Dysfunctional Family การทำหน้าที่ของครอบครัวบกพร่อง บกพร่องด้านไหนบ้าง กระทบกับครอบครัวและลูกอย่างไร เมื่อรู้แล้วจะรับมือแก้ไขแบบไหน
ชวนทวนสอบบทบาทหน้าที่ครอบครัวกันค่ะ ว่าเรากำลังอยู่ในสถานะ Dysfunctional Family อยู่หรือเปล่า ฟังคุณหมอเดวพูดเรื่องนี้กันได้ที่ รักลูก Podcast
ปัญหาสภาพครอบครัวไทย
ครอบครัวไทยตอนนี้มี20ล้านครอบครัว ในจำนวนนี้มีประเด็นใหม่ๆเกิดขึ้น 2หมวดใหญ่ๆ คือ
โครงสร้างครอบครัวมีขนาดเล็กลง TFR (Total Fatality Rate) อัตราการมีลูกของเด็กในประเทศไทยตอนนี้ค่าเฉลี่ยที่ 1.4 เดิม 1.6 คือส่วนใหญ่มีลูก 1คน ซึ่งประเทศเสียเปรียบเพราะปิรามิดของประชากรเปลี่ยนแต่เดิมผู้สูงวัยน้อยฐานวัยแรงงานเยอะ คือ 10:1 (ทำงาน 10คน ผู้สูงอายุ 1คน) เมื่อ20ปีที่แล้วลดลงมาเหลือ 5:1 ปัจจุบันเหลือ 2:1 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านั้นหมายถึงว่าประชากรวัยแรงงานจะต้องดูผู้สูงอายุ 1:1 ต้องทำงานและดูแลผู้สูงอายุด้วย ซึ่งถ้าเป็นสภาพนี้ผู้สูงอายุจะเยอะมากคือ ประชากร 10คนจะมีอย่างน้อย 3 คนที่อายุเกิน 60ปีและหนึ่งในสามนั้นมีหนึ่งคนที่อายุเกิน 65ปี และเริ่มมีคำใหม่คือ ชมรม DINK (Double Income No Kids)แต่งงานแต่ไม่มีลูก นี่คือโครงสร้างที่มีปัญหา ดังนั้นโครงสร้างใหม่คือSmall Family คือครอบครัวพ่อแม่ลูกชุมชนก็ไม่รู้จัก ไซซ์เล็ก ครอบครัวหย่าร้างซึ่งอัตราอยู่ระหว่าง 5-10% ก็จะมีพ่อเลี้ยงเดี่ยวแม่เลี้ยงเดี่ยว มีครอบครัวแหว่งกลาง บางภาคตามหัวเมืองจะเห็นภาพที่ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลาน พ่อแม่ทำงานในเมือง
Unicef รายงานข้อมูลว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า 18ปี สามล้านคนที่พ่อแม่มีชีวิตแต่ไม่ได้เลี้ยง ในจำนวนนี้ 500,000คนเป็นเด็กปฐมวัย ซึ่งเรารับรู้ว่าเด็กวัยนี้พ่อแม่ต้องเลี้ยงดู นี่คือโครงสร้างของครอบครัวที่มีปัญหา ซึ่งต้องยอมรับว่ามีปัญหาเดิมและมีปัญหามากขึ้น
และอีกประเด็นคือ Dysfunction คือการทำหน้าที่ของครอบครัวบกพร่องทั้งลบและบวกมีปัญหาทั้งนั้น หน้าที่ของครอบครัวคือให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุข การมีความสุขคือการมีข้าวกินมีบ้านอยู่ เพราะฉะนั้นบทบาทของครอบครัวต้องดูแลร่วมกันเพื่อให้ได้ปัจจัยสี่ ขั้นพื้นฐาน และอีกปัจจัยคือ Psychological ทางด้านจิตใจ อารมณ์ เช่น สมาชิกเมื่ออยู่ในบ้านแล้วมีปฏิสัมพันธ์ มีความรู้สึกที่อบอุ่น ปลอดภัย Sense of security ถ้าเข้าบ้านแล้วมีทารุณกรรม แสดงว่าบ้านมีปัญหาหรือเข้ามาในบ้านไม่คุยกันเลย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างสังคมไม่เกี่ยวกับเรื่องหย่าร้าง แต่ฟังก์ชั่นมีปัญหานี่คือระดับทางจิตใจ
ส่วนด้านสังคมสมาชิกในครอบครัวต้องดูแลให้มีปฏิสัมพันธ์ทั้งในบ้าน นอกบ้าน ในชุมชนต้องรู้จักกัน เยี่ยมญาติพี่น้อง พบเพื่อนฝูง รู้จักการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม นี่คือลักษณะ Socialogical ถ้าดูง่ายเลยๆ Physical ปัจจัยขั้นพื้นฐาน Psychological ปัจจัยทางด้านจิตใจและอารมณ์และปัจจัยทางด้านสังคม ซึ่งถ้าบกพร่อง บ้านไม่มีให้อยู่ก็เดือดร้อนข้าวไม่มีกินนี่คือบกพร่อง แต่อีกฟากหนึ่งคือมีหลายบ้านหรืออีกบ้าน Ovefeed คือกินทิ้งกินขว้างทั้งลบและบวกจึงมีปัญหาเลยสุขภาพไม่ได้รับการดูแลก็มีปัญหา แต่ถ้าดู Over เกินไปก็มีปัญหาเหมือนกัน
Dysfunctional Family
ครอบครัวที่พ่อแม่รักลูก แต่เลี้ยงลูกแบบใช้อำนาจ มีทั้งหมด 9ประเภทแต่ก่อนที่จะไปตรงนั้นมีประเด็นที่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูคือ ครอบครัวในประเทศไทยมีการเลี้ยงลูกคือ ใช้อำนาจในการเลี้ยงลูกพ่อแม่เป็นใหญ่เป็นกันเยอะ ไม่ได้เจตนาแต่ตัดสินใจแทนลูกทั้งหมด ทำบนฐานของความรักซึ่งมีเกิน50% ไม่ได้ทำสำรวจแต่ด้วยประสบการณ์เวลาที่เอาลูกมาปรึกษาหมอจับทางได้ว่าใช้อำนาจ คือจับทางจากประสบการณ์และความรู้ที่หมอมีมาร้อยเคสครึ่งหนึ่ง คือรักษาคนที่พามาและอีก 25% ตามไปซ่อมคนส่งมา บริวารของเด็กมีปัญหามากกว่าตัวเด็ก บางคนที่พามาได้ยาแทนคือพ่อแม่อาการหนักเกินเด็ก อำนาจมีไว้ให้กับพ่อแม่นั้นถูกต้องแต่มีไว้ให้ผ่อนลงเรื่อยๆ
ก่อนที่จะลงไปการเลี้ยงดูผิดประเภทหมออยากให้เข้าใจก่อนว่า ด้วยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กพ่อแม่จะต้องช่วยทำให้ลูกทุกคนอยู่รอดและปลอดภัย ได้รับการเลี้ยงดู ปกป้องคุ้มครองและได้การรับการพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วม
เมื่อลูกเป็นทารกอำนาจจึงอยู่เต็มที่พ่อแม่ในการทำให้ลูกอยู่รอดปลอดภัย ต่อเมื่อพัฒนาการเติบโตและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตรงนี้อำนาจของพ่อแม่ต้องถอย คืออายุ 2ปีแรกพ่อแม่มีอำนาจเต็ม100% แต่พอหลัง2ขวบเริ่มเดินเองได้ นั่งเล่นกับเพื่อนแม้ไม่แบ่งปันแต่ก็นั่งเล่น ช่วยเหลือตัวเองได้อำนาจของพ่อแม่ต้องค่อยๆถอยลงมา เหลือประมาณ 80% แต่พอเข้าสามขวบพ่อแม่เอาลูกไปฝากที่อนุบาลระบบนิเวศน์เปลี่ยน อำนาจของพ่อแม่จะถอยลงมาเหลือ 60 -40% พออยู่ชั้นประถม เพื่อนครู รร. เป็นบ้านหลังที่สองอำนาจของพ่อแม่จะถอยลงไปเรื่อยๆแล้วจะเหลือแค่30%ตอนเข้าสู่วัยรุ่น
ถ้าเป็นวัยรุ่นตอนกลางและเป็นเด็กโตด้วยอำนาจพ่อแม่เหลืออยู่10% แล้วพอเข้ามหาวิทยาลัยพ่อแม่เป็นติ่งห้อยอยู่อยากมาปรึกษาก็มา ไม่อยากก็อย่าเข้าไปยุ่ง แต่ปัญหาของการใช้อำนาจครอบครัวบ้านเรากลับหัวหมดเลย ตอนเด็กใช้ทีวีเลี้ยงลูกใช้พี่เลี้ยงimportมาดูแลลูกเราไม่ได้ใช้อำนาจเต็มตรงนั้น แต่พอโตกลับลาออกแล้วมานั่งเฝ้าลูกแล้วไปรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวจึงทำให้เกิดปัญหาแล้วยิ่งไม่ผ่อนด้วย พ่อแม่มีปัญหากับลูกเร่งรัดกับลูกแล้วก็ไม่ดึงลูกเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน ถามตัวเองว่าคุยกับลูกกับลูกวัยรุ่นรู้เรื่องไหม
ครอบครัวที่อยากได้ลูกเป็นคนดี จะเห็นว่าสังคมสมัยนี้พ่อแม่เริ่มมีฐานะก็กลายเป็นว่าอยากให้ลูกเป็นคนดีแต่ช่วยเลี้ยงลูกฉันให้เป็นคนดีนะคือการซื้อระบบนิเวศน์ลงทุนเต็มที่ รร.อินเตอร์จะแพงแค่ไหนก็ยอมจ่าย และความคาดหวังก็ตามมา ได้รร.ดีแล้วช่วยเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีหน่อยแต่ไม่ได้กลับมาดูว่าตัวเองกำลังทุ่มอะไรอยู่
ครอบครัวปล่อยปละละเลย บางบ้านไม่ได้ทำหน้าที่บทบาทพ่อแม่ซึ่งคาดหวังสูงมากแต่ใช้เงินซื้อหรือให้คนอื่นทุ่มเทซึ่งเริ่มมีเยอะขึ้นมาจากครอบครัวที่ปล่อยปละละเลย
ครอบครัวหัวใจประชาธิปไตย สร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่อนุบาล ลูกทุกคนมีความหมาย ลูกมีศักดิ์และศรี ไม่เปรียบเทียบเวลาจะตั้งกฏเกณฑ์ก็มีการพูดคุยแบบนี้อยากให้มีเยอะขึ้น ซึ่งมีเยอะก็จะเป็นประโยชน์กับการเลี้ยงลูกสร้างครอบครัวหัวใจประชาธิปไตย
Functional Family คุณลักษณะที่ดีของพ่อแม่
1.รักอบอุ่นและไว้วางใจ ต้องไม่สำลักความรักหรือเยอะเกินไป รักแบบร่วมทุกข์ร่วมสุขพ่อแม่ที่รักกันอยู่ได้ต้องมองว่าตอนที่รักกันไม่ได้มีแต่เรื่องดีแต่เป็นการฝ่าฟันมาด้วยกัน รักต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขไม่ใช่เจอแต่ความสุขทุกข์ไม่ได้
2.สื่อสารที่ดีต่อกัน สื่อสารพลังบวก สื่อสารดีบ้านป็นสุข
3.ควบคุมอารมณ์ตัวเอง เริ่มคุมอารมณ์ตัวพ่อแม่คุมสถานการณ์ได้ แต่การจะให้ลูกเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ลูกดูเราเป็นตัวอย่างที่ดีจะเรียนรู้วิธีการจากเรา ถ้าทำเป็นและมีศิลปะในการควบคุมอารมณ์เอาอยู่ในทุกสถานการณ์
4.มีวินัย วินัยเกิดขึ้นจากส่วนร่วมไม่ใช่พ่อแม่เป็นคนกำหนดกติกาและมีผลบังคับใช้ทุกคนยกเว้นตัวเอง
5.เด็กไม่ใช่ผ้าขาวอย่าเข้าใจผิด เด็กทุกคนเกิดมาล้วนมีความหมายหมอต้องการให้ปรับจูนทัศนคติในการเลี้ยงลูก พ่อแม่ต้องล้างทัศนคติไม่ได้เรียนเก่งแต่ชอบวาดรูป พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจและอย่าเอาลูกไปวัดกับระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออก อย่าเลี้ยงลูกแบบเปรียบเทียบ จะไม่มีปัญหาในการเลี้ยงลูก
Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB
Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube: https://bit.ly/3cxn31u
ความเครียดเป็นพิษส่งผลกระทบกับพัฒนาการและทำให้ลูกป่วย
พบวิธีการรับมือเพื่อลดผลกระทบพัฒนาการลูก เช็กสัญญาณแบบนี้ลูกกำลังเครียด อาการแบบนี้แหล่ะ ที่หนูเครียด พัฒนาการและพฤติกรรมด้านไหนพังบ้างหากหนูเครียดเป็นพิษ Stress Management ฉบับเจ้าหนู แม่รู้ไว้สอนหนูได้ โดย The Expert ผศ. ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติ เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
Найти рабочее зеркало Вавада легко! Всегда актуальные ссылки помогут вам оставаться в игре и наслаждаться победами без перерывов.
Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB
Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube: https://bit.ly/3cxn31u

ลูกเราอาจไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในวัย Terrible ด้วยแล้ว เมื่อไหร่ที่ลูกเกิดอาการน๊อตหลุดขึ้นมา พ่อแม่ต้องรีบรับมือกับลูกและสถานการณ์รอบข้างให้ได้ค่ะ
สงบสติตัวเอง เมื่อลูกดื้อ
อย่าเพิ่งใช้อารมณ์กับลูก เมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่นไม่ใช่เวลาที่จะมาสอนลูกตรงนั้น หลายครั้งที่ลูกดื้อ ซน พ่อแม่ก็ยิ่งพยายามสอน พยายามดุลูก เพื่อแสดงให้คนรอบข้างเห็นว่าตัวเองได้ทำหน้าที่แล้ว แต่ลูกไม่ฟังเอง ช่วยไม่ได้ การทำแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นค่ะ แต่ถ้าพ่อแม่สงบเงียบ คุยกับลูกด้วยเหตุผล ว่าการส่งเสียงดังของลูก รบกวนผู้อื่น ลูกจะสงบนิ่ง และเชื่อฟังพ่อแม่มากขึ้น
อย่าสั่ง ถ้าอยากให้ลูกเชื่อฟัง
ลูกอยู่ในวัยที่กำลังเป็นตัวของตัวเอง การสั่งลูกเหมือนเป็นการจำกัดสิทธิ ลูกยิ่งรู้สึกไม่ชอบและอยากท้าท้าย แต่ถ้าลองเปลี่ยนจากคำสั่งเป็นการฝึกให้ลูกคิด สร้างคำถามให้ลูกตอบ ให้ทางเลือกกับลูก เช่น เมื่อลูกกำลังจะร้องเพลงเสียงดัง พ่อแม่อาจให้ทางเลือกลูกว่า หนูร้องเพลงได้นะแต่ต้องร้องเสียงเบาลงหน่อยเพราะการส่งเสียงทำให้รบกวนคนอื่น หรือ หนูคิดว่าเวลากินข้าวเราต้องอยู่ที่ไหนคะ แล้วเด็กดีต้องทำยังไงเวลากิน ถ้าพ่อแมเคยสอนเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารเด็กจะตอบได้ทันทีว่าต้องทำอย่างไร
ฟังลูก ฟังให้เข้าใจลูก
ไม่ใช่แค่ฟังให้ได้ยินเท่านั้น อีกทั้งท่าทีในการฟังก็แต่พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณสนใจ ไม่ใช่ฟังแต่ไม่สนใจลูก ให้ลูกได้พัฒนาทักษะการแก้ปัญหาต่างๆ โดยไม่จำกัดความคิดของลูก ให้เขาค่อยๆคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองไปทีละขั้นตอน ให้โอกาสและเวลาเด็กได้ฝึกคิดและ ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง จะทำให้เขามีทักษะและภูมิใจในตนเอง เช่น กินข้าวเอง ตักอาหารเอง รวมทั้งเวลามีปัญหาอย่ารีบช่วยเหลือหรือบอกว่าเขาควรทำอะไร แต่ให้ถามว่า "หนูจะทำอย่างไร"
ขจัดอารมณ์ที่ไม่ดีของลูก
เริ่มจากพ่อแม่อย่าคิดแทนลูก อย่าสั่งลูก เช่น ขอบคุณสิลูก อิ่มแล้วใช่ไหม ลูกไม่ชอบอันนี้ใช่ไหม หรือเมื่อลูกมีปัญหาให้ถามลูกว่าเกิดอะไรขึ้น รอให้ลูกตอบ ไม่ใช่พ่อแม่จัดการให้หมดทุกอย่างทันที ลองถามลูกก่อน เพื่อให้เขาได้ฝึกคิด เพราะถ้าพ่อแม่คิดแทนลูกทั้งหมด เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะคิดแก้ปัญหาไม่เป็น เจอปัญหาก็แก้ไม่ได้ ไม่มั่นใจ และจะกลายเป็นเด็กพึ่งพิงตลอด โตขึ้นก็ต้องคอยพึ่งพิงพ่อแม่ ไม่เห็นค่าในตนเอง ขอความช่วยเหลือคนอื่นตลอด
สกัดตัวป่วนตั้งแต่อยู่ที่บ้าน
การทำข้อตกลงกันก่อนออกจากบ้านเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเซฟปัญหาตัวป่วนนอกบ้านให้ลดลงได้ เมื่อลูกเริ่มดื้อ ซน พ่อแม่สามารถพูดได้ว่า เราตกลงกันแล้วนะ ว่าถ้าวิ่งเล่นทั่วร้าน แม่เตือนแล้วไม่เชื่อฟัง เราจะกลับบ้านทันที
เมื่อพาลูกออกไปนอกบ้าน พ่อแม่ต้องคำนึงถึงสิทธิคนอื่นในที่สาธารณะด้วย เราอาจจะมองว่าลูกงอแงเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ หรือลุกลามจนคนทำให้คนอื่นเดือดร้อน ต้องพาลูกออกไปจากสถานการณ์นั้นให้ลูกสงบก่อน
คนส่วนใหญ่เข้าใจธรรมชาติของเด็กว่า ดื้อ ซน เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ต้องการคือความรับผิดชอบ และคำขอโทษจากพ่อแม่เท่านั้นค่ะ หลายครั้งที่คนไม่พอใจคือ การนิ่งเฉย และไม่รับผิดชอบของพ่อแม่ ดังนั้นเอ่ยคำขอโทษด้วยความจริงใจ เมื่อลูกทำความเดือดร้อนให้คนอื่น นอกจากจะผ่อนคลายให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นแบบอย่างในการสอนให้ลูกอีกด้วยค่ะ
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF"
ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG


เคยไหมคะ ที่เผลอใช้อำนาจกับลูกโดยไม่รู้ตัวหรืออดไม่ได้จริง ๆ ที่จะออกคำสั่งเอาชนะลูก ดุ ตวาด หรือบังคับลูก จะด้วยความหวังดี อยากให้ลูกเชื่อฟัง สามารถก่อให้เกิดผลเสียมาก แม้บางครั้งได้ผลลูกยอมทำตาม แต่แค่ระยะสั้นเท่านั้นค่ะ เพราะในที่สุดลูกก็จะกลับไปเป็นอย่างเดิม และในหลาย ๆ ครั้ง กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาด้วย
ผลเสียเมื่อพ่อแม่มักเผลอใช้อำนาจกับลูก
- ทำให้ลูกกลัว จนขาดความมั่นใจ
จริง ๆ แล้วลูกมีความเกรงใจพ่อแม่อยู่แล้ว ยิ่งการแสดงอำนาจออกคำสั่งลูกบ่อย ๆ ยิ่งสร้างความกลัวให้ลูกมากขึ้น และจะพยายามทำตัวดี เพื่อไม่ให้พ่อแม่โกรธจนกดดันตัวเอง แต่ลึก ๆ แล้วลูกจะกลายเป็นคนหนีปัญหา มีอารมณ์หวั่นไหวง่ายมาก เกิดความกลัวในจิตใจจนลนลาน เวลาจะทำอะไรก็ไม่กล้า เพราะกลัวพ่อแม่จะดุ ทำให้ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก จนกลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตัวเอง

- ลูกจะเลียนแบบการกระทำของพ่อแม่
เมื่อพ่อกับแม่ออกคำสั่งกับลูก ใช้อำนาจทำให้ลูกกลัว ลูกก็จะเรียนรู้และซึมซับเอาพฤติกรรมนั้นไปใช้เมื่อเขาอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน หรือเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน ลูกจะเป็นคนไม่มีเหตุผล ใช้ความรุนแรง แกล้งคนที่อ่อนด้อยกว่าตนเอง
- ลูกจะมีพัฒนาการบกพร่อง
พ่อกับแม่ที่เผลอใช้อานาจกับลูก ออกคำสั่งลูกบ่อย ๆ จนลูกเกิดความกลัว ลูกจะมีพฤติกรรม เช่น เป็นคนขี้กลัว วิตกกังวล ไม่มีเหตุผล ทำอะไรตามอารมณ์ ไม่สมยอมใครง่าย ๆ ตัดสินใจด้วยกำลังมากกว่าความคิด ไม่กล้าแสดงออก ไม่ปรับตัวเข้ากับคนอื่น และขาดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ทั้งหมดนี้จะทำให้เป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต การปรับตัวให้เข้ากับสังคม
เห็นไหมคะ ว่ามีแต่ข้อเสียสำหรับการเอาชนะลูก ใช้อำนาจกับลูก พ่อแม่ควรจะใจเย็นให้มาก ๆ และควรใช้เหตุผลให้เหมาะกับวัย ใช้ความหนักแน่น เอาจริง อย่างสงบ และจบท้ายด้วยการกอดลูกไว้ ลูบหัวแสดงความรักต่อลูก ว่าพ่อแม่รักลูก เคียงข้างลูก และอยากให้ลูกเป็นเด็กน่ารักเสมอ เมื่อเด็กโตขึ้น ลูกก็จะเป็นคนที่พ่อแม่ปลูกฝังมา
พอถึงวัยของลูกที่ต้องเรียนรู้การอยู่กับผู้อื่น พ่อแม่คือคนสำคัญที่เป็นตัวอย่างให้ลูกได้นะคะ การสอนให้ลูกรู้ว่าโลกนี้ยังมีคนอื่นๆ อีกมากมายที่วัยเดียวกับเรา โตกว่าเรา แตกต่างกับเรา แต่เราอยู่ร่วมกันได้ ฉะนั้นการสอนให้ลูกเข้าสังคมตั้งแต่ยังเล็กๆ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี อนาคตลูกเข้าโรงเรียนก็จะเจอสังคมที่ใหญ่ขึ้น จะได้เข้ากับผู้อื่นได้ค่ะ
7 วิธี เริ่มสอนลูกเล็กๆ ให้เข้าสังคมแบบง่าย ๆ
1. สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเองก่อน
โดยถามความรู้สึกของเขาต่อเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้าบ่อยๆ และถ้าพ่อแม่รู้สึกโกรธลูก ก็ควรบอกความรู้สึกไปตรงๆ เพื่อให้ลูกรู้จักอารมณ์ตัวเอง และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นด้วย
2. สอนให้รู้จักมารยาทพื้นฐาน
ต้องสอนมารยาทสังคมแบบง่ายๆ ก่อนเลย ด้วยการให้ลูกรู้จักไหว้ สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ โบกมือบ๊ายบายลา คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างบ่อยๆ จนลูกติดเป็นนิสัย ต่อไปลูกก็จะทำได้เองโดยคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องสั่ง
3. สอนให้ลูกรู้จักขออนุญาต
เมื่อลูกเริ่มเรียนรู้ว่าของทุกอย่างมีเจ้าของเสมอ หากลูกหยิบข้าวของคนอื่นมาเล่น คุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบาย ว่านี่เป็นของเขา และนี่ของหนู หากอยากเล่นให้ขออนุญาตคนอื่นเสมอ
4. พูดคุยกับลูกบ่อยๆ
เล่าเรื่องเพื่อน ญาติ คนอื่นๆ ให้ลูกฟังบ้าง เช่น แม่ไปกินข้าวกับเพื่อนมา ชื่อน้าเชอร์รี่ น้าเชอร์รี่เป็นคนน่ารักมาก ลูกต้องอยากรู้จักแน่เลย เป็นการบอกเล่าว่ายังมีเพื่อนคนอื่นๆ ที่ลูกต้องได้รู้จักในวันข้างหน้า พอไปเจอจะได้ไม่ตื่นกลัวมาก
5. พาไปรู้จักคนรอบข้าง
หลังจากเล่าเรื่องน่ารักๆ ของเพื่อน และญาติให้ลูกฟังแล้ว ก็ต้องพาลูกไปรู้จัก ไปเยี่ยมญาติ ไปเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อหัดเข้าสังคมเล็กๆ แบบครอบครัว เพื่อที่วันข้างหน้าลูกจะได้เข้าสังคมที่ใหญ่ขึ้นเป็น
6. ให้ผู้ใหญ่สร้างความคุ้นเคยก่อน
พ่อแม่ต้องเข้าใจ เมื่อลูก "กลัวคนแปลกหน้า" เพราะเป็นวัยของลูก ลูกจะไม่ยอมให้ใครอุ้ม ไม่เข้าใกล้คนอื่น ไม่มองหน้าคนแปลกหน้า พ่อแม่อย่าเป็นกังวล หรือบังคับลูกให้เข้ากับคนอื่นมากไป ให้ใช้วิธีผู้ใหญ่เป็นคนเข้าหาแทน ค่อยๆ สร้างความคุ้นเคยทีละน้อย เดี๋ยวก็คุ้นเคยเอง
7. มีโอกาส ก็ควรทดสอบการเข้าสังคมลูก
หากลูกไม่มีอาการกลัวคนแปลกหน้าแล้ว และสามารถเล่นกับคนอื่นได้บ้าง คุณพ่อคุณแม่อาจจะหลบออกมาให้พ้นสายตาลูกสักพัก ถ้าลูกยังร้องหาคุณก็ค่อยลองใหม่ภายหลัง หรือบางครั้งอาจเดินเข้าเดินออกจากห้องเพื่อให้ลูกมั่นใจว่า ถึงแม้แม่ไม่อยู่ แต่อีกเดี๋ยวก็คงกลับมา
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้ลูกรู้จักให้และรับอย่างเหมาะสมตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กนะคะ เพราะเวลาเข้าโรงเรียนแล้วเขาจะได้เข้าสังคมที่ใหญ่ขึ้น การมีน้ำใจรู้จักแบ่งปัน คือการเริ่มต้นการเข้าสังคมที่ดีเลยค่ะ อย่าปล่อยให้ลูกกลัวการเข้าสังคมนะคะ
ลูกจะเลิกติดมือถือได้ พ่อแม่ต้องเริ่มจาก 5 ข้อนี้
ทำได้! ลูกพัฒนาการกลับมาดี
พ่อแม่ติดหน้าจอมือถือ ทำร้ายลูกไม่รู้ตัว เป็นปัญหาที่พยายามหาทางแก้กันหลายครอบครัวเลย เนื่องจากลูกติดหน้าจอมือถือ ไม่ให้เล่นก็ร้องไห้ข้ามวัน สุดท้ายใจอ่อนยื่นให้เล่นอยู่ดี เพราะแบบนี้ก็เลยแก้กันไม่หาย ขอบอกว่าวิธีการแก้ไขต้องเริ่มจากพ่อแม่ก่อนนะคะ พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
- พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้ได้ก่อน
พ่อแม่ต้องคิดเสมอนะคะ ว่าอยากให้ลูกเป็นแบบไหน พ่อแม่ต้องทำให้ได้ก่อน เพราะพฤติกรรมที่เราทำ ลูกอาจจะเลียนแบบได้ตลอด เช่น ชอบเล่นโทรศัพท์ตลอดเวลา แล้วมาเรียกร้องให้ลูกอย่าติดมือถือ มันดูย้อนแย้งเกินไป ฉะนั้นพ่อแม่ต้องทำให้ได้ด้วยค่ะ ถ้าไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กก้มหน้า พ่อแม่ก็ต้องไม่มัวแต่ก้มหน้านะคะ
- พาทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ห่างจากหน้าจอ
พาลูกทำกิจกรรมครอบครัวในทุก ๆ วัน หรือจัดตารางกิจกรรมประจำสัปดาห์ที่ต้องทำ เช่น อ่านหนังสือนิทาน เล่นเกมตัวต่อ ไปปลูกต้นไม้ ไปเที่ยวนอกบ้าน เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่หลากหลาย และฝึกทักษะที่จำเป็น พ่อแม่เองก็ร่วมทำกับลูกด้วย ที่สำคัญทำให้ลูกห่างหน้าจอได้

- เลี้ยงลูกด้วยตัวเอง อย่าให้หน้าจอเป็นพี่เลี้ยง
แน่นอนค่ะ ว่าการปล่อยให้ลูกอยู่หน้าจอ ลูกจะนิ่ง เงียบ ไม่กวนใจ แต่ผลเสียคือลูกติดจอ ส่งผลต่อพัฒนาการได้ในระยะยาว ฉะนั้นอย่าเอามือถือมาเป็นพี่เลี้ยงลูกนะคะ วิธีแก้ปัญหาเมื่อลูกว่าง คือพูดคุยกับลูกให้เยอะ ๆ เช่น วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง ลูกทำอะไรบ้างลูกอยากทำกิจกรรมอะไรไหม และเล่าเรื่องของพ่อแม่ให้ลูกฟัง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
- พ่อแม่ต้องตามยุคดิจิทัลให้ทัน
โลกโซเชี่ยลเหมือนดาบสองคม หากจำกัดพื้นที่ให้ลูกเรียนรู้ตามวัยได้ก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าปล่อยให้ลูกท่องโลกโซเชียลโดยไม่ดูแล ก็อาจส่งผลเสียได้แบบคาดไม่ถึง เช่น ตั้งค่ายูทูบสำหรับเด็ก วิธีตั้งค่า YouTube สำหรับเด็ก หรือ ร่วมเล่นไปกับลูกด้วย คอยถาม คอยแนะนำ จะได้รู้ว่าลูกกำลังดูสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ พ่อแม่ต้องตามให้ทันนั่นเอง
- ต้องมีกฏที่แหกไม่ได้ ฝึกระเบียบที่เด็ดขาด
พ่อแม่ควรสร้างกติกาของครอบครัว ควบคุมเรื่องเวลา หรืออาจมีข้อตกลงร่วมกัน เช่น มื้ออาหารห้ามใช้มือถือ ให้เล่นได้แค่ 4 ชั่วโมง แบ่งครึ่งเช้าและครึ่งบ่าย แล้วไปทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย ข้อนี้พ่อแม่อย่าหวั่นไหวเมื่อลูกร้องไห้ โวยวาย อยากเล่นต่อ ไม่มีการต่อรอง ให้หนักแน่นเข้าใจ หากลูกเสียใจให้ดึงลูกมากอดไว้ และบอกกติกาอีกครั้ง ทำแบบนี้ประจำลูกจะค่อย ๆ เข้าใจได้เอง

แม้พ่อแม่จะปกป้องลูกไปตลอดไม่ได้ แต่ช่วงวัยเด็ก วัยกำลังเรียนรู้สิ่งรอบตัว อะไรที่ควรรู้เป็นไปตามวัย เราก็ต้องให้ลูกได้รับให้มากที่สุดนะคะ และ 5 วิธีนี้ไม่ยากเลย แถมเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนควรทำด้วยค่ะ อยากให้ลูกเติบโตพัฒนาการสมวัย ก็ต้องดูแลกันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ นะคะ
ลูกฉลาด พ่อแม่เลี้ยงได้แบบไม่กดดันด้วยพัฒนาการรอบด้าน
คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกฉลาดใช่ไหมเอ่ย อยากให้ลูกเก่งรอบด้านด้วย... จริงไหม แต่จะทำยังไงล่ะถึงจะทำให้ลูกฉลาดได้โดยที่ลูกก็ไม่เครียด พ่อแม่ก็ Happy สุดๆ เรามีคำแนะนำจาก พ.ญ.ตวงพร สุรพงษ์พิวัฒนะ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และยังเป็นคุณแม่ลูกอ่อนด้วย ซึ่งจะมาบอกเราชัดๆ ว่า เด็กฉลาด เด็กเก่งของยุคนี้ต้องทำยังไง
ในบทบาทของผู้ให้คำปรึกษาด้านพัฒนาการเด็กควบคู่กับการเป็นคุณแม่ลูกอ่อน ช่วยให้เข้าใจและเห็นใจว่าการเป็นพ่อแม่ในยุคปัจจุบันนี้ไม่ง่ายเลยใช่มั๊ยคะ โลกเรามีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน ทั้งในด้านความเป็นอยู่ในครอบครัวชุมชน และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เด็กๆ ในสมัยนี้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้กันมากขึ้น มีโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อโรคอุบัติใหม่มากมาย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้พ่อแม่กังวลและเป็นห่วงในการปรับตัวและใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งมีหลายครอบครัวที่พ่อและแม่ต้องทำงานนอกบ้านทั้งคู่การใช้ชีวิตและบทบาทหน้าที่ต่างๆ ที่ทับซ้อนกันทำให้พ่อแม่จัดการบริหารเวลาหรือทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างจำกัด กลายเป็นความบีบคั้นในการใช้ชีวิต ตั้งแต่การตื่นเช้าออกจากบ้าน พ่อแม่มีเวลาอันน้อยนิดกับลูกในช่วงเช้า การกินและความเป็นอยู่ของลูกที่อาจจะฝากไว้กับคนอื่นหรือเนอร์สเซอรี่ การรีบเร่งเดินทางผ่านการจราจรที่ติดขัดทั้งเช้าและเย็น สิ่งเหล่านี้ช่วงชิงเวลาที่เด็กจะได้อยู่กับพ่อแม่แบบครอบครัวให้น้อยลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคใดมาก่อน
พ่อแม่ที่ไม่สามารถจัดสมดุลชีวิตส่วนตัว การทำงาน และการอยู่กับลูก มักจะเกิดความกังวลและรู้สึกผิดว่า ตนเลี้ยงลูกได้ไม่ดีหรือไม่เต็มที่ และบ่อยครั้งที่พ่อแม่เผลอตัวเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่นทั้งๆ ที่สภาพความเป็นอยู่แต่ละบ้านนั้นไม่เหมือนกัน อาจส่งผลให้พ่อแม่ผลักดันลูกมากเกินไปเพื่อชดเชยความรู้สึกเหล่านี้ด้วยการส่งลูกเรียนพิเศษ ติวเข้มวิชาการ ซึ่งพบเห็นกันตั้งแต่ระดับอนุบาล การที่พ่อแม่ผลักดันลูกมากเกินไปจนกลายเป็นความกดดัน จะทำให้ลูกเสียเวลาและเสียโอกาสในการฝึกพัฒนาการรอบด้าน โดยเฉพาะทักษะการใช้ชีวิตและการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข
ถึงเวลาที่ควรพิจารณาอย่างจริงจังว่า การมุ่งเน้นเลี้ยงลูกให้มีความฉลาดเป็นอัจฉริยะ หรือเป็นเลิศทางวิชาการ ไม่ใช่คำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จ เด็กในยุคปัจจุบันควรได้รับการเตรียมพื้นฐานของการพัฒนาการแบบความพร้อมรอบด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และทักษะการใช้ชีวิตในสังคมอย่างบูรณาการ หมอมักจะพบปัญหาของพ่อแม่เรื่องลูกไม่มั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก ส่วนใหญ่พบว่าเกิดจากพ่อแม่ดูแลอย่างใกล้ชิดจนเด็กขาดโอกาสในการฝึกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวและเวลาที่จำกัด อีกคำถามที่พบบ่อยคือ ปัญหาลูกมีสมาธิสั้น พ่อแม่หลายคนโทษว่าเพราะอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ ที่ทำให้ลูกใจร้อน รอไม่ได้ ในขณะที่พ่อแม่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างเร่งรีบและใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเช่นกัน จนเด็กซึมซับเป็นความเคยชินตั้งแต่เล็ก
พ่อแม่คือศิลปินผู้สร้างโลกผ่านการเลี้ยงลูก ดังนั้น การเลี้ยงลูกต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เช่น การใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ว่าพ่อแม่และเด็กอยู่ในห้องเดียวกันแต่ต่างคนต่างจ้องหน้าคอมของตนเองคนละมุม การกอดการสัมผัสแสดงถึงความรักและชื่นชม การได้รับโอกาสในการฝึกทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันทีละนิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในสังคมมีผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มาจากการสอบได้ที่หนึ่งของวิชาหรือห้อง แต่มักเป็นคนที่มีความสามารถหลากหลาย ปรับตัวเข้าหากับคนได้ง่าย มีมนุษยสัมพันธ์ดี แก้ปัญหาเก่ง และรู้จักการวางตัวที่เหมาะสมกับกาลเทศะ พ่อแม่ท่านใดที่ยังกังวลเรื่องการเลี้ยงดูลูก ลองพิจารณาโพลล่าสุดที่สำรวจ ความคิดเห็นของพ่อแม่ แล้วจะพอเห็นภาพว่า เด็กยุคนี้...แค่อัจฉริยะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย หมอขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังใส่ใจเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่ที่เก่งพร้อมรอบด้าน เพื่อสังคมที่มีคุณภาพและความสุขนะคะ
นอกจากนี้เรายังมีผลการสำรวจจากสวนดุสิตโพลมาฝากค่ะ ลองไปดูกันว่าถ้าอยากให้ลูกฉลาดต้องทำยังไงบ้าง


อ่านผลสำรวจเพิ่มเติมได้ที่ >>>
สวนดุสิตโพล(พื้นที่เพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์)

คงจะเคยได้ยินกันบ่อยๆ กับคำพูดที่ว่า "ลูกฉันเป็นคนดี" เวลามีข่าวเด็กหรือเยาวชนก่อคดีความ แล้วพ่อแม่มักจะบอกว่าลูกฉันเป็นคนดี ซึ่งในความจริงแล้ว ลูกเขาอาจจะเป็นคนดีจริง เพียงแต่ช่วงเวลาที่เกิดเรื่องนั้นมีเหตุและปัจจัยที่ส่งเสริมให้เขาทำเรื่องไม่ดีได้ เช่น ขาดสติ อารมณ์พาไป ถูกยั่วยุ เพื่อนชวน ฯลฯ
เด็กที่มี EF ดี มีโอกาสจะไม่ก่อเรื่องราวให้เป็นผลเสียกับตัวเองและใคร เพราะ EF จะทำให้เด็กๆ...
- มี Inhibitory Control รู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นและตนเอง
- รู้จักยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนความคิด มี Shift หรือ Cognitive Flexibility เมื่ออยู่ในสถานการณ์คับขันลูกจะหาทางออกจากจุดนั้นได้
- ไม่วอกแวกในทางที่ไม่ถูกไม่ควร ทำอะไรมีสติระลึกรู้ เพราะมี Focus/Attention
- มี Emotional Control รู้จักควบคุมอารมณ์ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องแม้จะมีสิ่งยั่วยุ หรือเพื่อนพาไป
- มี Goal-Directed Persistence การมีเป้าหมายและใฝ่ดี จะเป็นเกาะป้องกันให้ลูกไม่กระทำผิดคิดร้ายต่อผู้อื่น
วิธีสร้างลูกให้เป็นคนดี
กิน : ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด เพราะสายสัมพันธ์ของแม่กับลูกจะสร้างความรักความห่วงใยระหว่างกัน และเมื่อลูกกินข้าวได้เองควรฝึกวินัยการกินให้กับลูก เช่น กินเอง กินเป็นที่ กินเป็นเวลา กินหลากหลาย กินแต่พอดี รู้จักเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ อดใจไม่กินอาหารที่ให้โทษ ฝึกให้กินเองเก็บเอง และฝึกมารยาทบนโต๊ะอาหาร เช่น รู้จักรอคนอื่น ไม่ทำเสียงดัง นอกจากนี้การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้เติบโตแข็งแรง
นอน : ให้ลูกได้นอนอย่างเพียงพอในแต่ละช่วงวัย จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการนอน และฝึกวินัยในการเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา
กอด : กอดลูกทุกวัน เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว ให้ลูกรู้สึกปลอดภัย และมั่นใจในความรักของพ่อแม่ เป็นภูมิคุ้มกันใจให้กับเขา
เล่น : พ่อแม่เป็นของเล่นชิ้นแรกของลูก และเป็นเพื่อนเล่นที่ดีที่สุด
เล่า : เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง นอกจากจินตนาการแล้ว ลูกยังได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาจากนิทาน ได้รับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และเป็นการส่งเสริมการอ่านให้เขาตั้งแต่เล็กๆ ด้วย
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF"
ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG

Focus / Attention หรือ การจดจ่อใส่ใจ คือทักษะ 1 ใน 9 ด้านของ Executive Functions (EF) หรือ ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ
เวลาที่คนเราจะจดจ่ออะไรสักอย่าง เราจะต้องมีการจดจำว่าเราจดจ่อเพื่ออะไร จำได้ว่าทำไมเราต้องจดจ่อ เช่นเวลาที่คุณครูบอกเด็กๆ ว่า “นั่งทำงานเงียบๆ นะเด็กๆ ทำเสร็จเดี๋ยวครูมาตรวจ” คำว่า ทำงานเงียบๆ ทำให้เสร็จ จะกลายเป็นความจำที่อยู่ในสมอง เด็กจะจำคำสั่ง และรู้ว่าทำไมตัวเองถึงต้องจดจ่อทำงานให้เสร็จ
นอกจากนั้นต้องมีความยั้งใจ เมื่อเด็กรู้ว่าเราต้องทำงานนี้ให้เสร็จ เดี๋ยวคุณครูจะกลับมาตรวจ เด็กก็จะต้องจดจ่อกับคำสั่งนี้ และยั้งใจของตัวเองว่าจะไม่ไปทำในสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือคำสั่งนี้ เช่น เพื่อนชวนไปวิ่งเล่น เด็กก็จะบอกเพื่อนว่า คุณครูบอกว่าให้ทำงานให้เสร็จ เขาก็จะไม่ไปวิ่งเล่น
แรงจูงใจที่ทำให้เด็กเกิด Attention
1. การรู้คำสั่ง รู้ความหมายของการที่จะต้องจดจ่อ เช่น เด็กรู้ว่าครูสั่งให้ทำงานให้เสร็จ ครูจะกลับมาตรวจ เด็กก็จะจดจ่อทำสิ่งนั้น
2. เป็นเรื่องที่ชอบเวลาที่เด็กทำอะไรด้วยความชอบ เช่น ชอบต่อบล็อก วาดรูป เล่นเกม เขาก็จะมีความสุขกับสิ่งที่ทำ มีไอเดียที่จะทำ อยากทำ สนุกกับการต่อโน่นต่อนี่ หรือทดลองรื้อใหม่ ถ้าเขามีความสุข ก็จะมี Attention กับสิ่งนั้นได้ดี
3. การมีเป้าหมาย เช่น ถ้าเด็กรู้ว่าเขาวาดรูปนี้สำเร็จ เอาไปให้แม่ ก็จะตั้งใจวาดตั้งใจทำ ดังนั้นเป้าหมายของเขาคือ "จะให้" รูปที่วาดกับแม่ ไม่ใช่เป็นการวาดรูปเพียงอย่างเดียว มีความหมายที่มากกว่า เช่น อยากทำดีให้แม่ชื่นใจ
4. มีความสงสัยใคร่รู้ ความอยากรู้ของเด็กจะทำให้เด็ก มีใจจดจ่อ พ่อแม่ต้องค่อยๆ เติม ค่อยๆ กระตุ้นความอยากรู้ เด็กจะได้ทั้งฝึก Attention และตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นทักษะหนึ่งของมนุษย์เหมือนกัน ที่จะทำให้มีความช่างคิดวิเคราะห์ ช่างสังเกตเกิดขึ้น
ฝึกลูกให้มีสมาธิ จดจ่อ ใส่ใจ ไม่ยาก
ให้เด็กได้ใช้เวลากับตัวเองเงียบๆ เช่น ต่อบล็อก เล่นทราย วาดรูป ระบายสี ตัดกระดาษ ฉีกกระดาษ เป็นต้น
สร้างเสริมประสบการณ์ในบ้าน เช่น พาลูกไปเดินเล่นดูต้นไม้ดูรอบๆ บ้าน ดอกไม้ ต้นไม้ ก้อนหิน ทำนู่นทำนี่ที่จะชวนให้เขาจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะที่นาน การจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะที่นานนั้นต้องตื่นตัว สำหรับเด็กคือต้องให้เขาเคลื่อนไหวอย่างจดจ่อ หยิบ จับ เล่น แต่เป็นการเคลื่อนไหวบนความจดจ่ออยู่ในเรื่องเหล่านั้น
มีตัวช่วยในการเรียนรู้ ไม่ต้องเป็นของเล่นสำเร็จ แต่เป็นของใกล้ตัวก็ได้ เช่น เก็บใบไม้มารูปร่างแปลกๆ มาเรียง ชวนลูกทำกับข้าว เล่นหม้อข้าวแกง เป็นต้น
อย่าไปคาดหวังว่าต้องได้ชิ้นผลงานแต่ควรปล่อยลูกเล่นอิสระในพื้นที่ที่ปลอดภัย วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่อันตราย เช่น กระดาษหนึ่งแผ่นสองแผ่น ช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ฯลฯ เด็กก็เล่นได้ ไม่จำเป็นต้องวาดรูปออกมาหนึ่งชิ้น หรือต้องประดิษฐ์สิ่งของได้หนึ่งอย่าง
เมื่อเด็กมี Attention
การที่เด็กจดจ่อหมายความว่ามีเรื่องราวอะไรที่เขาสนใจ เด็กกำลังเรียนรู้อะไรบางอย่าง กำลังเก็บรับประสบการณ์ ทำความรู้จักกับสิ่งๆ นั้น กำลังพัฒนาคอนเซ็ปต์เกี่ยวสิ่งเหล่านั้นในสมอง
เมื่อเด็กมี Attention เขาจะมีระยะเวลาของการคิดที่เป็นกระบวนการ พูดง่ายๆ คือคอนเซ็ปต์ของสิ่งเหล่านั้นกำลังเกิดขึ้นในสมอง เกิดการเรียนรู้ ทำให้ได้พัฒนาความอยากรู้อยากเห็น ทำให้เขารู้จักการแก้ปัญหา ถ้าเขาตั้งใจและใส่ใจกับมัน เขาก็จะทำงานสำเร็จได้ เด็กจะแก้ปัญหาได้ จะเข้าใจและเห็นกระบวนการ ที่สำคัญเขาจะมีความสุข เพราะเขาจัดการสิ่งที่เขาทำได้ หรือได้ผลงานออกมา และได้คำชมจากพ่อแม่นั่นเอง

เช็ก! ลูกเป็นโรคชอบความสมบูรณ์แบบหรือไม่
Perfectionism โรคสมบูรณ์แบบเป็นโรคที่พ่อแม่ทุกคนควรรู้จักไว้นะคะ เพราะเด็กทุกคนมีโอกาสเป็นได้ ลักษณะของโรคคือมีความเป๊ะเกินไป ในหลาย ๆ เรื่อง ทำอะไรต้องอยู่ในกรอบ ผิดพลาดไม่ได้ หรือหากผิดพลาดจะส่งผลต่ออารมณ์ เศร้าเสียใจหนักมาก โกรธ โมโหรุนแรง หากปล่อยเอาไว้ลูกอาจกดดันตนเองจนสะสมเป็นความเครียด และส่งผลต่อสุขภาพจิตได้
มารู้จักลักษณะเด็ก Perfectionist กันเลยค่ะ
1. คาดหวังสูงกับตัวเอง
2. คิดแต่ว่าคนอื่นจะมองยังไง รู้สึกแย่ถึงแย่ที่สุด ถ้าทำอะไรผิดพลาดต่อหน้าคนอื่น
3. หวั่นไหวง่ายมาก เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์
4. ถ้าต้องทำอะไรที่คิดแล้วว่าทำได้ไม่ดี จะพยายามหลีกเลี่ยงสุดฤทธิ์
5. พยายามปกปิดว่าตัวเองรู้สึกยังไง และไม่ค่อยอยากสุงสิงกับคนอื่นเท่าไหร่
6. จัดลำดับความสำคัญไม่ค่อยเป็น ลังเลไปมา ตัดสินใจไม่ได้เสียที ไม่เลือกทางไหนไปสักทาง
7. ถ้าทำอะไรแล้วผลลัพธ์ออกมาแย่กว่าที่คาด อาจมีอาการ ทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง บ่อย ๆ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เด็ก perfectionist มาจากสองอย่างหลัก คือ ติดสมองเด็กมาตั้งแต่เกิด และ จากการเลี้ยงดู
1. ได้รับคำชม “เยอะเกิน” จากคนรอบตัว ซึ่งก็เป็นได้ว่าตัวเด็กเองก็มีบางอย่างให้น่าชมเชยจริงๆ เช่น สองขวบก็อ่านหนังสืออกแล้ว หรือมีทักษะดนตรี กีฬาบางอย่างที่โดดเด่น ใครเห็นเป็นต้องชม
2. พ่อแม่ “เรียกร้อง” จากลูก “เยอะมาก” คาดหวังสูงจากลูก ในลักษณะตึงเครียด ตัวเด็กเองต้องพยายาม “ตะเกียกตะกาย” ไปให้ถึงจุดที่พ่อแม่คาดหวังเอาไว้ จึงจะอยู่ในครอบครัวนี้ได้
3. พ่อแม่คนใดคนหนึ่งมีลักษณะ perfectionist ต้นแบบอย่างนี้ทำให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว
4. พ่อแม่สร้างเงื่อนไขให้ลูกเข้าใจว่า ลูกจะได้รับความรักจากพ่อแม่ ต่อเมื่อลูกประสบความสำเร็จอย่างที่พ่อแม่หวังไว้เท่านั้น ข้อสุดท้ายนี้ พ่อแม่มักไม่รู้ตัวว่าเราเองพูด หรือแสดงท่าทีอะไรออกไปบ้าง แต่ลูกเข้าใจไปเรียบร้อยแล้วว่าคนไหนไม่เก่งพอ ไม่แจ๋วพอ ไม่ดีพอ พ่อแม่จะรักน้อยกว่าลูกคนอื่น ๆ
การปล่อยให้เด็ก perfectionist โตไปเป็นผู้ใหญ่ perfectionist โดยไม่ช่วยเหลือลูกให้เต็มที่ก่อน ถือเป็นการทำร้ายเด็ก (โดยไม่เจตนา) ใครที่มีลักษณะ perfectionist คงเข้าใจถึงความทุกข์ จากความตึงเครียดเกินไปของตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว
พ่อแม่สามารถช่วยปรับลด เพื่อไม่ให้ลูกเป็น perfectionist ได้ดังนี้
1. พ่อและแม่ต้องปรับทัศนคติตัวเองก่อน
ชีวิตลูกเป็นของเขา พ่อแม่ ผู้ปกครองมีหน้าที่ในการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้าน ให้เขาได้เติบโตสมวัยและรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ทำสิ่งใดได้ดี และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในแบบของเขา อย่าพยายามคิดว่าลูกเป็นของเราหรือยัดเยียดให้ต้องทำตามที่พ่อแม่ต้องการเท่านั้น การทำความเข้าใจและยอมรับในตัวลูกมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างภูมิต้านทานในตัวลูก
2. ฝึกให้ลูกชนะได้ก็แพ้ได้
พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าในทุกเรื่องมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ การชนะในวันนี้ไม่ได้หมายว่าความจะชนะตลอดไป เพราะเมื่อมีคนชนะก็ย่อมต้องมีคนแพ้เสมอ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโอกาสชนะและแพ้ได้เท่าๆ กัน ผู้ชนะก็ควรชื่นชมผู้แพ้ ในขณะเดียวกัน เมื่อแพ้ก็ควรยินดีกับผู้ชนะ ลูกต้องรู้จักการเป็นทั้ง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” แล้วลูกจะเข้าใจความรู้สึกและไม่ยึดติดกับการต้องเป็นผู้ชนะเท่านั้น และเมื่อแพ้ ก็ต้องไม่สิ้นหวัง ต้องมีพลังและทัศนคติที่จะผลักดันให้มีความพยายามในครั้งต่อไป
3. มองลูกด้วยสายตาความเป็นจริง
ต้องประเมินศักยภาพลูกของเราด้วยสายตาที่เป็นจริง ไม่ใช่สายตาที่พ่อแม่อยากให้เป็น เพราะมันจะมีความแตกต่างกันมาก ถ้าลูกของเราไม่ใช่เด็กหัวดีประเภทหน้าห้อง ก็ควรส่งเสริมให้ลูกตั้งใจเรียนให้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ และมีความสุขกับการเรียน อย่าพยายามกดดันเปลี่ยนตัวตนของลูกด้วยการให้ลูกเรียนพิเศษเพื่อจะได้เรียนเก่งเหมือนคนอื่น เปลี่ยนเป็นส่งเสริมให้ลูกเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ไม่กดดัน โดยพ่อแม่เข้าไปมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เขารับผิดชอบต่อการเรียนของตัวเอง ทำให้เต็มที่ และให้ความมั่นใจกับลูกว่า ไม่ว่าผลการเรียนออกมาจะเป็นอย่างไรถ้าลูกทำเต็มที่แล้ว พ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวลูก
4. ลดความคาดหวังลง
กรณีที่ลูกเรียนเก่งอยู่แล้ว ก็มักเป็นที่คาดหวังของพ่อแม่ อยากให้ได้เรียนที่ดีๆ ได้เกรดดีๆ แต่สำหรับคนที่เรียนไม่ดี พ่อแม่ก็ควรลดความคาดหวังลง ไม่ต้องถึงขนาดเคี่ยวเข็ญมาก เพราะจะทำให้ลูกไม่ต้องกดดันมากจนเกินไป เขายังสามารถเดินตามความฝันของเขาได้เต็มที่แบบไม่ต้องเครียด
5. อย่าเปรียบเทียบ
กรณีครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน พ่อแม่ต้องระมัดระวังความรู้สึกของลูกอีกคนด้วย ถ้าจะชื่นชมลูกคนโตก็ควรสอนให้ลูกอีกคนชื่นชมยินดีและให้กำลังใจพี่คนโตด้วย และพยายามทำให้อยู่บนความพอดีพอเหมาะ ไม่ใช่ออกนอกหน้า โดยไม่ได้สนใจความรู้สึกของลูกอีกคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยหรือแม้แต่นำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ก็ไม่ควรทำ เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความสามารถเฉพาะตัว และมีพื้นนิสัยที่แตกต่างกันอยู่แล้ว
6. เรียนรู้แบบมีเป้าหมาย
สิ่งสำคัญที่พ่อแม่สามารถปลูกฝังและสอดแทรกไปกับการเรียนรู้เรื่องแพ้-ชนะ คือ ความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมาย โดยใส่ใจในรายละเอียดระหว่างทางด้วย ให้เขาได้เห็นความสำคัญของทักษะชีวิตในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ความอดทน ความพยายาม การเรียนรู้ความผิดพลาด ฯลฯ รวมไปถึงการฝึกให้เขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต

วิธีจัดการลูกอารมณ์รุนแรง ชอบทำร้ายตัวเองและคนอื่น
พฤติกรรมเด็กชอบเอามือตีหัวตัวเอง เอาหัวชนฝาผนัง และชอบกัดคนอื่นเวลาไม่ได้ดั่งใจ พ่อแม่ควรทำอย่างไร เรามีคำแนะนำมาฝากค่ะ
การที่เด็กในวัย 1-3 ปี แสดงพฤติกรรมที่ค่อนข้างรุนแรงเมื่อไม่ได้ดั่งใจนั้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยค่ะ
ปัจจัยที่สำคัญได้แก่
1.เด็กยังระบายความโกรธไม่เป็น
เพราะการระบายความรู้สึกโกรธที่ดีที่สุด คือการพูด ดังนั้นในเด็กที่อายุยังไม่ถึง 2 ขวบซึ่งภาษาก็ยังไม่ได้พัฒนามากพอที่จะพูดระบายความอัดอั้นตันใจทั้งหมดทั้งมวลออกมาได้ ก็จะระบายความโกรธออกมาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ร้องไห้ ลงไปนอนดิ้นกับพื้น หรืออาจหนักถึงขนาดที่ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่นได้เช่นกันค่ะ
2.เด็กใช้พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องต่อรอง
หากเด็ก ๆ ของเราเรียนรู้ว่าเมื่อเขาแสดงพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว ผู้ใหญ่มีท่าทีตระหนกตกใจ หรือกลายมาเป็นยอมตามใจเขา ไม่ว่าจะเพราะกลัวเด็กจะเครียดหรือเพื่อตัดรำคาญก็ตาม เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ว่าหากอยากที่จะเอาชนะเราแล้วละก็ มีเพียงวิธีเหล่าเท่านั้นที่ได้ผล และแน่นอนค่ะว่ายิ่งทำแล้วได้ผลมากเท่าไหร่ เด็กๆ ก็จะยิ่งเกิดความชำนาญ และสุดท้ายเขาอาจกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเอาหัวโขกกำแพง หรือการกัดคนอื่นในที่สุด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดที่จะเป็นโรคอะไรนะคะ นั่นหมายความว่า การดูแลอย่างถูกวิธีสามารถทำให้พฤติกรรมเหล่านี้หายไปได้ค่ะ โดยสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำในตอนนี้ได้แก่
-ควรห้ามลูกทุกครั้งเมื่อเขาทำรุนแรง : การห้ามในที่นี้คงไม่ใช่แต่เพียงพูดกับลูกว่า "อย่ากัดแม่นะลูก มันเจ็บ" หรือ "อย่าตีตัวเองสิคะ" เท่านั้นนะคะ แต่เราต้องเข้าไปจับมือเขาไว้เมื่อเขาตีตัวเอง จับหัวเขาไว้ไม่ให้โขกกำแพง และดันตัวเขาออกไปทุกครั้งเมื่อเขากัดเรา เพราะหากเราเพียงแค่พูดเฉยๆ เด็กๆ จะเข้าใจว่าเราไม่ได้เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ และรับรองค่ะว่าเขาจะทำอีกแน่นอน
-สอนวิธีระบายความโกรธที่ดีกว่านี้ : ดีที่สุดคือสอนให้เด็กรู้จักพูดเมื่อตัวเองโกรธ แม้เด็กจะไม่สาธยายความโกรธเกรี้ยวฉุนเฉียวของตัวเองออกมาได้ทั้งหมด แต่การพูดว่า "ไม่เอา" หรือ "โกรธ" ออกมาได้ ก็อาจจะช่วยให้เขาลดการทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นลงได้
แต่หากในกรณีที่เขายังไม่สามารถพูดคำเหล่านี้ออกมาได้ คุณแม่อาจต้องยอมปล่อยให้เขาร้องไห้ หรือลงไปดิ้นกับพื้นแทน ต้องจำให้ขึ้นใจเลยนะคะว่าเด็กสามารถที่จะโกรธได้ เพียงแต่ต้องระบายออกมาในวิธีที่เหมาะสม และไม่ควรบอกเขาว่า อย่าร้อง ห้ามโกรธ หรืออย่างอแง เพราะว่านั่นคือการฝืนธรรมชาติของมนุษย์ จะทำให้เขากลายเป็นเด็กเก็บกดในที่สุด
และที่สำคัญห้ามตามใจเด็ดขาด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หมอย้ำบ่อยมาก เพราะเด็กจะใช้พฤติกรรมเหล่านี้เพื่อมาต่อรองกับเรา
ดังนั้นไม่ว่าเขาจะทำสิ่งที่รุนแรงแค่ไหน คุณแม่ก็เพียงแต่จับเขาไว้และก็ต้องยืนยันว่ายังไงเขาก็จะไม่ได้ของที่เขาต้องการ ในกรณีที่น้องอายุไม่มาก เราอาจใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจให้เขาสนใจสิ่งของหรือกิจกรรมอื่นแทนได้ค่ะ
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การปรับพฤติกรรมลูกสำเร็จหรือไม่ ก็คือผู้ปกครองต้องมีความสม่ำเสมอและห้ามใจอ่อนเด็ดขาด (รวมถึงคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายที่อยู่ที่บ้านด้วยนะคะ) หรือหากคุณแม่ลองทำดูแล้วไม่ประสบผลสำเร็จอาจพาน้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลองมองหาสาเหตุอื่นหรือการรักษาเพิ่มเติมได้ค่ะ

สกัดอารมณ์ร้าย ๆ ของลูก ด้วย 5 วิธีง่าย ๆ
ลูกวัย 1-3 ปี จะสามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่สิ่งที่เด็กวัยนี้ยังทำได้ไม่สมบูรณ์คือพัฒนาการทางภาษา การควบคุมอารมณ์ การอดทนรอคอย คือยังไม่มีความสามารถในการควบคุมตัวเอง (self control) ด้วยสาเหตุนี้เองลูกมักแสดงความรุนแรงออกมา ซึ่งพ่อแม่มีส่วนสำคัญที่จะเป็นผู้ช่วยให้ลูกเรียนรู้และแสดงออกอย่างเหมาะสมค่ะ
นอกจากนี้ ถ้าขณะที่ลูกกำลังโกธรและต้องการระบายอารมณ์ด้วยการตีหรือขว้างปาสิ่งของ พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกทำแบบนั้น เพราะการปล่อยให้ลูกระบายอารมณ์ด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม ลูกจะคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และจะติดเป็นนิสัยเมื่อเติบโตขึ้นได้
มาช่วยให้ลูก สกัดอารมณ์ร้ายและรู้จักการระบายอารมณ์ของลูก ด้วย 5 วิธีต่อไปนี้กันค่ะ
1. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ลูก เริ่มจากพ่อแม่ไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน รู้จักการระงับอารมณ์ของตัวเอง
2. ถ้าลูกแสดงอารมณ์รุนแรง ต้องหยุดลูกโดยไม่ใช้ความรุนแรงตอบ เช่น การตี แต่ควรเข้าไปจับตัวลูกให้หยุดการกระทำเพราะเด็กจะยังควบคุมตัวเองไม่ได้ สามารถหยุดด้วยการกอดไว้แน่นๆ และโยกตัวลูกเบาๆ
3. เมื่อเด็กๆ เริ่มเรียนรู้การระงับอารมณ์มากขึ้น พ่อแม่ควรเปลี่ยนจากการจับให้ลูกหยุดมาเป็น การหยุดด้วยคำพูด เช่น พูดว่า ทำไม่ได้ ไม่อนุญาต ฯลฯ ควรเป็นคำที่สั้นกระชับ ชัดเจน
4. ตั้งชื่อทางอารมณ์ให้ลูกรู้เช่น บอกลูกว่าตอนนี้ลูกกำลังโกธร ลูกกำลังเสียใจ เพราะเด็กจะยังไม่รู้ว่าอารมณ์ที่ตัวเองรู้สึกคืออะไร เด็กจะรับรู้แค่ความรู้สึกทางร่างกายว่าหัวใจเต้นแรง น้ำตาไหล หน้าแดง เป็นต้น
5. หากลูกใช้ความรุนแรง ควรมองว่าเป็นโอกาสในการที่จะสอนสิ่งที่ถูกต้องให้กับลูก เพราะเด็กบางคนที่ไม่เคยใช้ความรุนแรงเลย อาจเพราะไม่เคยเจอกับสถานการณ์ที่ถูกขัดใจ จะทำให้ลูกไม่รู้จักอารมณ์ตัวเอง เมื่อโตขึ้นเขาจะแสดงอารมณ์รุนแรงออกมา ซึ่งก็ยากในการปรับตัวค่ะ
หากปล่อยให้ลูกใช้ความรุนแรงตั้งแต่วัยซน ลูกจะถูกบ่มเพาะและติดตั้งการใช้ความรุนแรงในสมอง ทำให้เมื่อเติบโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่เห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อตัวลูกเองในทุกด้าน ดังนั้นมาเริ่มหยุดความรุนแรงให้ลูกกันตั้งแต่วันนี้เลยค่ะ

สร้างกองทัพพลังบวกให้ลูกได้ทุกวัน ด้วยการไม่พูด 'ไม่' 'อย่า' 'ห้าม' 'หยุด'
คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตตัวเองกันไหมคะ? ว่าในแต่ละวัน เราพูดคำว่า ไม่ อย่า ห้าม หยุด กับลูกบ่อยแค่ไหน เรามาลองเปลี่ยน 4 คำพูดพลังลบนี้ด้วยคำพูดกองทัพพลังบวกให้ลูกด้วยคำพูดดี ๆ กันดีกว่าค่ะ
ตัวอย่างประโยคพลังลบ!
“อย่าเทน้ำบนพื้น”
“อย่าฉีกกระดาษเล่นซิลูก”
“อย่าเอาดินสอเขียนผนัง ทำไมดื้ออย่างนี้ ถ้าทำอีก แม่จะไม่รักแล้ว !!!”
ไม่ได้หมายความว่าการที่ลูกเล่นเลอะเทอะ ทำบ้านสกปรก หรือเล่นอันตราย แล้วเราสอนเค้าจะเป็นสิ่งผิด ตรงกันข้ามกลับสนับสนุนให้พ่อแม้ได้บอกได้สอน แต่ควรทำในวิธีที่เหมาะสมกับการรับรู้ของเด็กและจิตวิทยาในการเลี้ยงดูลูก หรือแม้กระทั่งการจัดสภาพแวดล้อม สถานที่ และอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการเล่นแบบเลอะๆ ได้
ตัวอย่างประโยคพลังบวก!
“แม่รู้ว่า หนูอยากเทน้ำบนพื้นใช่ไหมจ๊ะ แต่เทในบ้านมันจะหกเลอะเทอะ แม่จะเสียเวลาที่จะเล่นกับหนู เพราะต้องมาเช็ดทำความสะอาด เราออกไปเทน้ำข้างนอกบ้านแทนดีไหม”
สังเกตว่า จะมีการสะท้อน ว่าเราเข้าใจความต้องการการอยากเทน้ำเล่นของเขา แต่บอกผลเสียที่ตามมา พร้อมยื่นข้อเสนอใหม่ให้ และสุดท้ายให้เข้าเป็นคนตัดสินเลือกเอง หรือ
“โอ้โห้ ลูกเขียนรูปบนผนังบ้านสวยมาก ๆ เลย แม่ชื่นชมที่หนูวาดรูปได้เก่งมาก แต่ถ้าเราเอากระดาษไปติดที่ผนัง แล้วเขียน พอเขียนครบ เราก็เอากระดาษแผ่นใหม่มาติดแทน ก็จะวาดได้ตลอดไป แบบนี้ดีกว่าไหมลูก”
วิธีการพูดเชิงบวก และให้ได้ผลทางจิตวิทยานั้น มันต้องพูดยาวมากกกกกก… แต่ถ้าเรายอมปรับครั้งเดียว ให้เขาเข้าใจ แล้วต่อไปเขาไม่ทำอีก มันจะประหยัดเวลา ลดอารมณ์หงุดหงิด เซฟพลังงาน ซึ่งจะได้ผลที่ดีกว่าในระยะยาวมากกว่าการบ่นด่าว่าเขาซ้ำ ๆ ซึ่งพฤติกรรมเข้าก็ไม่เปลี่ยนอยู่ดี
ทุกครั้งที่พูดคำว่า “ ไม่” “อย่า” “ห้าม” “หยุด” ก็คือการเด็ดยอดอ่อนแห่งจินตนาการ แห่งพัฒนาการ แห่งความคิดสร้างสรรค์ แห่งพรสวรค์ของลูกทิ้งไป ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเปลี่ยนคำพูดกันใหม่แล้วค่ะ มาลองเปลี่ยนเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกกันนะคะ
ที่มา : กรมอนามัย
ต้นไม้หนึ่งต้น กว่าจะโตต้องใช้เวลาเนิ่นนาน แต่การเติบโตของต้นไม้ ก็ให้อะไรกับลูกได้เยอะแยะเช่นกัน
ลูกได้อะไรจากการปลูกต้นไม้
1. ฝึกการจดจ่อใส่ใจ ด้วยการพยายามเตรียมดิน ปลูกผัก รดน้ำผัก
2. ทำให้มือและตาทำงานให้สัมพันธ์กัน ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก
4. มีความตั้งใจ ได้ลงมือทำตามที่คิดไว้
5. ได้ฝึกความอดทน ความเพียรพยายาม ในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย
6. ฝึกการควบคุมอารมณ์ และอดทนต่อสิ่งที่สงสัยได้
7. มีความภาคภูมิใจในตนเอง ที่ได้ปลูกต้นไม้ และได้ผลผลิตตามเป้าหมาย ถ้าต้นไม้ที่ลูกปลูกเป็นผักผลไม้ที่เก็บดอกผลได้ ลูกจะได้รับอาหารรู้จักวางแผนจัดการ ว่าจะแบ่งให้ใคร เอาไปทำอะไรต่อ กินหรือขาย เป็นต้น
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF"
ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG

Self - Monitoring คือการติดตามประเมินตัวเองซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของ EF (Executive Functions) ที่จะนำไปสู่การรู้จักตัวเอง การที่เราสะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง
การประเมินตัวเองจะทำให้เรา รู้จักตัวเอง และ เข้าใจตัวเอง
ถ้าเด็กๆ ได้รับการฝึกฝนเรื่อง Self - Monitoring ก็จะมี Self หรือตัวตนในทางบวก เด็กจะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เป็นไปตามแผนงานหรือเปล่า ในขณะที่คนที่มี Self มากเกินไป ก็จะมี ego สูง จะยอมรับคนอื่นไม่ได้ ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นยาก ไม่พัฒนา เพราะว่าไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นความบกพร่องของตนเองได้ และจะรับได้เฉพาะคำชมหรือความสำเร็จเท่านั้นเอง
เมื่อเด็กมี Self-Monitoring
- เด็กจะรับรู้ตัวเองได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ที่สำคัญคือการรับรู้ด้านลบของตัวเอง รู้จักประเมินตัวเอง รู้ว่าจุดอ่อนของตัวเองอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตัวเอง
- เด็กรู้จักสัมพันธ์กับคนอื่น ระมัดระวังด้านที่เราเป็นลบให้พอเหมาะพอดี ไม่ไปกระทบหรือทำร้ายคนอื่น หรือทำให้ความเป็นทีมเสียหาย
- เด็กมีความสุขเป็น เพราะการที่เด็กๆ ค้นพบตัวเอง เด็กก็จะมีความสุข มีความพอใจ ชื่นชมกับมัน หรือมองไปในทางบวก
พ่อแม่สร้าง Self-Monitoring ให้ลูกได้
ตั้งคำถามและคอยกระตุ้น เหมือนเป็นการช่วยให้เขา Monitor ตัวเอง เช่น รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร
บอกเขาในสิ่งที่เขากำลังทำได้ดี เช่น ชม ปรบมือเมื่อเขาทำบางอย่างเองได้ จะทำให้เขาค่อยๆ รู้จักตัวเอง
เข้าใจและยอมรับสภาวะของเด็ก เช่น เด็กไปดึงหางแมว เรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่จะไม่ไปว่าเด็กว่าก้าวร้าว เป็นเด็กไม่ดี รังแกสัตว์ แต่อาจจะพูดว่า ลูกอยากรู้ใช่ไหมว่าแมวรู้สึกอย่างไร ลูกไม่ได้อยากจะรังแกมันใช่ไหมคะ แต่ถึงลูกอยากรู้ เราก็จะไม่ทำแบบนี้นะคะ เพราะแมวมันเจ็บ
การยอมรับสภาวะ ความคิด ความรู้สึก การกระทำของเด็ก จะเป็นตัวที่ช่วยให้เข้าใจเด็ก
อธิบายว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควรอย่างไร ถ้าอยู่ๆ มีคนมาดึงขาลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร ลูกก็ตกใจใช่ไหม แมวก็เหมือนกัน มันตกใจ มันอาจจะกัดได้นะลูก เด็กจะรับรู้ได้ว่าเราเข้าใจเขา และก็ค่อยๆ ทำให้เขาเห็นพฤติกรรมของตัวเอง ให้เขารู้ว่าเรายอมรับ แต่ไม่ใด้แปลว่าเห็นดีเห็นงามด้วย ยอมรับก่อนว่ามันเกิดขึ้นแล้ว มันมีอยู่จริงแล้ว ค่อยๆ ชี้ให้เห็น โดยการสะท้อนกลับมาที่ตัวเขาเอง ว่าถ้าเป็นลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร
Self Monitoring เริ่มสร้างได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยต้องเริ่มจากการให้เด็กรู้จักก่อนว่า "ตัวเขา" เป็นอย่างไร
เด็กเล็ก : เริ่มแรกพ่อแม่ต้องช่วยบอกเขาก่อน เช่น การที่เขากินข้าวเองได้ แล้วพ่อแม่ชมปรบมือให้ เป็นการบอกเขาว่า ตัวเขามีความสามารถ หรือถ้าเขาจะขึ้นมาขับรถ ก็ต้องบอกเขาว่า ลูกยังเล็กอยู่ ยังทำไม่ได้ ต้องบอกเขาไป จนเขาโต ว่ายังขับรถไม่ได้นะลูก กฎหมายไม่อนุญาต
พ่อแม่ต้องช่วยบอกเขาก่อน ช่วย Monitor ว่าเขาทำอะไรได้ ทำอะไรได้ดี แต่พ่อแม่จะคอยบอกฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องให้เด็กฝึกการที่จะบอกตัวเองด้วย
เด็กวัย 2-3 ขวบ : การตั้งคำถามกับเด็ก ถามความรู้สึกของเด็ก ถามความคิดเด็ก เช่น เด็กเล่นของเล่นแล้วแย่งของกัน เราต้องถามเขาว่า ลูกชอบไหมที่เขามาแย่งของของลูก หรือลูกรู้สึกอย่างไรที่ไปแย่งของของเขา ทำไมลูกทำอย่างนั้นล่ะคะ ลูกอยากทำอะไร ทำไมลูกทำอย่างนี้ ลองบอกแม่หน่อยซิ ที่ลูกชอบมันจะเป็นอย่างไร แล้วแบบไหนที่ออกมาแล้วลูกไม่ชอบ
การคุยในลักษณะแบบนี้จะทำให้เขาได้กลับไปทวนความคิด ความรู้สึก การกระทำของตัวเอง เด็กก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า คนเราต้องคอยถามตัวเอง คอยดูตัวเอง คอยสะท้อนตัวเอง
เด็กวัยอนุบาล :การพูดคุยจะทำให้เข้าใจและรู้ว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือตรงไหน เช่น เรื่องการบ้าน ชวนลูกคุยว่ารู้สึกอย่างไรกับการบ้าน การบ้านวันนี้เป็นไงบ้างลูก ถ้าลูกตอบว่า เยอะ ไม่ชอบเลย ไม่อยากการบ้านเลข เราก็ได้รู้ว่า ณ จุดนี้ลูกต้องการความช่วยเหลือ จะได้บอกว่าทำไมเขาต้องทำการบ้านเลข ถ้ามันยาก เรามาลองทำอย่างนี้ดีไหมลูก เราก็ช่วยสอน ช่วยเหลือเขาได้ เมื่อเขาโตขึ้นเรื่อยๆ เด็กก็จะรู้จักช่วยตัวเอง ต่อให้เขาไม่ชอบ เขาก็จะต้องรู้วิธีแก้ปัญหาว่ามันคืออะไร
ในแต่ละวัยกระบวนการ Self-Monitoring ก็จะแตกต่างกันไป และเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การให้เด็กรู้จัก Monitor ตัวเอง เพื่อนำไปสู่อะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่ Monitor ตรวจสอบว่าวันนี้หนูไม่ยิ้มนะ ใครอย่ามายุ่งกับหนู แต่ต้องให้เด็กมีกระบวนการ เช่น เพื่อนๆ ช่วยทำให้เพื่อนร่าเริงหน่อย ทุกคนไปกอดซิ วันนี้เพื่อนไม่สบายใจ แมวที่เลี้ยงตาย เพื่อนๆ ไปกอดให้กำลังใจหน่อย แบบนี้ก็จะนำไปสู่การรู้จักตัวเองที่มีความหมาย
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจ และทำให้เด็กมีกระบวนการอย่างนี้สม่ำเสมอ เด็กก็โตขึ้นแบบรู้จักตัวเอง ได้เห็นปัญหา ไม่กลัวปัญหา และรู้จักแก้ปัญหา ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ และรู้ว่าตัวเองจะต้องแก้อะไรบ้าง ถ้าเป็นลบก็จะระมัดระวัง รักษาสมดุล เพราะบางเรื่องเราแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่เราคอยจัดการกับสถานการณ์นั้นได้ คนที่จะประสบความสำเร็จได้ดีต้องมีสิ่งเหล่านี้ค่ะ

อย่ากลัวถ้าลูกขู่จะไม่รัก
พ่อแม่หลายคนอาจเคยเผชิญกับคำขู่ของลูกแบบนี้ แรก ๆ อาจจะตกใจ น้อยใจหรือเสียใจ แต่เชื่อเถอะค่ะลูกไม่ได้จะไม่รักเราจริงๆ
ที่ลูกพูดไปแบบนั้นเพราะเขายังไม่เข้าใจอารมณ์ของตนเอง ยังไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะเด็กวัย 3-6 ปี ที่ยังไม่รู้จักการยับยั้งชั่งใจไม่มี ความคิดยืดหยุ่น และ working memoryยังทำงานได้ไม่ดี ซึ่งนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของลูกค่ะ คุณพ่อคุณแม่ต้องค่อยๆ บอกและสอนเขา
ทำอย่างไรเมื่อถูกลูกขู่
1. ลูกไม่รัก ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ตอนได้ยินแม่อาจจะตกใจ แต่ไม่ควรแสดงออกว่าแม่รู้สึกหรือมีอารมณ์ แค่บอกลูกไปว่า "ไม่เป็นไร ถึงลูกจะไม่รักแม่ แต่แม่ก็รักลูกเสมอจ้ะ" แล้วลูกจะเรียนรู้ว่าคำขู่นี้เขาใช้ไม่ได้ผลเสียแล้ว
2. อธิบายความรู้สึกให้ลูกเข้าใจแม่รู้ว่าหนูโกรธแม่ หนูจะไม่รักแม่ก็ไม่เป็นไร แม่ก็ยังรักหนูเหมือนเดิมค่ะ
3. อย่าโกรธลูกตอบ เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะดึงดันให้ลูกขอโทษหรือบอกรัก อย่างไรลูกก็รักเราค่ะ แต่อาจจะเปลี่ยนคำตำหนิเป็นชวนลูกคุยอย่างอื่น เช่น ถ้ากำลังบอกให้ลูกเก็บของ แล้วเขาไม่ทำตาม พร้อมขู่ว่าจะไม่รัก พ่อแม่อาจบอกว่า "ลูกจะไม่รักพ่อแม่ก็ได้ แต่ต้องเก็บของก่อนจ้ะ"
4. กอด หอมลูกทุกวัน ไม่ทำให้ความรักคลาย บ่อยครั้งที่ลูกอาจไม่ชอบพ่อแม่ตัวเองเพราะชอบบังคับให้ตื่นแต่เช้า ชอบให้ลูกกินผัก ชอบบังคับให้ลูกอาบน้ำ ฯลฯ แต่ลูกก็แค่ไม่ชอบ ไม่ถึงกับเกลียด
เพราะการเลี้ยงลูกให้ได้ดี นอกจากความรักความเอาใจใส่ ลูกยังต้องฝึกวินัย ความอดทน ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นความคิดฯลฯ ซึ่งลูกจะเรียนรู้ทุกอย่างจากพ่อแม่นั่นเอง ดังนั้นไม่ว่าลูกจะบอกไม่รักเรากี่ครั้งแล้วก็ตาม อย่างไรเสียความรักของพ่อแม่ก็ไม่เปลี่ยนค่ะ

แม้จะเป็นเด็กทารก แต่ขวบปีแรกก็เริ่มมีพัฒนาการด้านความคิดและความจำแล้วค่ะ ซึ่งพ่อแม่สังเกตได้จากพฤติกรรม การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น ฯลฯ
งานวิจัยและหลักฐานทางการแพทย์ ที่บ่งบอกถึงความสามารถของทารก ในการจำใบหน้าของแม่หรือบุคคลที่ใกล้ชิดผูกพันเลี้ยงดูอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอได้ รวมทั้งเสียง กลิ่นและรสของน้ำนมแม่ งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าทารกจะนิ่งสงบและหลับง่ายขึ้น หากได้ยินเสียงที่คุ้นเคยตั้งแต่ตอนอยู่ในท้องของแม่ ไม่ว่าจะเป็นเสียงนิทานที่เปิดซ้ำๆ หรือเสียงเพลง เสียงดนตรีที่คุ้นเคย
สิ่งที่เด็กทารกจะแสดงออกในช่วงขวบปีแรกนั้น แม้จะยังไม่ใช่คำพูดที่มีความหมาย แต่พ่อแม่ก็สังเกตได้ ทั้งจากอากัปกิริยา ท่าทาง การขยับตัว การโผเข้าหา การขยับตัวออก แววตา สีหน้าที่แสดงอารมณ์ของความพอใจหรือไม่พอใจ รวมทั้งเสียงอือๆ อาๆ ในลำคอของเขาด้วย
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแนวทางของพัฒนาการด้านการสื่อสาร ที่เป็นการแสดงออกทางอารมณ์และภาษาพูดของเด็กทารก และจะพัฒนามากขึ้นในขวบปีต่อๆ ไป
ตอบสนองดี ความจำลูกก็ดี
พ่อแม่ต้องคอยกระตุ้นหรือช่วยให้ลูกตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทสัมผัสทั้งห้า ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ควรให้ลูกสัมผัสกับพ่อแม่และคนในครอบครัวให้มากที่สุด
นอกจากนี้การใช้เสียงต่างๆ ประกอบการเลี้ยงดู ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การตื่น การนอน ความหิว ความร้อน ความเย็น คุยกับลูกถึงอาการหรือความรู้สึกต่างๆ ก็ช่วยสร้างความจำที่ดีได้
การตอบสนองลูกหรือการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ต้องเป็นการเรียนรู้ทั้งสองฝ่าย คือทั้งตัวลูกและพ่อแม่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป การสื่อสารระหว่างพ่อ แม่ ลูก จะชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะการกระตุ้นสัมผัสต่างๆ ของลูกเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “ทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” (Executive Functions : EF) ด้าน Working memory หรือความจำที่นำมาใช้งานโดยต้องฝึกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดทักษะ ซึ่งเด็กๆ จะสามารถนำข้อมูลหรือความจำเหล่านั้นมาใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือคาดการณ์ต่อไปในอนาคต
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF" ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG 
งานบ้านอาจเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่กำหนดให้ลูกได้ฝึกความรับผิดชอบ รู้จักช่วยเหลือตนเอง รู้หน้าที่ และฝึกลูกให้มีจิตอาสา ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อกับแม่แล้ว อีกคุณประโยชน์หนึ่งของงานบ้านคือสอนให้ลูกเป็นเด็กใจเย็น มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ หรือจะกล่าวง่ายๆ ว่า งานบ้านที่ลูกทำเป็นกิจวัตรประจำวันนั้นช่วยสอน EF ให้เขาได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว
งานบ้านช่วยให้ลูกเป็นเด็กใจเย็น
งานบ้านหลายๆ งานฝึกลูกให้จดจ่อใส่ใจ เช่น การกวาดบ้าน ถูบ้าน พับผ้า ล้างถ้วย ล้างรถ รดน้ำต้นไม้ ฯลฯ เพราะทุกงานลูกจะต้องมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ ลูกจะทำส่งๆ ให้เสร็จไม่ เพราะไม่เช่นนั้น พื้นบ้านที่ลูกกวาดถูก็จะไม่สะอาด ถ้วยที่ล้างอาจลื่นหลุดออกจากมือ เป็นต้น
นอกจากนี้งานบ้านยังฝึกให้ลูกรู้จักอดทนรอคอย เช่น การปลูกผักปลูกต้นไม้ รดน้ำพรวนดิน ลูกจะรอคอยว่าต้นไม้จะเติบโตออกดอกผลเมื่อไหร่ หรือแม้แต่กรตากผ้า ลูกจะรอคอยว่าผ้าจะแห้งเมื่อไหร่ ต้องเก็บเมื่อไหร่
เพราะทุกภารกิจที่ลูกได้รับมอบหมายคือความตั้งใจของเขา เด็กได้ลงมือตามที่คิดไว้ ได้ฝึกความอดทน เกิดความเพียรพยายาม ในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมาย
ที่สำคัญได้ฝึกการควบคุมอารมณ์ และอดทนต่อภาระหน้าที่ และสุดท้ายก็เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ที่ได้ทำงานบ้านเสร็จ ได้แบ่งเบาภาระหน้าที่ให้กับพ่อแม่ ที่สำคัญ อย่าลืมชมลูกด้วยค่ะ เพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจและมีพลังบวกในการทำสิ่งที่ดี
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF"
ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG


เด็กติดเกมเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากนะคะ ล่าสุดองค์การอนามัยโลก ได้บรรจุอาการผิดปกติในการเล่นเกม หรือการติดเกม เป็นโรคชนิดหนึ่งแล้ว เพื่อให้ผู้ปกครองตระหนักถึงปัญหา หากลูกเป็นโรคติดเกมขึ้นมาอย่าเอาแต่โทษลูกอย่างเดียว ให้ตั้งคำถามกับตัวเองก่อน ว่าลูกยังเล็กอยู่ใครยื่นเทคโนโลยีให้ลูก ใครยื่นสมาร์ทโฟนให้ลูก ใครกันไม่ควบคุมลูก และอีกหลายคำถามที่พ่อแม่ต้องถามตัวเองก่อน เพื่อที่จะได้แก้ไขให้ถูกจุด
- พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติ
พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติตัวเองก่อน ว่าโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 9 ขวบ ให้คิดว่าสมาร์ทโฟน แทบเล็ต ก็เป็นอุปกรณ์ที่ยังไม่ปลอดภัย ยังไม่ควรให้ลูกใช้จนกว่าจะถึงวัยที่เหมาะสม
- อย่าให้มือถือเป็นพี่เลี้ยงลูก
การให้ลูกเล่นสมาร์ทโฟน ลูกจะอยู่เงียบๆ ไม่กวน การปล่อยให้มือถือเป็นพี่เลี้ยงลูกแบบนี้ คุณกำลังเป็นพ่อแม่ที่ทำร้ายลูกอยู่นะคะ และกำลังส่งเสริมให้ลูกติดมือถือแบบทางตรงเลย หากลูกเล็กๆ ติดเกม ติดมือถือ นั่นไม่ใช่ความผิดลูกเลย
- เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก
ไม่ให้ลูกเล่น แต่พ่อแม่จะเล่นเกมอย่างสนุกสนานต่อหน้าลูกไม่ได้นะคะ พ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกก็จะเป็นแบบนั้น การเป็นแบบอย่างที่ดี จะช่วยสร้างรากฐานระเบียบวินัยให้กับเด็กๆ ได้ด้วย อย่าเป็นสังคมก้มหน้าในครอบครัวเลยนะคะ
- หากิจกรรมทำกับลูกเสมอ
การสร้างรากฐานที่ดีให้กับลูกช่วงปฐมวัยสำคัญที่สุด การส่งเสริมให้ลูกทำกิจกรรมที่หลากหลาย และฝึกทักษะที่จำเป็น ต้องเริ่มจากพ่อแม่ ที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับลูก จะเป็นกิจกรรมในบ้าน หรือนอกบ้านที่มีความเคลื่อนไหวก็ได้ ลูกจะสนุกและมีความสุขกับพ่อแม่มากกว่ามือถือแน่
หากปล่อยให้ลูกเล่นมือถือไปแล้ว นี่คือวิธีสังเกตลูกว่าติดเกมหรือไม่
-
มีความต้องการที่จะเล่นมากขึ้น ชอบต่อรองการเล่น และเพิ่มเวลาในการเล่นมากขึ้น
-
ขอเล่นเกมที่ยากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น ขอใช้เครื่องที่มีความเร็วและแรงขึ้น
-
เด็กเริ่มตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่คุยกับพ่อแม่ ไม่เล่นกับเพื่อนฝูง ไม่เข้าสังคม หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เด็กในวัยนี้ควรทำเลย
-
เคยกินนอนเป็นเวลา ก็จะไม่ยอมกิน ห่วงเล่นเกม ไม่นอนก็ได้ กระสับกระส่าย อยากเล่นเกม
-
โกรธ เมื่อจำกัดเวลาในการเล่นหรือห้ามเล่น มีพฤติกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น ขว้างข้าวของ อารมณ์เปลี่ยนแปลง ภาวะจิตใจเปลี่ยน
เด็กเล็กติดเกมหรือมือถือ ต้องโทษพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างเดียวเลยค่ะ เพราะพ่อแม่เป็นคนหยิบยื่นให้ลูกเอง และเด็กติดเกมตั้งแต่เล็ก ๆ มีแนวโน้มจะติดเกมระดับรุนแรงเมื่อโตขึ้นด้วย สิ่งที่เด็กจะขาดคือ “โอกาส” และ “ทักษะ” ที่จำเป็นอีกหลายด้าน อย่าให้ลูกเล่นมือถือเลยนะคะ
ข้อมูลจาก : ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน