
การเลิกนมมื้อดึก มิได้อยู่ที่นมแต่อยู่ที่ “แม่”
ใครๆ ก็แนะนำให้หยุดนมมื้อดึกได้แล้ว บางคนว่าหลัง 1 ขวบนมแม่ไม่มีประโยชน์แล้วด้วยค่ะ?
ประเด็นเรื่องนมมื้อดึก มิได้อยู่ที่นมแต่อยู่ที่ “แม่” ส่วนเรื่องนมแม่หลังหนึ่งขวบไม่มีประโยชน์นั้นไม่จริงแน่ นมแม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ตลอดไปจนกว่าจะหมดไปเอง
เรื่องนมมื้อดึกพัวพันมาถึงการอุ้มกล่อมกลางดึก มี 2 แนวคิดที่แตกต่างกัน แนวคิดหนึ่งมุ่งเน้นการสร้างความผูกพันมากมายเสียจนคุณแม่ต้องเป็นผู้เสียสละโดยไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่อีกแนวคิดหนึ่งคือการปล่อยให้ทารกร้องไห้ในเวลากลางคืนจนกระทั่งเงียบไปเอง
แนวคิดแรกที่มากเกินไปทำให้คุณแม่หมดสิ้นเรี่ยวแรงและรู้สึกผิด หากตนเองจะไม่ลุกมาอุ้มลูกเดินไปมาตลอดทั้งคืน ในขณะที่สุดโต่งอีกด้านหนึ่งคือทอดทิ้งให้ทารกร้องไห้สุดเสียงนานหลายชั่วโมงโดยไม่ใยดี
แนวคิดแรกคือเรื่องความผูกพันหรือ attachment ของจิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ John Bowlby (1907-1990)แนวคิดที่สองคือ“ปล่อยให้ร้องจนหลับไป” หรือ Cry it out ซึ่งเป็นที่รู้จักกัน
หากเราสามารถเลิกนมแม่มื้อดึกเมื่อถึงเวลาได้โดยง่ายก็ทำได้ กล่าวคือหากลูกของเราเป็นเด็กเลี้ยงง่ายก็ทำไปเลย เพราะเมื่อเขาอิ่มคุณแม่เขาก็จะเลิกเองโดยละมุนละม่อม แต่ถ้าเราได้เด็กเลี้ยงยากและเขาปากกัดตีนถีบแหกปากร้องไห้จ้าไม่ยอมหยุด
แม้ว่าหนึ่งชั่วโมงผ่านไปก็ไม่ยอมหยุดเช่นนี้ จะเป็นการดีกว่าที่เราจะอุ้มไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะหลับไปด้วยความไว้วางใจ คือ trust ในสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแม่ เพราะแม่ที่มีอยู่จริงและ attachment ซึ่งผมเลือกใช้คำว่าแปลว่า “สายสัมพันธ์” มาตั้งแต่แรกเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพัฒนาการต่อไปในอนาคต
การเลี้ยงดูที่ผิดพลาดในช่วงอายุ 0-3 ขวบอาจจะสร้างพยาธิสภาพจิตบางประการเกิดขึ้นได้ และนั่นเป็นสิ่งที่ผมได้พบในงานประจำที่ตนเองทำตั้งแต่เรียนจบแพทย์จนถึงวันเกษียณอายุราชการ
ทักษะชีวิตที่ดีหมายถึงการที่เรารู้จักที่จะเลือกและตัดสินใจ ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าทุกทางเลือกมีข้อดีข้อเสียและมีราคาที่ต้องจ่าย หากเราชั่งน้ำหนักเรื่องการอดนอนของคุณแม่กับพยาธิสภาพทางจิตของลูกในอนาคต น่าจะคิดออกได้ไม่ยากว่าทางเลือกใดมีน้ำหนักมากกว่าทางเลือกใด
สาย Cry it out ก็ไม่ได้บอกให้อุ้มทั้งคืนโดยไม่วางหรือทอดทิ้งเด็กโดยไม่เหลียวแล ที่ผมเขียนเสมอว่าอุ้มไปเรื่อยๆ มิได้แปลว่าสักนาทีก็วางมิได้ ที่จริงแล้วเราควรรอเวลาสักนิดเมื่อลูกร้องกลางดึกก่อนที่จะเข้าหา ครั้นเขาร้องไห้รอบต่อไปเราสามารถรอเวลามากขึ้นอีกนิดหนึ่งก่อนที่จะเข้าหา แล้วทอดระยะเวลาการรอคอยนี้ออกไปได้ครั้งละเล็กละน้อย เราพบว่าเด็กจะปรับตัวได้ในคืนหนึ่ง
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

อาการชัก เป็นอาการทางระบบประสาทชนิดหนึ่งซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก อาการชักจะมีอาการแสดงที่ดูน่ากลัว จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลเวลาที่เห็นลูกชัก หรือกลัวว่าจะมีอาการชัก โดยเฉพาะอาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กที่มีอาการชักเวลามีไข้สูง ดังนั้น ในวันนี้หมอจะมาเล่าเรื่องชักทั้งแบบปกติกับแบบที่ต้องระวังว่าจะเป็นโรคลมชักหรือโรคที่มีอาการรุนแรงกันนะครับ
ในช่วงวัยเด็ก อาการชักมักจะเกิดจากภาวะไข้ ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะชักจากไข้” สังเกตนะครับ หมอใช้คำว่า “ภาวะ” ไม่ได้ใช้คำว่า “โรค” เพราะภาวะชักจากไข้ เป็นภาวะ “ปกติ” ที่อาการชักสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กเล็กที่มีไข้สูงโดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ
อย่างไรก็ดี หมอไม่ได้หมายความว่าภาวะชักจากไข้นี้ไม่อันตรายเลยนะครับ อาการชักก็ยังอันตรายอยู่ โดยเฉพาะหากเด็กมีอาการชักอย่างต่อเนื่องนานเกินกว่า 15-30 นาทีก็อาจจะส่งผลเสียต่อสมองได้ ดังนั้น หากเด็กมีไข้สูง สิ่งสำคัญคือการเช็ดตัวลดไข้ ร่วมกับการกินยาลดไข้ครับ
หากเด็กมีอาการชัก สิ่งสำคัญคือการจัดท่าทาง ให้เด็กอยู่ในท่านอนตะแคง เพื่อให้น้ำลายไหลออกทางด้านข้างมุมปาก และห้ามเอาของใดๆ ไม่ว่าจะเป็นนิ้วมือหรือช้อนมางัดปากโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้ฟันหักลงไปอุดหลอดลมได้ และถ้าเด็กมีอาการชักต่อเนื่องเกินกว่า 5 นาที ให้รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลครับ เพราะอาจจะต้องให้ยาฉีดเพื่อหยุดอาการชักครับ
นอกจากนี้ ในเด็กเล็กที่มีอาการชักร่วมกับไข้สูง และมีอาการซึม ไม่ค่อยตอบสนองร่วมด้วย หรือดูงอแงมากกว่าปกติ จะต้องระวังสาเหตุของอาการชักจากการติดเชื้อในสมองด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคสมองอักเสบ ซึ่งการติดเชื้อในสมองเป็นโรคที่รุนแรงมาก
หากแพทย์สงสัยภาวะนี้จะทำการตรวจด้วยการเจาะตรวจน้ำไขสันหลังหรือที่รู้จักกันว่า “การเจาะหลัง” ครับ ซึ่งจริงๆ แล้วคือการที่คุณหมอใส่เข็มคล้ายๆ เข็มเจาะเลือดแต่ใหญ่กว่านิดหน่อยเข้าไปในช่องกระดูกสันหลัง เพื่อนำน้ำไขสันหลังมาตรวจ โดยน้ำไขสันหลังเป็นของเหลวที่ไหลเวียนในสมองและไขสันหลัง แต่ที่ต้องเจาะที่หลัง เพราะในกะโหลกศีรษะมันไม่มีช่องให้เจาะได้ครับ หากผลการตรวจน้ำไขสันหลังบ่งว่าจะมีการติดเชื้อในสมอง คุณหมอจะมีการให้ยาเฉพาะในการรักษาด้วยครับ
ส่วน โรคลมชัก (epilepsy)เป็น “โรค” จึงมีความหมายบ่งถึงความผิดปกติแน่ๆ คำว่า “ลม” หมายถึงอาการมาไวไปไว คือ เคยเป็นปกติมาตลอด อยู่ๆ ก็มีอาการชักขึ้นมา แล้วสักพักอาการก็หายไป กลับมาเป็นปกติอีก บางคนก็เรียกโรคนี้ว่า โรคลมบ้าหมู ซึ่งเป็นโรคเดียวกันครับ
ตัว โรคลมชัก เป็นโรคทางสมองที่เจอได้ไม่น้อยนะครับ พบได้ราวๆ ร้อยละหนึ่งของประชากร ก็ราวๆ 700,000 คนของประชากรไทยเลยทีเดียว โดยโรคลมชักคือ โรคที่อาการชักจะเกิดขึ้นเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีปัจจัยอะไรมากระตุ้น คือไม่ต้องมีไข้ก็มีอาการชักได้ เพียงแต่บางรายจะมีอาการไข้เป็นกระตุ้นให้ชักในครั้งแรกๆ ของการชัก คือเด็กจะมีอาการคล้ายภาวะชักจากไข้นำมาก่อน
ดังนั้น จุดที่ทำให้หมอสงสัยว่าเด็กอาจจะมีโรคลมชักแอบแฝง (คือไม่ได้เป็นแค่ชักจากไข้) ก็คืออาการไข้ที่ไม่สูงแต่กลับทำให้เด็กชัก อาการชักเฉพาะที่ เช่น กระตุกแขนขาข้างเดียว หรืออาการชักที่นานกว่า 15 นาที รวมถึงอาการชักที่เกิดขึ้นซ้ำในรอบไข้เดียวกัน รวมถึงอาการชักที่เกิดในเด็กโตที่มีไข้ เพราะในเด็กที่อายุเกิน 6 ปี อาการไข้สูงจะไม่ทำให้เด็กมีอาการชักแล้ว ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้คุณหมอที่รักษาเกิดเอะใจว่า อาจจะไม่ใช่แค่ชักจากไข้ธรรมดา ต้องตรวจหาโรคลมชักด้วย
ในปัจจุบัน การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง(electroencephalography หรือ EEG) ก็เป็นวิธีที่ช่วยบอกความเสี่ยงได้ว่าเด็กคนนั้นมีโอกาสจะเป็นโรคลมชักหรือไม่ การพบคลื่นชักจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองจะเป็นปัจจัยที่บ่งว่าอาการชักน่าจะเกิดจากโรคลมชัก แต่ในรายที่ไม่พบคลื่นชักก็ไม่ได้แปลว่าเป็นปกติร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะในรายที่อาการยังไม่ชัด
ตัวคลื่นสมองที่ผิดปกติหรือคลื่นชักอาจจะยังไม่ปรากฏให้เห็นจากการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองตามมาตรฐานเป็นระยะเวลาครึ่งชั่วโมง โดยในรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักแล้ว จะต้องได้รับการรักษาด้วยยากันชักเพื่อควบคุมอาการชักไม่ให้เกิดขึ้นอีก โดยต้องกินยากันชักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ต่างจากอาการชักจากไข้ที่ไม่ต้องรักษาด้วยยากันชัก แต่เน้นการป้องกันอาการชักด้วยการลดไข้เป็นหลัก
ในส่วนของเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการช้า หรือในกลุ่มเด็กพิเศษ ก็มีโอกาสที่จะมีภาวะชักจากไข้ และโรคลมชัก ได้ค่อนข้างบ่อยกว่าเด็กทั่วๆ ไปครับ ทั้งนี้เพราะในเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการเหล่านี้ มักจะมีความผิดปกติของสมองร่วมด้วย แม้จะไม่มากแต่ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติของเซลล์สมองจนทำให้มีอาการชักได้
ประเด็นสำคัญคืออาการชักในเด็กที่พัฒนาการช้าบางครั้งจะสังเกตได้ยาก เช่น อาการชักแบบเหม่อ ซึ่งไม่มีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือกระตุก ทำให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าเด็กกำลังเล่นหรือกำลังมองอะไรอยู่ อาการชักแบบตัวอ่อน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยล้มลง และอาจจะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปัญหาการทรงตัวไม่ดี หรืออาการชักแบบเกร็งในเด็กซีพี ซึ่งมีอาการเกร็งตัวหรือเหยียดตัวเวลาจะแสดงอารมณ์อยู่แล้ว
อาการชักในรูปแบบเหล่านี้มักพบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหาทางสมอง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กพิเศษ สิ่งที่หมออยากจะเน้นในกลุ่มเด็กพิเศษก็คือ หากเด็กมีพฤติกรรมแปลกๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยที่ตอนมีอาการเด็กดูไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือการสัมผัสจากผู้ดูแล ควรจะต้องระวังว่าเด็กอาจจะมีอาการชักร่วมด้วยครับ
กล่าวโดยสรุป อาการชักเป็นอาการทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงวัยเด็ก โดยอาการชักที่เกิดขึ้นในเด็กเล็กเวลามีไข้สูงอาจจะเกิดจากภาวะชักจากไข้ได้ แต่ที่ต้องระวังคือการติดเชื้อในสมอง ส่วนในรายที่มีอาการชักเกิดขึ้นโดยที่อาการไข้ไม่ชัดเจนหรือชักโดยไม่มีไข้ จะบ่งถึงโรคลมชักซึ่งจะต้องรักษาด้วยยากันชักอย่างต่อเนื่อง
ในกลุ่มเด็กพัฒนาการช้าหรือกลุ่มเด็กพิเศษจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการชักและเป็นโรคลมชักได้บ่อยกว่าเด็กทั่วๆ ไปสิ่งสำคัญคืออาการชักในกลุ่มเด็กพิเศษอาจจะสังเกตได้ยากแต่หากพบว่าเด็กมีอาการแปลกๆ หรือมีพฤติกรรมที่ต่างไปจากเดิม และเกิดขึ้นซ้ำๆ ควรจะรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการซักประวัติและตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่าจะเป็นโรคลมชักร่วมด้วยหรือไม่ครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง

ด้วยปัญหาการจราจรในบ้านเรา ทำให้การเดินทางไปและกลับจากโรงเรียน ต้องเผื่อเวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า30-40 นาทีค่ะ ปัญหาการเดินทางทำให้เด็กเล็กยิ่งเหนื่อยมากกว่าผู้ใหญ่อีกนะคะ
สิ่งที่พ่อแม่ต้องระวังคือ ความเครียด ความเมื่อยล้าและความกังวลของเด็กๆ ซึ่งเด็กอาจจะไม่แสดงออกมาให้เห็น แต่พ่อแม่ต้องหมั่นคอยสังเกตอาการของลูกด้วยนะคะ ทั้งนี้เพื่อให้ช่วงเวลาหลังเลิกเรียนลูกได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เทคนิคเหล่านี้ช่วยได้ค่ะ
• แบ่งเวลาให้ชัดเจน ช่วงไหนลูกจะทำอะไรและทำอะไรก่อน-หลัง
เช่น เรื่องการดูแลตนเอง ทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ สระผม การรับประทานอาหารเย็น การเตรียมตัวสำหรับวันรุ่งขึ้น เช่น จัดของใช้ที่ต้องนำไปโรงเรียน เตรียมชุดนักเรียน ตลอดจนของใช้ส่วนตัวอื่นๆ ให้พร้อมก่อนเข้านอน
• แบ่งเวลาทบทวนบทเรียน รวมถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
ถึงแม้ลูกจะทำการบ้านเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ควรใช้เวลาประมาณ15-20 นาที พูดคุยกับลูก ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนี้ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โปรแกรมทัศนศึกษาของโรงเรียน สิ่งที่จะทำร่วมกันของครอบครัวในช่วงวันหยุด และชวนลูกคุยเรื่องเพื่อน เป็นต้น
ประการสำคัญเมื่อพูดคุยเรื่องราวต่างๆ กับลูก และรู้ว่าลูกทำสิ่งดีๆ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบให้คำชมเชยเลยนะคะ

ลูกชอบถามอยู่เรื่อยๆ ว่าทำไมซื้อของเล่นไม่ได้ ทำไมซื้อทุกวันไม่ได้ ทำไมแม่ไม่ซื้อให้อีก ทำไมเราไม่รวย เมื่อไรเราจะรวย ของเล่นเต็มบ้านแล้วนะคะ
ก่อนอื่นขอให้รู้ว่าลูกฉลาด รู้จักซักถาม เขาถามเพียงเพื่อถามและต้องการให้เราตอบ เราตอบด้วยความเอ็นดูและสนุกสนาน อย่าจริงจังกับการพยายามเค้นหาคำตอบมากจนเกินไป
เด็กต้องการแค่แม่พิมพ์ของคำถามและคำตอบ คือต้นแบบของ “เหตุ” และ “ผล” เท่านั้นส่วนคำตอบจะถูกหรือไม่ถูกมิใช่เรื่องสำคัญ แม่และพ่อสนุกกับการตอบคือใช้ได้
“ของเล่นนี้ไม่จำเป็น” สั้นๆได้ แล้วเดินต่อไป
“วันนี้ แม่ยังไม่ให้ซื้อ” สั้นๆพอ แล้วเดินต่อไป
สำคัญที่ท่าทีเราที่สงบ ไม่ตัดรำคาญ เขาถามเราตอบ และคำตอบนี้ก็จริงใจมาก ถูกต้องด้วย เด็กคนหนึ่งจะซื้อหรือไม่ซื้อของเล่นอะไร เมื่อไร ราคาเท่าไร เกินฐานะหรือไม่ เงินพ่อแม่จะหมดหรือเปล่า เหล่านี้ขึ้นกับ “ความเหมาะสม” มิได้ขึ้นกับว่าพ่อแม่รวยเท่าไร
พ่อแม่รวย มิได้แปลว่าควรซื้อของเล่นต่างประเทศราคาแพงชิ้นละพันสองพันได้ทุกสัปดาห์ พ่อแม่จน มิได้แปลว่าต้องกัดฟันเจียดงบประมาณด้านอื่นมาซื้อของเล่นเพื่อมิให้ลูกน้อยหน้าหรือมีปมด้อย น้อยหน้านั้นส่วนใหญ่คือหน้าเรา มีปมด้อยนั้นเป็นเราเองที่ยัดเยียดให้เขา
พ่อแม่จนมิได้แปลว่าลูกเราจะพัฒนาการล่าช้าเพราะไม่มีของเล่นสร้างเสริมพัฒนาการตามที่ข้างกล่องเขียนคำโฆษณา ของเล่นที่มีประโยชน์ที่สุดยังคงเป็นการเล่นทรายสกปรก ระบายสีเลอะเทอะ ขยำดินน้ำมันราคาถูก ตัดหรือพับกระดาษใช้แล้วเป็นงานประดิษฐ์ สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ของเล่นที่ดีที่สุดคือ “ตัวเป็นๆของพ่อแม่ที่จับต้องได้”
ของเล่น 4 อย่างแรกที่เอ่ยมา ไม่แพงเลยถ้าซื้อของราคาถูก ของเล่นชิ้นที่ 5 ที่ควรมีคือบล็อกไม้หรือบล็อกอิฐ ซึ่งของดีราคามักจะแพง แต่ถ้าเราจน เราสะสมโฟม เศษไม้ เศษก้อนอิฐ และวัสดุรูปทรงต่างๆ เอาไว้เล่นต่อปราสาทราชวังแทนบล็อกไม้สำเร็จรูปก็ได้ ปราสาทของราชายาจกกับปราสาทของพระราชามิได้ต่างกันในมุมมองของเด็ก ราชาก็คือราชาวันยังค่ำเพราะเขาเป็นศูนย์กลางของจักรวาล
การให้ลูกสะสมเงินที่เหลือจากโรงเรียนเพื่อซื้อของเล่นด้วยตนเองก็มิได้แปลว่าลูกรวยแล้วจะซื้ออะไรก็ได้ เรามีหน้าที่แนะนำหรือทำเป็นตัวอย่างเสมอในการใช้เงินของลูก ก่อนที่ลูกจะโตพอที่จะจ่ายเงินสะสมหลักหมื่นเพื่อซื้อของเล่น เรามีเวลาไม่มากนักที่จะทำให้เขาเห็นว่าโลกมีของที่น่าซื้อมากกว่าของเล่น เช่น ชุดหนังสือ หรือเครื่องดนตรี หรือชุดกีฬาที่เหมาะสม ที่เขาสามารถขยายขอบเขตความสามารถไปได้มากกว่าที่พ่อแม่สนับสนุนอยู่ก่อนแล้วบางส่วน
เงิน มิได้เป็นวัตถุทางรูปธรรมที่จับต้องได้และมีค่าคงที่ ที่จริงแล้วเงินเป็นนามธรรม ทำให้ลูกรู้ว่าเงินนั้นเป็นนามธรรม
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล
อยากรู้ตารางน้ำหนักส่วนสูงของลูกวัยทารกจะเป็นแบบไหน แบบไหนเรียกว่าลูกตัวสูง แบบไหนที่ต้องเริ่งเสริมพัฒนาการมาเช็กค่ะ
ตารางน้ำหนัก ส่วนสูง มาตรฐานตามอายุลูกแรกเกิด – 12 เดือน
การประเมินการเจริญเติบโตและพัฒนาการด็กทารก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักหรือส่วนสูงเพียงอย่างเดียวนะคะ แต่ขึ้นอยู่กับการได้รับอาหารที่มีประโยชน์ เหมาะสมและเพียงพอกับวัย พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว การเคี้ยวกลืน การขับถ่าย พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม ด้วย
โภชนาการที่เหมาะสมกับทารกที่มีอายุ 6-8 เดือน คืออาหารเสริม 1-2 มื้อ สลับกับนมวันละประมาณ 20-24 ออนซ์ โดยแบ่งมื้อนม 3-4 มื้อต่อวัน และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพที่ดีของทารก หากพ่อแม่เข้าใจและตอบสนองลูกอย่างเหมาะสม จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถเติบโตมาเป็นเด็กที่ เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดี และมีพัฒนาการสมวัยตามเกณฑ์นะคะ
ตารางน้ำหนักส่วนสูงของลูกทารก

พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกอ้วน แต่ในความเป็นจริงหากลูกน้ำหนักตรงตามเกณฑ์ ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะผอมเกินไป เพราะเมื่อเด็ก ๆ ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือนหรือมากกว่านั้น กินอาหารเสริมหลัง 6 เดือนไปแล้ว ถ้าน้ำหนัดกลูกยังตรงตามเกณฑ์ ก็ถือว่าสมบูรณ์แข็งแรงค่ะ ที่สำคัญ แม้เด็กอ้วนจะน่ารัก แต่ก็เสี่ยงโรคภัยหลาย ๆ โรคด้วย

เคยสงสัยไหมคะว่าทำไมเด็กเล็ก ๆ เวลาถูกใจอะไรก็ชอบเอามือตีหน้าแม่ หรือใบหน้าของคนที่เขารู้จัก คนที่อยู่ใกล้ ๆ หรือคนที่อุ้มเขาอยู่ เรามีคำตอบค่ะ
ทำไมลูกทารกชอบตีหน้าแม่ ยิ่งเล่นสนุกยิ่งชอบตีหน้าพ่อแม่
เรื่องนี้มีคำตอบค่ะ เนื่องจากเด็กมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมือมากขึ้น แขนขาขยับได้ดีขึ้นแต่ก็ยังควบคุมได้ไม่ดีนัก และหลายครั้งที่เด็กทำเด็กจะมองหน้าแม่ ถ้าลูกเล่นกับแม่แล้วแม่ยิ้ม ตรงนี้เองที่จะเป็นตัวบอกเด็กว่าอันนี้แม่ชอบ และสนุกสนานด้วย จนทำให้เด็กมองเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดี ยิ่งอารมณ์ดีมากๆ ก็ยิ่งชอบใจมาก ก็จะตีหน้าแม่รัวมากๆ เช่นกัน
สิ่งที่คุณแม่จะทำได้ขณะนั้น อาจจะต้องหยุดการเล่น แล้วบอกกับลูกอย่างจริงจังว่าทำอย่างนี้ไม่ได้นะ แม่เจ็บ อาจจะจับมือลูกแล้วมองหน้าเขา พร้อมกับพูดเหตุผลให้เขาฟัง ลูกจะยอมหยุดและเล่นอย่างอื่นแทน หากครั้งต่อไปลูกยังตีอีก คุณแม่ก็ควรใช้วิธีเดิมในการจัดการ เพื่อให้เขาเกิดการย้ำคิดย้ำทำ และไม่ทำอีกในที่สุด
คุณแม่สามารถฝึกให้ลูกพัฒนากล้ามเนื้อมือได้อย่างเหมาะสม มากกว่าร้องร้องห้ามเวลาลูกตีค่ะ เช่น ให้ลูกใช้มือหยิบข้าวของ ใช้มือจับช้อนตักข้าวเข้าปาก ใช้มือในการเล่นเกมหรือทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น เป็นต้น
เล่นกับลูกยังไงไม่ขัดพัฒนาการทารก
-
เวลาอุ้มลูกแล้วไม่อยากให้ลูกตีหน้า ควรอุ้มแบบหันหน้าออกข้างนอก ระวังอย่างให้ลูกหันหน้าเข้าหาแม่ เพราะลูกจะมีโอกาสตีหน้าแม่ได้
-
เวลาเล่นกับลูก เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นชี้หน้า ไหนจมูก ไหนปาก คิ้ว ตา ต้องทำท่าทางให้ชัดเจนว่าคุณแม่กำลังชีอวัยวะบนใบหน้าอยู่ หรือจะจับมือลูกมาชีเองเลยก็ได้ ช่วยลดโอกาสที่ลูกจะตีหน้าแม่ลง
-
เมื่อถูกลูกตี ห้ามโวยวายเด็ดขาด เพราะเด็กบางคนจะรู้สึกสนุกเมื่อแม่ส่งเสียงร้องดังๆ ยิ่งทำยิ่งสนุก ให้นิ่งเงียบแล้วบอกลูกว่าอย่าตี แล้วกลับไปเล่นในสิ่งที่เราต้องการให้เล่น เช่น กลับไปเล่นจ๊ะเอ๋ กลับไปเล่นชี้จมูก ชี้ตา แต่ถ้าลูกไม่ยอมจะตีอย่างเดียว ให้ลุกขึ้นยืนทันทีค่ะ เพื่อตัดโโอกาสที่เด็กจะตีหน้าได้
-
เมื่อรู้ว่าลูกจะตี ทันทีที่ลูกเอื้อมมือ ขยับมือทำท่าจะตี รู้ให้รีบจับมือลูกไว้เลย
-
ทุกคนในบ้านต้องทำแบบเดียวกัน ห้ามปล่อยโอกาสให้ลูกตีพี่เลี้ยง หรือปู่ย่าตายายได้ และต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อลูกตีหน้าแม่ การดุด่าไม่ใช่สิ่งที่ควรทำค่ะ เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจเหตุผล หรือแม่แต่การตีตอบก็ไม่ควร เพราะนอกจากจะเป็นการปลูกฝังเรื่องความรุนแรงแล้วยังอาจไม่ได้ผลอีกด้วย
ทำไมเด็กทารกนอนหลับแล้วยังส่งยิ้มได้ ข้อนี้เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทารกไหม เรามีคำตอบค่ะ
ทำไมลูกทารกชอบยิ้มตอนหลับ ทารกยิ้มตอนหลับได้อย่างไร
- เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า การยิ้มระหว่างหลับของทารกในช่วง 0 - 1 เดือนแรกหลังคลอด ไม่ได้มาจากการฝันนะคะ แต่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า เพราะทารกยังไม่สามารถแยกแยะอารมณ์ความรู้สึกได้
- ลูกกำลังฝัน ช่วง 6 เดือนขึ้นไป ทารกจะเริ่มฝันแล้ว เนื่องจากทารกวัยนี้มองเห็นได้อย่างเต็มที่ จึงเกิดการเก็บไปฝัน ซึ่งการฝันของทารกวัย 6 เดือน จะยังไม่เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนผู้ใหญ่ แต่จะเป็นภาพสไลด์แบบไม่ต่อเนื่อง และทารกจะยังไม่เข้าใจว่านี่คือความฝัน
- พัฒนาการกล้ามเนื้อใบหน้า ในช่วง 2 - 5 เดือน ขณะหลับทารกจะมีอาการทางสีหน้าหลายอย่าง เช่น สีหน้าบึ้งตึง ขมวดคิ้ว ทำปากขมุบขมิบ และยิ้ม อาการเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าทารกกำลังฝันหรือกำลังเล่นกับแม่ซื้ออยู่ แต่คือพัฒนาการกล้ามเนื้อใบหน้าของทารกเท่านั้น
ลูกชอบยิ้มตอนหลับไม่ใช่เพราะลูกกำลังเล่นกับแม่ซื้อตามความเชื่อที่เราเคยได้ยินนะคะ แต่เกิดจากพัฒนาการกล้ามเนื้อใบหน้าตามที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ พัฒนาการต่างๆ จะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กฉลาดในอนาคตแน่นอนค่ะ

ทารกแลบลิ้นบ่อย ๆ สามารถบอกได้ถึงพัฒนาการทารกว่าตอนนี้เขากำลังพัฒนาเรื่องอะไรอยู่ มาเช็กพัฒนาการลูกทารกจากการแลบลิ้นกันค่ะ
ทำไมลูกทารกชอบแลบลิ้นบ่อย ทารกแลบลิ้นบอกถึงพัฒนาการเด็กอย่างไร
คุณแม่หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมทารกชอบแลบลิ้น จนถึงขั้นวิตกกังวลไปต่างๆ นานาว่าเขาอาจเป็นแผลในช่องปากหรือเปล่า ลูกไม่สบายหรือเปล่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ วันนี้เรามีคำตอบเรื่องทารกชอบแลบลิ้นมาบอกกันค่ะ
ทารกชอบแลบลิ้นบ่อย ๆ เพราะ
- ทารกกำลังเรียนรู้อวัยวะของตัวเอง ทารกวัย 2 เดือน จะเริ่มสำรวจเเละเรียนรู้อวัยวะของตัวเอง โดยเริ่มจากการควบคุมลิ้นในระหว่างดูดนมแม่ หรือการดื่มน้ำ
- ทารกกำลังเล่นกับปากเพื่อทำเสียง และจะปรับเปลี่ยนเสียงไปเรื่อยๆ ตามความต้องการ ถือเป็นการเรียนรู้รูปแบบหนึ่ง
- ทารกกำลังเล่นน้ำลาย การเล่นน้ำลายเป็นเรื่องปกติของทารก คุณแม่ต้องคอยเช็ดน้ำลายออก อย่าปล่อยให้คางหรือคอเปียก เพราะอาจทำให้เกิดแผลจากการกัดของน้ำลายได้
- ทารกกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการพูด หรือการออกเสียง สำหรับทารกที่ชอบทำลิ้นจุกปาก ไม่ใช่อาการผิดปกตินะคะ ถ้าลูกไม่ได้แสดงสีหน้าเจ็บปวดหรือร้องไห้ไปด้วย แสดงว่าทารกกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการพูด รับรองว่าเจ้าตัวน้อยของคุณแม่ต้องพูดเก่งแน่นอนค่ะ
- เกิดจากการเลียนแบบ มีคนมาแลบลิ้นให้ทารกเห็นจึงทำตาม
ทารกส่วนมากมักจะเรียนรู้อวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายตัวเอง เช่น การแลบลิ้น การทำเสียงด้วยปาก การหยิบจับของ ฯลฯ ซึ่งการเรียนรู้เหล่านี้จะส่งผลให้พัฒนาการของทารกดีขึ้น และเป็นเด็กฉลาดในอนาคตแน่นอนค่ะ
หากทารกเริ่มมีอาการแลบลิ้นและร้องไห้หรือแสดงอาการเจ็บปวด ให้คุณแม่สำรวจช่องปากและลิ้นของทารกให้ดีนะคะ เพราะอาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากการเป็นแผลในช่องปาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ด่วนค่ะ

นิสัยของพ่อแม่ 3 สไตล์ มักจะได้ลูกเป็นคนแบบนี้
คุณพ่อคุณแม่ลองสำรวจตัวเองดูนะคะ ว่าส่วนใหญ่แล้ว เรากำลังเป็นพ่อแม่แบบไหน แล้วจะเปลี่ยนอะไรในตัวเองเพื่อเป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้นบ้าง เพื่อให้ลูกมีอิสระ แต่ก็มีขีดจำกัดที่เหมาะสมได้
1.พ่อแม่ชอบบงการ
พ่อคุณที่ลึก ๆ แล้วมักจะชอบบงการลูก อยากให้ลูกเชื่อฟังคำสั่ง และมักจะลงโทษลูก เช่น "กินข้าวให้หมด ไม่อย่างนั้นแม่จะตีมือเลยนะ" "พูดขอโทษเดี๋ยวนี้นะ ไม่งั้นแม่จะไม่รัก " เป็นต้น หากคุณเผลอที่เป็นพ่อแม่แบบนี้ สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ
- ลูกจะทำตัวเป็นเด็กดีชั่วคราว เลี่ยงการถูกลงโทษ
- ลูกจะกลัวพ่อแม่และผู้ใหญ่ แบบไร้เหตุผล
- ลูกไม่เรียนรู้ที่จะคิดเอง
- เก็บกด และเลียบแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ เป็นต้น
2.พ่อแม่ตามใจลูกเกินไป
พ่อแม่หลายคนไม่ยอมรับว่ากำลังตามใจลูกอยู่ แต่จริง ๆ แล้วกำลังทำนะคะ เช่น ให้ลูกซื้อของเล่นทุกอย่างที่อยากได้ ปล่อยให้ลูกเล่นไปกินข้าวไป เป็นต้น หากคุณเผลอที่เป็นพ่อแม่แบบนี้ สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ
- ลูกไม่เรียนรู้ขอบเขตของตัวเอง
- ลูกไม่ถูกฝึกให้รับผิดชอบ ตามใจตัวเอง
- ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น
- ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น
- บีบบังคับให้พ่อแม่และคนอื่น ๆ ทำตามตัวเอง เป็นต้น
3.พ่อแม่ที่ให้ทางเลือก
พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกแบบประชาธิปไตย ปล่อยให้มีอิสระและขีดจำกัดที่มีขอบเขตพอเหมาะ จะปฏิบัติ 2 แบบ คือ กำหนดขอบเขตความพอดีให้เด็ก และให้เด็กมีทางเลือกภายในขอบเขตนั้น เช่น "ลูกซื้อของเล่นได้ แต่เลือกได้ในโซนนี้ที่ราคา 100 บาทเท่านั้นนะคะ" หากคุณเป็นพ่อแม่แบบนี้ สิ่งที่ลูกจะได้เรียนรู้ คือ
- ฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมตามความเหมาะสม แต่ไม่ใช่ทุกครั้งไป
- ลูกจะรู้ว่าทางเลือกของเขามีความสำคัญ
- ลูกจะเรียนรู้ว่าบางอย่างมาพร้อมกับความรับผิดชอบ
- ลูกจะเป็นเด็กเชื่อมั่นในตัวเอง
- ลูกจะรับฟังคนอื่นเป็น เป็นต้น

ทางบ้านไม่อยากให้ลูกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพราะเปลือง ทางครูก็กดดันมาว่าทำไมเด็กยังต้องใช้อีก คนอื่นๆ เขาเลิกใช้กันแล้ว หนูกลุ้มใจมากเลย เพราะพอไม่ใส่ก็ราด
เด็กทุกคนบนโลกจะสามารถกลั้นฉี่และอึได้ก่อนอายุ 3 ขวบทุกคน หากเราไม่กดดันจนเกินไป ช่วงอายุ 2-3 ขวบเป็นช่วงวัยพัฒนาการที่เรียกว่าออโตโนมี่ (autonomty) เด็กจะพัฒนาความสามารถกลั้นฉี่และกลั้นอึได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่มีใครต้องสอน และที่จริงแล้วไม่มีใครจะมีปัญญาสอน เพราะกล้ามเนื้อกลั้นฉี่กลั้นอึนี้เป็นกล้ามเนื้อเรียบ (smooth muscle) ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของจิตใจ
กล้ามเนื้อกลั้นฉี่กลั้นอึที่หูรูดกระเพาะปัสสาวะและที่หูรูดทวารหนักอยู่ที่ศูนย์กลางของร่างกายอยู่แล้ว จึงจะพัฒนาได้เองเป็นอย่างแรกๆ โดยที่ไม่ต้องมีใครบังคับ ที่เราพยายามสอนเด็กๆ คือสอนเรื่องกาลเทศะเสียมากกว่า กล่าวคือเมื่อปวดฉี่ให้ไปฉี่ตรงนั้น และเมื่อปวดอึให้ไปถ่ายตรงนั้น พ่อแม่ที่รู้งานจะพาลูกไปห้องน้ำตามเวลา ด้วยความสุข นั่งเป็นเพื่อน รอเวลาให้เขาถ่าย เขาไม่ถ่ายก็กลับออกมาด้วยความสุขเหมือนขาเข้า เราจึงเรียกว่าสุขา เข้าก็เป็นสุข ออกก็เป็นสุข เมื่อเด็กๆ เป็นสุขเขาจะทำได้เองโดยไม่มีใครสอน เรียกว่าทำได้เองโดยอัตโนมัติ
ในทางตรงข้าม หากเรากดดันเขามากไปในวันเวลาที่เขาไม่พร้อม เขาจะติดขัด พัฒนาไม่ไป เราเรียกว่า fixation การกลั้นฉี่อึนี้ก็จะยืดยาวออกไป
และถ้าเรายังไม่เลิก ดุด่าว่าตีซ้ำเพียงเพราะเขากลั้นยังไม่ได้ เขาจะเริ่มถดถอย พัฒนาการถอยหลัง เราเรียกว่า regression ความสามารถที่จะกลั้นได้ก็จะยืดยาวออกไปอีก
เรื่องการติดขัดและการถดถอยนี้เป็นได้กับพัฒนาการอื่นๆ ด้วย ภายใต้ขอเท็จจริงที่ว่าเด็กแต่ละคนพัฒนาเร็วช้าต่างกัน เอามาเปรียบเทียบกันมิได้ ในวันเวลาที่เขายังบวกลบเลขมิได้ อ่านเขียนมิได้ แล้วเรากดดันอย่างหนัก เขาจะติดขัดไปจนถึงถดถอย บวกลบเลขและอ่านเขียนมิได้เนิ่นนานออกไปอีก
ในทางตรงข้าม เราสบายๆ กับช่วงปฐมวัย คือ 2- 7 ขวบ อะไรๆ ก็รอได้ พัฒนาการแทบทุกด้านจะเกิดขึ้นได้เอง ตามจังหวะก้าวของแต่ละคน อย่างมั่นคง
การกลั้นไม่ได้นำมาสู่การใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเทคโนโลยี่ที่สะดวกสบายกว่าผ้าอ้อมใช้แล้วซักมาก แต่ก็สิ้นเปลืองเงินมากด้วย อย่างไรก็ตามหากมีเงินจ่ายก็จ่ายไปเถอะ เดี๋ยวก็ดีเอง หากไม่มีเงินจ่ายก็ไปตัดผ้าอ้อมมาไว้มากๆ แล้วเปลี่ยนไปซักไปแบบโบราณอะไรๆ ก็จะดีเองเช่นกัน
เด็กที่ทำได้ พอถึงวันเขาจะยืนแกะผ้าอ้อมเดินเข้าห้องน้ำได้เองทุกคน
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

