
ทักษะสมอง EF พัฒนาได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นค่ะ และจะพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นหากได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงที่หลากหลายอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยชี้ว่า EF เริ่มพัฒนาขึ้นในเวลาไม่นานหลังปฏิสนธิ กลไกของการพัฒนาทักษะ EF ด้านต่างๆ ในแต่ละช่วงวัย เช่น Working Memory จะพัฒนาตอนอายุ 6 เดือน ส่วน Inhibition พัฒนาช่วงขวบปีที่สอง และจะพัฒนาได้มากขึ้นในช่วง 3-6 ปี
คุณพ่อคุณแม่ควรเน้นฝึกทักษะเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงขวบปีแรก ผ่านการเล่น การเลี้ยงดู การจัดสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมต่างๆ จึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาส่งเสริมทักษะ EF ให้เจ้าตัวเล็กวัยขวบปีแรก
5 วิธีง่ายๆ สร้าง EF ที่ได้ผล ซึ่งทำได้ทุกวันที่บ้าน
1.กินดี จุดเริ่มต้นพัฒนาการสมอง
การพัฒนาสมองของทารกในวันแรกของชีวิตนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จึงต้องอาศัยสารอาหาร ร่วมไปกับการเรียนรู้ในการพัฒนาโครงสร้างและการทำงานของสมองให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งสารอาหารที่ครบถ้วนเหมาะสมตามช่วงวัย มีช่วยให้สมองและร่างกายของลูกได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นฐานสำคัญเพื่อต่อยอดการฝึกฝนทักษะ EF ให้มีศักยภาพมากขึ้น
กินแบบไหนสร้าง EF
ดื่มนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และหลังอายุ 7 เดือนสามารถกินนมแม่กับอาหารเสริมตามวัยจนถึง 2 ขวบ โดยเริ่มด้วยข้าวบดทีละน้อย จากนั้นค่อยเป็นอาหารหยาบและหลากหลายขึ้น เช่น ข้าวบดหยาบ ผักบดและผลไม้บด
กินอาหารที่ครบถ้วน 5 หมู่ เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการร่างกายและพัฒนาการสมอง ทั้งโปรตีน วิตามิน ดีเอชเอ โอเมาก้า ธาตุเหล็ก แคลเซียม ไอโอดิน และแร่ธาตุต่างๆ ที่ดี ซึ่งกระบวนการพัฒนาสมองและการพัฒนาทักษะ EF ที่ดีขึ้นอยู่กับโภชนาการที่เหมาะสมด้วยค่ะ
สัมผัสและสัมพันธ์ระหว่างกินนม ให้คุณแม่อุ้มลูกแนบชิดตัว สบตา พูดคุย เห่กล่อมด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน ลูกจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาทักษะ EF ที่ดีเมื่อโตขึ้น
ฝึกลูกรอคอยระหว่างกินเมื่อถึงวัยอาหารเสริมให้ลูกได้ลองกลืนอาหารจากช้อน คุณพ่อคุณแม่ร่วมกินอาหารกับลูก ฝึกให้ลูกรู้จักรอคอยบ้างระหว่างการกิน เพื่อฝึกการยับยั้งชั่งใจ
หยิบอาหารด้วยตัวเอง เมื่อเข้าสู่วัย 10-12 เดือน คุณพ่อคุณแม่ใช้โอกาสนี้ฝึกลูกให้หยิบอาหารใส่ปากเอง หรือให้ดื่มน้ำจากถ้วย นอกจากช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้รู้จักทักษะการช่วยเหลือตัวเองด้วยค่ะ
2.นอนเพียงพอ เพิ่มพลังสมอง
ช่วงที่ลูกนอนหลับสนิทตลอดคืน คือช่วงเวลาที่สมองจะพัฒนาเต็มที่ เมื่อสมองพร้อมลูกก็สามารถต่อยอดการเรียนรู้ในทุกๆ วันได้ดียิ่งขึ้น
นอนแบบไหนสร้าง EF
นอนเพียงพอตามวัย ช่วงวัย 0-3 เดือนลูกควรได้นอนอย่างเพียงพอ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน และตั้งแต่ 4 เดือน- 12 เดือน ควรเริ่มฝึกให้ลูกงดนมมื้อดึก เพื่อให้นอนตอนกลางคืนได้นานขึ้นรวมวันละ 12- 15 ชั่วโมง และนอนกลางวัน 2 ครั้งต่อวัน
จัดที่นอนของลูกให้เป็นสัดส่วน แต่ยังอยู่ในห้องเดียวกับคุณพ่อคุณแม่ได้ ห้องนอนควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก ป้องกันการเกิดภูมิแพ้จากอากาศและฝุ่นละออง ไม่เปิดไฟให้แสงไฟสว่างเกินไป เพราะการนอนหลับสนิมตลอดคืน เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสร้างฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (Growth Hormone)
แยกห้องนอนวัย10-12 เดือน หากคุณแม่จะแยกห้องนอนลูก ควรอยู่เป็นเพื่อนลูกในห้องนอนก่อน ชวนพูดคุย อยู่เพื่อสร้างความคุ้นเคย สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ให้ลูกค่อยๆ ปรับได้ในที่สุด
หลับลึก กระตุ้น EF การนอนกลางคืนเป็นช่วงที่สำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตทางสมอง เพราะร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองในการเรียนรู้ จดจำ เป็นรากฐานเพื่อพัฒนาและฝึกฝนทักษะ EF ต่อไป
3.กอดสร้างรักและผูกพัน
ความใกล้ชิดและอ้อมกอดของแม่คือความทรงจำแรกที่บันทึกไว้ในสมองของลูกค่ะ ทักษะ Working memory จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วัยทารก และจะพัฒนาเป็นความผูกพัน(attachment) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทักษะ EF
นอนแบบไหนสร้าง EF
อุ้ม-กอดสร้าง attachmentวัยนี้คุณแม่ควรหมั่นอุ้มกอด สัมผัสลูกอย่างอ่อนโยน หรือสบตาระหว่างให้นม เพราะสมองลูกจะรับรู้ข้อมูลที่คุ้นเคย จนเกิดการเรียนรู้อารมณ์ต่างๆ ผ่านความใกล้ชิดและการตอบสนองจากแม่ ซึ่งความผูกพันนี้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะ EF อย่างได้ผลในอนาคนต
ตอบสนองลูกไว ทำเสียงหรือทำหน้าตาให้ลูกสนใจ ตอบสนองต่อท่าทางที่แสดงถึงความต้องการของลูก จะช่วยให้เด็กมีฐาน ความมั่นคงในจิตใจ ในการจะก้าวต่อไป สู่การพัฒนา EF ในระดับสูงขึ้นไป
สังเกตพฤติกกรรมลูก คอยสังเกตพฤติกกรรมที่สัมพันธ์กับพัฒนาการของทักษะสมอง EF เช่น ลูกมีการหยุดคิดและตอบสนองหน้าตาหรือน้ำเสียงแม่ เริ่มมองดูผู้คนที่รู้จัก ไม่สนใจสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิ
4.เล่น = เรียนรู้
การเล่นคือการสร้าง EF ให้เด็กที่ได้ผลดี โดยผ่านกระบวนการเล่นแบบมีอุปกรณ์และไม่มีอุปกรณ์ โดยเฉพาะวัยขวบปีแรก ไม่ต้องพึ่งของเล่นราคาแสนแพง แค่ได้เล่นกับพ่อและแม่ ทักษะ EF ก็เกิดตั้งแต่เริ่มเล่นแล้วค่ะ
เล่นแบบไหนสร้าง EF
ใช้ใบหน้าเล่นกับลูก พูดคุยหยอกล้อและเล่นกับลูก ให้มองตามหน้าพ่อแม่ หรือเคลื่อนของเล่นสีสดใสไปมา กระตุ้นการใช้สายตา รู้จักแยกแยะสี สามารถจดจำใบหน้าและเสียงของพ่อแม่ได้
ให้ลูกได้เล่นคนเดียวบ้าง ให้ลูกพลิกตัวคว่ำ-หงาย ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย หรือใช้ของเล่นชิ้นใหญ่ ล่อให้ลูกขยับคว้า ให้ได้ใช้มือคว้า หยิบจับ และปล่อยของเล่น
ฝึกเล่นแก้ปัญหา ฝึกให้ลูกเล่นนิ้วมือ เช่น จับปูดำ แมงมุมลาย
ให้ลูกมีโอกาสเลือกเล่นเองจัดวางของเล่นให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้ลูกได้ฝึกหยิบและฝึกการเก็บของเล่นเอง
5.เล่าสนุก กระตุก EF
การเล่านิทานหรือร้องเพลงกับเด็กๆ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยพัฒนาอารมณ์ จิตใจให้ร่าเริง มีสมาธิ ซึ่งถือเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ดีในการพัฒนา EF ที่ได้ผล
เล่าแบบไหนสร้าง EF
ใช้เสียงสูงเสียงต่ำ วัย 0-3 เดือน ยิ้มสื่อสาร พูดคุย ท่องโคลง กลอน เล่าหรืออ่าน นิทานกับลูกโดย พูดคุยช้าๆ ชัดๆ ใช้เสียงสูงเสียงต่ำ มีจังหวะหยุดให้ลูก ยิ้มหรือส่งเสียงตอบ
ชวนเล่าชวนคุยถึงสิ่งรอบตัวเพื่อให้รู้จักคำศัพท์จากสิ่งรอบตัว และให้รู้จักคำศัพท์ที่แสดงความต้องการของตนเอง เพราะช่วง 4-12 เดือน เป็นช่วงที่สมองเด็กสามารถเรียนรู้ได้ หลายภาษา รวมถึงภาษาถิ่นด้วย
เล่านิทาน สร้าง EF การอ่านช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านภาษา ฝึกการได้ยิน ลูกจะได้รู้จักภาษาและจดจำคำศัพท์ใหม่ๆ ขณะที่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ให้ลูกนั่งบนตัก จับมือลูกชี้ไปตามรูปภาพ ฝึกความเชื่อมโยงรูปภาพกับวิธีเล่า รวมถึงน้ำเสียงและท่าทีมีส่วนทำให้ลูกมีสมาธิจดจ่อกับเสียงกับเรื่องราวในนิทานที่แม่กำลังเล่า
ร้องเพลง ร้องเพลงเป็นวิธีหนึ่งค่ะที่คล้ายการเล่านิทาน แต่จะสนุกและทำให้ลูกจดจำได้ง่ายขึ้น ด้วยจังหวะของทำนองเพลง เสียงสูงเสียงต่ำของแม่ ส่งเสริมเรื่องคำศัพท์จากคำคล้องจองในเนื้อเพลง ช่วยให้จดจำเพลงได้ง่าย
กระบวนการสร้าง EF จำเป็นต้องเตรียมพร้อมตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ ซึ่งในช่วงแรกบทบาทของพ่อแม่จึงสำคัญที่สุดที่จะดูแลให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ไว้วางใจ และมั่นคงทางจิตใจ รวมถึงได้รับโภชนาการที่ดี ได้นอนอย่างเพียงพอและได้เล่นสนุกตามวัย เมื่อพัฒนาทักษะ EF อย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นและสร้างประสบการณ์ที่ท้าทายมากขึ้น จากประสบการณ์ก็จะกลายเป็นนิสัย เป็นบุคลิก สามารถคิดเป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่รวมกับคนอื่นเป็น ตลอดจนสามารถนำพาชีวิตให้บรรลุตามเป้าหมายได้สำเร็จ

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตชาวต่างชาติเลี้ยงลูกไหมคะ ดูปล่อยลูกให้มีอิสระมาก ลุยมาก กล้าคิดกล้าทำ ออกจากบ้านทำงานหาเงินกันตั้งแต่อายุยังน้อย
วิธีเลี้ยงลูกแบบฝรั่งสำคัญตรงพวกเขารู้จักรับผิดชอบกันตั้งแต่เด็ก ๆ เลย เพราะแบบนี้ เราเลยจะนำสไตล์การเลี้ยงลูกแบบฝรั่งมาบอกกัน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นอีกมุมมองการเลี้ยงลูก อาจมีข้อที่นำไปปรับใช้กับลูกได้นะคะ
- พ่อแม่สนับสนุนสิ่งที่ลูกอยากทำ
เมื่อสังเหตเห็นว่าลูกชอบอะไร ก็ต้องสนับสนุนไปให้สุด เช่น ลูกชอบเล่นดนตรี พ่อแม่ก็ควรเชียร์ให้เต็มที่ ซื้อเครื่องดนตรีที่ลูกอยากได้ให้ลูกซ้อมเล่น มีกิจกรรมดนตรีก็พาลูกไปทำ หรือ ถ้าลูกชอบวาดรูป ก็ซื้ออุปกรณ์วาดรูปแบบครบเครื่องให้ลูกเลย เช่น ขาตั้งวาดรูป สี อุปกรณ์การเพ้นท์ เรียกว่าต้องสนับสนุนในด้านที่ลูกชอบและถนัดไปเลย
- คิดว่าการมีแฟนเป็นเรื่องปกติ
ตอนเด็ก ๆ เขาจะสอนให้ลูกชายเป็นสุภาพบุรุษ สอนให้ลูกสาวพึ่งพาตัวเองมาก ส่วนเรื่องการมีแฟนอาจจะขัดกับสังคมไทยเล็กน้อย แต่พ่อแม่ฝรั่งจะคิดว่า ถึงเราห้าม เด็กก็มีแฟนอยู่ดี สู้ให้ลูกมี แต่เรารู้ และอยู่ในสายตาเราดีกว่า ครอบครัวจะช่วยลูกเลือกแฟนด้วย

- ฝึกให้ลูกรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่
สิ่งที่พ่อแม่ฝรั่งคิดคือ พ่อกับแม่ไม่สามารถอยู่เพื่อปกป้องลูกตลอดไปได้ ลูกต้องโตขึ้นและช่วยเหลือตัวเองได้ ควรฝึกลูกด้วยการมอบหมายงานบ้านตามอายุให้ลูก ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ เช่น ลูกอายุ 9 ขวบ ต้องให้อาหารน้องหมา ลูก 6 ขวบ ต้องให้อาหารแมว ลูก 2 ขวบ ต้องเลือกเสื้อผ้าและรองเท้าไปโรงเรียนด้วยตัวเอง และทานข้าวเอง ไม่มีการป้อน พอโตที่จะทำงานได้ ลูกต้องทำงานพิเศษเพื่อหาค่าเทอมไปด้วย เรียนไปด้วยทุกคน
- ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
ครอบครัวฝรั่งต้องมีวันหยุดสุดสัปดาห์จะต้องมี Family Time คือการทำกิจกรรมเป็นครอบครัว ให้ทุกคนมาอยู่ร่วมกัน เช่น ตกปลา ย่างบาร์บีคิว และในทุก ๆ ปีจะมีช่วงเวลา “พ่อ-ลูกสาว” และ “แม่-ลูกชาย” คือไปเดทกัน 1 วัน มีโมเม้นต์กุ๊กกิ๊ก และสอนเรื่องการวางตัวกับเพศตรงข้ามให้ลูกด้วย
- พ่อและแม่มีเวลาอยู่ด้วยกันสองคน
เรียกว่าต้องเติมความหวานให้กันบ้าง พ่อกับแม่จะทำกิจกรรมร่วมกันหนึ่งอย่าง เช่น ไปเรียนเต้นรำ 1 คอร์ส ไปเรียนทำอาหารด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกันสองคน เพื่อทำให้ชีวิตคู่มีสีสัน และทำให้ลูก ๆ รู้สึกอุ่นใจ ว่าพ่อแม่ยังรักกันมาก ๆ
ต้องบอกว่าทุกข้อสามารถนำมาปรับใช้กับครอบครัวได้ตามความเหมาะสมเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็น สนับสนุนลูกอย่างเต็มที่ ให้ลูกรับผิดชอบตัวเอง ทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน ทำกิจกรรมพ่อแม่แบบสองต่อสอง และช่วยลูกคบหาเพื่อน การเลี้ยงลูกแบบฝรั่ง เรียกว่าน่าปรับใช้กับครอบครัวคนไทยมากนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอจริง เข้าใจวัยรุ่น Dr Jing

เชื่อว่าคุณแม่หลาย ๆ คนกำลังติดตามความน่ารักของน้องแฝดสายฟ้า-พายุ ลูกแฝดแสนซนของคุณแม่ชมพู่ อารยา และคุณพ่อ น็อต วิศรุต ทางอินสตาแกรมอยู่แน่ๆ เพราะนอกจากความน่ารักที่เป็นที่พูดถึงแล้ว การเลี้ยงดูลูกแฝดของแม่ชม ก็เรียกว่าเลี้ยงง่ายๆ ให้ติดดินอีกด้วย
น้องแฝดเสื้อผ้าก็ธรรมดา ของเล่นก็ของใช้ในบ้าน แม่ชมปล่อยให้ลูกเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติตามวัยมากๆ มาดูสไตล์การเลี้ยงลูกให้ติดดินแบบแม่ชมกันเลยค่ะ
5 วิธีเลี้ยงลูกให้ติดดิน แบบบ้าน ๆ ของ ชมพู่ อารยา ที่แม่ควรลองทำตาม
- เลี้ยงตามวัย ตามธรรมชาติ
จะเห็นเลยว่าแม่ชมเลี้ยงน้องแฝดให้อยู่กับดิน กับหญ้า ช่วงที่น้องแฝดกำลังหัดเดินต้องระวังมากขึ้น แต่แม่ชมก็ปล่อยให้น้องเดินเอง ล้มบ้าง ไม่ได้ตกใจหรือเข้าไปประคบประหงมลูกเลย จนน้องแฝดเดินได้ตั้งแต่ก่อนขวบ นี้คงเป็นเพราะการเลี้ยงลูกแบบปล่อยบ้าง ระวังบ้าง จึงทำให้น้องแฝดเดินได้เร็วขึ้น
- เล่นแบบลุยๆ บ้านๆ
หลายคลิปเรียกเสียงหัวเราะได้จริง ๆ ของเล่นหรูหราไม่ค่อยเห็นกับน้องแฝดเลยค่ะ จะเห็นก็แต่น้องแฝดเดินไปกินน้ำในก๊อกน้ำ แม่ชมก็ไม่ดุเลย น้องแฝดเล่นสายยาง แม่ชมก็เฝ้ามองด้วยความเอ็นดู เรียกว่าอะไรมีในบ้านก็เล่นไปเลย ไม่ต้องแพง
- ซื้อของเซลล์ให้ลูก ไม่ได้หรูหรา
ระดับคุณแม่ซุปตาร์ชมพู่ อารยา ไอคอนด้านแฟชั่นของไทย แต่ซื้อของเซลล์ เสื้อผ้าเซลล์ให้ลูกนะคะ แม่ชมเองก็ได้บอกกันไปแล้วว่า มักจะซื้อของใช้ราคาเซลล์ให้ลูกเพื่อเป็นการประหยัด เด็กค่อนข้างที่จะโตไว ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้าอยู่บ่อยๆ แม่ๆ คนอื่นที่กำลังคิดจะซื้อของแพงๆ ให้ลูกต้องคิดให้ดีแล้วล่ะค่ะ
- ซื้อเสื้อผ้าเผื่อโต
ดูไอจีแม่ชมแล้ว จะว่าน้องสายฟ้ากับน้องพายุใส่เสื้อยาวแทบจะถึงเข่า เรียกได้ว่าใส่กันได้ยาวๆ ไม่ต้องเสียเงินซื้อบ่อยๆ และถึงจะมีน้าๆ ป้าๆ ซื้อเสื้อผ้าแพงๆ ให้น้องสายฟ้าและน้องพายุ แต่ก็ยังเห็นทั้งคู่ใส่ชุดซ้ำอยู่บ่อยๆ เลยค่ะ แม่ชมจัดให้เอง ใส่สบายก็ใส่บ่อยๆ ไปเลย
- ฝึกกินผลไม้และของง่ายๆ
แม่ชมจะติดแฮชแท็ก #fruitoftheday ในไอจีตลอด ดูแล้วอดยิ้มตามไม่ได้เลย ที่น้องแฝดกินผัก ผลไม้ รวมไปถึงอาหารต่างๆ ในสไตล์ Baby Led Weaning หรือ BLW เน้นให้ลูกกินได้ด้วยตัวเอง ให้อิสระให้การเลือกกิน เมนูข้าวเหนียว ขนมไทย น้องแฝดก็กินอย่างเอร็ดอร่อยมาแล้วค่ะ
การเลี้ยงลูกในแต่ละบ้าน ไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะแม่รู้จักพัฒนาการของลูกดีที่สุด สำหรับใครที่ชอบการเลี้ยงลูกสไตล์นี้ของแม่ชม จะลองปรับใช้ให้เข้ากับลูกดูได้นะคะ

เลี้ยงลูกแบบ "พ่อแม่รังแกฉัน" ส่งผลเสียกับลูกอย่างแรงเลยนะคะ ทั้งในปัจจุบัน และอาจส่งผลต่อลูกตอนโตด้วย
6 พฤติกรรมพ่อแม่รังแกฉัน ส่งผลเสียต่อลูกไปจนโต
พ่อแม่ย่อมรักลูกและมีวิธีเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันไป แต่การเลี้ยงลูกในวันนี้จะส่งผลให้เขาเป็นคนที่เติบโตไปข้างหน้า เขาจะโตมาเป็นแบบใดขึ้นอยู่ที่การเลี้ยงดูเป็นส่วนใหญ่ ลองมาสำรวจตัวเองหน่อยค่ะว่าคุณกำลังเผลอเป็น "พ่อแม่รังแกฉัน" อยู่หรือเปล่า เพราะทั้ง 6 ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลร้ายแรงกับลูกมาก
6 พฤติกรรมของพ่อแม่รังแกฉัน
- รักลูกมากเกินไป ลูกของตนถูกทุกอย่าง ลูกของตนดีกว่าคนอื่นเสมอ ส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนเชื่อมั่นตนเองในทางที่ผิด ชอบดูถูกคน ชอบสร้างปัญหาแต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนสร้างปัญหา
- ตามใจลูกมากเกินไป พ่อแม่ยอมทุกอย่าง ไม่กล้าขัดใจลูกเลยสักนิด ผลคือลูกจะเอาแต่ใจ มักสร้างภาระให้สังคมเมื่อไม่ได้ดั่งใจ
- ไม่กล้าห้ามปรามสั่งสอน เมื่อลูกทำผิด พ่อแม่รู้อยู่แก่ใจว่าลูกทำในสิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่สอนลูก ปล่อยเรื่องไปเฉย ๆ ผลคือลูกสูญเสียสามัญสำนึก แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น และกลายเป็นนักเลงอันธพาล ระรานคนเขาไปทั่ว
- ไม่ยอมให้ลูกตัดสินใจด้วยตนเอง พ่อแม่มักที่คิดแทนลูก แม้จะรู้ว่าเขาอยากทำอะไรแต่มักจะให้ทำในสิ่งที่พ่อแม่อยากทำมากกว่า ผลคือลูกกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไร ส่งผลให้ไร้ภาวะผู้นำ
- ไม่รู้จักยกย่องชมเชยลูกเมื่อเขาประสบความสำเร็จ ไม่เคยชมเรื่องการเรียน หรือในการทำกิจกรรมใดๆก็ตาม ผลก็คือลูกกลายเป็นคนใจคอคับแคบ เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีความสำเร็จ ลูกอาจมีพฤติกรรม หรือความรู้สึกอิจฉาคนอื่นนะคะ
-
ให้เงินลูกเพียงอย่างเดียว เอาเงินเข้าแก้ปัญหาทุกอย่าง แม้แต่เรื่องเล็กน้อยก็มักใช้เงินแก้ปัญหา ผลคือลูกจะไม่รู้จักคุณค่าของเงิน ผลาญเงินเก่ง ใช้จ่ายเงินสูงแต่กลับมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง
การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ ให้ความรักเขาได้อย่างถูกต้อง ไม่รักลูกจนเกินไป จนไม่ให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองเลย แบบนี้ไม่ดีแน่ ๆ ค่ะ ขอเพียงพ่อแม่ทุกคนตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยความรัก ความเหมาะสมแล้วนั้น เราเชื่อว่า ชีวิตของลูกคุณจะดีแน่นอนค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกบ้านนะคะ

สมัยนี้คู่แต่งงานหลายคู่พอแต่งงานแล้วก็ตัดสินใจมีลูกแค่คนเดียว เพราะอยากทุ่มเททุกอย่างให้ลูกอย่างเต็มที่ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจ และต้องการอยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด
มาดูคำแนะนำสำหรับใครที่ต้องการเลี้ยงลูกคนเดียวให้ดีที่สุดกันค่ะ
6 เทคนิคเลี้ยงลูกให้ดี เมื่อตั้งใจมีลูกคนเดียว
1.ให้ลูกได้พบปะกับเด็กคนอื่น ๆ
เพราะไม่มีพี่น้องให้ได้เล่นด้วย จึงอาจทำให้เด็ก ๆ ขาดเพื่อนวัยเดียวกัน ดังนั้นในช่วงก่อนเข้าเรียน อาจจะต้องพาลูกไปรู้จักเรียนรู้เจอกับเด็ก ๆ ในวัยเดียวกันบ้างเพื่อให้ลูกได้ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ เช่น อาจจะพาไปเล่นที่สนามเด็กเล่น พาไปพบปะเพื่อน ๆ ที่มีลูกวัยเดียวกับเรา หรือไปรวมญาติในงานเทศกาลต่าง ๆ แล้วเมื่อพอโตเข้าโรงเรียนก็จะทำให้เขาปรับตัวได้ดีขึ้น และไม่ต้องห่วงค่ะ เพราะว่าเขาจะมีเพื่อน ๆ มากขึ้นเองตามวัย
2.สอนลูกให้รู้จักวางตัว
เด็กน้อยที่เป็นลูกคนเดียวของครอบครัวมีโอกาสที่จะกลายร่างเป็นจอมบงการสูง นั่นทำให้เขากลายเป็นเด็กที่พร้อมจะก้าวล่วงเข้ามาในเรื่องส่วนตัวของพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ หากนิสัยนี้ติดตัวไปในอนาคต อาจทำให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่าคบได้ พ่อแม่จำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งให้ลูกได้รู้ว่า จุดใดที่ลูกไม่ควรก้าวเข้าไปยุ่มย่ามในชีวิตของคนอื่น การที่เด็กได้เรียนรู้ถึงเส้นแบ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเข้าใจว่าชีวิตของคนอื่น ๆ ก็มีเขตที่เขาต้องให้ความเคารพด้วยเช่นกัน
3.สอนลูกให้รับผิดชอบ
ถึงแม้จะเป็นลูกคนเดียว แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรเอาใจจนลูกทำอะไรเองไม่ได้ เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมก็ควรสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ตัวเอง มอบหมายงานบ้านให้รับผิดชอบ เพื่อให้ลูกเรียนรู้การช่วย ความมีน้ำใจ และความรับผิดชอบ
4.ไม่จับผิดลูก
ในบ้านที่มีกัน 3 คนพ่อแม่ลูก หากพ่อแม่ร่วมมือร่วมใจกันจับผิดลูก เด็กน้อยคงรู้สึกหัวเดียวกระเทียมลีบ ในกรณีนี้พ่อแม่ต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับว่า ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้ และเป็นสิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ อย่าทำให้ลูกรู้สึกเหมือนพ่อแม่รวมหัวกันกลั่นแกล้งเขาเลย หากพ่อแม่ต้องการวางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ควรทำด้วยความรักและความเข้าใจในตัวลูก เพราะในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะไปทำลายความมั่นใจในตัวลูกของคุณในที่สุด
5.สอนลูกให้ประหยัด อย่าสปอยล์ลูก
การที่พ่อแม่ซื้อของเล่นให้บ่อย ๆ ตามที่ลูกเรียกร้อง อาจทำให้ลูกน้อยที่น่ารักของคุณกลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักพอ อยากได้ของเล่นใหม่ ๆ ตลอดเวลา จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องระวังไม่ให้ความรักความทุ่มเทของตนเองกลายเป็นการสปอยด์ลูกให้เสียคนในที่สุด
6.ฝึกลูกให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง
ในเมื่อลูกไม่มีพี่น้องไว้คอยช่วยเหลือในอนาคต เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องฝึกให้เขารู้จักรับผิดชอบ และช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อโตขึ้น ซึ่งทำได้โดยการให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาด พ่อแม่ไม่ต้องลงไปช่วยในทุกกรณี หรือจะลงไปช่วยก็ต่อเมื่อลูกขอความช่วยเหลือ

เพียงเริ่มจากตัวเอง ทำ 7 สิ่งนี้ ลูกก็จะค่อย ๆ กลายเป็นเด็กเก่ง น่ารัก และประพฤติตัวดีทั้งนิสัยและจิตใจได้แล้วค่ะ
7 นิสัยเลี้ยงลูก ที่พ่อแม่ควรเพิ่ม เพื่อให้ลูกเก่ง น่ารัก และเป็นคนดีได้
การจะเลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่ง น่ารัก ประพฤติตัวดีทั้งนิสัยและจิตใจ ไม่ง่ายเลยใช่ไหมคะ เพราะการเลี้ยงเด็กหนึ่งคนไม่มีสูตรสำเร็จในการสอน เด็กต่างก็มีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง ที่พ่อแม่ต้องเติบโตไปกับลูกในทุก ๆ วัน เพื่อที่จะสอนลูกได้ตามสถานการณ์
แต่รู้ไหมคะ ว่านิสัยของพ่อแม่บางอย่าง ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สอนลูกได้ดี หากยังไม่มีนิสัยเหล่านี้ แนะนำให้เพิ่มเลยค่ะ เพียงเริ่มจากตัวเอง ทำ 7 สิ่งนี้ ลองนำไปปรับปรุง ปรับใช้ให้เหมาะกับลูกได้นะคะ
- เพิ่มการสอนลูกให้มากขึ้น
อย่าขี้เกียจพูด แล้วทำทุกอย่างให้ลูก หรือ ตัดจบปัญหาไปแบบไว ๆ แล้วลูกไม่ได้เรียนรู้อะไร คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากลูกทำผิดพลาด ให้พูดคุยถึงปัญหา บอกวิธีแสดงออกที่ถูกต้องให้ลูกรู้ เพราะเป้าหมายของการอบรมเลี้ยงดูลูก คือการสอนให้ลูกรู้จักการปฏิบัติตัวดี และมีพฤติกรรมที่เหมาะสม ควรเลิกลงโทษลูกด้วยการตี หรือการดุด่า เพราะไม่ได้ช่วยทำให้ลูกได้เรียนรู้ หรือถ้าหากทำโทษแล้ว ต้องพูดคุย อธิบายว่าทำไมถึงทำโทษลูก ให้กอดลูก ให้ลูกรู้ว่าเรารักเสมอ
- เพิ่มการมองโลกในแง่บวก
การมองโลกในมุมบวก เปลี่ยนสถานการณ์ได้จริง ๆ เช่น การอดทนคอยบอกคอยสอนลูกบ่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่อย่ามองว่ามีแต่เหนื่อย แต่ให้มองว่าลูกจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง หรือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ลูกทำตัวไม่น่ารัก ให้คิดว่าลูกไม่ได้จงใจทำผิด ไม่ตัดสินลูก แต่ให้ถามไถ่สิ่งที่เกิดขึ้นว่าเพราะอะไร ทำไมเกิดเรื่องนี้ ให้ลูกได้อธิบายให้มากที่สุด และพ่อแม่ต้องรับฟังอย่างตั้งใจ เพื่อหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในมุมมองบวกที่เราคิดไว้

- เพิ่มเหตุผลให้มากขึ้น
ไม่ว่าเรื่องอะไรที่พ่อแม่ทำ ต้องมีเหตุผลเสมอ เช่น เมื่อลูกทำของหกเลอะเทอะ ต้องบอกให้ลูกเก็บเอง หากลูกไม่ทำให้บอกเขาว่าคนอื่นที่เดินมา หรือลูกเอง ก็อาจจะลื่นหกล้มเจ็บตัวได้ ทุก ๆ เรื่อง ควรบอกเหตุผลด้วยน้ำเสียง และท่าทีที่เรียบ แต่หนักแน่น การเพิ่มเหตุผลอย่างใจเย็น จะช่วยให้ลูกมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับมอบหมายได้มากขึ้น และควรทำอย่างสม่ำเสมอ
- เพิ่มความยืดหยุ่นในตัวเอง
กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในครอบครัว หรือสิ่งที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำให้ได้ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองปรับลดลงหน่อย เพื่อให้ลูกเข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น หรือลองพูดคุยกับลูกเรื่องกฎในบ้าน ว่ามีข้อไหนที่ลูกคิดว่าทำไม่ได้ หรือ กดดันจนไม่ชอบเลย เราควรปรับลดลงแค่ไหน ให้ถามความเห็นลูก เพราะการที่พ่อแม่มีความยืดหยุ่น จะทำให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ไม่ติดกรอบเกินไปด้วย
- เพิ่มการชมให้มากขึ้น
เวลาทุกทำผิดพลาด ก็สอนไปบ่นไป แต่พอลูกทำดีกลับไม่ชม เพราะกลัวลูกเหลิง แบบนี้ส่งผลไม่ดีต่อจิตใจลูกได้นะคะ ลูกทำตัวน่ารัก รู้จักแบ่งปัน หรือมีความพยายามทำบางเรื่องจนสำเร็จ อย่าลืมให้กำลังใจลูกนะคะ แม้เพียงคำชมเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการโอบกอด เพื่อให้ลูกรับรู้ว่า คุณพ่อคุณแม่รักลูกเสมอ แค่นี้ก็จะเป็นพลังที่จะช่วยให้ลูกมีกำลังใจที่จะทำดีต่อไปเรื่อย ๆ แล้วค่ะ
- เพิ่มการขอโทษ
คุณพ่อคุณแม่หลายคน เคยทำผิด หรือ ทำให้ลูกเสียใจโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่บางครั้งก็เลือกปล่อยผ่านไป และนิ่งเฉย เพราะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่ ทำไมต้องขอโทษลูก แต่ต่อจากนี้ควรเพิ่มการขอโทษลูกให้มากขึ้นเมื่อทำผิดนะคะ เพราะอยากสอนลูกให้รู้จักคำว่าขอโทษ ในเวลาที่ลูกทำผิด การทำเป็นตัวอย่าง จะเป็นการสอนเขาได้ดีที่สุดค่ะ
7. เพิ่มการเป็นตัวอย่างที่ดี
คุณพ่อคุณแม่ควรทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี ให้ลูกได้เห็นเสมอ ๆ เวลาที่คุณพูดกับผู้อื่น ก็ควรใช้คำพูดและกริยาท่าทางที่สุขุมเยือกเย็น ไม่แสดงอารมณ์โกรธ หรือก้าวร้าวกับผู้อื่นต่อหน้าลูก ควรมีคำพูดที่แสดงมารยาทที่ดี เช่น ขอโทษค่ะ ขอบคุณครับ และการแสดงน้ำใจกับคนอื่น ๆ ให้ลูกได้เห็นอยู่เสมอ ๆ
ทั้ง 7 ข้อนี้ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่อยากให้เพิ่มนะคะ แต่มีนิสัยดี ๆ อีกมากมายที่พ่อแม่สามารถทำเองได้ เพิ่มได้ ด้วยตัวเอง หากลองเปลี่ยนตัวเองให้ไปในทางที่ดีขึ้น เราจะได้เห็นพัฒนาการบางอย่างของลูกที่ดีขึ้นตามไปด้วย ลองปรับใช้ดูนะคะ
คำพูดต้องห้าม ที่ลูกไม่อยากได้ยินจากปากคนเป็นพ่อแม่
เด็ก ๆ ที่อยู่ในช่วงของวัยเรียนรู้ มักจะเป็นคนช่างสังเกตและจดจำรายละเอียด โดยเฉพาะคำพูดของผู้ใหญ่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังคำพูดเป็นอย่างยิ่ง ไปดูคำที่ไม่ควรพูดเหล่านี้กันค่ะ
8 คำพูดที่ไม่ควรพูดกับลูก คำพูดที่ปิดกั้นพัฒนาการเด็ก
- ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง คำพูดนี้ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ไม่ชอบกันทั้งนั้นใช่ไหมคะ ฟังแล้วรู้สึกเสียความมั่นใจ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะโมโหหรือโกรธสักแค่ไหน ก็ไม่ควรเผลอพูดคำนี้ออกมาเด็ดขาด เพราะนั้นจะทำให้เด็กไม่กล้าจะลองทำสิ่งใหม่ๆ พัฒนาการเด็กก็จะย้ำอยู่กับที่ และอาจจะไม่กล้าแสดงออกอีกต่อไป ดังนั้นควรใช้คำพูดในเชิงบวกเข้าไว้ ค่อย ๆ สอน ค่อย ๆ แนะนำและให้กำลังใจจะเป็นผลดีกว่านะคะ
- หุบปากแล้วอยู่เงียบ ๆ เด็กที่อยู่ในวัยที่กำลังหัดพูด มักจะชอบพูดไปตามประสาหรือพูดอยู่ตลอดเวลา หากเด็กพูดคำที่ไม่เหมาะสม คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพูดหรือสอนกับลูกดีๆ อย่าแสดงอาการแสดงรำคาญเวลาที่ลูกถามหรือสงสัย เพราะเด็กจะไม่กล้าถาม ไม่กล้าแสดงออก และรู้สึกเก็บกด และพัฒนาการเด็กจะช้าลง ไม่มีความสุขทั้งในการเรียนและเล่นกับเพื่อน ๆ
- ต้องมีความเป็นลูกผู้ชาย คำว่าต้องมีความเป็นลูกผู้ชายนั้น ไม่ควรพูดกับลูกนะคะ เพราะจะเป็นการปิดกั้นพัฒนาการเด็ก ลูกของคุณอาจจะสับสนว่า การเป็นลูกผู้ชายนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง เด็กอาจจะรู้สึกสับสนและลังเลในสิ่งที่จะทำ และไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือไม่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรแสดงความเป็นผู้นำให้ลูกได้เห็นเป็นตัวอย่างที่ถูกต้อง
- ทำแบบนี้เดี๋ยวไม่รักนะ เพราะว่าคำพูดเหล่านี้จะไปกระทบความรู้สึกเบื้องลึกในจิตใจลูก อย่าคิดว่าเป็นแค่คำพูดธรรมดาเอง ไม่มีอะไร ลูกคงรู้อยู่แล้วว่าพ่อแม่รัก แต่ในความเป็นจริง คำพูดเหล่านี้เป็นตัวบั่นทอนความรู้สึกของลูกมากที่สุด
