อาการปวดหลังของแม่ท้องและแม่หลังคลอดเป็นอะไรที่ทรมานมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะรับมือไม่ได้นะคะ รักลูกมีคำแนะนำดีๆ จากคุณหมอมาฝากค่ะ
ขณะตั้งครรภ์ มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้นกับคุณแม่ ทั้งทางด้านสรีระร่างกาย ฮอร์โมน รวมถึงจิตใจและอารมณ์ ทำให้ต้องรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น เพื่อให้การตั้งครรภ์มีความราบรื่นและปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูกน้อย
อาการปวดหลัง เป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยในขณะตั้งครรภ์ โดยอาจพบได้กว่าร้อยละ 70 ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทั้งหมด มักพบบ่อยในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่ทารกเติบโตขึ้นเร็ว แต่สามารถเกิดในช่วงใดๆ ของการตั้งครรภ์ก็ได้ และอาจคงอยู่ในช่วงหลังคลอดได้เป็นเวลานาน โดยคุณแม่มักมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะเวลานั่งหรือยืนติดต่อกันนานๆ หรือเวลาขยับก้มตัวไปข้างหน้า
มีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังในขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ จุดศูนย์ถ่วงของร่างกายที่เปลี่ยนไปเมื่ออายุครรภ์เพิ่มขึ้น น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น โดยคุณแม่ที่มีน้ำหนักเกิน และมีอาการปวดหลังมาก่อนตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงที่จะปวดหลังได้เร็วและรุนแรงกว่าปกติได้ค่ะ
อาการปวดหลังนอกจากทำให้เกิดความไม่สุขสบายขณะตั้งครรภ์ ยังส่งผลต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การทำงาน รวมถึงรบกวนการนอนหลับในเวลากลางคืนได้ ก่อให้เกิดความเครียดทั้งจากความเจ็บปวดและพักผ่อนไม่เพียงพอ คุณแม่บางรายอาจมีอาการมากจนต้องลาพักงาน หรือต้องใช้ยาระงับอาการปวด
หากคุณแม่มีอาการปวดหลังในขณะตั้งครรภ์ ควรแจ้งแพทย์ที่ดูแลเพื่อประเมินความรุนแรงและให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการบรรเทาและรักษาอาการ โดยเบื้องต้นมีวิธีลดและป้องกันอาการปวดหลังดังนี้ค่ะ
1. การควบคุมน้ำหนักไม่ให้ขึ้นมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉลี่ยควรขึ้น 12-15 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ ในคุณแม่ที่มีดัชนีมวลกายปกติก่อนการตั้งครรภ์
2. การปรับท่าทาง และกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ได้แก่
- ขณะยืน ควรกางเท้าให้ห่างกันเท่ากับระยะสะโพกเพื่อกระจายน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานานๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อหลังจะต้องเกร็งเพื่อรองรับน้ำหนักโดยเฉพาะเมื่อครรภ์มีขนาดใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ มดลูกที่ใหญ่ขึ้นจะกดทับทำให้เส้นเลือดที่ขาไหลเวียนได้ไม่ดี อาจเกิดอาการขาบวมร่วมด้วย
- เลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงหรือส้นแบนเกินไป ควรเลือกรองเท้าส้นเตี้ยที่มีการกระจายน้ำหนักที่เท้าได้ดี
- ในช่วง work from home นี้ คุณแม่หลายท่านอาจต้องทำงานนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน การนั่งควรใช้เก้าอี้ที่ปรับระดับเอนได้ เพื่อถ่ายน้ำหนักมาที่บริเวณก้น ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหลังเกร็งเกินไป และไม่ควรนั่งนานติดต่อกันเกิน 30 นาที – 1 ชั่วโมง อาจใช้เก้าอี้เตี้ยรองหนุนเท้าร่วมด้วย
- การนอน ควรนอนตะแคงและงอเข่าโดยมีหมอนหนุนบริเวณท้องและขา เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นแนะนำให้นอนตะแคงซ้ายเพื่อลดการกดทับของมดลูกต่อเส้นเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังลูกน้อยได้ดีมากขึ้น
- ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก และการเขย่งเพื่อหยิบของบนที่สูง
- หากจำเป็นต้องยกของที่พื้น ควรนั่งยองลง และใช้กล้ามเนื้อแขนในการออกแรงยกของ ไม่ควรก้มตัวยกของเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหลังเกร็งตัว
- ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้พักและร่างกายได้มีเวลาฟื้นฟูอย่างเต็มที่
3. การออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรง และความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ เช่น การเดิน ว่ายน้ำหรือโยคะ เป็นต้น โดยต้องไม่มีข้อห้ามอื่นๆ ในการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์
4. การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงครรภ์และหลัง มีการศึกษาพบว่าช่วยในการปรับสรีระให้เกิดความสมดุลในการทรงตัว และอาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้ แม้ว่ากลไกและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ดังกล่าวยังไม่ชัดเจน
5. การใช้วิธีทางกายภาพอื่น ๆ เช่น การประคบร้อนหรือเย็น การนวด การฝังเข็ม เป็นต้น เป็นวิธีที่อาจช่วยลดอาการปวดได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้วิธีดังกล่าว และควรทำในสถานพยาบาลเพื่อความปลอดภัยค่ะ
อาการปวดหลังที่ควรพบแพทย์ทันที ได้แก่
หากแพทย์ตรวจแล้ว ไม่มีสาเหตุที่เป็นอันตราย จะพิจารณาจ่ายยาเพื่อบรรเทาปวดซึ่งสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาในกลุ่ม NSAIDs ยาคลายกล้ามเนื้อ รวมถึงยาทาหรือเจล เป็นต้น
จะเห็นว่าอาการปวดหลัง จัดเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน และสุขภาพกายและใจของคุณแม่ได้ แต่หากทราบถึงวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีอื่นๆ ที่ช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของอาการปวดลงได้ ก็จะทำให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างมีความสุขและปลอดภัยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.พญ.อรสา เหมะจันทร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดา และทารกในครรภ์ โรงพยาบาลพระรามเก้า
แหล่งอ้างอิง
Powered by 3M Futuro™
(พื้นที่เพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์)