ทารก 1 เดือน เป็นช่วงบอบบางและต้องปรับตัวอย่างมากกับโลกภายนอก พัฒนาการเด็กอายุ 1 เดือนเป็นอย่างไร เช็กกันตรงนี้ค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 1 เดือน พัฒนาการทารกแรกเกิด และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
พัฒนาการทางร่างกายของทารก 1 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ทารกในช่วงหนึ่งเดือนแรกยังต้องการการนอนหลับพักผ่อนมากถึง 12-14 ชั่วโมง และเมื่อตื่นก็มักจะใช้เวลาไปกับการดูดนม การเปลี่ยนผ้าอ้อม และการมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในบางครั้งคราว และหลายครั้งก็จะร้องไห้อย่างหาสาเหตุไม่ได้ อย่างไรก็ตามการนอนของทารกไม่ได้หยุดยั้งพัฒนาการแต่อย่างใด แต่เขาสามารถรับรู้ถึงแรงกระตุ้นและตอบสนองกับสิ่งเร้าต่างๆ แม้ว่าดวงตาของเขาจะปิดก็ตาม หรืออาจะกล่าวได้ว่าทารกจะหลับสนิทประมาณ 20-30% เท่านั้น นอกนั้นจะเป็นการเคลิ้มหลับ ตารางเวลาของทารกจะตื่นทุก ๆ 3 ชั่วโมงในช่วงสัปดาห์แรกตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 2 คุณพ่อคุณแม่ก็จะเริ่มจับกิจวัตรประจำวันและอากัปกิริยาของลูกเวลานอนได้มากขึ้น อาทิ
- ครางหงิง ๆ เบา ๆ
- ทำหน้าเหยเก
- แสยะยิ้มหรือทำหน้านิ่วคิ้วขมวด
- ดูดปากเองเสียงดังจุ๊บจั๊บ
- หายใจไม่สม่ำเสมอ
- มีอาการกระตุกที่ใบหน้า
- เปลือกตาเผยอเล็กน้อยและดวงตาคู่เล็กๆ มักชำเลืองไปมา
พัฒนาการทางร่างกายของทางรก 1 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ร่างกายของทารกช่วงนี้มักจะอยู่ในผ้าห่มอุ่น และยังต้องการความปลอดภัยจากการห่อหุ้มนี้ เพราะถ้าผ้าหลวมเกินไปก็จะทำให้ผวาและร้องไห้ได้ และจะเห็นได้ว่าพัฒนาการทางร่างกายของทารกยังไม่มีการพัฒนามากนัก แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายทารกวัย 1 เดือนมีพัฒนาการที่ดี คือ การเตรียมเสื้อผ้าให้พอดีตัว ผ้าอ้อมแห้งไม่เปียกชื้น และผ้าห่มที่อุ่นสบาย จะช่วยให้เขามีพัฒนาการทางร่างกายที่ดีได้เช่นกัน
พัฒนาการทางร่างกายที่เด่นชัดของทารก 1 เดือน ได้แก่
- ถ้าดึงแขนลูกขณะนอน ทารกจะพยายามยกศีรษะตั้งตรงกับแนวหลัง
- เมื่อนอนหงายจะพลิกตัวได้
- ยังไม่สามารถพยุงศีรษะให้ตั้งตรงเองได้
- ชอบเอากำปั้นเข้าปาก เมื่อแกะมือออกจะทำท่าเหมือนฉวยจับด้ามช้อน
เปิดประสบการณ์อย่างแรกด้วยดวงตาของทารก 1 เดือน
นักวิจัยและนักพัฒนาการเด็กมีความเชื่อว่า การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพัฒนาการด้านสายตา จะช่วยให้ลูกตอบสนองได้ดีกว่าการปล่อยให้ลูกมองสิ่งต่างๆ เองตามธรรมชาติ เพราะจะช่วยให้การมองแบบไร้จุดหมายมีจุดหมายขึ้น อย่างเช่น โมบาย ภาพเคลื่อนไหว เสียงกระดิ่ง เป็นต้น
- เด็กจะมองชัดเมื่อวัตถุเข้าใกล้ประมาณ 8-10 นิ้ว
- มองตามแสงหรือใบหน้าคน
- มองตามสิ่งของจากบนลงล่างและไปด้านข้างได้แล้ว นัยตา 2 ข้างเริ่มประสาน กัน
พัฒนาการปฎิกิริยาสะท้อนกลับของทารก 1 เดือน
ทารกวัย 1 เดือนมีปฎิกิริยาสะท้อนกลับไวขึ้น ก็จะมีการกระตุกน้อยลง เพราะสมองและเส้นประสาทต่างๆ เริ่มทำงานเป็นระบบควบคู่กับกล้ามเนื้อได้ดีขึ้น บวกกับลูกจะหายใจเป็นจังหวะมากขึ้น มีอาการสะดุ้ง ตกใจ ผวา ลดลง อาจจะสังเกตว่าเหลือแต่มือและเท้าที่กระตุกในบางครั้งเท่านั้น
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจของทารก 1 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ในเดือนแรกนี้ทารกมักจะหงุดต่อสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวน ไม่ว่าจะเป็นการรบกวนจากสิ่งเร้าภายนอก หรือการบิดตัวของตนเองก็สามารถหงุดหงิดิได้เช่นกัน แต่เป็นช่วงที่ทารกกำลังเรียนรู้ที่จะปรับตัว ซึง่จะพบว่าทารกจะร้องไห้เก่งขึ้นและกินนมบ่อยขึ้นกว่าสัปดาห์แรก บางครั้งคุณก็จะเห็นลูกยิ้มน้อยๆ เหมือนกับอารมณ์ดีทักทายคนอื่นๆ แต่ว่าการยิ้มนี้มักจะเกิดขึ้นช่วงนอนหลับ และเกิดจากกล้ามเนื้อกระตุกยิ้มให้เท่านั้นเอง
สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลคือ การร้องไห้ ลูกมักจะร้องเพราะหิวนม เปียกชื้น หงุดหงิด และการร้องไห้มิใช่เรื่องของอารมณ์เพียงอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือลูกต้องการสื่อสารให้เราทราบบางอย่างที่เขาต้องการ ซึ่งจะแสดงออกด้วยการร้องไห้นั่นเอง บางครั้งลูกจะร้องไห้ 4-5 ครั้ง นาน 20-30 นาทีต่อวัน ดังนั้นเมื่อลูกร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับอารมณ์ของลูกได้โดยการอุ้มปลอบโยน ปล่อยให้ลูกนอนเล่นเงียบๆ พูดคุยจ้องหน้า เพื่อให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย แล้วลูกก็มักจะผลอยหลับไปเอง
แม้ว่าลูกจะมีอายุได้แค่เดือนเดียวแต่เขาก็สามารถรับคลื่นความเครียดจากคุณพ่อคุณแม่ได้ ถ้าคุณแม่เริ่มเครียดเรื่องค่าใช้จ่าย คุณพ่อเครียดเรื่องงาน ลูกจะรับรู้ได้ทันทีและจะโยเยอย่างไม่มีเหตุผลบ่อยครั้ง แต่หากคุณพ่อคุณแม่เข้าหาลูกด้วยท่าทีอารมณ์ดี ลูกก็จะเป็นเด็กที่แจ่มใสโยเยน้อยกว่าด้วย
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจที่เด่นชัดของทารก1 เดือน ได้แก่
- ทำสีหน้าพอใจเมื่อสบาย และทำสีหน้าทางลบเมื่อรู้สึกเจ็บ
- หากได้สบตาคุณพ่อคุณแม่หรือคนคุ้นเคย จะมีอารมณ์ดีขึ้น
- เริ่มจำเสียงพ่อแม่ได้แล้ว
- ปรับท่าทางตัวเองให้เหมาะกับการอุ้มของคุณพ่อคุณแม่
พัฒนาการทางภาษาของทารก 1 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ภาษาและการสื่อสารของทารกวัย 1 เดือนยังเป็นการร้องไห้เพื่อเรียกร้องความต้องการของตนเอง คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มเข้าใจลักษณะการร้องว่าลูกต้องการอะไร แต่เด็กยังไม่สามารถแยกแยะการกระทำต่างๆ ของตนเองและคุณพ่อคุณแม่ได้ แต่สิ่งพิเศษสุดคือเขาสามารถจดจำเสียงคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวได้แล้ว
พัฒนาการทางภาษาที่เด่นชัดของทารก 1 เดือน ได้แก่
- โต้ตอบอือออบ้างเมื่อได้ยินเสียงคน
- สนใจและตอบสนองของของเล่นที่มีสีสันสดใส
- มองหาต้นกำเนิดเสียงที่ตนเองคุ้นเคย
พัฒนาการทางสังคมของทารกวัย 1 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
สังคมของทารกวัย 1 เดือนจะมีเพียงบรรยากาศรอบๆ ตัวและคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น ซึ่งช่วงนี้เขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกได้บ้างแล้ว และพร้อมเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ จะสังเกตได้ว่าลูกชอบมองหาสิ่งแปลกใหม่เสมอ และลูกจะเริ่มนอนน้อยลง จะชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ชอบให้อุ้ม คุย กอด ทำให้อารมณ์ดีและมีรอยยิ้มอยู่เรื่อยๆ
พัฒนาการทางสมองของทารก 1 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
พัฒนาการทางสมองของทารกวัย 1 เดือนจะเรียนรู้ได้อย่างเป็นขั้นตอน สมองและระบบประสาทกำลังเชื่อมต่อได้อย่างดีขึ้นเรื่อยๆ และรู้จักการปฏิบัติตัวกลับบ้างในบางครั้ง อย่างเช่น ขยับร่างกายให้แม่อุ้มได้ง่ายขึ้น เป็นต้น สิ่งสำคัญของการพัฒนาสมองคือการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสายตาดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น


ลูกอายุ 3 เดือนมีพัฒนาการเด่นอะไรบ้าง พ่อแม่ต้องดูแลและส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัย 3 เดือนอย่างไร เรามีคำแนะนำค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 3 เดือน พัฒนาการทารก 3 เดือน พ่อแม่ต้องรู้และส่งเสริมเรื่องอะไรบ้าง
พัฒนาการทางร่างกายทารก 3 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ทารกวัย 3 เดือนจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก สามารถยกศีรษะได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะมีสิ่งล่อตาให้มองหา เริ่มบังคับกล้ามเนื้อคอได้อย่างมั่นคง หากคุณพ่อคุณแม่จับลูกนั่งพิงลูกจะเริ่มหันซ้ายขวาและชะโงกหน้ามาดูสิ่งที่ลูกสนใจ และหากจับลูกยืนเขาจะทำท่าเหมือนกระโดดจั๊มขาคู่ อีกทั้งมือกับตาเริ่มประสานกันมากขึ้นโดยสังเกตจากลูกหยิบของเข้าปากได้แม่นยำขึ้น
ด้านสายตา ลูกจะหันมองแสง สี รูปร่าง และเสียงของวัตถุ เริ่มมองเพ่งไปที่โมบายที่แกว่งไปมา รวมทั้งจ้องใบหน้าคนอย่างมีจุดหมาย และในเดือนที่ 3 นี้ลูกสามารถมองรอบๆ ห้องได้อย่างเต็มตาแล้ว
พัฒนาการสำคัญที่เห็นชัดในทารกวัย 3 เดือนนี้ คือการใช้มือ กุมมือ จับมือ ตีมือ และจ้องมองมือตนเองมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าประสาทตาทำงานได้ดีขึ้นมากแล้วนั่นเอง บางครั้งถึงกับยิ้มคิกคักเมื่อจับมือตนเองได้ แต่หากลูกหยิบสิ่งของที่อยู่ในมือและหล่นไป หากรอแล้วของสิ่งนั้นไม่กลับมาอยู่ในมือ ลูกก็จะละเลยความสนใจนั้นไป ลูกจะไม่ชอบมองสิ่งซ้ำๆ และมองหาสิ่งแปลกใหม่หรือสะดุดตาอยู่เสมอ
พัฒนาการทางร่างกายที่เด่นชัดของทารก 3 เดือน ได้แก่
- ควบคุมการทำงานของร่างกายดีขึ้น
- มองตามและหันตามของที่เคลื่อนไหว
- หากมีเสียงดังขึ้น จะหยุดดูดนิ้วหรือดูดนมและหันหาที่มาของเสียง
- รู้ความแตกต่างของเสียงพูดและเสียงชนิดอื่นๆ
- นอนคว่ำชันคอนาน แต่ชันอกได้ไม่กี่นาที
- ยกแขนทั้งคู่หรือขาทั้งคู่ได้
- เมื่อจับยืนขาจะยันพื้นได้ครู่เดียว
- นั่งพิงได้ ศีรษะเอนเล็กน้อย
- ตี คว้า ดึง สิ่งของเข้าหาตัวเอง
- เชื่อมโยงการเห็นและการเคลื่อนไหวได้
- นอนกลางคืนได้นาน 13-16 ชั่วโมง ตื่นช่วงกลางวันมากขึ้น
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจทารก 3 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะเข้าใจความพึงพอใจ เช่น ถ้าลูกเอามือเข้าปากแล้วจะรู้สึกพอใจ หรือการเอื้อมมือเข้าไปจับโมบายเพราะความพึงพอใจที่อยากจะทำ สามารถรอคอยได้ดีขึ้น เมื่อถึงเวลากินนมลูกจะอารมณ์ดี เพราะลูกจะรู้ว่าถึงช่วงเวลาแห่งความสุขแล้ว
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจที่เด่นชัดในทารก 3 เดือน ได้แก่
- หยุดร้องไห้ทันทีเมื่อเห็นหน้าคน
- ตอบโต้สิ่งเร้าแทบทุกชนิด
- ยิ้มง่ายและยิ้มทันที
- มีเหตุผลมากยิ่งขึ้น และสามารถรอคอยได้บ้าง
พัฒนาการทางภาษาทารกวัย 3 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะเข้าใจกิจวัตรประจำวันและเข้าใจพ่อแม่มากขึ้น ถึงแม้ว่าลูกยังอ้อแอ้อยู่ก็จะใช้ภาษากายเข้าช่วย เช่น เมื่อแม่เอานมมาก็จะโผเข้าหา อ้าปากรอเพื่อดูดนม และเริ่มเรียกอ้อแอ้ให้คุณสนใจ หรือเลือกวิธีร้องไห้ให้คุณพาไปเดินเล่นข้างนอกแทน ลูกจะติดต่อกับพ่อแม่ด้วยวิธีจ้องตา ทำเสียงอืออา แม้ว่าสักพักลูกจะมองไปทางอื่น แต่ก็จะกลับมามองหน้าพ่อแม่อีกครั้งพร้อมส่งเสียงเหมือนทักทายด้วย
พัฒนาการทางภาษาที่เด่นชัดของทารก 3 เดือน ได้แก่
- เงี่ยหูฟังเสียงอื่นๆ
- พูดแบบอือออ อ้อแอ้ หรือเสียงในลำคอตอบรับการได้ยิน
- โต้ตอบคำพูดหรือรอยยิ้มของแม่
- แยกออกระหว่างเสียงต่างๆ และเสียงของแม่
- ใช้การร้องไห้เพื่อบอกความต้องการเป็นหลัก
- หันไปหาเสียงพูดหรือเสียงเพลง
พัฒนาการทางสังคมทารกวัย 3 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะชอบอยู่กับคนอื่นและไม่ชอบที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่คนเดียวหรือเล่นคนเดียวนานๆ ชอบเล่นกับพ่อแม่พี่น้อง และหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะนำสิ่งใหม่ๆ มาให้ดู แต่เด็กบางคนมีบุคลิกเงียบเฉย เรียบร้อยก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ต้องการความสนใจ เด็กทุกคนล้วนต้องการการได้รับความสนใจและเป็นอันดับหนึ่งในใจพ่อแม่เสมอ
พัฒนาการทางสังคมที่เด่นชัดของทารก 3 เดือน ได้แก่
- แสดงอารมณ์ด้วยสีหน้าถ้าเจอคนคุ้นเคยจะแสดงออกทั้งร่างกาย
- เรียกร้องความสนใจ
- ต่อต้านเมื่อต้องอยู่คนเดียว
พัฒนาการทางสมองทารก 3 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
คลื่นสมองของเด็กอายุ 3 เดือน มีลักษณะใกล้เคียงกับสมองผู้ใหญ่ จะเห็นได้ว่าลูกสามารถควบคุมร่างกายและการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นแล้ว
ลูกจะจดจำเสียงพ่อแม่ได้และสนใจเสียงต่างๆ พร้อมอยากรู้ที่มาของเสียงนั้นด้วย ลูกจะเรียนรู้ผ่านมือมากขึ้นโดยเรียนรู้จากการสัมผัส รูปร่าง ขนาดของสิ่งของ สมองจะแยกแยะความแตกต่างเก็บเป็นข้อมูลชีวิตในภายภาคหน้า ซึ่งจะตามมาด้วยหลักในการเรียนรู้เรื่องเหตุและผล เช่น เมื่อลูกร้องไห้และเมื่อได้ยินเสียงแม่เดินเข้ามาก็จะหยุดร้อง เพราะรู้ว่าสักพักก็จะได้กินนมแล้ว เป็นต้น
ช่วงเวลา 6 เดือนแรกนี้เป็นช่วงเวลาทองที่สภาพแวดล้อม พ่อ แม่ และคนใกล้ชิดมีอิทธิพลต่อลูกเป็นอย่างมาก ซึ่งคนใกล้ชิดควรช่วยดูแลลูกเติมเต็มความต้องการพื้นฐาน เช่น กินอื่ม นอนหลับ ขับถ่ายดี รวมทั้งการดูแลเรื่องการเรียนรู้ โดยสอนให้ลูกได้ลองสัมผัส ดมกลิ่น ชิมรส กับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวบ้าง เพราะสิ่งใหม่ๆ จะทำให้ลูกมีความกระตือรือล้นในการเรียนรู้โลกใบนี้และพัฒนาสมองได้อย่างดีด้วย
พัฒนาการทางสมองที่เด่นชัดของทารก 3 เดือน ได้แก่
- รู้ความแตกต่างของใกล้และไกล
- สนใจสิ่งหนึ่งๆ ได้นานถึง 45 นาที
- เบื่อเสียงหรือสิ่งซ้ำๆ
- เรียนรู้ผ่านมือและการมองเห็น


พัฒนาการทารกวัย 7 เดือน ลูกวัย 7 เดือน เขาโตมากแค่ไหน ทำอะไรได้บ้าง เช็กพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ และสมองพร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการกันค่ะคุณแม่
พัฒนาการเด็กวัย 7 เดือน พัฒนาการทารก 7 เดือน พ่อแม่ต้องส่งเสริมอย่างไรให้ลูกโตดี
พัฒนาการทางร่างกายทารก 7 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
การเคลื่อนไหวของทารก 7 เดือนจำเป็นต้องมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้น เพราะจะต้องใช้ทั้งกล้ามเนื้อคอ ท้อง ลำตัว สะโพก ขา อีกทั้งต้องทำงานประสานกันกับร่างกายส่วนต่างๆ เช่น เอื้อมมือไปข้างหน้า ดึงตัวเองคืบไป แล้วใช้ขาถีบพื้นดันตัวเองตาม คุณพ่อคุณแม่สามารถหลอกล่อให้ลูกหัดคืบคลานได้ด้วยการใช้ของเล่นล่อให้ลูกมาหยิบจับเล่น เขาจะได้มีกำลังใจที่จะคืบคลานไปหาสิ่งที่เขาชอบ
คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมพื้นที่เบาะโฟมรองกระแทก หรือเสื่อน้ำมันที่ล้มแล้วไม่เจ็บ เพื่อให้ลูกฝึกคลานได้เองโดยไม่เกิดอุบัติเหตุจาการกระแทก และเก็บสายไฟหรือเฟอร์นิเจอร์มีคมให้เรียบร้อย เพื่อป้องลูกน้อยเหนี่ยวดึงสิ่งของเหล่านั้นเพื่อยันตัวเองขึ้นมา
พัฒนาการทางร่างกายของทารก 7 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ประคองศีรษะได้ดีเยี่ยม
- ยันตัวขึ้นในท่าคลาน และบางครั้งก็อาจจะคลานได้
- คืบไปข้างหน้าทั้ง ๆ ที่มีของอยู่ในมือ
- ถ้ามีคนช่วยดึงจะลุกขึ้นยืนได้ ด้วยขาเหยียดตรง
- อาจจับของเพื่อดึงตนเองลุกขึ้นยืน
- นั่งได้นานแบบไม่ต้องมีตัวช่วยพยุง
- ยันตัวเองขึ้นนั่งหรืออยู่ในท่าคลานได้
- ถือของข้างละอันและจับมากระทบกัน
- ชอบเล่นของเล่น
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจ ทารก 7 เดือนและการส่งเสริมพัฒนาการ
ลูกน้อยจะสนุกสนานกับเกมง่าย ๆ เช่น จ้ะเอ๋ หรือการที่คุณพ่อคุณแม่แกล้งทำของหล่น แล้วพูดว่า “อุ๊ย!” ลูกก็จะหัวเราะเบิกบานมาก แต่สิ่งสำคัญกว่าเสียงหัวเราะคือ การเชื่อมโยงลักษณะท่าทางและอารมณ์เหล่านี้เก็บไว้ในความทรงจำด้วย นอกจากนั้นลูกจะสบายใจเมื่อมีคนมาอยู่ด้วยกัน ไม่ชอบอยู่คนเดียว และรับรู้ว่าอยู่กับใครแล้วจะรู้สึกปลอดภัยมีความมั่นคงทางจิตใจ
บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะเห็นลูกขว้างของหรือว่าเล่นปึงปังแรง ๆ นั่นมิใช่ว่าลูกกำลังใส่อารมณ์หรือกำลังหงุดหงิดอยู่ แต่เป็นเพราะว่าลูกกำลังทดลองเล่นสนุกอย่างเต็มกำลังอยู่ต่างหาก
พัฒนาการทางภาษาทารก 7 เดือนและการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะออกเสียงเป็นภาษาพอให้เราเข้าใจได้เล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น พยัญชนะที่เริ่มต้นจากริมฝีปาก เช่น มา ปา เพราะออกเสียงง่าย ซึ่งพ้องกับคำว่า ปาป๊า มาม๊า หรือ พ่อ แม่ พอดี ทั้งนี้ การฝึกให้ลูกพูดชัดเจนขึ้นคุณควรจะมองตาลูกแล้วพูดนำ แล้วพูดช้าๆ ชัดๆ ซ้ำๆ ด้วยประโยคง่ายๆ เพื่อให้ลูกได้เลียนการออกเสียงทางริมฝีปากของคุณด้วย
พัฒนาการทางภาษาของทารก 7 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- สามารถส่งเสียงได้ทั้งสระและพยัญชนะ
- พูดคำเฉพาะที่มีความหมายส่วนตัวได้ อย่างเช่น ปา มา
- ส่งเสียงหลายเสียงรวดเดียว แล้วจึงค่อยหายใจ
- ตั้งใจฟังเสียงตนเองและเสียงผู้อื่น
- พยายามเลียนเสียงและออกเสียงไปด้วย
พัฒนาการทางสังคมทารก 7 เดือนและการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะติดคุณแม่มากขึ้น และเนื่องจากเขาเคลื่อนไหวได้ดีแล้วก็จะเริ่มอยากไปไหนกับคุณแม่ด้วย รู้สึกปลอดภัยและวางใจในตัวคุณแม่คนเดียว แม้จะเล่นอยู่ก็จะหันกลับมามองว่าคุณแม่อยู่ใกล้ๆ หรือเปล่า หรือมีเสียงของคุณแม่ให้ได้ยินอยู่ไหม ถ้าคุณแม่ไม่อยู่เจ้าหนูจะเริ่มโยเยจนกว่าคนอื่นจะมาดึงความสนใจไปหรือชวนเล่นอย่างอื่นลูกจะสามารถลืมได้อีกพักหนึ่ง แต่คนอื่นที่ว่านี้จะต้องเป็นคนคุ้นเคย เช่น ญาติๆ หากเป็นคนแปลกหน้าลูกจะร้องไม่ยอมหยุดเลย
พัฒนาการทางสังคมของทารก 7 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- เริ่มกลัวคนแปลกหน้า
- แสดงอารมณ์ขันเมื่อเห็นอะไรตลก ๆ
- แสดงความต้องการและอยากเป็นหนึ่งในสังคม
- เริ่มขัดขืนเมื่อถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
- แยกความแตกต่างกับเสียงที่เป็นมิตรกับเสียงที่กำลังโกรธอยู่ได้
- สำรวจร่างกายตนเองและร่างกายผู้อื่น
พัฒนาการทางสมองทารก 7 เดือนและการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
วัยนี้จะโฟกัสที่รายละเอียดเล็ก ๆ ที่แปลกตา เช่น ดวงตาคุณแม่ ลูกจะจับจิ้มและลองหยิบดูของเล่นว่ามันจะออกมาได้ไหมนะ โดยเฉพาะวัยนี้ที่เพิ่งนั่งได้อย่างแข็งแรง เขาจะก้มมองเห็นอวัยวะเพศตนเองและจับคลำเล่น คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ต้องตกใจเพราะเป็นแค่การเรียนรู้ของลูกเท่านั้น
เมื่อร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้น สมองก็มีการเชื่อมโยงต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆ รู้ว่าเสียงเหมียว ๆ คือเสียงของแมว รู้ว่าเสียงช้อนดังแสดงว่าใกล้ถึงเวลาอาหาร และเมื่อมีสิ่งใดที่ลูกไม่เคยเห็นลูกก็จะจดจำ เปรียบเทียบ สังเกตรายละเอียดเพื่อเป็นข้อมูลสะสมในสมองน้อย ๆ ของเขา เพื่อการปะติดปะต่อเหตุการณ์ในอนาคตได้
พัฒนาการทางสมองของทารก 7 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- มีความสนใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ
- ชอบของเล่นที่มีเสียง
- เคลื่อนตัวไปหาและหยิบของด้วยมือข้างเดียวได้
- แบมือเพื่อดูของในมือ และย้ายของจากมือหนึ่งไปมือหนึ่งได้
- จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และเรียงลำดับขั้นได้
- มีปฏิกิริยาตอบโต้เงาตัวเองในกระจก
- เรียนรู้ถึงความซับซ้อนของกิริยาท่าทางคนอื่นได้
- แยกระยะความไกลใกล้ของวัตถุได้


พัฒนาการทารก 8 เดือน ลูกวัย 8 เดือนของแม่โตมากแค่ไหน พัฒนาการเด็กวัย 8 เดือนทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสมองของเด็กวัยนี้เป็นอย่างไร มาเช็กพัฒนาการและวิธีส่งเสริมกันค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 8 เดือน พัฒนาการทารก 8 เดือน เช็กพัฒนาการพร้อมวิธีส่งเสริมอย่างถูกต้อง
พัฒนาการทางร่างกายทารก 8 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
วัย 8 เดือนนี้ลูกจะต้องล้มเป็นตุ๊กตาล้มลุกอยู่บ่อยครั้ง เพราะว่าสรีระของลูกนั้นศีรษะยังมีความใหญ่กว่าร่างกาย ทำให้เวลาลุกขึ้นยืนหรือนั่งโดยไม่มีอะไรพิง เด็กจะหงายหรือคว่ำง่ายๆ จวบจนที่กล้ามเนื้อต่างๆ เริ่มพัฒนา ทำให้อวัยวะทุกส่วนมีความแข็งแรงขึ้น แม้จะล้มไปบ้างแต่เขาก็จะเรียนรู้และฝึกฝนทักษะกล้ามเนื้อต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตามการยืนได้ด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ลูกตื่นเต้นมาก และอยากลองอยู่ตลอดเวลา จนทำให้คิดว่าลูกอยู่ไม่สุขเอาเสียเลย
คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมเรื่องพื้นเพื่อป้องกันการล้มของลูก รวมทั้งนำเฟอร์นิเจอร์ที่มีล้อออกไป เพราะว่าลูกอาจจะทำให้ลูกเหนี่ยวจนเกิดอุบัติเหตุได้ ลูกสามารถควบคุมกล้ามเนื้อนิ้วมือได้ดีขึ้น ด้วยการทดลองหยิบ ขว้าง ปา ของลูกเอง เขาจะเล่นสนุกอย่างนี้ได้ทั้งวัน พร้อมกับสังเกตการใช้งานมือของตนเองไปพร้อมๆ กันด้วย
พัฒนาการทางร่างกายของทารก 8 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- คลานได้ เคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยวิธีถัดก้น
- ยืนเกาะเครื่องเรือนและเอื้อมตัวไปพร้อมกับก้าวขาเพื่อทรงตัว
- เกาะเครื่องเรือนและดันตัวยืนขึ้น แต่ต้องใช้คนช่วยจึงจะลงจากท่ายืนได้
- เมื่อจับยืนจะยื่นขาข้างหนึ่งออกไปข้างหน้า นั่งหลังตรงโดยลำพังได้นาน
- ขณะนั่งขาข้างหนึ่งจะเหยียดออก อีกข้างจะงอในท่าพัก
- ลุกขึ้นนั่งได้เองจากการยันแขนขึ้นหรือจากท่าคลาน
- พยายามหยิบลูกปัดเล็กๆ หรือเชือก
- ถือของเล่นเขย่าได้นานอย่างน้อย 3 นาที ถือขวดนมเองได้
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจทารก 8 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
วัยนี้จะเริ่มมีความกลัวเข้ามาครอบงำ ซึ่งแสดงว่าลูกเริ่มมีการนึกภาพในใจมากขึ้น ซึ่งแสดงถึงสติปัญญาและพลังแห่งจินตนาการได้อย่างดี แต่ว่าเวลาที่ลูกกลัวและติดแม่นั้นคุณแม่ไม่ควรทำโทษด้วยการตี แต่ควรสร้างความมั่นใจด้วยน้ำเสียงที่เบาแต่หนักแน่นว่า “เดี๋ยวแม่จะกลับมาตอนเย็น” และต้องรักษาสัญญานั้นเพราะลูกจะจดจำ การรักษาสัญญาเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นคงทางอารมณ์อีกด้วย
หากครอบครัวจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น แม่จะต้องกลับไปทำงาน ควรเตรียมตัวให้มีการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย เพื่อลดความกังวลและความกลัวของลูกได้
พัฒนาการทางภาษาทารก 8 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะพูดคำง่าย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา บางครั้งก็ตะโกนแผดเสียงออกมาเมื่อหัวเราะดีใจ เลียนแบบคนที่อยู่ใกล้คิดและเรียนรู้เข้าใจคำศัพท์ได้มากขึ้น
พัฒนาการทางภาษาของทารก 8 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ส่งเสียงเลียนแบบต่าง ๆ
- บางครั้งก็ส่งเสียงพูดคุย แม้อยู่คนเดียว ส่งเสียงดังเหมือนตะโกน
- จีบปากจีบคอเริ่มเคลื่อนไหวกราม
- ใช้คำซ้ำๆ อย่างเช่น มามา จิ๊บจิ๊บ
- จะหันหน้าหรือหันตัวเมื่อได้ยินเสียงคุ้นหู
พัฒนาการทางสังคมทารก 8 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าลูกเป็นเด็กน่ารักเข้ากับคนง่าย แต่เด็กวัยนี้จะระแวงคนแปลกหน้าและร้องไห้โยเยเอาง่ายๆ คุณแม่อาจจะต้องบอกเพื่อนหรือญาติผู้ใหญ่ว่าอย่าเพิ่งพุ่งเข้ามาหาเด็กตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน แต่ควรทำความคุ้นเคย พูดคุยด้วย และรอให้เด็กเป็นผู้เข้าหาเองดีกว่า
พัฒนาการทางสังคมของทารก 8 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ตีเรียก ยิ้มให้ และหอมภาพในกระจก
- กลัวคนแปลกหน้า
- กลัวการแยกจาก ติดแม่
- ตะโกนหรือทำเสียงดังเรียกร้องความสนใจ
- สนใจแต่การเล่นของเล่น ผลักและปัดสิ่งที่ไม่ต้องการ
พัฒนาการทางสมองทารก 8 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
สมองของลูกมีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยคุณจะมองเห็นได้จากการเล่นที่ลูกจะชื่นชอบการเล่นเชิงปริมาณ เช่น ใส่ของชิ้นหนึ่งในกระป๋องแล้วหยิบออกมา หรือว่าใส่ของลงไปในกระป๋องเรื่อยๆ อีกทั้งลูกจะคอยสังเกตสิ่งแวดล้อมด้วยการนำตนเองเข้าไปสัมผัสมากขึ้น เช่น การดึงเครื่องเรือนเพื่อยันตัวเองขึ้นมา เด็กจะมีการลองก่อนแล้วว่าเครื่องเรือนนั้นมีความมั่นคงแค่ไหน หรือว่าการลองตบโต๊ะหรือเคาะสิ่งของเพื่อให้เสียงดัง ชอบทำซ้ำไปซ้ำมาจนคุณพ่อคุณแม่รำคาญด้วย
นอกจากนั้นลูกยังชอบมองภาพกลับหัว เชื่อว่าเป็นเพราะเขาติดการมองภาพแบบนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารกตัวเล็กๆ ที่ชอบนอนหงายและมองแต่ภาพกลับหัวนั่นเอง
พัฒนาการทางสมองของทารก 8 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- สำรวจสิ่งของ ดูภายนอกภายใน กว้างยาวลึก
- มองมือตนเองเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น หยิบหรือโยนของสำรวจภาชนะต่างๆ ด้วยการนำของใส่เข้าออก
- จะค้นหาของที่ซ่อนเอาไว้ในที่ง่ายๆ ได้ อย่างเช่น หลังม่าน
- เลียนแบบกิริยท่าทางของคน มีลักษณะการเรียนรู้เฉพาะตน
- ชอบการเรียนรู้
- ชอบเล่นน้ำ
- จดจำเวลาได้จากกิจวัตรประจำวันที่ทำสม่ำเสมอ


ลูกวัย 9 เดือนมีพัฒนาการอย่างไร ก่อนจะส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้อย่างถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่มาเช็กกันก่อนสักนิดว่าพัฒนาการเด็กวัย 9 เดือนของเราโตแค่ไหนแล้ว
พัฒนาการเด็กวัย 9 เดือน พัฒนาการทารก 9 เดือน พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
พัฒนาการทางร่างกายทารก 9 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกเริ่มคลานมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เวลานี้คือเวลาที่ลูกจะเริ่มตั้งไข่และพร้อมที่จะยืนได้เพียงลำพัง แต่การก้าวเดินยังไม่มั่นคงนัก โดยมากจะเป็นการยืนนิ่งๆ ย่อตัว และนั่งลงมากกว่า ลูกจะมีความสุขมากที่ตัวเองยืนได้แล้ว และนอกเหนือจากการยืนลูกจะชอบการเหนี่ยวและการดึงเพื่อเป็นหลักให้ตนเอง ดังนั้นจึงเป็นช่วงพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยเฉพาะบันได ตู้ และประตู
พัฒนาการทางร่างกายของทารก 9 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- คลานหมุนไปรอบๆ ได้ หรืออาจคลานขึ้นบันไดได้
- คลานโดยแขนขาเหยียดตรงได้ ถือของเล่นด้วยมือหนึ่งขณะคลานไปด้วยได้ จับให้ยืนได้ บางคนยืนค้างได้โดยลำพังครู่หนึ่งได้
- ลุกยืนได้โดยไม่ต้องเกาะเครื่องเรือน นั่งเก้าอี้ได้ดี นั่งหลังตรงโดยไม่ล้ม นั่งลงจากท่ายืนได้ สนุกกับการใช้นิ้วชี้ แคะ และแหย่รู
- ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งหยิบกระดุมหรือเชือกได้
- ต่อบล๊อกได้ 2 ชั้น
- ถือขนมปังหรือผลไม้เข้าปากได้เอง
- ถือขวดนมได้เองและดื่มนมจากถ้วยที่มีหูจับได้
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจ ทารก 9 เดือนและการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
พัฒนาการของเด็กวัย 9 เดือนนี้จะแปลกไปสักนิด เพราะลูกจะเริ่มกลัวโดยไม่มีเหตุผล หรือจากที่เคยไม่กลัวกลับกลายเป็นกลัว ทำให้คุณพ่อคุณแม่ทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน โดยเฉพาะการกลัวความสูงที่ค่อนข้างขัดแย้งกัน เพราะว่าเจ้าหนูชอบปีน แต่ก็จะร้องเพราะตนเองกลัวความสูง หรือกลัวสิ่งของที่เคลื่อนไหวไปมา หากลูกมีอาการกลัวคุณควรอยู่ใกล้ๆ กอดเขาแน่นๆ และบอกว่ามันไม่มีอะไร อาจจะชวนลูกลองจับสัมผัสสิ่งที่ลูกกลัว เพื่อให้ลูกรู้ว่ามันไม่มีอะไรจะสามารถทำอะไรเข้าได้ ค่อยๆ ให้ลูกเอาชนะความกลัวด้วยตัวเขาเอง คุณพ่อคุณแม่จะต้องแยกแยะให้ดีๆ เพราะบางครั้งการที่ลูกร้องไห้อาจจะไม่ได้หมายถึงความกลัวเสมอไป อาจจะเป็นเพราะความตกใจ หรือเพราะความไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรจะไขปัญหาด้วยการกอดและปลอบประโลม พร้อมหาคำตอบไปพร้อมกับเขา แล้วลูกก็จะมีความกลัวลดน้อยลง
วัยนี้ลูกจะมีความมั่นคงทางจิตใจบ้างแล้ว คุณอาจจะสังเกตได้จากการที่ลูกต้องการทำอะไรด้วยตนเอง ทำบางสิ่งซ้ำๆ ต้องการพึ่งตนเองโดยเอาประสบการณ์เก่าเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วย
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจของทารก 9 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- กลัวความสูง กลัวการอาบน้ำ ทั้งๆ ที่ชอบเล่นน้ำ
- พัฒนาการทางภาษาและการส่งเสริม
- ลูกมีความสามารถในการเรียนรู้ภาษาได้สูงขึ้นมาก ซึ่งการเรียนรู้หลักมาจากการเลียนแบบน้ำเสียงและคำศัพท์ต่างๆ จากคนใกล้ชิด ดังนั้นหากอยากให้ลูกพูดเร็วและพูดชัด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพูดให้ชัดเจน และพูดกับลูกเป็นประโยคสั้นๆ เพื่อให้เขาเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ก็จะช่วยลูกฝึกพัฒนาการด้านภาษาแล้วเช่นกัน
- พัฒนาการทางภาษาของทารกวัย 9 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- จับอารมณ์ตามระดับเสียงของผู้อื่น บอกอารมณ์และความต้องการด้วยการใช้เสียง
- เลียนแบบการส่งเสียงโดยใช้ลิ้นทำเสียง
- เริ่มใช้คำที่มีความหมาย อย่างเช่น ปาปา มาม๊า
- อาจจะพูดได้ 1-2 พยางค์ซ้ำๆ กัน ไม่ สามารถเข้าใจและทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ อย่างเช่น เอาตุ๊กตามาให้หน่อย
พัฒนาการทางสังคมทารก 9 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ด้วยร่างกายที่สามารถขยับเขยื้อนตนเองได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ลูกน้อยยังชื่นชอบการเข้าสังคม ดังนั้นหากทุกคนตื่นเต้นที่ลูกสามารถตั้งไข่ได้ ส่งเสียงเชียร์เวลาลูกปีน ก็จะทำให้ลูกมีกำลังใจในการฝึกฝนพัฒนาการของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ
พัฒนาการทางสังคมของทารก 9 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
ชอบเป็นคนเด่นในบ้าน ถ้าได้รับเสียงปรบมือหรือคำชมเชยจะทำซ้ำใหม่อีกครั้ง
- เรียนรู้การป้องกันตนเอง และแสดงความเป็นเจ้าของ อย่างเช่น กรณีการถูกแย่งของ มีความอ่อนไหวกับสังคมภายนอก อย่างเช่น ถ้าเห็นเด็กอื่นร้องไห้ก็มักจะร้องไห้ตาม
- ให้ความสำคัญกับอารมณ์และท่าทีผู้อื่น รวมทั้งจะสร้างวิธีเล่นกับคนอื่นขึ้นเอง
พัฒนาการทางสมองทารก 9 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะลำดับความสำคัญและเรียงเหตุการก่อนหลังได้ พร้อมกับเชื่อมโยงการเล่นระหว่างสิ่งของต่างๆ ได้อย่างดีขึ้น สังเกตได้ว่าลูกจะชอบของเล่นที่มีการทำงานของมิติ อย่างเช่น บล๊อกไม้ เล่นซ่อนของ หรือแม้แต่การหยิบของลงภาชนะที่ ลูกจะเพลิดเพลินยิ่งนัก
นอกจากนี้สมองส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum) ยังมีการพัฒนามากขึ้น โดยสมองส่วนนี้มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาสมดุล การทรงตัว และช่วยให้กล้ามเนื้อของเด็กทำงานสัมพันธ์กันในการควบคุมการเคลื่อนไหว สมองส่วนนี้เองที่เมื่อพัฒนาไปด้วยดีจะช่วยให้เด็กสามารถเปลี่ยนจากคว่ำไป เป็นคลาน และจากคลานไปเป็นเดินได้ และประสานการเคลื่อนไหวอย่างอัตโนมัติ รวมถึงไขว่คว้าสิ่งของต่างๆ ได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
พัฒนาการทางสมองของทารก 9 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- สนใจมิติของสิ่งของ หากหยิบของชิ้นเล็กจะใช้ 2 นิ้วคือนิ้วชี้และนิ้วโป้ง แต่ถ้าของชิ้นนั้นหนักจะใช้สองมือยก
- หาของที่คนแอบเอาไปซ่อนไว้
- เบื่อการเล่นหรือกระตุ้นซ้ำซาก
- จำเกมที่เคยเล่นได้ จะทิ้งของสิ่งหนึ่งหรือใช้ปากคาบแทน เพื่อหยิบของชิ้นที่ 3


เรื่องใกล้ตัวที่พ่อแม่มักไม่รู้เลยก็คือ ภูมิแพ้นั้นอยู่ใกล้ลูกมากกว่าที่คิด อย่างโรคจมูกอักเสบที่เด็ก ๆ มักเป็นกันบ่อย ๆ สาเหตุหลักก็มาจากภูมิแพ้เช่นกัน
อาการโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ บางครั้งดูเหมือนโรคหวัดธรรมดา เช่น มีน้ำมูกใส ๆ จาม คันจมูก คัดจมูก ไอกระแอม แต่ความจริงแล้ว จะมีอาการหนักเพิ่มขึ้นเมื่อในช่วงเวลาที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ อาจจะจามติด ๆ กันเป็นสิบ ๆ ครั้ง คัดจมูกมากจนนอนหลับไม่ได้ หรือมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้อีกมากมาย เช่น ไซนัสอักเสบ แก้วหูอักเสบ ต่อมอดีนอยด์โตจนนอนกรนดังมาก อาจถึงขั้นหยุดหายใจขณะนอนหลับได้
สารก่อภูมิแพ้ที่คนทั่วโลกรวมถึงเด็กไทยด้วย แพ้บ่อยที่สุด คือ “ไรฝุ่น” ซึ่งพบมากบริเวณที่มีฝุ่นปนเปื้อนอยู่ เช่น สิ่งของเครื่องใช้ที่อยู่ใกล้ตัวลูก ตุ๊กตา หมอน ที่นอน ผ้าห่ม เปรียบเสมือนภัยมืดที่อยู่ใกล้ตัวลูก ๆ ของเรา ดังนั้นหากลูก ๆ มีอาการคล้ายหวัด แต่เป็นเรื้อรัง เป็นมากขึ้น ๆ หรือมีภาวะแทรกซ้อนเมื่ออยู่ใกล้สิ่งของดังกล่าว ควรไปพบแพทย์โรคภูมิแพ้เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคที่ถูกต้องต่อไป
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ
1. ตัวเด็กมียีนหรือพันธุกรรมที่แพ้สารก่อภูมิแพ้
2. สารก่อภูมิแพ้ต้องมาสัมผัสใกล้ชิดเด็ก
3. สภาวะที่เหมาะต่อการเกิดโรค เช่น มลภาวะ PM 2.5 ควันรถ/ บุหรี่ การดูแลสุขภาพที่ไม่ดี นอนดึก ไม่ออกกำลังกาย เครียด รับประทานอาหารไม่ครบถ้วน เมื่อมีครบทั้ง 3 ปัจจัย ก็จะเกิดโรคได้
วิธีการรักษา
หากรู้ว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ตัวใดและสามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็จะไม่มีอาการของโรคอีกเลย แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้และมีปัจจัยครบทั้ง 3 ข้อ จะเริ่มรักษา โดย การล้างจมูก ยาพ่นจมูก ยารับประทาน หรือในบางรายต้องได้รับวัคซีนภูมิแพ้ร่วมด้วยจึงจะควบคุมอาการได้
วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคภูมิแพ้

จากปัจจัยด้านพันธุกรรมมีผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะหากทั้งพ่อและแม่เป็นโรคนี้ ลูกมีโอกาสเป็นโรคนี้ 60 – 80 % ดังนั้นถ้าเลือกคู่ครองที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวได้ก็จะดีที่สุด แต่ถ้าเลือกไม่ได้แล้ว ควรจะต้องดูแลเด็กตั้งแต่เริ่มอยู่ในครรภ์ โดยไปฝากครรภ์ตั้งแต่เริ่มแรก ปฏิบัติตามที่สูติแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด พักผ่อนให้พอเพียงรับประทานอาหารหลากหลายชนิดให้ครบ 5 หมู่ งดสูบบุหรี่และงดไปแหล่งที่มีมลภาวะสูง
เมื่อเด็กทารกคลอด ควรให้นมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และให้ต่อไปจนอย่างน้อยอายุ 1 ปี หรือนานที่สุดเท่าที่จะให้ได้ อาหารเสริมควรเริ่มเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป ดูแลสิ่งแวดล้อมของเด็กให้ห่างจากมลภาวะและสารก่อภูมิแพ้ชนิดต่างๆ
กรณีคุณแม่มีปัญหาสุขภาพหรือข้อจำกัดที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ คุณแม่อาจขอคำแนะนำจากแพทย์ในเรื่องของนมสูตรพิเศษ ที่เป็นสูตร Hypo-Allergenic (HA)ซึ่งมีโปรตีนผ่านการย่อยบางส่วน (partial hydrolysate formula) ร่วมกับ เติม Probiotics คือ เชื้อจุลลินทรีย์ชนิดดี เช่น Bifidus BL (B. lactis), LGG, L. reuteri เป็นต้น และอาจจะเติม Prebiotics คืออาหารของเชื้อจุลลินทรีย์ชนิดดี เช่น Lactose, GOS, IcFOS, 2’-FL เป็นต้น สุดท้ายแล้ว เมื่อเราดูแลลูกได้ดังที่กล่าวมาแล้ว คงทำให้เด็ก ๆ ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ลดลงได้บ้างไม่มากก็น้อย
อยากรู้ว่าลูกน้อยมีความเสี่ยงภูมิแพ้แค่ไหน ทำแบบทดสอบเบื้องต้นได้เลยที่ https://www.nestlemomandme.in.th/sensitive-expert/sensitive-check
#SensitiveExpert #ผู้เชี่ยวชาญด้านความบอบบางของลูกน้อย

ขอบคุณข้อมูลจาก : นพ. วิชาญ บุญสวรรค์ส่ง กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ โรคหืด และ วิทยาภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลวิภาราม
พื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์

ทารกไม่สบายง่าย เพราะภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่ และนี่คือ 5 โรคหน้าหนาวที่มักทำให้ลูกทารกไม่สบาย คุณแม่ต้องรู้และพร้อมรับมือค่ะ
รับมือ 5 โรคหน้าหนาวที่ทำให้ลูกทารกไม่สบาย ขัดขวางพัฒนาการทารก
ลูกทารกเป็นไข้หวัด
ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่บริเวณเยื่อบุจมูก แพร่กระจายผ่านทางการจามและการสั่งน้ำมูก ส่วนเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่จะอยู่บริเวณเยื่อบุของระบบทางเดินหายใจ แพร่กระจายผ่านการไอ โดยการที่ลูกน้อยเป็นหวัดส่วนใหญ่จะเป็นการรับเชื้อไวรัสมาจากคนอื่น หรือรับเชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศ ซึ่งในฤดูหนาวเชื้อยิ่งแพร่ระบายเร็วเพราะเชื้อเติบโตเร็ว
- มีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม
- เวลามีไข้ร่างกายจะสูญเสียน้ำมากกว่าปกติควรให้ลูกดื่มน้ำมากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- วัดอุณหภูมิเป็นระยะจนกว่าไข้จะลด
- เลือกเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ระบายอากาศดี แต่อบอุ่นให้ลูก
- ถ้าลูกมีไข้ต่ำไม่เกิน 38 องศาเซลเซียสไม่ควรให้ยาลดไข้ แต่ควรลดไข้ด้วยการเช็ดตัวโดยใช้ผ้าเนื้อนุ่มชุบน้ำอุ่นเช็ดตัวโดยเฉพาะบริเวณซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
- ถ้าลูกมีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ก่อนให้ยาลดไข้ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อความปลอดภัย
- หากให้ยาแล้วไข้ยังไม่ลดควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจรักษาอย่างถูกต้อง
วิธีป้องกันลูกทารกจากไข้หวัด
ในช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงที่เชื้อไวรัสแพร่กระจายและเจริญเติบเติบโตได้เร็ว ดังนั้นไม่ควรพาลูกออกไปในที่ที่มีคนอยู่เยอะ เพราะจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อให้ลูก นอกจากนี้คนในครอบครัวที่เป็นไข้หวัดก็ไม่ควรคลุกคลีกับลูกด้วย
-------------------------------------------------------------------
ลูกทารกท้องเสีย ท้องร่วงเพราะไวรัสโรต้า
ในฤดูหนาวจะมีเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงในเด็กเล็กๆ ได้ค่อนข้างบ่อย ที่พบมากคือโรตาไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคท้องร่วงรุนแรง และถึงแม้จะได้รับเชื้อไม่มากก็ก่อให้เกิดโรคได้ โดยโรคท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อโรตาไวรัสมักจะพบในเด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน-2 ปี
- เด็กที่ได้เชื้อจะมีไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อที่รับเข้าไป
- เด็กที่มีอาการรุนแรงจะถ่ายมาก ส่งผลให้เสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายไปเยอะ โดยการสูญเสียน้ำจากท้องร่วงที่มีเกิดจากเชื้อโรตาไวรัสจะรุนแรงและค่อนข้างมาก
- ควรให้ลูกดื่มน้ำมากๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป นอกจากนี้ต้องให้น้ำตาลเกลือแร่กับลูกด้วยเพื่อชดเชยเกลือแร่ที่เสียไป
- หากอาการลูกไม่ดีขึ้น ควรรีบพาไปพบคุณหมอทันที
วิธีป้องกันลูกทารกจากอาการท้องเสีย ท้องร่วง
เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการท้องร่วงกับลูกน้อยจะติดเชื้อจากทางปาก จึงต้องดูแลรักษาความสะอาดของสิ่งแวดล้อมและอาหาร ล้างมือให้สะอาด ระวังอย่าให้ลูกหยิบสิ่งของเข้าปาก อีกวิธีป้องกันที่ได้ผลดีคือการฉีดวัคซีน โดยวัคซีนจะฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนโดยฉีด 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 หลังคลอด 6 สัปดาห์และครั้งที่ 2 ฉีดภายใน 6 เดือน
-------------------------------------------------------------------
ลูกทารกเป็นปอดบวม
โรคปอดบวมเกิดจากการติดเชื้อที่ปอด โดยติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย โรคนี้พบบ่อยในช่วงระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาว หรือตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนมีนาคม พบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ติดต่อผ่านทางการหายใจ น้ำมูก และน้ำลาย
- อาการของปวดบวมคือ มีไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก นอกจากนี้ลูกจะงอแง ซึม
- บางรายอาการรุนแรงจะหายใจแรงจนจมูกบานหรือหน้าอกบุ๋ม และถ้าหลอดลมภายในปอดตีบอาจจะเกิดเสียงหายใจวี๊ด รายที่อาการรุนแรงมากอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
- อย่าปล่อยให้ลูกหายใจลำบากอยู่นานจะทำให้ขาดออกซิเจน รีบพาลูกไปพบคุณหมอ
วิธีป้องกันลูกทารกจากปอดบวม
- หลีกเลี่ยงพาลูกน้อยไปในสถานที่ๆ มีคนมาก เช่นห้างสรรพสินค้า
- เลี่ยงเด็กจากควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์
- ช่วงอากาศที่หนาวเย็นควรให้ลูกเสื้อผ้าที่อบอุ่น นอนห่มผ้าเสมอ
- ควรพาลูกไปพบคุณหมอเกี่ยวกับการฉีควัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค
-------------------------------------------------------------------
ลูกทารกเป็นโรคหัด
เกิดจากเชื้อไวรัสรูบิโอลา พบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรค ติดต่อง่ายและรวดเร็วจากการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน พบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระบาดในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน
- อาการช่วงแรกหลังรับเชื้อโรคหัดไป 7 วัน มีอาการคล้ายไข้หวัด มีไข้สูงตลอดเวลา กินยาลดไข้แต่ไข้ไม่ลด ซึม งอแง ร้องกวน เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้ง บางรายทีอาการถ่ายเหลว และอาจชักจากการมีไข้
- ผื่นเริ่มขึ้น ลักษณะเป็นจุดแดงเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด เริ่มจากบริเวณตีนผม ซอกคอ ก่อนจะลามขึ้น ใบหน้า ลำตัว แขนขา อาจมีอาการคัน
- ผื่นจะขึ้นอยู่ 2-3 วันนับจากวันแรกที่ผื่นเริ่มขึ้นและจะจางลง โรคหัดส่วนใหญ่เป็นแล้วหายได้เอง
- ดูแลลูกปกติเหมือนเวลาป่วยเป็นไข้หวัด คือพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำเยอะ ๆ เช็ดตัวลดไข้ ไม่อาบน้ำเย็น ให้กินยารักษาตามอาการ
- ถ้ามีอาการไอ เสมหะข้น-เขียว หายใจมีเสียงวี๊ด(Wheeze) เพราะหลอดลมตีบควรพบคุณหมอ
วิธีป้องกันลูกจากโรคหัด
ควรหลีกเลี่ยงพาลูกไปยังสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน และหากมีอาการควรอยู่ในการดูแลของคุณหมอ
-------------------------------------------------------------------
ลูกทารกเป็นอีสุกอีใส
มักระบาดในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน จากเชื้อไวรัสชื่อวาริเซลลา หรือฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัสชนิดที่ 3 ไวรัสนี้ติดต่อผ่านการหายใจ ไอ จาม สัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ที่เปื้อนตุ่มแผลของคนเป็นโรค
- เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลา 10-20 วันจึงเริ่มออกอาการ
- อาการเริ่มต้นคล้ายอาการไข้หวัดใหญ่ มีไข้ เบื่ออาหาร งอแง
- จากนั้นเริ่มมีผื่นแดง ก่อนเปลี่ยนเป็นตุ่ม มีน้ำใสภายในและคัน ตุ่มจะทยอยขึ้นทั่วตัวเต็มที่ภายใน 4 วัน ควรตัดเล็บลูกให้สั้นและใส่จำเป็นต้องใส่ถุงมือเพื่อกันลูกเกาซึ่งจะเป็นการทำให้เชื้อลุกลาม
- โรคนี้เป็นแล้วหายได้เอง แต่คุณแม่ต้องระวังอย่าให้เกิดโรคแทรกซ้อนกับลูกน้อย
- คุณแม่ควรดูแลรักษาลูกตามอาการ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ กินยาลดไข้ตามคุณหมอสั่ง
- ควรรีบพาลูกน้อยพบคุณหมอด่วนถ้าลูกรับเชื้อไวรัสเป็นอีสุกอีใสตอนอายุน้อยกว่า 4 สัปดาห์เพราะเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานเสี่ยงจะเกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่ายหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
- หากลูกมีอาการผิดปกติเช่น ตุ่มแผลติดเชื้อ หายใจขัด ควรพาลูกพบคุณหมอ
วิธีป้องกันลูกจากอีสุกอีใส
- อย่าให้ลูกสัมผัสกับผู้ป่วยโรคสุกใส ควรแยกห้องนอนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยอีสุกอีใส
- ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคสุกใส เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไปและฉีดซ้ำอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ขวบ

ของเล่นเต็มบ้านรกไปหมด ใครๆ ก็ซื้อมาให้ลูก เล่นแล้วก็ไม่เก็บ ทำอย่างไรดีคะ
เราอยู่ในยุคสมัยของความเยอะ ทุกอย่างรอบตัวล้วนเยอะแยะไปหมดทุกสิ่งอัน ของเยอะ ทางเลือกเยอะ รวมทั้งของเล่นเยอะ ของเล่นที่มีประโยชน์น้อยที่สุดคือของเล่นสำเร็จรูป และของเล่นอิเล็คทรอนิกส์ ของเล่นสำเร็จรูปลดจินตนาการของเด็กๆ ในขณะที่ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์สร้างความตื่นเต้นอย่างฉาบฉวยแล้วจะน่าเบื่อในเวลารวดเร็ว
หากสังเกตดีๆ คุณแม่พบว่าลูกเล่นของเล่นเพียงไม่กี่ชิ้น และของเล่นที่เขาจะเล่นบ่อยที่สุดมักเป็นของเล่นที่เขาจำเป็นต้อง “สร้าง” หรือ “เสริม”อะไรบางอย่างลงไปด้วยตัวของเขาเอง เช่น ตุ๊กตาหุ่นยนต์ที่แขนขาเคลื่อนไหวไม่ได้และไม่มีปีก หุ่นยนต์นั้นกลับจะมีไอพ่นออกที่เท้าและเหาะได้ด้วยจินตนาการ โดยที่เขาเองถือหุ่นนั้นวิ่งไปรอบห้อง มากไปกว่านี้คือส่งเสียงไอพ่นด้วยการลากเสียงยาวแล้วเสริมด้วยเสียงมิสไซล์ที่พุ่งออกจากหน้าอกระเบิดสัตว์ประหลาดตรงหน้าร่างแหลกไป
คำแนะนำที่ง่ายและได้ผลมากคือทิ้งของเล่นออกไปครึ่งหนึ่ง คุณแม่ควรหาวันหยุดสักครึ่งวัน จะมีหรือไม่มีเขาอยู่ด้วยก็ได้ แต่ถ้าไม่มีจะดีกว่า ใช้เวลาแบ่งของเล่นออกเป็นสามกอง
กองแรกคือเขาเล่นบ่อยมาก กองที่สองคือเขาเล่นนานๆ ครั้ง กองที่สามคือเขาไม่เล่นอีกแล้ว อาจจะมีกองที่สี่ได้ด้วยคือของเล่นราคาแพงที่ญาติๆ ซื้อมาให้ในวันเกิด
จัดวางของเล่นกองแรกให้เรียบร้อย เก็บของเล่นกองที่สองขึ้นในที่ที่หยิบง่าย เอาของเล่นกองที่สามไปเก็บตายรอเวลาทิ้ง และจัดหาที่วางของเล่นกองที่สี่เผื่อปู่ย่าตายายมาเยี่ยมวันไหนจะได้รีบคุ้ยออกมาวางให้ท่านดีใจ หากท่านทำงานนี้กับลูกจะพบว่าทำได้ยากเพราะเขาจะเก็บเอาไว้ทุกชิ้น ท่านควรทำคนเดียว จนกระทั่งเรียบร้อย แล้วจึงพาเขาเดินตรวจงาน
เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่าเรามิได้ทิ้งของของเขาแต่เรายืนยันว่าจะเก็บขึ้น ส่วนใหญ่เขาจะยินดีที่เราช่วยทำ แล้วเขาจะยังคงเล่นเฉพาะของที่ชอบเล่นไม่กี่ชิ้นต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาจะลืมของเล่นกองที่สามไปในที่สุดเมื่ออายุโตขึ้นแล้วค่อยมาคุยกันอีกรอบว่าจะทิ้งหรือไม่ทิ้ง
การมีของเล่นมากเกินไปนอกจากจะไม่ช่วยพัฒนาอะไรอีกแล้วยังทำให้เขาคุมความสนใจได้ลำบากเพราะมีตัวเลือกมากเกินไป สมาธิในการเล่นของแต่ละชิ้นก็ลดลง เปลี่ยนของเล่นบ่อยเกินไป ครั้นเราลดจำนวนของเล่นลงจะพบว่าเขาเล่นของเล่นแต่ละชิ้นได้นานมากขึ้น ตั้งใจจดจ่อกับรายละเอียดของของเล่นแต่ละชิ้นมากขึ้น และมีการตัดสินใจที่เร็วขึ้น
ไม่ว่าของเล่นจะเหลือมากน้อยเพียงไร วินัยการเก็บของเล่นหลังจากการเล่นเป็นวินัยที่เรายืนยันเสมอว่าต้องทำ หากเขาไม่ทำเราจับมือทำ แต่เรื่องจะง่ายหากเรา “เล่น” เก็บของเล่นหรือ “แข่ง” เก็บของเล่น สนุกกว่านี้คือแข่งกันนับจำนวนของเล่น เท่ากับสอนคณิตศาสตร์ไปในตัว
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล

เด็กวัย 2 ขวบ กำลังเป็นเด็กที่น่ารัก รู้จักทดสอบ ทดลองผิดถูก เด็กวัยนี้กำลังเรียนรู้สิ่งแวดล้อมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ สิ่งของ บุคคล สถานที่ สิ่งมีชีวิต และคำพูด เป็นช่วงที่เป็นตัวของตัวเองสูงสุด จึงมักจะทำในสิ่งที่ห้ามตลอด ดังนั้นการจะเอาชนะลูก หรือจงใจสอนเกินไปไม่ใช่วิธีจัดการที่ดีแน่นอนค่ะ
เด็กอายุ 2 ปีกำลังเป็นวัยที่อยากจะเป็นตัวของเขาเอง เด็กจึงมักจะทำในสิ่งที่ห้าม ไม่ใช่เพราะเขาดื้อ ไม่เชื่อฟัง หรืออวดดีอย่างผู้ใหญ่หลายท่านเข้าใจ แต่เขากำลังเรียนรู้หลายๆ อย่างในการทดสอบว่า ‘เป็นจริง’ หรือไม่นั้น ไม่ใช่การทดสอบว่าผู้ใหญ่จะจริงจังแค่ไหน แต่เขาทดสอบตัวเขาด้วย ทดสอบความเข้าใจของตน การมองเห็น การสัมผัส เราจึงเห็นเด็กวัยนี้ทำอะไรซ้ำๆ เล่านิทาน ดูรูปภาพก็เป็นเรื่องซ้ำๆ โดยเฉพาะที่เขาชอบ ที่เขาสนใจ บางคนอาจรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง แต่บางคนทั้งๆ ที่รู้ก็ตอบให้ผิด เพื่อดูปฏิกิริยาผู้ใหญ่ หรือเพื่อเป็นตัวตนของเขา เราจึงไม่เอาคำเถียงของเขามาเป็นอารมณ์
เราบอกว่าสีส้ม เด็กบอกสีเขียว แทนที่เราจะไปแย้งกัน เราอาจทำมุขขำก็ได้ เช่น '“หนูเห็นเป็นสีเขียวหรือจ๊ะ” แล้วเราก็ทำหน้าพิศวงสงสัย หรือ เฉยเสีย ไม่เถียงกัน เพราะเด็กยังเรียนรู้สีได้อีกหลายเวลา เช่น ต่อมาคุณให้เขารับประทานส้ม ก็ถามเขาว่าเปลือกส้มสีอะไรเอ่ย พอปอกเปลือกไป ข้างในเป็นสีส้มก็บอก “เอ๊ะ! นี่ก็คงสีเขียวมั้ง” เขาก็จะบอก “ไม่ใช่ สีส้ม”
การสอนเด็กวัยนี้ต้องมีวิธีที่ดีต่อกัน ไม่เอาชนะกัน ไม่สอนกันเป็นพิธีการจริงจังเกินไป และก็ไม่ใช่ว่า เขาโมโหแล้ว เราก็ยอมเรียกผิดๆ ตามเขา ถ้าเขางอแง มีอารมณ์ก็เบนความสนใจไปทางอื่น ดีกว่ามาเอาชนะให้เป็นอารมณ์กัน เพราะเรื่องรู้จักสีเป็นเรื่องเล็กที่เด็กจะเรียนรู้ได้ แต่เรื่องอารมณ์เป็นเรื่องใหญ่ที่เด็กจะใช้ไปเรื่อยๆ ในหลายเรื่อง ถ้าเขารู้ว่า เขาอาละวาด แผลงฤทธิ์แล้วคุณแม่ยอมทำตาม
เราจึงต้องไม่ทำให้เกิดอารมณ์ หรือเมื่อเกิดอารมณ์แล้วก็ไม่ตามใจหรือเอาใจกันผิดๆ เขายังเรียนรู้ไปอีกได้เรื่อยๆ วันนี้ยังไม่รับ วันหน้าค่อยบอกกันใหม่ สอนกันใหม่ ลองให้เขาพูด บอกตามสิ่งที่พบเห็น และปฏิบัติกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งยังมีอีกมากมายค่ะ

ลูกเป็นเด็กขี้ฟ้อง ไม่ใช่เรื่องดี
เวลาลูกมาฟ้องเรื่องต่างๆ พ่อแม่อาจคิดว่าดี ลูกช่างพูด แต่การขี้ฟ้องกับการบอกเล่าไม่เหมือนกันค่ะ และเด็กขี้ฟ้องก็มีแนวโน้มโตไปจัดการอะไรเองไม่ค่อยได้ด้วยค่ะ
ขี้ฟ้องกับบอกเล่า
การบอกเล่า
|
การฟ้อง
|
บอกหมดทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี |
บอกแต่เรื่องที่ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่พอใจ |
ความถี่สม่ำเสมอ เหมือนเป็นกิจวัตรประจำวัน |
ความถี่เพิ่มมากขึ้น จากวันละครั้งก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ |
มีความอดทนในเรื่องเล็กน้อย |
ไม่มีความอดทน อารมณ์เสียง่าย |
จัดการแก้ปัญหาเล็กน้อยด้วยตนเอง |
จัดการแก้ปัญหาเล็กน้อยไม่ได้เลย |
อาการของเด็กขี้ฟ้อง
คือการที่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ลูกก็ไม่สามารถจัดการเองได้ วิ่งหาคนช่วยตลอด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือแม้แต่ครูที่โรงเรียน สาเหตุเพียงเพราะลูกอาจจะลองจัดการด้วยตัวของเขาเองแล้วแต่จัดการไม่ได้ หรือไม่ได้ลองพยายามแก้ไขปัญหาเลย เมื่อเจอปัญหาก็วิ่งไปหาคนอื่นให้ช่วยจัดการแทนตัวเองตลอด

ทำไมลูกถึงเป็นเด็กขี้ฟ้อง
1. ลูกแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ การฟ้องจากสาเหตุนี้จะมี 2 ลักษณะด้วยกัน คือ ไม่ชอบใจเวลาใครทำอะไรไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่การฟ้องประเภทนี้จะมาจากการที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกอย่างมีกฎระเบียบ มีบทลงโทษที่ชัดเจน เขาจึงเห็นความไม่ถูกต้องไม่ได้ ต้องเข้าไปจัดการ แต่อาจจะจัดการไม่ได้ เลยต้องหาคนที่จะมาจัดการแทน เช่น เพื่อนแกล้งกัน ลูกเลยเข้าไปห้าม แต่เพื่อนไม่หยุด เขาเลยวิ่งไปฟ้องครูแทน เป็นคู่กรณีมาก่อน การฟ้องประเภทนี้จะมาจากการที่ไม่ชอบคนนั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สาเหตุอาจจะมาจากหลากหลายทาง เช่น เพื่อนคนนี้ชอบเสียงดัง หรือเพื่อนคนนี้ชอบแกล้งลูก ดังนั้นเวลาเขาเห็นเพื่อนคนนี้ทำผิดเล็กน้อย ก็จะมาฟ้องคุณครู หรือเรียกว่าการจ้องจับผิดนั่นเอง
2. ลูกมีทัศนคติไม่ดีในการมองโลก การฟ้องจากสาเหตุนี้มักมีความเกี่ยวข้องกับความประพฤติของพ่อแม่ ผู้ปกครองและคนที่อยู่ใกล้ตัวลูกโดยตรงเลยค่ะ นั่นคือการที่พ่อแม่ “ขี้บ่น” ค่ะ
ทำไมการบ่นของพ่อแม่จึงส่งผลให้ลูก “ขี้ฟ้อง” เพราะมันคือการเสริมสร้างนิสัยจับผิดทุกสิ่งทุกอย่างและทุกคนให้ลูก โดยที่ไม่ต้องมานั่งสอนกันเลย พ่อแม่อย่าลืมว่าลูกเฝ้ามองเราอยู่ทุกย่างก้าว สิ่งที่พ่อแม่ทำจะถูกลูกจับตาดูอยู่และเอามาเลียนแบบ นั่นเพราะเขาคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีงามค่ะ
3. เพราะลูกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง การฟ้องจากสาเหตุนี้เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูก หรือจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า คือปฏิกิริยาที่พ่อแม่มีต่อลูกนั่นเอง ลองสังเกตตัวเองดูค่ะว่าเวลาลูกมาเล่าเรื่องธรรมดาไปถึงดี เช่น ลูกโดนครูชม เอาของที่ประดิษฐ์มาอวด พ่อแม่มีท่าทีอย่างไร
กลับกันเวลาที่ลูกเล่าว่าโดนเพื่อนแกล้ง หรือโดนครูทำโทษ พ่อแม่มีปฏิกิริยาอย่างไร ลูกรับรู้ได้นะคะว่าพ่อแม่ให้ความสนใจเขาต่างกันแค่ไหน ที่โรงเรียนเองก็เหมือนกัน กรณีที่เป็นแค่เรื่องเล็กน้อยอย่างเพื่อนเดินชน แล้วเอามาฟ้องเหมือนเป็นเรื่องใหญ่โต ยิ่งพ่อแม่สนใจ ครูสนใจ ผู้ใหญ่สนใจ ลูกจะรู้สึกว่าการทำแบบนี้คือการกระทำของเด็กดี ได้รับความสนใจจากคนอื่น ได้รับคำชมจากครูและพ่อแม่
ยิ่งปล่อยไว้ยิ่งมีผลเสีย
การขี้ฟ้องของลูก หากพ่อแม่ไม่เข้าใจสาเหตุและแก้ไข ลูกอาจเข้ากับเพื่อนยาก ไม่มีคนคบ ครูไม่ให้ความสำคัญในสิ่งที่เขาบอกอีกต่อไป ทำให้เขากลายเป็นเด็กที่ไม่มีสังคม และอาจส่งผลต่อพัฒนาการและจิตใจของลูกได้ค่ะ
เมื่อลูกฟ้องพ่อแม่บ่อยเข้า จนพ่อแม่เริ่มแสดงออกหรือบอกไปว่ารำคาญ ลูกจะเปลี่ยนไปมีอาการเก็บกดแทน โดยที่ไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กเขาจะไม่บอกเล่าอีกต่อไป แต่ปัญหายังไม่จบ ลูกจะเกิดภาวะความกดดัน ภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัว เพราะจัดการกับปัญหาไม่เป็น
ขณะเดียวกันก็มีความเครียด อยากจะบอกแต่พ่อแม่ก็ไม่ฟังแล้ว อาจจะหาทางออกอื่นจนกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น หงุดหงิดมากขึ้น ไม่อยากไปโรงเรียน พ่อแม่พูดก็ไม่เชื่อฟัง และมีปัญหาอื่นตามมา

ลูกขี้ฟ้อง พ่อแม่ต้องใส่ใจ
- คอยสังเกตว่าลูกแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้หรือไม่ เรื่องเล็กน้อยอย่างการเล่นด้วยกันระหว่างพี่น้อง ลูกจัดการปัญหาอย่างไร หรือสิ่งที่ต้องใช้เวลารอคอย ลูกมีความอดทนมากน้อยแค่ไหน และพ่อแม่ได้ฝึกทักษะการแก้ไขปัญหาให้ลูกอย่างไร
- สังเกตตัวเองว่าเอาใจใส่ลูกมากพอหรือไม่ ในวันที่พ่อแม่ต้องไปทำงานทั้งวัน กลับบ้านมาใช้เวลาคุณภาพกับลูกพอไหม ได้ฟังสิ่งที่ลูกต้องการจะบอกไหม หรือเวลาที่ใช้ร่วมกับลูกนั้น พ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์กับลูกจริงไหม หรือต่างคนต่างอยู่แต่กับหน้าจอ
- สังเกตตัวเองว่าเจ้าระเบียบเข้มงวดกับลูกมากไปไหม บางครั้งพ่อแม่ที่มีนิสัยเจ้าระเบียบ เข้มงวดอยู่แล้ว อาจไม่เห็นถึงข้อเสียของการปลูกฝังเรื่องนี้ให้ลูก แต่ก็เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ อะไรที่มากเกินไป น้อยเกินไป ไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งนั้นละค่ะ
เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้เป็น “เด็กขี้ฟ้อง”
- รับฟังลูก โดยพ่อแม่ต้องไม่ใส่อารมณ์กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเกินไป เปิดใจรับฟังสิ่งที่ลูกอยากเล่า อย่าทำให้การที่เขามาบอกเป็นการฟ้อง การบ่นซ้ำๆ
- ตั้งคำถาม ชวนลูกคิด ชวนลูกหาหนทางแก้ปัญหา แต่ไม่ใช่การสั่งให้ลูกแก้ปัญหาแบบนั้นแบบนี้ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ ให้เขาคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง แล้วรอฟังผล ถ้ายังไม่ได้ผลอีก ลองมานั่งพิจารณาพร้อมอธิบายให้เขาฟังถึงเหตุผล ว่าทำแบบนั้นไม่ได้ผลเพราะอะไร ให้เขาคิดวิธีแก้ปัญหาเอง แต่พ่อแม่จะเสนอหนทาง หรือแนะนำบ้างก็ไม่ผิดอะไรค่ะ
- ชมเชย ถึงปัญหาจะยังไม่หมดไป แต่ถ้ามีความคืบหน้า เขาจะเริ่มรู้ว่าตัวเองมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหา และจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง ปัญหาจะแก้ได้บ้างไม่ได้บ้างไม่ใช่เรื่องใหญ่ค่ะ
- อดทน พ่อแม่ต้องสร้างลูกให้อดทนกับเรื่องเล็กน้อยให้ได้ เช่น การรอคอย อุบัติเหตุเล็กน้อยอย่าง การเดินชน การทำของตกหล่น เขาจะกลายเป็นคนที่มีน้ำอดน้ำทน อดกลั้นต่อสภาพความไม่พึงพอใจที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ และจะกลายเป็นเด็กที่อยู่ง่ายกินง่าย
- มองโลกมุมบวก หาก]6dรู้คุณค่าในตัวเอง รู้ว่าพ่อแม่รักเขา สนใจเขา และต้องการเขา ลูกจะรู้สึกตัวว่าไม่ต้องไปเรียกร้องความสนใจจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง และพอเขากลายเป็นคนที่เห็นคุณค่าของตัวเอง เขาจะกลายเป็นคนที่เห็นคุณค่าในคนอื่น ซึ่งจะส่งผลต่อทัศนคติในการมองโลกของเขาด้วย
ไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กขี้ฟ้อง สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่มองข้ามสิ่งที่มีผลกระทบกับลูกมากที่สุด นั่นคือการกระทำของพ่อแม่เองด้วยนะคะ