- ทำไมน่ารำคาญอย่างนี้ คำพูดนี้ก็เช่นเดียวกันกับคำพูดว่าไม่รักแล้ว เพราะจะบั่นทอนความรู้สึกเชื่อมั่น อาจจะทำให้เขารู้สึกไม่แน่ใจว่าตกลงพ่อแม่ยังรักเขาหรือเปล่า ซึ่งความมั่นคงทางจิตใจของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ การรู้จักแบ่งปัน การรู้จักตัวเองและคนอื่น
- ทำไมไม่ได้เหมือนลูกคนอื่นๆ การเปรียบเทียบลูกกับพี่ๆน้องๆ หรือเด็กคนอื่นๆ จะทำให้เด็กสูญเสียความมั่นใจ ขาดความเชื่อมั่น ไม่ควรพูดจาเปรียบเทียบลูก ถึงแม้จะทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เด็กอาจจะเก็บไปคิดน้อยใจ ติดค้างอยู่ในใจได้
- อย่าทำแบบนี้เดี๋ยวตำรวจจับ การขู่ด้วยการหลอก เช่น หลอกผี หรือเอาตำรวจมาขู่ การขู่เป็นการใช้คำพูดเพื่อสื่อออกมาว่า เมื่อทำแบบนี้แล้วจะเกิดผลอะไรตามมาบ้าง ซึ่งภาษาที่พ่อแม่สื่อสารกับลูกเป็นสิ่งสำคัญในการลำดับความคิดของเด็ก การบอกเหตุและผลที่สอดคล้องกัน ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีกว่า และพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้ก็จะดีตามไปด้วย แต่การขู่ด้วยเรื่องไม่เป็นเหตุผลก็จะทำให้เด็กขาดการเรียนรู้แบบเป็นเหตุเป็นผล และเมื่อโตขึ้นก็อาจจะยิ่งไม่เชื่อฟัง เพราะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง
- ล้อเลียนเรื่องน่าอาย หรือ ปมด้อย การนำปมน้อยมาล้อเลียน หรือเรื่องน่าอายของลูกๆ มาเล่า มาล้อให้คนอื่นฟัง พ่อแม่อาจจะไม่ได้คิดอะไร แต่ทราบไหมคะว่า อาจทำให้เกิดความเจ็บปวด เสียใจ เป็นปมที่ฝังอยู่ในใจลูกไปตลอดได้ค่ะ
และยังมีอีกหลายคำพูดนะคะ ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนำมาพูดให้ลูกได้ยิน เพราะนอกจากจะไม่เกิดผลดีกับเด็กแล้ว อาจส่งผลกับพัฒนาการของลูกด้วยค่ะ
Working memory คือความจำที่นำมาใช้งาน หรือ ความสามารถในการเก็บประมวล และดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองออกมาใช้ตามสถานการณ์ที่ต้องการ เช่น การทำอาหาร การคิดเลขในใจ การเขียนหนังสือ อ่านหนังสือ ฯลฯ
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึก Working Memory ให้ลูกได้ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
1. ทำอาหารร่วมกัน
สอนให้ลูกรู้จักวัตถุดิบต่าง เนื้อสัตว์ ผักผลไม้ เครื่องปรุงต่างๆ พาลูกไปจ่ายตลาดเพื่อให้เห็นของที่หลากหลายและแยกเป็นหมวดหมู่ และรู้จักรอคอย เช่นรอจ่ายเงินหรือรอให้พ่อแม่ซื้อของให้เสร็จ จากนั้นคือขั้นตอนของการทำอาหาร ที่ลูกจะได้เห็นแต่ละขั้นตอน ทำอะไรก่อนหลัง และอดใจรอเมื่ออาหารเสร็จแล้ว
2. พาลูกไปเจอสัตว์เป็นๆ และอยู่กับธรรมชาติ
เด็กๆ มักจำสิ่งที่เป็นของจริงได้มากกว่าเห็นแค่รูปภาพหรือภาพในทีวี การให้เด็กได้สัมผัสประสบการณ์จริง จะทำให้เขาจำเรื่องเล็กน้อยๆ ลักษณะพิเศษของสิ่งๆ นั้นได้มากกว่า ทั้งจำได้ถึงประสบการณ์ร่วมของตัวเอง พ่อแม่ และสิ่งที่พบเจอได้ด้วย
3. เบี่ยงเบนความสนใจเวลาที่ลูกอารมณ์ไม่ดี
เช่น ขณะแม่ขับรถอยู่ และลูกนั่งในคาร์ซีท หากลูกอารมณ์ไม่ดีร้องไห้งอแงจะออกจากคาร์ซีท พ่อแม่อาจชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่างๆ รอบตัว ให้นับ 1 – 10 ให้นับเสาไฟ ให้นับนกที่บินผ่าน หรือแม้แต่บอกสีรถคันที่ขับผ่านมา จะช่วยให้ลูกเกิดความยับยั้งชั่งใจ ทั้งช่วยตอกย้ำความจำในเรื่องต่างๆ ได้ด้วย
4. ให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาด
เช่น พ่อแม่ห้ามลูกไม่ให้กระโดดลงจากม้านั่ง เตือนแล้วว่าถ้ากระโดดลงมาแล้วล้ม เจ็บแล้วจะไม่มีคนโอ๋ หากลูกยังดึงดัน พ่อแม่ก็ต้องทำตามที่พูด ลูกจะเรียนรู้ด้วยตัวเองถึงผลของการกระทำของตัวเอง แต่ต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ
5. ปล่อยให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
การขอร้องให้ลูกช่วยเรื่องต่างๆ หรือสร้างสถานการณ์ เพื่อสร้างโอกาสให้ลูกรู้จักและฝึกแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาของลูกในสถานการณ์ที่เหมือนกันนั้น อาจเหมือนหรือแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งได้
6. ให้ลูกฝึกคิดเลขได้มากกว่าการคิดเลข
การซื้อของไปแจกเพื่อนๆ ในห้อง อาจจะได้มากกว่าแค่ถามลูกว่าเพื่อนมีกี่คน ต้องซื้อของกี่ชิ้นจึงจะพอ เช่น ขนมมีซองละ 5 ชิ้น ในห้องรวมลูกแล้วมี 21 คน ลูกจะมี 2 ทางเลือก ว่าจะซื้อ 4 ซอง 20 ชิ้น หรือ 5 ซอง 25 ชิ้น ลูกอาจจะบอกว่าซื้อแค่ 4 ซองพอ เขาไม่กินก็ได้ เสียสละให้เพื่อน นอกจากจะได้เรื่องคณิตศาสตร์ ยังแสดงให้เห็นว่าลูกคิดอะไรอยู่อีกด้วย
7. ฝึกความจำด้วยกิจกรรม 3 อย่าง
ให้ลูกลองทำภารกิจ เช่น ให้ลูกไปเอาน้ำในตู้เย็น ขนมในถุง และกระดาษทิชชู่ แล้วคอยดูว่าลูกจะเอามาให้ได้ทั้งหมดหรือไม่ นอกจากลูกจะต้องจำภารกิจให้ครบหมดแล้ว ยังต้องรู้จักวางแผนให้การเดินไปเอาด้วยว่า จะหยิบอะไรก่อนหลัง หรือถือแค่สองมือไม่พอ ต้องเอามาวางก่อนแล้วกลับไปเอาอีกที เป็นต้น
8. สร้างเงื่อนไขสร้างนิสัยดี
เด็กวัยนี้หากอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ดั่งใจ มักมีอารมณ์หงุดหงิด โกรธ และโมโห พ่อแม่ควรสร้างเงื่อนไขที่แก้ไขอารมณ์ลูก และสร้างนิสัยดีไปพร้อมๆ กันได้ เช่น แม่กำลังล้างจานอยู่ แต่ลูกจะให้แม่หยิบขนมให้ แม่ยังหยิบไม่ได้ เลยบอกลูกว่าให้ลูกรอแม่ล้างจานเสร็จก่อน และต้องพูดเพราะๆ กับแม่ด้วย ถ้าลูกยังดื้อไม่ทำตาม แม่ก็ล้างจานต่อไป เมื่อไหร่ที่ลูกยอมทำตามเงื่อนไขของแม่แล้ว ลูกก็จะได้เรียนรู้จักหักห้ามใจตัวเอง และทำตามเงื่อนไขที่วางไว้ด้วย


หลายๆ คนสงสัยกันว่าทำไมนาย ณภัทร เสียงสมบุญ ถึงนิสัยดี โตขึ้นมาเป็นเด็กน่ารัก แถมยังกลายเป็นหนุ่มในฝัน ของสาวๆ กว่าค่อนประเทศอีกด้วย เราเลยมีเคล็ดลับการเลี้ยงลูกของซิงเกิ้ลมัมคนเก่งแม่หมู พิมพ์ผกา เสียงสมบุญ กับวิธีการเลี้ยงลูกชายให้เป็นสุภาพบุรุษมาฝากกันค่ะ
- เริ่มจากความคิด ถ้าเราคิดว่าลูกขาดความรัก ลูกจะเป็นอย่างที่เราคิด แต่ถ้าเราคิดว่าลูกเป็นคนดี เป็นสุภาพบุรุษ เขาก็จะโตมาเป็นผู้ชายเพอร์เฟ็กต์อย่างที่เราต้องการ
-
ให้เวลากับลูก ต้องคุยกัน ต้องกอดกัน คุยกันได้ทุกเรื่อง ไม่วางท่าว่าเป็นแม่เขา แต่เราเป็นเหมือนเพื่อนกัน
-
ไม่เป็นแม่ที่จู้จี้จุกจิก
-
ไม่พูดถึงพ่อในแง่ไม่ดี
-
เปลี่ยนนิสัยตัวเอง พยายามเล่าให้ลูกฟังทุกครั้งว่าวันนี้แม่ทำอะไรมาบ้าง เพราะหวังว่าวันหนึ่งเขาจะเล่าเรื่องของเขาให้ฟังเหมือนกัน
-
สอนลูกด้วยธรรมะ แต่ไม่บังคับลูกให้สวดมนต์หรือปฏิบัติธรรม เพราะถ้าบังคับเขาจะเกลียด แต่พอเราทำให้เขาดูเป็นตัวอย่างไปเรื่อยๆ เขาก็อยากทำตามเราไปเอง
-
สอนเรื่องศีล 5 หมั่นถามลูกเรื่องการใช้ชีวิตว่าผิดศีลหรือไม่
-
สอนแผนที่ชีวิต กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
- ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง บนโลกนี้ไม่มีอะไรอยู่กับเราตลอดไป
- ความทุกข์ เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเจออยู่แล้ว ทุกปัญหามีเอาไว้ให้แก้ไข
- การไม่มีตัวตน ทุกๆ อย่าง สุดท้ายวันหนึ่งก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี
ทั้งหมดที่แม่หมูสอนและทำให้ลูกชายดูมาตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ลองทำและสอนลูกได้นะคะ ทุกวันนี้น้องนาย ณภัทร ก็เป็นสุภาพบุรุษ จิตใจดีตามที่แม่หมูต้องการแล้วค่ะ แถมยังเป็นขวัญใจแฟนๆ ทั่วประเทศอีกด้วย
ข้อมูลจาก : goodlifeupdate ภาพ : IG naphat_nine
ทักษะการยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง(Inhibitory Control) คือความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจจะเหมือน "รถที่ขาดเบรก" อาจทำสิ่งใดโดยไม่คิด มีปฏิกิริยาในทางที่ก่อให้เกิดปัญหาได้
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกให้รู้จักยับยั้งชั่งใจได้ง่ายๆ ผ่านกิจวัตรประจำวันดังนี้
1. สอนลูกเข้าคิว และรู้จักอดทนรอคอย การเข้าคิวเป็นพื้นฐานของระเบียบวินัย แถมยังฝึกให้ลูกรู้จักลำดับก่อนหลัง รู้จักสิทธิ์ของตนเองและเคารพในสิทธิ์ของผู้อื่น การเข้าคิวรอไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ ซื้อของ จ่ายเงิน รอรับของ รอเข้าสวนสนุก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนฝึกความอดทนรอคอย ให้แก่ลูก
2. สอนลูกให้เคารพกฎกติกาลูกอาจจะยังเล็กเกินที่จะเรียนรู้กฎหมายบ้านเมือง แต่เรื่องใกล้ตัวเช่น กฎระเบียบในบ้าน กฎที่โรงเรียน หรือแม้แต่ข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ลูกจะละเมิดหรือเพิกเฉยไม่ได้ เช่น ถ้าลูกไม่ยอมกินข้าวตามเวลา หลังอาหารมื้อนั้นเสร็จแล้วพ่อแม่ต้องเก็บทุกอย่างไว้ และให้ลูกรอจนกว่าจะถึงเวลาอาหารมื้อต่อไป หรือถ้าไปเดินห้างสรรพสินค้า พ่อแม่ตกลงกับลูกว่าสามารถซื้อของเล่นได้เพียง 1 ชิ้น พ่อแม่ก็ต้องยืนยันกับลูกว่า 1 ชิ้นเท่านั้น ถ้าลูกร้องจะเอาเพิ่ม จะพากลับบ้านทันที ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกรู้จักระงับความรู้สึกของตนเอง
3. ให้ลูกช่วยทำงานบ้านการทำงานบ้านนอกจากจะฝึกความรับผิดชอบของเด็กแล้ว ยังช่วยฝึกความอดทน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการยับยั้งชั่งใจด้วย
4. ควบคุมการใช้โซเชียล โดยเฉพาะคลิปวิดีโอในชาแนลต่างๆ ที่อาจแฝงเรื่องความรุนแรง คำหยาบคาย หรือพฤติกรรมของผู้ใหญ่บางคนที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเด็กยังไม่มีวิจารณญาณ เพราะฉะนั้นการปล่อยให้ลูกใช้โซเชียลมีเดียตามลำพังอาจเกิดผลเสียได้ ซึ่งวิธีควบคุมการใช้สื่อโดยเฉพาะ YouTube เดี๋ยวนี้มี YouTube Kids แล้วค่ะ ช่วยให้การดูวิดีโอของเด็กปลอดภัยมากยิ่งขึ้น (ทำความรู้จัก YouTube Kids)
5. ปลูกฝังลูกเป็นผู้ให้ ผู้ให้ย่อมเป็นผู้ที่ถูกรัก การให้เป็นการส่งความสุข ซึ่งลูกไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของหรือเงินทอง เพียงแค่มีความรู้สึกปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังละความสามารถของตน
6. รู้จักคุณค่าในสิ่งต่างๆ เพราะทุกอย่างย่อมมีคุณค่าในตัวเอง ทั้งของเล่นของใช้พ่อแม่ไม่ควรซื้อให้ลูกมากจนพอดี เพราะอาจทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มี ในวันหยุดอาจจะชวนลูกรดน้ำต้นไม้รอบบ้าน แล้วอธิบายความสำคัญของต้นไม้ให้ลูกฟัง เช่น “ต้นไม้ต้นนี้ช่วยกันแดด ให้ร่มเงาทำให้หนูไม่ร้อน หนูต้องช่วยพ่อแม่ดูแลต้นไม้นะ” เป็นต้น
7. พูดขอบคุณและขอโทษบ่อยๆ การขอบคุณเมื่อมีผู้อื่นหยิบยื่นไมตรีให้เราเป็นเรื่องที่พึงกระทำ และการขอโทษกับสิ่งที่ผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย พ่อแม่ควรพูดขอบคุณลูกที่ช่วยทำงานบ้าน และควรกล่าวขอโทษเมื่อทำผิดต่อลูก เป็นต้น
8. นั่งสมาธิฝึกสติ การนั่งสมาธินอกจากจะฝึกจิตใจให้สงบแล้ว สมาธิยังช่วยควบคุมความคิดและอารมณ์ของเด็กๆ ได้อีกด้วย
การจะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีมี EF โดยหลักแล้วพื้นฐานจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่มักจะส่งผลต่อลูกโดยตรง เพราะฉะนั้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรให้ลูกตั้งแต่เด็กๆ และตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม จะทำให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่มองโลกในแง่ดี มีการยับยั้งชั่งใจ รู้จักคิดไตร่ตรอง (Inhibit Control) และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ค่ะ
ใกล้วันแม่แล้วค่ะ การแสดงความรักของแต่ละครอบครัวก็มีความแตกต่างกันไป หลาย ๆ ครอบครัวโอบกอดสัมผัสกันเป็นปกติ หลายครอบครัวนิ่ง ๆ ไม่พูดแต่ใช้ความรู้สึกสื่อถึงกัน แต่สำหรับเด็กแล้ว การได้รับการแสดงออกถึงความรักความเข้าใจจากแม่เป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความแนบแน่น และความมั่นคง ความเชื่อมั่นให้กับเด็ก ๆ ดังนั้นพูดกันออกมาเถอะค่ะ คำพูดดี ๆ ที่ลูกเขาอยากได้ยิน ลองมาดูกันว่ามีคำพูดอะไรกันบ้าง
9 คำพูดดี ๆ ที่ลูกอยากได้ยินจากแม่
1.แม่ “รัก” ลูกมากนะ
แน่นอนว่าลูกคือดวงใจของพ่อแม่ แต่การที่ละเลยคำพูดง่าย ๆ และมีค่าขนาดนี้มันก็เป็นสิ่งผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่พอควร เพราะคนหลายคนไม่มีโอกาสที่จะบอกรักลูกในวินาทีสุดท้ายเลยด้วยซ้ำ ในทางกลับกันไม่ว่าจะเป็นลูก หรือ พ่อแม่ รวมไปถึงคนทุกคน ก็ควรให้ความสำคัญกับความรักและคำพูดไปพร้อมๆ กัน ก่อนที่พ่อแม่จะไม่มีลูกให้บอกรัก หรือลูกบอกรักในวันที่สายเกินไป
ทั้งนี้ อย่ามัวแต่แสดงความรัก และเชื่อว่าลูกรู้อยู่แล้วว่าพ่อแม่รักลูกมากแค่ไหน เพราะบางเวลาคำพูดก็สำคัญไม่แพ้การกระทำเช่นกัน ดังนั้นบอกรักลูกบ้าง เขาจะได้รู้ว่าจริงๆแล้ว พ่อแม่รักลูกมากแค่ไหน
2.แม่ “ภูมิใจ” ในตัวลูก
มันอาจมีบางอย่างที่ลูกทำให้พ่อแม่รู้สึกภูมิใจมากป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเป็นสุภาพบุรษ มีน้ำใจ หรือแสดงความสามารถพิเศษให้เห็นอยู่เสมอ พ่อแม่ทุกคนควรลองนึกดูดี ๆ ว่า จุดเด่นของลูกคืออะไร แล้วสิ่งใดที่ทำให้พ่อแม่ภูมิใจในตัวเขา ก็ใช้ช่วงเวลาดี ๆ บอกให้ลูกได้รับรู้บ้างว่า “แม่ภูมิใจในตัวลูกมากน้อยแค่ไหน” เพราะคำพูดเพียงไม่กี่คำนี้มันจะเปลี่ยนเป็นพลังและกำลังใจให้ลูกได้อย่างมหัศจรรย์ทีเดียว
3.แม่ “สนับสนุน” ลูกเสมอ
แม่ทุกคนควรตระหนักอยู่เสมอว่า “ลูกไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ลูก” เพราะฉะนั้นอย่าเอาลูกไปเปรียบเทียบกับตัวเองสมัยเด็ก ๆ บางอย่างที่แม่ชอบ ลูกอาจไม่ชอบ มุมมองที่ต่างกัน ถ้าไม่เข้าใจกันก็ทำให้มีปัญหากันได้ และถ้าหากเด็กบางคนถูกบังคับมาก ๆ ก็จะรู้สึกว่าเขาไม่มีความเป็นส่วนตัว ไร้อิสระ ท้อแท้ และไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ขณะที่บางคนโตมาในครอบครัวนักกฎหมาย แต่ต้องการเป็นนักเขียน หรือบางคนมีความต้องการใช้ชีวิตอย่างที่อยากเป็น
