
คุณหมอแนะนำ 6 วิธีทำให้ลูกอยากเรียนหนังสือ
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ แนะ 6 วิธีทำให้ลูกอยากเรียนหนังสือ สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกไม่ค่อยตั้งใจเรียนหรือไม่อยากเรียนมาบอก
สิ่งแรกที่พ่อแม่จะต้องปลูกสร้างในตัวลูก คือ ทำอย่างไรให้ลูกอยากเรียนหนังสือ เพราะถ้าลูกไม่อยากเรียนซะอย่าง เรื่องที่จะให้เรียนเก่ง เรียนดี คงหวังยาก ยกเว้นก็เฉพาะพวกยอดมนุษย์ที่ให้ทำอะไรก็ทำได้และทำได้ดีเสียด้วย
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมจากการเลี้ยงลูก รวมทั้งมีโอกาสสอนหนังสือโดยเฉพาะสอนนักศึกษาแพทย์ซึ่งส่วนมากเป็นพวกค่อน ข้างอยากเรียน ผมได้ข้อคิดบางอย่างที่จะทำให้ลูกอยากเรียนหนังสือมาฝากกันครับ
6 วิธีทำให้ลูกอยากเรียนหนังสือ
1. สร้างแรงบันดาลใจ
ถ้าเราอธิบายให้ลูกมองเห็นอนาคตข้างหน้า (แม้ว่าจะไกลไปบ้าง) ว่า ถ้าตั้งใจเรียนหนังสือแล้วจะได้อะไร จะเป็นอะไร เชื่อว่าอย่างน้อยลูกก็จะเห็นหนทางข้างหน้า การเฝ้าแต่พูดเพ้อเจ้อให้ "ขยันเรียนนะลูก ๆ" ไม่น่าจะช่วยอะไร และยังน่าเบื่ออีกต่างหาก การยกตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจากการศึกษาเล่าเรียนน่าจะมี ประโยชน์กว่า เพราะลูกจะเห็นภาพได้ดีกว่ากันเยอะเลย
การหาหนังสือประวัติบุคคลสำคัญ หรือเล่าประวัติบุคคลสำคัญที่ประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนให้ลูกอ่าน หรือฟังก็เป็นหนทางที่ดีอย่างหนึ่ง และที่ดีที่สุดก็คือ ถ้าพ่อแม่เองก็เป็นคนที่รักการเรียนจนประสบความสำเร็จในชีวิต ก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูกโดยไม่ต้องพูดหรือเคี่ยวเข็ญ
2. ให้คำชมและรางวัล
เรื่องนี้สำคัญมากนะครับ คนเราเกิดมาต้องการคนชม ต่อให้แก่แล้วก็ต้องการคนชม แต่ว่าบางทีถ้าชมไม่ดีก็เป็นการเสแสร้ง หรือพร่ำเพรื่อก็ไม่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับรางวัลที่ให้ เด็กที่เราชมว่าเรียนดีทุกคนก็จะมีความสุข ลูกผมตอนเล็ก ๆ ถ้าเขาทำอะไรดี ๆ แล้วเราชม เขาจะมีความสุขแล้วก็อยากจะทำอีก มันเป็นแรงกระตุ้นที่ค่อนข้างดีและแรง ส่วนการตำหนิ การว่ากล่าวควรจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
การชมอย่างเดียวบางทีมันจับต้องไม่ได้ ชมมาก ๆ ก็เบื่อไม่เห็นได้อะไร อาจมีการให้รางวัลบ้าง แต่ก็ต้องระวังการสร้างเงื่อนไขหรือตั้งรางวัล เช่น ให้ของเล่นราคาแพง หรือพาไปต่างประเทศ วิธีการนี้เขาเรียกว่าติดสินบนนะครับ ลูกคุณจะตั้งใจเรียนเหมือนกัน แต่เรียนเพราะอยากได้สินบนไม่ได้เรียนเพราะอยากมีความรู้ ถ้ารางวัลหมดก็ไม่เรียน วิธีนี้ยังอาจจะเพาะนิสัยต่อรองและละโมบอีกด้วย
3. สร้างบรรยากาศของการเรียนรู้
ใช้วันหยุดเสาร์-อาทิตย์พาลูกไปร้านหนังสือดี ๆ ที่มีหนังสือวิชาการ หนังสือสำหรับเด็ก ชวนกันเลือกหนังสือประเภทที่เขาอยากดู อยากรู้ อยากเห็น หรือหาเวลาพาลูกไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ เช่น สถานที่ทางประวัติศาสตร์ วัดวาอารามที่เกี่ยวกับเรื่องที่ลูกเรียนอยู่ เด็กจะได้เห็นของจริง เวลาเรียนก็จะได้ไม่เบื่อ
การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่บางคนความอดทนต่ำที่จะพาลูกไปในที่ที่ควรไป กลับพาลูกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า ซื้อของฟุ่มเฟือย รับประทานอาหารจังค์ฟูด จนลูกอ้วนเป็นหมู เพราะมันง่ายกว่ากันเยอะ
4. รีบขจัดความไม่เข้าใจในเรื่องที่เรียน
ผมอยากให้พ่อแม่ลองนึกย้อนกลับไปสมัยที่ตัวเองยังเป็นเด็ก วิชาไหนเราเรียนแล้วรู้เรื่อง เข้าใจดี ทำให้สอบได้คะแนนดี ทำให้อยากเรียนวิชานั้นมากขึ้น วนเวียนอยู่อย่างนี้ ซึ่งผมอยากจะเรียกว่าเป็นวัฏจักรของความสำเร็จในการเรียน ในทางตรงกันข้ามถ้าวิชาไหนเรียนแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ สอบได้คะแนนไม่ดี ก็ไม่อยากเรียน ซึ่งจะทำให้ไม่รู้เรื่องมากขึ้น เป็นวัฏจักรความเลวร้ายของการเรียน
วิธีแก้ไขที่ผมลองใช้มี 2 วิธี
วิธีแรก คือพยายามติดตามการเรียนของลูกอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีเวลาจะเรียนไปกับลูกด้วยเลย ทำให้เรารู้ว่าลูกเรียนไม่เข้าใจตรงไหน บ่อยครั้งที่ผมพบว่าเรื่องที่ลูกไม่เข้าใจเป็นเพียงปัญหาและประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น พออธิบายให้เขาเข้าใจ เขาก็จะเรียนเนื้อหาต่อไปได้อย่างสนุก และอยากเรียนต่อ แต่ถ้าปล่อยให้มีความไม่เข้าใจสะสมไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะไม่เข้าใจมากขึ้นๆ จนเกินกว่าจะแก้ไขได้ แม้ว่าเด็กบางคนอาจจะเรียนผ่านและขึ้นชั้นที่สูงขึ้นได้ แต่ก็จะไม่มีพื้นฐานเพียงพอ ยิ่งเรียนก็จะยิ่งมึน ตามมาด้วยความเครียดและเบื่อหน่ายในที่สุด
วิธีที่ 2คือ กวดวิชา หรือหาคนมาสอนแทน จากประสบการณ์ทั้งที่เคยเป็นผู้เรียนและผู้สอน ผมยังค่อนข้างเชื่อว่าครูผู้สอนมีบทบาทและอิทธิพลต่อการอยากเรียนรู้ของเด็กค่อนข้างมาก
ผมเชื่อมานาน เดี๋ยวนี้ก็เชื่อ และจะเชื่อต่อไปว่า ครูไม่ได้สอนดีหรือสอนรู้เรื่องกันทุกคน ผมว่าถ้าระบบการศึกษาในโรงเรียนให้เด็กเลือกครูผู้สอนได้ ครูบางคนอาจมีเด็กแย่งกันเรียนด้วยจนห้องแตก ในขณะที่บางคนอาจต้องสอนจิ้งจกตุ๊กแกแทนก็ได้ การเรียนกับครูที่สอนลูกรู้เรื่องเป็นทั้งความสุขและสนุกครับ
5. เพื่อนที่ดี
เด็กวัยรุ่นวัยเรียนมักจะเชื่อเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเข้าใจและทำใจว่าชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละ เราเองก็เป็นอย่างนี้ไม่ใช่หรือ ยอมรับซะว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและการแผลงฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศครับ เพราะฉะนั้นถ้าเพื่อนเป็นพวกชอบเรียน ก็จะพากันเรียน มีอะไรข้องใจก็จะปรึกษากันได้ ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามส่งเสริมให้คบเพื่อนที่ชอบเรียนก็จะดีครับ
6. ให้ลูกเรียนในสิ่งที่ลูกอยากเรียน
ย้ำนะครับว่าลูกอยากเรียน ไม่ใช่พ่อแม่อยากให้เรียน เราต้องสังเกตว่าลูกชอบอะไรแล้วส่งเสริมเขาให้ได้เรียน พ่อแม่บางคนโปรแกรมไว้หมดแล้วว่าอยากให้ลูกเป็นอะไร บางคนเคยอยากเรียนบางอย่างแต่เรียนไม่ได้ ก็มาเคี่ยวเข็ญให้ลูกเรียนแทนโดยไม่ถามความสนใจของลูกเลย อย่างนี้เข้าข่ายทรมานลูกครับ
เพราะฉะนั้นถามลูกก่อนนะครับว่าเขาอยากเรียนอะไร ฝันอยากเป็นอะไร ถ้าไม่เหลือทนหรือเพ้อเจ้อเกินไปก็ยอมๆ ลูกบ้างเถอะครับ จะได้ไม่มีใครมีความทุกข์ ชีวิตลูกต้องให้ลูกกำหนด เราช่วยกำกับพอแล้ว ถ้าอยากยิงธนูให้ไปไกล ๆ และถูกเป้า คันธนูต้องอยู่กับที่ พ่อแม่ก็เช่นเดียวกันต้องทำตัวเป็นคันธนูที่ดีอย่าพุ่งไปกับลูก คือจัดการเรื่องเรียนของลูกทุกอย่าง ถ้าเป็นอย่างนี้ลูกรุ่งยากครับ เพราะแรงส่งธนูจะต่ำครับเพราะไม่วิ่งด้วยตัวเองเลย ภายภาคหน้าเวลามีปัญหาแต่พ่อแม่แก่ตายแล้วจะแก้ปัญหาเองไม่ได้
ผมมีประสบการณ์ในการสอนนักศึกษาแพทย์ประมาณ 10 ปีแล้วครับ พบว่านักศึกษาแพทย์ไม่น้อยเลยที่เรียนด้วยความขมขื่นและทุกข์ทรมาณ เนื่องจากพ่อแม่อยากให้เป็นหมอ แต่ตัวเองชอบวาดรูป อยากเป็นศิลปิน อยากเป็นวิศวกร แต่ว่าคนเก่งเรียนอะไรก็เรียนได้ แต่เรียนแล้วมีความสุขหรือเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง
เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้ลูกอยากเรียน ก็ต้องให้เขาเรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียนนะครับ ถึงตรงนี้บางคนอาจถามว่าแล้วจะรู้อย่างไรว่าลูกอยากเรียนอะไร คำตอบคือให้เวลากับลูกเยอะๆ สิครับ ถ้าเราให้เวลากับเขามากๆ ลูกก็จะสนิทกับเรา มีเรื่องอะไรก็จะเล่าให้เราฟัง คิดอะไรชอบอะไรก็จะบอกเรา ความเข้าอกเข้าใจระหว่างพ่อแม่กับลูกก็จะมากขึ้นครับ
หวังว่าข้อคิดเห็นทั้งหมดนี้อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่บ้างนะครับ ผมลองใช้มาแล้วรู้สึกว่าได้ผลดีพอสมควร.. ไม่ใช่อุปทานครับ
รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์

เวลาฝนตกลูกมักจะอยากออกไปเล่นน้ำฝนเสมอ แต่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่อยากให้ลูกเล่น เพราะเป็นห่วงกลัวว่าลูกจะป่วย เรามาเปลี่ยนความคิดเดิมๆ กันดีกว่าค่ะ
คุณหมอท่านหนึ่ง ได้ให้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับเรื่อง การเล่นน้ำฝน ซึ่งตามหลักการแพทย์ น้ำฝนไม่ได้ทำให้เด็กป่วยหรือเป็นหวัด เพราะการเป็นหวัดคือการติดเชื้อหวัด เกิดจากการสัมผัสคนป่วย ต่อสู้กับภูมิคุ้มกันและสุขภาพร่างกายของเด็กในตอนนั้นเท่านั้นเอง ดังนั้นสามารถปล่อยเด็กเล่นน้ำฝนตามธรรมชาติ จะช่วยฝึกพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกได้เป็นอย่างดีนะคะ
ประโยชน์ของการเล่นน้ำฝน
- ทำให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่
- พัฒนาการสังเกต เข้าใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- สนุกและได้ใช้พลังงานอย่างมากอีกด้วย
ข้อควรระวังคือ ไม่เล่นในที่โล่งแจ้งเกิน ไม่เล่นใต้ต้นไม้ใหญ่ ไม่เอาของนำไฟฟ้าติดตัวไปตอนเล่นน้ำฝน เพราะอาจทำให้ฟ้าผ่าได้นั่นเอง
เคล็ดลับให้เจ้าตัวน้อย เล่นสู้ฝนได้อย่างสุขภาพดี
-
อาหารเสริมพลัง อาหารเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะทำให้สุขภาพของลูกแข็งแรงพร้อมค่ะ ดังนั้นคุณแม่ต้องไม่พลาดที่จะให้ลูกทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะวิตามินและเกรือแร่ที่จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคให้ลูกเราอยู่เสมอ
-
นมสร้างภูมิคุ้มกัน นมยังเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับลูกเราเสมอค่ะ เพราะในนมอุดมไปด้วยสารอาหารนานาชนิด ซึ่งนอกจากจะได้แคลเซียมและธาตุเหล็กที่เป็นสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตแล้ว นมยังมีสารอาหารที่ส่วนสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกเราด้วยค่ะ จะดื่มตอนเช้า ตอนเย็น หรือนมอุ่นๆ ก่อนนอนสักแก้วให้หลับสบายท้องก็มีประโยชน์ทั้งนั้น
-
กีฬาเป็นยาวิเศษ จริงๆ แล้วการวิ่งเล่นของลูกๆ ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายนะคะ ดังนั้นถ้าลองเพิ่มทักษะด้วยกีฬาอื่นๆ อย่าง วิ่ง ว่ายน้ำ หรือเทควันโด ก็จะช่วยให้ลูกได้ออกกำลังกายอย่างเต็มที่ ร่างกายแข็งแรงพร้อมสู้โรคภัยแล้วยังเสริมทักษะของการมีน้ำใจเป็นนักกีฬาด้วย
-
รักษาความสะอาดเสมอ น้องๆ บางคนป่วยง่ายเพราะอยู่กับเชื้อโรคและสิ่งสกปรกเป็นประจำ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นทำความสะอาดร่างกายลูกเราเสมอค่ะ และสำหรับบ้านไหนที่มั่นใจว่าลูกแข็งแรงจนกล้าปล่อยออกไปเล่นได้หลังจากฝนหยุดตกล่ะก็ ก็อย่าลืมที่จะอาบน้ำ สระผม และเช็ดตัวให้แห้งเสมอหลังจากลูกเล่นกลับเข้าบ้านมาแล้ว เพื่อป้องกันความเย็นที่อาจจะทำให้ลูกเป็นหวัด
คุณพ่อคุณแม่ ลองนำคำแนะนำนี้ไปเพิ่มความแข็งแรงให้ลูกก่อนจะปล่อยให้เข้าออกไปเล่นหลังฝนตกดูนะคะ รับรองว่าถ้าลูกมีพื้นฐานร่างกายที่แข็งแรงดีพร้อมแล้วจากการส่งเสริมและดูแลของเรา ลูกจะเติบโตอย่างฉลาดและแข็งแรงแน่นอนค่ะ
สรุปแล้ว น้ำฝน เล่นได้จริงหรือ? เล่นได้กับเล่นไม่ได้ค่ะ สำหรับเด็กทั่วไป การเล่นน้ำฝน ไม่ทำให้ลูกป่วย แถมช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ของเจ้าตัวน้อยอีกด้วยค่ะ ครั้งต่อไปถ้าลูกอยากเล่นน้ำฝน ก็ปล่อยให้เขาได้เล่นสนุกตามธรรมชาติ พอเล่นน้ำฝนเสร็จก็ต้องอาบน้ำเช็คตัวให้แห้ง ไม่ปล่อยให้ลูกนั่งตัวเย็น หัวเปียก แบบนั้นไม่ดีแน่ค่ะ ต้องทำให้ลูกตัวแห้ง เพื่อไม่ให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นเกินไปค่ะ
และเล่นไม่ได้ค่ะ คือสำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว ภูมิแพ้ คนที่อาจจะไวต่อละอองฝน ถ้าเจ้าตัวน้อยขี้มูกไหลตอนอากาศชื้น ต้องเลี่ยงไม่ให้เจอฝนแล้วนะคะ เพราะน้ำฝนจะทำให้ลูกตัวเย็นมากขึ้น แล้วมาเสริมสร้างพัฒนาการในรูปแบบอื่นๆ แทนกันดีกว่าค่ะ
ที่มา : เลี้ยงลูกตามใจหมอ
ลูกสายตาผิดปกติจะต้องรับมืออย่างไร
คุณแม่เคยสังเกตสายตาของลูกไหมคะ ลูกอายุมากขึ้น สายตาลูกจะมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่เมื่ออายุ 6 ขวบ แต่ถ้าหากลูกเราสายตาผิดปกติจะต้องรับมืออย่างไร ไม่ให้ส่งผลเสียถึงขั้นตาบอดได้
- สังเกตการมองเห็นของลูก ระยะใกล้ไกล หรือพาลูกไปตรวจวัดสายตาที่ร้านตัดแว่นนะคะ
- ลูกสามารถมองเห็นได้ปกติ ไม่ต้องใส่แว่นค่ะ
- วัย 3-6 ปี ถ้าลูกมองเห็นไม่ชัด ต้องใส่แว่นทันทีนะคะ เวลาที่ลูกมองเห็นภาพไม่ชัด กรณีขั้นร้ายแรงมากๆ มองไม่เห็น ระบบภาพไม่ชัดจะส่งไปทางสมอง สมองของลูกจะไม่มีการพัฒนาเรื่องการมองเห็น อาจส่งผลให้ตาบอด
- กรณียกเว้น ถ้าลูกวัย 3-6 ปีมองเห็นภาพไม่ชัดบ้างบางครั้ง ไม่ร้ายแรงอะไรก็ไม่ต้องใส่ค่ะ สมองก็ยังคงพัฒนาด้านการมองเห็นของลูกได้
รู้แบบนี้แล้ว คุณแม่สังเกตสายตาลูก และทำตามวิธีข้างต้นนะคะ ถ้าหากลูกสายตาผิดปกติแล้วคุณแม่มารู้ทีหลังจากที่ลูก อายุเกิน 6 ปีแล้วค่อยมาซื้อแว่นใส่ บางรายใส่แว่นช้าไปสมองไม่พัฒนาการมองเห็น ลูกตาบอดได้ รู้ก่อนปลอดภัยก่อนนะคะ
เห็นคนเฒ่าคนแก่และคุณแม่หลายคน นำใบพลูสมุนไพรไทยมารักษาลูกน้อย เช่น นำใบพลูมาอังไฟจนใบมันเปลี่ยนสี และแปะท้องลูกเพื่อลดอาการท้องอืด ขอบอกว่าเป็นตำราสมุนไพรชั้นดีและสามารถทำได้จริงนะคะ เพราะใบพลูเมื่อผ่านความร้อนมันจะมีน้ำมันหอมระเหยออกมา ซึ่งน้ำมันหอมระเหยของใบพลูมีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ลดเสมหะน้ำมูก แต่ไม่ใช้ใบพลูแบบเพิ่งย่างมาร้อนๆนะคะ เอาแบบอุ่นๆแล้วค่อยแปะค่ะ
ใบพลูอังไฟ มีอยู่ในตำราสมุนไพรยาแผนโบราณหลายเล่มมากและสมุนไพรไทยดีๆหลายอย่างก็มีงานวิจัยรองรับ เช่น เวลาเด็กเป็นไข้ ก็สามารถฝานมะนาวลงไปแช่ในน้ำ แล้วเอาไปเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้ให้ดีขึ้นได้ ด้วยสรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกมะนาว
แต่เรื่องการทาวิค หรือยาหม่องบนอกเด็กผสมกับใบพลู อันนี้ไม่แนะนำในเด็กเล็กนะคะ แนะนำให้ใช้กับเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป เพราะไอระเหยจากยาหม่องหรือวิค มันอาจไประคายเคืองทางเดินหายใจของเด็กค่ะ

พัฒนาการตามวัยของลูกแรกเกิด - 5 ปี ควรจะต้องเป็นอย่างไร พัฒนาการแบบไหนต้องเฝ้าระวัง และจะส่งเสริมพัฒนาการตามวัยอย่างไร เรามีโปสเตอร์มาให้ดาวน์โหลดไปใช้เป็นคู่มือกันค่ะ
ดาวน์โหลดฟรี! โปสเตอร์เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการทารกแรกเกิด-5 ปี
พัฒนาการช่วง 5 ปีแรกของเด็กเป็นช่วงเวลาสำคัญค่ะ พ่อแม่จึงจำเป็นต้องสังเกตให้ดีว่าลูกเรามีพัฒนาการตามช่วยวัยที่ถูกต้องแล้วหรือยังไง ถ้ายัง ระดับไหนที่จำเป็นต้องรอคอย หรือระดับไหนจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์ เพราะช่วง 5 ปีแรกนี้ เด็กจะมีพัฒนาการที่เด่นชัดทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สติปัญญา สมอง การเข้าสังคม เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มีแนวทางในการเช็กพัฒนาการลูก เรามี โปสเตอร์เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยมาให้ดาวน์โหลดไปใช้เช็กพัฒนาการลูก ๆ กันค่ะ
คลิก! ดาวน์โหลด ตารางพัฒนาการลูกแรกเกิด - 5 ปีเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการทารกแรกเกิด-5 ปี

เมื่อพ่อหรือแม่ดุลูก อีกคนควรจะเข้าไปปลอบลูกหรือไม่ ขอวิธีดุและปลอบลูกแบบถูกหลักการ
Q : เวลาพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งดุลูก กรณีที่ลูกทำผิดจริงๆ อยากทราบว่าเมื่ออีกคนดุลูก อีกคนควรเข้าไปปลอบลูกหรือเปล่าคะ หรือไม่ควรปลอบเลย แล้วแบบนี้ลูกจะเสียใจหรือน้อยใจไหมคะ ลืมบอกไปค่ะว่าตอนนี้ลูกชายอายุ 5 ปีแล้วค่ะ
A : เป็นธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ต้องดุลูกของตนเอง แต่ถึงอย่างไรคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องยึดหลักที่ว่า ‘ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด’ เมื่อเขาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องคอยตักเตือนและชี้ทางที่ถูกที่ควรเพื่อให้เขาปรับปรุงตัว
สำหรับการปลอบโยนลูกเวลาที่เขารู้สึกไม่ดีกับการดุของเรานั้นสามารถทำได้ครับ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้มีด้วยกัน 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ได้แก่ วิธีการดุลูกและวิธีการปลอบลูก
สำหรับการดุลูกนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ทำแต่พอดี เด็กจะเกิดความรู้สึกสำนึกผิดและอยากที่จะปรับปรุงตัวเองต่อไปโดยที่ไม่ได้รู้สึกแย่แต่อย่างใด แต่หากเราดุลูกรุนแรงเกินไป ก็อาจทำให้เขารู้สึกไม่ดีกับเราและกลายเป็นการต่อต้านในที่สุด ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดุลูกอย่างเหมาะสม ได้แก่
1.ควรตำหนิในสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่ตำหนิตัวเขา การบอกลูกว่า “แม่ไม่ชอบที่หนูแกล้งน้อง” กับการบอกลูกว่า “ทำไมเป็นเด็กเกเรแบบนี้” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันมาก โดยในคำพูดแบบแรกนั้นให้ความรู้สึกว่า แม่ไม่ได้รู้สึกแย่กับลูก แม่แค่ไม่ชอบในสิ่งที่ลูกทำ ในขณะที่ประโยคหลังนั้นในทางจิตวิทยา เรียกว่า ‘การตีตรา’ หมายความว่าคุณแม่นั้นได้สรุปไปเรียบร้อยแล้วว่าลูกเป็นเด็กเกเร ซึ่งการพูดแบบหลังจะทำให้เด็กเกิดความท้อแท้และไม่อยากที่จะปรับปรุงตัวเอง
2.ควรบอกในสิ่งที่อยากให้เขาทำแทนสิ่งเดิมเสมอ เช่น หากเราบอกลูกว่า “อย่าตีน้อง” เด็กๆ หลายคนจะมีปัญหาว่าเมื่อเขาไม่พอใจน้อง เขามักไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรแทนที่การตีน้อง และสุดท้ายเขาก็จะกลับมาตีน้องในที่สุด ดังนั้นคุณแม่ควรบอกเขาว่า “อย่าตีน้อง ต่อไปนี้ถ้าน้องทำอะไรให้หนูไม่พอใจให้มาบอกแม่” เป็นต้น
3.ห้ามดุลูกขณะที่อารมณ์ไม่ดี ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญมาก เนื่องจากเด็กๆ จะรู้สึกแย่กับความหงุดหงิดและความโกรธมากกว่าคำพูดของเราเสียอีก ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังหงุดหงิดก็ควรบอกกับลูกว่า “ตอนนี้แม่หงุดหงิดมาก เดี๋ยวแม่จะไปทำอย่างอื่นก่อน หายโกรธแล้วแม่จะมาคุยเรื่องนี้กับหนูอีกที” นอกจากลูกจะไม่ต้องรับอารมณ์ของเราแล้ว เขาจะได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการความโกรธที่ดีจากเราอีกด้วย
สำหรับการปลอบลูกนั้นมีหลักการง่ายๆ ว่า คุณแม่เพียงแสดงความห่วงใยในความรู้สึกของเขาก็พอ เช่น “หนูเสียใจเหรอลูก” หรือ “หนูไม่ชอบที่คุณพ่อดุหนูใช่ไหม” เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ หากคุณแม่เห็นว่าคุณพ่อดุหรือทำโทษลูกรุนแรงเกินไป ก็ไม่ควรจะพูดแย้งต่อหน้าลูก แต่ควรจะไปคุยกันทีหลังเพราะอาจทำให้ลูกไม่เคารพและไม่เชื่อฟังคุณพ่อในคราวต่อๆ ไป และคุณพ่อจะได้ไม่รู้สึกเสียหน้าด้วย ขอให้โชคดีครับ
ล่าสุดมีคุณแม่ข้อความเข้ามาถามทางเพจรักลูกคลับว่าทำอย่างไรดี ลูกอ้วนน้ำหนักตัวเยอะ อยากได้วิธีลดความอ้วนให้ลูก วันนี้ทางรักลูกจึงมีตัวช่วยดีๆ มาแนะนำกับ 6 เคล็ดลับลดความอ้วนเด็ก ได้ผลแน่นอน!
ก่อนอื่นขอยกตัวอย่างเคสน้องชูใจ ลูกพ่อกอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่ กันก่อนนะคะ ก่อนหน้านี้น้องมีน้ำหนักตัวค่อยข้างมาก จนคุณหมอสั่งลดน้ำหนัก แต่คงเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ที่ตามใจลูกเรื่องการทานขนมของหวานมาโดยตลอด เห็นลูกกินแล้วมีความสุข ต้องมานั่งควบคุมอาหารให้ลูกแทน แต่ปัจจุบันหุ่นน้องชูใจได้ผอมลงแล้วนะคะ เป็นเพราะอะไร น้องชูใจใช้วิธีไหนลดความอ้วนกันนะ ไปดูกันเลย
6 เคล็ดลับลดความอ้วนให้ลูก ได้ผลแน่นอน!
1.งดเมนูของหวาน อาหารว่าง ช๊อกโกแลต ไอติม ปีโป้ อาหารสุดโปรดของเด็กหลายๆ คนเลยค่ะ ก่อนหน้านี้พ่อแม่ก็ให้ลูกกินมาโดยตลอด คราวนี้ต้องมาห้ามลูกกิน ยากจังเลย สงสารลูกด้วย เก็บความสงสารมาเป็นการคิดบวกแบบนี้กันเถอะค่ะ หากไม่ช่วยลูกควบคุมน้ำหนักตอนนี้ ลูกอาจมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ส่งผลถึงโรคแทรกซ้อนได้นะคะ ป้องกันไว้ดีกว่าแก้เสมอค่ะ สู้ๆ นะคะคุณแม่
2.เปลี่ยนรูปแบบเมนูอาหาร จากของทอดอย่างเดียว เป็นเมนูนึ่ง ต้มกันเถอะ เช่นจากเมนูปลาทอด มาเป็นเมนูปลานึ่งมะนาวสูตรเด็ก เป็นต้น การปรับเปลี่ยนเมนูให้หลากหลาย หน้าตาน่าทาน จัดเสิร์ฟพร้อมกับผักและผลไม้ ให้ลูกได้สารอาหารครบถ้วน และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ให้ไขมันสูงด้วยนะคะ
3.ควบคุมปริมาณอาหาร อาหารของลูกในแต่ละวัน แบ่งออกเป็น 3 มื้อหลัก 2 มื้อย่อย แต่ละมื้อต้องมีสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน และการปรุงรสชาติอาหารรสจัดเกินไป โดยการควบคุมปริมาณอาหารของเด็กในที่นี้หมายความว่า จำกัดข้าว จากที่ลูกเคยขอเพิ่มข้าว ให้ลูกทานเพียง 1 จานเท่านั้น ขอกินไก่ 5 ชิ้นให้ลดเหลือ 3 ชิ้นเท่านั้น หากลูกไม่อิ่ม คุณแม่สามารถเสริมมื้ออาหารเป็นนม หรือผลไม้ได้นะคะ
4.งดมื้อหนักร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง หมูกระทะ พ่อแม่บ้านไหนสายกินบุฟเฟ่ต์บ้างค่ะ หากพ่อแม่เป็นสายกิน แบบนี้ลูกไม่ผอมแน่ๆ ค่ะ ต้องเริ่มจากพ่อแม่ก่อนนะคะ บางครั้งอาจแก้ปัญหาโดยการไม่พาลูกไปกินด้วย แต่ถ้าไม่สามารถทำได้จริงๆ ก็ควรงดมื้อหนักแล้วคุณแม่หันมาเข้าครัวทำกับข้าวทานเองที่บ้านดีกว่านะคะ
5.ออกกำลังกาย กิจกรรมการออกกำลังกายสำหรับเด็ก เช่น การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วิ่ง เป็นต้น วันหยุดเสาร์อาทิตย์นี้ คุณแม่ชวนเด็กๆ ไปปั่นจักรยานเล่นกันที่สวนสาธารณะแถวบ้านกันค่ะ ปล่อยให้ลูกได้วิ่งเล่นตรงสนามเด็กเล่น ก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกาย เคลื่อนไหวร่างกายแล้ว แถมลูกยังรู้สึกสนุกสนานกับการได้มาเที่ยวและเจอเพื่อนๆ ใหม่ด้วยนะคะ
6.ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เมื่อคุณแม่ พบว่าลูกมีน้ำหนักเกินเกณฑ์แล้ว ควรพาลูกไปปรึกษากับคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญค่ะ คุณหมอจะให้คำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับวิธีการลดน้ำหนักสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ว่าต้องควบคุมอาหารลูกแบบไหนกันนะ ที่ทำให้ลูกและแม่มีความสุข ไม่เกิดความเครียดด้วยค่ะ
น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ย่อมมาพร้อมกับโรคแทรกซ้อนต่างๆ หยุดตามใจเรื่องอาหารการกินของที่ไม่มีประโยชน์ หันมาใส่ใจเรื่องอาหารแต่ละเมนูของลูกให้มากขึ้นกันนะคะ เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกและทุกคนในบ้าน เป็นกำลังใจให้คุณแม่บ้านไหนที่มีลูกกินเก่งนะคะ สู้ ๆ ค่ะ ให้เวลาลูกสักหน่อย แล้วการกินอาหารของลูกอย่างมีความสุขแล้วสุขภาพดีเกิดขึ้นแน่นอนค่ะ
ขอบคุณเรื่องราว และรูปภาพจากคุณพ่อกอล์ฟ ฟักกลิ้ง ฮีโร่
โรคเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ในเด็กนั้น ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุ 1-3 ปี แต่ก็เคยมีกรณีพบในเด็กอายุเพียง 5 เดือน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ที่เกิดในเด็กนั้น มักเกิดจากการระคายเคืองของเนื้อเยื่อในโพรงลำไส้ ซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ที่เนื้องอกเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม อาหารการกิน สูบบุหรี่ เป็นต้น
“สำหรับความผิดปกติของเนื้อเยื่อในลำไส้นั้น เกิดเป็นเนื้องอกหรือติ่งเนื้อต่อมาอาจเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อนทำให้มีอาการลำไส้กลืนกัน ซึ่งทำให้มีการอุดตันของลำไส้เป็นภาวะฉุกเฉิน หรือมีเลือดออกในทางเดินอาหารซึ่งจะหาสาเหตุและรักษาได้จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่”
แม้ว่าเนื้องอกที่เป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่ในเด็ก จะพบได้ไม่มากนัก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรชะล่าใจค่ะ หากเกิดอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที
อาการโรคมะเร็งลำไส้ในเด็ก
1.ถ่ายเป็นมูกเลือด
2.ท้องเสียบ่อย
3.นํ้าหนักลดลง หากเกิดอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงที
วิธีป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ในเด็ก
1.รับประทานอาหารที่สะอาด ถูกหลักอนามัย และหลากหลาย อาหารที่เด็กควรทานหลัก ๆ คือ แป้ง โปรตีน และไขมัน โดยคำนึงถึงปริมาณไม่ให้มากเกินไป เลือกประเภทที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเสริมสารอาหารอื่นๆ ควบคู่
2.เน้นการฝึกขับถ่ายให้เป็นปกติ จะได้ไม่มีอุจจาระตกค้าง
3.คุณพ่อคุณแม่จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้ลูกปฏิบัติตาม เช่น เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่เครียด ออกกำลังกาย เป็นต้น
การเสริมสร้างร่ายกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้และโรคต่าง ๆ ได้ โดยจะต้องฝึกนิสัยการกินให้ถูกต้องกินอาหารให้ครบหมวดหมู่ในปริมาณที่พอดี เหมาะสมกับแต่ละคน สร้างพฤติกรรมให้ถูกสุขลักษณะตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะต้องเป็นต้นแบบและปลูกฝังพฤติกรรมที่ดีให้แต่เนิ่นๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้น จะได้ใช้ชีวิตอย่าปลอดภัย และเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้น้อยลงเช่นกัน
อาจเป็นที่น่าตกใจว่าโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดได้ในคนอายุน้อยลงทุกที แต่หากหมั่นสังเกตอาการ ตรวจสุขภาพอย่างสมํ่าเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่กระตุ้นให้เกิดโรคก็สามารถลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคได้ อีกทั้งการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กๆ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมไปตามช่วงวัยและสภาพร่างกายของเด็กแต่ละคนคือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรทำมากกว่า
ศาสตราจารย์แพทย์หญิง บุษบา วิวัฒน์เวคิน ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหาร และโรคตับในเด็ก โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช อินเตอร์เนชั่นเนล

ส่งลูกเรียนโรงเรียนแบบไหนดี? ชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักโรงเรียนประถมแบบต่าง ๆ กับความแตกต่างที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ ช่วยการตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้ลูกได้แน่นอน!
6 ประเภทโรงเรียนประถมศึกษาเป็นอย่างไร
1.โรงเรียนสองภาษา Bilingual (BI)
โรงเรียน Bilingual คือ โรงเรียนที่จัดการสอนเป็นสองภาษา ภาษาแม่และเพิ่มอีก 1 ภาษา ซึ่งในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นภาษาไทย-อังกฤษ การเรียนการสอนวิชาต่างๆ จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อให้เด็กได้รับความรู้ตามสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ สอนโดยครูต่างชาติเจ้าของภาษาในรายวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และพลศึกษา โดยคำนึงถึงความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาของศาสตร์นั้นควบคู่กับภาษาอังกฤษ
2.โรงเรียนนานาชาติ
เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนที่กลุ่มเป้าหมายหลักเป็นชาวต่างชาติ โดยนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติเกินกว่า 50% จะเป็นชาวต่างชาติแทบทั้งสิ้นครับ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีคนไทยที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนนานาชาติด้วยเช่นกัน
โรงเรียนนานาชาติจะแบ่งหลักสูตรออกเป็น แบบอังกฤษ จะมุ่งเน้นการศึกษาวิชาหลักคือ ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แบบอเมริกัน โรงเรียนส่วนใหญ่ในไทยจะใช้หลักสูตรนี้เป็นหลัก โดยเด็กจะได้รับการเรียนการสอนตามหลักสูตรครอบคลุมพื้นฐานทั่วไป แบบนานาชาติ ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาความคิดแบบใช้เหตุผลในการแก้ปัญหาครับ
3.โรงเรียนคาทอลิก
เป็นกลุ่มโรงเรียนในสังกัดอัครสังฆมณฑล โดยมีปรัชญาในการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งอบรมพัฒนาเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นหน้าที่ของโรงเรียนที่จะกล่อมเกลาค่านิยมแก่เด็กๆ ทุกคน เน้นให้เด็กรู้จักบังคับตัวเอง มีระเบียบวินัย โดยถือว่าการบังคับตัวเองนั้น จะนำไปสู่ความสำเร็จทางโลกและทางจริยธรรม จุดมุ่งหมายของโรงเรียนคาทอลิกจึงมุ่งเน้นที่จะให้เด็กมีวินัยในการดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัด
4.โรงเรียนสาธิต
โรงเรียนสาธิต เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของคณะศึกษาศาสตร์หรือคณะครุศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และด้วยการที่ขึ้นตรงกับคณะที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการศึกษาของมหาวิทยาลัยโรงเรียนสาธิตถือได้ว่ามีความโดดเด่นทางการเรียนการสอน และความเข้าใจในตัวเด็กได้เป็นอย่างดี
โดยการเรียนการสอนจะเน้นไปที่กิจกรรมการเรียนรู้ของเด็ก นักเรียนมีโอกาสเลือกเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นกับเด็กเป็นอย่างมาก มีเป้าหมายที่จะสอนให้เด็กเป็นคนที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ

5.โรงเรียนสามัญทั่วไป
เป็นกลุ่มโรงเรียนที่มีจำนวนโรงเรียนมากที่สุด แบ่งกว้างๆ ได้เป็นโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาล โดยสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ หลักสูตรการเรียนการสอนจึงใช้หลักสูตรแกนกลางเป็นหลักประกอบไปด้วยกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ เช่น ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ศิลปะ การงาน สังคม ศาสนา วัฒนธรรม พลศึกษา
ในปัจจุบันทั้งโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนรัฐบาลเริ่มเปิดสอนในหลักสูตร English Program มากขึ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายการเรียนการสอนก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
6.โรงเรียนรัฐบาล
โรงเรียนที่เป็นอีกหนึ่งที่ตัวเลือกที่ดีสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพราะทั้งกฎระเบียบที่ค่อนข้างเข้มงวดตั้งแต่เรื่องทรงผมและเครื่องแบบ ที่จะช่วยฝึกวินัยและความเป็นระเบียบให้ลูกของคุณ เรียนรู้สังคมที่หลากหลาย ตลอดจนการเรียนการสอนที่เข้มข้นไม่แพ้โรงเรียนประเภทอื่น รวมถึงค่าเทอมที่ถือว่าย่อมเยาว์อีกด้วย
ทำอย่างไรดี เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้ง
เมื่อลูกเข้าโรงเรียน หนึ่งในสิ่งที่พ่อแม่กังวลใจ คือ กลัวลูกถูกเพื่อนแกล้ง หรือลูกไปแกล้งเพื่อน อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยที่มองข้ามได้นะคะ เพราะปัญหานี้อาจจะฝังใจและอยู่กับเด็ก ๆ ไปจนโตได้ค่ะ หากมีเรื่องแกล้งกันขึ้นมา ควรรีบหาทางแก้ปัญหากับครูที่โรงเรียนเลยค่ะ
การแก้สถานการณ์เฉพาะหน้า
บทบาทของครู
ถ้าเห็นเด็กรังแกกัน ให้แยกสองฝ่ายออกจากกันในระยะเวลาสั้นๆ ก่อน เพื่อให้อารมณ์ของเขาเย็นลง หากรู้ทีหลัง ต้องรีบแจ้งผู้ปกครองของเด็กที่ถูกแกล้งทันที ให้คำมั่นสัญญาอย่างแข็งขันให้เด็กที่ถูกรังแกอุ่นใจ เช่น "ครูรักหนูนะ ครูจะปกป้องหนูเหมือนคุณพ่อคุณแม่ดูแลหนู ไม่ให้ใครมารังแกหนูอีก" ปรับพฤติกรรมของเด็กจอมรังแก สอนให้เขารู้จัก 'ขอโทษ' และบอกถึงผลเสียเมื่อรังแกผู้อื่น ให้เขาสำนึกผิดจากใจ สอนผู้ที่ถูกรังแกให้รู้จัก 'การให้อภัย' เพราะจะช่วยพัฒนาทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อตัวเขาเองจะได้ไม่ผูกใจเจ็บจนบั่นทอนพัฒนาการ อาจให้ทั้งสองฝ่ายช่วยเสนอแนะทางออก โน้มน้าวให้มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ขอโทษกันและสัญญากับครูว่าจะไม่ทำอีก อย่ายื่นข้อเสนอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรให้ผู้ปกครองเป็นคนหาทางออกที่พึงพอใจก่อน ครูต้องเป็นกลาง
ครูต้องสื่อสารกับทางบ้าน
สังเกตขอบเขตการถูกรังแกของเด็กว่ารุนแรงและบ่อยแค่ไหน ถ้ามีพฤติกรรมทำซ้ำหรือร้ายแรงจนน่าห่วง ขอให้คุณครูรีบสื่อสารกับพ่อแม่ของเด็กทันที ท่าทีในการสื่อสารของคุณครูก็สำคัญค่ะ ใช้วิธีพูดคุยในทำนองบอกเล่าเรื่องราวและปรึกษา แต่อย่าปกปิดเหตุการณ์ หรือแทรกแซงสถานการณ์ อย่าตำหนิย้ำถึงปมด้อยของเด็กทั้งสองฝ่าย เพราะจะทำให้พ่อแม่ร้อนใจ ให้หาทางออกที่ดีต่อเด็กและพ่อแม่ของเด็กที่ถูกรังแกมากที่สุด
บทบาทของพ่อแม่
มีท่าทีที่ดี เมื่อคุณครูบอกเล่าถึงพฤติกรรมของลูกเมื่ออยู่โรงเรียน เพราะนั่นแสดงว่าคุณครูดูแลเอาใจใส่ลูกคุณเป็นอย่างดี อย่าติดป้ายเด็กคู่กรณีว่าเป็นเด็กมีปัญหา แต่เขาอาจทำผิดพลาดได้ และมีโอกาสที่จะสำนึกผิดได้ ควรหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียน ด้วยการพูดคุย เล่ารายละเอียด เพื่อร่วมกันหาทางออก หากเหตุการณ์รุนแรงมาก และอีกฝั่งไม่ได้มีท่าทีสำนึกผิดใดๆ ต้องให้กฎหมายเข้าช่วยปรับพฤติกรรมเด็ก เพื่อเป็นตัวอย่างว่าอย่าไปแกล้งใครรุนแรงแบบนี้ และอาจย้ายโรงเรียนลูกไปในที่ๆ ดีกว่า เป็นทางออกสุดท้ายค่ะ

เพื่อนที่ดีที่สุด คือตัวหนูเอง
บอกลูกอย่าอยู่ใกล้ๆ เพื่อนที่ชอบแกล้งตอนที่ไม่มีเพื่อนหรือคุณครูอยู่ด้วย เพราะจอมแกล้งเขาอาจจะหมั่นเขี้ยว อยากรังแกเพื่อนคนเดิมซ้ำอีก ไม่ตอบโต้ด้วยการใช้กำลังหรือคิดแก้แค้น เพราะจะยิ่งทำให้เรื่องไปกันใหญ่ หากเจอเหตุการณ์รุนแรงมาก เด็กที่ถูกรังแกต้องได้รับการเยียวยาจิตใจกับจิตแพทย์เด็ก
การแก้ไขปัญหา BULLY ในโรงเรียนแบบระยะยาว
ทั้ง พ่อแม่และคุณครู ล้วนเป็นแรงสำคัญที่จะช่วยสร้างกำลังใจให้เด็ก สอนเด็ก ๆ ให้มีความเชื่อมั่น และกล้าปกป้องตัวเองเมื่อถูกรังแก
ย้ำกับเด็กว่า 'ถึงเพื่อนคนนั้นจะชอบรังแกหนู แต่เพื่อนคนอื่นกับครูรักหนูมากนะ' แต่อย่าลืมว่าต้องไม่ใช่การยุหรือผลักดันให้หนูตอบโต้ หรือหันมาใช้พฤติกรรมไม่น่ารักเหมือนที่เขาถูกเพื่อนทำนะคะ แต่งตั้งให้เด็กที่รังแกผู้อื่น เป็นผู้ช่วยคุณครูดูแลเพื่อนๆ เขาจะได้แก้นิสัยของตัวเองและเพื่อนที่เป็นจอมรังแกได้ ครูต้องดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หัวรุนแรง ควรได้รับการเฝ้ามองพฤติกรรมมาก
หากลูกถูกแกล้งไม่ว่าจะรุนแรงหรือไม่รุนแรงมาก พ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัยของลูก หาทางออกของผู้ใหญ่แล้ว อย่าลืมรักษาจิตใจของลูกด้วยนะคะ เพราะการถูกแกล้งส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กในระยะยาวมาก ๆ ค่ะ
ช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่เด็กนอนกลางวันในแต่ละวัน ส่งผลต่อทั้งพฤติกรรมและการเรียนรู้กับเด็กอย่างคาดไม่ถึง แต่จะทำอย่างไร เมื่อลูกรักไม่ชอบและไม่ยอมนอนกลางวันเลย เรามีคำแนะนำเกี่ยวกับการนอนกลางวันของลูกมาฝากค่ะ
เด็กคนใดนอนง่าย ไม่ว่าจะเป็นนอนกลางวันหรือกลางคืน จะสร้างความสบายกายสบายใจให้กับทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณครู หากเด็กคนใดนอนยากหรือไม่ยอมนอน จะเป็นที่หนักใจกันทีเดียว เด็กบางคนนอนกลางคืนไม่เป็นปัญหา มาเป็นปัญหาเอาที่การนอนกลางวัน คำถามประจำวันของคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกเริ่มเข้าโรงเรียนใหม่ๆ หรือเมื่อลูกมีอาการป่วนยามเย็นบ่อยครั้ง คือลูกนอนกลางวันไหมคะ นอนนานหรือเปล่า เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กันค่ะ
นอนกลางวัน สำคัญไฉน
คุณครูจะเห็นได้ชัดว่าเด็กที่ไม่นอนตอนกลางวัน โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ตั้งแต่ 3-4 ขวบ ลงมามักจะมีอาการอิดโรย และแสดงอาการหงุดหงิดตอนบ่ายและตอนเย็น สดชื่นน้อยกว่าเด็กที่นอนกลางวันแล้วตื่นมาทำกิจกรรมกับคุณครูในภาคบ่าย เพราะเด็กเล็กยังต้องการเวลาในการพักผ่อนหลังจากทำกิจกรรมมาตลอดช่วงเช้า คุณครูจึงพยายามหาวิธีที่จะเชิญชวนและจัดเวลาให้เด็กนอนกลางวันกัน
อาการที่แสดงว่าเด็กพักผ่อนไม่พอ คืออารมณ์หงุดหงิดง่ายในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ซึมเหม่อลอย ไม่อยากออกกำลังกายวิ่งเล่นยามเย็น คราวนี้ยุ่งกันใหญ่ เวลาเริ่มไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตเสียแล้ว ถึงเวลารับประทานอาหารเย็นก็แทบจะนั่งหลับ แล้วนอนในช่วงเย็น ตื่นมาตอนพลบค่ำ จากนั้นกว่าจะเข้านอนอีกทีก็ดึกมาก พอนอนดึกมากก็ตื่นสาย พอตื่นสาย กลางวันเวลาคุณครูให้นอนก็ยังไม่ง่วง บ่ายซึม ตกเย็นเอาอีกหลับช่วงเย็น วนเวียนอยู่อย่างนี้
วิธีแก้ไข
คือต้องปรับเวลากันใหม่ ถ่วงเวลาหาอะไรให้ทำก่อน อย่าพยายามให้นอนตอนเย็น ปรับเป็นให้นอนเร็วกว่าปกติ นอนแต่หัวค่ำจะได้ตื่นเช้าได้ ทุกอย่างจะเข้าที่
ทำไมหนูน้อยไม่ยอมนอนกลางวัน หลายครั้งพบว่าเหตุมาจากการนอนดึก ตื่นสายนั่นเอง บ้านที่คุณพ่อคุณแม่มักจะกลับบ้านดึก ลูกจะรอแล้วไม่ยอมนอน บางรายกลับดึกชอบปลุกลูกมาเล่นเพราะคิดถึง เด็กบางรายติดวิดีโอ ดูทีวีไม่เลิก ทำให้ตื่นสาย พอกลางวันจึงไม่ง่วง ล้วนสร้างความปวดศีรษะให้กับคุณครูที่โรงเรียน เพราะเด็กที่ไม่นอนกลางวันจะยุกยิก แหย่เพื่อนที่กำลังนอน หากคุณครูบังคับว่าทุกคนต้องนอนให้หลับ เด็กที่ไม่นอนกลางวันเหล่านี้ก็จะถูกดุ ต่างๆ นานา บางรายถึงกับร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียน พอถามว่าเพราะอะไร คำตอบที่ได้ คือ ไม่อยากนอนกลางวัน ครูชอบบังคับให้นอนกลางวัน
ทำอย่างไรดีเมื่อหนูไม่ยอมนอนกลางวัน
การสร้างบรรยากาศก่อนนอนเป็นเรื่องสำคัญ บางโรงเรียนปิดม่านให้มืดหน่อย เล่านิทานเบาๆ เรื่องไม่ตื่นเต้นนักหรือเปิดเพลงนุ่มๆ ให้เด็กเคลิ้ม
แต่ในแต่ละห้องจะมีเด็กที่ไม่ยอมนอนหรือนอนยาก ถ้ามีเหตุจากการตื่นสายก็แก้ที่นั่น แต่จะมีเด็กบางคนที่เริ่มโตและนอนกลางคืนยาว หรือต้องการการพักผ่อนตอนกลางวันน้อยลง ไม่ว่าคุณครูจะบังคับอย่างไรก็ไม่หลับ ดังนั้นจึงควรจัดให้เด็กที่นอนเก่ง เริ่มนอนเร็วกว่า จัดที่นอนให้กลุ่มนอนยากกระจายกันหน่อย เพื่อไม่ให้มาเล่นรบกวนเด็กอื่น หรือจัดให้อยู่ใกล้ๆ คุณครูที่ดูแล ให้เด็กเหล่านี้นอนเล่นพักผ่อนสักพัก พอเพื่อนๆ เริ่มหลับก็หากิจกรรมให้ทำสงบๆ บนที่นอน ที่ดีก็เห็นจะเป็นการอ่านหนังสือ ฟังเทปนิทาน เด็กบางคนพลังเยอะ คุณครูอาจให้ออกกำลังให้มากหน่อยช่วงเช้า พอตกกลางวันจะได้นอนหลับเรียกแรงคืนกลับมาใหม่ในช่วงบ่าย
สำหรับเด็กที่เข้าโรงเรียนใหม่ ๆ มีปัญหานอนกลางวันมาก ไม่อยากนอนที่โรงเรียนเพราะไม่คุ้นเคย ไม่อยากหลับตา ไม่อยากอยู่กับคนยังไม่ไว้วางใจยามง่วงนอน จึงฝืนทน ก็หนูเคยมีคุณแม่คุณยายที่รู้ใจไปหมดคอยกล่อมนอน ที่นอนก็ไม่ใช่ที่นอน หมอนที่นอนมาตั้งแต่เด็ก จึงพบว่าเด็กใหม่ๆ บางรายหลับพับคาของเล่น หลับกลางสนามทราย น่ารักน่าสงสารเสียจริงๆ เมื่อเด็กเริ่มไว้ใจโรงเรียน ปรับตัวได้ ก็จะนอนได้ดีขึ้น
เด็กหลายคนคุณแม่บ่นว่ากว่าจะหลับต้องกล่อมกันนาน ทำไมมาโรงเรียนนอนง่ายเชียว ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ที่โรงเรียนมีกิจกรรมที่เด็กๆ ได้วิ่งเล่นออกกำลังกาย มีกิจกรรมที่ได้คิด ได้แก้ปัญหา ทำให้เด็กเพลีย อ่อนล้า และต้องการการพักผ่อนมาก หากอยู่บ้านเด็กเล่นแต่ในบ้านกับของเล่นกุ๊กกิ๊ก หรือใช้เวลามากกับหน้าจอทีวีเด็กมักจะไม่ง่วงนอน นอกจากนี้ที่โรงเรียน ครูครูมีความคงที่ในเรื่องของเวลานอน ฝึกให้เด็กรู้เวลารู้หน้าที่ เด็กทุกคนรู้ว่าเป็นเวลานอนไม่มีของเล่นในมือ ไม่วิ่งไปไหนมาไหน นอนนิ่งๆ หลับตาเดี๋ยวเดียวก็หลับ หากอยู่บ้านก็อยากทำโน่นทำนี่ หากไม่ง่วงจริงๆ ไม่ค่อยจะยอมมานอนแต่หากฝึกกันดีๆ ตั้งแต่เล็กให้ลูกรู้เวลา รู้หน้าที่ ก็จะช่วยลูกนอนหลับได้ง่ายด้วยตนเอง และช่วยลดภาระคุณครูได้มาก
นอนได้ต่อเมื่อได้ม้วนผมแม่เล่น มีเด็กหลายคนเด็กก่อนเข้าโรงเรียนจะติดของบางอย่างเพื่อช่วยให้ตัวเองหลับ เช่น กอดผ้าเปื่อยๆ ผืนนี้ กอดตุ๊กตาหมีตัวเก่ง บางรายฝึกมาให้ต้องลูบหลัง ตบก้น บางรายลำบากหน่อยเพราะติดม้วนผมคุณแม่เล่น ดึงติ่งหูคุณแม่ คุณครูต้องรู้ลีลาของแต่ละคน สร้างความลำบากให้คุณครู ซึ่งมีลูกศิษย์หลายคนที่ต้องเรียนรู้และพยายามทำให้คล้ายๆ กับลีลาที่บ้าน ผ่อนปรนกันไป แล้วค่อยๆ ฝึก จนในที่สุดเด็กๆ ก็จะนอนได้ด้วยตนเอง
การติดสิ่งของบางอย่างหรือท่าทางบางอย่าง บางทีเกิดจากผู้ใหญ่เองต่างหากที่สร้างความเคยชินให้ลูกน้อย เช่น ลูบผม เกาหลัง หรือเตรียมตุ๊กตาหมีให้เป็นประจำ ทำอย่างนี้จนลูกติด พอไม่มีพี่หมี หรือลืมเอาพี่หมีมาด้วย คราวนี้เดือดร้อนค่ะ เพราะติดไปแล้ว
สำหรับเด็กเหล่านี้เมื่อมาโรงเรียนในระยะแรกคุณครูให้เอามานอนกอดให้อุ่นใจด้วย ต่อมาจะค่อยๆ ให้ห่างตัวจนสามารถนอนได้เอง ยังมีบางบ้านที่ลูกไม่ติดของอะไรเลยก่อนนอน แต่พอลูกเริ่มเข้าโรงเรียน เป็นห่วงลูกมากกลัวลูกเหงา กลัวลูกไม่ยอมนอน ก็เลยหอบหมอนใบที่บ้านบ้าง หอบตุ๊กตามาให้ลูกถ้าลูกไม่ติดอะไรมาก่อนก็ไม่จำเป็นต้องเอามาให้ลูก ลูกก็สามารถหลับได้ด้วยตนเองค่ะ
การนอนกลางวันของเด็ก ๆ
น.พ.บุญรัตน์ ภัทรากุลพิเชษฐ์ กุมารแพทย์ ซึ่งมีลูกอยู่ในวัยอนุบาล กล่าวถึงชั่วโมงการพักผ่อนของเด็กๆ ไว้ดังนี้
- เด็กอนุบาลหนึ่งอายุประมาณ 3 ขวบ และเด็กเนิร์สเซอรี่ จะนอนทั้งวันประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน โดยนอนตอนกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง
- เด็ก 3-6 ขวบ จะนอนประมาณ 8-12 ชั่วโมง ขึ้นกับเด็กแต่ละคนและขึ้นกับกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ว่าสร้างความอ่อนเพลียขนาดไหน
ที่โรงเรียนเราจึงอาจพบเด็กอนุบาล 2 บางคน หรืออนุบาล 3 อายุ 5-6 ขวบ จำนวนมากที่ไม่นอนกลางวันจึงไม่ต้องกังวล หากเด็กพักผ่อนตอนกลางคืนอย่างเต็มที่ แต่กิจกรรมในช่วงบ่ายก็ควรเป็นกิจกรรมเบา ๆ ผ่อนคลาย

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกเป็นโรคอ้วน
โรคอ้วนในเด็กเป็นอีกโรคที่พ่อแม่ต้องระวัง เพราะมีแนวโน้มนำไปสู่โรค NCDs ได้ เมื่อพบสัญญาณว่าลูกเราเริ่มเจ้าเนื้อหรือมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ พ่อแม่ต้องรีบปรับพฤติกรรมลูกก่อนกลายเป็นเด็กอ้วนแล้วละ
รู้จักโรค NCDs
โรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่ก่อให้เกิดการแพร่จากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนคนนั้น การเกิดโรคจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป สะสมอาการต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และเมื่อเป็นแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคจนอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้
กลุ่มโรค NCDs
- โรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคเบาหวาน
- โรคมะเร็งต่างๆ
- โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง
- โรคอ้วนลงพุง
เรื่องอ้วน ๆ แบบนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร
มองเห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อพ่อแม่ทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลาใส่ใจเรื่องอาหารของลูก ให้ลูกเลือกกินแต่อาหารที่มีไขมันสูง โซเดียมสูง ได้รับโภชนาการเกิน หรือพฤติกรรมติดจอ เนือยนิ่ง ก็ส่งผลให้ลูกไม่ได้ขยับตัว เคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลให้เกิดเป็นโรคอ้วนในที่สุด

วิธีเช็กว่าลูกเราอ้วนมั้ย
พ่อแม่สามารถเช็กว่าลูกอ้วนหรือผม ตามเกณฑ์หรือไม่จากสมุดบันทึกเล่มสีชมพูหรือบันทึกการตรวจสุขภาพของลูกที่ได้รับจากโรงพยาบาลได้เลย หรือเช็กได้จาก เกณฑ์ตารางน้ำหนักส่วนสูงใหม่ ของเด็กแรกเกิด-5 ปี จากสำนักโภชนาการ ได้เลย
โดยน้ำหนักตามเกณฑ์ของเด็กชายควรอยู่ที่
อายุ 1 ขวบ หนัก 8.2 - 11.4 กิโลกรัม
อายุ 2 ขวบ หนัก 10.3 - 14.4 กิโลกรัม
อายุ 3 ขวบ หนัก 12.00 - 17.2 กิโลกรัม
อายุ 4 ขวบ หนัก 13.5 - 19.8 กิโลกรัม
อายุ 5 ขวบ หนัก 15.00 - 22.5 กิโลกรัม
และน้ำหนักตามเกณฑ์ของเด็กหญิงควรอยู่ที่
อายุ 1 ขวบ หนัก 7.5 - 10.7 กิโลกรัม
อายุ 2 ขวบ หนัก 9.15 - 13.8 กิโลกรัม
อายุ 3 ขวบ หนัก 11.5 - 16.9 กิโลกรัม
อายุ 4 ขวบ หนัก 13.15 - 20.00 กิโลกรัม
อายุ 5 ขวบ หนัก 14.7 - 23.00 กิโลกรัม

วิธีช่วยลูกลดความอ้วน
1. เริ่มต้นที่พ่อแม่หันเอามาใจใส่เรื่องอาหารการกินของลูกให้มากขึ้น เปลี่ยนทัศนคติที่ว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กน่ารัก รวมไปถึงต้องจับเข่าคุยกับคุณยายคุณย่าที่ชอบให้ขนมกับหลาน ๆ ด้วย
2. ลดอาหารทอดของลูกลง เน้นเมนูนึ่ง ต้ม ก็อร่อยได้หลายเมนูค่ะ หรือหากต้องกินข้าวนอกบ้านเลือกเมนูที่มีสารอาหารหลายหลาน ครบ 5 หมู่ ลดอาหารฟ้าดฟู้ดส์ ไขมันสูง โซเดียมสูง น้ำตาลสูง ลงด้วยค่ะ
3. กินให้เป็นเวลา ของจุบจิบนอกมื้อไม่จำเป็นเลย ออกแบบอาหารจานผักและผลไม้ให้เด็ก ๆ รู้สึกอยากลิ้มลอง และพยายามมีผลไม้ติดตู้เย็นไว้ตลอด ปอกหั่นให้หยิบกินได้สะดวก
4. ปล่อยหรือชวนให้ลูกออกไปเล่นกลางแจ้งบ่อย ๆ ชวนลูกเล่นนอกบ้าน นอกจากได้ Out จอแล้วยังได้สุขภาพดีด้วย
5. ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดินเล่น เต้นแอโรบิก ตีแบด ฯลฯ สำคัญที่พ่อแม่ทำไปพร้อมกับลูกด้วย จะสนุกคูณสองเลย
หากบ้านไหนทำได้ครบก็จะได้เป็นเจ้าของครอบครัวตัวเบาสุขภาพดี ที่สำคัญต้องตั้งเป้าหมาย ทำความเข้าใจกับลูก แล้วก็ใจเย็น ๆ ค่ะ เมื่อความอ้วนจากไป สุขภาพและความมั่นใจก็จะกลับคืนมา

ไข้หวัดกับโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือที่เรามักเรียกกันว่า “แพ้อากาศ” มีอาการไม่ต่างกันนัก แต่แพ้อากาศนั้น บางครั้งอาจจะมีความรุนแรงมากกว่า ซึ่งหากคุณแม่คุณพ่อมีความเข้าใจในโรคภูมิแพ้ ก็สามารถปกป้องและดูแลลูกในเบื้องต้นได้ค่ะ
น้ำมูกไหล สัญญาณหวัด?
ฮั้ดเช้ยยยยย!
ฝนมาหวัดก็มา คุณพ่อคุณแม่อาจไม่แน่ใจว่าน้ำมูกที่ไหลออกมาจากจมูกลูกนั้นใช่อาการหวัดจริงๆหรือไม่ แม้ว่าไข้หวัดกับโรคแพ้อากาศจะมีอาการคล้ายๆ กัน แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว คุณพ่อคุณแม่สามารถแยกความต่างของทั้ง 2 โรคนี้ได้ เพื่อจะได้รักษาลูกได้อย่างถูกวิธี ดังนี้
ทุกครั้งที่อากาศเปลี่ยนแปลง เด็กหลายคนจะมีอาการหายใจเสียงดัง คัดจมูก น้ำมูกไหล บางครั้งก็จามติดกันบ่อย ๆ จนคุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าลูกป่วยเป็นไข้หวัด ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ เพราะโดยปกติไข้หวัดมักเกิดในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เด็กจะมีอาการไอมีเสมหะ จาม เจ็บคอ เสียงแหบ รวมถึงมีไข้ต่ำๆ และปวดศีรษะร่วมด้วย ไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มักเป็นไม่เกิน 2-5 วัน ก็หายค่ะ
ทั้งนี้อาการน้ำมูกใส ๆ ไหล อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคแพ้อากาศ ก็ได้นะคะ โดยเฉพาะถ้าลูกมีอาการเหมือนเป็นหวัดเรื้อรัง โดยที่ไม่มีไข้
แล้ว ไข้หวัด กับ แพ้อากาศต่างกันอย่างไร? มาดูกันค่ะ
ความแตกต่างของ หวัด กับแพ้อากาศ

ไข้หวัดธรรมดา
-
มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ
-
มีอาการจาม คัดจมูก มีน้ำมูกไหล (น้ำมูกใส)
-
มีอาการไอ เจ็บคอ
-
อาการเป็นทั้งวัน และอาจมีอาการมากตอนกลางคืน
-
มีอาการไม่เกิน 1-2 สัปดาห์
แพ้อากาศ
-
คันจมูก จาม คัดจมูก มีน้ำมูกใสไหล เป็นๆหายๆ ช่วงเช้า หรือ กลางคืนนาน 4 สัปดาห์ขึ้นไป
-
ไอเรื้อรัง มีเสมหะในช่วงเช้า หรือกลางคืน
-
อาจมีอาการคันตา น้ำตาไหล ตาแดง ตาบวม คันในเพดานปาก หู และผื่นคันที่ผิวหนัง ร่วมด้วย
-
มีอาการคล้ายหวัดเรื้อรัง โดยไม่มีไข้
-
มีอาการผิดปกติทางผิวหนัง เช่น ผิวแห้ง คัน เป็นผื่น ผิวหนังอักเสบ
-
อ่อนเพลีย ง่วงซึม รู้สึกไม่สบายตัว หรือหงุดหงิดง่าย เพราะนอนไม่เพียงพอ
อาการไข้หวัดกับอาการแพ้อากาศค่อนข้างคล้ายคลึงกันมาก คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการและดูแลลูกได้ในเบื้องต้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อลูกไม่สบายมาก ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อการวินิจฉัยโรคและการรักษาที่ถูกต้องค่ะ
การดูแลเด็กที่มีอาการแพ้อากาศ
-
หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ อย่างเคร่งครัด
-
ให้ลูกรับประทานยาแก้แพ้หรือพ่นยาตามคำแนะนำของแพทย์
-
ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อล้างจมูกเมื่อลูกมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
-
หากหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ไม่ได้ หรือการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล โรคแพ้อากาศสามารถรักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ได้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการรักษาด้วยวิธีนี้ต่อไปค่ะ
วิธีลดความเสี่ยงการเกิดอาการแพ้อากาศ
อาการแพ้อากาศ คืออาการภูมิแพ้อย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเป็นแล้ว อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับอาการแพ้อื่น ๆ เช่น หอบหืด ที่อาจจะตามมาได้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้แต่เนิ่น ๆ ด้วยการดูแลสภาพแวดล้อมและการหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ดังนี้ค่ะ
1. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ลูกแพ้
โดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตาขนที่อาจมีไรฝุ่น รวมถึงฝุ่นในบ้าน สัตว์เลี้ยง หรือสารกระตุ้นต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ควันธูป น้ำหอม สเปรย์ ควรทำความสะอาดบ้านโดยเฉพาะห้องนอนของลูกเป็นประจำทุกวัน เปิดหน้าต่างให้แสงเข้าบ้าง ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ของลูกได้
2. เช็กสภาพอากาศก่อนพาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน
เพื่อหลีกเลี่ยงความชื้น มลภาวะ ฝุ่นละอองโดยเฉพาะฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ควันพิษ ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกเกิดอาการแพ้ และเมื่อพาลูกกลับจากทำกิจกรรมนอกบ้านแล้วควรให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที
3. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ในสัดส่วนที่สมดุล
หากลูกน้อยของคุณแม่ยังทานนมแม่อยู่ ก็ควรทานนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน เพราะในนมแม่มีโปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน ถูกทำให้เป็นโมเลกุลขนาดเล็กแล้ว จึงช่วยลดโอกาสการกระตุ้นให้เกิดการแพ้ อีกทั้งยังมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ อย่างเช่น บิฟิดัส บีแอล และแอลจีจี ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงให้กับร่างกายของลูกได้อีกด้วย
แต่ในบางกรณีจำเป็นที่ทำให้คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง คุณแม่สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ในเรื่องของ โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนที่ทำจากเวย์ 100% หรือ H.A. (Hypoallergenic) ตามคำแนะนำจากแนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคภูมิแพ้จากสมาคมโรคภูมิแพ้ และวิทยาคุ้มกันแห่งประเทศไทย
เมื่อถึงวัยเริ่มอาหารเสริมตามวัยตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะอาหารจำพวกโปรตีน ผักและผลไม้ และอาหารที่มีการเติมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ อย่าง บิฟิดัส บีแอล จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและความแข็งแรงให้กับร่างกายของลูกได้ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ แต่ให้ทานในสัดส่วนที่สมดุล ไม่มากเกินไป ก็จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของลูกน้อย ค่อย ๆ ปรับตัวเข้ากับอาหารใหม่ ๆ ได้ค่ะ

4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดี เพราะหากร่างกายลูกพักผ่อนไม่พอ อ่อนเพลียบ่อยๆ ภูมิต้านทานจะต่ำลง ทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย เพราะฉะนั้นควรให้ลูกนอนหลับไม่ต่ำกว่าวันละ 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยประมาณวันละ 30 นาที นอกจากจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยแล้ว การออกกำลังกายร่วมกันยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัวอีกด้วยค่ะ
ในช่วงที่เข้าฤดูฝนเช่นนี้ แม้ว่าจะมีปัจจัยกระตุ้นอาการภูมิแพ้ของลูกมากมาย หากคุณแม่คุณพ่อดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวลูก ชวนลูกออกกำลังกายทุกวัน และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยปกป้องลูกจากอาการภูมิแพ้ได้ส่วนหนึ่งแล้ว เมื่อลูกมีสุขภาพแข็งแรง ไม่แพ้ เค้าก็พร้อมที่จะออกไปเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่ในทุก ๆ วันค่ะ แต่หากลูกมีอาการภูมิแพ้กำเริบเยอะ ก็ควรไปพบแพทย์นะคะ
อยากรู้ว่าลูกน้อยมีความเสี่ยงภูมิแพ้แค่ไหน ทำแบบทดสอบเบื้องต้นได้เลยที่ https://www.nestlemomandme.in.th/sensitive-expert/sensitive-check
#SensitiveExpert #ผู้เชี่ยวชาญด้านความบอบบางของลูกน้อย

ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลพระรามเก้า
พื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์

โลกโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นกูเกิ้ล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และยูทูบ กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคดิจิตอลของเราไปแล้วเรียบร้อย การห้ามไม่ให้ลูกเล่น โซเชียลมีเดียเหล่านี้ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้เพราะเป็นไปตามยุคสมัย แต่เราจะอยู่ในกลุ่มพ่อแม่แบบไหน มาดูผลสำรวจกันค่ะ
เป็นผลของการสำรวจสรุปกระบวนความคิดของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ในภูมิภาคเอเชีย โดยแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ ซึ่งจะสะท้อนวิธีการที่พ่อแม่ให้ความหมายต่อการเรียนรู้ของลูก การให้คุณค่าของการเรียนรู้จากประสบการณ์ของพ่อแม่ และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือลูกในการเรียนรู้ รวมถึงความห่วงใยต่ออนาคตของลูกด้วย
- กระบวนความคิดแบบกังวล (The Concerned)
พ่อแม่กลุ่มแรกนี้สนใจและกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับอุปกรณ์ดิจิทัลต่อการศึกษาของลูก พ่อแม่จะไม่ยอมให้ลูกเล่นโซเชี่ยลใดๆ เพราะกังวลถึงผลกระทบที่เทคโนโลยี จะส่งผลต่อการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะในด้านสังคมและการเข้าสังคมของลูก พ่อแม่กลุ่ม The Concerned จะให้ความสำคัญกับวิธีการศึกษาแบบดั้งเดิม มากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยเชื่อว่าเด็กๆ จะเสียสมาธิได้ง่าย เมื่อต้องอ่านบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเด็กน่าจะได้เรียนรู้มากขึ้นจากสิ่งพิมพ์หรือตำรา
- กระบวนความคิดแบบสัจนิยม (The Realist)
พ่อแม่ในกลุ่มนี้ ให้คุณค่ากับการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การเล่น และการเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย พวกเขาพร้อมที่จะเปิดรับ เน้นเรื่องการปฏิบัติ ต้องการให้ลูกได้สัมผัสโลกแห่งความเป็นจริง พวกเขาอยากให้ลูกๆ พัฒนาทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้นอกเหนือจากในห้องเรียนและจะช่วยให้พวกเขาเป็นเลิศ กลุ่มพ่อแม่ลักษณะนี้จะชื่นชอบอุปกรณ์ดิจิทัล เนื่องจากสามารถช่วยให้ลูกๆ ได้เรียนรู้ไอเดียใหม่ๆ ได้
- กระบวนความคิดตามขนบ (The Typical)
พ่อแม่ในกลุ่มนี้ให้คุณค่ากับการพัฒนาทักษะที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงและการเรียนรู้จากประสบการณ์ ผู้ปกครองลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะยอมรับว่า การเรียนรู้ทั้งทางดิจิทัลและจากสิ่งพิมพ์เหมาะสม และให้ผลการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การพัฒนาทักษะและสติปัญญาด้านคำศัพท์และความเข้าใจ
- กระบวนความคิดที่เน้นประสบความสำเร็จ (The Overachiever)
พ่อแม่กลุ่มนี้ เรียกอีกอย่างว่า Tiger Parents มีลักษณะแสดงความต้องการเข้าไปช่วยผลักดันให้เด็กเรียนรู้ ควบคุมเนื้อหา และเส้นทางของการเรียนรู้ ให้ลูกได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ พวกเขาเชื่อว่าอุปกรณ์ดิจิทัลจะช่วยให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและไอเดียต่างๆ ในขณะที่สื่อการเรียนรู้ที่เป็นสิ่งพิมพ์และกิจกรรมทางกายภาพช่วยส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- กระบวนความคิดแบบปลีกตัว (The Detached)
พ่อแม่กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่เงียบและเก็บตัวมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่ม แม้พวกเขาใช้เวลาเรียนรู้กับลูกน้อยที่สุด แต่พวกเขากระตือรือร้นที่จะพัฒนาทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสังคม ซึ่งอาจเป็นเพราะพ่อแม่กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่เป็นคนที่เก็บตัว จึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เประเภทท่องจำ การติวเสริม และร่วมกิจกรรมทางสังคม นอกจากนี้ ในด้านการสร้างความผูกพัน พวกเขาต้องการควบคุมเนื้อหาและเส้นทางการเรียนรู้ของลูกๆ โดยแม่จะมีบทบาทในการเรียนรู้ของลูกมากกว่าฝ่ายพ่อ
หากเป็นพ่อแม่ได้ทุกกลุ่ม และใช้ไปตามสถานการณ์จะดีกว่าเป็นแบบใดแบบหนึ่งไปเลยนะคะ หากจะให้ลูกเล่นมือถือ แท็บเล็ต ก็ควรรู้วิธีดูแลสายตาของลูกยุคดิจิทัล ดังนี้เลยค่ะ
-
ให้เวลาลูกเล่นแท็บเล็ตแค่ 2 ชม. ต่อวัน เท่านั้น และต้องพักสายตาทุกๆ 20 นาที ด้วย
-
อย่าจ้องหน้าจอใกล้เกินไป ให้เว้นระยะห่าง ประมาณ 1 ศอกของพ่อ
-
ปรับความสว่างที่หน้าจอให้พอเหมาะ และห้ามปิดไฟเล่น
-
กินผักผลไม้ที่มีวิตามินเอและลูทีนสูง เพราะมีประโยชน์ต่อสายตา เช่น กีวี่ แครอท ผักโขม ผักคะน้า ผักบุ้ง ตำลึง ฟักทอง และมะละกอ
เมื่อถึงวัยที่เล่นแท็บเล็ต มือถือ ได้แล้ว เป็นอะไรที่ห้ามยากเรื่องการเรียนรู้ในโลกอินเทอร์เน็ต แต่พ่อกับแม่ก็ต้องรู้วิธีดูแลลูกด้วยวิธีดังกล่าวค่ะ
ข้อมูลจาก : เสวนา “HP New Asian Learning Experience เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ของครอบครัวยุคใหม่”
พบกับเคล็ดลับง่ายๆที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ได้ที่เว็บไซต์ เอชพี ประเทศไทย

นิสัยของพ่อแม่ 3 สไตล์ มักจะได้ลูกเป็นคนแบบนี้
คุณพ่อคุณแม่ลองสำรวจตัวเองดูนะคะ ว่าส่วนใหญ่แล้ว เรากำลังเป็นพ่อแม่แบบไหน แล้วจะเปลี่ยนอะไรในตัวเองเพื่อเป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้นบ้าง เพื่อให้ลูกมีอิสระ แต่ก็มีขีดจำกัดที่เหมาะสมได้
1.พ่อแม่ชอบบงการ
พ่อคุณที่ลึก ๆ แล้วมักจะชอบบงการลูก อยากให้ลูกเชื่อฟังคำสั่ง และมักจะลงโทษลูก เช่น "กินข้าวให้หมด ไม่อย่างนั้นแม่จะตีมือเลยนะ" "พูดขอโทษเดี๋ยวนี้นะ ไม่งั้นแม่จะไม่รัก " เป็นต้น หากคุณเผลอที่เป็นพ่อแม่แบบนี้ สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ
- ลูกจะทำตัวเป็นเด็กดีชั่วคราว เลี่ยงการถูกลงโทษ
- ลูกจะกลัวพ่อแม่และผู้ใหญ่ แบบไร้เหตุผล
- ลูกไม่เรียนรู้ที่จะคิดเอง
- เก็บกด และเลียบแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ เป็นต้น
2.พ่อแม่ตามใจลูกเกินไป
พ่อแม่หลายคนไม่ยอมรับว่ากำลังตามใจลูกอยู่ แต่จริง ๆ แล้วกำลังทำนะคะ เช่น ให้ลูกซื้อของเล่นทุกอย่างที่อยากได้ ปล่อยให้ลูกเล่นไปกินข้าวไป เป็นต้น หากคุณเผลอที่เป็นพ่อแม่แบบนี้ สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ
- ลูกไม่เรียนรู้ขอบเขตของตัวเอง
- ลูกไม่ถูกฝึกให้รับผิดชอบ ตามใจตัวเอง
- ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น
- ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่น
- บีบบังคับให้พ่อแม่และคนอื่น ๆ ทำตามตัวเอง เป็นต้น
3.พ่อแม่ที่ให้ทางเลือก
พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกแบบประชาธิปไตย ปล่อยให้มีอิสระและขีดจำกัดที่มีขอบเขตพอเหมาะ จะปฏิบัติ 2 แบบ คือ กำหนดขอบเขตความพอดีให้เด็ก และให้เด็กมีทางเลือกภายในขอบเขตนั้น เช่น "ลูกซื้อของเล่นได้ แต่เลือกได้ในโซนนี้ที่ราคา 100 บาทเท่านั้นนะคะ" หากคุณเป็นพ่อแม่แบบนี้ สิ่งที่ลูกจะได้เรียนรู้ คือ
- ฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมตามความเหมาะสม แต่ไม่ใช่ทุกครั้งไป
- ลูกจะรู้ว่าทางเลือกของเขามีความสำคัญ
- ลูกจะเรียนรู้ว่าบางอย่างมาพร้อมกับความรับผิดชอบ
- ลูกจะเป็นเด็กเชื่อมั่นในตัวเอง
- ลูกจะรับฟังคนอื่นเป็น เป็นต้น