
HOW TO การนับลูกดิ้น สัญญาณสำคัญที่แม่ตั้งครรภ์ต้องรู้
ความสำคัญของการนับลูกดิ้น สัญญาณที่บ่งบอกให้คุณแม่ทราบว่าลูกในครรภ์ยังมีชีวิต คือ การดิ้นของลูก ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าลูกยังมีสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีในระหว่างตั้งครรภ์ ดังนั้นการนับทารกดิ้นจะช่วยในการตรวจค้นคว้า หรือแก้ไขภาวะที่อาจทำให้ทารกเสียชีวิต การที่คุณแม่รู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงนับเป็นสัญญาณอันตราย ต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไปว่าทารกในครรภ์มีสุขภาพที่ไม่ดีจริงหรือไม่
องค์ประกอบที่มีผลต่อการดิ้นของลูก
- ปริมาณน้ำคร่ำ
- อาหารที่คุณแม่ได้รับ
- ระดับน้ำตาลในเลือดของแม่
- สิ่งภายนอกที่มากระตุ้น แสง เสียง
อาการแบบไหนที่เรียกว่าลูกดิ้น
- ถีบ, เตะ
- กระทุ้ง
- หมุนตัว
- โก่งตัว
จำนวนครั้งในการดิ้นของลูก
- 20 สัปดาห์ ลูกจะดิ้นประมาณ 200 ครั้ง
- 30-32 สัปดาห์ ซึ่งจะดิ้นมากถึง 375-700 ครั้ง
- 33 สัปดาห์ขึ้นไป ลูกจะเริ่มดิ้นน้อยลง เพราะลูกตัวโตขึ้น ทำให้มีพื้นที่ดิ้นน้อยลง

3 วิธีนับลูกดิ้น (เริ่มนับลูกดิ้นเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์)
- การนับลูกดิ้นแบบ “Count to Ten” ตั้งแต่เช้า-เย็น หรือประมาณ 10-12 ชั่วโมง วิธีนับคือ ลูกดิ้นมากกว่า 10 ครั้งถือว่าปกติ
หมายเหตุ : ถ้าดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งต่อ 2 ชั่วโมงติดกัน ถือว่าผิดปกติ ควรไปพบแพทย์
- เทคนิคการนับลูกดิ้นแบบ “Sadovsky Technique” หลังกินอาหารเสร็จ เป็นช่วงที่น้ำตาลในเลือดสูง วิธีนับคือ ลูกดิ้นไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ซึ่งการขยับตัวติดต่อกันจะถือว่าเป็นการดิ้น 1 ครั้ง เช่น “ตุ๊บ ตุ๊บ พัก” โดยเมื่อนับจำนวนการดิ้นหลังอาหาร 3 มื้อรวมกันแล้วมากกว่า 10 ครั้ง ถือว่าปกติ
หมายเหตุ : หากลูกดิ้นน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 ชั่วโมงให้นับต่ออีกทันที 1 ชั่วโมง และหากยังน้อยกว่า 3 ครั้งอีก ควรไปพบแพทย์
- การนับลูกดิ้นใน 1 ชั่วโมง เลือกเวลาไหนก็ได้ที่สะดวก (แต่ต้องเป็นเวลาเดิมทุกวัน) ใน 1 ชั่วโมงต้องนับได้ 3 ครั้งหรือมากกว่า
การดิ้นของทารกในครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่บ่งบอกว่าลูกน้อยมีชีวิตปกติดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าลูกไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง อาจเป็นสัญญาณว่าลูกน้อยในครรภ์อาจกำลังตกอยู่ในอันตราย โดยเฉพาะเมื่อใกล้ครบกำหนดคลอดถ้าลูกดิ้นน้อย หรือดิ้นห่างลงไปเรื่อยๆ หรือหยุดดิ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับลูก อาจร้ายแรงมากจนลูกเสียชีวิตได้
ที่มา:
1.หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ “การเคลื่อนไหวของลูก” (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์) หน้า 132-133.
2.หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด “ลูกดิ้นมาก ดิ้นน้อย จะทำอย่างไร” (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ) หน้า 151-153.
