สาเหตุหนึ่งของการคลอดก่อนกำหนด คือ ฮอร์โมนไม่สมดุล ฮอร์โมนผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้ทารกแรกเกิดเสี่ยงอันตราย น้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการไม่สมบูรณ์
5 วิธีลดเสี่ยงคลอดลูกก่อนกำหนด เพราะฮอร์โมนแม่ท้องผิดปกติ ไม่สมดุล
คลอดก่อนกำหนดเพราะฮอร์โมนแปรปรวน
ในระยะใกล้คลอดจะมีฮอร์โมนหลายตัวจากหลายส่วนในร่างกายเกิดการปฏิสัมพันธ์กันโดยฮอร์โมนหลัก ๆ ที่สำคัญ คือ เอสโตรเจน และ โปรเจสเตอโรน ที่ทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้เหมาะสมต่อการฝังตัวของไข่ เมื่อฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวมีอัตราส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปก็จะกระตุ้นให้เกิดการเจ็บท้องคลอดได้ ไม่เพียงแค่ฮอร์โมนในร่างกายคุณแม่ที่ลดและเพิ่มระดับเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยด้านอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้คลอดก่อนกำหนดด้วย
- ฮอร์โมนจากตัวเด็ก โดยเด็กจะสร้างฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง แล้วไปกระตุ้นต่อมหมวกไตและส่งสัญญาณไปยังรกซึ่งเชื่อมต่อกับมดลูกของแม่ ทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
- ฮอร์โมนจากความเครียดของคุณแม่ จะมีการหลั่งฮอร์โมน CRH (corticotrophin-releasing hormone) สูงขึ้น CRH เมื่อมีฮอร์โมนตัวนี้สูงขึ้น มดลูกก็จะยิ่งบีบเกร็งตัวจนเกิดการคลอดได้
- ปัญหาสุขภาพของคุณแม่ เช่นมีภาวะเบาหวาน ความดันโลหิตสูงก็ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดได้เช่นกัน
- ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ อาทิ ตั้งครรภ์แฝด ถุงน้ำคร่ำแตก รกเกาะต่ำ และพันธุกรรม เหล่านี้ล้วนส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดได้ทั้งสิ้น
ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ฮอร์โมนเกี่ยวกับการคลอดลูกถูกกระตุ้นให้ทำงานก่อนเวลาอันควร ผลคือเด็กคลอดก่อนกำหนด ซึ่งทำให้คลอดออกมาน้ำหนักตัวน้อย ระบบการทำงานของปอดและหัวใจยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ในอนาคต
5 วิธีช่วยแม่ท้องปรับฮอร์โมนให้สมดุล ลดความเสี่ยงคลอดลูกก่อนกำหนด
แม้ว่าระดับฮอร์โมนตอนตั้งครรภ์ของคุณแม่แต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน รวมทั้งฮอร์โมนที่ไม่สมดุลอาจเกิดจากปัญหาการตั้งครรภ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็สามารถปรับฮอร์โมนให้สมดุลได้ เพื่อประคับประคองไม่ให้คลอดก่อนกำหนด
- ดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอและเมื่อสังเกตตัวเองว่ามีปัญหาการตั้งครรภ์ควรรีบปรึกษาแพทย์
- แก้อาการปวดเมื่อยจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น ด้วยการแช่น้ำอุ่นหรือนวดเบาๆ ด้วยน้ำมันธรรมชาติ จะช่วยลดอาการได้
- ผ่อนคลายจากเรื่องกังวล คุณแม่ควรหากิจกรรมอื่นทำเพื่อพักจากเรื่องเครียดหรือฟังเพลงบรรเลงในจังหวะเบาๆ ก็เป็นวิธีคลายเครียดที่ได้ผลค่ะ
- ดูแลอุ้งเชิงกราน เพื่อลดการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ด้วยการดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว ไม่กลั้นปัสสาวะ เพราะอวัยวะบริเวณนี้อยู่ใกล้กับช่องคลอดและมดลูก หากเกิดการอักเสบติดเชื้อ ร่างกายจะพยายามขับเชื้อโรคออก ด้วยการบีบรัดตัวของมดลูก ทำให้คลอดก่อนกำหนดได้
- ให้ร่วมมือกับคุณหมอในกรณีที่คุณหมอวินิจฉัยว่าเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด คุณหมออาจแนะนำให้กินฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเสริมเข้าไป หรือเมื่ออายุครรภ์ 4-5 เดือน จะมีการวัดปากมดลูก ถ้าหดสั้นลงเกิน 2.5 ซม. มีความเสี่ยงจะคลอดก่อนกำหนดได้
รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ยังสามารถตรวจสารฟีต้าไฟโบแนคติน ที่จะหลั่งออกมาจากช่องคลอด ที่เกิดจากการหลุดลอกของชั้นเยื่อบุโพรงมดลูก ถ้าพบว่ามีสารนี้ก็จะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด เพื่อคุณแม่จะได้เตรียมกินยายับยั้งการบีบตัวของมดลูกต่อไป
4 สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด
- รู้สึกปวดท้องน้อย ปวดลัง และปวดหัวหน่าว
- ถุงน้ำคร่ำแตก โดยจะไหลออกมาจากช่องคลอด
- มีตกขาวหรือมูกเลือดออกมาจากช่องคลอด
- มดลูกบีบรัดตัวจนรู้สึกว่าท้องแข็ง
เพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ตั้งแต่ในครรภ์คุณแม่ ควรดูแลสุขภาพและปรับฮอร์โมนให้สมดุล เพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์
นพ.ภูมิพร อัจฉรารัตนโสภณ สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี