
100 วิธีง่าย ๆ เลี้ยงลูกมีความสุขทุกวัน
ลูกคือดวงใจของคนเป็นพ่อแม่ มาดูวิธีง่าย แสนง่าย ของการสร้างความสุขให้กับลูกกันดีกว่า เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนทำได้แน่นอนค่ะ
บอกกับลูกตรงๆ ว่า
1.พ่อแม่รักลูก
2.ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นพ่อกับแม่ก็ยังคงรักลูก
3.พ่อแม่รักลูกแม้ว่าเวลาที่ลูกโกรธพ่อแม่
4.พ่อแม่รักลูกแม้ว่าเวลาพ่อแม่โกรธลูก
5.พ่อแม่รักลูกแม้ว่าเราอยู่ไกลกันความรักของพ่อและแม่ก็ยังส่งไปถึงลูกเสมอ
6.ถ้าจะให้พ่อแม่เลือกเด็กวัย 4, 5 หรือ 6 ขวบ.....ทั่วทั้งโลก พ่อแม่จะเลือกลูก
7.พ่อแม่รักลูกตั้งแต่พระจันทร์เดินทางไปรอบๆ ดวงดาวต่างๆ ทุกดวง ไปรอบโลกและกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
8.ขอบคุณพระเจ้า/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลูกเกิดมาเป็นลูกของพ่อแม่
9.พ่อแม่ดีใจที่ได้เล่นกับลูกวันนี้
10.ช่วงที่มีความสุขในวันนี้คือตอนที่พ่อแม่เล่นกับลูก
เล่าเรื่อง
11.เล่าเรื่องตอนลูกเกิดให้ลูกฟัง
12.เล่าให้ฟังว่าเรากอดลูกอย่างไรตอนลูกยังเป็นทารก
13.เล่าว่าได้ชื่อลูกมาอย่างไร
14.เล่าให้ลูกฟังว่าตอนที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกันกับลูกพ่อแม่เป็นอย่างไร
15.เล่าเรื่องคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายและคุณพ่อคุณแม่พบรักกันได้อย่างไร
16.บอกลูกว่าเราชอบสีอะไร
17.เมื่อจับมือลูกและบีบ 3 ครั้งนั่นเป็นโค้ดลับว่า พ่อแม่รักลูก
18.เล่าให้ลูกฟังว่าบางครั้งพ่อแม่ก็ทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน
19.บอกลูกว่าแผนการในอนาคตของครอบครัวที่วางไว้คืออะไร
20.ผลัดกันเล่าว่าวันนี้พ่อแม่ทำอะไรบ้าง และวันนี้ลูกทำอะไรบ้าง
เล่นด้วย
21.เกมแตะแข็ง
22.หมากเก็บ
23.ตี่ จับ
24.ลิงชิงบอล
25.ทดสอบความจำ
26.รี รี ข้าวสาร
27.สายลับ หาอะไรที่ซ่อนอยู่
28.บก น้ำ อากาศ
บทบาทสมมติ
29.จับจูบที่ลูกส่งให้แล้วเอาไปหอมแก้มลูกอีกครั้ง
30.เล่นจั๊กจี้กับลูก
31.ตบมือ ไฮไฟ (High Five) ทำทีว่าลูกมีกำลังมากจริง ๆ จนเกือบจะทำพ่อแม่ล้ม (High Five คือการตบมือด้วยมือข้างใดข้างหนึ่งกับผู้อื่นเมื่อประสบความสำเร็จหรือพอใจอะไรบางอย่าง)
32.สำรวจโลกมหัศจรรย์ใหม่ นั่นคือสวนหลังบ้าน
33.สมมติว่าจัดเลี้ยงที่บ้าน
34.เล่นเป็นตัวตลกกัน
พยายาม
35.นอนหลับให้เพียงพอ
36.ดื่มน้ำให้เพียงพอ
37.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
38.ใส่ชุดที่จะทำให้ลูกรู้สึกมั่นใจและสบาย
39.หาคำปรึกษา หรือพัฒนาตนเองจากแหล่งความรู้ต่างๆ
40.ใช้วิธีสัมผัสที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการพูดบางสิ่งบางอย่าง
41.เต้นรำกับลูก
42.ให้ลูกเลือกดนตรีที่ชอบในรถ
43.ทำท่าตีลังกา ใช้หัวยืนแทนเท้า ให้ลูกดู
44.เมื่อเห็นงานที่ต้องทำ เข้าช่วยหรือช่วยทำความสะอาดทันที
45.ใช้เสียงที่นุ่มนวลสุภาพกับลูกเสมอ
46.อ่านเรื่องและคำกลอนตลกๆ ด้วยกัน
47.อ่านนิทานร่วมกัน
48.อ่านหนังสือที่สมัยเด็กที่เราชอบให้ลูกฟัง
49.อ่านเรื่องตามเวปที่มีนิทานที่เด็กชอบ
50.อ่านหนังสือใต้ต้นไม้
51.พาลูกไปอ่านหนังสือที่มุมเด็กในห้องสมุดด้วยกัน
52.คุยเรื่องตัวการ์ตูนที่ลูกชอบแต่เราอาจไม่สนใจเท่าไหร่นัก
53.เมื่อถึงอายุที่เหมาะสมเล่าเรื่องจริงที่เหมาะกับพัฒนาการ
นักฟังที่ดี
54.ฟังเรื่องที่ลูกเล่าในรถ
55.ฟังเรื่องที่ลูกเล่าขณะที่ลูกต่อไม้บล็อก หรือเล่นตัวต่อ
56.ตอบคำถามหรือช่วยต่อยอดความคิดให้ลูก
57.อดทนฟังอย่างตั้งใจเมื่อลูกพูด
58.ฟังความรู้สึกของลูกเมื่อลูกพูด
ตั้งคำถาม
59.ทำไมถึงคิดว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น
60.ลูกคิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นถ้าหากว่า.........
61.เราจะหาคำตอบได้อย่างไร
62.ลูกคิดอย่างไรกับ......
63.ลูกชอบช่วงไหนในวันนี้มากที่สุด
64.ที่โต๊ะอาหาร ลูกชิมแล้วรู้สึกว่าอาหารมีรสชาติอย่างไร.....
ทำให้ดู
65.ทำให้ลูกดูว่าทำอย่างไร ไม่ใช่ห้ามไม่ให้ทำ
66.พ่อแม่พูดจาสุภาพเรียบร้อยทั้งกับลูกและซึ่งกันและกัน
67.สลับบัตรคำในมือ และทำให้เป็นเหมือนสะพานโค้งถ้าทำได้
68.วิธีตัดผักผลไม้ อย่างปลอดภัย
69.วิธีการทำงานบ้านที่ถูกต้อง เช่น พับผ้า ล้างจาน
70.ดูคู่มือ วิธีใช้เมื่อไม่รู้คำตอบ
71.พ่อแม่แสดงความรักและความห่วงใยต่อกัน
72.การดูแลตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ
ใช้เวลากับ
73.การซ่อมแซมของเล่น
74.ใกล้ชิดกับธรรมชาติ
75.ให้ลูกช่วยผสมส่วนประกอบของอาหาร
76.ไปเดินเล่นด้วยกัน
77.ขุดดินปลูกต้นไม้ด้วยกัน
78.ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันตามระดับความสามารถของลูก
79.นั่งเล่นกับลูกๆ
ไว้วางใจ
80.บอกลูกว่าเขาสามารถทำได้
81.บอกว่าคุณเป็นพ่อแม่ที่เหมาะกับลูกจริงๆ
82.บอกลูกว่าแค่มีพ่อกับแม่ก็เพียงพอ
83.พ่อและแม่จะทำสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับครอบครัวเรา
เสริมกำลังใจลูก
84.สร้างความแปลกใจโดยการทำความสะอาดห้องให้ลูก
85.ชมว่าขนมปังที่ลูกทาแยมอร่อยมาก
86.เขียนโน้ตส่งความรักให้ลูกในกล่องอาหารกลางวัน
87.ทำอาหารว่างเป็นรูปรอยยิ้ม
88.ทำเสียงประกอบขณะทำกิจกรรมช่วยกับลูก
89.นั่งเล่นที่พื้นกับลูก
ลืมเรื่องเหล่านี้
90.ความผิด
91.คิดทางลบว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น
92.ตอนถูกเสมอ
ให้
93.การมองลูกด้วยสายตาที่อ่อนโยน
94.ยิ้มให้เสมอเมื่อลูกเดินเข้ามาหาเรา
95.สัมผัสลูกเมื่อลูกสัมผัสเรา
96.สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นก่อนที่จะลงวินัยกับลูก หรือแก้ไขลูกเพื่อลูกจะเข้าใจในสิ่งที่เราทำ
97.เปิดโอกาสให้ลูกได้ระบายสิ่งที่คับข้องใจทุกเรื่อง
98.เล่นฉีดน้ำกับลูกในวันที่อากาศร้อน
99.กอดลูกบ่อยๆ
100...............................ข้อนี้ให้คุณพ่อคุณแม่คิดแล้วเติมเองนะคะ
ถึงแม้ว่าข้อต่างๆ เหล่านี้ดูสั้นๆ ทำง่ายๆ และดูเหมือนจะมีบางข้อที่มีวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามีส่วนอยู่บ้าง แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่สามารถทำให้ลูกสัมผัสถึงความรักได้ไม่ว่าจะเป็นข้อที่คิดขึ้นเองหรือทำตาม/ดัดแปลงจากทั้ง 100 ข้อนี้ ความรักที่ลูกได้รับจากพ่อแม่จะถูกเก็บสะสมไว้ในใจและในความทรงจำของลูกเสมอเพื่อที่เมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่ลูกจะสามารถมอบความรักเหล่านี้กลับไปสู่ตัวเอง ผู้อื่นและธรรมชาติที่อยู่รอบข้างได้ โลกนี้คงน่าอยู่ขึ้นแยะหากเรารู้จักรักและแบ่งปัน เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ

ข่าวเด็ก ๆ โดนลักพาตัว ไปกับคนแปลกหน้ามีให้เห็นบ่อยมาก ซึ่งเกิดได้ทั้งลูกเล็ก ลูกโต ทั้งที่โรงเรียน สนามเด็กเล่น หรือแม้แต่ห้างที่มีคนพลุกพล่าน พ่อแม่จึงต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ลูกโดนลักพาตัว รวมถึงสอนให้ลูกปกป้องตัวเองเบื้องต้นด้วยการรู้จักปฏิเสธและไม่ไปกับคนแปลกหน้า เรามี 4 วิธีสอนและป้องกันให้ลูกไม่โดนลักพาตัว และรู้จักปฏิเสธไม่ไปกับคนแปลกหน้ามาแนะนำค่ะ
1.รหัสลับที่รู้กัน
วิธีนี้พ่อแม่ลูกจะต้องสร้างรหัสลับที่รู้กันเอง เพื่อเวลาพ่อแม่ไปรับ ลูกจะต้องถามรหัสนี้ก่อน หรือหากมีความจำเป็นต้องให้ญาติไปรับก็จะต้องรู้รหัสนี้ด้วย เช่น รหัส "เจ้าหญิงเอลซ่ากินกล้วย" เมื่อไปรับลูก ลูกจะต้องถามพ่อแม่ก่อนว่ารหัสคืออะไร เมื่อพ่อแม่ตอบถูกจึงกลับบ้านด้วยกันได้ หากตอบผิด ลูกจะต้องรีบวิ่งไปหาคุณครู
คำแนะนำ
- รหัสนี้ควรเปลี่ยนทุกสัปดาห์
- หากจะต้องให้ญาติไปรับแทน ต้องแจ้งรหัสนี้ที่ญาติ และแจ้งครูที่พาน้องมาส่งถึงมือญาติด้วย
- คุณครูคืออีกหนึ่งคนที่จำเป็นต้องทราบรหัสนี้ ทั้งในกรณีที่พ่อแม่หรือญาติมารับ
-------------------------------------------------
2.สอนให้ลูก "ขออนุญาต" ก่อนเสมอ
วิธีนี้ต้องปลูกฝังตั้งแต่ลูกเริ่มเข้าใจคำพูดของพ่อแม่ คือ ทุกครั้งที่ลูกจะรับของจากใคร กินอะไร ไปไหน จะต้องหันหน้ามาถามพ่อแม่ก่อนเสมอ หากพ่อแม่อนุญาตถึงทำได้ หากไม่อนุญาตก็จะไม่ได้ทำ เช่น คุณป้า(พี่สาวพ่อ)ให้ขนม ลูกจะยังไม่รับแม้จะโดนคะยั้นคะยอจากป้า แต่จะหันมามองหาพ่อแม่แล้ววิ่งมาขออนุญาตก่อน หรือ หากมีใครจับแขนหรือมือให้มารับของหรือพาเดิน ลูกจะรู้ว่าต้องขัดขืนไว้ เพราะพ่อแม่ยังไม่อนุญาตให้ไป
คำแนะนำ
- วิธีนี้เน้น "การทำซ้ำ" จึงจะได้ผล เช่น ทุกครั้งที่มีใครให้ขนม เมื่อเห็นว่าลูกจะรับ พ่อแม่ต้องถามว่า "ลูกควรทำยังไงก่อน" เพื่อเตือนให้ลูกรู้ว่าต้องมาขออนุญาตก่อนทุกครั้ง จนกว่าลูกจะจำและทำได้เองเมื่อมีคนให้ขอหรือจะทำอะไร ต้องมาขอพ่อแม่ก่อน โดยที่เราไม่ต้องร้องเตือน
-------------------------------------------------
3.กรี๊ดให้สุดเสียง
ในกรณีที่มีคนแปลกหน้ามาจับตัว จับขน จับมือ ลากดึงมือไปที่อื่น โดยไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองอยู่ด้วย วิธีที่ดีที่สุดที่จะสอนให้ลูกทำคือ ร้องสุดเสียง กรี๊ดให้ดังที่สุด เพื่อเรียกให้คนมาช่วย
คำแนะนำ
- พ่อแม่ควรสอนลูกด้วยว่า คนแปลกหน้าคือคนลักษณะไหน เช่น คนที่บอกรหัสลับไม่ถูกแต่พยายามจับมือแล้วลากหนูไป ก็ให้หนูร้องเลย เป็นต้น
-------------------------------------------------
4.นาฬิกาติดตามตัว
สำหรับเด็กๆ ที่โตพอจะใส่นาฬิกาได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย เช่น นาฬิกาติดตามตัวที่มีระบบ GPS เชื่อมต่อกับโทรศัพท์ของพ่อแม่ ซึ่งจะทำให้รู้ความเคลื่อนไหวของลูกว่าอยู่ไหน ออกนอกพิกัดไหม หากลูกออกนอกพิกัดก็สามารถโทรศัพท์เข้าไปที่นาฬิกาได้เลย หรือสามารถติดตามเส้นทางของลูกได้
คำแนะนำ
- ควรเลือกนาฬิกาติดตามตัวที่เหมาะกับพฤติกรรมของเด็กๆ เช่น กันน้ำ กันกระแทก ฯลฯ
- สอนลูกเสมอว่าไม่ควรถอด นอกจากต้องทำกิจกรรมที่ใส่นาฬิกาตลอดเวลาไม่ได้ เช่น ว่ายน้ำ ฯลฯ
เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนรู้ไว้เป็นทักษะชีวิตในการเอาตัวรอดของลูกเมื่อต้องเจอสถานการณ์ร้ายแบบนี้นะคะ
5 คำพูดให้กำลังใจที่ลูกอยากได้ยินจากแม่
คุณแม่คงลืมไปเลยใช่ไหมละคะว่า “คำพูด” นั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ลูกอยากได้ยินจากปากของแม่ รู้หรือไม่ว่าคำพูดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จิตใจของลูก พร้อมที่จะเผชิญปัญหาที่ลูกอาจจะไม่เคยบอกคุณมาก่อน เห็นแบบนี้แล้วลองดูคำพูดที่ลูกมักอยากจะได้ยินว่ามีอะไรกันบ้าง
5 คำพูดที่ลูกอยากได้ยินจากแม่
1.แม่ยังคง “รักลูก” นะ
เชื่อเถอะว่าร้อยทั้งร้อย ลูกอยากได้ยินคำนี้จากปากของพ่อแม่มากที่สุด เพราะลูกไม่รู้หรอกว่าคุณพ่อคุณแม่รู้สึกอย่างไร เป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ที่บอกรักลูก แต่สำหรับคุณพ่ออาจจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่..ถ้าหากได้บอกกับลูกไปแล้ว บอกได้เลยว่ามันคุ้มค่าเกินกว่าที่นึกคิดไว้แน่นอน
2.แม่ “ขอโทษ” นะลูก
การขอโทษบางครั้งมันยากที่จะพูดออกไป ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ทำผิดกับลูก ก็อย่ามัวคิดแต่ว่า ไม่ขอโทษลูกก็ไม่เป็นไร ยิ่งคุณพ่อแล้วการบอกขอโทษลูกอาจจะยากกว่าคุณแม่เสียอีก แต่คำขอโทษจากปากของคุณพ่อคุณแม่ ยังเป็นการสอนลูกในการยอมรับความผิดที่ได้ทำลงไปอีกด้วย
3.แม่ “ภูมิใจ” ในตัวลูก
คำพูดนี้อาจจะเป็นคำพูดธรรมดาสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่จริงๆ แล้วคำพูดนี้มีความหมายสำหรับลูกอย่างคาดไม่ถึง เพราะมันจะเป็นพลังทั้งกายและใจให้ลูกได้อย่างน่ามหัศจรรย์เลยทีเดียว
4.แม่ “ยอมรับ” ในสิ่งที่ลูกเป็น
คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนอาจจะหวังให้ลูกเป็นในแบบที่ต้องการ แต่ในทางกลับกันลูกอยากเป็นในสิ่งที่คุณต้องการหรือเปล่า หลายคนอาจจะบังคับลูกให้เป็นในแบบนี้ แต่เชื่อเถอะ การให้ลูกเลือกในสิ่งที่ลูกอยากเป็น และยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็นนั้น ลูกจะมีอนาคตที่ดี

5.ลูกคือ “คนสำคัญ” ของแม่นะ
ทุกคนก็อยากเป็นคนสำคัญกันทั้งนั้น โดยเฉพาะลูกของคุณที่อยากให้ตัวเองเป็นคนสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่จะมีซักครั้งบ้างไหมที่ลูกจะได้ยินคำนี้ ลองบอกลูกดูซักครั้งแล้วจะรู้เลยว่าคำนี้มีค่ามหาศาล
คำพูดเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะมองว่าเป็นคำพูดที่ธรรมดา จนมองข้ามมันไป แต่ในความคิดของลูกนั้นไม่ใช่แบบนั้นเลย ลองนำไปปรับใช้ที่บ้านกันดูนะคะ
..คำพูดแสนวิเศษที่ออกมาจากใจของคุณพ่อคุณแม่
..สร้างพลังให้ลูกมากมายเหลือเกิน

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตชาวต่างชาติเลี้ยงลูกไหมคะ ดูปล่อยลูกให้มีอิสระมาก ลุยมาก กล้าคิดกล้าทำ ออกจากบ้านทำงานหาเงินกันตั้งแต่อายุยังน้อย
วิธีเลี้ยงลูกแบบฝรั่งสำคัญตรงพวกเขารู้จักรับผิดชอบกันตั้งแต่เด็ก ๆ เลย เพราะแบบนี้ เราเลยจะนำสไตล์การเลี้ยงลูกแบบฝรั่งมาบอกกัน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นอีกมุมมองการเลี้ยงลูก อาจมีข้อที่นำไปปรับใช้กับลูกได้นะคะ
- พ่อแม่สนับสนุนสิ่งที่ลูกอยากทำ
เมื่อสังเหตเห็นว่าลูกชอบอะไร ก็ต้องสนับสนุนไปให้สุด เช่น ลูกชอบเล่นดนตรี พ่อแม่ก็ควรเชียร์ให้เต็มที่ ซื้อเครื่องดนตรีที่ลูกอยากได้ให้ลูกซ้อมเล่น มีกิจกรรมดนตรีก็พาลูกไปทำ หรือ ถ้าลูกชอบวาดรูป ก็ซื้ออุปกรณ์วาดรูปแบบครบเครื่องให้ลูกเลย เช่น ขาตั้งวาดรูป สี อุปกรณ์การเพ้นท์ เรียกว่าต้องสนับสนุนในด้านที่ลูกชอบและถนัดไปเลย
- คิดว่าการมีแฟนเป็นเรื่องปกติ
ตอนเด็ก ๆ เขาจะสอนให้ลูกชายเป็นสุภาพบุรุษ สอนให้ลูกสาวพึ่งพาตัวเองมาก ส่วนเรื่องการมีแฟนอาจจะขัดกับสังคมไทยเล็กน้อย แต่พ่อแม่ฝรั่งจะคิดว่า ถึงเราห้าม เด็กก็มีแฟนอยู่ดี สู้ให้ลูกมี แต่เรารู้ และอยู่ในสายตาเราดีกว่า ครอบครัวจะช่วยลูกเลือกแฟนด้วย

- ฝึกให้ลูกรับผิดชอบแบบผู้ใหญ่
สิ่งที่พ่อแม่ฝรั่งคิดคือ พ่อกับแม่ไม่สามารถอยู่เพื่อปกป้องลูกตลอดไปได้ ลูกต้องโตขึ้นและช่วยเหลือตัวเองได้ ควรฝึกลูกด้วยการมอบหมายงานบ้านตามอายุให้ลูก ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ เช่น ลูกอายุ 9 ขวบ ต้องให้อาหารน้องหมา ลูก 6 ขวบ ต้องให้อาหารแมว ลูก 2 ขวบ ต้องเลือกเสื้อผ้าและรองเท้าไปโรงเรียนด้วยตัวเอง และทานข้าวเอง ไม่มีการป้อน พอโตที่จะทำงานได้ ลูกต้องทำงานพิเศษเพื่อหาค่าเทอมไปด้วย เรียนไปด้วยทุกคน
- ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว
ครอบครัวฝรั่งต้องมีวันหยุดสุดสัปดาห์จะต้องมี Family Time คือการทำกิจกรรมเป็นครอบครัว ให้ทุกคนมาอยู่ร่วมกัน เช่น ตกปลา ย่างบาร์บีคิว และในทุก ๆ ปีจะมีช่วงเวลา “พ่อ-ลูกสาว” และ “แม่-ลูกชาย” คือไปเดทกัน 1 วัน มีโมเม้นต์กุ๊กกิ๊ก และสอนเรื่องการวางตัวกับเพศตรงข้ามให้ลูกด้วย
- พ่อและแม่มีเวลาอยู่ด้วยกันสองคน
เรียกว่าต้องเติมความหวานให้กันบ้าง พ่อกับแม่จะทำกิจกรรมร่วมกันหนึ่งอย่าง เช่น ไปเรียนเต้นรำ 1 คอร์ส ไปเรียนทำอาหารด้วยกัน ไปเที่ยวด้วยกันสองคน เพื่อทำให้ชีวิตคู่มีสีสัน และทำให้ลูก ๆ รู้สึกอุ่นใจ ว่าพ่อแม่ยังรักกันมาก ๆ
ต้องบอกว่าทุกข้อสามารถนำมาปรับใช้กับครอบครัวได้ตามความเหมาะสมเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็น สนับสนุนลูกอย่างเต็มที่ ให้ลูกรับผิดชอบตัวเอง ทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน ทำกิจกรรมพ่อแม่แบบสองต่อสอง และช่วยลูกคบหาเพื่อน การเลี้ยงลูกแบบฝรั่ง เรียกว่าน่าปรับใช้กับครอบครัวคนไทยมากนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอจริง เข้าใจวัยรุ่น Dr Jing

เชื่อว่าคุณแม่หลาย ๆ คนกำลังติดตามความน่ารักของน้องแฝดสายฟ้า-พายุ ลูกแฝดแสนซนของคุณแม่ชมพู่ อารยา และคุณพ่อ น็อต วิศรุต ทางอินสตาแกรมอยู่แน่ๆ เพราะนอกจากความน่ารักที่เป็นที่พูดถึงแล้ว การเลี้ยงดูลูกแฝดของแม่ชม ก็เรียกว่าเลี้ยงง่ายๆ ให้ติดดินอีกด้วย
น้องแฝดเสื้อผ้าก็ธรรมดา ของเล่นก็ของใช้ในบ้าน แม่ชมปล่อยให้ลูกเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติตามวัยมากๆ มาดูสไตล์การเลี้ยงลูกให้ติดดินแบบแม่ชมกันเลยค่ะ
5 วิธีเลี้ยงลูกให้ติดดิน แบบบ้าน ๆ ของ ชมพู่ อารยา ที่แม่ควรลองทำตาม
- เลี้ยงตามวัย ตามธรรมชาติ
จะเห็นเลยว่าแม่ชมเลี้ยงน้องแฝดให้อยู่กับดิน กับหญ้า ช่วงที่น้องแฝดกำลังหัดเดินต้องระวังมากขึ้น แต่แม่ชมก็ปล่อยให้น้องเดินเอง ล้มบ้าง ไม่ได้ตกใจหรือเข้าไปประคบประหงมลูกเลย จนน้องแฝดเดินได้ตั้งแต่ก่อนขวบ นี้คงเป็นเพราะการเลี้ยงลูกแบบปล่อยบ้าง ระวังบ้าง จึงทำให้น้องแฝดเดินได้เร็วขึ้น
- เล่นแบบลุยๆ บ้านๆ
หลายคลิปเรียกเสียงหัวเราะได้จริง ๆ ของเล่นหรูหราไม่ค่อยเห็นกับน้องแฝดเลยค่ะ จะเห็นก็แต่น้องแฝดเดินไปกินน้ำในก๊อกน้ำ แม่ชมก็ไม่ดุเลย น้องแฝดเล่นสายยาง แม่ชมก็เฝ้ามองด้วยความเอ็นดู เรียกว่าอะไรมีในบ้านก็เล่นไปเลย ไม่ต้องแพง
- ซื้อของเซลล์ให้ลูก ไม่ได้หรูหรา
ระดับคุณแม่ซุปตาร์ชมพู่ อารยา ไอคอนด้านแฟชั่นของไทย แต่ซื้อของเซลล์ เสื้อผ้าเซลล์ให้ลูกนะคะ แม่ชมเองก็ได้บอกกันไปแล้วว่า มักจะซื้อของใช้ราคาเซลล์ให้ลูกเพื่อเป็นการประหยัด เด็กค่อนข้างที่จะโตไว ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและรองเท้าอยู่บ่อยๆ แม่ๆ คนอื่นที่กำลังคิดจะซื้อของแพงๆ ให้ลูกต้องคิดให้ดีแล้วล่ะค่ะ
- ซื้อเสื้อผ้าเผื่อโต
ดูไอจีแม่ชมแล้ว จะว่าน้องสายฟ้ากับน้องพายุใส่เสื้อยาวแทบจะถึงเข่า เรียกได้ว่าใส่กันได้ยาวๆ ไม่ต้องเสียเงินซื้อบ่อยๆ และถึงจะมีน้าๆ ป้าๆ ซื้อเสื้อผ้าแพงๆ ให้น้องสายฟ้าและน้องพายุ แต่ก็ยังเห็นทั้งคู่ใส่ชุดซ้ำอยู่บ่อยๆ เลยค่ะ แม่ชมจัดให้เอง ใส่สบายก็ใส่บ่อยๆ ไปเลย
- ฝึกกินผลไม้และของง่ายๆ
แม่ชมจะติดแฮชแท็ก #fruitoftheday ในไอจีตลอด ดูแล้วอดยิ้มตามไม่ได้เลย ที่น้องแฝดกินผัก ผลไม้ รวมไปถึงอาหารต่างๆ ในสไตล์ Baby Led Weaning หรือ BLW เน้นให้ลูกกินได้ด้วยตัวเอง ให้อิสระให้การเลือกกิน เมนูข้าวเหนียว ขนมไทย น้องแฝดก็กินอย่างเอร็ดอร่อยมาแล้วค่ะ
การเลี้ยงลูกในแต่ละบ้าน ไม่มีผิดไม่มีถูก เพราะแม่รู้จักพัฒนาการของลูกดีที่สุด สำหรับใครที่ชอบการเลี้ยงลูกสไตล์นี้ของแม่ชม จะลองปรับใช้ให้เข้ากับลูกดูได้นะคะ

เลี้ยงลูกแบบ "พ่อแม่รังแกฉัน" ส่งผลเสียกับลูกอย่างแรงเลยนะคะ ทั้งในปัจจุบัน และอาจส่งผลต่อลูกตอนโตด้วย
6 พฤติกรรมพ่อแม่รังแกฉัน ส่งผลเสียต่อลูกไปจนโต
พ่อแม่ย่อมรักลูกและมีวิธีเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันไป แต่การเลี้ยงลูกในวันนี้จะส่งผลให้เขาเป็นคนที่เติบโตไปข้างหน้า เขาจะโตมาเป็นแบบใดขึ้นอยู่ที่การเลี้ยงดูเป็นส่วนใหญ่ ลองมาสำรวจตัวเองหน่อยค่ะว่าคุณกำลังเผลอเป็น "พ่อแม่รังแกฉัน" อยู่หรือเปล่า เพราะทั้ง 6 ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลร้ายแรงกับลูกมาก
6 พฤติกรรมของพ่อแม่รังแกฉัน
- รักลูกมากเกินไป ลูกของตนถูกทุกอย่าง ลูกของตนดีกว่าคนอื่นเสมอ ส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนเชื่อมั่นตนเองในทางที่ผิด ชอบดูถูกคน ชอบสร้างปัญหาแต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนสร้างปัญหา
- ตามใจลูกมากเกินไป พ่อแม่ยอมทุกอย่าง ไม่กล้าขัดใจลูกเลยสักนิด ผลคือลูกจะเอาแต่ใจ มักสร้างภาระให้สังคมเมื่อไม่ได้ดั่งใจ
- ไม่กล้าห้ามปรามสั่งสอน เมื่อลูกทำผิด พ่อแม่รู้อยู่แก่ใจว่าลูกทำในสิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่สอนลูก ปล่อยเรื่องไปเฉย ๆ ผลคือลูกสูญเสียสามัญสำนึก แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น และกลายเป็นนักเลงอันธพาล ระรานคนเขาไปทั่ว
- ไม่ยอมให้ลูกตัดสินใจด้วยตนเอง พ่อแม่มักที่คิดแทนลูก แม้จะรู้ว่าเขาอยากทำอะไรแต่มักจะให้ทำในสิ่งที่พ่อแม่อยากทำมากกว่า ผลคือลูกกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไร ส่งผลให้ไร้ภาวะผู้นำ
- ไม่รู้จักยกย่องชมเชยลูกเมื่อเขาประสบความสำเร็จ ไม่เคยชมเรื่องการเรียน หรือในการทำกิจกรรมใดๆก็ตาม ผลก็คือลูกกลายเป็นคนใจคอคับแคบ เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีความสำเร็จ ลูกอาจมีพฤติกรรม หรือความรู้สึกอิจฉาคนอื่นนะคะ
-
ให้เงินลูกเพียงอย่างเดียว เอาเงินเข้าแก้ปัญหาทุกอย่าง แม้แต่เรื่องเล็กน้อยก็มักใช้เงินแก้ปัญหา ผลคือลูกจะไม่รู้จักคุณค่าของเงิน ผลาญเงินเก่ง ใช้จ่ายเงินสูงแต่กลับมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง
การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ ให้ความรักเขาได้อย่างถูกต้อง ไม่รักลูกจนเกินไป จนไม่ให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองเลย แบบนี้ไม่ดีแน่ ๆ ค่ะ ขอเพียงพ่อแม่ทุกคนตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยความรัก ความเหมาะสมแล้วนั้น เราเชื่อว่า ชีวิตของลูกคุณจะดีแน่นอนค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกบ้านนะคะ

6 เรื่องที่อย่าบังคับลูก ถ้าลูกยังไม่พร้อม
เชื่อว่าความหวังดีหลายอย่างของพ่อแม่ กลับกลายเป็นดาบที่มาทิ่มแทงลูกน้อยให้เจ็บปวดโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับการบังคับลูกหลายๆ เรื่องเพื่อปรับพฤติกรรมให้ได้ตามที่พ่อแม่คาดหวัง แต่ด้วยความเป็นเด็กพ่อแม่ควรมีวิธีในการฝึกหัด และค่อยๆ สอนลูกๆ แทนวิธีการบังคับซึ่งอาจส่งผลเสียกับพฤติกรรมของลูกมากกว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่พ่อแม่ไม่ควรบังคับ ฝืนใจลูกจนเกินไปมาลองดูกันค่ะ
-
อย่าบังคับให้ลูกนอน ช่วงแรกๆ ของการฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลานั้น ต้องยืดหยุ่น อย่าบังคับให้ลูกนอน แต่อาจใช้เทคนิคอื่นๆ แทน เช่น พาแกไปอยู่ในมุมเงียบๆ (หรือบนเตียงแกก็ได้) ห่างไกลจากสิ่งเร้าทั้งหลาย โอบอุ้มแกไว้ เล่านิทาน หรือเปิดเพลงคลอเบาๆ ให้แกรู้สึกว่ากล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ลูกก็จะไม่ต่อต้าน เพราะไม่รู้สึกว่าวิธีปฏิบัตินี้เป็นการบังคับแต่กลับรู้สึกว่าพ่อแม่รัก
-
อย่าบังคับให้ลูกกิน สำหรับเด็กที่เริ่มกินอาหารเสริม และมีพัฒนาการการกินที่ดีขึ้นจากช่วงแรกกิน 2-3 คำก็เป็น 5-6 คำ จนถึงครึ่งถ้วย อย่างนี้ต้องชื่นชมลูก สิ่งสำคัญถ้าลูกกินได้ไม่กี่คำแล้วไม่กินต่อ อย่าตำหนิ อย่าดุ หรือคะยั้นคะยอให้กินจนหมดถ้วย และไม่ควรบังคับลูก เพราะอาจกลายเป็นความทรงจำที่เลวร้าย ส่งผลให้เป็นคนกินยากได้
-
อย่าบังคับให้ลูกเรียน เชื่อว่าหลายครอบครัวหวังดีกับลูกๆ และวาดฝัน ตั้งความหวังกับอนาคตของลูกๆ กันไว้ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน ทำให้หลายคนพยายามอยากให้ลูกเรียนในสิ่งที่พ่อแม่หวัง ซึ่งหากลูกๆ เห็นคล้อยเห็นดีเห็นงามด้วยก็สบายไป แต่ถ้าลูกเกิดไม่ชอบแต่ทำไปเพราะความคาดหวังของพ่อแม่ก็อาจจะทำให้เขากลายเป็นเด็กมีปัญหา หรือเก็บกดได้ ดังนั้นทางที่ดีควรหมั่นสังเกตว่าลูกชอบเรียนในวิชา หรือสาขานั้นๆ จริงไหม ควรใช้วิธีพูดคุยสร้างเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้พ่อแม่ลูกเห็นพ้องไปในแนวทางเดียวกันอย่างสมัครใจ แต่หากลูกมีเป้าหมายของตัวเองอย่างแน่วแน่ พ่อแม่ควรเป็นฝ่ายสนับสนุน และคอยให้กำลังใจช่วยเหลือเขาดีกว่าค่ะ
-
อย่าบังคับให้ลูกแบ่งปัน ต้องค่อยๆ สอน ค่อยๆ อธิบาย เราเป็นผู้ใหญ่ยังหวงของที่มีค่ากับเราเลย สำหรับเด็กอย่ามองว่าเป็นแค่ของเล่นหรือแค่ขนม เพราะมันคือของมีค่าสำหรับเขาเช่นกัน ลองบอก “หนูจะเล่นอีกกี่นาทีดี แล้วแลกกันนะ” หรือ “รอเพื่อนเล่นเสร็จก่อนเราค่อยเล่น ตอนนี้เล่นอันนี้ก่อนดีไหมคะ” ของเล่นใหม่ๆแปลกๆ มักจะล่อความสนใจได้เสมอ
-
อย่าบังคับลูกให้ขอโทษ การบังคับลูกให้ขอโทษ ทั้งที่เขาไม่รู้สึกผิดจริงๆ หรือเขาไม่ได้ทำผิดแต่โดนบังคับ จะทำให้การขอโทษนั้นสูญเปล่า และไม่เกิดความเข้าใจในการกระทำที่แท้จริง จะยิ่งทำให้เขารู้สึกต่อต้านและไม่เชื่อฟัง ทางที่ดีควรปลูกฝังให้เขารู้สึกเข้าใจ ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น จะทำให้ลูกเป็นคนละเอียดอ่อน และรู้ถึงการกระทำของตัวเองเวลาทำให้คนอื่นโกรธ หรือเสียใจ
หากลูกไม่ยอมขอโทษ เวลาทำผิดควรสอนอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยความใจเย็น ว่าการขอโทษหรือการแสดงความเสียใจเป็นสิ่งที่ควรกระทำ และไม่น่าอาย เพราะทุกคนทำผิดพลาดได้ และถ้าลูกไม่ได้ทำผิดก็ไม่ควรบังคับเคี่ยวเข็ญเพื่อให้เขาต้องขอโทษในเหตุการณ์ที่เขาไม่ได้ทำเพราะเหมือนเป็นการบีบบังคับให้เขาไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง
- อย่าบังคับให้ลูกเลิกเล่นเกม เลิกเล่นอินเทอร์เน็ต สมัยนี้การบังคับไม่ได้ผลแน่นอน ถ้าถึงเวลาที่ลูกอยากใช้งาน เราควรให้เขาได้ใช้งาน แต่คอยระวังให้อยู่ในสายตาแทนการบังคับ กำหนดเงื่อนไขเวลา และกฎ กติกาในการใช้งาน เพราะถ้าบังคับลูก เขาอาจจะแอบพ่อแม่ใช้งานเอง และตอนนั้นก็คงจะยิ่งลำบากในการดูแลสอดส่อง
รากฐานสำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จของลูก พ่อแม่คือคนสำคัญที่จะสอน และอยู่เคียงข้างความสำเร็จของลูกนะคะ
มาช่วยกันสอนเจ้าตัวน้อย ด้วย 8 วิธีเลี้ยงลูกง่ายๆ ดังนี้
8 วิธีเลี้ยงลูกง่ายๆ ฝึกให้ลูกค้นพบตัวเองและมีเป้าหมายของชีวิต
- ให้โอกาส
วัยเด็ก วัยสำคัญที่สุดในช่วงชีวิตมนุษย์ ที่ควรได้รับ “โอกาส” จากผู้ใหญ่ที่ควรทำหน้าที่ “ให้โอกาส” กับเด็กให้มากที่สุด พ่อแม่ควรทำหน้าที่คอยสังเกตและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกถนัดและทำได้ดี จะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจ และมีความพยายามที่จะทำสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ดี
อย่าพยายามคิดและตัดสินใจแทนลูก แต่เปลี่ยนมาสร้างบทบาทการฟังลูกให้มาก ฟังอย่างตั้งใจ เพื่อจะได้รู้ว่าลูกคิดอย่างไร ลูกอยากทำอะไร โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้แนะนำ เพื่อส่งเสริมให้ลูกได้รู้จักตัวเอง มีความถนัดอะไร ชอบอะไร ทำอะไรได้ดี และควรปรับปรุงจุดอ่อนของตัวเองอย่างไร
- ให้อิสระ
พ่อแม่ควรให้อิสระแก่ลูกในการคิดอ่านหรือทำสิ่งใดไม่ควรเป็นผู้บงการชีวิตลูกว่าจะให้ลูกทำอะไร หรือฝากความหวังไว้กับลูกมากจนเกินไป บางคนให้ลูกสานฝันของตัวพ่อแม่เองที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ
โดยไม่คำนึงว่าลูกจะชอบหรือถนัดในด้านนั้นหรือไม่ พ่อแม่ที่ปรารถนาให้ลูกรู้จักตัวเองจึงควรเปิดโอกาสให้ลูกได้สามารถตัดสินใจในการเลือกสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่มีหน้าที่คอยชี้แนะอยู่ห่างๆ
3.ให้ลูกเห็นตัวเอง
คนเป็นพ่อแม่สามารถทำหน้าที่เป็นกระจกเงาสะท้อนให้ลูกได้เห็นตนเองในมุมต่างๆ ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง จุดดี จุดด้อย ฯลฯ การสะท้อนภาพด้วยวัยและประสบการณ์ของลูกอาจทำให้เขามองเห็นภาพของตัวเองได้หลากหลาย เหมาะสม หรือบิดเบี้ยวผิดจากความเป็นจริง หรือฟังจากคนรอบข้างมาอย่างผิดๆ
พ่อแม่ต้องปรับความเข้าใจของลูกที่มีต่อตัวเองให้ถูกต้องเป็นจริงให้มากที่สุด นั่นหมายความว่าพ่อแม่ต้องมองลูกด้วยสายตาความเป็นจริง มิใช่อคติหรือลำเอียง การสอนและเตือนสติเป็นสิ่งจำเป็น พ่อแม่คือผู้ที่เห็นลูกอย่างใกล้ชิดที่สุด และสามารถเข้าใจความเป็นตัวตนของเขามากที่สุด
- ให้ความเคารพ
เมื่อลูกของเราค้นหาและค้นพบว่าตัวเองถนัดอะไร ชอบอะไร ซึ่งไม่ว่าสิ่งนั้นจะตรงใจพ่อแม่หรือไม่ก็ตาม ต้องเข้าใจ ยอมรับและเคารพในตัวลูกด้วย
ที่สำคัญควรสร้างทัศนคติว่าพ่อแม่ลูกสามารถคุยกันได้ มีความเคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน

- ให้ประสบการณ์
ช่วงวัยเด็กเล็กเป็นวัยที่สำคัญมาก เป็นวัยช่างซักช่างถาม ต้องเปิดโอกาสให้ลูกเป็นเจ้าหนูทำไม และพ่อแม่ก็อย่าขี้เกียจตอบ พยายามตอบให้ได้มากที่สุด และคำตอบก็ควรจะเป็นลักษณะถามลูกว่าแล้วลูกคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร เป็นคำถามปลายเปิด เพื่อช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้คิดต่อ บางคำถามสามารถมีหลายคำตอบได้ ก็ชวนให้ลูกคิดตาม
เมื่อลูกโตขึ้นก็ขยับความสนใจให้ลูกเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้น ซับซ้อนตามวัย ยิ่งถ้าเป็นการให้เขาเรียนรู้สิ่งที่เขาสนใจ สิ่งที่เขาชอบ ก็จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีต่อไปในอนาคต
- ให้พัฒนาตัวเอง
เด็กควรได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคมเริ่มที่การถูกเลี้ยงดู และได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ซึ่งหมายความว่าถ้าเด็กได้รับโอกาสที่ดีและเหมาะสม ก็จะนำไปสู่การพัฒนาตัวเองได้ด้วย
- ให้ลงมือทำ
การเปิดโอกาสให้ลูกลองผิดลองถูก คือ ขั้นของการพัฒนาตัวเองที่เขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เปิดโอกาสอย่างเดียว การเปิดโอกาสต้องปล่อยให้ลูกได้ลงมือทำด้วย เพราะการได้ลงมือทำคือการได้เรียนรู้ ได้ลองค้นหาด้วยตัวเอง ทำให้ได้มีโอกาสคิด วิเคราะห์ และประเมินได้ว่าเราถนัดอะไร
- ให้แก้ไขเมื่อผิดพลาด
เด็กทำผิดพลาดแล้ว พ่อแม่ทำอย่างไร เปิดโอกาสให้เขาได้แก้ไขข้อผิดพลาดหรือไม่ รวมถึงการเข้าใจธรรมชาติของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้ว่าลูกของเราเป็นเด็กอย่างไร ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุหรือไม่ หรือพื้นฐานเอาแต่ใจตัวเองหรือไม่ ถ้าพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก การจัดการหรือการให้โอกาสเขา จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเขาด้วย

การรู้จักตัวเองไม่ใช่ปลูกฝังเพียงแค่ที่บ้าน แต่ต้องได้รับการส่งเสริมและฝึกฝนจากโรงเรียนด้วย เพราะเมื่อเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา จำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียนต้องออกแบบการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กรู้จักตัวเอง มิใช่ผลิตให้เด็กออกมาเหมือนๆกัน และสุดท้ายก็ไม่รู้ว่าตัวเองเรียนหนังสือไปทำไม ถนัดอะไร เรียนจบจะไปทำอะไร?
ในบรรดาความรู้ทั้งหลายในโลกกว้าง การรู้จักตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
เพราะจะเป็นพื้นฐานไปสู่การเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ในโลกกว้างต่อไป..
ขอบคุณข้อมูลจาก : mgronline และ ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน
ถ้าอยากตามใจลูกโดยไม่ทำให้ลูกเสียนิสัยและเอาแต่ใจ เรามีเคล็ดลับมาบอก ลองทำกันดูค่ะ
กฎ 9 ข้อ ตามใจลูกแบบไหนไม่ให้ลูกเสียนิสัย
เด็กวัย 1-3 ปี เป็นวัยแห่งการค้นหา กำลังสนุกกับโลกใบใหม่ เห็นอะไรก็อยากทำ จับ เขย่า รื้อ สารพัดจะสนุกแบบไร้ขอบเขต ซึ่งในวันข้างหน้าลูกต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคม คงไม่สามารถเอาแต่ใจ อยากทำอะไรก็ได้ทุกอย่างแบบนี้ ดังนั้นต้องใช้ "กติกาและกฎของบ้าน" มาปรับใช้กับลูกแล้วค่ะ
ใช้วิธีชักชวนโดยไม่ใช่ใช้คำสั่ง เพราะเด็กยังเล็กเกินกว่าจะเข้าใจ "ลูกเลือกเอาค่ะว่า จะกินข้าวหรือจะไปเล่น ถ้าจะกินข้าวต้องนั่งที่โต๊ะอาหารนะ"
มีทางเลือกให้สักหน่อย ไม่ใช่ฝืนใจไปหมด แต่ทางเลือกนั้นต้องมีกติการ่วมอยู่ด้วย "เดี๋ยวการ์ตูนเรื่องนี้จบแล้ว เราไปอาบน้ำกันนะ"
ให้เวลาทำใจแยกจากกิจกรรมที่กำลังสนใจสักหน่อย เช่น การบอกล่วงหน้าจะทำให้ลูกเตรียมตัวเตรียมใจ "แม่อนุญาตให้เล่นน้ำได้ แต่ถ้าฉีดน้ำเปียกทั่วบ้าน ต้องขึ้นนะลูก"
ทุกกิจกรรมของลูกที่อาจลามปามเกิดความวุ่นวาย ต้องมีกติกาแฝงไว้สักหน่อย และแม่ก็ถือว่าเป็นการฝึกหัดให้หนูรู้จักรับผิดชอบในสิ่งที่ทำด้วย "วันนี้ลูกอยากไปเที่ยว แม่จะพาไป แต่ต้องสัญญากันว่าครั้งนี้จะไม่ซื้อของเล่น เพราะคราวที่แล้วซื้อมาหลายชิ้นแล้ว"
ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ไม่มีอะไรที่ลูกจะได้ไปหมดทุกอย่าง และที่สำคัญสัญญาที่แม่ว่าก็คือกติกานั่นเอง "วันนี้ลูกเก่งจัง กินนมไม่หกด้วย"
- กฎข้อที่ 6 มาพร้อมกับ ข้อที่ 7
คือ ชมเชยเมื่อลูกทำได้ แต่แม่จะไม่ตำหนิถ้าลูกทำผิด เพราะแม่รู้ว่าวัยแค่นี้จะคาดหวังอะไรนักหนา ที่สำคัญลูกกำลังต้องการกำลังใจในการทำสิ่งต่างๆ แม่จะพยายามหาวิธีสนับสนุนให้ลูก "ทำได้"
ถ้าเป็นเรื่องอันตราย คำว่า "ห้าม" สามารถใช้ได้ ที่สำคัญต้องมีท่าทีที่เด็ดขาดด้วย แค่นี้ลูกก็สัมผัสได้ว่าแม่เอาจริง และจะเป็นแบบนี้ทุกครั้งที่ลูกไม่เชื่อฟัง เช่น "ห้ามเล่นปลั๊กไฟ ห้ามออกนอกบ้านคนเดียว ฯลฯ"
ทุก ๆ กติกาไม่ใช้วิธีบังคับ หรือเข้มงวดและคาดหวังว่าลูกต้องทำได้ แต่จะค่อย ๆ ใช้เหตุผลและแฝงกติกาเหล่านี้ไว้ในกิจกรรมของลูกแทน
เด็กวัย 1-3 ปีนี้ถึงป่วนยังไง แต่ท้ายสุดแล้ว ก็พูดรู้เรื่อง มีเหตุผล และมี "กติกา" ในแบบของเขา เมื่อโตขึ้น วุฒิภาวะที่มากขึ้นพร้อมกับอายุ จะค่อย ๆ ทำให้เด็กซึมซับ "กติกา" ที่สลับซับซ้อนขึ้น เพียงแต่พ่อแม่ต้องเริ่มเสียตั้งแต่วันนี้ค่ะ

เมื่อพ่อหรือแม่ดุลูก อีกคนควรจะเข้าไปปลอบลูกหรือไม่ ขอวิธีดุและปลอบลูกแบบถูกหลักการ
Q : เวลาพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งดุลูก กรณีที่ลูกทำผิดจริงๆ อยากทราบว่าเมื่ออีกคนดุลูก อีกคนควรเข้าไปปลอบลูกหรือเปล่าคะ หรือไม่ควรปลอบเลย แล้วแบบนี้ลูกจะเสียใจหรือน้อยใจไหมคะ ลืมบอกไปค่ะว่าตอนนี้ลูกชายอายุ 5 ปีแล้วค่ะ
A : เป็นธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ต้องดุลูกของตนเอง แต่ถึงอย่างไรคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องยึดหลักที่ว่า ‘ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด’ เมื่อเขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องคอยตักเตือนและชี้ทางที่ถูกที่ควรเพื่อให้เขาปรับปรุงตัว
สำหรับการปลอบโยนลูกเวลาที่เขารู้สึกไม่ดีกับการดุของเรานั้นสามารถทำได้ครับ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้มีด้วยกัน 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่ วิธีการดุลูกและวิธีการปลอบลูก
สำหรับการดุลูกนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ทำแต่พอดี เด็กจะเกิดความรู้สึกสำนึกผิดและอยากที่จะปรับปรุงตัวเองต่อไปโดยที่ไม่ได้รู้สึกแย่แต่อย่างใด แต่หากเราดุลูกรุนแรงเกินไป ก็อาจทำให้เขารู้สึกไม่ดีกับเราและกลายเป็นการต่อต้านในที่สุด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดุลูกอย่างเหมาะสม ได้แก่
1.ควรตำหนิในสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่ตำหนิตัวเขา การบอกลูกว่า “แม่ไม่ชอบที่หนูแกล้งน้อง” กับการบอกลูกว่า “ทำไมเป็นเด็กเกเรแบบนี้” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันมาก โดยในคำพูดแบบแรกนั้นให้ความรู้สึกว่า แม่ไม่ได้รู้สึกแย่กับลูก แม่แค่ไม่ชอบในสิ่งที่ลูกทำ ในขณะที่ประโยคหลังนั้นในทางจิตวิทยา เรียกว่า ‘การตีตรา’ หมายความว่าคุณแม่นั้นได้สรุปไปเรียบร้อยแล้วว่าลูกเป็นเด็กเกเร ซึ่งการพูดแบบหลังจะทำให้เด็กเกิดความท้อแท้และไม่อยากที่จะปรับปรุงตัวเอง
2.ควรบอกในสิ่งที่อยากให้เขาทำแทนสิ่งเดิมเสมอ เช่น หากเราบอกลูกว่า “อย่าตีน้อง” เด็กๆ หลายคนจะมีปัญหาว่าเมื่อเขาไม่พอใจน้อง เขามักไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรแทนที่การตีน้อง และสุดท้ายเขาก็จะกลับมาตีน้องในที่สุด ดังนั้นคุณแม่ควรบอกเขาว่า “อย่าตีน้อง ต่อไปนี้ถ้าน้องทำอะไรให้หนูไม่พอใจให้มาบอกแม่” เป็นต้น
3.ห้ามดุลูกขณะที่อารมณ์ไม่ดี ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก เนื่องจากเด็กๆ จะรู้สึกแย่กับความหงุดหงิดและความโกรธมากกว่าคำพูดของเราเสียอีก ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังหงุดหงิดก็ควรบอกกับลูกว่า “ตอนนี้แม่หงุดหงิดมาก เดี๋ยวแม่จะไปทำอย่างอื่นก่อน หายโกรธแล้วแม่จะมาคุยเรื่องนี้กับหนูอีกที” นอกจากลูกจะไม่ต้องรับอารมณ์ของเราแล้ว เขาจะได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการความโกรธที่ดีจากเราอีกด้วย
สำหรับการปลอบลูกนั้นมีหลักการง่ายๆ ว่า คุณแม่เพียงแสดงความห่วงใยในความรู้สึกของเขาก็พอ เช่น “หนูเสียใจเหรอลูก” หรือ “หนูไม่ชอบที่คุณพ่อดุหนูใช่ไหม” เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ หากคุณแม่เห็นว่าคุณพ่อดุหรือทำโทษลูกรุนแรงเกินไป ก็ไม่ควรจะพูดแย้งต่อหน้าลูก แต่ควรจะไปคุยกันทีหลังเพราะอาจทำให้ลูกไม่เคารพและไม่เชื่อฟังคุณพ่อในคราวต่อๆ ไป และคุณพ่อจะได้ไม่รู้สึกเสียหน้าด้วย ขอให้โชคดีครับ
ทำอย่างไรดี เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้ง
เมื่อลูกเข้าโรงเรียน หนึ่งในสิ่งที่พ่อแม่กังวลใจ คือ กลัวลูกถูกเพื่อนแกล้ง หรือลูกไปแกล้งเพื่อน อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่มองข้ามได้นะคะ เพราะปัญหานี้อาจจะฝังใจและอยู่กับเด็ก ๆ ไปจนโตได้ค่ะ หากมีเรื่องแกล้งกันขึ้นมา ควรรีบหาทางแก้ปัญหากับครูที่โรงเรียนเลยค่ะ
การแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า
บทบาทของครู
ถ้าเห็นเด็กรังแกกัน ให้แยกสองฝ่ายออกจากกันในระยะเวลาสั้นๆ ก่อน เพื่อให้อารมณ์ของเขาเย็นลง หากรู้ทีหลัง ต้องรีบแจ้งผู้ปกครองของเด็กที่ถูกแกล้งทันที ให้คำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันให้เด็กที่ถูกรังแกอุ่นใจ เช่น "ครูรักหนูนะ ครูจะปกป้องหนูเหมือนคุณพ่อคุณแม่ดูแลหนู ไม่ให้ใครมารังแกหนูอีก" ปรับพฤติกรรมของเด็กจอมรังแก สอนให้เขารู้จัก 'ขอโทษ' และบอกถึงผลเสียเมื่อรังแกผู้อื่น ให้เขาสำนึกผิดจากใจ สอนผู้ที่ถูกรังแกให้รู้จัก 'การให้อภัย' เพราะจะช่วยพัฒนาทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อตัวเขาเองจะได้ไม่ผูกใจเจ็บจนบั่นทอนพัฒนาการ อาจให้ทั้งสองฝ่ายช่วยเสนอแนะทางออก โน้มน้าวให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ขอโทษกันและสัญญากับครูว่าจะไม่ทำอีก อย่ายื่นข้อเสนอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรให้ผู้ปกครองเป็นคนหาทางออกที่พึงพอใจก่อน ครูต้องเป็นกลาง
ครูต้องสื่อสารกับทางบ้าน
สังเกตขอบเขตการถูกรังแกของเด็กว่ารุนแรงและบ่อยแค่ไหน ถ้ามีพฤติกรรมทำซ้ำหรือร้ายแรงจนน่าห่วง ขอให้คุณครูรีบสื่อสารกับพ่อแม่ของเด็กทันที ท่าทีในการสื่อสารของคุณครูก็สำคัญค่ะ ใช้วิธีพูดคุยในทำนองบอกเล่าเรื่องราวและปรึกษา แต่อย่าปกปิดเหตุการณ์ หรือแทรกแซงสถานการณ์ อย่าตำหนิย้ำถึงปมด้อยของเด็กทั้งสองฝ่าย เพราะจะทำให้พ่อแม่ร้อนใจ ให้หาทางออกที่ดีต่อเด็กและพ่อแม่ของเด็กที่ถูกรังแกมากที่สุด
บทบาทของพ่อแม่
มีท่าทีที่ดี เมื่อคุณครูบอกเล่าถึงพฤติกรรมของลูกเมื่ออยู่โรงเรียน เพราะนั่นแสดงว่าคุณครูดูแลเอาใจใส่ลูกคุณเป็นอย่างดี อย่าติดป้ายเด็กคู่กรณีว่าเป็นเด็กมีปัญหา แต่เขาอาจทำผิดพลาดได้ และมีโอกาสที่จะสำนึกผิดได้ ควรหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียน ด้วยการพูดคุย เล่ารายละเอียด เพื่อร่วมกันหาทางออก หากเหตุการณ์รุนแรงมาก และอีกฝั่งไม่ได้มีท่าทีสำนึกผิดใดๆ ต้องให้กฎหมายเข้าช่วยปรับพฤติกรรมเด็ก เพื่อเป็นตัวอย่างว่าอย่าไปแกล้งใครรุนแรงแบบนี้ และอาจย้ายโรงเรียนลูกไปในที่ๆ ดีกว่า เป็นทางออกสุดท้ายค่ะ

เพื่อนที่ดีที่สุด คือตัวหนูเอง
บอกลูกอย่าอยู่ใกล้ๆ เพื่อนที่ชอบแกล้งตอนที่ไม่มีเพื่อนหรือคุณครูอยู่ด้วย เพราะจอมแกล้งเขาอาจจะหมั่นเขี้ยว อยากรังแกเพื่อนคนเดิมซ้ำอีก ไม่ตอบโต้ด้วยการใช้กำลังหรือคิดแก้แค้น เพราะจะยิ่งทำให้เรื่องไปกันใหญ่ หากเจอเหตุการณ์รุนแรงมาก เด็กที่ถูกรังแกต้องได้รับการเยียวยาจิตใจกับจิตแพทย์เด็ก
การแก้ไขปัญหา BULLY ในโรงเรียนแบบระยะยาว
ทั้ง พ่อแม่และคุณครู ล้วนเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยสร้างกำลังใจให้เด็ก สอนเด็ก ๆ ให้มีความเชื่อมั่น และกล้าปกป้องตัวเองเมื่อถูกรังแก
ย้ำกับเด็กว่า 'ถึงเพื่อนคนนั้นจะชอบรังแกหนู แต่เพื่อนคนอื่นกับครูรักหนูมากนะ' แต่อย่าลืมว่าต้องไม่ใช่การยุหรือผลักดันให้หนูตอบโต้ หรือหันมาใช้พฤติกรรมไม่น่ารักเหมือนที่เขาถูกเพื่อนทำนะคะ แต่งตั้งให้เด็กที่รังแกผู้อื่น เป็นผู้ช่วยคุณครูดูแลเพื่อนๆ เขาจะได้แก้นิสัยของตัวเองและเพื่อนที่เป็นจอมรังแกได้ ครูต้องดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หัวรุนแรง ควรได้รับการเฝ้ามองพฤติกรรมมาก
หากลูกถูกแกล้งไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงมาก พ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัยของลูก หาทางออกของผู้ใหญ่แล้ว อย่าลืมรักษาจิตใจของลูกด้วยนะคะ เพราะการถูกแกล้งส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กในระยะยาวมาก ๆ ค่ะ