โรงเรียนเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ควรมีความปลอดภัยสำหรับลูกรองจากบ้าน ดังนั้นการเลือกโรงเรียนที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงมีคำแนะนำให้พ่อแม่ทุกท่าน ก่อนตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้ลูกค่ะ
รถโรงเรียนมีมาตรการดูแลที่ดี คุณผู้ปกครองควรซักถามเกี่ยวกับนโยบายของทางโรงเรียน ว่ามีความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ เกี่ยวกับการจ้างบุคคลหรือบริษัทที่เข้ามาให้บริการรับส่งนักเรียน ครูผู้ดูแล ประกันชีวิต สภาพรถ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ
ไม่มีแหล่งน้ำที่หนู ๆ จะจมน้ำได้ ระดับน้ำที่สูงท่วมหัวอาจทำให้หนูจมน้ำได้ ควรมีรั้วกั้นรอบแหล่งน้ำทุกด้าน ที่มีความสูงเพียงพอ ป้องกันเหล่าจอมซนปีนเข้าไปได้
สนามกีฬาหรือพื้นที่วิ่งเล่นไม่ใช่ที่จอดรถหรือรถวิ่งผ่าน กรณีเจ้าตัวเล็กถูกรถชนหรือทับในบริเวณโรงเรียนนั้นพบเห็นได้ไม่ยาก เพราะหนูๆมีความสูงน้อยกว่ากระจกมองหลัง โรงเรียนที่ปลอดภัยจะจัดพื้นที่เล่นของเด็กแยกขาดจากทางเดินหรือพื้นที่จอดรถ
ห้องครัว ห้ามเข้า ป้องกันเจ้าตัวร้ายเล่นมีดหรือวิ่งชนหม้อน้ำเดือด
สำรวจอาคารเรียน เช่นระเบียงมีที่กั้นป้องกันจอมซนตกลงมา พื้นอาคารมีความต่างระดับให้สะดุดง่ายหรือเป็นวัสดุลื่นทำให้หนู ๆ หกล้มได้ง่าย ๆ บันไดชันทำให้ตกลงมาได้หรือเปล่า
เฟอร์นิเจอร์หรือส่วนประกอบของอาคาร เช่น ตู้หนังสือขนาดใหญ่ ประตู หน้าต่างควรอยู่ในสภาพดีไม่ชำรุดและมีที่ยึดพอที่จะไม่ล้มลงมาทับเจ้าหนูวัยซนทั้งหลายได้
ของเล่นต้องเหมาะสมกับอายุ ในโรงเรียนเด็กเล็ก ของเล่นต้องสร้างด้วยวัสดุและสีที่ไม่มีพิษภัย ไม่มีของเล่นชิ้นเล็กที่จะอุดตันทางเดินหายใจ ของเล่นที่มีคมหรือความแรง เช่น ปาลูกดอก ปืนมีกระสุน
มีสนามเด็กเล่นที่ปลอดภัย เพราะเป็นจุดที่หนูๆเล่นซนกันมากที่สุด เครื่องเล่นที่ปลอดภัยจึงควรมีความมั่นคงแข็งแรง ไม่สึกกร่อนหรือมีความสูงไม่มากเกินไปนัก ไม่วางชิดกันกับขอบรั้ว วัสดุแข็ง ๆ หรือเครื่องเล่นอื่น ที่สำคัญควรมีพื้นผิวรองรับที่มั่นคง เครื่องเล่นปีนป่าย และชิงช้าที่วางบนพื้นแข็ง อย่างพื้นปูน
เช็กประวัติโรงเรียนย้อนหลัง จากกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่เคยส่งลูกเรียนโรงเรียนต่าง ๆ เช็กจากโซเชียลมีเดีย และข่าวทางสื่อออนไลน์ย้อนหลัง
นอกจากการเลือกโรงเรียนที่ดีให้ลูกแล้ว ในบางครั้งพ่อแม่รู้สึกว่าโรงเรียนที่เราเลือกให้ลูกคือโรงเรียนที่ดีที่สุด แต่อาจไม่ใช่แบบนั้นค่ะ รักลูกมีสัญญาณเตือนเมื่อลูกถูกทำร้ายที่โรงเรียนมาฝากค่ะ
โหยหาพ่อแม่ ถ้าปกติลูกไม่เคยโผเข้ากอดพ่อแม่หลังไปรับ แต่จู่ ๆ ลูกวิ่งเข้าหาพ่อแม่แบบโหยหา หรือร้องไห้เข้าใส่ ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจมีเหตุไม่ปกติเกิดขึ้นกับลูก (บางครั้งลูกอาจแสดงอาการงอแงทันทีที่ถึงบ้านเพราะอยู่ต่อหน้าครูที่โรงเรียนแล้วไม่กล้า)
หวาดกลัว ไม่อยากไปโรงเรียน ยิ่งถ้าปกติลูกเป็นเด็กร่าเริงแล้วอยู่ ๆ ไม่พูด เงียบ ไม่ร่าเริง งอแง และร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียน คราวนี้ให้ถามลูกได้เลยค่ะว่าเกิดอะไรขึ้น
พัฒนาการช้า ถดถอย ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยกว่าที่ควรเป็นตามวัย งอแง ขี้ตกใจ
ผวา ละเมอ ให้สังเกตตอนที่ลูกนอนว่ามีอาการผวา หรือละเมอร้องไห้หรือไม่
มีรอยเขียวช้ำตามตัว คุณแม่ควรสังเกตตามตัวลูกว่ามีรอยแผลเขียวช้ำหรือเปล่า โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นเป็นประจำ และคุณแม่ควรเช็กในบริเวณร่มผ้าด้วยเพราะส่วนใหญ่พี่เลี้ยงมักทำร้ายในที่ที่คุณแม่มองเผิน ๆ ไม่เห็น
-เมื่อสอบถามลูกแล้วพบว่าถูกทำร้ายให้รีบพาลูกไปตรวจร่างกาย เพื่อให้คุณหมอเช็กความผิดปกติ ถ่ายรูปร่องรอยที่ถูกทำร้ายและเก็บหลักฐานทางการแพทย์ไว้
-ปรึกษาพ่อแม่ของเด็กนักเรียนคนอื่นในห้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน
-แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและศูนย์ดำรงธรรมหรือมูลนิธิคุ้มครองเด็กให้เข้ามาดูแล
-แจ้งครูใหญ่หรือผู้อำนวยการรับทราบ
-หากไม่มีความคืบหน้าควรย้ายโรงเรียน เพื่อป้องกันเหตุลูกถูกทำร้ายอีก
ถึงอยู่ห่างกัน พ่อแม่ก็ปกป้องหนูได้ นโยบายสร้างความปลอดภัยในโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนร่วมโดยการช่วยเป็นหูเป็นตา แนะนำและร่วมกันหาหนทางแก้ไข ให้โรงเรียนจัดโครงสร้างที่มีความปลอดภัยครับ ยามที่คุณพ่อคุณแม่ต้องไกล การปลูกฝังนิสัยไม่ประมาท ระมัดระวังอันตราย ให้เจ้าตัวน้อยดูแลตัวเองก็เป็นอีกวิธีที่ดีเช่นเดียวกัน