ไม่ว่าเขาจะเลือกเป็นอย่างไร หากสิ่งที่เขาตัดสินใจนั้นเป็นสิ่งที่ดี พ่อแม่ก็ควรสนับสนุนพวกเขา เพียงแค่บอกว่า "พ่อกับแม่ยังคงเข้าใจและสนับสนุนลูกทุกเมื่อ ถ้าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ดีและลูกต้องการ"
4.แม่ “เชื่อมั่น” ในตัวลูกเสมอ
ช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยเฉพาะเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างอาจเข้ามาจนพ่อแม่ตั้งตัวไม่ติด ลูกอาจสูญเสียความมั่นใจในการตัดสินใจหรือลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หากใครเคยเจอปัญหาลูกอยู่ในช่วงสับสนแบบนี้
ลองถามตัวเองดูว่า เคยสละเวลาบอกลูกบ้างหรือไม่ว่า “พ่อกับแม่เชื่อมั่นในตัวลูกมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ่อและแม่ก็จะอยู่ข้างลูกเสมอ”
5.แม่ “ขอโทษ”
บางครั้งการขอโทษมันอาจจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่จะพูด แล้วยิ่งคนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับความเป็นพ่อและแม่ค่อนข้างสูง ดังนั้น หากพ่อแม่ทำผิดก็จะคิดกันแต่เพียงว่า พ่อแม่ไม่ควรที่จะขอโทษลูก ยิ่งคนเป็นพ่อด้วยแล้ว อาจจะยากขึ้นไปอีกที่จะกล่าวคำว่า “ขอโทษ” กับลูก
อย่างไรก็ดี คำขอโทษจากพ่อแม่นั้น ลูก ๆ เองก็ควรมีเหตุผลและรู้จักบาปบุญคุณโทษด้วย เพราะลูกไม่มีสิทธิ์ที่จะขึ้นเสียงหรืออกคำสั่งกับพ่อแม่ไม่ว่าจะประการใดก็ตาม
ทั้งนี้ การที่พ่อแม่กล่าวคำขอโทษกับลูกเมื่อทำผิดพลาดนั้นไม่ได้หมายความว่า ลูกจะดูถูกความเป็นพ่อเป็นแม่ ในทางกลับกันการที่พ่อแม่ยอมรับและกล้าขอโทษนั้น มันยังทำให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะเคารพตัวเองเพราะกล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ทำลงไป อีกทั้งยังเคารพความรู้สึกของผู้อื่นด้วย

6.ลูกเป็น “เด็กดี” ของแม่
แม่ทุกคนควรทำความเข้าใจธรรมชาติของเด็กก่อนว่า เด็กทุกคนอยากได้รับคำชมเชยและได้ยินคำยืนยันจากพ่อแม่อีกสักครั้งว่า เขาเป็นลูกที่ดีพอหรือไม่ ดังนั้นหากลูกเป็นเด็กดี มีน้ำใจ น่ารักกับทุกคน แม่ก็ควรชมเชยลูกบ้างว่า "ลูกเป็นเด็กดีของพ่อและแม่มากเพราะการที่เขาได้ยินคำพูดเหล่านี้ มันจะทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย
7.แม่ “ยอมรับ” ในสิ่งที่ลูกเป็น
เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นมากเท่าไหร่ เขายิ่งต้องการการยอมรับจากแม่มากขึ้นเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วลูกมักจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อแม่ยอมรับในตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดสินใจในความรักวัยเด็ก หรือการกระทำต่างๆ ที่ลูกอาจมีพฤติกรรมเบี่ยงเบน แม้พ่อแม่จะอยู่คอยดูอยู่ห่างๆ
และการที่ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น และเลือกแล้วนั้น แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่ไม่ได้ละเลยแต่อย่างใด อีกทั้งยังคงรักและเข้าใจอยู่เสมอด้วย เพียงแค่พ่อแม่บอกกับลูกว่า “พ่อแม่เข้าใจและยอมรับลูกเสมอ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไรก็ตาม”
8.แม่ “ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น”...นะลูก
บางครั้งพ่อแม่อาจจะพูดอะไรบางอย่างที่ลูกฟังแล้วรู้สึกเสียใจกับคำพูดเหล่านั้น ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้ว พ่อแม่อาจพูดไปโดยที่ไม่ได้คิดว่าลูกจะเสียใจกับสิ่งที่พูดออกไป
ดังนั้น หากพ่อแม่ทราบว่าลูกเสียใจกับสิ่งที่ๆได้พูดออกไป ก็ควรอธิบายให้เขาเข้าใจว่า หมายความว่าอย่างไรกันแน่ อย่าให้ลูกเข้าใจผิดๆ แต่ทางที่ดีก็ควรพูดจาให้ชัดเจนตั้งแต่แรกจะดีกว่า
9.ลูกคือ “คนสำคัญ” ของแม่นะ
จริง ๆ แล้ว ข้อนี้อาจเป็นคำที่สำคัญอันดับแรก ๆ เสียด้วยซ้ำ เมื่อในความเป็นจริงแล้ว ลูก คือคนสำคัญและคนพิเศษสำหรับแม่ แต่จะมีสักกี่ครั้งที่แม่ได้บอกให้ลูกรับรู้จากปากของแม่เองบ้าง เชื่อเถอะว่าหากได้พูดให้ลูกรู้ สิ่งที่จะได้กลับมานั้นมันย่อมมีค่ามหาศาลมากกว่าเป็นไหนๆ เพราะนั่นคือสายใยความรักระหว่างแม่ และลูก
ทั้งนี้ แม่ทุกคนควรกอดลูกบ้างโดยเฉพาะเมื่อลูกเริ่มโตขึ้น อย่าให้วัยที่เปลี่ยนไปมาทำให้ระยะห่างแม่ ลูกห่างกันจนรู้สึกว่าการกอดนั้นเป็นเรื่องแปลก ดังนั้นการกอดลูกแน่น ๆ และบอกว่าเขาสำคัญมากแค่ไหน แม้จะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่มันจะเป็นความทรงจำที่คนเป็นแม่ และลูกจะไม่มีวันลืมได้เลย
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นประโยคธรรมดา จนหลายคนมองข้ามมันไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ได้เลย แม้การกระทำจะสำคัญมาก เพียงใด แต่คำพูดก็ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่า อย่าลืมว่าในขณะที่พ่อแม่ต้องการได้ยินลูกบอกรัก เขาก็อยากได้ยินจากคุณเช่นกัน
ความคิดของคนเรามาจากสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมความคิด ที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของอารมณ์เชิงบวกและลบ โดยความคิดของเราจะเป็นแบบไหนนั้นไม่ได้มาจากพันธุกรรม เพราะคนเราไม่ได้คิดเป็นตั้งแต่เกิด แต่ต้องมีพัฒนาการด้านต่างๆ ก่อน แล้วจึงเกิดเป็นความคิดตามมาในภายหลัง
ความคิดเชิงบวก หรือ Positive Thinking มีความสำคัญกับชีวิตเพราะเด็กจะคิดเชิงบวกได้ต้องเอาชนะกับอารมณ์และความคิดเชิงลบที่ตนเองมีอยู่ให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องปลูกฝัง เพราะถ้าเด็กๆ มีความคิดเชิงบวก ก็จะทำให้อารมณ์และพฤติกรรมเป็นไปในทางบวกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อตนเอง คนรอบข้าง ครอบครัวและสังคมจากการลงมือปฏิบัติตามความคิดนั้นค่ะ
พ่อแม่สามารถปลูกฝังลูกให้มีความคิดเชิงบวกได้ดังนี้
1. สร้างครอบครัวให้อบอุ่นเมื่อพ่อแม่ให้เวลากับลูกอย่างเต็มที่ พร้อมเสมอที่จะโอบอุ้มและดูแลลูก ตอบสนองลูกอย่างถูกต้องและเพียงพอ โดยสามารถปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ได้ตั้งแต่ลูกยังอยู่ในวัยขวบแรก ซึ่งเป็นวัยที่ต้องปูพื้นฐานเรื่องความมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกว่าตนเองมีค่า มีความปลอดภัยในชีวิต
ลูกขวบแรกจะมีอารมณ์มากมาย พ่อแม่ต้องตอบสนองอารมณ์ต่างๆ ของลูกด้วยความคิดในเชิงบวก หรือความคิดที่เข้าใจลูก และต้องตอบสนองอย่างเหมาะสม เมื่อลูกมีความมั่นคงทางอารมณ์ มั่นใจในตัวเอง ก็สามารถต่อยอดได้ในเรื่องความคิดในเชิงบวกได้ง่ายขึ้นค่ะ
2. เล่นกับลูก ไม่ว่าจะเป็นลูกวัยไหน การที่พ่อแม่เข้าไปเล่นกับลูก จะเป็นการแสดงออกถึงความคิดบวกต่อการเล่นของลูก เพราะสีหน้าท่าทาง น้ำเสียงของพ่อแม่เวลาที่เล่นกับลูกจะเป็นบวก ทำให้ลูกรู้สึกได้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่มีค่าและได้รับความสนใจจากพ่อแม่
และควรให้ลูกได้เล่นแบบ free play และเล่นตามจินตนาการ โดยมีการพบว่า เด็กที่มีความคิดยืดหยุ่นจะต้องผ่านการเล่นที่มีอิสระ เพราะในโลกของจินตนาการจะมีการลื่นไหลทางความคิด ทำให้สมองเด็กมีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดค่ะ
3. สอนบนพื้นฐานของความจริง คือ พยายามเน้นให้ลูกได้เห็นสภาพความเป็นจริง ถ้าใส่ความคิดที่เป็นบวกได้ ก็ใส่ไปด้วย แต่ต้องไม่ใช่การคิดบวกแบบโอเวอร์หรือไม่ใช่บนพื้นฐานของความเป็นจริง เพราะถ้าคิดบวกแบบเกินจากข้อเท็จจริงก็มีโอกาสที่จะผิดหวัง และมีโอกาสที่จะแย่กว่าเดิมก็ได้ค่ะ
4. ให้ความรักในแบบที่ถูกต้อง ไม่ใช่การเลี้ยงดูด้วยเงินหรือเลี้ยงแบบตามใจ แต่ต้องฝึกให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการชี้แนะของพ่อแม่ ให้ลูกได้เรียน รู้ถึงความผิดหวัง ในวันที่ยังมีพ่อแม่คอยชี้แนะ สอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะสร้างกำลังใจให้ตนเอง สร้างกำลังใจให้ผู้อื่น
5. ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น โดยต้องมีความอดทน ขยัน มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อกับอุปสรรค ตั้งแต่เล็กๆ ผ่านการซึบซับไปทีละเล็กทีละน้อย ตอนเล็กๆ อาจเริ่มสอนจากนิทานสำหรับเด็ก กระตุ้นให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเอง เช่น ฝึกให้ช่วยเหลือตัวเอง ชวนมาทำงานบ้านง่ายๆ ด้วยกัน เพื่อให้ลูกรู้ว่าเขาสามารถทำได้
6. พยายามเต็มที่ & รู้จักปล่อยวาง สอน ให้ลูกพยายามทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ และถ้าตั้งใจทำก็จะทำสำเร็จ แต่อยู่บนพื้นฐานของการทำเท่าที่จะทำได้ตามความสามารถของลูก เพื่อเป็นการไม่กดดันลูกและไม่ให้ลูกรู้สึกเครียด
7. สอนให้เข้าใจคนอื่น เช่น ลูกวัยอนุบาลโดนเพื่อนแกล้ง ก็บอกลูกว่าเพื่อนอาจจะยังเด็กอยู่ยังไม่รู้เรื่อง หรือเพื่อนอาจจะไม่ได้ตั้งใจ หนูโตแล้วเข้าใจแล้วว่าเพื่อนกันต้องรักกัน ไม่แกล้งกัน ไม่ต้องโกรธเพื่อน
8. ไม่หนีปัญหา ให้ลูกได้เจอปัญหาและฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่คอยชี้แนะและสอนให้เข้าใจว่าทุกคนล้วนต้องเจอปัญหาทั้งนั้น แต่เราต้องอดทนและหาทางแก้ไขปัญหา ให้ลูกมองปัญหาเป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องหาทางแก้ไข แล้วลุกขึ้นสู้ เช่น ยกตัวอย่างปัญหาที่พ่อแม่เจอ เพื่อให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ว่าเวลามีปัญหาพ่อแม่ก็ต้องแก้ไขโดยไม่ย่อท้อเหมือนกัน เป็นต้น
9. ใช้คำพูดดีๆพ่อแม่ต้องเป็นผู้ให้พรอันประเสริฐกับลูกค่ะ ทุกคำที่พูดกับลูกต้องเป็นมงคลแก่ชีวิตลูก โดยเฉพาะการให้กำลังใจและให้ความคิดเชิงบวก เช่น “ลูกต้องทำได้” หรือ ”พ่อกับแม่เชื่อว่าถ้าลูกตั้งใจทำ อะไรก็สบายอยู่แล้ว” เป็นต้น
การปลูกฝังให้ลูกมีความคิดเชิงบวกสามารถทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ ค่ะ โดยและพ่อแม่ก็ควรทำให้การคิดบวกนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อให้ลูกเกิดความเคยชินค่ะ
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF" ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG 

เพื่อนกันคุยกันได้ทุกเรื่อง จะดีแค่ไหนถ้าเราเองก็ได้เป็นเพื่อนของลูก แม่ที่เป็นเหมือนเพื่อนของลูก มักจะได้ใกล้ชิดลูกมาก ลูกจะเล่าทุกปัญหาให้ฟังอย่างไว้ใจ นั่นคือความฝันของแม่หลาย ๆ คนเลย แต่จะทำอย่างไรให้ลูกเห็นเราเป็นเพื่อนคนหนึ่ง มาลองทำตามนี้เลยค่ะ
7 วิธี ทำให้พ่อแม่เป็นเพื่อนกับลูกได้
- ให้ลูกเลือกเพื่อนที่จะคบเอง
แม่เจ้ากี้เจ้าการ ไม่มีทางได้เป็นเพื่อนของลูกแน่ อยากเป็นเพื่อนลูกจะต้องไม่วิจารณ์เพื่อนของลูก ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร เพราะเป็นการสร้างอคติต่อลูก เรื่องเพื่อนของลูกให้ลูกเป็นคนตัดสินใจเอง ปล่อยให้ลูกเรียนรู้เอง เพราะตัวพ่อแม่เองก็เคยผ่านจุดที่เจอเพื่อทำให้ผิดหวัง เพื่อนไม่ดี หรือเจอเพื่อนที่ดี ลูกก็ควรได้สิทธิ์ที่จะเลือกเพื่อนของลูกเองตั้งแต่เข้าโรงเรียน แม่แค่ต้องเฝ้ามองอยู่ห่างๆ คอยแนะนำในเวลาที่เหมาะสม เมื่อลูกขอ หรือมีท่าทีอยากให้ช่วยแล้วเราจะเป็นเพื่อนของลูกได้โดยธรรมชาติเอง
- พูดคุยเรื่องเพื่อนของลูกได้
ไม่เลือกเพื่อนให้ลูกคบ แต่พูดคุยได้เรื่องของเพื่อนลูกได้ ตั้งแต่ลูกเล็กๆ ควรสร้างความไว้ใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ไว้ เช่น ลูกของเพื่อนที่ชื่อบีเป็นคนอย่างไร น่ารักไหม ลูกชอบเพื่อนคนไหนบ้าง และไม่ชอบเพื่อนเพราะอะไร ถ้าพ่อแม่พูดคุยเสมอ ลูกก็จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เป็นปกติ และเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาก็ยังไว้ใจที่จะเล่าให้แม่ฟังเหมือนเดิม
- เป็นเพื่อนกับเพื่อนของลูก
ไปส่งลูกที่โรงเรียนตอนเช้าๆ ก็ให้ทักทาย พูดคุยกับเพื่อนของลูกด้วย หรือทำขนมไปฝากเพื่อนของลูกด้วยเลย เพื่อสร้างมิตรภาพอันดี หากมีอะไรจะได้ถามเพื่อนของลูกได้ เพราะถ้าหากแม่ทีท่าทางไม่สนใจเพื่อนของลูก อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีได้
- เล่นสนุกกับลูกได้ทุกรุปแบบ
การเป็นแม่ถือตัวแน่นอนว่าทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีหรือช่องว่างระหว่างวัย อาจเป็นอุปสรรคในการเป็นเพื่อนลูกได้ ฉะนั้นให้เล่นกับลูกตั้งแต่เด็กๆ เลย อยู่บ้านก็เล่นด้วยกัน เล่นตลก เล่นซ่อนหา เล่นแสดงละครเลียนแบบ เอาให้หลุดโลกไม่สนวัยกันไปเลย เพราะการเล่นทำให้ได้ใกล้ชิดกับลูก รู้ว่าเขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร
- รับฟังลูกอย่างตั้งใจ
อย่าคิดว่าเด็กไม่รู้เรื่อง เพราะลูกรู้ว่าพ่อแม่ฟังเขาอยู่ไหม ไม่ว่าลูกอยากจะเล่าอะไร พูดรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องบ้าง เมื่อลูกจะเล่า แม่ต้องฟัง จ้องตาลูกให้รู้ว่ารับฟังทุกเรื่อง เป็นการสร้างความไว้ใจ เมื่อลูกโตขึ้นเขาก้อยากที่จะเล่าให้พ่อแม่ฟังเสมอเพราะเขารู้ว่าพ่อแม่จะรับฟังไม่ว่าเรื่องอะไร
- ห้ามใส่อารมณ์กับลูก
ไม่ว่าลูกจะกรี๊ดเสียงเลเวลไหน จะร้องไห้แค่ไหน ดื้อแค่ไหน แม่ต้องรักษาระดับเสียงเท่าเดิม และสีหน้าแบบเดิมไว้ หากทำโทษเพราะลูกทำผิด หลังจากทำโทษแล้ว ให้กอด ให้อุ้มลูก แล้วบอกว่าเขาผิดอย่างไร เพื่อให้เขาเข้าใจในเหตุผลที่เราทำ อย่าปล่อยให้ลูกสงสัยในตัวเรา จนกลายเป็นอคติ จะเป็นเพื่อนกันต้องจริงใจต่อกัน
- สร้างภูมิต้านทานชีวิตให้ลูก
มอบความรักให้ลูก แสดงออกต่อลูกในทุกโอกาส เช่น ให้ของขวัญในวันเกิด วันปีใหม่ เมื่อลูกได้รางวัลที่โรงเรียน หรือได้รับคำชมจากครู เป็นต้น พร้อมกอดและบอกรักเสมอ ทุกเรื่องที่ลูกมีความสุขต้องยินดี แต่ไม่ใช่การอวยลูก เพราะเพื่อนกันต้องยินดีเมื่อเห็นเพื่อนมีความสุข แม้จะเล็กน้อยแต่ก็นับเป็นเรื่องสำคัญทุกอย่าง
ถ้าคุณแม่อยากเป็นเพื่อนกับลูก ก็ต้องเริ่มเป็นมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ลูกรักเรา เชื่อใจเรา และมองว่าเราเป็นเพื่อนของลูกอีกคนหนึ่งทำไม่อยากเลยนะคะ เมื่อลูกเติบโตขึ้นปัญหาต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลง เพราะใน Friend Zone ของลูกจะมีพ่อแม่ของเขาอยู่ในนั้นอันดับต้น ๆ อยู่เสมอ