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ สามารถควบคุมการระบาดได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ถึง 85%
ในประเทศไทย เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยฝีดาษลิงในประเทศไทย แนะนำเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และอย่าเพิ่งตื่นตระหนก
ที่มา :
https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=25415&deptcode=
https://www.pidst.or.th/userfiles/f26.pdf