
สวัสดีครับ ผมเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว ตอนนี้ลูกชายอายุ 9 ขวบ เขาเป็นคนรับผิดชอบมากจนบางทีผมรู้สึกว่ามากไป อะไรที่ไม่เป็นไปตามแผนจะโมโหโวยวาย บางทีพอทำอะไรไม่ทันเวลาก็จะพาลหยุดทำเอาดื้อๆ ไม่รู้เกิดจากอะไรครับ
ชีวิตของพวกเราพ่อแม่จะพบเรื่องที่อธิบายไม่ได้หรือไม่รู้ที่มาที่ไปได้อยู่เรื่อยๆ หากเราเดาก็จะผิด หากเราพาไปพบจิตแพทย์เด็กทุกเรื่องชีวิตก็น่าจะยุ่งมาก
ปัญหาที่เราพบมักเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง เป็นปลายเหตุ เป็นผลรวมของอะไรหลายๆ อย่างแล้วมาปรากฏอาการดังที่เห็น ครั้นพยายามย้อนไปดูว่าตัวเองเลี้ยงผิดตรงไหนก็จะไม่พบ
เรื่องจะง่ายกว่ามากหากเราจัดการรากฐานเสียใหม่ ต่อไปนี้คือคำแนะนำ 5 ข้อ
1.การเล่นเป็นการระบายของเสียในใจเสมอ อะไรที่มากไป ไม่ว่าจะเกิดจากอะไรสามารถระบายทิ้งไปด้วยการเล่น ความกลุ้มใจ กังวลใจ คับข้องใจ ความเครียด ความโกรธ ความกลัว เหล่านี้ระบายทิ้งไปด้วยการเล่นได้ทั้งนั้น การเล่นเท่ากับการเปิดฝาท่อน้ำเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นที่ดูจะสกปรกเล็กน้อย เราจึงแนะนำการเล่นดินเล่นทรายเป็นอย่างแรกเสมอ หากไม่รู้จะทำอะไรให้ลงไปเล่นดินเล่นทรายกับลูก
2.การถอยกลับไปที่ขวบปีแรกใหม่ เพื่อสร้างพ่อที่มีอยู่จริงเป็นเรื่องลองทำได้ ชวนเขาอ่านนิทานด้วยกัน ทำอาหารด้วยกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน เป็นเรื่องทำได้แม้ว่าจะ 9 ขวบแล้ว เขาตัวใหญ่เกินกว่าที่เราจะอุ้มกอดบอกรักแล้ว แต่เรายังนอนเล่นด้วยกัน กินเที่ยวด้วยกัน แล้วโอบไหล่เดินด้วยกันในที่สุด เมื่อพ่อมั่นคง อะไรๆจะดีเอง
3.การควบคุมตัวเองได้ไม่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความคิด อารมณ์ หรือการกระทำ เหล่านี้คือ Executive Function (EF)ที่ยังไม่แข็งแรงพอ เราแนะนำให้ชวนทำงานบ้านด้วยกัน เพราะการทำงานคือการสร้าง EF ตรงๆ การทำงานเป็นเรื่องยาก ไม่สนุก และต้องการทักษะแก้ปัญหา หากเราชวนเขาทำงานเท่ากับชวนเขาบริหาร EF จะส่งผลให้การควบคุมอารมณ์ดีกว่าเดิม
4.เด็กที่มีความรับผิดชอบเป็นเรื่องดี ดีกว่าเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบ หากเขารับผิดชอบมากไป สมบูรณ์แบบมากไป เอาจริงเอาจังมากไป เราชี้ให้เห็นข้อดีของคุณลักษณะและนิสัยเหล่านี้ได้ว่าเป็นเรื่องดีและเราพอใจ เท่ากับส่งสัญญาณให้เขาทราบว่าเขาปกติดีและโอเค ก่อนที่จะบอกกล่าวทีหลังว่าจะปล่อยบางเรื่องผ่านไปบ้างก็ลองทำได้ กล่าวคือการแสดงความเข้าใจอารมณ์โกรธของเขาจะเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนที่จะทำอย่างอื่น และหลายครั้งขอเพียงรู้ว่าพ่อเข้าใจเขาก็มีทางถอยแล้ว
5.สำหรับเด็ก 9 ขวบ เข้าใกล้วัยทีนเต็มที คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวได้ทำหน้าที่มาอย่างดีที่สุดแล้ว นับจากวันพรุ่งนี้ถึงเวลาที่เราจะลดบทบาทของตนเองลงบ้าง จากพ่อเริ่มกลายเป็นเพื่อน ชวนคุย นั่งฟัง แล้วจึงร่วมคิด สำคัญที่สุดคือนั่งฟัง ฟังว่าเขารู้สึกอย่างไร เช่น รู้สึกอย่างไรเวลาผิดพลาด อย่าพยายามทายใจ ไม่ควรขัดบทสนทนา ไม่ควรซักถาม ไม่ควรแนะนำ ฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังเก่งๆ แล้วเขาจะหาทางออกได้เอง
การทำ 5 ข้อนี้ จะเท่ากับกวาดปัญหาใต้น้ำให้หมดไป และป้องกันปัญหาอื่นในอนาคตไปในตัว
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

ข้อห้ามเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ไม่ให้ดูหน้าจอใดๆ มีข้อยกเว้นเรื่องการคุยผ่านหน้าจอกับพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย แม้ว่าจะไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนักว่าเพราะอะไรจึงอนุญาต แต่สมมติฐานเป็นดังนี้
การคุยผ่านหน้าจอกับปู่ย่าตายายไม่เหมือนหน้าจออื่นๆ ที่ความเร็วของการเปลี่ยนภาพ คลิปหนัง หนังโฆษณา การแสดงดนตรี หรือแม้กระทั่งสารคดีชีวิตสัตว์ เหล่านี้มักเปลี่ยนภาพหน้าจอรวดเร็วเพื่อตรึงคนดูให้ดูจนจบหรือมิให้เปลี่ยนไปช่องอื่นโดยง่าย
ความเร็วนั้นเองที่สร้างปัญหาต่อการพัฒนาเซลล์สมองและวงจรประสาท กล่าวคือเด็กเล็กอาจจะพัฒนาสมองเพื่อจับเฉพาะภาพที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เรื่องอื่นๆ ไม่สนใจ
การคุยผ่านหน้าจอมักเป็นภาพที่ค่อนข้างนิ่ง ภาพที่ค่อนข้างนิ่งนั้นเป็นภาพใบหน้าของคนที่เด็กคุยด้วยค่อนข้างชัดเจน ฉากหลังก็มักจะนิ่งไม่มีอะไรน่าสนใจ ในแง่นี้เด็กมีเวลาจับภาพใบหน้าคนนานพอสมควร คือวงกลมสองวงมีสันจมูกตรงกลางและมีริมฝีปากเรียวโค้งด้านล่าง แม้ว่าภาพที่เห็นจะเป็นภาพดิจิตอลสองมิติแต่ก็ยังดีกว่าภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ อย่างไรก็ตามภาพใบหน้าแม่สำคัญที่สุด
ดังนั้นแม้ว่าจะไม่มีข้อห้ามเรื่องการคุยผ่านหน้าจอแต่มีข้อควรใส่ใจบางประการ
1.กำหนดเวลา เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเด็กเล็กควรเป็นไปเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อ และการประสานงานระหว่างสายตาและกล้ามเนื้อ ดังนั้นแม้ว่าปู่ย่าตายายจะคิดถึงหลานมากแต่ควรแจ้งให้ท่านทราบว่าเราจะกำหนดระยะเวลา คำแนะนำทั่วไปคือไม่ควรเกินวันละ 15-30 นาที ดังนั้นปู่กับย่าหรือตากับยายแบ่งคนละครึ่งให้เรียบร้อย
2.ความสม่ำเสมอ เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของปู่ย่าตายายเอง กล่าวคือเด็กๆเรียนรู้จากความสม่ำเสมอ-เสมอ หากปู่ย่าต้องการให้หลานจำตัวเองได้รวดเร็ว แม่นยำ รับรู้ว่าเรามีอยู่จริง เราควรกำหนดเวลาติดต่อให้ตรงเวลาทุกวันหรือทุกสัปดาห์ วยวิธีนี้เด็กมักเรียนรู้และจดจำได้ว่าเมื่อถึงเวลาใครกันที่จะโผล่หน้ามา และหัวเราะเอิ้กๆ ได้เป็นที่ชอบอกชอบใจ
3.เวลาที่กำหนดไว้ควรเป็นเวลาที่เด็กผ่อนคลาย ว่างๆ อยู่กับที่ มิใช่เลือกเวลาหิวหรือง่วงนอน พอเด็กไม่สนใจปู่ย่าตายายกลับจะกลายเป็นโทษให้เราหงุดหงิดหรือเสียใจได้โดยประมาท
4.เราเองควรเตรียมเครื่องมือหรืออุปกรณ์ให้พร้อมก่อนการเริ่มพูดคุย เช่น หากต้องการอวดของขวัญ หนังสือ ของเล่น ขนม หรืออะไรก็ตามให้เตรียมไว้ข้างตัวให้พร้อมแล้วหยิบขึ้นมาอวดหลานได้ในทันที มิใช่มัวแต่เดินหารอบบ้านกลับมาอีกทีหลานหลับไปแล้วหรือหลานเลิกสนใจไปแล้วต้องมาบิวด์กันใหม่อีก
5.ฝึกพูดหน้าจอด้วยตาสบตาให้คล่อง อย่าลืมว่าเวลาพูดผ่านหน้าจอให้จับจ้องที่กล้องมิใช่จับจ้องที่ใบหน้าคนที่พูดด้วย หากปู่ย่ามัวแต่จับจ้องใบหน้าหลานหลานจะพบว่าปู่ย่ามิได้มองมาแบบตาสบตา อาจจะทำให้เด็กขาดความสนใจได้ ทั้งนี้ยังไม่นับว่าการสื่อสารด้วยตาสบตาเป็นเรื่องสำคัญมากในเด็กเล็ก การกลับจะกลายเป็นว่าปู่ย่าสอนให้เด็กพูดแบบตาไม่มองตาไปเสียฉะนั้น
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

ถึงปัจจุบันคำถามเรื่องเด็กชายเล่นอวัยวะเพศหรือถูไถ เด็กหญิงนอนคว่ำหน้าหรือนอนหงายกดอวัยวะเพศ ยังคงมีมาเสมอๆ หลายท่านคิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเพศและอารมณ์ทางเพศ นั่นทำให้พ่อแม่วิตกวิจารณ์เป็นอันมาก เพราะอายุของเด็กที่ถามมาส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่ประมาณ 3- 5 ขวบ อาจจะมีมากกว่านี้บ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย
เพราะอะไรเมื่ออายุมากขึ้นจึงพบน้อยลง คำอธิบายคือเพราะเขามีอย่างอื่นให้ทำมากกว่า คือเรียนหนังสือ ทำการบ้าน ไปพบเพื่อน เล่นกับเพื่อน พูดง่ายๆ ว่าโลกที่กว้างใหญ่ๆ ไพศาลขึ้นทำให้เขาไม่มีเวลามาเล่นอวัยวะเพศเท่าไรนัก
แล้วทำไมอายุ 3- 5 ขวบพบบ่อยนัก คำตอบง่ายๆ คือเขาไม่มีอะไรจะทำซึ่งออกจะผิดวิสัย นั่นนำไปสู่คำถามถัดไปคือบ้านนี้เงียบเหงาถึงระดับเด็กไม่มีอะไรจะทำเลยหรือ
ก่อนอื่น เขียนย้ำอีกครั้งว่ากริยาถูไถที่เราเห็นนั้นมิได้เกี่ยวกับเพศและอารมณ์ทางเพศ เพราะเด็กยังไม่มีความคิดคำนึงเรื่องเพศและอารมณ์ทางเพศแบบที่ผู้ใหญ่เป็น แต่เขามี “ความสุข” หรือ “ความสบาย” จากการกระทำนั้นแน่ๆ คล้ายๆ จั๊กกะจี้แต่ไม่มากเท่าและไม่เหมือนเสียทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วเด็กพบโดยบังเอิญว่ากริยานี้ใช้การได้ หมายถึงทำแล้วสนุกดี สบายใจ ใช้บำบัดความเหงาหรือระบายความคับข้องใจได้ดี โดยไม่รู้ว่าเป็นกริยาต้องห้าม
พบต่อไปว่าหากพ่อแม่โวยวาย ดุด่า ตี หรือตำหนิติเตียน ตามด้วยการออกปากห้าม เด็กจะทำซ้ำอีกเมื่อท่านเผลอ ว่าที่จริงเมื่อตัวเองเผลอด้วย กล่าวคือเหงาๆ กลุ้มๆ ก็ถูไถอีก การจัดการเชิงลบกลายเป็นการวางเงื่อนไขทางลบ(negative reinforcement) ที่ทำให้กริยานี้คงอยู่ วิธีที่ถูกต้องคือเพิกเฉย(ignore) แต่ขืนเพิกเฉยไปจนเสร็จกระบวนการนั้นคงจะไม่เหมาะเพราะเขาจะไม่เสร็จง่ายเนื่องจากเด็กไม่มีสิ่งที่เรียกว่าจุดสุดยอดอย่างที่ผู้ใหญ่มี
ดังนั้นเมื่อพบให้เข้าไปแตะตัว ด้วยกริยาที่สงบ อย่าตื่นเต้น(หมายถึงพ่อแม่นั่นแหละอย่าตื่นเต้น) แล้วจูงมืออกจากพื้นที่นั้น ย้ำว่าจูงมืออกจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้น ไปห้องอื่น ไปนอกบ้าน ไปเตะบอลสักสามครั้ง เตะต้นหญ้าสักห้าที หรือเอาไปอาบน้ำเสียเลยให้รู้แล้วรู้รอด โดยไม่พูดอะไร นี่คือการทำลายเงื่อนไข ทั้งเงื่อนไขความเหงา เงื่อนไขความสุข และเงื่อนไขทางบริบท กล่าวคือ ณ ตรงนั้น ภายใต้บรรยากาศนั้น เขาเคยทำมาแล้ว กำลังทำ และจะทำอีก
อย่าลืมว่าการทำลายเงื่อนไขให้สูญพันธุ์(extinction)ไปนั้นเราทำลายด้วยความเงียบ(silent)โลกเงียบสงบเมื่อเขาถูไถ ทำซ้ำๆจนกว่าเขาจะหยุดไปเอง อย่าลืมอีกที ทบทวนเวลา 24 ชั่วโมงของตัวเองด้วย ให้เขามากพอหรือยัง จะว่างอะไรนักหนา
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

มี 2 เรื่องที่ควรทำความเข้าใจ
ข้อแรก เด็กเข้าใจเรื่องความตายอย่างไร ตำราเขียนไว้ว่าเด็กเข้าใจความตายเมื่ออายุประมาณ 9-10 ปี กล่าวคือความตายเป็นกระบวนการที่มีสาเหตุ เป็นที่สิ้นสุด ไม่หวนกลับ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ (causality,finality,irreversible,inevitability)
ส่วนเรื่องการฆ่าตัวตายนั้น มีงานวิจัยที่บอกว่าเด็กสมัยใหม่เข้าใจเรื่องการฆ่าตัวตายได้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบแล้ว ซึ่งเร็วมาก แปลว่าเด็กที่ตั้งใจทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายต้องการทำจริง มิใช่เรื่องทำเล่นๆ ที่น่าห่วงคือเขารู้แน่หรือเปล่าว่ากระบวนการนี้ไม่หวนกลับ
ข้อสอง คือการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นร่วมกับโรคซึมเศร้าหรือโรคสมาธิสั้นอยู่บ้าง ซึ่งโรคทั้งสองชนิดเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติบางประการของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง อย่างไรก็ตามปัจจัยทางชีววิทยาและสังคมก็มีส่วนร่วมด้วยไม่มากก็น้อย
ปัจจัยทางจิตวิทยาได้แก่ความรู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง การทอดทิ้งเป็นการทอดทิ้งทางใจคือ psychological isolation เด็กรู้สึกเปลี่ยวเหงา มิได้รับการเหลียวแล ขาดที่พึ่ง ความรู้สึกนี้เกาะกุมจิตใจยาวนานมาตั้งแต่เล็ก
เมื่อมีเหตุการณ์สูญเสีย คือ lossไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียที่เป็นจริงหรือรู้สึกว่าสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียวัตถุหรือสูญเสียสิ่งของอันเป็นสัญลักษณ์รวมทั้งการสูญเสียตนเองคือself เช่น การสอบเข้าไม่ได้ การเสียหน้า เป็นต้น เหล่านี้สามารถจุดชนวนให้ลงมือทำร้ายตัวเองได้
ปัจจัยทางสังคมที่น่ากังวลคือเรื่องการกลั่นแกล้ง ซึ่งเป็นไปตามยุคสมัยเมื่อคนเราสามารถทำร้ายกันได้โดยไม่ต้องแสดงตัวในโซเชียลเน็ทเวิร์ค
ในที่สุดก็ออกมารวมตัวกันภายนอกได้ด้วยความย่ามใจ การกลั่นแกล้งเป็นกระบวนการทำร้ายเด็กมิใช่เรื่องการฝึกให้เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งเข้มแข็ง เราควรป้องกันเด็ก มิให้เขารู้สึกว่าโลกโหดร้ายไปเสียทุกสิ่งอันอันจะเป็นการทำร้ายความไว้เนื้อเชื่อใจต่อสรรพสิ่งคือ trust ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของชีวิต
โรงเรียนมีหน้าที่จัดการ ด้วยการจัดการทั้งระบบคือผู้ถูกกลั่นแกล้ง ผู้กลั่นแกล้ง และผู้ที่อยู่ตรงกลางคอยนั่งดูโดยไม่ทำอะไรหรือเชียร์ ภายใต้ข้อเท็จจริงว่าทุกคนเป็นเด็กเราสลายโครงสร้างที่เอื้อต่อการกลั่นแกล้งลงให้ได้ เท่ากับมิได้เพ่งเล็งไปที่ใครแต่ช่วยเหลือเด็กทุกคนในระบบ ส่วนบ้านมีหน้าที่ป้องกันและช่วยเหลือลูกโดยไม่มีเงื่อนไข
การป้องกันการฆ่าตัวตายในเด็กทำได้ด้วยการเลี้ยงดูช่วงเด็กเล็กอย่างดีที่สุด ให้เขารู้ว่าโลกไว้ใจได้
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

เด็กบางคนไม่มีความสามารถที่จะวางแผนและทำงานให้เรียบร้อย เขาเป็นของเขาเอง เด็กเหล่านี้ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าเขามีการบ้านปริมาณมากเท่าไร และเขาจำเป็นต้องใช้เวลานานเท่าไรเพื่อทำการบ้านให้เสร็จตามกำหนดส่งงานในแต่ละวัน ทั้งนี้ยังไม่นับว่าการบ้านบางชิ้นให้ส่งในสัปดาห์ถัดไป เขายิ่งไม่สามารถกำหนดระยะเวลาและวางแผนได้
เราพบว่าเด็กที่ทำการบ้านไม่เสร็จตามกำหนด มักมีพฤติกรรมไม่ต้องทำอะไรที่ต้องรับผิดชอบอะไรด้วย ในทิศทางตรงข้ามเด็กที่ไม่มีงานอะไรต้องรับผิดชอบเลยก็ไม่สามารถรับผิดชอบการบ้านได้ด้วย
วิธีแก้ไขเรื่องเรียกให้ทำอะไรก็ไม่ทำอย่างได้ผลคือคุณพ่อคุณแม่สละเวลาเดินเข้าไปใกล้ตัวเขา แตะตัว มองตา แล้วสั่งให้ทำงานอย่างชัดเจน เช่น แม่ขอให้ไปล้างจานเดี๋ยวนี้
จากนั้นแม่ควรจูงมือไปทำในทันทีแล้วทำด้วยกัน เมื่อเสร็จแล้วชมเชยอย่างชัดเจนว่าแม่ชอบให้เป็นแบบนี้ ที่ไม่ควรทำคือสั่งงานจากระยะไกลแล้วคาดหวังว่าเขาจะทำงานตามคำสั่งโดยเรียบร้อย
ในระยะแรก เราอาจจะต้องทำงานบ้านด้วยกัน แล้วจึงถอยห่างออกให้เขาทำคนเดียวจนติดเป็นนิสัย อย่าลืมชมเชยเป็นระยะๆ เมื่อรับผิดชอบงานบ้านได้ เด็กจะรู้เวลาและสามารถกะเวลา โดยทั่วไปการทำการบ้านจะดีขึ้นได้เอง
สมมติว่าการทำการบ้านไม่ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการทำงานบ้านก็ต้องให้เรียกหารายวันทุกรอบๆ ที่อาจจะต้องทำคือการทำตารางกิจกรรมทั้งหมดติดข้างฝาแล้วทำตามนั้น
ตารางกิจกรรมควรประกอบด้วยกิจกรรมทั้งหมดได้แก่ การกิน การอาบน้ำ การนอน การเล่น การทำงานบ้าน และการทำการบ้าน โดยแบ่งเวลาให้เหมาะสม ทำตารางให้สวยงามน่าดูมีนาฬิกาเรือนใหญ่ที่มีเข็มวางข้างๆ คอยชมเชยหรือช่วยกันติดสติกเกอร์เมื่อเขาทำงานตามตารางได้
การทำกิจกรรมตามตารางนี้มีวัตถุประสงค์ให้เขารู้จักเข็มยาว รู้จักเข็มสั้น และรู้จักเวลา โดยทั่วไปเมื่อเด็กรู้จักเวลาเขาจะควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น และหากเราฝึกฝนเขาทำงานตามตารางเวลาให้เสร็จเป็นเรื่องๆไปเขาจะบริหารงานและเวลาเก่งมากขึ้นเรื่อยๆ
เรามิได้ต้องการทำให้บ้านเป็นค่ายฝึก แต่สำหรับบ้านที่เด็กไม่ทำอะไรเลย วิธีนี้อาจจะจำเป็นและได้ผลถ้าพ่อแม่เสียสละเวลาลงไปกำกับหรือทำด้วยกัน ถ้าทำได้ทั้งหมด
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

คำตอบคือ ได้ คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพออยู่แล้ว คนส่วนใหญ่อยู่ได้ เราก็ควรอยู่ได้ อยู่กับเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นคนชั้นกลางระดับกลางถึงล่างและชนชั้นล่างมีข้อดีในตัว
แต่ควรรู้ทันว่าโรงเรียนทั่วไปมีข้อเสียอย่างไรด้วย เราอย่าดูดายเตรียมชดเชย และโรงเรียนทางเลือกมีข้อดีอย่างไรเราอย่าทำเฉย โรงเรียนทั่วไปมีข้อเสียที่ไม่มีเสรีภาพห้ามคิด ห้ามพูด และห้ามทดลอง แต่งตัวตามระเบียบ ไม่ให้ใส่เครื่องประดับ เข้าแถวตรงเวลา เรียนตามหลักสูตร ห้ามพูดในห้องเรียน ห้ามคิดนอกเหนือหลักสูตร และตอบข้อสอบให้ตรงคำเฉลย จึงจะเรียนจบได้เป็นเด็กดี
แม้ว่าโรงเรียนบางแห่งจะว่าให้คิดวิเคราะห์แต่ให้น้อยเกินไป ไม่สามารถคิดวิเคราะห์เกินกว่าเฉลยข้อสอบหรือข้อกำหนดทางวัฒนธรรม โรงเรียนแบบนี้ไม่เหมาะกับศตวรรษใหม่ที่เด็กๆ มีไอทีอยู่บนฝ่ามือ และการควบคุมตนเองจากภายในจึงเป็นวินัยที่แท้มิใช่การควบคุมจากภายนอกซึ่งมักไม่ได้ผล
ดังนั้นไปโรงเรียนทั่วไปได้แต่พ่อแม่เองที่ใจควรเปิดกว้าง อนุญาตให้ลูก คิด พูด ทำนอกกรอบได้ตามสมควรตราบเท่าที่มิได้ละเมิดกฎ 3 ข้อพื้นฐานคือห้ามทำร้ายคน ห้ามทำลายข้าวของ และห้ามทำร้ายตัวเอง
นอกเหนือจากสามข้อนี้ เรายินดีให้ลองแต่ แต่มีข้อแม้คือบ้านเราจะมีชั่วโมงหรือเวลานั่งผ่อนคลายคุยกันบ่อยๆ ว่าลูกทำอะไรไปจนถึงทำอะไรลงไป การพูดคุยนี้ตั้งอยู่บนบรรยากาศของความไว้วางใจ คือ trust เรายินดีฟังทุกเรื่องโดยไม่ตำหนิ ไม่สกัด หรือไม่เป็นลม เรามาพูดคุยและแลกเปลี่ยนเท่านั้น ภายใต้ข้อเท็จจริงว่าเด็กๆ เติบโตเองได้แล้ว
ถ้ามีอะไรที่เราต้องการหาข้อมูลหรือความรู้เพิ่มเติม เราช่วยชี้ช่อง หรือลุกขึ้นชวนไปหาด้วยกัน หาในอินเทอร์เน็ต หาในห้องสมุด หรือไปหาในสถานที่จริง เราควรสละเวลาไปและใช้งบประมาณ ใช้โอกาสนี้สอนลูกด้วยว่า “ข้อมูล” และ “ความรู้” เป็นสองสิ่งที่ไม่เหมือนกัน ให้เขาเข้าใจว่าอะไรที่ได้มาเป็นข้อมูลหรือความรู้กันแน่ เป็น data หรือเป็น knowledge
นี่คือรูปแบบการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่เหมาะกับการเพิ่มพูนทักษะการไม่ยึดติดและพร้อมทดลองสิ่งใหม่ ประเมินผล คิดวิเคราะห์ แล้วปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าไปโรงเรียนทางเลือก จะได้ใช้กระบวนการเหล่านี้ร่วมกับเพื่อน แต่ก็ไม่เสมอไปโรงเรียนทางเลือกบางแห่งมิได้ใส่ใจการทำงานเป็นทีมมากเท่าที่ควร
ดังนั้นแม้ว่าเด็กๆ จะทำโครงงานมากกว่าโรงเรียนทั่วไป แต่ก็ยังคงเป็นการฉายเดี่ยวอยู่ดี เป็นที่ทราบกันแล้วว่าการฉายเดี่ยวคนเดียวจะคิดวิเคราะห์อย่างไรก็ไปได้เท่าที่คนคนหนึ่งจะไปได้
แต่การทำงานเป็นทีมคิดวิเคราะห์เป็นทีม คือ collaboration มีพลังขับเคลื่อนการเรียนรู้มากกว่านั้นสมองของเด็กๆ 1+1 จะมิใช่ได้เพียง 2 แต่มากกว่า 2 และการทำงานเป็นกลุ่ม 1+1+1+1+1 บนความหลากหลายจะได้มากกว่า 5
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

“กิน กอด เล่น เล่า” สร้างพัฒนาการเด็ก ให้ลูกเติบโตได้อย่างมีความสุข
การเลี้ยงเด็กสักคนไม่ยากค่ะ แต่จะเลี้ยงอย่างไรให้เขาเติบโตได้อย่างมีความสุข และพัฒนาการดีทุกด้าน พ่อแม่คือคนสำคัญที่จะอบรมบ่มเพาะ และเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีสุขภาพกาย ใจ และสติปัญญาที่สมบูรณ์ มีความสุขและสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ ด้วยแนวคิดต่อไปนี้ค่ะ
กิน กอด เล่น เล่า
ในช่วง 0 – 3 ปีแรก สมองเด็ก จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนถึงร้อยละ 80 ของสมองผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กจะได้เรียนรู้และมีพัฒนาการทั้งร่างกายและสมองแม่ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือนและต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2 ปีขึ้นไปเพราะนมแม่มีสารอาหารที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสมอง รวมถึงเป็นกิจกรรมที่ทำให้แม่และเด็กใกล้ชิดโอบกอด สัมผัสกันและกัน ทำให้เกิดสายใยความรักความผูกพัน และยังทำให้เด็กมี IQ และ EQ ที่ดีในอนาคต
การอบรมเด็กต้องทำด้วยความรักความเข้าใจ และใช้เหตุผล ไม่ควรใช้อารมณ์ บังคับฝืนใจ และไม่ดุด่าให้ลูกกลัว และเสียกำลังใจพ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง คอยให้คำแนะนำพูดชมเชยเมื่อลูกทำได้ และให้รางวัลถ้าเขาทำได้ดีซึ่งรางวัลสำหรับเด็กเล็ก เพียงแค่กอดอย่างอ่อนโยนหอมแก้ม ตบมือให้ เท่านี้เด็กก็ภูมิใจมากแล้ว
พ่อแม่ควรพูดคุยเล่นส่งเสียงร้องเพลงกับเด็ก ช่วงแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือนเลือกของเล่นที่มีเสียงและเป็นภาพ เลือกของที่เด็กคว้าจับได้ 6 เดือนถึง 1 ปีให้เด็กได้นั่งเล่นของเล่นเช่น บล็อกตัวต่อนิ่ม ลูกบอลเล็ก หรือปล่อยของลงพื้น อายุ 2-3 ปี ให้เด็กได้เล่นรูปต่อเป็นภาพหุ่นมือ ตุ๊กตาหรือกระโดด ปีนป่าย เพื่อทดสอบทักษะร่างกายของตัวเอง เมื่ออายุ 3-5 ปีปล่อยให้เด็กเล่นกับเด็กคนอื่น ใช้จินตนาการเกี่ยวกับการดำรงชีวิต
พ่อแม่สามารถเล่านิทานให้ลูกฟังได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเมื่อเด็กอายุ 3 เดือนให้เริ่มเล่านิทานให้ฟังเป็นประจำทุกวันจนเด็กโตควรเลือกนิทานที่มีภาพน่ารัก รูปสัตว์ ใช้เสียงสูงๆ ต่ำๆ หรือร้องเพลงประกอบขณะเล่าทุกครั้งและควรเล่าให้จบเล่ม ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเสริมการปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม และลักษณะที่ดีอื่น ๆ ให้ลูกไปพร้อมกัน
ที่มา : กรมอนามัย
เพราะอะไรบ้านนั้นแม่เขาพูดอะไรลูกก็ฟัง บ้านนี้แม่พูดอะไรลูกก็ไม่ฟังนั่นสิ เพราะอะไรคำพูดของคุณแม่ไม่ศักดิ์สิทธิ์เอาเสียเลย
เพื่อจะตอบคำถามนี้ คือเพราะอะไรคำพูดของเราไม่ศักดิ์สิทธิ์เอาเสียเลย เราควรทบทวนเรื่องต่อไปนี้ดูก่อน
เรื่องใหญ่ที่สุดและน่าจะเป็นปัญหาของแทบทุกบ้านคือเรื่องผู้ใหญ่ในบ้านพูดไม่ตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนสำคัญที่สุดสองคนพูดไม่ตรงกัน
การที่คุณแม่ไม่สามารถธำรงตนเป็นเสาหลัก ของการพูดหรือคำสั่งสอน มักจะสร้างปัญหามากและมากขึ้นทุกขณะตามฤทธิ์เดชของเด็กที่กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้นทุกวัน ทำอะไรต่อมิอะไรหรือฝ่าฝืนได้สารพัด
ดังนั้นกฎข้อแรกๆ คือทำให้เสียงของเรามีความศักดิ์สิทธิ์ในบ้านก่อนนะครับ วิธีการคือขอคุยกับคุณพ่อตรงๆ ว่าเราขอเรื่องหลักๆ อะไรบ้างที่เราสองคนควรพูดตรงกันหรือทำอะไรเหมือนกัน เช่น วินัยการกินข้าว วินัยการใช้มือถือ วินัยการเข้านอน เป็นต้น
โดยถือหลักเจรจาต่อรองและแลกกัน บางเรื่องหรืออาจจะหลายเรื่องที่เราจ่ายคืนคุณพ่อไป ให้เขาได้ทำอะไรตามใจแต่ไม่สร้างความเสียหายร้ายแรงกับใคร เพื่อขอแลกกับเรื่องใหญ่ๆที่จะมีผลต่อวินัยและพัฒนาการของลูกในวันหน้า
การขัดแย้งกันต่อหน้าลูกเป็นข้อห้าม จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของคำสอนหรือคำสั่งของพ่อแม่ลดลงทั้งคู่ ดังนั้นอยากจะทะเลาะกันเพียงใดควรอดใจสงบปากสงบคำไปหาที่ถกเถียงกันเป็นส่วนตัว แล้วเอาข้อสรุปมาให้ลูก
เป็นคู่สมรส ควรยอมกันไปยอมกันมาอยู่แล้ว ผิดๆ ถูกๆ บ้างเป็นเรื่องรอง
ท่องไว้เสมอว่าตอนนี้ลูกยังไม่กี่ขวบเลย ปัญหาที่ลูกจะถามหรือจะก่อจะมากกว่านี้อีกมากเมื่อเขาเข้าใกล้วัยรุ่นหรือถึงวัยรุ่นแล้ว ดังนั้นสองท่านฝึกเจรจาต่อรองพูดตรงกันเอาไว้ก่อนคือดีที่สุด
ความสามัคคีของพ่อแม่มิเพียงใช้ได้กับลูกแต่สามารถใช้ได้กับเสียงอื่นๆ ในบ้านที่เห็นไม่ตรงกันในการฝึกวินัยแก่เด็กๆ ได้แก่ ปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา เป็นต้น
หลักการเหมือนกันกล่าวคือท่านเป็นบุพการีมีพระคุณแก่เรา อะไรเรายอมให้ได้ มีความเสียหายแก่ลูกเล็กน้อยเราก็ยอมไป เช่น ทำอาหารไม่สะอาด คิดเสียว่าท้องเสียรักษาได้ แต่ดูหน้าจอก่อนสองขวบหากโชคร้ายไม่พูดอีกเลยและรักษาไม่ค่อยจะได้ เช่นนี้เห็นทีจะถึงเวลาต้องแลกกัน
เราจะเอาทุกอย่างจากบุพการีก็เหมือนจะเอาทุกอย่างจากคู่สมรสหรือเด็กๆ เราทำไม่ได้ ชีวิตเต็มไปด้วยการแลกกันเสมอ เมื่อเรื่องใหญ่ๆ ตกเป็นของเรา ทั้งบ้านยอมเราหมด ลูกก็จะยินยอมด้วยครับ
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
เรื่องลูกดื้อหรืองอแง ไปจนถึงถีบมือถีบเท้าดิ้นพราดๆเป็นปัญหาที่พบบ่อย วิธีที่ดีที่สุดคือการ “ทำให้สิ่งแวดล้อมเงียบสงบ” เราเรียกว่า ไทม์เอาท์ (time out)
บางบ้านตีแล้วได้ผล ควรรู้ว่ามักจะได้ผลชั่วคราว จะมีพฤติกรรมอื่นที่ยากกว่าเก่ากลับมา ไม่นับว่าการตีสร้างรอยแผลในใจเสมอ รอยแผลนั้นจะส่งผลต่อชีวิตของเขาในอนาคตไม่มากก็น้อยต่างๆกันไป
บางบ้านพูดยาวมาก ยกแม่น้ำทั้งห้าให้เหตุผลร้อยแปดพันเก้ามาอธิบายให้ลูกฟังจนกระทั่งลูกไม่รู้ว่าแม่กำลังพยายามจะสอนอะไรกันแน่ หากเป็นเช่นนี้วิธีที่ดีกว่าคือพูดให้สั้นลงและตรงประเด็นว่าแม่ห้ามทำอะไร ขอชัดๆ สั้นๆ เสียงจริงจัง และอย่าเบื่อที่จะต้องพูดซ้ำอีกเมื่อเวลาผ่านไป แต่ก็สั้น ชัด เอาจริง
เมื่อเราพบว่าวิธีไหนก็ไม่ได้ผล อับจนปัญญาแล้ว จึงมาถึงการไทมเอาท์ การไทมเอาท์ทำได้ด้วยการอุ้มหรือจูงลูกออกจากพื้นที่เกิดเหตุ คือพื้นที่ที่เขากำลังควบคุมตัวเองไม่ได้ กรี๊ด งอแง ดิ้น เตะต่อย เอาเขาออกมา ไปหาพื้นที่ใหม่ที่สงบ ปลอดภัย เป็นส่วนตัวมากกว่าเดิม
ไทมเอาท์มิใช่การทำโทษหรือทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว หรือการขังห้องน้ำหรือการขังในห้องนอน เรายังคงนั่งอยู่กับลูก เป็นเพื่อนลูก นั่งด้วยกัน เป็นสถานที่ที่เราได้นั่งพักไม่มีหน้าตาต้องรักษา ไม่มีกริยาต้องระวัง เราเพียงนั่งกับลูกแล้วรอเขาสงบ
ประเด็นคือเราเงียบ ลูกเงียบ สิ่งแวดล้อมสงบ ลูกสงบ เป็นหลักการพื้นฐานที่สุดข้อหนึ่งของการปรับพฤติกรรม เมื่อพฤติกรรมใดๆพบกับความเงียบ สงบ ไร้การตอบสนอง ไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ พฤติกรรมนั้นจะไร้ประโยชน์แล้วหายไปเสมอ (extinction) ระหว่างรอ คุณแม่ยิ้มเล็กน้อย มีเมตตา เอ็นดูที่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้และเรายินดีจะรอให้เขาเรียนรู้ว่ากริยาที่ทำไม่เกิดประโยชน์ จะไม่ได้อะไรเลยไม่ว่าทางบวกหรือทางลบ แม่ไม่ให้พอๆกับแม่ไม่ว่า แม่คนใหม่นี้รอได้
แล้วเมื่อเด็กเบาลง เรากอด อันที่จริงจะบอกเขาก่อนก็ได้ครับว่าเงียบเมื่อไรแม่จะกอด เมื่อกอดแล้วบอกเขาด้วยว่าแม่ชอบแบบนี้มากกว่าคือลูกสงบ ในขั้นตอนนี้พอเท่านี้อย่าสั่งสอนหรือต่อความยาวสาวความยืดอะไรอีก เด็กๆจะค่อยๆเรียนรู้เอาเองว่าทำอะไรที่จะไม่ได้อะไร และทำอะไรที่แม่จะปลื้มมากกว่า มีแต่เขาเรียนรู้ได้เองจึงจะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม
บางทีระหว่างการไทมเอาท์เด็กอาจจะตีแม่เตะแม่ ทำลายข้าวของหรือทำร้ายตีอกชกหัวตัวเอง กริยาทั้ง 3 อย่างเป็นข้อห้ามพื้นฐานทั้งสิ้น มิให้ทำ เราต้องจับเสมอ อย่าลืมว่าเรารุ่นเฮฟวี่เวท เราควรจับได้
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

สมัยก่อนมีเพียงทีวี สมัยนี้เราใช้คำว่าหน้าจอ (screen) ซึ่งหมายรวมถึงหน้าจอทุกชนิดทั้งทีวี คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ๊คแท็บเล็ตสมาร์ทโฟนและบิลบอร์ดตามท้องถนน จะเห็นว่ามีหน้าจอรอบตัวลูก ทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยที่ในบางสถานการณ์เราทำอะไรไม่ได้เลย เช่น บิลบอร์ดตามท้องถนนหรือร้านอาหาร เป็นต้น
ประกาศและคำแนะนำของสมาคมกุมารแพทย์ทั่วโลกไม่ให้เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบดูหน้าจอเลย ยกเว้นการใช้วิดีโอแช็ทกับพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายตามความจำเป็น
แต่เมื่อปี 2017 สมาคมกุมารแพทย์สหรัฐอเมริก (American Academy of Pediatrics,AAP) ออกประกาศใหม่ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือนดูหน้าจอเลย แต่ไม่เขียนระยะเวลาที่ชัดเจนสำหรับเด็กระหว่างอายุ 18-24 เดือน นอกจากบอกว่าพ่อแม่ต้องเป็นผู้คัดเลือกรายการคุณภาพสูง ดูด้วยกันและช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เห็น
For children younger than 18 months, avoid use of screen media other than video-chatting. Parents of children 18 to 24 months of age who want to introduce digital media should choose high-quality programming, and watch it with their children to help them understand what they're seeing.
สำหรับเด็กอายุ 2-5 ขวบให้ดูได้วันละ 1 ชั่วโมงโดยพ่อแม่เป็นผู้คัดเลือกรายการที่ดีมีคุณภาพสูง ดูด้วยกันช่วยให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เห็นและช่วยให้เด็กสามารถปรับใช้กับโลกภายนอก
For children ages 2 to 5 years, limit screen use to 1 hour per day of high-quality programs. Parents should co-view media with children to help them understand what they are seeing and apply it to the world around them.
สำหรับเด็กอายุ 6 ขวบและมากกว่า ให้จำกัดเวลาการใช้และรูปแบบการใช้ดูแลให้แน่ใจว่าไม่รบกวนการนอน สุขภาพร่างกาย และไม่มีผลกระทบต่อพฤติกรรม
For children ages 6 and older, place consistent limits on the time spent using media, and the types of media, and make sure media does not take the place of adequate sleep, physical activity and other behaviors essential to health.
จะเห็นว่าคำแนะนำทั้ง 3 ระดับเป็นคำแนะนำที่กว้างขวาง บอกเพียงหลักการ ไม่แม้แต่ตีความ สุดท้ายแล้ววิธีปฏิบัติการจะกลับไปที่คุณพ่อคุณแม่วันยังค่ำ
เรื่องการดูหน้าจอในเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ขวบนี้ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าแม้เพียงมองผ่านก็ไม่ควรเพราะเด็กมีโอกาสถูกตรึงเอาไว้ได้ง่าย และเวลาน้อยนิดที่เสียไปส่งผลกระทบพัฒนาการมาก ดังนั้นมาตรการยกทีวีออกจากเขตเลี้ยงเด็กมิใช่เรื่องเกินเลย
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
ลูกทารกมีการเติบโตที่มหัศจรรย์มาก และนี่คือ 20 เรื่องเกี่ยวกับการเติบโตของทารก หากพ่อแม่รู้จะสามารถส่งเสริมพัฒนาการตามวัยได้อย่างถูกต้องแน่นอนค่ะ
20 ความมหัศจรรย์ของลูกทารกวัยขวบปีแรกที่แม่ไม่เคยรู้มาก่อน
- มหัศจรรย์แห่งความรักที่คุณพ่อคุณแม่มอบให้ลูก จะทำให้สมองลูกเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งมีหลักฐานวิทยาศาสตร์รับรอง
- 50% ของการนอนต่อ 1 ชั่วโมงของทารก จะเป็นการหลับลึก ในขณะที่การนอนของผู้ใหญ่หลับลึกเพียง 50%
- หลังอายุ 6 สัปดาห์ ทารกจะมองหน้า สบตาคุณพ่อคุณแม่ได้แล้ว
- หลังอายุ 6 เดือน ลูกเริ่มเรียนรู้จากการอ่านปากของคุณพ่อคุณแม่
- สมองของทารกจะพัฒนาถึง 60% เทียบกับขนาดสมองผู้ใหญ่เมื่ออายุครบ 1 ปี
- ทารกจะสูงขึ้น 1-1.30 นิ้ว ทุก ๆ เดือน
- ทารกอายุ 6-12 เดือน เม็ดสีในดวงตาจะทำงานและจะเป็นสีถาวร
- ทารกจะยิ้มให้คุณพ่อคุณแม่จากใจเป็นครั้งแรกในช่วงอายุ 4-6 เดือน ช่วงนี้ห้ามพลาดเลยนะคะ
- ทารกเกิดมาโดยไม่มีกระดูกสะบ้าหัวเข่า แต่จะค่อย ๆ เจริญเติบโตในส่วนนี้ได้ดีขึ้นหลังอายุ 6 เดือนขึ้นไป
- ทารกกลืนและหายใจในเวลาใกล้เคียงกันได้กระทั่งอายุครบ 7 เดือน
- น้ำหนักของทารกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในระยะ 5 เดือนตั้งแต่เกิด
- ทารกแรกเกิดจะร้องไห้หนักหน่วงแบบไม่มีน้ำตา เฉพาะ 1-3 เดือนเท่านั้น
- ทารกเกิดมาพร้อมต่อมรับรสถึง 10,000 จุด และกว่าครึ่งจะหายไปเมื่อโต
- ขวบปีแรก ลูกจะจำจดและเข้าใจคำศัพท์ต่าง ๆ ได้ประมาณ 70 คำ
- สมองของลูกรับรู้เสียงเพลงได้ ก่อนจะเข้าใจคำพูดเสียอีก
- อัตราการเต้นของหัวใจทารกจะลดลงจาก 180 ครั้งต่อนาที เป็น 115 ครั้งต่อนาทีในช่วงขวบปีแรก
- ลูกโบกมือให้คุณพ่อคุณแม่ได้จริงจังตอนอายุ 9 เดือน
- ทารกแรกเกิดจะฉี่ทุก ๆ 20 นาที และความถี่จะลดลงเมื่อเริ่มอายุ 6 เดือน
- เส้มผมของทารกแรกเกิดมีน้อยยิด แต่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 3-4 เดือน
- เสียงอ้อแอ้ของทารกช่วยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ การพูดคุยกับลูกด้วยภาษาง่าย ๆ การใช้โทนเสียงสูงต่ำ จะช่วยให้ลูกเรียนรู้คำศัพท์ที่จะใช้พูดได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น

ลูก 6 เดือนขึ้นไปสามารถใช้แก้วหัดดื่มได้แล้วนะคะ เรามี 3 วิธีฝึกลูกใช้แก้วหัดดื่มมาแนะนำ แต่ก็ต้องบวกกับความอดทนพยายามของคุณพ่อคุณแม่ด้วยนะคะ
3 วิธีฝึกลูกใช้แก้วหัดดื่ม แก้วน้ำสำหรับเด็ก อย่างได้ผลและอดทน
การหัดลูกดื่มน้ำจากแก้วนั้น นอกจากจะช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันของเด็กๆ แล้ว การดื่มน้ำหรือนมจากแก้วยังช่วยให้ลูกได้พัฒนากล้ามเนื้อมือ มีการทำงานประสานกันระหว่างมือกับตา เพราะเขาจะต้องเอามือจับแก้วและเล็งเข้าปาก แต่ก่อนจะตั้งใจฝึกลูกใช้แก้วหัดดื่ม ลูกคุณแม่ต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ก่อนค่ะ
- ลูกอายุ 6-7 เดือน
- มีแก้วหัดดื่มสำหรับเด็ก
- คุณแม่มีใจพร้อมที่จะฝึกลูก
3 วิธีฝึกลูกใช้แก้วหัดดื่ม แก้วน้ำสำหรับเด็ก
- เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำความรู้จักกับถ้วยหัดดื่ม อาจจะให้ลูกถือแก้วเล่นก่อน
- ใส่นม น้ำ หรือน้ำผลไม้ลงในแก้วหัดดื่ม แล้วเปลี่ยนจากดูดจากขวดมาดื่มจากแก้วหัดดื่มแทน (ช่วงแรกใส่นิดเดียวก่อนจะได้ไม่หกเลอะเทอะนะคะ)
- ช่วงแรกถ้าลูกยังไม่ยอม ก็อย่าเพิ่งหักดิบ ลองใช้วิธีสลับ เช่น มื้อเช้าให้กินจากขวดนม มื้อบ่ายให้ใช้ถ้วยหัดดื่ม อาจจะสลับในช่วง 2-3 วันแรก ถือเป็นการสร้างความเคยชินให้ลูก หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ให้เหลือใช้เฉพาะถ้วยหัดดื่ม แล้วอย่าลืมเก็บขวดนมให้พ้นสายตาลูกนะคะ
ถ้าลูกไม่ยอม..ก็อย่าเพิ่งถอดใจนะคะ อดทนค่อยๆ หัดลูกไปเรื่อยๆ ดีกว่าค่ะ เพราะประโยชน์อยู่ที่ลูกเต็มๆ คือการดื่มจากแก้วหัดดื่มจะเป็นการเรียนรู้เรื่องการดูดกลืนที่ถูกต้อง และยิ่งเลิกจากขวดได้เร็วเท่าไหร่ ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุได้มากขึ้นด้วยค่ะ

ความเชื่อโบราณในการเลี้ยงลูก หลายความเชื่อไม่จริงและแม่ก็อาจเผลอทำตามจนลูกได้รับอันตราย ความเชื่อการเลี้ยงทารกเรื่องไหนจริง เรื่องไหนไม่จริง เช็กกันเลยค่ะ
6 ความเชื่อโบราณกับการเลี้ยงทารก เลี้ยงลูกผิด ชีวิตลูกเปลี่ยนและอันตราย
สำหรับคุณแม่หลายคน การเลี้ยงลูกเป็นความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากทั้งผู้มีประสบการณ์หรือประสบมาด้วยตัวเอง ความเชื่อความเข้าใจในการดูแลทารกหลายอย่างที่ได้รับการถ่ายทอดมานั้น ก็มีทั้งเป็นเรื่องที่ดี และเข้าใจผิดกันได้
ความเชื่อการเลี้ยงทารก 1 : ทารกตัวเหลืองเพราะไม่ได้กินน้ำ
ความจริง : เด็กแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองไม่ต้องดื่มน้ำเปล่า ภาวะตัวเหลืองเป็นภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิด 2-3 วันหลังคลอดค่ะ โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนด และมักหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์ โดยไม่มีอันตราย
สาเหตุที่ทำให้ทารกตัวเหลือง เป็นเพราะมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” ในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งจะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางตับ แต่ตับของทารกแรกเกิดยังทำงานไม่เต็มที่ ทำให้ต้องใช้วิธีขับสารเหลืองออกจากร่างกายผ่านการอุจจาระ (อ่านเรื่องภาวะตัวเหลืองเพิ่มเติม > ภาวะทารกตาและตัวเหลือง อันตรายที่พ่อแม่ควรรู้)
นอกจากนี้ การป้อนน้ำให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และเกิดอันตรายได้เช่นกัน
ความเชื่อการเลี้ยงทารก 2 : ดัดขาตั้งแต่เล็กจะได้ขาไม่โก่ง
ความจริง : สำหรับลักษณะขาเด็กตอนแรกเกิดจะดูโก่ง ๆ โค้ง ๆ อยู่แล้ว ซึ่งพัฒนาการตามวัยนั้น พอช่วง 2 ปี ขาโก่ง ๆ ที่เห็นก็จะตรงเอง ถึงไม่ดัดและก็ตรงเอง และพอเลย 2 -7 ปีไป ตรงหัวเข่าก็จะเอนและแบะออกข้างนอกเล็กน้อย และ 7 ปีถึงจะกลับเข้าที่เดิมคือดูตรงเหมือนเดิม
ดังนั้น ถึงเราไม่ดัดหรือทำอะไร ขาก็จะกลับมาตรงสวยอยู่แล้ว ถ้าไปดัดขาให้ลูก ก็อาจจะส่งผลได้ เช่น ถ้าถึงวัยที่มันจะตรง มันอาจจะไม่ตรงอย่างที่ควรจะตรง ทำแรงไปจนฝืนสรีระที่ปกติของเด็ก อาจเกิดกระดูกหัก หรือข้อเคลื่อนหลุดได้ แต่ถ้าขาลูกผิดปกติ หรือเป็นโรคบางอย่างที่ทำให้ขาโก่งผิดปกติ หรือกระดูกมันแบะออกผิดปกติก็จะสังเกตเห็นได้
พ่อแม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ อย่างเช่นถ้าถึงวัยที่ควรจะตรงแล้วมันไม่ตรง หรือถึงวัยที่จะแบะออกแต่ยังโก่งอยู่ หรือว่าถ้าความโก่งหรือความแบะมันไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง อาจจะขวามากกว่าซ้ายอันนี้ก็อาจจะผิดปกติ หรือลูกเดินลงน้ำหนักข้างซ้ายและขวาไม่เท่ากัน อาจลงน้ำหนักข้างซ้ายเยอะแต่ข้างขวาไม่ค่อยลง หรือหลังอายุ 3 ปี ไปแล้ว ขาลูกยังมีลักษณะโก่ง มีอาการเท้าปุก แนะนำให้พ่อแม่พาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุ (อ่านเรื่องลูกขาโก่งเพิ่มเติม > ลูกขาโก่ง ทำอย่างไรดี ต้องแก้ไขไหม?)
ความเชื่อการเลี้ยงทารก 3 : ให้นอนคว่ำ หัวสวย นอนได้นาน
ความจริง :การนอนคว่ำตามหลักวิชาการไม่แนะนำเลย ก็อาจทำให้หัวสวยจริง แต่จะพบเคสเด็กที่นอนคว่ำ แล้วมีหยุดหายใจและเสียชีวิตได้ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุที่จะเป็นได้ เช่น พอกินเสร็จก็ไปจับนอนคว่ำ มีสำลักนมออกมา คุณแม่ก็จะไม่เห็นหน้าลูก ก็อาจได้ยินเสียงแอะๆ แล้วเงียบไปโดยเราไม่ทันสังเกต คิดว่าลูกนอนหลับ ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาได้
เพราะการนอนคว่ำมีผลการศึกษาพบว่า การนอนคว่ำในเด็กอายุ 1-4 เดือน มีโอกาสเกิดภาวะ “SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือ ไหลตาย โดยสันนิษฐานว่า การนอนคว่ำทำให้เกิดการกดทับบริเวณหน้าอกของเด็ก เด็กจะหายใจลำบากขึ้น โดยเฉพาะเด็กทารกที่นอนบนเตียงนิ่ม ๆ หรือมีเครื่องนอน เช่น ตุ๊กตา หรือหมอนอยู่ใกล้ ๆ ใบหน้า หรือบางครั้งเมื่อลูกดูดนมเสร็จ แม่ไปจับนอนคว่ำ อาจทำให้สำลักนมออกมา โดยเราไม่ทันสังเกตก็เกิดอันตรายกับเด็กได้
ดังนั้นการนอนที่ปลอดภัยในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน-1 ปี ควรเป็นการนอนตะแคงหรือนอนหงาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จับลูกนอนคว่ำไม่ได้นะคะ ในเวลากลางวัน เราสามารถให้ลูกนอนคว่ำเล่นได้ แต่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อฝึกพัฒนากล้ามเนื้อคอและหลังของเด็ก ซึ่ง ควรทำหลังจากลูกกินนมไปแล้วประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการอาเจียนหรือสำลักค่ะ และควรเลือกเบาะสำหรับที่มีความแข็งกำลังดี ฟูกหรือหมอน ต้องไม่หนานุ่มหรือมีขนาดใหญ่เกินไป
ความเชื่อการเลี้ยงทารก 4 : เอาผ้าอ้อมเปียกฉี่กวาดลิ้น จะได้ไม่เป็นฝ้าขาว
ความจริง :ฉี่คือของเสียของร่างกาย ที่ขับสารบางอย่างที่ร่างกายไม่ต้องการออกมา เช่น ยูเรีย ซึ่งคงไม่เหมาะสมที่จะเอามากวาดลิ้นเด็ก การเช็ดทำความสะอาดลิ้นลูกนั้น คุณแม่ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนที่จะเช็ดลิ้นให้ลูก ใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว พอหมาด ๆ เช็ดเบา ๆ ให้ทั่วทั้งปากตั้งแต่โคนลิ้นไปจนถึงปลายลิ้น ทั้งด้านบนและด้านล่าง รวมไปถึงกระพุ้งแก้ม และเพดานปาก
ส่วนลิ้นของเด็กที่จะเห็นเป็นฝ้า ส่วนใหญ่เกิดจากคราบนมที่กิน ที่จะมีคราบตกอยู่เหมือนคราบอาหารติดตามลิ้น ก็จะเจอได้บ่อย ซึ่งการทำความสะอาดแค่น้ำเปล่าธรรมดาก็จะออกไปแล้ว ส่วนฝ้าจากเชื้อราจะเห็นเป็นฝ้าขาวๆ ลูกจะเจ็บ งอแง เวลาที่กินนมและเช็ดธรรมความสะอาดก็อาจจะเจ็บ แล้วมีร้องกวน
เด็กทารกแรกเกิดกินนมเป็นหลักจึงทำให้มีฝ้าขาวที่ลิ้นเป็นปกติค่ะ ถ้าคุณแม่ไม่เช็ดออกอาจจะจับตัวหนาขึ้นได้ และถ้าฝ้าหนามากจนทำให้เด็กไม่ดูดนม เจ็บลิ้น ต้องระวังว่าอาจเป็น “เชื้อรา” ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์
ความเชื่อการเลี้ยงทารก 5 : บีบจมูกเวลาอาบน้ำจะได้จมูกโด่ง
ความจริง : กระดูกตรงจมูกของเราเป็นกระดูกอ่อน เพราะฉะนั้น กระดูกอ่อนจะเติบโตของมันเอง การไปบีบๆ ดึงๆ ไม่ได้ช่วยให้ใหญ่หรือโตขึ้น แต่การที่ไปบีบๆ ดึงอาจทำให้ดูนูนขึ้น เพราะพวกเนื้อเยื่ออ่อนๆ ตรงจมูกนูนขึ้นมาชั่วคราว แต่แล้วก็จะย่นลงไปตามแนวกระดูกออกเดิมที่มันมี
ความเชื่อการเลี้ยงทารก 6 : โกนผมไฟ ผมจะได้ดกดำ
ความจริง :ผมดกหรือไม่ดก ก็จะอยู่ตรงพันธุกรรมด้วยส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเด็กโกนผมไฟ แต่พันธุกรรมผมไม่ดก ผมที่ขึ้นใหม่ก็ไม่ได้ดกขึ้นจะปริมาณเท่าเดิม เพียงแต่ผมที่ขึ้นใหม่จะดูแข็งกว่าผมอ่อนที่ติดมาตั้งแต่แรกเกิด ทำให้ดูเหมือนมันหนาดกขึ้น แต่โดนปกติถึงไม่โกน แต่ผมที่ติดมาตั้งแต่แรกเกิดก็จะผลัดหลุดออกไปเอง และสร้างขึ้นใหม่อยู่แล้ว ซึ่งจะหลุดประมาณ 2-3 เดือนก็จะผลัดทีหนึ่ง อย่างที่โบราณเขาพูดว่า ช่วงไหนที่ลูกผมร่วงก็แสดงว่าลูกจำหน้าแม่ได้
แม้ว่าความเข้าใจผิดที่หยิบยกมานั้นอาจไม่ได้ส่งผลอันตรายต่อลูกมากมายนัก แต่การได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องก็ดีต่อลูกน้อยที่สุดค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- พญ.ดุษฎี เงินหลั่งทวี กุมารแพทย์ ภาควิชาวิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเวชธานี

พัฒนาการสมองเด็กสามารถกระตุ้นให้ทำงานอย่างเต็มที่ตั้งแต่แรกเกิด นี่คือ 6 วิธีง่าย ๆ ที่พ่อแแม่ช่วยกระตุ้นสมองเด็กได้แบบทำเองได้ทุกวันค่ะ
6 วิธีกระตุ้นพัฒนาการสมองลูกเล็ก สมองเด็กเรียนรู้ง่ายกระตุ้นได้ทุกวัน
- กระตุ้นสมองเด็กด้วยการคุยกับลูก
ยิ่งคุยกับลูกน้อยมากเท่าไหร่ ลูกก็จะยิ่งพัฒนาและเรียนรู้เรื่องคำมากขึ้น ที่สำคัญขณะพูดคุยควรแสดงสิ่งของนั้น ๆ ให้ลูกเห็นด้วย จะทำให้ลูกเข้าใจมากขึ้นและเร็วขึ้น เพราะลูกวัยนี้ยังคิดในเชิงรูปธรรมเป็นหลัก
- กระตุ้นสมองเด็กด้วยการอ่านหนังสือนิทานด้วยกัน
การอ่านหนังสือให้ลูกฟังพร้อมกับดูภาพในหนังสือนั้นไปด้วยจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และอามรมณ์ความรู้สึกของคุณกับลูกให้มั่นคง ทั้งยังช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ไปด้วย ลูกจะเรียนรู้และรู้จักจับเรื่องราวที่คุณอ่านให้ฟังได้ โดยเฉพาะเรื่องของคำศัพท์ การออกเสียงคำ การอ่านจากซ้ายไปขวา เป็นต้น นอกจากนี้ภาพในหนังสือยังช่วยให้ลูกได้เห็นได้รู้จักกับสิ่งต่างๆ ที่ลูกไม่เคยเห็นนอกเหนือจากสิ่งที่อยู่รอบตัว
- กระตุ้นสมองเด็กด้วยการใช้นิ้วมือทำให้เข้าใจดีขึ้น
การใช้สัญลักษณ์เพื่อช่วยสื่อสารกับลูก ก่อนที่ลูกจะพูดโต้ตอบได้ เป็นสิ่งสำคัญค่ะ ซึ่งคุณสามารถใช้มือ นิ้วมือเป็นตัวช่วยได้ มีผลการวิจัยที่ชี้ชัดว่าสัญลักษณ์ทางภาษาส่งผลดีต่อไอคิวและพัฒนาการทางภาษาของเบบี้ โดยเขามีการศึกษาวิจัยในเด็กเบบี้จำนวนหนึ่งซึ่งเรียนเกี่ยวกับสัญลักษณ์มือ 20 สัญลักษณ์ พบว่าเด็กกลุ่มนี้สามารถพูดได้เร็วขึ้น และไอคิวก็สูงกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับสัญลักษณ์ค่ะ
- กระตุ้นสมองเด็กด้วยนมแม่
มีผลการวิจัยบอกว่าเด็กในขวบแรกที่ได้รับนมแม่ตลอด จะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่ อย่างไรก็ตามผลคะแนนที่ได้นี้สูงกว่ากันเพียงเล็กน้อยค่ะ
- กระตุ้นสมองเด็กในเวลาที่เหมาะสม
เบบี้ต้องการการตอบสนองอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเรื่องจริงค่ะ แต่กระนั้นก็ต้องการเวลาที่จะเรียนรู้หรือพัฒนาด้วยตัวเองด้วย เช่น ลูกต้องการเวลาที่จะเล่นของเล่นเอง ต้องการเวลาส่วนตัวที่จะคลานไปโน่นมานี่เอง เป็นต้น เพาะฉะนั้นเวลาตลอด 24 ชั่วโมงของลูก พ่อแม่ต้องจึงต้องสังเกตและรู้จักตอบสนองลูกให้ถูกจังหวะที่ลูกต้องการ และรู้จักปล่อยจังหวะให้ลูกได้มีเวลาของตนเอง เล่น หรือทำอะไรเองด้วย
- ใกระตุ้นสมองเด็กด้วยการห้ความอุ่นใจ ปลอดภัย
เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกน้อยรู้ว่าทุกความต้องการของเขาจะได้รับการตอบสนองด้วยความรักที่มั่นคงจากพ่อแม่เสมอ แรงขับเคลื่อนในการพัฒนาและเรียนรู้โลกกว้างของลูกก็จะเปี่ยมพลังมากขึ้น และวิธีที่จะทำให้ลูกรู้สึกดังกล่าวได้ คืออ้อมกอดอบอุ่นและสายตาของพ่อแม่ที่มองสบตาลูกทุกครั้ง
ส่วนเรื่องที่จะช่วยให้ลูกพัฒนาภาษาและกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้มากขึ้นนั้น คือการได้พบปะผู้คน ได้เรียนรู้ที่จะพูดเพื่อสื่อสารกับคนอื่นๆ ถึงความรู้สึกของตน ความต้องการของตนที่อยากให้คนอื่นได้รู้และเข้าใจ ซึ่งเท่ากับช่วยพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของลูกนั่นเอง

8 วิธีเปลี่ยนนิสัย ก่อนลูกจะกลายเป็นเด็กขี้เกียจ
เวลาบอกลูกให้ทำอะไรแล้วลูกไม่ยอมทำตาม พ่อแม่อาจมองว่าลูกเป็นเด็กขี้เกียจ แล้วทำให้หงุดหงิดลูกไปเลย จริงๆ ที่ลูกไม่ยอมทำตาม ไม่ได้แปลว่าลูกขี้เกียจ แต่เป็นพัฒนาการตามวัย เป็นพฤติกรรมปกติที่เจอได้ในวัย 3-6 ปีค่ะ
แต่ว่าถ้าปล่อยให้ลูกเป็นเด็กขี้เกียจจนเคยตัว นานวันเข้าอาจทำให้ลูกเป็นเด็กขี้เกียจจริงๆ ก็ได้ เรามาหาทางแก้ไขกันเถอะค่ะ
8 วิธีเปลี่ยนนิสัย ก่อนลูกจะกลายเป็นเด็กขี้เกียจ
1. ใจเย็น ตั้งสติ มองข้ามท่าทีที่ลูกไม่เชื่อฟัง ไม่ต้องสนใจกับคำว่า “ไม่” หรือพฤติกรรมที่ลูกทำ แต่จัดการด้วยท่าทีที่สงบ เช่น เมื่อบอกให้ลูกไปอาบน้ำ แต่ลูกตอบกลับมาว่า“ไม่” พ่อแม่ควรบอกว่า “แม่รู้ว่าหนูไม่อยากอาบน้ำ แต่ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว ถ้าอาบน้ำเสร็จเราค่อยมาเล่นต่อนะคะ” ทำเช่นนี้ ลูกจะรู้สึกว่าเราเคารพในความรู้สึกของเขา ขณะเดียวกันพ่อแม่ยังคงยืนหยัดในสิ่งที่ลูกต้องทำได้ด้วย
2. ทำให้เป็นเรื่องสนุก ไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะเป็นอะไร ควรเน้นให้ลูกรู้สึกสนุก หรืออยากทำด้วยตัวเองก่อนบังคับ เช่น แม่อาจจะพูดว่า “เรามาเล่นเกมแข่งเก็บของเล่นดีกว่า ดูซิว่าใครจะเก็บของเล่นได้เก่งที่สุด” ควรพูดด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่เชื้อเชิญดูน่าสนใจ น่าสนุก การพูดเพียงเท่านี้เด็กก็ยอมทำแล้ว เพราะเขาเห็นว่าเป็นการเล่น ไม่ใช่เป็นกิจกรรมน่าเบื่อที่ต้องทำตามผู้ใหญ่สั่ง
3. เตือนล่วงหน้า หรือตกลงกันก่อน การที่ลูกกำลังทำอะไรที่สนุกอยู่ แล้วพ่อแม่บอกให้หยุดทันที ลูกคงรู้สึกไม่พอใจ ดังนั้นถ้าสามารถเตือนหรือบอกล่วงหน้าก่อนได้ ควรบอกก่อน อาจจะเตือนล่วงหน้าเล็กน้อย ประมาณ 5 นาที และ 3 นาทีก่อนถึงเวลา เพื่อให้ลูกเตรียมใจ แต่ไม่ควรเตือนเกิน 3 ครั้ง เพราะการเตือนที่เกินกว่านี้ อาจทำให้พ่อแม่เริ่มหงุดหงิดแทน และลูกก็คิดว่าเราไม่เอาจริงด้วย
4. เข้าถึงตัวลูก พ่อแม่ส่วนใหญ่ มักใช้วิธีบอกให้ลูกทำโดยพูดเพียงอย่างเดียว ซึ่งลูกมักไม่ยอมทำตาม จนสุดท้ายต้องขึ้นเสียงหรือทะเลาะกัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะส่วนหนึ่งในเด็กเล็กอายุ 2-3 ปี ยังไม่สนใจกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ ดังนั้นขณะที่บอก ลูกอาจไม่ได้สนใจคำพูดของเรา
ส่วนเด็กที่โตขึ้นมาอีกนิด ถ้าไม่ลุกไปทำทันที อาจเพราะรู้สึกว่ากำลังได้ต่อเวลา หรือยืดระยะเวลาที่ต้องไปทำตามที่เราบอก และเมื่อพ่อแม่จบด้วยการโมโห ลูกอาจไม่ต้องทำสิ่งนั้นก็ได้ เพราะผู้ใหญ่มักจะตัดรำคาญโดยการทำเอง
ดังนั้นวิธีที่จะช่วยได้ก็คือ เข้าถึงตัวและจับมือทำเลย เช่น ถ้าจะให้ไปอาบน้ำก็จับมือจูงไปอาบ หรือถ้าจะให้เก็บของเล่นก็จับมือลูกนำเก็บก่อน บางครั้งเมื่อเราเริ่มนำจับมือเก็บของเล่นไปสัก 2-3 ชิ้น ลูกก็จะเริ่มเก็บเองได้
5. ใช้สิ่งล่อใจ พ่อแม่อาจหาอะไรมาเป็นสิ่งล่อใจเล็กๆ น้อยๆ เช่น บอกลูกว่า “ถ้าหนูช่วยเก็บของเล่นจนเสร็จเราจะได้ไปปั่นจักรยานด้วยกัน” หรืออาจให้รางวัลเป็นสติ๊กเกอร์ หรือดาวก็ได้ รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ถึงแม้มูลค่าไม่มาก แต่ได้ผลทางใจกับลูกมากเลยทีเดียว
6. เมื่อทำดีก็ต้องชม เมื่อลูกทำพฤติกรรมที่ดีด้วยตัวเอง เช่น เล่นของเล่นแล้วเก็บเข้าที่โดยที่ไม่ต้องบอก อย่าลืมชมลูกด้วยเพื่อลูกจะได้มีกำลังใจ
7. ให้ลูกมีตัวเลือก วัยนี้ไม่ชอบถูกบังคับ พ่อแม่อาจไม่ต้องพูดถึงกิจกรรมที่ต้องทำ แต่ให้ตัวเลือกที่ลูกเลือกได้แทน เช่น เมื่อจะบอกให้อาบน้ำ บอกว่า “ถึงเวลาอาบน้ำแล้ว หนูจะเอาของเล่นอะไรไปเล่นดี ระหว่าง...กับ...” การบอกแบบนี้บางครั้งลูกจะลืมไปเลยว่าไม่อยากอาบน้ำ เพราะมัวแต่สนใจเลือกของเล่นแทนและยอมไปอาบน้ำแต่โดยดี การให้ตัวเลือกควรเป็นอะไรที่มั่นใจว่าจะให้ลูกได้ เรื่องที่ไม่อาจให้เลือกได้ไม่ควรถาม เช่น ไม่ควรถามว่า “หนูจะไปอาบน้ำหรือยัง” เพราะลูกจะรู้สึกว่าเลือกที่จะยังไม่อาบก็ได้
8. การลงโทษ สุดท้ายถ้าลูกไม่ยอมทำตามจริงๆ คงต้องมีการลงโทษที่เหมาะสมตามวัย แต่ต้องไม่ใช่การตีหรือใช้ความรุนแรงค่ะ เช่น งดเล่นของเล่น งดดูการ์ตูน เป็นต้น
การพูดบอกให้ลูกทำอะไร ควรเป็นเพียงการบอกไม่ใช่การบังคับ จะทำให้ลูกรู้สึกดีกว่า และร่วมมือมากขึ้น รวมถึงท่าทีของพ่อแม่ต้องให้ความสนใจลูกจริงๆ ลูกจะได้รู้ว่าเราต้องการให้เขาทำจริงๆ
ถ้าลูกไม่ยอมทำตามสิ่งที่พ่อแม่บอก อย่าปล่อยให้พฤติกรรมเหล่านี้ผ่านไป เพราะยิ่งทิ้งไว้นานจะยิ่งแก้ไขยากมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ลูกขาดระเบียบวินัย พ่อแม่ก็จะหงุดหงิดง่าย ควบคุมลูกไม่ได้ ลูกก็จะกลายเป็นเด็กขี้เกียจ ไม่ยอมทำอะไรจริงๆ

ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย ทำเด็กเป็น Loss Generation อย่าปล่อยให้ลูกเกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยค่ะ มาหาทางรับมือกันก่อนจะสายเกินไป
Learning Loss ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย พ่อแม่ต้องทำอย่างไร เมื่อลูกเกิด Learning Loss
ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด 19 เป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่เด็กไทยต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนในห้องเรียนมาเป็นการเรียนออนไลน์เกือบ 100% แต่จากการศึกษาในแวดวงวิชาการหลายสำนักกลับพบว่ายิ่งเรียนยิ่งมีปัญหา และภาวะ Learning Loss คือหนึ่งในนั้น
ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย หรือLearning Lossคืออะไร
Learning Loss เป็นผลของการเสียโอกาสในการเรียนรู้มีผลทำให้ทักษะต่าง ๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยสูญเสียตามไปด้วย เช่น ทักษะทางสังคม ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม เด็กสูญเสียโอกาสในการฟอร์มตัวเป็นบุคลิกของเขา ว่าเขาจะเป็นอัธยาศัยดี เป็นคนเก็บตัว เป็นคนขี้อาย หรือเป็นคนมั่นใจในตัวเอง
แต่เมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่มีเพื่อน ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ไม่ได้ทำอะไรหน้าชั้นเรียน หน้าเสาธง ก็ไม่ได้แสดงความเป็นผู้นำ สุดท้ายก็จะส่งผลให้เด็กเกิดภาวะ Learning Loss เนื่องจากการเรียน Online ไม่สามารถทำให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนทักษะเหล่านั้นได้
Learning Lossทำให้เด็กต้องสูญเสียอะไรบ้าง
มีปัญหาพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร เมื่อเด็กต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านมักจะไม่ค่อยได้คุยกับใคร นอกจากพ่อแม่ก็ไม่ได้เล่นกับเพื่อน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคุณครู การดู YouTube เล่น iPad หรือเล่นเกมไม่ได้พัฒนาทักษะภาษาของเด็ก ๆ เมื่อต้องกลับเข้าสู่โรงเรียน ประสิทธิภาพในการเรียนรู้และศักยภาพในการใช้ภาษาของเขาก็จะลดลง
ทักษะด้านความสัมพันธ์ถดถอย เด็กบางคนอยู่บ้านจนเกิดความเคยชิน ถ้าถึงวันที่ต้องไปโรงเรียนอาจเกิดภาวะ School Phobia หรือกลัวการไปโรงเรียน ไม่ชอบ ไม่อยากไปขึ้นได้
ขาดระเบียบวินัยความรับผิดชอบ โดยเฉพาะเด็กอนุบาลหรือเด็กประถม เมื่อตอนที่ยังไปโรงเรียนได้ เด็กจะถูกฝึกจากโรงเรียน มีแรงจูงใจจากเพื่อน ๆ และคุณครู เมื่อเด็กมีวินัยทำตามกฎของโรงเรียน ของห้องเรียนก็จะได้รับคำชม เป็นกลไกหนึ่งในการหล่อหลอมเขา
บุคลิกภาพไม่ได้รับการพัฒนา เมื่ออยู่บ้านนานเกินไป เด็กจะขาดทักษะการเข้าสังคม ซึ่งการเข้าสังคม การคบเพื่อน การทำกิจกรรมกับเพื่อนของเด็ก ๆ เป็นการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างหนึ่งของเขา
การเรียนรู้ช้า ในแง่ของวิชาการอ่านเขียน เด็กอาจมีความรู้ความสามารถทางวิชาการที่ช้างลง
ลูกเรากำลัง Lossอยู่หรือเปล่า
เน่ื่องจากพัฒนาการของเด็กคน และแต่ละด้านไม่เท่า เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องคอยสังเกตลูกค่ะ ถ้าเราสังเกตลูกตลอดและเรารู้จักตัวตนของลูก แม้ว่าอะไรเปลี่ยนไปเราจะรู้ทันทีว่าลูกกำลังผิดปกติ เช่น จากที่เคยพูดคุยเยอะ ๆ วันหนึ่งถามคำตอบคำ พ่อแม่ต้องรีบเข้าไปพูดคุยว่าลูกเป็นอะไร มีปัญหาอะไรให้ช่วยไหม

เมื่อลูกกำลังจะ Loss พ่อแม่ต้องรับมืออย่างไร
จัดตารางเวลาที่บ้านให้เหมือนไปโรงเรียนตั้งแต่ตื่นนอน อาบน้ำ กินข้าว ให้พร้อมก่อนถึงเวลาเรียน และเมื่อถึงเวลาเรียนลูกต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะ พ่อแม่ต้องคอยประกบ และเมื่อลูกเรียนครบ 1 วิชาอาจจะให้ลูกไดด้พักเล่นอิสระไปก่อนสัก 10-15 นาทีก่อนเริ่มวิชาใหม่
คอยปรึกษาคุณครูเรื่องตารางการสอน การบ้าน และใบงานต่าง ๆ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วแม้การเรียนออนไลน์จะเป็นหน้าที่ของเด็ก ๆ แต่พ่อแม่ยังคงต้องเฝ้าดู ใส่ใจ และติดตามถามความคืบหน้าต่าง ๆ โดยเฉพาะในวิชาที่ต้องลงมือทำอย่างศิลปะสร้างสรรค์ เด็กไม่สามารถเตรียมอุปกรณ์เองได้ พ่อแม่ต้องช่วย
ให้คะแนนเป็นรางวัลกระตุ้นแรงจูงใจแก่ลูก เมื่อไปโรงเรียนคุณครูจะมีดาวหรือคะแนนให้เด็ก ๆ เราสามารถนำกติกานี้มาใช้ที่บ้านได้เช่นกัน สร้างแรงจูงใจให้ลูกเกิดการเรียนรู้และกระตุ้นให้อยากทำ เช่น ถ้าเก็บจานหลังกินข้าวจะได้ 1 ดาว ถ้าสะสมดาวครบ 5 ดวงจะได้ดู YouTube 20 นาที เป็นต้น
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องตระหนักคือ เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน ช่วงแรกอาจจะเครียดบ้าง แต่เราสามารถปรับจูนกันได้ค่ะ
อ้างอิง : ผศ.ดร.ยศวีร์ สายฟ้า รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รับฟังและรับชมเพิ่มเติมที่ Podcast รายการ รักลูก The Expert Talk ทั้งหมดได้ที่>>> https://bit.ly/2PiemQ4