มีงานวิจัยยืนยัน PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์ ถึงขั้นพิการแต่กำเนิด หรืออาจเสียชีวิตตั้งแต่แรกคลอด
PM 2.5 ฝุ่นร้ายอันตรายถึงลูกในท้อง เสี่ยงพิการ-ตาย ตั้งแต่แรกคลอด
นักวิจัยเผยมลพิษทางอากาศสามารถผ่านจาก 'แม่' สู่ 'ทารกในครรภ์' มลพิษทางอากาศของประเทศไทยมีอยู่หลายรูปแบบค่ะ ทั้งมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม หรือเกิดจากการเผาไหม้ขยะมูลฝอยค่ะ และที่สำคัญคือฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างความอันตรายให้กับแม่ตั้งครรภ์มากที่สุดค่ะ
วารสาร Nature Communications ตีพิมพ์งานวิจัยที่ระบุว่า ทีมวิจัยตรวจสอบพบอนุภาคขนาดเล็กอย่างคาร์บอนสีดำอยู่ภายในรกจำนวนมหาศาลต่อทุกๆ ลูกบาศก์เมตรในเนื้อเยื่อของตัวอย่างรกทุกชิ้นที่นำมาตรวจวิเคราะห์ โดยอธิบายว่าอนุภาคดังกล่าวที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงสามารถผ่านเข้าไปสู่ทารกในครรภ์ได้ด้วยการแทรกซึมผ่านลมหายใจของมารดา
ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้เลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่มผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์และไม่เคยสูบบุหรี่ ภายในเมือง Hasselt ประเทศเบลเยียมซึ่งเป็นเมืองที่มีระดับมลพิษต่ำกว่าข้อกำหนดของสหภาพยุโรป แต่สูงกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก โดยนักวิจัยเลือกใช้เทคนิคเลเซอร์เพื่อตรวจจับอนุภาคคาร์บอนสีดำ ก่อนจะพบว่าจำนวนของอนุภาคที่กีดขวางอยู่ในรกสัมพันธ์กับระดับมลพิษทางอากาศที่มารดาได้รับ
รศ.รพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล อายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล แสดงผลการศึกษาผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 กับแม่ท้องว่าหากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น PM2.5 สูง นอกจากจะเสี่ยงต่อทารกที่คลอดมาน้ำหนักตัวน้อยและเจ็บป่วยง่ายแล้ว ยังเสี่ยงต่อความพิการแรกคลอด โดยเฉพาะกลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
มีการศึกษาชิ้นสำคัญ เผยแพร่ในวารสารของสมาคมหัวใจแห่งอเมริกา ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2023 คณะผู้วิจัยได้นำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาจาก 30 จังหวัดในประเทศจีน ระหว่างปี 2557-2560 ซึ่งมีเด็กทารกที่คลอดในช่วงเวลานั้นจำนวน 1,434,998 คน พบเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 7,335 คน จึงได้ทำการเปรียบเทียบปริมาณ PM2.5 ที่แม่ของทารกดังกล่าวได้รับเข้าไปในช่วงที่อุ้มท้อง ระหว่างกลุ่มที่ทารกปกติกับกลุ่มที่ทารกมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด พบว่าค่าเฉลี่ย PM2.5 ที่แม่กลุ่มนี้ได้รับเฉลี่ยในหนึ่งปีคือ 56.51 (อยู่ในช่วงตั้งแต่ 10.95 - 182.13) ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าสูงมากที่เดียว
โดยทุก ๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่ปริมาณฝุ่นสูงขึ้น จะพบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว คำนวณเป็นความเสี่ยงได้ 1.04 เท่า สำหรับผลร้ายของฝุ่นต่อหัวใจทารกนี้จะพบมากขึ้น ถ้าแม่ได้รับฝุ่นเข้าไปมากตั้งแต่ช่วงก่อนการปฏิสนธิ นอกจากนี้แม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และแม่ที่มีฐานะยากจน จะพบความเสี่ยงนี้ได้มากขึ้น
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนพบความเชื่อมโยงของ PM 2.5 กับภาวะตายคลอด (Stillbirth) หรือภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิต ภาวะทารกตายคลอด (stillbirth) หมายถึงภาวะที่ทารกคลอดออกมาแล้วไม่มีอาการแสดงของการมีชีวิต เช่น ไม่มีการหายใจ ไม่มีการเต้นของหัวใจ ไม่มีการเคลื่อนไหว รวมถึงทารกที่คลอดออกมาแล้วตายทันทีด้วย
ในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการตีพิมพ์งานวิจัยผ่านเว็บไซต์ Nature Communications เรื่องมลพิษทางอากาศมีความเชื่อมโยงกับภาวะตายคลอด การวิจัยดังกล่าวได้เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2541-2559 (ค.ศ.1998 - ค.ศ.2016) จากประเทศรายได้ต่ำและปานกลางครอบคลุม 137 ประเทศทั่วโลก โดย 54 ประเทศในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นพื้นที่ที่มีการตายคลอดสูงถึง 98% และเป็นกลุ่มประเทศที่แม่ท้องมีการสัมผัส PM2.5 สูงกว่าระดับ WHO กำหนด
WHO กำหนดระดับการสัมผัส PM 2.5 ที่ไม่อันตรายคือค่าที่ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในปี 2558 มีสถิติการตายคลอดสูงถึง 2.09 ล้านคน โดยแม่ท้องประมาณ 950,000 คน มีภาวะตายคลอดจากการสัมผัส PM 2.5 เกินระดับ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
Tao Xue นักวิทยาศาสตร์จาก Peking University ประเทศจีนผู้ศึกษาความเชื่อมโยงนี้ระบุว่า การสัมผัส PM 2.5 ของแม่ท้องอาจทำให้อนุภาคของมลพิษทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวอ่อนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อรกซึ่งทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสารอาหารและออกซิเจนจากแม่สู่ลูกTao Xue ให้ความเห็นว่า นโยบายอากาศสะอาดที่จีนและบางประเทศประกาศใช้สามารถป้องกันการตายคลอดได้ นอกจากนี้ การสวมหน้ากากอนามัย การติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ การหลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้านขณะที่ค่า PM 2.5 สูง ๆ ก็ช่วยปกป้องแม่ท้องจากฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่นกัน
ข้อปฏิบัติเมื่อค่า PM2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์
1. สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยง (เด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคปอด-หัวใจ-ไต-สมองเรื้อรัง) งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
2. สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา
3. สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที
แม่ท้องควรทำอย่างไรเพื่อเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 ที่อันตรายต่อทารกในครรภ์
- ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน หากไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน
- ปิดประตูหน้าต่าง ป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน
- หากต้องออกนอกบ้าน ให้ใส่หน้ากากที่สามารถกรองฝุ่น PM 2.5
- ให้ดื่มน้ำมาก ๆ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ จะต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศที่มีฝุ่นละออง
อันตรายจากมลพิษทางอากาศ กระทบทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ค่ะ ดังนั้นคุณแม่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น หรือถ้าต้องออกไปจริงๆ ควรส่วมใส่หน้ากากอนามัยที่ป้องกันได้จริงนะคะ เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณแม่เอง และเจ้าตัวน้อยในครรภ์นะคะ
ที่มา:
กระทรวงสาธารณสุข
https://www.theguardian.com/environment/2019/sep/17/air-pollution-particles-found-on-foetal-side-of-placentas-study
https://edition.cnn.com/2019/03/05/health/100-most-polluted-cities-2018-intl/index.html
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0LmHYaREiSZwrwrtq23Lne9aBycWCXEUiC3GfyKDWgrmSPs7irEPaB2FmrzZ7DMdwl&id=100002870789106
https://www.ahajournals.org/doi/epub/10.1161/CIRCULATIONAHA.122.061245?fbclid=IwAR1Wcgi1eY_63WPzLgNj5rc-OB2uVqu0a41hc6XVXUcrACmQqlu98Zco8Z4
คนท้อง 7 เดือน อายุครรภ์ 7 เดือน ลูกในท้องตัวเท่ามะพร้าวและเริ่มหมุนกลับหัว
พัฒนาการทารกในครรภ์ 7 เดือน แม่ตั้งครรภ์ 7 เดือน ลูกในท้อง ตัวเท่ามะพร้าว อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ( ปลายเดือนที่ 7 ทางจันทรคติหรือ 6 1/2 เดือนตามปฏิทิน)
- ความยาวของตัวทารกตั้งแต่หัวจรดเท้าประมาณ 35 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 1,000 กรัม
- ต่อมไขมันเริ่มทำงานแล้ว ช่วงนี้ผิวลูกในท้องจึงเริ่มมีความชุ่มชื่นมากขึ้น
- ทารกในท้องลืมตาได้เองแล้ว
- ช่วงนี้พื้นที่ในท้องแม่แคบลงเพราะลูกตัวใหญ่ขึ้น เมื่อลูกเริ่มยืดแขนขาแม่จึงรู้สึกได้ว่าลูกดิ้นแรง ดิ้นบ่อย
- ทารกในท้องบางคนจะเริ่มหมุนตัวเอาส่วนหัวลงในลักษณะคล้ายเตรียมตัวคลอดแล้ว
- ทารกมีการกลืนน้ำคร่ำ และฝึกการดูดนมด้วยเช่นกัน สำหรับน้ำคร่ำที่ถูกดูดกลืนเข้าไปจะถูกขับถ่ายออกมาเป็นปัสสาวะประมาณ 500 มล.ต่อวัน
อาการคนท้อง 7 เดือน ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไร
- การตั้งครรภ์เข้าไตรมาสที่ 3 นี้คุณแม่จะเหนื่อยและเพลียง่ายมากเพราะทั้งตัวลูกที่ใหญ่ขึ้น ท้องใหญ่ขึ้น น้ำหนักตัวแม่ที่เพิ่มมากขึ้น เดินนิดหน่อยก็จะเหนื่อย ง่วงนอน
- แม่เริ่มจะปวดหลังมากขึ้น นอนไม่ค่อยหลับเพราะท้องใหญ่ไม่สบายตัว รวมทั้งลูกอาจจะตื่นมาถีบท้องแม่ตอนกลางคืนทำให้ไม่ค่อยได้นอน ท่านอนคนท้องที่ช่วยให้สบายตัวคือท่านอนตะแคงกอดหมอนข้าง หรือคุณแม่ลองนอนโดยใช้หมอนแม่ท้องช่วยประคองหลัง ประคองท้อง นอนในท่าเอนหลังแบบกึ่งนั่งกึ่งนอน และใช้วิธีงีบหลับระหว่างวันช่วยได้
- คุณแม่บางคนเริ่มมีน้ำนมไหล คุณแม่อาจเริ่มสังเกตว่ามีน้ำสีขุ่น ๆ ไหลออกมาจากหัวนม น้ำนี้มีความใสกว่าน้ำนม มีรสหวาน เรียกว่า "โคลอสตรัม" (Colostrum) เพื่อให้ทารกได้กินเป็นอาหารในช่วง 3-4 มื้อแรกก่อนที่น้ำนมจริง ๆ จากเต้านมจะไหลออกมานั่นเอง
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น คุณแม่จะเริ่มมีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้นมาอีก หลังจากหายไปเมื่อเลย 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์แล้ว คราวนี้อาการปัสสาวะบ่อยนั้นเกิดจากมดลูกที่โต และทารกที่อยู่ภายในเริ่มมีแรงกดต่อกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดอาการดังกล่าว
- รู้สึกเจ็บจี๊ดตรงอวัยวะเพศ เป็นอาการปกติที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของทารกในครรภ์มาที่กระดูกเชิงกราน ทำให้กระทบกับเส้นประสาทในมดลูก จนทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บจี๊ดที่บริเวณหัวหน่าวและอวัยวะเพศนั่นเอง
อาหารคนท้อง 7 เดือน
- อาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินซี วิตามินดี จะช่วยให้ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนมแก่ทารก
- ช่วงนี้วิตามินซีมีความจำเป็นมาก เพราะนอกจากจะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กแล้ว ยังช่วยสร้างเม็ดเลือดให้กับทารกด้วย
- แคลเซียมยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เช่นเดียวกับวิตามินเค ที่จะช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมดีขึ้นและช่วยบรรเทาอาการปวดหลังให้แก่คุณแม่ได้
*************************************************
เช็กพัฒนาการทารกในครรภ์ตลอดอายุครรภ์ 9 เดือน ได้ที่นี่
- ตั้งครรภ์ 1 เดือน อายุครรภ์ 1 เดือน
- ตั้งครรภ์ 2 เดือน อายุครรภ์ 2 เดือน
- ตั้งครรภ์ 3 เดือน อายุครรภ์ 3 เดือน
- ตั้งครรภ์ 4 เดือน อายุครรภ์ 4 เดือน
- ตั้งครรภ์ 5 เดือน อายุครรภ์ 5 เดือน
- ตั้งครรภ์ 6 เดือน อายุครรภ์ 6 เดือน
- ตั้งครรภ์ 7 เดือน อายุครรภ์ 7 เดือน
- ตั้งครรภ์ 8 เดือน อายุครรภ์ 8 เดือน
- ตั้งครรภ์ 9 เดือน อายุครรภ์ 9 เดือน

คุย เล่นกับลูกในท้อง 10 วิธีกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ ที่คนท้องและว่าที่คุณพ่อทำได้
