พยายามท้องมาตั้งนานแต่ไม่ท้องซักที มีลูกยากอาจเป็นเพราะเป็นช็อกโกแลตซีสต์ก็เป็นไปได้ ต้องรักษาช็อกโกแลตซีสต์อย่างไร เพื่อให้มีลูกได้ง่ายขึ้น
สาเหตุของการมีลูกยากมีหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ถ้าหากผู้หญิงมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยบ่อยๆ อาจคาดเดาได้ว่าเป็นช็อกโกแลตซีสต์ได้ ช็อกโกแลตซีสต์มีอาการอย่างไร วิธีการรักษาช็อกโกแลตซีสต์ต้องทำอย่างไร มารู้เบื้องต้นกันก่อนเลยค่ะ
เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หมายถึง เยื่อบุโพรงมดลูกที่ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่นอกโพรงมดลูก โดยอาจแทรกตัวอยู่ในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก หรืออาจเข้าไปในช่องท้องจนไปเจริญเติบโตอยู่ตามอวัยวะต่างๆในอุ้งชิงกราน เช่น เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังลำไส้ และผนังกระเพาะปัสสาวะ และบางครั้งอาจกระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น กระบังลม ปอด และ ช่องเยื่อหุ้มปอด
เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่นี้ เป็นปฏิกิริยาการอักเสบที่ขึ้นกับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen-dependent, benign, inflammatory disease) เมื่อไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ก็จะยังคงทำหน้าที่เช่นเดิม คือ สร้างประจำเดือน จึงทำให้มีเลือดสีแดงคล้ำหรือสีดำข้นคล้ายช็อกโกแลตขังอยู่ตามอวัยวะต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการผิดปกติต่างๆที่พบได้ในผู้ป่วยโรคนี้ เช่น ปวดท้องประจำเดือน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง มีบุตรยาก
ทฤษฎีการก่อกำเนิดของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้นมีหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากการไหลย้อนกลับของ ประจำเดือนผ่านท่อนำไข่เข้าไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะต่างๆภายในช่องท้อง (Sampson's theory) โดยมักจะตกไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน ในรายที่การทำหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถกำจัดเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านี้ได้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีบริเวณเส้นเอ็นยึดมดลูกด้านหลัง (Uterosacral Ligament) บริเวณรอยต่อมดลูกกับกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Reflection) เป็นต้น
อาการแสดงที่สำคัญของโรคนี้ ได้แก่ อาการปวดบริเวณท้องน้อย (80%) โดยเฉพาะอาการปวดประจำเดือนที่มากผิดปกติความรุนแรงของอาการปวดจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาที่ผ่านไป (progressive dysmenorrhea) ลักษณะอาการปวดจะปวดแบบตื้อ ๆ หรือปวดแบบบีบ ๆ เป็นตั้งแต่ 1-2 วัน ก่อนเป็นประจำเดือน
ซึ่งอาการปวดท้องเกิดจาก มีการเพิ่มการสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ บางรายที่รอยโรคอยู่ค่อนไปทางด้านหลังของมดลูก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใกล้กับลำไส้ตรง ก็จะมีอาการปวดหน่วงลงทวารหนักได้ในช่วงที่มีประจำเดือน ส่วนอาการอื่นๆที่พบได้บ่อย ได้แก่ เจ็บในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์ (dyspareunia) ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และภาวะมีบุตรยาก(25%) ซึ่งสัมพันธ์กับการอักเสบและการเกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกกะปริดกะปรอยระหว่างรอบเดือน (intermenstrual bleeding)
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดบริเวณต้นคอ, สะบัก แน่นหน้าอก หรือไอเป็นเลือด หากรอยโรคอยู่บริเวณช่องอก อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ถึงแม้จะมีรอยโรคชัดเจน แต่ก็กลับไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ผู้ป่วยบางราย อาจมาด้วยคลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย (20%) หรืออาจตรวจเจอโดยบังเอิญ จากการทำ ultrasound
ภาวะนี้จะมีลักษณะที่มองเห็นด้วยตาเปล่าค่อนข้างจำเพาะ ได้แก่ จะเห็นจุดสีน้ำตาลหรือม่วงคล้ำ บริเวณผิวของรังไข่, มดลูก, กระเพาะปัสสาวะ, ลำไส้ และเยื่อบุช่องท้อง ซึ่งจะมีขนาดแตกต่างกันออกไป หรืออาจพบเป็นก้อนบริเวณรังไข่ ภายในมีของเหลวข้นสีช็อกโกแลต
อุบัติการณ์ของภาวะมีบุตรยากในผู้ป่วยendometriosisพบได้ประมาณร้อยละ 30-40 การมีบุตรยากเกิดจากกลไกทางกายภาพ (mechanical) คือมีพังผืดในเชิงกรานทำให้กายวิภาคปกติ ของรังไข่และท่อนำไข่ถูกทำลายขัดขวางการเดินทางของไข่โดยตรง
สิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจร่างกายค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นกับตำแหน่ง และขนาดของเยื่อบุโพรงมดลูกที่มาฝังตัว โดยส่วนใหญ่ จะตรวจภายในพบมดลูกโต อาจคลำได้ nodule บริเวณด้านหลังมดลูก (Posterior fornix) หรือตรวจพบมดลูกเอียงหรือคว่ำจากการมีพังผืดดึงรั้ง ซึ่งหากตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติ ก็ไม่สามารถตัดภาวะภาวะนี้ออกไปได้
แต่หากผลการตรวจร่างกายยังไม่ชัดเจนอาจทำการตรวจ ultrasound ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก โดยจะพบ ovarian cyst (endometrioma) , nodules บริเวณ rectovaginal septum และกระเพาะปัสสาวะ แต่การตรวจ ultrasound จะไม่สามารถวินิจฉัยรอยโรคตามเยื่อบุช่องท้องได้
การส่องกล้องตรวจภายในช่องท้อง (laparoscopy) ช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น ยังไม่มีการส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการ ที่จำเพาะสำหรับภาวะนี้ แต่อาจตรวจพบ CA125 เพิ่มขึ้นได้ (>35u/ml)แต่ไม่เฉพาะเจาะจง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของ CA125 สามารถพบได้หลายภาวะ
การรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละคน ประกอบด้วย
ผู้หญิงหลายคนที่อยากมีบุตรแล้วตรวจพบช็อกโกแลตซีสต์ ยังคงสามารถตั้งครรภ์ได้ตามวิธีธรรมชาติ และอาการของช็อกโกแลตซีสต์จะดีขึ้นด้วย เนื่องจากในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเพศจะลดลงช่วง 9 เดือนของการตั้งครรภ์ รวมถึงหลังคลอดบุตร 3-6 เดือน ทำให้ไม่มีประจำเดือน ถุงน้ำช็อกโกแลตซีสต์ไม่ถูกเติมด้วยประจำเดือน ค่อย ๆ ฝ่อหายไปเองได้ แต่อย่างไรก็ตามช็อกโกแลตซีสต์ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ
ทั้งนี้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่อาจมีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นควรตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอทุกปีและหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบสูติ-นรีแพทย์โดยเร็ว
บทความโดย: แพทย์หญิง วรประภา ลาภิกานนท์ สูตินรีแพทย์