facebook  youtube  line

'อัลตร้าซาวด์' ดูหน้าลูกแบบไหนดีที่สุด และในแต่ละเดือนจะเห็นพัฒนาการอะไรบ้าง

อัลตราซาวน์ 2 มิติ-อัลตราซาวน์ 3 มิติ-อัลตราซาวน์ 4 มิติ-อัลตราซาวน์ลูกในท้อง-อัลตราซาวน์แม่ตั้งครรภ์-อัลตราซาวน์อันตรายไหม-อัลตราซาวน์กี่มิติดี-จำเป็นต้องอัลตราซาวน์ไหม-ทำไมต้องอัลตราซาวน์-อัลตราซาวน์ดูลูกในท้อง

'อัลตร้าซาวด์'ดูหน้าลูกแบบไหนดีที่สุด และในแต่ละเดือนจะเห็นพัฒนาการอะไรบ้าง


อัลตร้าซาวด์ คือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง มีความปลอดภัย และสามารถทำได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ ปัจจุบันพัฒนาการของเครื่องอัลตราซาวด์ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จากปกติทั่วไป 2 มิติ พัฒนาสู่ 3 และ 4 มิติ ทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเห็นหน้าลูกได้ชัดแจ๋วเลยค่ะ  แต่จะเลือกวิธีไหนดี เรามีมาแนะนำให้ความรู้กันก่อนไปหาคุณหมอค่ะ

ประโยชน์ของการตรวจอัลตร้าซาวด์แบบใหม่

สิ่งสำคัญที่ได้จากการตรวจอัลตร้าซาวด์ 3 และ 4 มิติ คือ ทำให้ได้ข้อมูลและรายละเอียดที่มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความผิดปกติที่พื้นผิว เช่น ปากแหว่ง หรือเนื้องอกที่ผิวบางชนิด ที่สำคัญ สามารถเก็บข้อมูลในลักษณะของปริมาตร จึงสามารถพิจารณารายละเอียดได้ในลักษณะหลายระนาบ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยความผิดปกติบางอย่าง เช่น เพดานโหว่ เป็นต้น
 


ความแตกต่างของมิติอัลตร้าซาวด์

ตรวจอัลตร้าซาวด์ภาพ 2 มิติ

คือ เป็นภาพตัดขวางทีละภาพ ตามแนวของคลื่นเสียงความถี่สูงที่ส่งออกไปในแนวระนาบ (มิติที่ 1 คือความกว้าง มิติที่ 2 คือ ความยาว) ภาพที่จะได้ออกมาจะเป็นภาพแบบไม่มีความลึกหรือตื้นใด ๆ เลยและยังเห็นหน้าของลูกไม่ค่อยชัดอีกด้วย เพราะภาพที่ได้จะเป็นเงาดำ ๆ เท่านั้นเองค่ะ
 


 

ตรวจอัลตร้าซาวด์ภาพ 3 มิติ

หัวตรวจและอุปกรณ์ประมวลผลจะมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยหัวตรวจจะส่งคลื่นเสียงในลักษณะหลายระนาบพร้อมกัน ทำให้เกิดการเก็บข้อมูลติดต่อกัน จากนั้นข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปยังหน่วยประมวลผลของเครื่องและทำการสร้างเป็นภาพ 3 มิติ สำหรับมิติที่ 3 ที่เพิ่มขึ้นมาคือความลึก ซึ่งจะทำให้ภาพนั้นเสมือนวัตถุจริงไม่ใช่ภาพตัดขวางของวัตถุ ภาพที่ได้ออกมาจะมีมิติมากขึ้น ดูเหมือนเด็กมากขึ้น จะสามารถมองภาพที่ออกมาได้เสมือนจริง และยังสามารถหมุนดูภาพไปมาได้อีกด้วย
 


 

ตรวจอัลตร้าซาวด์ภาพ 4 มิติ

การประมวลผลจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  โดยเครื่องจะทำการเก็บภาพ 3 มิติแต่ละภาพแล้วแสดงผลเรียงต่อกัน ทำให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหวเช่นเดียวกับภาพยนตร์ซึ่งมีมิติที่ 4  หรือก็คือเวลานั่นเอง ในการตรวจทารกในครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ จะสามารถเห็นภาพทารกเคลื่อนไหวอยู่ในครรภ์ ตลอดจนเห็นกิริยาอาการที่ทารกกำลังทำอยู่ในขณะตรวจได้ เช่น การเคลื่อนไหวใบหน้าไปมา ยกแขน ขยับนิ้ว อ้าปาก กลืน เป็นต้น
 

ช่วงเวลาอัลตร้าซาวด์ บอกอะไรได้บ้าง
 
6-8 สัปดาห์
  • ตรวจยืนยันการตั้งครรภ์, จำนวนทารก และดูการเต้นหัวใจ
  • ตรวจภาวะตั้งครรภ์ ว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะท้องนอกมดลูก-ท้องลม หรือไม่
  • ตรวจว่ามีเนื้องอกมดลูก หรือ ถุงน้ำรังไข่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการตั้งครรภ์ หรือไม่
 
10-14 สัปดาห์
  • ตรวจหาความพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงบางอย่าง
  • วัดความหนาของผิวหนังบริเวณต้นคอ เพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองความเสี่ยงกลุ่มอาการดาวน์
 
18-22 สัปดาห์
  • ตรวจความผิดปกติหรือความพิการของทารกอย่างละเอียด
  • ตรวจการเจริญเติบโต และน้ำหนักตัวของทารก
  • ตรวจตำแหน่งรก สายสะดือ และปริมาณน้ำคร่ำ
 
28-36 สัปดาห์
  • ตรวจความผิดปกติของทารกอีกครั้งก่อนคลอด
  • ตรวจการเจริญเติบโต และน้ำหนักตัวของทารก
  • ตรวจสุขภาพทารก, การหายใจ และการเคลื่อนไหว
  • ตรวจสุขภาพรก, ปริมาณน้ำคร่ำ, ประเมินภาวะรกเสื่อม
  • ตรวจความเร็วเลือดในสายสะดือและทารก
  • ตรวจยืนยันท่าของทารกก่อนการคลอด

 

 



 

(คลิป) พัฒนาการทารกในครรภ์ 40 สัปดาห์ ลูกในท้องโตยังไง มาส่องท้องแม่กัน

คลิปลูกในท้อง, คลิป พัฒนาการ ทารกในครรภ์, คลิปทารกในท้อง, คลิป คนท้อง, อัลตราซาวน์ ทารกในครรภ์, คลิป ทารก, คลิปเด็กแรกเกิด, คลิปคลอดลูก, คลิปเด็ก 

นแต่ละสัปดาห์ ลูกในท้อง ทารกในครรภ์โตแบบไหน เป็นอย่างไร คลิปแม่ท้องนี้จะบอกคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้ชัดเจนว่า ลูกในท้องมีพัฒนาการอย่างไรและแข็งแรงพร้อมคลอดแค่ไหน

(คลิป) พัฒนาการทารกในครรภ์ 40 สัปดาห์ แต่ละสัปดาห์ลูกโตยังไง มาแอบส่องท้องแม่กัน

ที่มาคลิปพัฒนาการทารกในครรภ์ 40 สัปดาห์ 

https://ultrasound.ie/
 https://www.facebook.com/ultrasound.ie

 

Mozart Effect ดีต่อสมองและพัฒนาการทารกในท้องจริงไหม?


Mozart-Effect-เพลงกระตุ้นสมอง

Mozart Effect ดีต่อสมองและพัฒนาการทารกในท้องจริงไหม?

กระแสที่พูดถึงกันมานานว่า Mozart Effect หรือ การฟังเพลงโมซาร์ทส่งผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ ให้มีพัฒนาการ พัฒนาการทางสมองเติบโตอย่างรวดเร็ว แท้ที่จริงแล้ว Mozart Effect มีผลอย่างไร เรามีผลวิจัยมาไขข้อข้องใจนี้ให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนค่ะ 


ความเชื่อที่ว่า ฟัง Mozart แล้วฉลาด เดิมเกิดจากการทดลองที่ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่ง ฟัง Mozart ก่อนสอบเป็นเวลา 10 นาที แล้วเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ฟังเพลง ผลปรากฏว่า

  • กลุ่มที่ฟัง Mozart ทำคะแนนได้ดีกว่า! (1)
  • หลังจากนั้นก็มีไอเดียจาก รัฐจอร์เจียแจก CD Mozart ให้คุณแม่ตั้งครรภ์เอาไปฟังเลยทีเดียว (คงอยากให้ American น้อยเป็นอัจฉริยะกันถ้วนหน้า)
  • ต่อมาเริ่มมีคนสงสัย เลยทำวิจัยซ้ำ เพราะตามหลักวิทยาศาสตร์ ถ้ามันจริง ผลมันต้องเหมือนเดิมสินะ เลยจัดการทดลองที่ละเอียดขึ้น (2)
  • ผลการทดลองคือ นักศึกษากลุ่มที่นั่งเฉยๆ 10 นาที ทำคะแนนได้ดีที่สุด ดีกว่ากลุ่มที่ฟังเพลง
  • และมีหลากหลายการทดลองที่ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก และผลก็ออกมาว่า การฟังเพลงของ Mozart ไม่ได้ช่วยให้คะแนนดีขึ้น

** ถึงแม้จะมีการทดลองใหม่ๆ ชี้ให้เห็นแล้วว่า Mozart effect อาจจะแค่เรื่องบังเอิญนะคะ แต่ก็ไม่ได้ช่วยลบล้างความเชื่อเดิมสักเท่าไร่ คนบางกลุ่มยังคงปักใจเชื่ออยู่อย่างเหนียวแน่นค่ะ

สรุป Mozart Effect เชื่อมโยงกับพัฒนาการทารกในครรภ์ได้ว่า

  • ตามผลทดลองเลยค่ะ ฟังเพลง Mozart ไม่ได้เกี่ยวกับการพัฒนาอัจฉริยภาพใดๆ
  • เด็กที่เก่ง อารมณ์ดี มีความมั่นใจ สร้างได้จากในครรภ์ เป็นเรื่องจริงค่ะ ลองสังเกตนะว่า เด็กบางคนนิดหน่อยก็ยิ้ม เข้ากับคนง่าย กล้าเล่นกล้าสำรวจ ในขณะที่เด็กบางคนจะหน้ายุ่งตลอด เล่นด้วยยาก ที่กล่าวมาทั้งหมดจะบอกคุณแม่ๆ ว่า ลูกจะเป็นอย่างไร มันขึ้นอยู่กับสภาวะจิตใจของมารดาขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นฟังอะไรที่เพลินๆ อย่างตลก เพลงอะไรที่แม่ฟังแล้วมีความสุขดีกว่าค่ะ
  • เคยมีคนไข้เคสเด็กชายไทย อายุ 3 ปี พ่อแม่เปิดเพลง Mozart ให้ฟังตั้งแต่ในครรภ์ พอคลอดปุ๊ปก็เปิดคลอในบ้านตลอดเวลา ปรากฎว่าลูกเวลาอยากได้อะไร ก็จะร้องฮัมเพลง ไม่ยอมพูด ต้องมาสอนกระตุ้นการพูดใหม่
  • กระตุ้นสมองให้ลูกมีหลายวิธีค่ะ แต่วิธีนี้อย่าไปจริงจังกับมันดีกว่านะคะ


References:
(1) Rauscher, Frances H.; Shaw, Gordon L.; Ky, Catherine N. (1993). "Music and spatial task performance". Nature 365 (6447): 611. doi:10.1038/365611a0. PMID 8413624

(2) Steele, Kenneth M.; Bella, Simone Dalla; Peretz, Isabelle; Dunlop, Tracey; Dawe, Lloyd A.; Humphrey, G. Keith; Shannon, Roberta A.; Kirby, Johnny L. et al. (1999). "Prelude or requiem for the 'Mozart effect'?". Nature 400 (6747): 827. doi:10.1038/23611. PMID 10476959

บทความโดย : คุณพรินทร์ อัศเรศรังสรร เวชศาสตร์การสื่อความหมาย คลินิกเฉพาะทางกระตุ้นพัฒนาการ-ฝึกพูด คลินิกกระตุ้นพัฒนาการฝึกพูด

กล้ามเนื้อและกระดูกทารกในครรภ์ แม่ไม่ดูแล ลูกโต!

กระดูกทารกในครรภ์-กล้ามเนื้อทารกในครรภ์-พัฒนาการกล้ามเนื้อทารกในครรภ์-พัฒนาการกระดูทารกในครรภ์-พัฒนาการทารกในครรภ์-พัฒนาการทางร่างกายทารก-กระดูกทารก-กล้ามเนื้อทารก

กล้ามเนื้อและกระดูกของลูกในท้องสำคัญนะคะ เราจะมีวิธีเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกของทารกในครรภ์ได้อย่างไร คุณหมอมีคำแนะนำไปคุณแม่ตั้งครรภ์ไปลองทำตามอายุครรภ์ค่ะ 

วิธีเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกของทารกในครรภ์ตามอายุครรภ์
อายุครรภ์ 4-5 สัปดาห์

พัฒนาการทารกในครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 4-5 สัปดาห์ เป็นช่วงเริ่มกำเนิดของเซลล์ชั้นกลางในระยะตัวอ่อน การพัฒนาของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกของลูกเริ่มขึ้นแล้วค่ะ รวมไปคถึงความสมบูรณ์ของระบบสมองและไขกระดูกสันหลังของลูกด้วยค่ะ

อายุครรภ์ 4-5 สัปดาห์

เริ่มเห็นปุ่มแขนและขารวมทั้งนิ้วในช่วง 6-8 สัปดาห์ หลังไตรมาสที่ 2 สมองและระบบไขสันหลังจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกเจริญอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน แต่การดิ้นของลูกในช่วงนี้ ยังไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ แต่อย่างใด

อายุครรภ์ 28-34 สัปดาห์

ช่วงนี้ประสาทสัมผัสของลูกจะเริ่มสมบูรณ์เต็มที่ทำให้มีการประสานการทำงานของกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น แสง เสียง อารมณ์ของคุณแม่ เป็นต้น จึงเป็นช่วงที่สามารถติดต่อสื่อสารกับลูกในครรภ์ได้อย่างไม่น่าเชื่อค่ะ เช่น การเล่านิทาน พูดคุย ร้องเพลง ฟังเพลง เป็นต้น ลูกจะจดจำและตอบสนองอย่างพึงพอใจได้ และพบว่าสามารถกระตุ้นเซลล์สมองของลูกให้มีเครือข่ายของเส้นใยสมองมากขึ้นได้

เสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกของทารกในครรภ์อย่างไรดี 

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรกินอาหารที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกให้เพียงพอ โดยเฉพาะโปรตีนและแคลเซียม ได้แก่ ไข่ขาววันละ 2-3 ฟอง เนื้อต่าง ๆ นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม รวมทั้งปลาทะเลซึ่งมีสาร DHA ที่เสริมสร้างสมองและไขสันหลังของลูก และสารอาหารที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับแม่ตั้งครรภ์คือ โฟเลต ที่มีอยู่มากในผักใบเขียว เพื่อช่วยป้องกันความพิการของระบบประสาทของทารกในครรภ์


กล้ามเนื้อทั้งหมดในร่างกายของเรา มีมากกว่า 600 ชิ้น มีขนาดและความเฉพาะในหน้าที่แตกต่างกันไป ทั้ง ยึดติดกับกระดูกและข้อต่อ รวมทั้งเนื้อเยื่อที่ประสานหรือเชื่อมต่อกับอวัยวะต่าง ๆ เพื่อทำงานได้อย่างเหมาะสม

กล้ามเนื้อมีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้

  1. กล้ามเนื้อลาย (Skeletal Muscles)

เป็นเนื้อเยื่อที่เป็นองค์ประกอบของร่างกาย 23 % ของน้ำหนักตัวของผู้หญิง และ 40 % ของน้ำหนักตัวของผู้ชายที่โตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่แล้ว และอาจมากกว่านั้นถ้าเป็นนักกีฬา กล้ามเนื้อประเภทนี้จะยึดเกาะติดกับกระดูกและข้อต่อต่างๆ ทำให้เราเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมได้

  1. กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscles)

เป็นองค์ประกอบของอวัยวะภายในทุกระบบ ซึ่งจะประกอบกับเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ๆ เพื่อช่วยในการทำงาน เช่น ในกระเพาะอาหารและลำไส้ การหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อก็จะช่วยย่อยอาหารและทำให้กากอาหารเคลื่อนผ่านไปได้ การหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อในท่อไตก็ช่วยขับปัสสาวะให้เคลื่อนไปได้เร็วขึ้น เป็นต้น

  1. กล้ามเนื้อของหัวใจ (Cardiac Muscles)

มีความพิเศษเฉพาะตัวในการหดเกร็งตัวแบบปั๊มเลือดผ่านลิ้นหัวใจที่กั้นห้องต่าง ๆ ของหัวใจ ให้เกิดจังหวะสูบฉีดเลือดได้อย่างลงตัวและเหมาะสม เราไม่สามารถควบคุมหรือบังคับการทำงานของกล้ามเนื้อได้

ระบบกระดูกสำคัญไม่แพ้กัน

กระดูกนับจากกะโหลกศีรษะถึงกระดูกนิ้วเท้า ก็จะมีกล้ามเนื้อลายมายึดติดด้วยเนื้อเยื่อหรือเส้นเอ็น (Ligaments) ในบางตำแหน่งตามความเฉพาะของหน้าที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานของส่วนโครงสร้างนั้น ๆ แต่ทั้งระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่เป็นโครงสร้างของร่างกายทั้งหมดจะถูกควบคุมการทำงานด้วยระบบประสาทที่แตกออกมาเป็นแขนงจากแนวกระดูกสันหลัง นับจากกระดูกต้นคอถึงก้นกบ และจะป้อนข้อมูลไปกลับที่สมองทั้งส่วนล่างและส่วนบน ให้สามารถควบคุมและฝึกฝนการทำงานของกล้ามเนื้อทุกส่วนได้อย่างลงตัว

ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.พญ.เฉลิมศรี ธนันตเศรษฐ์




 

คนท้องเอกซเรย์ร่างกายได้ไหม และไม่ควรได้รับรังสีเกินเท่าไหร่

3024

ถ้าแม่ตั้งครรภ์ไม่สบาย หรือ ต้องตรวจสุขภาพที่มีการเอกซ์เรย์ (X-Ray) จะสามารถทำได้หรือไม่ อันตรายกับทารกใครครรภ์หรือไม่ และหากทำได้จะมีข้อควรระวังอะไรบ้างที่ต้องรู้ก่อนทำการเอกซ์เรย์

การเอกซเรย์ทำงานอย่างไร

เอกซเรย์เป็นการใช้รังสีประเภทหนึ่งที่มีความสามารถในการผ่านทะลุร่างกายของมนุษย์ได้ คนเราไม่สามารถมองเห็นหรือรู้สึกถึงรังสีนี้ได้ ขณะที่รังสีทะลุผ่านร่างกายไป พลังงานของรังสีเอกซ์จะถูกอวัยวะส่วนต่างๆ ดูดซับเข้าไปในอัตราที่ต่างกัน โดยอีกด้านของร่างกายจะมีตัวตรวจจับรังสี ซึ่งคอยรับรังสีที่ผ่านทะลุร่างกายและเปลี่ยนข้อมูลที่ได้ออกมาเป็นภาพ

ส่วนร่างกายที่มีความหนาแน่นอย่างกระดูก จะทำให้รังสีเอกซ์ทะลุผ่านได้ยาก ทำให้ปรากฏตำแหน่งของสิ่งๆ นั้นออกมาเป็นสีขาวเข้ม ส่วนที่มีสีขาวจางๆ จะแสดงให้เห็นว่ารังสีสามารถผ่านสิ่งนั้นได้ง่ายดายกว่า ซึ่งมักจะเป็นหัวใจและปอด ที่ปรากฏบนฟิล์มเป็นจุดสีดำ

ข้อควรระวังเมื่อเอกซเรย์ระหว่างตั้งครรภ์
  • ต้องแจ้งให้แพทย์และผู้เชี่ยวชาญทราบว่ากำลังตั้งครรภ์ก่อนเอกซ์เรย์ "ทุกครั้ง" 

  • ไม่ควรเอกซ์เรย์ในช่วงอายุครรภ์ 10 - 17 สัปดาห์ เพราะรังสีจะส่งผลต่อระบบประสาทของทารกในครรภ์

  • แม่ตั้งครรภ์ไม่ควรรับรังสีเกิน 5 rad 

  • หากรับรังสีมากกว่า 10 ถึง 150 rads อาจส่งผลให้ทารกมีศีรษะเล็ก หรือ อาจมีความพิการทางสมอง

หากคุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องรับการรักษาหรือตรวจโรคที่มีการเแกซ์เรย์รับรังสีจริงๆ ควรปรึกษาและเข้ากระบวนการรักษาภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดค่ะ

คุณแม่ระวัง! มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ทำให้ลูกน้อยในท้องเสี่ยงโรคออทิสซึม

 
อันตรายของฝุ่น PM 2.5-แม่ตั้งครภ์-ทารกในครรภ์
 

คุณแม่ระวัง! มลพิษทางอากาศ PM 2.5 ทำให้ลูกน้อยในท้องเสี่ยง โรคออทิสซึม

ปัจจุบัน ฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นทุกปี และส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างชัดเจนค่ะ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ การสูดอากาศที่มี ฝุ่น PM 2.5 ไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตัวเองเท่านั้น แต่ผลงานวิจัยล่าสุดพบว่า ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลไปถึงพัฒนาการทารกในครรภ์มากด้วยค่ะ 
 
ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จากสหรัฐ บอกว่า ผู้หญิงท้องที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษมาก มีโอกาสเสี่ยง 2 เท่า ที่จะทำให้ลูกในท้องเป็น โรคออทิสซึม เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในพื้นที่อากาศปกติหรือมีมลพิษน้อย โดยโรคดังกล่าวจะทำให้สมองของเด็กผิดปกติ หรือ อาจเป็นหนึ่งในตัวการทำให้เกิด อาการออทิสติก ได้ ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรป้องกันตัวเองจากการสูดรับ ฝุ่น PM 2.5 อย่างถึงที่สุดเพื่อปกป้องลูกน้อยจากการรับอันตรายจากฝุ่นพิษค่ะ 
 

แนวทางการป้องกันฝุ่น PM 2.5 สำหรับแม่ตั้งครรภ์

  1. หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงที่มี ฝุ่น PM 2.5 มีความหนาแน่นสูง เช่น ช่วงสินปี และ ต้นปี หรือ ช่วงที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับไฟไหม้ป่า การเผาขยะ เป็นต้น

  2. หากกจำเป็นต้องออกจากบ้าน ต้องสวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกรอง ฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่น หน้ากากชนิด N 95 หรือชนิดที่ระบุว่ากรอง ฝุ่น PM 2.5 ได้

  3. หากมีงบประมาณสักหน่อย อาจซื้อเครื่องกรองอากาศมาใช้ในบ้าน เพื่อช่วงฟอกและกรอง ฝุ่น PM 2.5ในบ้าน

ฝุ่น PM 2.5 อาจจะยังอยู่กับเราไปแบบนี้ทุกปีนะคะ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่ที่มีลูกเล็ก หรือ ลูกโต การปรับตัวและเลือกใช้เครื่องป้องกัน ฝุ่น PM 2.5 เป็นแนวทางที่ดีที่สุดค่ะ

คุณแม่เช็กได้เลย! ลูกในท้องมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดหรือเปล่า

หัวใจของลูกในท้อง-ลูกในท้องเป็นโรคหัวใจไหม-วิธีตรวจความเสี่ยงทารกเป็นโรคหัวใจ-อัลตราซาวนด์หัวใจทารก-วิธีตรวจโรคหัวใจลูกในท้อง

คุณแม่รู้ไหมคะว่าความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจทารกที่อาจทำให้เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ในประเทศไทยพบได้มากที่สุดประมาณ 8 ใน 1,000 หรือ ในเด็กแรกเกิด 1,000 คนจะมีเด็กทารกป่วยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดถึง 8 คน เลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันเราสามารถตรวจได้ว่า ลูกในท้องมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงค่ะ 

สาเหตุที่อาจทำให้ทารกเป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด

  1. ทางคุณแม่ ได้แก่ คุณแม่ที่เป็นเบาหวาน เป็น SLE ได้รับ teratogen (สารก่อมะเร็ง) เช่น lithium carbonate alcohol และ anti convulsant ติดเชื้อไวรัสบางอย่าง เช่น หัดเยอรมัน มีภาวะแฝดน้ำ มีหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น  
  2. ทารก ได้แก่ มีความผิดปกติ ใน level 1 scan มีความผิดปกติของอวัยวะในระบบอื่นที่ไม่ใช่ระบบหัวใจ มีความผิดปกติของโครโมโซมของคุณแม่ ทารกในครรภ์มีการเต้นผิดปกติของหัวใจ บวมน้ำ เจริญเติบโตช้า เป็นต้น  
  3. ครอบครัว คือ มีประวัติโรคหัวใจแต่กำเนิดในครอบครัว มีประวัติในครอบครัวเป็น Noonan หรือ Marfan sysdrome

การตรวจหัวใจทารกด้วยอัลตราซาวด์

การตรวจหัวใจทารกในครรภ์ จะเริ่มจากภาพโครงสร้างหัวใจทารกในหลาย ๆ ระนาบทั้ง 4 ห้องที่เรียกว่า ภาพ 4 chamber ซึ่งสามารถคัดกรองความผิดปกติของหัวใจทารกในครรภ์ได้ถึงร้อยละ 92 แต่ในภายหลังพบว่าความไวในการคัดกรองลดต่ำลง และต่างกันไปได้ตั้งแต่ร้อยละ 33-69 ซึ่งความแตกต่างของตัวเลขดังกล่าว อาจสืบเนื่องจากชนิดของพยาธิสภาพของหัวใจทารกแตกต่างกันในกลุ่มประชากรที่ศึกษา

การตรวจหัวใจทารกในครรภ์ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถบอกความผิดปกติของหัวใจทารกแรกคลอดได้หมด ซึ่งพยาธิสภาพบางอย่างที่พบได้บ่อยหลังคลอด เช่น รูรั่วระหว่างหัวใจส่วนบนและส่วนล่างซ้ายและขวา จะไม่สามารถบอกได้ คุณแม่จึงควรเข้าใจถึงโอกาสของความผิดพลาดที่อาจเกิดจากการตรวจหัวใจพิการของทารกในครรภ์ไว้ด้วย

หัวใจของลูกในท้องเติบโตและมีพัฒนาการอย่างไร

  1.  ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์: หัวใจเริ่มพัฒนาถือเป็นอวัยวะชุดแรกที่ตัวอ่อนทารกจะเริ่มพัฒนาขึ้น ขณะนั้นตัวอ่อนจะประกอบด้วยเซลล์เพียง 150 เซลล์เท่านั้น แต่จะมีการแบ่งชั้นเนื้อเยื่อออกเป็น 3 ชั้น คือ นอก กลาง และใน เนื้อเยื่อชั้นกลางนี้เอง จะมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอวัยวะที่มีความพิเศษในด้านความทนทานในการทำงาน คือ หัวใจ ไต ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ กระดูก กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นนั่นเอง จากนั้นใน 2 สัปดาห์ต่อมา หัวใจจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตามโครงสร้างที่กำหนดไว้แล้วในแบบแผนภูมิของยีนส์

    การตั้งครรภ์ช่วงนี้ จึงเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องระวังมากที่สุดในการดูแลตนเอง เพราะถ้าได้รับเชื้อโรคบางอย่าง เช่น ไวรัสหัดเยอรมัน หรือคุณแม่ที่เป็นเบาหวานและควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี หรือสูบบุหรี่ กินยาบางอย่างที่เป็นอันตราย ก็จะเป็นผลให้ลูกมีหัวใจพิการได้
     
  2. ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์: จะเริ่มเห็นหัวใจของลูกเต้นจากการดูด้วยอุลตร้าซาวนด์ ซึ่งช่วงนี้ตัวอ่อนจะตัวเล็กมาก วัดได้จากหัวถึงก้นเพียง 0.08 -0.16 นิ้วฟุต เท่านั้น
     
  3. ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์: หัวใจจะมีโครงสร้างเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อเรียกจากตัวอ่อนเป็นทารก
     
  4. ตั้งครรภ์ 11 สัปดาห์: ฟังเสียงหัวใจทารกได้ด้วยการใช้เครื่อง doppler sound wave stethoscope ซึ่งเป็นเครื่องมือฟังเสียงหัวใจทารกได้ ตอนนี้ทารกจะยาว 1.75 - 2.4 นิ้วฟุต
     
  5. ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์ – 38 สัปดาห์: หัวใจเริ่มมีการตกแต่งส่วนประกอบปลีกย่อยของหัวใจจนเสร็จสมบูรณ์ แล้วจากนั้นหัวใจก็จะเริ่มขยายขนาดให้เต็มโครงสร้างเมื่อครบกำหนดคลอด

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก: รศ.นพ.ธีระพงศ์ เจริญวิทย์




 

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในท้องไม่โต ทารกในครรภ์มีพัฒนาการผิดปกติ

ลูกในท้องไม่โต-รู้ได้ยังว่าลูกในท้องโต-รู้ได้ยังไงว่าลูกในท้องไม่โต-ลูกในท้องตัวเล็ก-ลูกในท้องโตไหม-อัลตราซาวนด์ลูก-ทารกในครรภ์ตัวเล็ก

ทารกในครรภ์ไม่โต มีพัฒนาการผิดปกติจนส่งผลต่อการคลอด คุณแม่ตั้งครรภ์จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในท้องไม่โต เราสามารถเช็กได้จากการตรวจสุขภาพครรภ์ตามอายุครรภ์ เพื่อเช็กการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังต่อไปนี้ค่ะ 

รู้ทันพัฒนาการทารกในครรภ์ ว่าเติบโตเป็นปกติหรือไม่
  • ฮอร์โมนการตั้งครรภ์: ช่วงการตั้งครรภ์ 3-4 เดือนแรก เมื่อลูกในท้องมีพัฒนาการมากขึ้น จะมีการสร้างฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่จะแสดงอาการที่เกิดจากฮอร์โมนออกมา เช่น เจ็บเต้านม ปัสสาวะบ่อย อารมณ์เปลี่ยนแปลง หงุดหงิดมากขึ้น อาการแพ้ท้อง เป็นต้น

  • นับจังหวะลูกดิ้น: คุณแม่ท้องแรกจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นตอนอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ ถ้าเป็นท้องสองจะเริ่มรู้สึกว่าลูกดิ้นตอนอายุครรภ์ 16 สัปดาห์ แต่คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นจนนับจังหวะได้ชัดเจนตอนอายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์หรือไตรมาสที่ 2 ไปแล้ว

    เทคนิคในการนับลูกดิ้น คือ ใน 12 ชั่วโมง ลูกควรจะดิ้นเกิน 10 ครั้ง เช่น 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม ถ้าลูกดิ้นเกิน 10 ครั้ง ก็แสดงว่าปกติค่ะ ถ้าวันไหนที่รอดูมาทั้งวันแล้วรู้สึกว่าลูกไม่ค่อยดิ้นเลย อาจเป็นเพราะลูกกำลังหลับอยู่ คุณแม่ลองดื่มน้ำผลไม้ แล้วรอประมาณ 1 ชั่วโมง พอลูกตื่น เขาจะดิ้นจนคุณแม่รู้สึกได้ ซึ่งถ้าลองทำวิธีเหล่านี้แล้ว ลูกยังดิ้นน้อยอยู่จะต้องมาพบแพทย์ค่ะ
  • น้ำหนักตัวแม่ตั้งครรภ์บอกพัฒนาการทารกในครรภ์: น้ำหนักของคุณแม่จะเป็นสิ่งที่บอกว่าลูกได้รับสารอาหารและออกซิเจนเพียงพอหรือไม่ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ประมาณ 10-15 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์

  • ดูจากยอดมดลูก: เมื่อมีการตั้งครรภ์ มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสามารถดูพัฒนาการของลูกน้อยได้จากการขยายตัวของมดลูก
    • เมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวเหน่า โดยแบ่งส่วนที่ต่ำกว่าสะดือเป็น 3 ส่วน
    • เมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะอยู่เหนือกระดูกหัวเหน่าประมาณ 1 ใน 3 และจะเริ่มสูงประมาณ 2 ใน 3 เหนือกระดูกหัวเหน่า เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และจะอยู่ตรงสะดือพอดีเมื่ออายุครรภ์ 24 สัปดาห์
    • เมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 1 ใน 4 เหนือสะดือ จากนั้นจะสูง 2 ใน 4 เมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ สูงประมาณ 3 ใน 4 เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ และจะอยู่สูงสุดคือ 4 ใน 4 หลังจาก 37 สัปดาห์

      หากเป็นท้องแรกเมื่อศีรษะเด็กเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ช่วงนั้นท้องก็จะเริ่มลดลง ซึ่งวิธีสังเกตยอดมดลูกนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินเวลาที่คุณแม่มาตรวจอัลตราซาวนด์ค่ะ
5 วิธีปฏิบัติสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เมื่อทารกในครรภ์มีพัฒนาการช้า ลูกในท้องไม่โต
  1. พบแพทย์เพื่อประเมินหาสาเหตุที่ลูกในท้องไม่พัฒนาตามอายุครรภ์ ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก 3 สาเหตุหลัก คือ
    1. คุณแม่มีความผิดปกติ เช่น มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน เกิดความผิดปกติที่เส้นเลือดทำให้อาหารส่งไปถึงลูกได้น้อยลง หรือคุณแม่ที่น้ำหนักขึ้นไม่ค่อยตามเกณฑ์ น้ำหนักน้อยหรือมีประวัติได้รับยา หรือสารอันตราย เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มเหล้า ใช้สารเสพติด เป็นต้น
    2. รกและสายสะดือผิดปกติ เช่น มีปัญหารกลอกตัวก่อนกำหนด เส้นเลือดบริเวณใต้รกฉีกขาด รกเสื่อมสภาพ
    3. เกิดจากความผิดปกติของลูก เช่น มีความผิดปกติของโครโมโซม มีการติดเชื้อไวรัส หรือมีความพิการแต่กำเนิด ซึ่งเมื่อทราบสาเหตุแล้วคุณหมอจะแก้ไขที่สาเหตุ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนโภชนาการและพฤติกรรมของคุณแม่

  2. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และควรเพิ่มพลังงานจากอาหารวันละ 300 กิโลแคลลอรี เมื่อไปฝากครรภ์ทางโรงพยาบาลจะมีทีมโภชนาการคอยดูแล ซึ่งนักโภชนาการจะวิเคราะห์ว่าคุณแม่กินอาหารไปเท่าไหร่ และเพียงพอหรือไม่

  3. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 8-10 ชั่วโมง นอนกลางวันประมาณ ½ -1 ชั่วโมง เป็นต้น

  4. ทำตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การนับลูกดิ้นใน 12 ชั่วโมง ควรจะเกิน 10 ครั้ง เป็นต้น

  5. พบตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ หากคุณแม่มีอาการผิดปกติ ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อการป้องกันแก้ไขได้อย่างทันท่วงที ควรสังเกตอาการและดูแลครรภ์อย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาการของลูกน้อยที่ปกตินะคะ



เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์: พญ.ธิศรา วีรสมัย สูติแพทย์ โรงบาลพญาไท1


จำเป็นไหม? อัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ ต้องทำบ่อยและต้องทำ 3 มิติ 4 มิติ

อัลตราซาวน์ 2 มิติ-อัลตราซาวน์ 3 มิติ-อัลตราซาวน์ 4 มิติ-อัลตราซาวน์ลูกในท้อง-อัลตราซาวน์แม่ตั้งครรภ์-อัลตราซาวน์อันตรายไหม-อัลตราซาวน์กี่มิติดี-จำเป็นต้องอัลตราซาวน์ไหม-ทำไมต้องอัลตราซาวน์-อัลตราซาวน์ดูลูกในท้อง

การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ดูพัฒนาการและความผิดปกติของทารกในครรภ์เป็นเรื่องจำเป็นค่ะ แต่จริงไหมที่ต้องอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์บ่อย ๆ และต้องอัลตราซาวด์ 3 มิติ อัลตราซาวด์ 4 มิติ อย่างที่แม่ท้องหลายคนเข้าใจ เรามีคำแนะนำจากคุณหมอมาบอกค่ะ 

ทำไมคนท้องต้องอัลตราซาวด์ดูทารกในครรภ์ 

การตรวจอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อให้ทราบเพศของทารกเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในทางการแพทย์มากมายเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น

  1. ทราบจำนวนทารก
  2. ทราบกำหนดอายุครรภ์ที่แน่นอน ในกรณีหญิงตั้งครรภ์จำประจำเดือนครั้งสุดท้ายไม่ได้
  3. วินิจฉัยความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยบางโรคอาจจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ บางโรคสามารถให้การรักษาทารกในครรภ์ได้ หรือช่วยในการวางแผนการดูแลรักษาหลังคลอด
  4. ทราบตำแหน่งรก ปริมาณน้ำคร่ำ
  5. ทราบความผิดปกติของมดลูก รังไข่
  6. คาดคะเนน้ำหนักทารก ประเมินสุขภาพทารก ตรวจยืนยันท่าของทารกในครรภ์ ในกรณีที่แพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบความผิดปกติ
ตรวจอัลตราซาวด์แล้วรับประกันว่าลูกปกติร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่

การตรวจอัลตราซาวด์มีขีดจำกัดในการวินิจฉัยเช่นเดียวกับการตรวจด้วยเครื่องมืออื่น ๆ ความถูกต้องแม่นยำขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของโรคหรือความผิดปกติของทารกเอง โดยโรคบางอย่างอาจเกิดขึ้นภายหลัง โรคบางอย่างวินิจฉัยได้ยากหรือไม่สามารถเห็นได้จากภาพอัลตราซาวด์ ในบางกรณีภาพอัลตราซาวด์เห็นไม่ชัด เช่น หญิงตั้งครรภ์หน้าท้องหนาทารกนอนคว่ำ อายุครรภ์น้อย เครื่องอัลตราซาวด์ที่มีความละเอียดต่ำรวมไปถึงแพทย์ผู้ตรวจที่มีความชำนาญแตกต่างกัน

การตรวจอัลตราซาวด์มีอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่

แม้ว่าการตรวจอัลตราซาวด์โดยทั่วไปจะปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ แต่แนะนำให้ทำเฉพาะเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น นอกจากนี้ การตรวจอัลตราซาวด์โดยไม่จำเป็นก็เป็นการสิ้นเปลืองค่ะ 

อัลตราซาวด์ 2 มิติ 3 มิติ 4 มิติ กี่มิติถึงจะดีที่สุด

การตรวจอัลตราซาวด์ 2 มิติ ก็เพียงพอต่อการวินิจฉัยความผิดปกติดังกล่าวข้างต้น โดยควรตรวจอัลตราซาวด์ในช่วงอายุครรภ์ 18-22 สัปดาห์ หรือ อายุครรภ์ 4 เดือน แต่สำหรับการอัลตราซาวด์ 3 มิติ และ 4 มิติ จะทำเฉพาะกรณีพบความผิดปกติจากการตรวจแบบ 2 มิติ และต้องการการวินิจฉัยเพิ่มเติมในบางโรคเท่านั้น

ปัจจุบันแม่ท้องนิยมอัลตราวซาวด์ 3 มิติ และ 4 มิติ เพื่อดูพัฒนาการและหน้าตาของลูกในท้องอย่างชัดเจน หรือ แม้แต่อยากได้ภาพถ่ายอัลตราซาวด์แบบ 4 มิติมาเป็นที่ระลึก แต่จริง ๆ หากลูกไม่มีอาหารผิดปกติที่แพทย์บ่งชี้ว่าต้องทำ ก็ไม่จำเป็นต้องทำ เนื่องจากมีราคาสูง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

รศ.พญ.เฟื่องลดา ทองประเสริฐ
คณะอนุกรรมการอนามัยแม่และเด็ก ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

ตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารก เพื่อรักษาชีวิตลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์

 การตรวจครรภ์-การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์-สุขภาพครรภ์-สุขภาพทารกในครรภ์-ทารกในครรภ์

ตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารก เพื่อรักษาชีวิตลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์

เชื่อว่าผู้หญิงทุกคนเมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังจะได้เป็นคุณแม่ ก็จะต้องให้ความใส่ใจดูแลลูกน้อยในครรภ์เป็นพิเศษ ซึ่งการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ต้องใส่ใจด้วยเช่นกัน เพราะความผิดปกติบางอย่างสามารถรักษาได้ตั้งแต่ในครรภ์ ช่วยให้ลูกน้อยคลอดออกมาได้อย่างปลอดภัยและสมบูรณ์แข็งแรง

แพทย์หญิงจิตรนพิน ดุลยเกษม สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ อธิบายว่าความผิดปกติของทารกในครรภ์แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. ความผิดปกติทางพันธุกรรม (Genetic abnormalities) ความผิดปกติกลุ่มนี้มีทั้งชนิดที่ตรวจได้และตรวจไม่ได้ มีทั้งแบบโรคทางโครโมโซม และโรคของยีนส์
  2. ความผิดปกติทางโครงสร้าง (Structural abnomalities) คือความผิดปกติทางรูปร่าง ทั้งอวัยวะภายนอกและอวัยวะภายใน
  3. ความผิดปกติทางหน้าที่การทำงาน (Functional abnormalities) ความผิดปกติในกลุ่มนี้บางอย่างจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อทารกคลอดออกมาแล้ว เช่น ปอด ลำไส้ หู ตา สมองและสติปัญญา แต่บางอวัยวะเราสามารถตรวจได้ว่าทำงานปกติดีหรือไม่ เช่น หัวใจ การเคลื่อนไหวของแขน ขา หรือการสร้างน้ำปัสสาวะจากไต เป็นต้น การตรวจคัดกรองหาความผิดปกติ สามารถช่วยให้คุณแม่ทราบได้เบื้องต้นว่าทารกในครรภ์มีความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งวิธีเจาะเลือดเพื่อดูความผิดปกติทางโครโมโซม และวิธีอัลตราซาวนด์เพื่อดูความผิดปกติทางโครงสร้างและการทำงานของอวัยวะ ทั้งนี้ หากพบว่ามีความเสี่ยง จะต้องมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยเป็นการทำหัตถการที่มีความเสี่ยงต่อทารก เนื่องจากต้องใช้วิธีที่ไปข้องเกี่ยวกับความสมดุลของทารกที่อยู่ในครรภ์

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการตรวจวินิจฉัย ถึงแม้จะมีโอกาสไม่เยอะ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.5 – 1 % แต่ก็ไม่มีใครอยากได้รับความเสี่ยงนั้น เพราะฉะนั้นอยากแนะนำให้คุณแม่ทุกท่านเข้ารับการตรวจคัดกรองก่อน โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์เป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดของการตรวจ แต่แนะนำช่วง 11 – 13 สัปดาห์ เพราะเป็นช่วงที่สามารถวางแผนเลือกวิธีตรวจได้หลากหลาย และเหมาะสมกับความผิดปกติที่ตรวจพบ

ความผิดปกติของทารกในครรภ์มีด้วยกันหลายระดับ ตั้งแต่ระดับน้อยไปจนถึงระดับรุนแรงมาก ความผิดปกติที่รุนแรง เช่น พิการรุนแรง อวัยวะขาดชัดเจน จะสามารถเห็นได้จากการตรวจคัดกรองตั้งแต่การตั้งครรภ์ช่วง 12 สัปดาห์แรก ส่วนในความผิดปกติที่ไม่รุนแรง เช่น มีความพิการของอวัยวะที่มีขนาดเล็ก หรือการทำงานของหัวใจผิดปกติ จะสามารถเห็นได้ชัดขึ้นจากการตรวจคัดกรองเมื่ออายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่ควรเกิน 20 สัปดาห์ เนื่องจากหากพบความผิดปกติในช่วงนี้ คุณแม่ยังสามารถเลือกรักษาหรือยุติการตั้งครรภ์ได้

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติบางอย่างของทารกที่ไม่เกี่ยวข้องกับความพิการและโครโมโซม หากตรวจพบเร็ว ก็สามารถรักษาได้ตั้งแต่ในครรภ์ เช่น ภาวะซีดหรือบวมน้ำจากการติดเชื้อบางชนิด, มีถุงน้ำผิดปกติในช่องลำตัว, หัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภท, หรือโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดผิดปกติในกลุ่มแฝด แพทย์ก็สามารถจี้ทำลายเส้นเลือดที่ผิดปกตินั้นได้

โดยในกรณีสตรีตั้งครรภ์ที่มีเสี่ยงสูงหรือตรวจพบทารกมีความผิดปกติในครรภ์นั้น ควรได้รับการดูแลใกล้ชิดโดยแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ หรือดูแลร่วมกันกับสูติแพทย์ประจำที่ฝากครรภ์เพื่อให้คำปรึกษาและการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด   

ยิ่งคุณแม่มาตรวจคัดกรองเร็ว และพบความผิดปกติเร็วเท่าไหร่ การวางแผนการรักษาก็จะมีทางเลือกให้มากขึ้น เพราะบางโรคมีข้อจำกัดการรักษาด้วยอายุครรภ์ เพราะฉะนั้น การพบเร็ว รักษาเร็ว ก็จะทำให้ทารกมีโอกาสคลอดออกมาได้อย่างปลอดภัย สมบูรณ์และแข็งแรงขึ้น

 

 การตรวจครรภ์-การตรวจสุขภาพทารกในครรภ์-สุขภาพครรภ์-สุขภาพทารกในครรภ์-ทารกในครรภ์

 

พญ.จิตรนพิน ดุลยเกษม สูตินรีแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์