ลูกในท้องก็เล่นแล้วนะคุณแม่ เรามี 10 วิธีกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์ให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่เอาไปลองเล่นกระตุ้นลูกกันค่ะ บอกเลยว่าแต่ละกิจกรรมง่าย แต่ก็เวิร์กสุดๆ ที่จะช่วยให้ลูกในท้องได้ขยับเคลื่อนไหว ได้ลองใช้พลัง และความความสนุกอารมณ์ดีตั้งแต่ในท้องแม่ค่ะ... พ่อก็ต้องช่วยนะ
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 1: การปรับอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ
จะช่วยกระตุ้นลูกรักในครรภ์ การศึกษาทางการแพทย์พบว่า คุณแม่ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอจะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า เอนดอร์ฟิน ออกมาผ่านไปทางสายสะดือไปยังลูก ทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีทั้งสมอง (IQ) และอารมณ์ (EQ) รวมถึงตอนคุณพ่ออารมณ์ดี ๆ เข้ามากอดท้องแม่ มาคุยกับลูก เสียงคุณพ่อก็สร้างความอบอุ่นและปลอดภัยมาก ๆ ค่ะ
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 2: ฟังเพลง
เสียงเพลงกระตุ้นจะทำให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น เมื่อลูกคลอดออกมา มีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง รู้สึกผ่อนคลาย และจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี คุณพ่ออาจจะร้องเพลงให้ลูกฟังเอง หรือ หาเพลงให้คุณแม่และลูกฟัง โดยควรจะเปิดเพลงให้อยู่ห่างจากหน้าท้องประมาณ 1 ฟุต และเปิดเสียงดังพอประมาณเพื่อลูกในครรภ์จะได้ฟังเสียงเพลงไปด้วย
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 3: พูดคุยกับลูก
การพูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อย ๆ จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดีและเตรียม พร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกบ่อย ๆ ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ประโยคซ้ำ ๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 4: นวด ลูบหน้าท้อง
การลูบหน้าท้องจะกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนรับรู้ความรู้สึกของลูกให้มีพัฒนาการดีขึ้น การลูบท้องควรลูบเป็นวงกลม จากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน บริเวณไหนก่อนก็ได้
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 5: ส่องไฟที่หน้าท้อง
ลูกในท้องสามารถกระพริบตาตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็น มีพัฒนาดีขึ้นและเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอด
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 6: ออกกำลังกาย
เวลาคุณแม่มีการออกกำลังกาย ลูกที่อยู่ในครรภ์ก็จะมีการเคลื่อนไหวตามไปด้วย และผิวกายของลูกจะไปกระแทกกับผนังด้านในของมดลูก ซึ่งจะกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาดีขึ้น
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 7: เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม
เนื้อสมองของลูกน้อยในครรภ์มีองค์ประกอบเป็นไขมัน โดยเฉพาะไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว 60% กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ความสำคัญคือ DHA ซึ่งมีมากในอาหารปลาพวกปลาทะเลและสาหร่ายทะเล และ ARA ซึ่งมีมากในอาหารพวกน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเม็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น คุณพ่อต้องหาอาหารประเภทนี้ให้คุณแม่กินบ่อย ๆ ลูกก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 8: เดินเล่นกระตุ้นทารกในครรภ์
การออกไปเดินเล่นยืดเส้นยืดสายถือเป็นการออกกำลังกายเบา ๆ ยิ่งช่วงเวลาเช้าหรือเย็นที่อากาศดี ไม่ร้อนเกินไปจะช่วยให้สดชื่นจากการรับออกซิเจนได้ด้วย คุณพ่อควรชวนและพาคุณแม่ไปเดินเล่นด้วยกันบ่อย ๆ ค่ะ
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 9: ให้ลูกเตะ
คุณพ่อคุณแม่อาจจะเล่นหรือกระตุ้นลูกด้วยการเอามือลูบ หรือกระตุ้นให้ลูกเตะมากขึ้น เมื่อลูกได้รับการกระตุ้นจากภายนอกก็จะขยับตัวมากขึ้น ช่วยให้ลูกได้ออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสายอยู่ในท้อง และยังทำให้ทราบว่าลูกยังเคลื่อนไหวเป็นปกติอยู่ค่ะ
กระตุ้นพัฒนาการทารกครรภ์วิธีที่ 10: อ่านหนังสือ อ่านนิทาน
การอ่านหนังสือคล้ายกับการพูดคุย หรือให้ลูกฟังเพลง เป็นการกระตุ้นการได้ยินของลูก การเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังช่วยให้แม่ได้ผ่อนคลายและช่วยให้ลูกในท้องจดจำเสียงพ่อแม่ได้ตั้งแต่ในครรภ์
ขอบคุณข้อมูลจาก:
รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

แม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน อายุครรภ์ 5 เดือน ลูกตัวเท่ามะละกอและดิ้นแรง
พัฒนาการทารกในครรภ์ 5 เดือน แม่ตั้งครรภ์ 5 เดือน อายุครรภ์ 5 เดือน หรือ อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ (ช่วง อายุครรภ์ 17 สัปดาห์, อายุครรภ์ 18 สัปดาห์, อายุครรภ์ 19 สัปดาห์, อายุครรภ์ 20 สัปดาห์) (5 เดือนตามจันทรคติ) ลูกในท้องตัวเท่ามะละกอลูกเล็ก และ ลูกดิ้นแรงแล้ว
- ทารกในครรภ์มีความยาวหัวจรดเท้าประมาณ 25 เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 300 กรัม
- เริ่มมีผมอ่อนขึ้น เปลือกตายังปิดอยู่ แต่ถึงจะปิดแต่ก็ไวแสง แม่ยังส่องไฟเล่นกันลูกได้
- เริ่มดิ้น ยืดตัว พลิกตัวหมุนไปมาในท้องแม่จนแม่รู้สึกได้เองแล้วว่าลูกดิ้นหรือถีบเป็นระยะ ๆ (ตอนไหนไม่ถีบคือหลับ) คุณแม่ควรจนบันทึกเวลาในการดิ้นของลูกไว้
- แยกรสหวานและขมได้ด้วยนะ สืบเนื่องจากปุ่มรับรสที่พัฒนาแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนที่ 4 ตอนนี้เลยเริ่มแยกรสได้แล้ว
- มีฟันน้ำนมเกิดขึ้นในเหงือกแล้ว
อาการคนท้อง 5 เดือน ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไร
- ช่วงนี้น้ำหนักตัวจะขึ้นมาประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม ท้องเริ่มใหญ่ขึ้นอย่างเร็วจนอาจทำให้ผิวเริ่มแตกลายได้ คุณแม่ควรใช้เบบี้ออยล์ โลชั่น หรือครีมป้องกันท้องแตก เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว
- คุณแม่จะขี้ร้อนและเหงื่อออกง่าย เพราะต่อมไทรอยด์ต้องทำงานมากขึ้น บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนตัวเองหายใจหอบ
- ปัสสาวะบ่อยมาก เพราะตัวลูกใหญ่ขึ้นจนไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ
- อาจรู้สึกแสบกระเพาะอาหาร เกิดกรดไหลย้อน และท้องผูกได้
- ตะคริวเริ่มมากบ่อยขึ้น ส่วนใหญ่มักเป็นมากในช่วงกลางคืน หากคุณแม่เป็นตะคริวควรรีบกระดกปลายเท้าขึ้น เพื่อให้กล้ามเนื้อที่จับตัวเป็นตะคริวเหยียดและคลายตัวออก
- อาการท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ 5 เดือน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากการขยายตัวของมดลูก ลูกดิ้นแรง หรือแม่กินอาหารอิ่มเกินไป ก็ทำให้ท้องแข็งได้
- ช่วงนี้แม่ท้องอาจจะต้องเลี่ยงท่านอนหงายก่อน เพราะด้วยน้ำหนักท้องที่มากขึ้นอาจทำให้รู้สึกอึดอัด นอนไม่สบาย นอกจากนี้การนอนหงายจะทำให้ความดันโลหิตลดลงจนส่งผลต่อปริมาณเลือดที่จะส่งไปหล่อเลี้ยงหัวใจและทารกในครรภ์
อาหารคนท้องอายุครรภ์ 5 เดือน
- เพราะตะคริวมาหนักขึ้น คุณแม่ควรกินอาหารที่มีวิตามินบี 12 มากขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ ปลา นม เนย ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เป็นต้น จะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยบำรุงระบบประสาทส่วนกลาง และส่วนปลายของทารกได้
- อย่าลืมเน้นผัก ผลไม้ และน้ำสะอาดที่ควรกินทั้งวัน เพื่อลดและป้องกันอาการท้องผูกที่มักเกิดกับคุณแม่ท้องนั่นเอง
*************************************************
เช็กพัฒนาการทารกในครรภ์ตลอดอายุครรภ์ 9 เดือน ได้ที่นี่
- ตั้งครรภ์ 1 เดือน อายุครรภ์ 1 เดือน
- ตั้งครรภ์ 2 เดือน อายุครรภ์ 2 เดือน
- ตั้งครรภ์ 3 เดือน อายุครรภ์ 3 เดือน
- ตั้งครรภ์ 4 เดือน อายุครรภ์ 4 เดือน
- ตั้งครรภ์ 5 เดือน อายุครรภ์ 5 เดือน
- ตั้งครรภ์ 6 เดือน อายุครรภ์ 6 เดือน
- ตั้งครรภ์ 7 เดือน อายุครรภ์ 7 เดือน
- ตั้งครรภ์ 8 เดือน อายุครรภ์ 8 เดือน
- ตั้งครรภ์ 9 เดือน อายุครรภ์ 9 เดือน

ตั้งท้อง 9 เดือน อายุครรภ์ 9 เดือน ลูกตัวเท่าแตงโมและเตรียมคลอดแล้ว
แม่ตั้งครรภ์ 9 เดือน อายุครรภ์ 9 เดือนพร้อมคลอดลูกแล้วนะ ก่อนคลอดลูกเรามาเช็กพัฒนาการลูกในครรภ์ 9 เดือน กันค่ะ ว่าพร้อมออกมาลืมตาดูโลกมาน้อยแค่ไหน และเช็กไปถึง คุณแม่ท้องแก่ ใกล้คลอด ด้วยว่าจะต้อง เตรียมความพร้อม อะไรบ้างใน การต้อนรับเบบี๋ที่กำลังจะคลอด
พัฒนาการทารกในครรภ์ 9 เดือน ลูกในท้องตัวเท่าแตงโม
(อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ - อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ ปลายเดือน 10 ทางจันทรคติ หรือ 9 เดือนกับ 1 สัปดาห์ตามปฏิทิน)
- ทารกในครรภ์มีความยาวตั้งแต่หัวจรดเท้าประมาณ 50 ซม. น้ำหนักตัวประมาณ 3,000 - 3,500 กรัม
- ผิวลูกจะเป็นสีชมพู เรียบ ไม่ย่นมากเหมือนเดือนก่อน ๆ
- ผมยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร
- ปอดทำงานได้ดี และสามารถทำงาน หายใจได้เองเมื่อคลอดออกมาแล้ว
- ทารกในครรภ์จะอยู่ในท่าพร้อมคลอด คือ กลับตัวเอาหัวลง ซึ่งอาจะมีทารกบางคนที่ไม่กลับหัว แต่จะอยู่ใน "ท่าก้น" คือเอาก้นคลอด ท่านี้ค่อนข้างอันตราย ดังนั้นเมื่อทารกไม่กลับหัว คุณหมอและพยาบาลจะมีท่าและการนวดท้องที่จะช่วยให้ลูกกลับหัวได้ หรือหากมีความเสี่ยงมากอาจจะต้องผ่าคลอดแทนการคลอดธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับขนาดตัวของลูก และความแข็งแรงร่างกายของแม่ค่ะ

อ่านบทความ : อาการใกล้คลอดมาแล้วแต่ลูกไม่ยอมกลับหัว แม่และหมอต้องท้องยังไง
อาการคนท้อง 9 เดือน ร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างไร
- เมื่อคุณแม่มีอาการท้องลด จะรู้สึกสบายบริเวณลิ้นปี่และหายใจดีขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่ศีรษะของทารกลงไปอยู่ในช่องเชิงกราน
- มีอาการเจ็บเตือนก่อนคลอดบ่อยขึ้น
- เดือนนี้คุณแม่จะมีความวิตกกังวลมากขึ้น ทำให้นอนไม่หลับ เนื่องจากท้องที่โตมากขึ้น อึดอัดไม่สบายตัว ดังนั้น หากพอมีเวลาคุณแม่ควรงีบหลับบ้างจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสดชื่น และอย่าลืมหนุนเท้าให้สูงกว่าลำตัวเวลานอนด้วยนะคะ
การดูแลสุขภาพอายุครรภ์ 9 เดือน
1. หายใจล้างปอด คือการสูดหายใจลึก ๆ โดยใช้มือข้างหนึ่งวางไว้ที่ท้อง ถ้าหายใจถูกต้อง ท้องจะต้องป่อง จากนั้นผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ
2. หายใจระดับอก คือ การสูดหายใจถึงแค่ระดับอก โดยใช้มือข้างหนึ่งวางไว้ที่อก ถ้าหายใจถูกต้อง อกจะต้องพองขึ้น จากนั้นผ่อนลมหายใจออกทางปากช้าๆ
3. หายใจระดับคอ คือ การสูดหายใจตื้น ๆ เร็ว ๆ โดยหายใจถึงแค่ระดับคอ แล้วหายใจออกทางปากถี่ ๆ ซึ่งการหายใจแต่ละระดับจะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายและบรรเทาความเจ็บปวดในระยะต่าง ๆ ของการคลอด
4. เมื่อมดลูกเริ่มหดรัดตัวสังเกตจากการมีอาการปวดท้องนำมาก่อน ให้คุณแม่หายใจล้างปอด 1 ครั้ง จากนั้นหายใจระดับอก นับ 1-2-3 แล้วค่อย ๆ ผ่อนลมหายใจออกทางปาก นับ 1-2-3 ทำเช่นนี้ 6-9 ครั้งต่อนาที
5. เมื่อมดลูกคลายตัวเต็มที่ให้หายใจล้างปอดอีก 1 ครั้ง สำหรับการหายใจแบบ ตื้น ๆ ถี่ ๆ จะใช้ในช่วงที่อยากเบ่งเหลือเกิน แต่ปากมดลูกยังไม่เปิดเต็มที่ (ซึ่งพยาบาลมักจะบอกว่า “อย่าเพิ่งเบ่ง”) โดยให้คุณแม่หายใจทางปาก เข้านับ 1 ออกนับ 2 ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าปากมดลูกจะเปิดนะคะ
*************************************************
เช็กพัฒนาการทารกในครรภ์ตลอดอายุครรภ์ 9 เดือน ได้ที่นี่
- ตั้งท้อง 1 เดือน อายุครรภ์ 1 เดือน
- ตั้งท้อง 2 เดือน อายุครรภ์ 2 เดือน
- ตั้งท้อง 3 เดือน อายุครรภ์ 3 เดือน
- ตั้งท้อง 4 เดือน อายุครรภ์ 4 เดือน
- ตั้งท้อง 5 เดือน อายุครรภ์ 5 เดือน
- ตั้งท้อง 6 เดือน อายุครรภ์ 6 เดือน
- ตั้งท้อง 7 เดือน อายุครรภ์ 7 เดือน
- ตั้งท้อง 8 เดือน อายุครรภ์ 8 เดือน
- ตั้งท้อง 9 เดือน อายุครรภ์ 9 เดือน

พัฒนาการสมองทารกในครรภ์เก่งยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์อีกนะแม่
สมองของลูกทารกในท้องแม่พัฒนาได้ไว และสามารถทำงานได้แล้วตั้งแต่ยังไม่คลอดเลยนะคะ สำหรับใครที่ท้องอยู่ลองมาเช็กกันหน่อยว่าแต่ใหญ่แค่ไหน โตยังไง และพัฒนายังไง คุณแม่ต้องรู้ และเรามีวิธีกระตุ้นพัฒนาการทางสมองลูกได้ตั้งแต่ในท้องมาแนะนำด้วย
พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือน
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 1
หลังการปฏิสนธิประมาน 18 วัน เนื้อเยื่อสมองเริ่มปรากฏขึ้น เริ่มแรกจะเป็นเพียงแผ่นบางๆ ค่อยโค้งเข้าหากันเหมือนหลอดกาแฟ ในระยะต่อมาก็จะโป่งพองและกลายเป็นสมอง ในแต่ละส่วน
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 2 และ 3
เซลล์สมองเริ่มมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ประมาณ 250,000 เซลล์ทุกๆ นาที ซึ่งสามารถแบ่งแยกระหว่างสมองและไขสันหลังได้ชัดเจน และช่วงนี้เริ่มมีเส้นใยประสาทโผล่ออกมาให้เห็นแล้วค่ะ
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 4
ระบบสมองของลูกเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น สมองของลูกในระยะนี้จะมีขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วแขกค่ะ เส้นใยประสาทเริ่มมีมันสมองมาล้อมรอบ ซึ่งช่วงนี้ประสาทสัมผัส หู ตา ของลูกน้อยเริ่มทำงานได้แล้ว
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 5 และ 6
คุณแม่คงจะรู้สึกกันแล้วใช่ไหมค่ะว่าลูกกำลังดิ้นอยู่ นั่นเป็นเพราะเซลล์สมองได้เริ่มเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังตำแหน่งของเส้นประสาทอย่างทั่วถึง ลูกเริ่มรับรู้ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น รสชาติอาหารของคุณแม่ หรือการเริ่มได้ยินเสียงพูดคุย เพราะ ระบบประสาทของลูกนั้นมีการพัฒนาจนเริ่มที่จะสมบูรณ์แล้ว
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 7
สมองของลูกจะเริ่มมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนนี้ค่ะ เซลล์สมองเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับเส้นใยและจุดเชื่อมต่างๆ
- พัฒนาการสมองของทารกในครรภ์เดือนที่ 8 และ 9
ตอนนี้เซลล์สมองของลูกสามารถทำงานประสานกันได้แล้วค่ะ อีกทั้งรอยหยักของสมองเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งรอยหยักของสมองนี้เองที่เป็นตัวเพิ่มฟื้นที่ให้กับสมองของลูกน้อย
สมองมีเซลล์สมองอยู่ประมาณ 1 แสนล้านเซลล์ ไม่มีการสร้างเพิ่มเติมอีก แต่เราสามารถสร้างเส้นใยประสาทได้โดยการกระตุ้นการเรียนรู้และส่งเสริมประสบการณ์ให้กับลูกได้ค่ะ

เคล็ดลับส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการทางสมองให้ลูกในท้อง
- คุณแม่ควรวางแผนตั้งครรภ์และกินกรดโฟลิกก่อนการตั้งครรภ์ล่วงหน้าประมาณ 1-3 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดกรดโฟลิก คุณแม่ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ผักโขม ควบคู่กับการกินโฟลิกชนิดเม็ด
- กินอาหารที่มีกรดโฟลิกหรือ"โฟเลต" ที่มีความสำคัญในการสังเคราะห์ DNA ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของเซลล์ต่างๆ และมีบทบาทต่อการสร้างสารคาร์บอน อันเป็นกลไกการทำงานของดีเอ็นเอในการถ่ายทอดคำสั่งทางพันธุกรรมเพื่อสร้างโปรตีนชนิดต่างๆ และที่สำคัญ กรดโฟลิกมีความจำเป็นต่อการสร้างเซลล์ประสาทและเซลล์สมองของลูกอย่างมาก