สอนอะไรลูกก็ไม่ยอมเชื่อฟังแม่เลย เพราะสามีคอยตามใจตลอด ทะเลาะกัน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เครียดมากค่ะ
วิชาจิตวิทยาและจิตเวชศาสตร์ รวมทั้งจิตวิเคราะห์มีหลักการพื้นฐานอยู่ เหมือนการแพทย์ทุกสาขาถ้าเราไม่ละเมิดหลักการพื้นฐาน เรื่องต่างๆจะเดินหน้าไปเองตามครรลองที่ถูกต้อง หากจะมีอะไรเกิดขึ้นนอกเหนือความคาดหมายบ้างก็เป็นธรรมดาของชีวิตคนเราที่มีความผันผวนได้ แต่ก็จะไม่มากนักหรือไม่รุนแรงจนเกินไป
การเลี้ยงลูกก็เช่นกัน มีหลักการพื้นฐานที่หากบ้านใครทำได้เรื่องก็จะง่ายขึ้นมาก หนึ่งในหลักการพื้นฐานสำคัญคือคือเรื่องสามเหลี่ยมครอบครัว เรามาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง
หลักการนี้มีอยู่ว่าพ่อแม่ควรรักกันมากที่สุด สมมติว่ารักกันมากเท่ากับ 3 กิโลกรัม จากนั้นจึงส่งความรักไปที่ลูกคนละ 1 กิโลกรัมก็พอ
ที่ไม่ควรทำคือรักลูกมากกว่าคู่สมรส หรือรักลูกด้วยจำนวนกิโลกรัมที่ไม่เท่ากัน เช่น พ่อรักลูก 1 กิโลกรัม แต่แม่รักลูก 5 กิโลกรัม เช่นนี้สามเหลี่ยมจะเสียสมดุล คู่สมรสมักจะหมดพลังอย่างรวดเร็ว
หลักการพื้นฐานข้อที่ 2 คือพ่อแม่สามัคคีกันไว้ก่อน
หลักการนี้คือเรื่อง coordination คือพ่อแม่พูดตรงกันเสมอต่อหน้าลูก โดยไม่พะวงมากเกินไปว่าอะไรถูกหรือผิด ที่ควรทำคือควรรอมชอมและโอนอ่อนให้ผลัดกันทดลองกันได้บ้าง ผิดๆ ถูกๆ มิควรเป็นเรื่องคอขาดบาดตายในตอนแรกๆ
โลกสมัยใหม่ มีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกมากมายที่ไม่มีคำตอบขาวหรือดำ เต็มไปด้วยอาจจะ เป็นไปได้ คือความน่าจะเป็น ดังนั้นคู่สมรสควรผลัดกันได้ทำสิ่งที่ตนเองเห็นว่าถูกได้ แต่ที่สำคัญคือต้องประเมินผลด้วย เช่น ให้ลูกเล็กดูทีวีไป 1 เดือนแล้วเขากลายเป็นหุ่นยนตร์ไปแล้ว ก็ต้องเลิก เป็นต้น
การที่พ่อแม่ปรองดองกันตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้าลูกจะทำให้ลูกรู้ว่าบ้านนี้เทพเจ้าเป็นใหญ่อยู่สององค์ และสององค์นี้รักกันมาก ทำให้ลูกเรียนรู้ได้ว่าไม่สามารถต่อรองอะไรได้มากนัก จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเลี้ยงดูไปจนถึงอบรมสั่งสอนลูกไปได้นานมากกว่า เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นจะเชื่อฟังพ่อแม่มากกว่า
การที่พ่อแม่ขัดแย้งกันตลอดเวลา ทำให้ลูกเรียนรู้วิธีต่อรอง อีกทั้งลูกเรียนรู้ว่าพ่อแม่ไม่มั่นคง ไม่แม้แต่จะมั่นใจว่าคำแนะนำหรือคำสั่งสอนที่ให้มานั้นดีจริงหรือเปล่า มีเหตุผลสมควรหรือเปล่า ลูกที่ชาญฉลาดจะไปถึงระดับเล่นการเมืองภายในบ้านได้ด้วย ก็อยากได้ลูกฉลาดดีนัก
มีคำแนะนำน้อยมากที่ชัดเจน เช่น ห้ามดูทีวีก่อน 2 ขวบ เป็นต้น อะไรเช่นนี้พ่อแม่ควรศึกษาหาความรู้ร่วมกัน อย่างไรก็ตามหากฝ่ายหนึ่งดึงดันจะทำอะไรที่เป็นความเสี่ยง อีกฝ่ายหนึ่งต้องตัดสินใจว่าจะยินยอมหรือไม่
ชีวิตคู่ที่อยู่ด้วยกันเห็นหน้ากันทุกวันทุกคืนนั้นต้องการการรอมชอมและประนีประนอมมาก ไม่มากก็น้อยที่เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเขา แต่ก็มีบางเรื่องที่เราไม่อาจจะยินยอมได้เพื่อเรา ไม่มีคำตอบตายตัวกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มีแต่คนสองคนที่จะต้อง “พยายามเรียนรู้จักกันทุกวันทุกคืน” ว่าเราจะแลกเปลี่ยนกันอย่างไร
จึงจะมีความสุขชั่วกัลปาวสานพร้อมลูกที่น่ารัก เชื่อฟัง และดูแลตนเองได้ในอนาคต
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล