
เมื่อลูกต้องเข้าเรียน แม่อาจจะเป็นกังวลว่าลูกจะกินอาหารที่โรงเรียนได้ไหม จะมีปัญหาการกินจนลุกลามมาถึงการขับถ่ายหรือไม่ ก่อนเข้าเรียนมาลองปรับนิสัยการกินให้ลูก เพื่อให้ลูกกินง่าย และไม่มีปัญหาระบบขับถ่ายกันค่ะ
- เสริมของว่างระหว่างมื้อ
หลังจาก 1 ขวบ ลูกควรกินอาหารได้ครบ 3 มื้อ และอาจเสริมของว่างช่วงสาย และบ่ายให้อีกเป็น 2 มื้อ เพราะเด็กๆ ต้องการใช้พลังงานและรับสารอาหารมากขึ้น เพราะเป็นวัยที่กำลังวิ่งเล่น เจริญเติบโต แต่กระเพาะอาหารลูกอาจจะยังเล็ก ดังนั้นควรเสริมของว่างที่เป็นประโยชน์ให้กับลูก เช่น นมแพะ แซนด์วิช ผลไม้ ในระหว่างมื้อเพิ่มเข้าไปด้วยจะช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอกับการเสริมสร้างร่างกาย
- ขับถ่ายให้เป็นเวลา
เลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องผูก การฝึกลูกขับถ่าย นั่งส้วม ไม่มีเวลาแน่นอน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคน ส่วนใหญ่เริ่มได้ตั้งแต่ในช่วงขวบครึ่งถึงสองขวบ แต่ลองสังเกตด้วยว่าถ้าลูกมีปัญหาอึแข็ง ท้องผูก เบ่งจนหน้าดำหน้าแดง อาจจะต้องปรับเปลี่ยนอาหาร งดหรือเลี่ยงอาหารที่ทำให้อึแข็ง เช่น ข้าวกล้อง ช็อกโกแลต ชีส เพื่อให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ จึงค่อยฝึกขับถ่ายลูกให้เป็นเวลา ทำจนเป็นกิจวัตรเพื่อให้ร่างกายคุ้นชินด้วย เช่น ให้ลูกนั่งส้วมหลังมื้อเช้า หรือหลังดื่มนมทุกวัน
- เพิ่มผักผลไม้ในทุกเมนู
ผักและผลไม้มีเส้นใยหรือไฟเบอร์ที่ดีกับระบบขับถ่ายของลูกน้อย จึงควรฝึกลูกให้กินผักผลไม้ตั้งแต่เล็กๆ โดยเริ่มจากผักใบเขียวก่อน เพราะถ้าเริ่มจากผักสีแดง สีส้ม ที่มีรสหวานอาจทำให้ลูกไม่ยอมกินผักใบเขียวที่รสขมกว่า ที่สำคัญถ้าอยากให้ลูกกินอะไร พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างด้วย อยากให้ลูกกินผักได้ พ่อแม่ก็ต้องมีผักอยู่ในทุกๆ มื้ออาหาร นั่งกินไปกับลูกให้ลูกเห็นด้วยค่ะ จะช่วยให้ลูกกินง่ายขึ้น
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
น้ำเปล่าสะอาดที่ได้รับอย่างเพียงพอ จะช่วยให้ระบบย่อยและขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้นค่ะ ควรฝึกให้ลูกดื่มน้ำบ่อยๆ ก่อนเข้าเรียน โดยให้ลูกดื่มน้ำตั้งแต่ตื่นนอน หลังมื้ออาหาร ระหว่างวัน ถ้าลูกเริ่มเข้าเรียนควรให้ลูกมีกระติกน้ำติดตัวไว้เสมอเพื่อให้ดื่มหรือจิบระหว่างวัน ป้องกันร่างกายขาดน้ำ และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานดี
- ดื่มนมแพะทุกวัน
ควรให้ลูกดื่มนมแพะเป็นประจำ เพราะนมแพะมีสัดส่วนของโปรตีนแอลฟาเอสวันเคซีนซึ่งย่อยยากต่ำ และมีโปรตีนเบต้าเคซีนซึ่งย่อยง่ายในปริมาณสูง ทำให้นมแพะถูกย่อยและดูดซึมได้ง่าย ทำให้ลูกสบายท้อง ท้องไม่อืด และโปรตีน CPP ในนมแพะเป็นโปรตีนขนาดเล็ก ทำให้ย่อยง่าย จึงช่วยลดปัญหาอาการไม่สบายท้อง ท้องผูก ท้องอืดได้เป็นอย่างดี ดื่มแล้วสบายท้อง ขับถ่ายคล่อง
เรื่องการขับถ่ายของลูกเป็นเรื่องสำคัญนะคะ เพราะถ้าลูกขับถ่ายดี ไม่ท้องผูก เขาจะสบายตัว ร่าเริง และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาจนพัฒนาไปเป็นทักษะและความสามารถที่อาจจะทำให้พ่อแม่ทึ่งได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก นมแพะ DG ติดตามความรู้เรื่องนมแพะ การสร้างภูมิคุ้มกัน และวิธีส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ที่ www.dgsmartmom.com และ www.facebook.com/dgsmartclub

ก่อนที่ลูกจะเข้าโรงเรียน หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น พ่อแม่ควรเสริมทักษะความเข้มแข็งของจิตใจให้ลูกก่อนนะคะ เช่น การปล่อยให้ลูกได้พ่ายแพ้บ้าง
เพราะเด็กบางคนไม่เคยแพ้ พอไปอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นแล้วเล่นเกมแพ้ แข่งขันแพ้ ก็จะโวยวาย ร้องไห้ รับไม่ได้เลยก็มี ดังนั้นพ่อแม่มีหน้าที่สอนให้ลูกฝึกรับมือกับความแพ้ เพื่อเป็นเกราะป้องกันจิตใจเมื่อต้องไปอยู่สังคมใหม่ ๆ นะคะ
- ลูกควรรู้จักการพ่ายแพ้บ้าง
การให้ลูกแพ้ นั่นแปลว่าลูกจะได้พัฒนาทักษะการเผชิญความเครียด (coping skills) พ่อแม่เริ่มสอนลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เลย เช่น พ่อแม่เล่นตัวต่อ หรือจิ๊กซอว์ชนะลูก ให้ลูกรู้สึกว่าการแพ้เป็นเรื่องปกติที่คนจะต้องเผชิญ
- ลูกต้องรู้จักความสุขง่าย ๆ
สอนให้เป็นมิตร จับมือคนชนะได้ และยินดีเมื่อคนอื่นมีความสุข เวลาลูกมีความสุข คนอื่นก็จะยินดีเช่นกัน และบอกลูกว่าการแพ้ทำให้ลูกได้เรียนรู้ พ่อแม่ควรสอนลูกว่าเมื่อลูกแพ้ ลูกจะได้รู้ข้อผิดพลาด เช่น ลูกต่อจิ๊กซอว์ผิดตรงไหน ต่อแบบไหนง่ายกว่ากัน หรือ ลูกประกอบตัวต่อผิดตรงไหน ต่อแบบไหนฐานจะแข็งแรงกว่า แล้วประกอบสำเร็จได้ เป็นต้น
- รับรู้ความรู้สึกของคนแพ้
ก่อนลูกจะชนะใคร ลูกต้องได้เรียนรู้ความพ่ายแพ้ก่อน ให้รู้ว่ามันรู้สึกอย่างไร เพื่อให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อถึงเวลาที่ลูกชนะบ้าง ลูกจะได้แสดงออกอย่างมีน้ำใจ เพราะได้ลองสัมผัสประสบการณ์ที่คล้ายกันมาแล้ว
- สร้างความมั่นใจให้ตัวเองยามแพ้
สอนลูกว่าการแพ้ทำให้ลูกได้ฝึกการควบคุมตนเองและสร้างความมั่นใจใหม่ได้เสมอ เมื่อลูกยอมรับความล้มเหลวให้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแล้ว ลูกจะมีความพยายามไม่ให้ตัวเองแพ้อีก ให้ลูกค่อย ๆ ลองทำสิ่งที่พลาดให้สำเร็จ หรือลองทำใหม่ที่ถนัด
- ถามความรู้สึกของคนแพ้
เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรทำ ถามลูกว่าลูกมีโอกาสครั้งหน้า ถ้าให้ลองใหม่ ลูกจะลองทำอย่างไรให้เราทำสำเร็จได้ ลูกอยากปรับตรงไหนไหม เพื่อให้ลูกวางแผนว่าจะทำอย่างไรในครั้งต่อไป และพ่อแม่ควรช่วยเหลือลูกเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วย
วิธีรับมือเมื่อลูกล้ม
เมื่อลูกเพิ่งเจอความล้มเหลว ทำผิดพลาด หรือเผชิญกับอะไรบางที่น่าอึดอัดใจ นี่เป็นวิธีที่คนเป็นพ่อแม่อาจช่วยพวกเขาให้เรียนรู้และก้าวต่อไปได้
-
ชวนลูกนั่งลงด้วยกัน และทบทวนความรู้สึกตัวเอง ปล่อยให้ลูกรับรู้อารมณ์ในขณะนั้น โดยไม่ต้องพยายามสอนเพื่อหวังให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น
-
ชวนลูกคิดถึงจุดแข็งของตัวเอง และสิ่งที่ลูกสามารถทำได้ในครั้งต่อไป เพราะแค่แพ้ไม่ได้แปลว่าจบเกม
-
ใช้เวลาพูดถึงเรื่องการทบทวนความรู้สึก ลองถามลูกว่ารู้สึกดีอย่างไรระหว่างลองทำสิ่งใหม่ ๆ แม้ว่าจะไม่สำเร็จก็ตาม ลูกได้เรียนรู้อะไรบ้าง แล้วเป้าหมายต่อไปของลูกคืออะไร
การเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง เด็ก ๆ ที่ต้องอยู่บนรถนานขนาดนั้น ลูกอาจงอแง หรือเบื่อได้ ทางรักลูกจึงมีไอเดียดี ๆ มาฝากกับ 6 กิจกรรมที่ทำบนรถสำหรับเด็ก เวลาเดินทางไกล ให้ลูกสนุกและมีความสุขกับการเดินทางครั้งนี้
6 กิจกรรมที่ทำบนรถสำหรับเด็ก
-
Cartoon music for kids เลือกเรื่องที่น่าสนใจ หรือเป็นเรื่องโปรดของลูกนะคะ เปิดการ์ตูนให้ลูกดู เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย และสนุกไปกับการ์ตูนค่ะ การ์ตูนภาษาอังกฤษให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ พร้อมฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วยค่ะ
-
Vocabulary Game คุณพ่อคุณแม่เริ่มทายคำศัพท์คำง่าย ๆ ก่อนนะคะ เริ่มเกม แม่พูดว่า เรามาเล่นเกมทายคำศัพท์ ใครชนะจะได้รางวัล.. เพื่อเป็นแรงจูงใจ แถมได้ความรู้ภาษาอังกฤษให้ลูกด้วยนะคะ แมว ภาษาอังกฤษ สุนัข ภาษาอังกฤษ หรืออาจจะสลับให้ลูกเป็นฝ่ายถามพ่อแม่ แล้วให้พ่อแม่ตอบบ้างก็ได้ สนุกดีค่ะ
-
The game image เกมนี้ ต้องเป็นหน้าที่ของลูกกับแม่แล้วล่ะคะ เพราะพ่อต้องตั้งใจขับรถนะคะ โหลดแอพพลิเคชั่นเกมจับผิดภาพมาเล่นกันค่ะ สนุก ๆ ฆ่าเวลาได้พัฒนาสมองและสายตาอีกด้วย
-
Color Game เกมนี้เล่นได้ทั้งครอบครัวเลยค่ะ คุณพ่อหรือคุณแม่อาจเป็นคนตั้งโจทย์กันก่อน สีแดง ให้ทุกคนชี้ไปที่สีแดงที่ตัวเองหาเจอก่อน ห้ามซ้ำกัน ใครหาไม่เจอ คนนั้นเป็นคนตั้งโจทย์ต่อไปค่ะ ลูกจะรู้สึกท้าทายและสนุก จนลืมไปเลยว่าใช้เวลาอยู่บนรถมาแล้วอีกชั่วโมง

5. Province Game อันนี้ต้องให้ลูกที่โตขึ้นมาหน่อยนะคะ อาจเป็นการฝึกความจำเรื่อง จังหวัดไม่ซ้ำกัน เริ่มเกมจาก จังหวัดที่มีพยัญชนะ ก.ไก่ตัวแรก ใครแพ้ต้องร้องเพลง ช้างๆ แล้วทำท่าทางตามด้วยนะคะ แค่นี้ลูกก็หัวเราะ สนุกสมใจแล้วล่ะ
- Sing a song กิจกรรมที่น่าสนใจอีก 1 กิจกรรม คือการเปิดเพลงฟัง แล้วร้องเพลงร่วมกันค่ะ แต่ต้องเป็นเพลงยุคใหม่หน่อยนะคะ ที่สามารถร้องกันได้ทุกคน ไม่ใช่เปิดเพลงเด่า ยุคคุณพ่อคุณแม่ ลูกอาจไม่รู้จักแล้วนอนหลับไปได้ค่ะ การร้องเพลงด้วยกัน ได้หัวใจลูกไปเต็ม ๆ ค่ะ ลูกจะยิ้มกว้างและมีความสุขที่สุด อย่าลืมอัดวิดีโอไว้ดูกันที่บ้านด้วยนะคะ
ความสุขเกิดขึ้นง่าย ๆ จากครอบครัวของเราเองนะคะ อย่าให้มือถือเข้ามาแยกความสัมพันธ์ของครอบครัวเราได้ค่ะ

6 นิสัย ที่พ่อแม่ควร 'ลดลง' ถ้าอยากให้ลูกฉลาด ความจำดี เรียนรู้เร็วกว่านี้
เคยไหมรู้สึกว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ยังไม่ดีพอ เพราะนิสัยส่วนตัวหลายอย่างไปกระทบกับลูก ทั้งอารมณ์ คำพูด และการกระทำ
หากคุณพ่อคุณแม่กำลังทบทวนชีวิต ทบทวนบทบาทของการเป็นพ่อแม่อยู่ เราก็อยากแนะนำค่ะ ว่าอะไรบ้างที่ควรลดลง ถ้าอยากจะให้ลูกฉลาด ความจำดี เรียนรู้เร็วกว่านี้
6 พฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ต้องลดลง เพื่อลูก
- ลดการบ่น
เราเป็นพ่อแม่ที่ชอบบ่นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จุกจิก จู้จี้ตลอดเวลาหรือเปล่า ลูกตอบเราได้ค่ะ ลองถามลูกดู แม้จะยากหน่อยแต่ก็ควรลดลงบ้าง เพราะไม่มีใครที่ชอบคนขี้บ่นหรอกค่ะ
- ลดการใช้อารมณ์
ลดได้ลด เลิกได้ก็ทำเลยค่ะ เพราะการใช้อารมณ์ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ลูกก็ใจเสีย กลัวพ่อ กลัวแม่ บรรยากาศในบ้านก็ไม่น่าอยู่ แม้ลูกจะน่าโมโหแค่ไหนก็ใจเย็นๆและคุยกันดีๆ นะคะ
- ลดความโลเล
ลูกทำดีก็ใจดีสุดขีด ลูกทำพลาดก็ตวาดใส่ทันที เอาแน่เอานอนไม่ได้ หยุดพฤติกรรมนี้เลยนะคะ เพราะน่าสงสารลูกมากที่ต้องคอยเดาอารมณ์พ่อแม่ตัวเองไม่ถูก แถมบางครั้งต้องมาคอยรับอารมณ์ที่พกมาจากนอกบ้านอีกด้วย ต่อไปทำอะไรก็ให้สมเหตุสมผลเข้าไว้นะคะ
- ลดการติดมือถือ
พ่อแม่ทุกวันนี้ติดสมาร์ทโฟน ชอบโชว์ลูกในโลกโซเชียลมาก แต่ถ้าชีวิตจริงเริ่มไม่ค่อยได้สนใจลูก ควรลดค่ะ เพราะหากไม่อยากให้ลูกติดสมาร์ทโฟน หรือติดเกม พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยนะคะ
- ลดความคาดหวัง
อย่าไปคาดหวังในตัวลูกมาก จนคิดแทนลูก เพราะทุกคนล้วนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ให้ลูกได้เรียนรู้ รู้จักตัวเอง เลือกหนทางชีวิตของตัวเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยเป็นโค้ช น่าจะสุขมากขึ้นนะคะถ้าคิดแบบนี้
- ลดการกวดวิชาของลูกลง
การเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองมีอยู่รอบตัว พ่อแม่ไม่ควรให้ลูกเรียน เรียน เรียนและเรียนกวดวิชาอย่างเดียว จนแทบไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมอื่น ลองลดเวลาเรียนกวดวิชาของลูกลง แล้วใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกมากขึ้น แล้วคุณจะค้นพบความสุขที่แท้จริงค่ะ

เลี้ยงลูกแบบ "พ่อแม่รังแกฉัน" ส่งผลเสียกับลูกอย่างแรงเลยนะคะ ทั้งในปัจจุบัน และอาจส่งผลต่อลูกตอนโตด้วย
6 พฤติกรรมพ่อแม่รังแกฉัน ส่งผลเสียต่อลูกไปจนโต
พ่อแม่ย่อมรักลูกและมีวิธีเลี้ยงลูกที่แตกต่างกันไป แต่การเลี้ยงลูกในวันนี้จะส่งผลให้เขาเป็นคนที่เติบโตไปข้างหน้า เขาจะโตมาเป็นแบบใดขึ้นอยู่ที่การเลี้ยงดูเป็นส่วนใหญ่ ลองมาสำรวจตัวเองหน่อยค่ะว่าคุณกำลังเผลอเป็น "พ่อแม่รังแกฉัน" อยู่หรือเปล่า เพราะทั้ง 6 ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลร้ายแรงกับลูกมาก
6 พฤติกรรมของพ่อแม่รังแกฉัน
- รักลูกมากเกินไป ลูกของตนถูกทุกอย่าง ลูกของตนดีกว่าคนอื่นเสมอ ส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนเชื่อมั่นตนเองในทางที่ผิด ชอบดูถูกคน ชอบสร้างปัญหาแต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนสร้างปัญหา
- ตามใจลูกมากเกินไป พ่อแม่ยอมทุกอย่าง ไม่กล้าขัดใจลูกเลยสักนิด ผลคือลูกจะเอาแต่ใจ มักสร้างภาระให้สังคมเมื่อไม่ได้ดั่งใจ
- ไม่กล้าห้ามปรามสั่งสอน เมื่อลูกทำผิด พ่อแม่รู้อยู่แก่ใจว่าลูกทำในสิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่สอนลูก ปล่อยเรื่องไปเฉย ๆ ผลคือลูกสูญเสียสามัญสำนึก แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น และกลายเป็นนักเลงอันธพาล ระรานคนเขาไปทั่ว
- ไม่ยอมให้ลูกตัดสินใจด้วยตนเอง พ่อแม่มักที่คิดแทนลูก แม้จะรู้ว่าเขาอยากทำอะไรแต่มักจะให้ทำในสิ่งที่พ่อแม่อยากทำมากกว่า ผลคือลูกกลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไร ส่งผลให้ไร้ภาวะผู้นำ
- ไม่รู้จักยกย่องชมเชยลูกเมื่อเขาประสบความสำเร็จ ไม่เคยชมเรื่องการเรียน หรือในการทำกิจกรรมใดๆก็ตาม ผลก็คือลูกกลายเป็นคนใจคอคับแคบ เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีมีความสำเร็จ ลูกอาจมีพฤติกรรม หรือความรู้สึกอิจฉาคนอื่นนะคะ
-
ให้เงินลูกเพียงอย่างเดียว เอาเงินเข้าแก้ปัญหาทุกอย่าง แม้แต่เรื่องเล็กน้อยก็มักใช้เงินแก้ปัญหา ผลคือลูกจะไม่รู้จักคุณค่าของเงิน ผลาญเงินเก่ง ใช้จ่ายเงินสูงแต่กลับมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง
การเลี้ยงเด็กคนหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย พ่อแม่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ ให้ความรักเขาได้อย่างถูกต้อง ไม่รักลูกจนเกินไป จนไม่ให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเองเลย แบบนี้ไม่ดีแน่ ๆ ค่ะ ขอเพียงพ่อแม่ทุกคนตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยความรัก ความเหมาะสมแล้วนั้น เราเชื่อว่า ชีวิตของลูกคุณจะดีแน่นอนค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกบ้านนะคะ

ครอบครัวคุณแม่เนย โชติกา เป็นครอบครัวที่อบอุ่นที่สุดเลยค่ะ มีทั้ง น้องอคิณ ลูกชายคนโต และน้องสาวอย่าง น้องลลิน นั่นเอง แม่แอดมินได้ติดตามความน่ารักผ่านทางช่องทางออนไลน์ทุกวัน ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าคุณแม่เนยมีเคล็ดลับ การเลี้ยงลูกอย่างไรบ้าง วันนี้เราไปหาคำตอบมาให้แล้วค่ะ
6 วิธีเลี้ยงลูกให้น่ารัก อารมณ์ดี ฉบับคุณแม่เนย โชติกา
-
ทำชีวิตประจำวันให้ตรงเวลา เช่น เวลาอาบน้ำตอนเช้า ตอนเย็นก่อนนอน จะตรงเวลา เริ่มตั้งแต่ตอนเค้าตื่นนอน เปิดเพลงให้ฟัง เพลงที่มีทำนองสนุกสนานหน่อย ( เพลงพวกนี้เปิดให้ฟังตั้งแต่ตอนท้องแล้วค่ะเนยคิดว่าน่าจะมีส่วนเยอะเลย) ปิดแอร์ปรับสภาพร่างกายอุณหภูมิให้ปกติก่อนเอาน้องไปอาบน้ำ เอาเพลงไปเปิดให้ฟังตอนอาบน้ำด้วยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ร้องเพลงได้ก็ร้องไปด้วยค่ะ เนยเปิดเพลงเดิม ๆ หรือเพลงแต่งเองก้อได้นะคะ พูดประโยคเดิม ๆ ให้เค้ารู้ว่าถึงเวลาอาบน้ำแล้วค่ะ เช่น เนยชอบพูดว่า “ อคิณคนเก่งอาบน้ำป๋อมแป๋ม... “ แต่ร้องเป็นเพลงนะ ตอน 3 เดือนกว่าเค้ายิ้มเลยค่ะ เพราะชอบอาบน้ำมาก #เด็กรู้เรื่องเยอะกว่าที่เราคิดจริง ๆ ค่ะ
-
ปรับให้น้องแยกเวลากลางวันและกลางคืน โดยการที่ กลางวันทำห้องให้สว่างแม้ว่าเค้าจะหลับค่ะ (เนยไม่เลี้ยงลูกบนห้องนอนด้วย จะแยกได้เร็วขึ้นค่ะ) กลางวันให้กินเยอะ เล่นเยอะค่ะ (อันนี้ปรึกษาคุณหมอค่ะ คุณหมอบอกว่ากลางคืนเด็กต้องนอน ถ้าเค้าหิวเค้าจะตื่นเองค่ะ) ช่วงแรกอคิณตื่นนอนเหมือนนาฬิกาปลุกคือ ทุก 3 ชม. ตื่นมากินนม อุ้มเรอ กล่อมหลับ นั่นหมายความว่า อีก 2 ชม ตื่นอีกแระ แรกเกิด - 2 เดือนเค้าสะดุ้งและตื่นบ่อยค่ะ ต้องคอยเอามือจับตอนนอน บางทีสะดุ้งร้องแต่ไม่ได้หิวนะคะ ก็ต้องเอามาแตะ ๆ โอ๋ ๆ เค้าก็นอนต่อค่ะ แล้วเค้าจะตื่นมากินน้อยลงค่ะ อย่างที่บอก กลางวันกินเยอะเล่นเยอะ กลางคืนก็จะค่อย ๆ ตื่นช้าขึ้นจาก 3 เป็น 4 ,5 ,6 น้องนอน ตรงเวลา 2 ทุ่ม ตื่นช่วงตี 2-3 เข้าเต้า แล้วตื่นอีกที 6 โมงเช้าเลยค่ะ
- เนยให้เค้าเข้าเต้าด้วยท่านอนค่ะ แต่นอนหมอนสูงนิดนึง (เป็นการฝึกไม่ต้องอุ้มเค้าค่ะ เค้าจะนอนเองได้ แต่กอด ลูบหัวเค้านะคะ ให้เค้ารู้สึกปลอดภัยและอบอุ่น พอเค้าหลับไปสัก ชม ค่อยเอาหมอนออก จับนอนตะแคงสลับซ้ายขวา ให้หัวสวยค่ะ
-
เรื่องการนอนก็สำคัญค่ะ อาบน้ำอุ่นแล้วใส่ชุดนอนนุ่ม ๆๆ ให้เค้ารู้ว่าชุดแบบนี้นะ คือต้องนอนละ เปิดไฟสลัว เปิดเพลงกล่อม จับเข้าเต้า หลับปุ๋ยค่ะ ( ตื่นเช้ามาก็จะอารมณ์ดี เพราะนอนเต็มอิ่มค่ะ 6 -7 ชม ตื่นเช้าโมงเข้าเต้าอีกรอบ กอดกันกลม แล้วหลับต่อ ตื่น 8 โมงกว่าๆ และอาบน้ำกันค่ะ อาบน้ำเสร็จก็กินนมชุดใหญ่ค่ะ
-
กลางวันเนยให้น้องกินขวดค่ะ แต่นมแม่ล้วนนะคะ เราจะได้ไปทำงานได้ และพ่อเค้าก็ช่วยเลี้ยงได้ (เยอะเลย) กลางคืน-เช้า เต้าล้วนค่ะ เด็กเข้าเต้าก็จะอยู่กับอ้อมกอดแม่ อบอุ่นดีค่ะ
-
ยิ้ม หัวเราะ เล่นกับเค้าเยอะ ๆ นะคะ เค้ารู้เรื่องค่ะ อคิณมีงอแงบ้าง แต่ถ้ากินอิ่มนอนหลับ เค้าจะอารมณ์ดีค่ะ เด็กจะเปลี่ยนเรื่อย ๆ เราก็ต้องปรับจะลุ้นกันไปเรื่อย ๆ ค่ะ
แม่ ๆ คนไหนที่อยากลูกน่ารัก อารมณ์ดี ลองทำตามวิธีของแม่เนยดูนะคะ เพราะนอกจากเราจะได้พักผ่อนแล้วลูกน้อยจะไม่งอแง อารมณ์ดีอีกด้วย

ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ จากคุณแม่เนย โชติกาค่ะ

อย่าให้ใครว่าเราเลี้ยงลูกไม่เป็น...เลี้ยงลูกแบบไหนไม่ให้ลูกกลายเป็นคนที่ชอบทำร้ายผู้อื่น สิ่งที่พ่อแม่ต้องย้อนกลับไปดูตัวเองว่าเราเลี้ยงลูกถูกวิธีหรือเปล่า
6 วิธีเลี้ยงลูกไม่ให้ทำร้ายคนอื่น เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
1. ไม่รักลูกมากเกินไป รักลูกมากเกินเป็นที่มาของคำว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” ส่งผลให้ลูกกลายเป็นคนเอาแกใจ ไม่สนใจคนอื่น อยากได้อะไรก็ต้องได้ บางกรณียังกลายเป็นคนชอบดูถูกคน เป็นตัวปัญหา แต่ไม่ยอมรับว่าตนเป็นคนสร้างปัญหา
2. กล้าทำโทษเมื่อลูกทำผิด เพราะถ้าพ่อแม่ไม่กล้าห้ามปรามสั่งสอนเมื่อลูกทำผิด ผลที่ได้คือลูกกลายเป็นนักเลงอันธพาล แยกแยะถูกผิดดีชั่วไม่เป็น มองไม่เห็นเส้นแบ่งทางจริยธรรม โดยการทำโทษไม่ใช้การใช้ความรุนแรง อาจเป็นการสอน พุดคุย ให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผล
3. สอนให้ลูกรู้จักพึ่งตนเอง พ่อแม่หลายคนกลัวลูกลำบาก จึงยอมเหนื่อยแทนลูก เป็นการทำร้ายลูกเพราะเมื่อเขาโตขึ้นเขาจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง จะรอให้คนอื่นมาช่วยเหลืออย่างเดียว
4. พ่อแม่ไม่ทำแต่งานสังคมสงเคราะห์นอกบ้าน เพราะลูกต้องการความอบอุ่นเช่นกัน หากพ่อแม่ไม่สนใจลูกจะกลายเป็นเด็กที่ขาดความรัก ความอบอุ่น ไม่พร้อมจะแบ่งปันความรัก และความอบอุ่นให้ใคร
5. ชมเชย หรือให้กำลังใจลูกบ้าง เพราะการไม่ชื่นชมยินดีเมื่อลูกประสบความสำเร็จเลย ลูกกลายเป็นคนใจคอคับแคบ ยกย่องชมเชยใครไม่เป็น
6. สอนให้ลูกรู้จักบาปบุญคุณโทษ เพื่อที่เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ จิตใจอ่อนโยน รู้จักที่จะช่วยเหลือผู้อื่น

6 สิ่ง ที่ต้องฝึกลูกอยู่ให้เป็น แล้วจะเอาตัวรอดได้ ไม่คอยแต่พึ่งพาผู้อื่น
การที่ลูกจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ พึ่งพาตัวเองเป็น ก็ต้องอาศัยการเลี้ยงดูเชิงบวกมาตั้งแต่เล็ก ๆ ที่มีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง คอยสอน อบรม ให้ความรัก เพื่อลูกเป็นคนน่ารัก รู้จักวางตัว ยิ่งทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีที่มาแรงและมาเร็ว ทำให้ต้องปรับตัวอย่างมาก และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ลูกไม่สามารถอยู่คนเดียวได้ พึ่งพาตัวเองไม่ได้ ต้องคอยพึ่งพาพ่อแม่ เพื่อน ไปจนเติบโตนั่นเอง แบบนี้มาสอนให้ลูกอยู่เป็นกับทั้ง 6 อย่าง ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตกันเลยค่ะ
6 วิธีการเลี้ยงลูกให้อยู่เป็น กับสิ่งรอบตัว
1. ฝึกลูกอยู่กับตัวเองให้เป็น
เมื่อเริ่มเห็นแววว่าลูกชอบทำอะไร พ่อแม่ต้องคอยส่งเสริมไปให้สุด เพื่อเป็นการสอนให้ลูกรู้จักตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิต รู้ว่าตัวเองมีความถนัด ความชอบ และความสามารถในด้านใด เช่น ลูกชอบวาดรูป ก็ส่งเสริมให้เรียนศิลปะเพิ่มเติม ลูกชอบดนตรี ก็ซื้อเครื่องดนตรีให้และส่งเรียนเพิ่มเติมในสิ่งที่ลูกสนใจ เพราะการที่ลูกจะรู้จักตัวเอง ลูกต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ลองผิดลองถูก เพื่อนำไปสู่การรู้จักตัวเอง เป็นรากฐานสำคัญในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับตัวเอง

2. อยู่กับผู้อื่นให้เป็น
พ่อแม่ต้องเข้าสังคมเพื่อฝึกลูกให้อยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เช่น ไปเจอญาติผู้ใหญ่ ไปบ้านเพื่อพ่อแม่ หรือ พาลูกไปทำกิจกรรมที่ได้เจอผู้คน เช่น ค่ายสิ่งแวดล้อม ศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็ก แต่ในเด็กบางคนอาจไม่ชอบเข้าสังคม แต่ก็ต้องพาไป เพื่อให้รู้จักการวางตัวกับผู้ใหญ่ เพื่อน หรือคนที่อายุน้อยกว่า เป็นต้น อย่างน้อยลูกก็รู้จักการปรับตัว รู้จักวางตัว กำหนดใจให้เหมาะสมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ให้เกียรติผู้อื่น มีมารยาท อ่อนน้อมถ่อมตนเมื่อเจอผู้ใหญ่
3. อยู่กับธรรมชาติให้เป็น
พ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกเรื่องธรรมชาติและมนุษย์ ให้คำแนะนำว่าลูกควรจะอยู่อย่างไรกับธรรมชาติ ยกตัวอย่าง พาไปผจญภัยป่าเขา น้ำตก ทะเล สอนลูกเรื่องการทิ้งขยะให้เป็นที่ การไม่ทำลายธรรมชาติ การทำเพื่อส่วนรวมเรื่องลดสภาวะโลกร้อน รวมถึงการใช้พลังงานธรรมชาติทุกชนิดอย่างรู้คุณค่าและประหยัด เพื่อให้ลูกมีจิตใจอ่อนโยน ทำเพื่อส่วนรวม และไม่เห็นแก่ตัวเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กเล็กกันได้เลย

4. อยู่ที่ไหนก็ได้
เคยไหม เด็กไม่มีหมอนใบนี้นอนไม่ได้ ไม่มีจานใบนี้ไม่กินข้าว ไม่ไปทัศนศึกษาถ้าไม่มีพ่อแม่ เป็นต้น กรณีแบบนี้เพราะลูกไม่ถูกฝึกให้ยืดหยุ่น ไม่สามารถอยู่ที่ไหนได้ถ้าไม่เป็นไปตามที่ใจอยากได้ ในยุคนี้มีความจำเป็นมาก ที่จะฝึกให้ลูกอยู่ที่ไหนบนโลกนี้ก็ได้โดยไม่มีพ่อแม่ ไม่มีวัตถุยึดติด ควรฝึกทักษะให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง ให้ลูกรู้จักความลำบาก ให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด มั่นใจในตัวเอง ฝึกให้มีทักษะเรื่องการอยู่รอด ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพด้วย เช่น ฝึกให้กินข้าวเอง ให้เลือกเสื้อผ้าเอง ให้นอนเอง ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ เป็นต้น
5. อยู่กับเทคโนโลยีให้เป็น
โลกยุคดิจิทัลเต็มไปด้วยเทคโนโลยี เด็กที่เกิดมาในยุคนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเด็ก Digital Native (พลเมืองยุคดิจิทัล) การฝึกให้ลูกรู้เท่าสื่อ ใช้สื่อดิจิทัลให้เป็น ไม่ใช่เป็นทาสของเทคโนโลยี เพราะเด็กยุคนี้จะพึ่งพาเทคโนโลยีแทบจะตลอดเวลา และมีแต่ความสะดวกสบายล้อมรอบตัว จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นถึงข้อดีข้อเสีย และมีกติกาเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยของลูก เช่น เล่นเกมได้แต่พ่อแม่ต้องได้เล่นด้วย จำกัดเล่นวันละ 3 ชั่วโมง และพูดคุยกันหลังเล่นมือถือว่าวันนี้ใช้กูเกิ้ลทำอะไรบ้าง เป็นต้น
6. อยู่แบบมีคุณค่า
ฝึกให้ลูกรักและเคารพในตัวเอง ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักตัวเอง มีความถนัดอะไร ลูกสามารถทำอะไรได้บ้าง ที่เก่งและทำได้ดี เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง เช่น พาลูกไปประกวดการวาดภาพ หลังจากเรียนและฝึกมานาน พาลูกไปแสดงดนตรีหลังจากฝึกมานาน หรือพาไปทำจิตอาสาช่วยเหลือผู้อื่นตามที่วัยของลูกทำได้ เมื่อลูกรู้ว่าตัวเองเก่งอะไร ทำอะไรได้บ้าง ลูกมีความสุขกับชีวิตของตัวเองให้ได้ ไม่ต้องรอให้ใครมาเติมเต็ม และลูกจะอยู่แบบเห็นคุณค่าของตัวเอง และเห็นคุณค่าของผู้อื่นด้วย
6 ข้อนี้ ทำไม่อยากเลยใช่ไหมคะ เพียงเอาใจใส่ ให้ความรัก และคอยอบรมสั่งสอนลูก เพียงเท่านี้ก็ช่วยส่งเสริมลูกให้รู้จักตัวเอง และอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างมีความสุขด้วยตัวเองแล้ว

สมัยนี้คู่แต่งงานหลายคู่พอแต่งงานแล้วก็ตัดสินใจมีลูกแค่คนเดียว เพราะอยากทุ่มเททุกอย่างให้ลูกอย่างเต็มที่ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจ และต้องการอยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด
มาดูคำแนะนำสำหรับใครที่ต้องการเลี้ยงลูกคนเดียวให้ดีที่สุดกันค่ะ
6 เทคนิคเลี้ยงลูกให้ดี เมื่อตั้งใจมีลูกคนเดียว
1.ให้ลูกได้พบปะกับเด็กคนอื่น ๆ
เพราะไม่มีพี่น้องให้ได้เล่นด้วย จึงอาจทำให้เด็ก ๆ ขาดเพื่อนวัยเดียวกัน ดังนั้นในช่วงก่อนเข้าเรียน อาจจะต้องพาลูกไปรู้จักเรียนรู้เจอกับเด็ก ๆ ในวัยเดียวกันบ้างเพื่อให้ลูกได้ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ เช่น อาจจะพาไปเล่นที่สนามเด็กเล่น พาไปพบปะเพื่อน ๆ ที่มีลูกวัยเดียวกับเรา หรือไปรวมญาติในงานเทศกาลต่าง ๆ แล้วเมื่อพอโตเข้าโรงเรียนก็จะทำให้เขาปรับตัวได้ดีขึ้น และไม่ต้องห่วงค่ะ เพราะว่าเขาจะมีเพื่อน ๆ มากขึ้นเองตามวัย
2.สอนลูกให้รู้จักวางตัว
เด็กน้อยที่เป็นลูกคนเดียวของครอบครัวมีโอกาสที่จะกลายร่างเป็นจอมบงการสูง นั่นทำให้เขากลายเป็นเด็กที่พร้อมจะก้าวล่วงเข้ามาในเรื่องส่วนตัวของพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ หากนิสัยนี้ติดตัวไปในอนาคต อาจทำให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่น่าคบได้ พ่อแม่จำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งให้ลูกได้รู้ว่า จุดใดที่ลูกไม่ควรก้าวเข้าไปยุ่มย่ามในชีวิตของคนอื่น การที่เด็กได้เรียนรู้ถึงเส้นแบ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเข้าใจว่าชีวิตของคนอื่น ๆ ก็มีเขตที่เขาต้องให้ความเคารพด้วยเช่นกัน
3.สอนลูกให้รับผิดชอบ
ถึงแม้จะเป็นลูกคนเดียว แต่พ่อแม่ก็ไม่ควรเอาใจจนลูกทำอะไรเองไม่ได้ เมื่อถึงวัยที่เหมาะสมก็ควรสอนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ตัวเอง มอบหมายงานบ้านให้รับผิดชอบ เพื่อให้ลูกเรียนรู้การช่วย ความมีน้ำใจ และความรับผิดชอบ
4.ไม่จับผิดลูก
ในบ้านที่มีกัน 3 คนพ่อแม่ลูก หากพ่อแม่ร่วมมือร่วมใจกันจับผิดลูก เด็กน้อยคงรู้สึกหัวเดียวกระเทียมลีบ ในกรณีนี้พ่อแม่ต้องใจกว้างพอที่จะยอมรับว่า ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นได้ และเป็นสิ่งที่ลูกต้องเรียนรู้ อย่าทำให้ลูกรู้สึกเหมือนพ่อแม่รวมหัวกันกลั่นแกล้งเขาเลย หากพ่อแม่ต้องการวางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ก็ควรทำด้วยความรักและความเข้าใจในตัวลูก เพราะในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะไปทำลายความมั่นใจในตัวลูกของคุณในที่สุด
5.สอนลูกให้ประหยัด อย่าสปอยล์ลูก
การที่พ่อแม่ซื้อของเล่นให้บ่อย ๆ ตามที่ลูกเรียกร้อง อาจทำให้ลูกน้อยที่น่ารักของคุณกลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักพอ อยากได้ของเล่นใหม่ ๆ ตลอดเวลา จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องระวังไม่ให้ความรักความทุ่มเทของตนเองกลายเป็นการสปอยด์ลูกให้เสียคนในที่สุด
6.ฝึกลูกให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง
ในเมื่อลูกไม่มีพี่น้องไว้คอยช่วยเหลือในอนาคต เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องฝึกให้เขารู้จักรับผิดชอบ และช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อโตขึ้น ซึ่งทำได้โดยการให้เขาเรียนรู้จากความผิดพลาด พ่อแม่ไม่ต้องลงไปช่วยในทุกกรณี หรือจะลงไปช่วยก็ต่อเมื่อลูกขอความช่วยเหลือ

6 เรื่องที่อย่าบังคับลูก ถ้าลูกยังไม่พร้อม
เชื่อว่าความหวังดีหลายอย่างของพ่อแม่ กลับกลายเป็นดาบที่มาทิ่มแทงลูกน้อยให้เจ็บปวดโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับการบังคับลูกหลายๆ เรื่องเพื่อปรับพฤติกรรมให้ได้ตามที่พ่อแม่คาดหวัง แต่ด้วยความเป็นเด็กพ่อแม่ควรมีวิธีในการฝึกหัด และค่อยๆ สอนลูกๆ แทนวิธีการบังคับซึ่งอาจส่งผลเสียกับพฤติกรรมของลูกมากกว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่พ่อแม่ไม่ควรบังคับ ฝืนใจลูกจนเกินไปมาลองดูกันค่ะ
-
อย่าบังคับให้ลูกนอน ช่วงแรกๆ ของการฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลานั้น ต้องยืดหยุ่น อย่าบังคับให้ลูกนอน แต่อาจใช้เทคนิคอื่นๆ แทน เช่น พาแกไปอยู่ในมุมเงียบๆ (หรือบนเตียงแกก็ได้) ห่างไกลจากสิ่งเร้าทั้งหลาย โอบอุ้มแกไว้ เล่านิทาน หรือเปิดเพลงคลอเบาๆ ให้แกรู้สึกว่ากล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ลูกก็จะไม่ต่อต้าน เพราะไม่รู้สึกว่าวิธีปฏิบัตินี้เป็นการบังคับแต่กลับรู้สึกว่าพ่อแม่รัก
-
อย่าบังคับให้ลูกกิน สำหรับเด็กที่เริ่มกินอาหารเสริม และมีพัฒนาการการกินที่ดีขึ้นจากช่วงแรกกิน 2-3 คำก็เป็น 5-6 คำ จนถึงครึ่งถ้วย อย่างนี้ต้องชื่นชมลูก สิ่งสำคัญถ้าลูกกินได้ไม่กี่คำแล้วไม่กินต่อ อย่าตำหนิ อย่าดุ หรือคะยั้นคะยอให้กินจนหมดถ้วย และไม่ควรบังคับลูก เพราะอาจกลายเป็นความทรงจำที่เลวร้าย ส่งผลให้เป็นคนกินยากได้
-
อย่าบังคับให้ลูกเรียน เชื่อว่าหลายครอบครัวหวังดีกับลูกๆ และวาดฝัน ตั้งความหวังกับอนาคตของลูกๆ กันไว้ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน ทำให้หลายคนพยายามอยากให้ลูกเรียนในสิ่งที่พ่อแม่หวัง ซึ่งหากลูกๆ เห็นคล้อยเห็นดีเห็นงามด้วยก็สบายไป แต่ถ้าลูกเกิดไม่ชอบแต่ทำไปเพราะความคาดหวังของพ่อแม่ก็อาจจะทำให้เขากลายเป็นเด็กมีปัญหา หรือเก็บกดได้ ดังนั้นทางที่ดีควรหมั่นสังเกตว่าลูกชอบเรียนในวิชา หรือสาขานั้นๆ จริงไหม ควรใช้วิธีพูดคุยสร้างเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้พ่อแม่ลูกเห็นพ้องไปในแนวทางเดียวกันอย่างสมัครใจ แต่หากลูกมีเป้าหมายของตัวเองอย่างแน่วแน่ พ่อแม่ควรเป็นฝ่ายสนับสนุน และคอยให้กำลังใจช่วยเหลือเขาดีกว่าค่ะ
-
อย่าบังคับให้ลูกแบ่งปัน ต้องค่อยๆ สอน ค่อยๆ อธิบาย เราเป็นผู้ใหญ่ยังหวงของที่มีค่ากับเราเลย สำหรับเด็กอย่ามองว่าเป็นแค่ของเล่นหรือแค่ขนม เพราะมันคือของมีค่าสำหรับเขาเช่นกัน ลองบอก “หนูจะเล่นอีกกี่นาทีดี แล้วแลกกันนะ” หรือ “รอเพื่อนเล่นเสร็จก่อนเราค่อยเล่น ตอนนี้เล่นอันนี้ก่อนดีไหมคะ” ของเล่นใหม่ๆแปลกๆ มักจะล่อความสนใจได้เสมอ
-
อย่าบังคับลูกให้ขอโทษ การบังคับลูกให้ขอโทษ ทั้งที่เขาไม่รู้สึกผิดจริงๆ หรือเขาไม่ได้ทำผิดแต่โดนบังคับ จะทำให้การขอโทษนั้นสูญเปล่า และไม่เกิดความเข้าใจในการกระทำที่แท้จริง จะยิ่งทำให้เขารู้สึกต่อต้านและไม่เชื่อฟัง ทางที่ดีควรปลูกฝังให้เขารู้สึกเข้าใจ ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น จะทำให้ลูกเป็นคนละเอียดอ่อน และรู้ถึงการกระทำของตัวเองเวลาทำให้คนอื่นโกรธ หรือเสียใจ
หากลูกไม่ยอมขอโทษ เวลาทำผิดควรสอนอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยความใจเย็น ว่าการขอโทษหรือการแสดงความเสียใจเป็นสิ่งที่ควรกระทำ และไม่น่าอาย เพราะทุกคนทำผิดพลาดได้ และถ้าลูกไม่ได้ทำผิดก็ไม่ควรบังคับเคี่ยวเข็ญเพื่อให้เขาต้องขอโทษในเหตุการณ์ที่เขาไม่ได้ทำเพราะเหมือนเป็นการบีบบังคับให้เขาไม่ซื่อสัตย์กับความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง
- อย่าบังคับให้ลูกเลิกเล่นเกม เลิกเล่นอินเทอร์เน็ต สมัยนี้การบังคับไม่ได้ผลแน่นอน ถ้าถึงเวลาที่ลูกอยากใช้งาน เราควรให้เขาได้ใช้งาน แต่คอยระวังให้อยู่ในสายตาแทนการบังคับ กำหนดเงื่อนไขเวลา และกฎ กติกาในการใช้งาน เพราะถ้าบังคับลูก เขาอาจจะแอบพ่อแม่ใช้งานเอง และตอนนั้นก็คงจะยิ่งลำบากในการดูแลสอดส่อง
7 ข้อ ทำความเข้าใจ หากอยากพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก
การพาลูกไปพบจิตแพทย์เด็ก เป็นข้อดีที่ลูกจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น หากครอบครัวเปิดใจว่าการพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายถึงลูกจะเป็นโรคทางประสาท แต่เพื่อเป็นการป้องกัน หรือชะลอความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิต และพัฒนาการบกพร่องของลูกในอนาคตได้
มาดู 7 ข้อ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจ
- จิตแพทย์เด็กตรวจวินิจฉัยอะไรบ้าง
ปัญหาพฤติกรรม เช่น ซนอยู่ไม่นิ่ง ก้าวร้าว พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ปัญหาอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิด อารมณ์เปลี่ยนแปลง ปัญหาการเรียน เช่น อ่านเขียนไม่ได้ ไม่ตั้งใจเรียน ผลการเรียนตก ปัญหาพัฒนาการ เช่น พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารบกพร่อง ทักษะด้านสังคมบกพร่อง
- ให้ปรับมุมมองใหม่ ด้วยการคิดว่าพาลูกพบจิตแพทย์เด็ก ไม่ได้แปลว่าลูกจะป่วยทางจิตเป็นโรคประสาทแต่อย่าใด แต่หมายถึงว่าพ่อแม่ใส่ใจในด้านจิตใจและความเป็นไปของลูก
- ลูกมีการเติบโตเปลี่ยนแปลง ดังนั้น การที่พ่อแม่ใส่ใจดูแลเฝ้าระวัง หรือพามาพบหมอตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อเห็นปัญหา จะช่วยป้องกันและชะลอความรุนแรงของปัญหาสุขภาพจิตและพัฒนาการบกพร่องของลูกในอนาคตได้

- หากพ่อแม่สงสัยอะไร ควรพาลูกมาหาหมอ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะบางปัญหาปล่อยไว้นานจะยิ่งแก้ยาก ยิ่งถ้าเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการแล้ว อาจเลยช่วงหน้าต่างแห่งโอกาส ซึ่งเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ อย่างน้อยถ้ามาแล้วหมอบอกว่าไม่เป็นไรพ่อแม่จะได้สบายใจ
- เตรียมสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยของแพทย์ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมไล่เรียงประวัติของลูกตามช่วงวัย ทั้งด้านพัฒนาการ อาการต่างๆ หรือเอกสารต่างๆ เช่น สมุดบันทึกสุขภาพและพัฒนาการ สมุดรายงานผลการเรียน ใบรายงานพฤติกรรมจากครู สมุดการบ้าน ประวัติการรักษาเดิม ยาเดิม เป็นต้น
- การเตรียมตัวลูกก่อนมาพบหมอ เป็นเรื่องสำคัญมาก ควรบอกลูกแบบตรงไปตรงมา ว่าพาเขามาหาหมอด้วยเรื่องอะไร หรือเป็นห่วงเขาเรื่องอะไร การไปหลอกลูกจะทำให้หมอทำงานยากขึ้นลูกจะสูญเสียความไว้วางใจ และอาจไม่ยอมมาตามนัดอีก หากพ่อแม่คิดว่าบอกตรงๆ แล้วเขาไม่ยอมมาแน่ๆ พ่อแม่อาจใช้วิธีมาคุยเบื้องต้นกับหมอก่อน ว่าจะมีวิธีบอกลูกและดูแลลูกเบื้องต้นอย่างไร
- เปิดใจกว้างๆ ในการรับฟัง พ่อแม่บางท่านเลือกจะฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากจะได้ยิน ทำให้เกิดอคติไม่ยอมรับ และไม่เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยลูก หากพ่อแม่สงสัยไม่แน่ใจก็มีสิทธิ์ที่ถามหมอแบบตรงไปตรงมา หรือหาความเห็นที่สองจากหมอท่านอื่นได้
หากอยากให้ลูกมีพัฒนาการทางสมองและอารมณ์ที่ดีขึ้น อย่าไปสนใจเสียงคนอื่นที่ไม่ใช่ครอบครัว พาลูกไปพบจิตแพทย์เพื่ออนาคตที่ดีของลูกเถอะค่ะ
ข้อมูลจาก : thaichildpsy

ปัจจุบันภาษาเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากเลยนะคะ ถ้าเด็กคนไหนเก่งภาษาแล้วล่ะก็ เหมือนได้ใบเบิกทางสู่อนาคตที่ดี เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ลูกของเราได้รับโอกาสได้งานดีๆ เงินเดือนสูงๆ และที่สำคัญสามารถใช้ทักษะทางภาษาเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ด้วย คุณแม่คุณพ่อต้องมาให้ความสำคัญเรื่องภาษาของลูกตั้งแต่ยังเด็กๆ เพราะเราสามารถเสริมทักษะภาษาของลูกได้แต่อายุยังน้อย ด้วย 7 ทักษะง่ายๆ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกกันนะคะ
-
อ่านหนังสือให้ลูกเห็นอยู่เสมอ ๆ ใช้คำพูดที่ถูกต้องและเข้าใจง่าย มีมุมหนังสือเป็นมุมโปรดที่คุณพ่อคุณแม่จะพาลูกไปนั่งทำกิจกรรมด้วยกัน รวมถึงการชักชวนให้ลูกอ่านหนังสืออยู่เสมอๆ เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านที่จะติดตัวไปจนถึงตอนโตค่ะ
-
ผลัดกันเล่าเรื่องที่เจอในแต่ละวัน กิจกรรมนี้อาจดูธรรมดา แต่รู้ไหมว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้รู้ถึงความสามารถด้านภาษาของลูกได้ดีทั้งเรื่องการพูดชัดถ้อยชัดคำ การเรียงลำดับเหตุการณ์ การเรียบเรียงคำพูด การคิดก่อนพูด การเลือกใช้คำต่างๆ รวมไปถึงยังช่วยทำให้เราเข้าถึงความรู้สึกของลูกในแต่ละวันด้วยค่ะ
-
ร้องเพลงภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาไทยง่ายๆ หรือภาษาที่ลูกสนใจ เพื่อสร้างความคุ้นชินให้กับหูของเค้า เมื่อถึงเวลาที่ได้ลงมือเรียนเค้าจะจดจำได้ถึงสำเนียง และวิธีการออกเสียงที่ถูกต้อง การเรียนรู้คำศัพท์จากเพลงจะช่วยให้ลูกจำได้ง่ายขึ้นกว่าการสอนแบบท่องจำ เพราะความสนุกจะช่วยให้ลูกเปิดใจรับและจำมากกว่าการถูกบังคับให้ท่องคำศัพท์ค่ะ
-
พ่อแม่ต้องพยายามพูดให้ถูกสำเนียงที่สุด เพราะเด็กวัย 1-6 ขวบอยู่ในช่วงชอบเลียนแบบ เค้าจะจดจำทุกอย่างที่เราทำ และทำตามกลับมา ซึ่งถ้าเราเป็นตัวอย่างที่ถูกต้องให้เค้าได้เห็นแต่แรก พื้นฐานของลูกน้อยก็จะเด่นเหนือเพื่อนคนอื่น ๆ ในชั้นเรียนแน่นอน
-
เริ่มจากการพูดประโยคใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน เช่น ยืน นั่ง นอน กิน เดิน อาบน้ำ แต่งตัว ประโยคทั่วไปที่จะทำให้เค้าเก่งภาษาขึ้นมาได้ ความเคยชินจะช่วยให้ศัพท์ต่าง ๆ ฝังลึกลงไปในสมอง และพร้อมนำมาใช้งานทุกเวลาที่ต้องการ
-
หนังสือเสริมพัฒนาการที่มีสีสันสะดุดตา หรือภาพสวยงาม น่ารัก อย่าลืมนะคะว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อเสมอไป ถ้าเราทำให้เค้าชอบได้ เค้าก็จะอยู่กับมันได้นาน
-
การเรียนรู้ภาษาสามารถทำได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงบ้าน ระหว่างทางที่รับเค้ากลับมาจากโรงเรียน หรือขณะเดินเล่นที่ห้าง เราอาจจะชี้ให้เค้าทายว่าของชิ้นนั้นคืออะไร เพื่อเพิ่มคลังคำศัพท์ใหม่ ๆ ให้กับเจ้าตัวน้อย แค่นี้ก็ได้รู้อะไรเพิ่มอีกเยอะแล้ว
ทักษะด้านภาษาจะเกิดขึ้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปค่ะ คุณแม่ควรใช้ความสม่ำเสมอในการกระตุ้นและส่งเสริม ไม่ควรเร่งรัดหรือกดดัน เพราะอาจจะยิ่งทำให้ลูกไม่กล้าแสดงความสามารถด้านภาษาออกมาได้โดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็น ลองใช้วิธีปล่อยให้ลูกเรียนรู้ และเราคอยสนับสนุน หากลูกสามารถพัฒนาทักษะด้านภาษานี้ได้ จะเป็นสิ่งที่ติดตัวไปจนโตและสามารถพัฒนาไปใช้ควบคู่กับทักษะอื่นๆ ได้ไม่ยากแน่นอนค่ะ