มีเรื่องปรึกษาค่ะ ช่วงนี้เจอปัญหาชอบหยิบของคนอื่น (เช่น ของเล่น) เอากลับมาบ้าน คุณแม่ได้ตักเตือนแล้ว ก็ยังทำอีกค่ะ เกรงว่าจะติดเป็นนิสัยค่ะ
หลักการทั่วไปคือ จูงมือเขาเอาของไปคืนทันที แล้วสอนเขาพูดคำว่าขอโทษ โดยที่เราไม่ดุด่า แค่บอกกล่าว และสอน วันไหนไม่มีเหตุการณ์อย่างที่เล่า อย่าลืมกล่าวชม ทำให้เขารู้ว่าแม่ชอบอะไร ปลื้มอะไร ชัดๆ อย่าหยุดแค่คำสั่งสอน ชมในวันที่เขามิได้ทำอะไรด้วย เขาจึงจะเข้าใจ
สมมติเอาไปคืนทันทีมิได้ เช่น ดึกเกินไปแล้ว ตอนเช้าควรรีบไปเร็วที่สุด เท่ากับส่งสัญญาณให้เขาทราบว่าเรื่องนี้สำคัญสมมติหยิบของจากร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง ถ้าไม่ดึกจนอาจจะเป็นอันตราย ควรพาเขาออกนอกบ้านไปคืนทันที ด้วยอาการสงบ
สมมติเป็นของของเพื่อน ถ้าไม่ดึกเกินไป เราควรโทรศัพท์ไปแจ้งแก่คุณพ่อคุณแม่ของเพื่อน เพื่อบอกกล่าวและเอ่ยคำขอโทษให้ลูกเห็น จากนั้นสอนลูกพูดคำว่า “ขอโทษครับ” สั้นๆ ถ้าเขาไม่ยอมพูด ไม่ต้องสู้กัน พูดให้เขาดูก็พอ แล้วพรุ่งนี้ต้องพาไปคืนด้วยตัวเอง ไม่จำเป็นต้องให้ลูกสัญญาว่าต่อไปจะไม่ทำอีกแล้ว และไม่จำเป็นต้องบังคับลูกสัญญา
สมมติเมื่อถึงเวลาไปคืนของ เขาไม่ยอมไหว้และไม่ยอมเอ่ยคำขอโทษ ให้จับมือเขาไหว้ หรือไหว้แทน และเอ่ยคำขอโทษแทน ไม่สู้กัน เราเพียงแสดงให้ดูว่าเรื่องนี้สำคัญ เราเอาจริง และเราควรทำอย่างไร
สอนได้ว่าเราไม่อนุญาตให้เขาเอาของคนอื่นกลับบ้าน ถ้าเป็นเด็กที่เล็กมาก เขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าของที่หยิบมานั้นเปลี่ยนสถานที่ได้ กล่าวคือยางลบในกระเป๋าเพื่อนที่โรงเรียนเมื่อเช้า มิใช่ยางลบในกระเป๋าตัวเองที่บ้าน
ด้วยความที่อวกาศและเวลา (space & time) ไม่คงที่ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา สถานที่ เวลา วัตถุ ล้วนไม่นิ่งและไม่คงที่เท่าไรนัก การหยิบของชิ้นหนึ่งกลับบ้านจึงมิใช่ความหมายเดียวกับคำว่า “ขโมย” เราจึงไม่ใช้คำว่าขโมย หรือ ขี้ขโมย หรือ โตขึ้นสันดานขโมยแน่ๆ
สำหรับเด็กโต เขาอาจจะเจตนาทำจริงๆ แต่เราไม่ใช้คำนี้อยู่ดี เราทำคล้ายๆ เดิมคือพาตัวเอาไปคืน เอ่ยคำขอโทษ สอนสั้นๆ ว่าเราห้ามมิให้ทำเช่นนี้อีก แต่ไม่ลามไปถึงการกระทำรุนแรงทั้งร่างกายและวาจา เพราะเวลาเด็กโตทำ เขาทำเพราะทำได้อยู่แล้ว และเขาทำเพราะมีเหตุผล เหตุผลที่พบบ่อยคืออยากได้แต่พ่อแม่ไม่ให้ อีกเหตุผลหนึ่งคือเพื่อให้พ่อแม่สนใจ
กับเด็กโต เราควรเผชิญหน้าตรงไปตรงมา ว่าเราให้อะไรหรือไม่ให้อะไร ด้วยเหตุผลอะไร ชี้ให้เขาเห็นว่าเขาได้อะไรและมิได้อะไร ตามความเหมาะสม และถ้าเขาคิดว่าพ่อแม่ไม่ให้โดยไม่มีเหตุผล ขอให้มาบอกอีกครั้งหนึ่ง และเราจะฟัง หากถึงเวลานั้น เราต้องฟังให้มาก โดยทั่วไปหากฟังมากพอ เด็กมักจะอ่อนลง เพราะ “เขาได้รับความสนใจ” เรียบร้อยแล้ว
การหยิบของคนอื่นกลับบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยิบของจากร้านค้ากลับบ้านเป็นสัญญานเตือนว่าการสื่อสารในบ้านเราไม่ปกติแน่นอนแล้ว เราจำเป็นต้องรีบทบทวนเวลา 24 ชั่วโมงที่ใช้ร่วมกันโดยด่วน ใช้เวลาร่วมกับเขามากขึ้นโดยเร็ว และเล่นด้วยกันมากๆ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

เมื่อกล่าวถึงการรักษาเด็กพิเศษ คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านคงนึกถึงรูปแบบการฝึกกระตุ้นพัฒนาการ และการจัดการเรียนการสอนให้กับน้องๆ เหล่านี้ อย่างไรก็ดี มีเด็กพิเศษจำนวนไม่น้อยที่ได้รับยามารับประทานด้วย คำถามคือยาเหล่านี้คือยาอะไร และส่งผลอย่างไรต่อตัวเขา รวมไปถึงว่ายาเหล่านี้ทำให้เด็กๆ หายจากตัวโรคได้หรือไม่ เรามาติดตามกันครับ
ก่อนจะตอบคำถามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หมอขออนุญาตอธิบายกลไกทางสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการให้ทราบกันก่อนนะครับ คือสมองของคนเราตอนแรกเกิดนี่ยังสร้างมาไม่ถึงครึ่งทางเลย ต้องมาเติบโตต่อข้างนอกท้องแม่อีกมาก ทีนี้การสร้างสมองในช่วงแรกจะมีการพัฒนาในส่วนหน้าที่พื้นฐานก่อน เช่น การมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว
หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการพัฒนาในส่วนของภาษาและการเรียนรู้ โดยมีหลักการว่า วงจรประสาทไหนใช้งานบ่อยจะถูกเก็บไว้ ส่วนวงจรประสาทไหนไม่ค่อยได้ใช้งานก็จะถูกทำลาย เพื่อเอาวัตถุดิบมาสร้างส่วนที่จำเป็นในการทำงานมากกว่า โดยประเด็นสำคัญคือ การพัฒนาสมองในแต่ละส่วนจะต้องอาศัยการโปรแกรมจากยีนร่วมกับการเลี้ยงดูจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งในเด็กพิเศษ กระบวนการสร้างสมองอาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ดีนัก ทำให้เด็กเหล่านี้มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า
อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกคือการเลี้ยงดู การเล่นกับเด็ก โภชนาการ และความอบอุ่นใจที่ได้รับจากพ่อแม่ จะสามารถช่วยฟื้นฟูสมองส่วนที่มีการพัฒนาล่าช้านี้ได้ จึงเป็นที่มาของการฝึกกระตุ้นพัฒนาการ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้งานวงจรประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และทักษะต่างๆ เพื่อให้สมองของเด็กทราบว่า วงจรเหล่านี้จำเป็นนะ วงจรเหล่านี้สำคัญนะ สมองจะได้เก็บรักษามันเอาไว้ และช่วยส่งเสริมในการส่งสัญญาณในวงจรประสาทเหล่านี้ดีขึ้นด้วย
บางท่านอาจจะสงสัยว่า การกระตุ้นวงจรประสาทเหล่านี้สามารถกระทำได้โดยตรงไหม จะได้กระตุ้นสมองให้ตรงจุดไปเลย คำตอบคือตอนนี้นักวิจัยด้านสมองหลายกลุ่มทั่วโลกกำลังสนใจทำวิจัยเรื่องนี้กันอยู่ครับ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นสมองในรูปแบบต่างๆ หรือการรักษาทางพันธุกรรมในบางโรค แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดยังไม่ใช่การรักษามาตรฐาน จึงต้องอาศัยเวลาอีกสักหน่อยเพื่อให้ข้อมูลชัดเจนมากกว่านี้จึงจะนำมาใช้ได้ครับ
กลับมาที่คำถามสำคัญคือ “ยา” สามารถไปปรับหรือกระตุ้นวงจรประสาทได้หรือไม่ คำตอบคือ “ได้” ครับ เพียงแต่การปรับด้วยยาจะเป็นการปรับ “สารสื่อประสาท” อันหมายถึงสารเคมีที่เซลล์สมองใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นหลัก แต่ยาไม่สามารถไปกระตุ้นวงจรประสาทการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ให้มีการพัฒนาได้หากปราศจากการกระตุ้นด้วยการฝึก
ดังนั้น การรักษาด้วยยาจึงเป็นการไปปรับสารสื่อประสาทเพื่อควบคุมอาการบางอย่างในกลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งจะทำให้เด็กเหล่านั้นสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น แต่ยาไม่ได้ไปทำให้ระดับพัฒนาการดีขึ้นโดยตรง ดังนั้นการฝึกกระตุ้นพัฒนาการจึงยังคงสำคัญที่สุดในการพัฒนาเด็กพิเศษครับ
ในส่วนของยาที่มีการใช้รักษาเด็กพิเศษ อาจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ประกอบไปด้วย ยาที่ใช้ในโรคซนสมาธิสั้น หรือที่มักจะเรียกกันว่า ยาสมาธิ กับ ยาที่ใช้ในการปรับพฤติกรรมเด็ก
ยาสมาธิ จะเป็นยาที่ช่วยให้เด็กที่มีปัญหาด้านสมาธิจดจ่อ กลับมานั่งเรียนได้ โดยไม่ซนและไม่ยุกยิก รวมถึงไม่ไปแหย่เพื่อน ประเด็นสำคัญคือ ยาสมาธิไม่ได้ทำให้โรคซนสมาธิสั้นหายนะครับ เพราะยาจะแค่ช่วยทำให้เด็กอยู่นิ่งพอที่จะเรียนได้เท่านั้น เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสในการเรียนรู้ในชั้นเรียน ดังนั้นการให้ยาสมาธิจะให้กินเฉพาะเวลาที่ต้องการให้เด็กอยู่นิ่งๆ โดยเฉพาะวันที่ต้องไปโรงเรียน เพราะยาสมาธิที่ใช้กันบ่อยๆ มักจะทำให้เกิดผลข้างเคียงคือ การเบื่ออาหารและนอนไม่หลับ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้ จึงควรมีช่วงเวลาที่เด็กไม่ต้องกินยาบ้าง เพื่อลดผลข้างเคียงของยาดังกล่าวครับ
ยาที่ใช้ในการปรับพฤติกรรมเด็ก ซึ่งมักจะเป็นเรื่องของความก้าวร้าว หรืออาการย้ำคิดย้ำทำ รวมไปถึงการมีพฤติกรรมชอบทำอะไรซ้ำๆ ในเด็กที่เป็นโรคออทิสซึมหรือโรคอื่นๆ โดยยาในกลุ่มนี้จะมีหลายชนิด การเลือกชนิดของยาและการให้ยาจะขึ้นกับความรุนแรงของอาการและตัวโรคพื้นฐาน ในรายที่อาการไม่รุนแรงนักคุณหมอที่ดูแลมักจะไม่ได้ให้ยา แต่จะเน้นที่การฝึกแทน ส่วนในรายที่อาการรุนแรง หรือตัวโรคดั้งเดิมค่อนข้างเป็นเยอะ
คุณหมอที่ดูแลอาจจะให้ยาร่วมด้วย แต่ก็ต้องอาศัยการฝึกร่วมด้วยเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าปัญหาพฤติกรรมของเด็กพิเศษจะน้อยหรือมาก แต่การฝึกจะถือเป็นการรักษาหลัก การให้ยาจะมีวัตถุประสงค์ในการปรับระดับสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อให้สามารถฝึกเด็กได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ยาที่ใช้ในการปรับพฤติกรรมเหล่านี้มักจะต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง และต้องมีการค่อยๆ ปรับขนาดยาขึ้นทีละน้อย เพื่อให้เด็กสามารถรับยาได้โดยไม่มีผลข้างเคียงมากนัก คุณพ่อคุณแม่ที่ดูแลน้องๆ เด็กพิเศษจึงควรเช็ควิธีการกินยาให้ถูกต้อง และเฝ้าติดตามผลข้างเคียงของยาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้อาการรุนแรงขึ้นครับ
กล่าวโดยสรุป การรักษาด้วยยาในกลุ่มเด็กพิเศษจะมีความแตกต่างกันในแต่ละโรค โดยการให้ยาจะเป็นการช่วยปรับหรือจัดการพฤติกรรมบางอย่างของเด็กให้สามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น แต่การให้ยาไม่สามารถนำมาใช้แทนการฝึกและการกระตุ้นพัฒนาการได้ สิ่งสำคัญคือการกินยาอย่างสม่ำเสมอตามที่คุณหมอแนะนำและหมั่นเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา หากมีข้อสงสัย ห้ามหยุดยาเอง แต่ให้รีบปรึกษาคุณหมอที่ดูแลเพื่อวางแผนในการแก้ไขนะครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง