การอ่านนิทาน และการฟังนิทาน ของเด็กวัยอนุบาล ไม่ใช่แค่เรื่องของความเพลิดเพลิน สร้างจินตนาการ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่นิทานยังมีประโยชน์กว่านั้นค่ะ เพราะนิทานช่วยให้เขาได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาอย่างสนุกสนานอีกด้วย
การเล่านิทานให้ลูกฟังบ่อยๆ นอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะการฟัง การพูด กล้าแสดงออก ช่วยพัฒนาการด้านอารมณ์ของเด็กรับรู้อารมณ์ทางด้านความรัก ความอบอุ่น ความเอาใจใส่ ความสนใจใคร่รู้แล้ว การเล่านิทานยังช่วยฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้กับเขาอีกด้วย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูสามารถช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาของเด็กวัยอนุบาลได้ไม่ยาก เริ่มที่...
- เลือกเนื้อเรื่องที่มีการกำหนดสถานการณ์ที่เป็นปัญหา หรือยุ่งยากให้กับตัวละคร เมื่อตัวละครไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ครูหรือพ่อแม่ควรตั้งคำถามให้เจ้าตัวเล็กที่นั่งฟังตาแป๋วอยู่ ได้ใช้ความคิด หาทางแก้ปัญหา เพื่อช่วยตัวละครในนิทานดำเนินเนื้อเรื่องต่อให้จบ
เช่น มีลูกหมูสามตัว ปลูกบ้านคนละหลัง หลังแรกทำขึ้นจากฟางข้าว หลังที่สองทำขึ้นจากไม้ หลังที่สามทำจากปูน หนูคิดว่าบ้านหลังไหนแข็งแรงที่สุดคะ? เป็นต้น
- เตรียมคนเล่าและคนฟังนิทาน หลังจากเลือกเรื่องที่เหมาะสมได้แล้ว ให้ทำความเข้าใจในเนื้อเรื่อง ตัวละคร ลีลาอารมณ์ เรียงลำดับเหตุการณ์ ฝึกการใช้น้ำเสียงที่มีหนักเบาตามความหมายของคำและข้อความ ทำเสียงสนทนาตามธรรมชาติ เช่น เสียงผู้ชาย ห้าวใหญ่ เสียงผู้หญิง นุ่ม แหลมเล็กน้อย เสียงเด็ก แหลม สดใส เสียงคนแก่ อยู่ในลำคอ สั่นเครือ ฯลฯ
บทสนทนาอาจใช้ภาษาถิ่นหรือใช้คำคุ้นที่เด็กเคยชิน อย่าลืมว่าสุดท้ายของการเล่านิทานทุกครั้ง ควรมีการสรุปเรื่องด้วย เกี่ยวประเด็นสำคัญ ลักษณะตัวละคร ความรู้และสิ่งที่ได้จากเรื่อง เพื่อให้เขาได้คิดทบทวน และเก็บข้อความรู้จากนิทานเป็นการย้ำเตือนค่ะ เรามาเตรียมคนฟังตัวน้อยๆ ให้พร้อมกันก่อนดีกว่าค่ะ
วิธีเตรียมคนฟังตัวน้อย ๆ ให้พร้อม
- ใช้สถานที่ได้ทั้งนอกห้องหรือในห้อง
- ก่อนเล่าต้องตกลงกับเจ้าตัวเล็กว่า ระหว่างเล่านิทานนั้นต้องไม่มีการพูดคุย ส่งเสียงดัง ไม่ลุกขึ้นยืนหรือวิ่งเล่น เพื่อให้อยู่ในระเบียบวินัยในขณะฟังนิทานค่ะ
- ถ้าเจ้าตัวเล็กมีจำนวนหลายคนก็ให้นั่งล้อมวงหน้าครูหรือพ่อแม่
- จัดที่นั่งเจ้าตัวเล็กกับครูหรือพ่อแม่ให้ใกล้ชิดกัน โดยครูหรือพ่อแม่อาจนั่งสูงกว่าเจ้าตัวเล็ก เล็กน้อย เพื่อสามารถแสดงภาพในหนังสือ หรือแสดงสื่อประกอบการเล่าในระดับสายตาเจ้าตัวเล็ก
- มีแสงสว่างเพียงพอ อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีเสียงหรือกลิ่นอันไม่พึงประสงค์รบกวน
- ใช้สื่อประกอบ จะช่วยให้การเล่านิทานมีชีวิตชีวาและน่าสนใจมากขึ้น ครูหรือพ่อแม่จึงควรเลือกใช้สื่อที่มีลักษณะเป็นรูปธรรม กระตุ้นให้เจ้าตัวเล็กใช้จินตนาการตามประสบการณ์ของเขาให้มากที่สุด เช่น หนังสือ ฉาก หุ่น ฯลฯ โดยการสร้างสื่ออย่างง่ายหรืออาจจะให้เจ้าตัวเล็กร่วมทำด้วยก็สนุกดีนะคะ แถมยังภูมิใจในผลงานอีกด้วย
ต่อจากนี้ไปนิทานคงไม่แค่เรื่องของความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นเครื่องถ่ายทอดความรัก สร้างสัมพันธ์ที่อบอุ่น ความผูกพันในครอบครัว ปลูกฝังคุณธรรมความดี ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาการให้กับเจ้าตัวเล็ก ซึ่งจะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติในอนาคตค่ะ
สิ่งที่พบบ่อยในเด็กกัดเล็บคือ เด็กมีภาวะเครียด หรือเศร้า เป็นการแสดงออกถึงภาวะเก็บกดในจิตใจ แต่คุณหมอก็บอกว่าไม่เสมอไปอีกเช่นกัน
เด็กบางคนเครียดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องที่เป็นไปตามพัฒนาการหรือของครอบครัว เช่น แม่มีน้อง ซึ่งเด็กอาจแสดงออกด้วยการกัดเล็บ แต่พอช่วงวิกฤตผ่านพ้นไป เด็กสามารถปรับตัวปรับใจได้แล้ว อาการก็จะหายไปเอง แต่จะมีส่วนหนึ่งที่กัดจนติดเป็นนิสัย จะยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรค แต่เรียกว่าเป็นการแสดงออกของความรู้สึกมากกว่า และพบว่าเป็นลูกวัยประถมมากกว่าวัยรุ่นเพราะพอโตเป็นวัยรุ่น เพื่อนล้อก็จะหยุด แต่จะแสดงออกภาวะเก็บกดนี้ทางอื่นแทน เช่น นั่งซึม เที่ยวเตร่ คบเพื่อนไม่ดี กลายเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่ต้องสังเกตว่าปัญหาการกัดเล็บของลูกเกิดจากอะไร แก้ไขได้ไหม เช่น เกิดจากพ่อแม่ทะเลาะตบตีกัน ตรงนี้พ่อแม่แก้ได้ไหม ถ้าเกิดจากความเครียดที่แก้ไขไม่ได้ เช่น แม่มีน้องใหม่ พ่อแม่ก็อาจแสดงความรักความใกล้ชิดกับลูกให้เหมือนเดิม หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้เด็กรู้สึกแย่จนเกินไป แล้วก็ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการกัดเล็บของเขา
อาจใช้การสร้างแรงจูงใจทางบวก เพื่อเบี่ยงเบนให้ออกจากกิจกรรมนี้ เช่น ถ้าวันนี้ลูกไม่กัดเล็บเลย จะได้หนึ่งดาว หรือใช้สติ๊กเกอร์ติดไว้ที่เล็บ โดยให้เด็กเลือกเองว่า จะใช้รูปไหนทำให้เด็กกัดไม่ได้ แต่ชื่นชมตัวการ์ตูนในสติ๊กเกอร์แทน เรียกว่าเป็นกิจกรรมแฝง
ที่สำคัญ ไม่ควรไปชี้นิ้วว่าเด็กเพราะการย้ำแบบนี้ทำให้เด็กเครียดมากขึ้น และกระตุ้นให้ทำมากขึ้นไปอีก เวลาที่เด็กอยู่ลับหลังพ่อแม่ หมั่นสังเกตว่าลูกเรา เหงาหรือเปล่า เบื่อหรือเปล่า แก้เสียโดยหากิจกรรมให้เขาทำ

เรียกว่า "ปัญหาโลกแตก" เลยก็ว่าได้ สำหรับปู่ย่าตายายที่เลี้ยงหลานให้ และก็ชอบตามใจหลาน พอพ่อแม่บอกว่าอย่าตามใจหลานมาก ปู่ย่าตายายก็มักจะมีเหตุผลมารองรับแบบสปอยล์หลานเข้าไปอีก
เมื่อพูดทุกครั้งก็แทบจะทะเลาะกัน แบบนี้ไม่ง่ายเลยนะคะที่จะเข้าใจกัน แต่ก็ไม่ยากที่จะทำความเข้าใจค่ะ ปัญหาเหล่านี้ควรแก้ไขอย่างไร ลองอ่านและนำไปปรับใช้กันได้ค่ะ
- พยายามเข้าใจคนสมัยก่อน
ตัวเราเองก็ยังปรับยากแล้ว ลองนึกถึงปู่ย่าฯ ดูสิคะ เพราะท่านเติบโตมากับการเลี้ยงดูแบบโบราณ ใช้ชีวิตแบบคนสมัยก่อน การที่ปู่ย่าฯ จะยอมรับข้อมูลอะไรใหม่ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ให้เปิดใจลองรับฟังมุมมองของเขาดูบ้าง ว่ามันเป็นมาแบบไหน เพื่อที่เราจะได้อธิบายในแนวคิดของหมอกับของเราแบบใหม่ๆ ไปด้วย แต่ต้องใจเย็น มีเหตุผลนะคะ ความอดทนและการอธิบายหลายๆ ครั้งจะช่วยได้เองค่ะ
- สื่อสารกันให้มากที่สุด
การพูดคุยกัน เป็นวิธีที่ง่าย ให้ขยันพูดและบอกปู่ย่าฯ บ่อยๆ อย่างมีเหตุผล เพื่อให้เข้าใจความคาดหวังและความคิดของเรา อย่างเช่น "อย่าให้ขนมหลานนะคะ" ถ้าบอกครั้งแรกแล้วยังไม่ได้ผลก็ให้เพิ่มเหตุผลเข้าไปอีก เช่น "อย่าให้ขนมหลานนะคะ เพราะถ้าทานขนมแล้วเขาจะไม่กินข้าว ถ้าทานข้าวน้อย จะทำให้สุขภาพและพัฒนาการของเขาแย่ไปด้วย ถ้าจะให้ขนมเขา ขอให้ให้หลังจากทานข้าวแล้วนะคะ" ให้ใส่เหตุผลไปเยอะๆ ยิ่งดูร้ายแรงเท่าไหร่ ปู่ย่าฯ จะยิ่งเป็นห่วงหลานมากขึ้นและจะไม่ตามใจแบบผิดๆ ตามที่เราขอค่ะ
- ติดตามพฤติกรรมลูก จากปู่ยาตายาย
บางครั้งปู่ย่าฯ ไม่ทันหลาน เพราะเด็กรู้ว่าใครดุ ใครไม่ดุ ใครบ้างที่อ้อนได้ เมื่อหลานทำผิดก็ไม่ยอมทำโทษ เรื่องแบบนี้บอกเลยค่ะ ว่าคงเป็นงานหนักสำหรับพ่อแม่เลย พ่อแม่จึงต้องคอยถามเรื่องที่เกิดขึ้นวันนี้จากปู่ย่าฯ และลูก เรียกว่าเป็นวิธีอ้อมๆ ที่จะให้ปู่ย่าฯ รับรู้ว่าวิธีเลี้ยงของปู่ย่าฯ นั้นผิดหรือถูก เช่น ตอนนี้หลานมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง มีพัฒนาการถึงไหนแล้ว ขั้นตอนต่อไปควรทำอย่างไรดี และต้องอธิบายอย่างใจเย็นให้ชัดเจน ว่าถ้าลูกเป็นแบบนี้ควรทำอย่างไร ต้องจัดการแบบนี้ และควรรับมืออย่างไร
- ให้แสดงออกถึงความเคารพและความรัก
การเลี้ยงดูหลาน มาพร้อมกับการขัดแย้งกันเสมอ อย่าไปโกรธที่พวกท่านทำไม่เหมือนพวกเรา แต่เราต้องขอบคุณปู่ย่าฯ ที่ช่วยเลี้ยงลูกให้เรา อย่างน้อยก็ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ้างพี่เลี้ยงที่อาจไว้ใจไม่ได้ เราควรแสดงความรู้สึกขอบคุณเสมอ ด้วยคำพูดและการกระทำ ให้เขารับรู้ได้ เช่น "ขอบคุณมากเลยนะคะ ที่ช่วยดูแลน้อง ปู่ย่าฯ ช่วยไว้ได้มากเลย" "ขอบคุณสำหรับอาหารนะคะ อร่อยมากเลย" และเมื่อไปรับลูกควรมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ติดมือไปฝากด้วย ถ้าเราให้ความรักและเคารพผู้สูงอายุ เขาก็จะปฎิบัติกับคุณเช่นเดียวกันค่ะ
ทุกอย่างต้องใช้เวลานะคะ เราเองก็อย่าท้อที่จะบอกท่านบ่อยๆ เรื่องการเลี้ยงดูเด็กแบบสมัยใหม่ มีโอกาสก็พาท่านไปซื้อของใช้เด็กใหม่ๆ ที่ทันสมัย หากลูกป่วยไปหาหมอก็ให้ท่านไปฟังด้วย อาจจะเข้าใจมากขึ้นนะคะ เป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกคนค่ะ

เมื่อถามอาชีพในฝันของเด็กๆ เชื่อว่าแต่ละคนคงมีคำตอบอยู่ในใจ เด็กบางคนอยากเป็นในสิ่งที่ตนเองสนใจในขณะนั้น เช่นอยากเป็นสถาปนิก เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากเกมที่เล่น บางคนอยากเป็นหมอ เป็นครู เป็นพยาบาล เพราะพ่อแม่ประกอบอาชีพเหล่านี้
ล่าสุดมีอีกหนึ่งอาชีพที่เด็กๆ ใฝ่ฝันนั่นคือ YouTuber ซึ่งจากการสำรวจของบริษัทเลโก้ พบว่าเด็ก 3,000 คน อายุตั้งแต่ 8-12 ปี ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน เมื่อโตขึ้นอยากเป็น YouTuber ถึง 1 ใน 3 ขณะที่มีเด็กเพียง 11% บอกว่าพวกเขาอยากเป็นนักบินอวกาศ โดย 11% ที่อยากเป็นนักบินอวกาศนั้น กว่าครึ่งเป็นคำตอบของเด็กชาวจีน ซึ่งตรงกันข้ามกับเด็กในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่อยากเป็น Vlogger หรือ YouTuber มากกว่า
5 อันดับอาชีพในฝันของเด็กชาวสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
-
Vlogger/YouTuber
-
ครู
-
นักกีฬาอาชีพ
-
นักดนตรี
-
นักบินอวกาศ 5 อันดับอาชีพในฝันของเด็กชาวจีน
-
นักบินอวกาศ
-
ครู
-
นักดนตรี
-
นักกีฬาอาชีพ
-
Vlogger/YouTuber
ก่อนหน้านี้ในปี 2017 มีการสำรวจเด็กอเมริกันอายุต่ำกว่า 12 ปี จำนวน 1,000 คนพบว่า เด็กส่วนใหญ่อยากเป็นหมอ สัตวแพทย์ วิศวกร ตำรวจและครู ตามลำดับ
ที่มา : cnbc.com
“ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง” หรือ “Atopic Dermatitis” โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นโรคที่มีอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ จากปฏิกิริยาภูมิแพ้และปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมกันทำให้ผิวหนังแห้ง ระคายเคืองง่าย เกิดผื่นแดงคันตามบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในเด็ก อุบัติการณ์ของโรคนี้ในเด็กไทยพบประมาณร้อยละ 10-20 ของประชากรเด็กทั้งหมด
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทุกวันที่ 14 กันยายนของทุกปี เป็น World Atopic Dermatitis Day หรือ วันโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังโลก วงการแพทย์จึงอยากรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในวงกว้างเกี่ยวกับโรคนี้
ลักษณะอาการของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในผู้ป่วยมี 3 แบบ
1.ผื่นระยะเฉียบพลัน คือมีผื่นบวมแดงมากและคัน มีตุ่มแดง ตุ่มน้ำ บางรายอาจมีน้ำเหลืองไหลซึมออกมา
2.ระยะกึ่งเฉียบพลัน คือผื่นและตุ่มแดง คัน มีขุย อาจมีตุ่มน้ำบ้าง แต่ไม่พบน้ำเหลืองไหลซึมบนผื่น
3.ระยะเรื้อรัง คือผื่นจะมีสีไม่แดงมากหรือออกสีน้ำตาล อาจนูนหนา คัน มีขุย และเห็นร่องผิวหนังชัดเจน
ตำแหน่งที่พบผื่นแตกต่างกันได้ตามวัยของผู้ป่วย ในวัยทารก มักจะพบผื่นผิวหนังอักเสบบ่อยบริเวณใบหน้า ซอกคอ และด้านนอกของแขนขา เนื่องจากเป็นบริเวณที่ถูไถกับหมอน ผ้าปูที่นอนเพราะคันมาก ส่วนในเด็กวัยเรียน ผื่นผิวหนังอักเสบจะพบบ่อยบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา และคอ
สำหรับในรายที่เป็นมาก ๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะภูมิแพ้ทางจมูก ตา หรือ หอบหืดร่วมด้วย หรือบางรายอาจพบรอยโรคผิวหนังอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น กลากน้ำนม ขอบตาคล้ำและมีรอยย่นใต้ตา ริมฝีปากแห้งเป็นขุย เส้นลายมือชัดลึก ขนคุด ผิวสากเหมือนหนังไก่ ผิวบริเวณหน้าแข้งแตกแห้งเป็นแผ่น เป็นต้น
การรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
1.การหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้อาการกำเริบ
2.การทาสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิวหนัง ป้องกันผิวแห้ง เช่น โลชั่น ครีมบำรุงผิว ควรทาหลังอาบน้ำทันที และไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น
คำแนะนำสำหรับการใช้ยาทาลดการอักเสบของผิวหนัง ควรทาบริเวณผื่นที่มีอาการเห่อแดงอักเสบ เมื่อควบคุมอาการได้ควรลดการใช้ยาหรือหยุดยา ในรายที่ผื่นเป็นมากและเป็นบริเวณกว้าง แพทย์อาจให้ยารับประทาน และในปัจจุบันมีการรักษาโดยยาฉีด ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางการรักษาในโรคนี้ โดยแพทย์จะเลือกใช้ในรายที่มีอาการในระดับปานกลางถึงรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยวิธีทั่วไป ซึ่งควรอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์
กรณีที่ผู้ป่วยสงสัยว่ามีอาการโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังควรมาปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง จะช่วยป้องกันการกำเริบของผื่นได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้ผู้ป่วยเข้าร่วมสังคมได้อย่างปกติ
อาการตาแดงหรือเยื่อตาอักเสบ เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่มอดิโนไวรัส ที่มักจะติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วย ติดผ่านมือแล้วมาสัมผัสหน้าตาโดยตรง ไม่ติดต่อทางการสบตา ทางอากาศ หรือจากการกินอาหารร่วมกัน
โรคตาแดงสามารถติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พบได้ในทุกฤดูกาลแต่มักระบาดในช่วงหน้าฝน เนื่องจากเชื้ออดิโนไวรัส (Adenovirus) จะเจริญเติบโตได้ดีในช่วงหน้าฝนและแฝงตัวอยู่ในละอองฝนที่มีน้ำสกปรกหรือฝุ่นปนเปื้อน และเมื่อปลิวเข้าตาก็จะทำให้เกิดโรคตาแดงได้
โรคตาแดงพบได้บ่อยในเด็กเล็กและนักเรียนชั้นประถมศึกษา เนื่องจากการทำกิจกรรมที่โรงเรียน การเล่นคลุกคลีกับเพื่อน รวมถึงเด็กนักเรียนยังไม่สามารถดูแลสุขอนามัยส่วนตัวได้ดีเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ โดยอาการของโรคจะเกิดได้ภายใน 1-2 วัน และมีระยะการติดต่อไปยังผู้อื่นประมาณ 14 วัน แม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วย อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ตาพิการได้
ลักษณะอาการโรคตาแดง
-
รู้สึกไม่สบายตาหรือรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งอยู่ในตา แสบตา น้ำตาไหล
-
ดวงตาและภายในเปลือกตามีสีแดง แพ้แสง หนังตาบวม รู้สึกเจ็บ
-
ตาแฉะหรือมีขี้ตาเป็นหนอง
-
ขนตาพันกันและติดกันตอนตื่นนอน ลืมตาไม่ได้ หรืออาจมองไม่ชัด
-
คันและมีน้ำตาไหล (กรณีที่เป็นตาแดงจากภูมิแพ้)
วิธีรับมือโรคตาแดง
-
ทำความสะอาดบริเวณดวงตาของลูกอย่างระมัดระวัง ด้วยผ้าก็อซหรือสำลีก้อนชุบน้ำอุ่น
-
ประคบเย็นที่ดวงตา
-
ให้ลูกกินยาพาราเซตามอลหรือยาแก้อักเสบเพื่อบรรเทาอาการปวด (ควรอ่านฉลากให้ละเอียดหรือปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อให้ลูกกินยาในปริมาณที่ถูกต้องเหมาะสม)
** หากเป็นเด็กแรกเกิด ควรรีบพาไปพบแพทย์ (เพราะอาจต้องรักษาด้วยการหยอดยาปฏิชีวนะหรือใช้ขี้ผึ้งป้ายตา)
อาการนี้ต้องรีบพบแพทย์
-
รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือตาแดงนานเป็นสัปดาห์กรณีที่ไม่ได้รักษา
-
ตาแดงรุนแรงมากขึ้น
-
เปลือกตาบวมมากขึ้น
-
ลูกบ่นว่าเจ็บตาอย่างรุนแรง
-
การมองเห็นเปลี่ยนไป
-
ตามีความไวต่อแสง
-
มีอาการเจ็บหู (อาการตาแดงและหูอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน)
การป้องกันโรคตาแดง
-
ล้างมือให้สะอาดเสมอ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสดวงตาผู้ป่วย
-
ไม่ใช้เสื้อคลุมอาบน้ำ ผ้าเช็ดตัว ปลอกหมอนร่วมกัน
-
ปรึกษาแพทย์หากมีอาการคัน ตาแฉะ หรือตาแดงบ่อยๆ ซึ่งอาจเกิดจากอาการภูมิแพ้ และหากทราบสาเหตุแน่ชัดแล้วว่าอาการตาแดงเกิดจากภูมิแพ้ ควรลดปัจจัยก่อโรคโดย
ทำความสะอาดและดูดฝุ่นเสมอ ปิดหน้าต่างและประตูหากบริเวณรอบๆ บ้านมีละอองเกสรดอกไม้ฟุ้งกระจาย หลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอม สเปรย์ปรับอากาศ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ผสมน้ำหอม หลีกเลี่ยงบริเวณที่จะได้รับควันบุหรี่
การป้องกันโรคตาแดงไม่ให้ระบาด
- ถ้าต้องออกไปนอกบ้าน ควรใส่แว่นตาเพื่อป้องกันลม และฝุ่นละออง
- ผู้ป่วยควรนอนแยกจากสมาชิกในครอบครัว และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แว่นตา และเครื่องนอนร่วมกันผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
- ผู้ป่วยโรคตาแดง ควรหยุดงาน หรือหยุดเรียน พักรักษาตัวที่บ้าน เพื่อป้องกันมิให้โรคลุกลามหรือติดต่อสู่ชุมชน
ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่า แขนขาเป็นอัมพาต หรืออาการตาแดงไม่ทุเลาภายใน 7 วัน รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อรับการรักษา

การฝึกวินัยให้ลูกสามารถเริ่มง่ายๆ ตั้งแต่ลูกวัยเตาะแตะ โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ปฏิบัติ และใช้สถานการณ์ในบ้านเป็นเครื่องมือที่ดีในการฝึกหัด เด็กวัยเตาะแตะนี้จะเรียนรู้ผ่านการเล่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงสามารถฉวยโอกาสนี้มาฝึกวินัยให้ลูกซะเลย ซึ่งการเก็บของเล่นเข้าที่หลังเล่นเสร็จแล้วจะเป็นการฝึกให้ลูกเป็นเด็กมี ระเบียบวินัย และยังเป็นการปูทางไปสู่การฝึกมารยาทในการเล่นกับคนอื่น รวมไปถึงมีน้ำใจช่วยคนอื่นเก็บสิ่งของอีกด้วย
สอนลูกให้รู้จักเก็บของ ค่อยๆสอน ค่อยๆฝึกอย่างไรดี
หากลูกเกิดอาการเกเร ไม่สนใจ งอแง ไม่ยอมเก็บของเล่นที่วางเกลื่อนกราดอยู่ในห้องแล้วล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นไว้ก่อน อย่าเพิ่งโมโห บังคับ หรือทำโทษลูก เพราะบางครั้งการที่ลูกไม่ทำตามสิ่งที่คุณต้องการ อาจเป็นเพราะเขากำลังเพลิดเพลิน หรือกำลังมีสมาธิอยู่กับของเล่นตรงหน้า ทางที่ดีควรค่อยๆ ฝึกฝนลูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป และไม่คาดหวังมากจนเกินไป เพราะถึงอย่างไร ลูกก็เป็นเพียงเด็กเล็กๆ ที่รักการเล่นมากกว่าสิ่งอื่น
คุณอาจจะให้เวลากับลูกสักพักรอจนเขาเริ่มเบื่อของเล่นแล้วค่อยๆ ตะล่อมให้เขาเก็บ บอกเกริ่นกับลูกล่วงหน้าว่า เดี๋ยวลูกต้องเลิกเล่นเพราะต้องไปอาบน้ำนะ อย่าลืมเก็บของเล่นก่อนล่ะ ใช้เรื่องอื่นเป็นสิ่งล่อใจ เช่น เก็บเสร็จแล้วเราไปอ่านหนังสือนิทานกันต่อ เป็นต้น ยึดหลักสม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำบ้างไม่ทำบ้าง คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่าง เก็บให้ดู อย่าลืมชื่นชม ให้กำลังใจเมื่อลูกทำได้ หากล่องหรือลังใบใหญ่ สีสันสดใส เพื่อดึงดูดใจ

พร้อมไหม กับ 15 เรื่องที่คนมีลูกสาวต้องเจอแน่
บ้านไหนกำลังท้องลูกสาว หรือมีลูกสาวอยู่ เตรียมตัวกันให้ดีค่ะเพราะนี่คือ 20 เรื่องที่คนมีลูกสาวต้องได้เจอและแก้ปัญหาชวนปวดหัวกันบ้าง
- คุณจะได้เจอลูกสาวมักจะชอบสีชมพู สีส้ม หรือสีเหลืองด้วยเหตุผลว่า "ก็หนูชอบสีชมพู" จบนะ!!!
- ถ้าไม่เจอลูกสาวสายหญิงๆ แบบข้อ 1 คุณอาจได้เจอลูกสาวสายลุยที่แม้แต่จิ้งจก ตุ๊กแกยังวิ่งเข้าใส่ นี่ยังไม่รวมว่าชอบดูหนังผี หนังซอมบี้ก็มีนะ
- ถ้าคุณเป็นแม่ คุณจะได้เจอลูกสาวที่มักจะรู้เสมอว่าเมื่อไหร่ที่คุณดุ "หนูไปให้พ่อโอ๋ก็ได้" และจะมีช่วงเวลาหนึ่งที่ลูกดูจะรักพ่อมากเป็นพิเศษจนต้องแอบน้อยใจ
- ถ้าคุณเป็นพ่อ คุณจะได้เจอลูกสาวเข้ามาอ้อน มาให้โอ๋ มากอด มาเล่นด้วยอยู่พักนึง แต่อยู่ๆ ก็ร้องหาแม่ขึ้นนมาเฉ๊ยยยยย แล้วก็พ่อนี่แหละที่ต้องอุ้มพาไปให้แม่โอ๋ต่อทันทีเพราะเอาไม่อยู่!
- คุณจะได้เจอกับเสียง "กรี๊ดดดดดดดด" ในทุกๆ สถานการณ์จนแสบแก้วหูไปหมด
- คุณจะได้เจอกับ "ความซน" ในแบบที่ทำลายความเชื่อเดิมๆ ไปเลยว่าเด็กผู้หญิงจะเรียบร้อย
- คุณจะได้เจอลูกสาวที่รักสวยรักงาม ทาแป้งทั่วบ้าน ลิปสติกแม่หักไปไม่รู้กี่แท่ง แก้มแดงด้วยบลัชออน ฯลฯ เตรียม Cleansing รอได้เลย
- คุณอาจได้เจอลูกสาวที่ไม่ยอมให้พ่อแม่ "จับแต่งตัว" ง่ายๆ อย่างที่คิด ทั้งที่คาดผมดอกไม้อันใหญ่กว่าหัว กิ๊บติดผม มัดผม รองเท้าน่ารักๆ เพราะเอาเข้าจริงหนูเป็นผู้หญิงที่ดีดตัวออกจากเรื่องพวกนี้เลยล่ะ
- คุณจะได้เจอลูกสาวที่มักจะบอกรักคุณหรือคนอื่นๆ ง่ายมาก เพราะจิตใจเธออ่อนโยนในแบบที่คุณก็คาดไม่ถึง
- คุณจะลังเลเสมอว่าตกลงลูกสาวควรใส่ First Bra ตัวแรกเมื่อไหร่ดี
- คุณจะกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าเมื่อวันที่ลูกมีประจำเดือนครั้งแรก จะสอนลูกได้ไหม จะสอนยังไงดี
- คุณจะเริ่มปกป้องลูกสาวเกินไปเพราะคิดว่าพวกเธอบอบบางและดูแลตัวเองไม่ได้เมื่อเทียบกับลูกชายที่พร้อมลุยเสมอ ทั้งที่ "ไม่จริงเลย"
- ตอนตั้งท้องลูกสาว คุณจะแอบลุ้นว่าอยากให้ลูกสาวหน้าเหมือนพ่อ เพราะเชื่อว่าลูกสาวหน้าเหมือนพ่อจะไม่อาภัพ แต่พอเหมือนพ่อขึ้นมาจริงๆ ก็แอบน้อยใจอีกว่าไม่เอาส่วนไหนของแม่ไปเลย
- เชื่อไหม คุณจะไม่อยากให้ลูกสาวแต่งงานแล้วย้ายบ้านไปอยู่กับสามี... ทั้งที่ลูกสาวเพิ่งขวบเดียวเองนะแม่!!!
- คุณจะได้เจอกับอุปสรรคสำคัญเมื่อพาลูกไปโรงเรียน นั่นคือ "ถักเปีย"

พฤติกรรมลูกชอบทำร้ายตัวเอง บ่งชี้ว่าเป็นเด็กผิดปกติหรือเปล่า เช็กเลย!
เด็กวัย 1-3 ปี จากที่ทำอะไรไม่ค่อยได้ก็เริ่มจะมีความสามารถมากขึ้น จึงเป็นวัยที่เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก จึงมีเรื่องน่าเป็นห่วงตามมาก็คือ เวลาไม่ได้ดั่งใจ หรือไม่พอใจในตัวเอง ก็มักจะตบหัวตัวเองแรง ๆ ด้วยอารมณ์หงุดหงิด แม่เลยสงสัยว่าการที่ลูกทำแบบนี้บ่อย ๆ นั้นผิดปกติไหม เป็นอันตรายหรือเปล่า มาดูคำตอบกันค่ะ
สาเหตุที่ลูกมักจะทำร้ายตัวเอง
เด็ก ๆ วัยนี้มักจะเกิดความรู้สึกคับข้องใจ อึดอัด สับสน อยากเป็นเด็กโต อยากเก่ง แต่ก็ถูกจำกัดด้วยความสามารถอันน้อยนิดของตัวเอง และสกัดกั้นจากผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมให้ทำ ก็ย่อมทำให้รู้สึกหงุดหงิด โมโห อยากอาละวาด อยากกรี๊ด และเนื่องจากการสื่อสารด้วยคำพูดยังทำได้ไม่ดี เช่น จะบอกว่าหนูโมโหแล้วนะก็เลยแสดงออกทางภาษากาย เป็นการเอามือตีหัวตัวเอง พอทำแล้วได้รับการตอบสนอง เช่น พ่อแม่ทำสีหน้าตกอกตกใจ รีบห้ามปราม รีบยอมตามใจ ก็จะเรียนรู้ว่าวิธีนี้ได้ผลจึงทำต่อเนื่อง
วิธีแก้ไขนิสัยลูกที่ชอบทำร้ายตัวเอง
หากลูกทำร้ายตัวเองอีก ให้ใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจลูกไปสู่สิ่งอื่น เช่น หากลูกจะเล่นของอันตราย ให้รีบเก็บขึ้นแล้วชวนลูกไปเดินเล่น หรือหาของเล่นมาทดแทน เด็กส่วนใหญ่จะลืมเหตุการณ์ตรงนั้นแล้วสนใจสิ่งใหม่ที่น่าสนใจได้ และเพื่อป้องกันครั้งต่อไป พ่อแม่ก็ควรวางแผนล่วงหน้าว่าอาจมีอะไรที่ทำให้ลูกอยากเล่นแต่ให้เล่นไม่ได้ แล้วเก็บให้พ้นสายตาลูกตั้งแต่ต้น จะได้ไม่ต้องทำให้ลูกรู้สึกอยากได้อยากเล่นสิ่งนั้น
หากเบี่ยงเบนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ลูกร้องไห้และอาละวาดไม่หยุดเพื่อทำให้พ่อแม่ยอมให้ได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมให้ลูกอาละวาด แต่พาเข้ามุมแล้วบอกลูกว่าถ้าหนูร้องไห้ต้องเข้ามุม แล้วพ่อแม่ก็เดินออกมาโดยไม่ต้องให้ความสนใจ ไม่ทำสีหน้าวิตกกังวล ไม่ต้องโมโหลูก ไม่ต้องขึ้นเสียงดังกับลูก จนกว่าลูกจะหยุดอาละวาดด้วยตัวเอง แล้วจึงเดินกลับไปหาลูก ชวนลูกไปล้างหน้าล้างตา ทุก ๆ ครั้งให้ทำแบบนี้ ลูกจะเรียนรู้ว่าวิธีอาละวาดไม่ได้ผล จะเลิกพฤติกรรมนี้ได้ค่ะ ถึงแม้ลูกจะตีตัวเองแรงอย่างไร หรือ ร้องไห้จนอาเจียน ก็ไม่ต้องตกใจ ไม่อันตรายแน่นอนค่ะ
ข้อมูลจาก : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

พ่อแม่ 9 แบบ จะมีลูกเก่ง เป็นคนดี และประสบความสำเร็จได้ในชีวิตได้
อยากให้ลูกเก่ง ต้องเป็นพ่อแม่แบบไหน ลูกจะเป็นคนเก่ง เป็นคนดี และประสบความสำเร็จในชีวิตได้ พ่อแม่ต้องทำอย่างไรกันนะ คำถามนี้ไม่มีคำตอบสูตรสำเร็จเลยนะคะ เพราะแต่ละครอบครัวก็มีวิธีของตัวเอง
รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ได้เจอข้อมูลที่น่าสนใจจาก นิตยสารออนไลน์ Business Insider โดยเรเชล จิลเลตต์ และเดร้ค แบเออร์ ที่ได้เขียนบทความรวบรวมคุณลักษณะของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกที่ประสบความสำเร็จ จะมีลักษณะทั้ง 9 ประการ แต่คุณพ่อคุณแม่มี 5 ใน 9 ข้อ ก็ช่วยให้ลูกเป็นเด็กดีได้แล้วค่ะ และบางข้อคุณพ่อคุณแม่ลองอ่านและนำไปปรับใช้ได้นะคะ เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูก ให้ลูกเติบโตไปตามวัยค่ะ
พ่อแม่ 9 แบบ ที่จะมีลูกประสบความสำเร็จในชีวิต
- พ่อแม่ที่สอนให้ลูกมีทักษะทางสังคมที่ดี
หากเด็กๆ ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนให้ปรับตัวเก่ง ใช้ชีวิตร่วมหรือทำงานร่วมกับเพื่อนได้ดี ไม่เอาเปรียบใคร มีน้ำใจช่วยเหลือ ทำตัวเป็นประโยชน์กับคนรอบข้าง เข้าใจและตระหนักถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง สามารถแก้ปัญหาของตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น มีแนวโน้มสูงที่จะสำเร็จการศึกษาตามที่ต้องการ
- พ่อแม่ที่คาดหวังเป็นและมั่นใจในตัวลูก
ไม่คาดหวังเลย ก็ปล่อยเกินไป พ่อแม่ควรมีความหวังในตัวลูก อย่างน้อยก็หวังและเชื่อมั่นว่าลูกจะต้องเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้ ตามที่ลูกต้องการ หากพ่อแม่ไม่มีความเชื่อมั่นว่าลูกจะทำได้ ลูกก็จะรู้สึกได้และทำให้ลูกขาดความเชื่อมั่นในตัวเองไปด้วยเช่นกัน
- แม่เป็นผู้หญิงทำงานเก่ง
แม่เป็นผู้หญิงทำงานนอกบ้านเก่ง มีตำแหน่งงานดีและมีรายได้สูง ลูกสาวจะได้รับแรงบันดาลใจจากแม่ที่เป็นหญิงเก่งไปด้วย หากมีลูกชาย ลูกก็จะได้เรียนรู้ชอบผู้หญิงเก่ง เป็นผลดีต่ออนาคต และรู้จักช่วยเหลือกัน เช่น แม่ไม่ค่อยมีเวลาทำงานบ้าน ลูกก็ต้องช่วย จะไม่เกี่ยงเรื่องการทำงานบ้าน
- พ่อแม่มีฐานะทางสังคม
พ่อแม่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมดี เป็นที่รู้จัก จะมีมุมมองและทางเลือกดีๆ ให้เด็กได้มากกว่า นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นที่ชี้ว่าเด็กที่มีผลสอบ SAT สูง (Scholastic Assessment Tests หมายถึงผลการสอบมาตรฐานของเด็กที่เรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในสหรัฐอเมริกา โดยมหาวิทยาลัยจะนำคะแนนสอบ SAT นี้ไปเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษา โดยแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีเกณฑ์การใช้คะแนนนี้ต่างกันไป) มักเป็นเด็กที่มีพ่อแม่ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง
5. พ่อแม่มีการพัฒนาสัมพันธภาพที่ดีกับลูก
ความรักและความเอาใจใส่ล้วนๆ เลยค่ะ เด็กที่ได้รับความเอาใจใส่ใกล้ชิดจากพ่อแม่ในช่วงอายุ 3 ปีแรกที่ได้ลืมตาดูโลก จะมีความสามารถในการทำข้อสอบได้ดีกว่าเด็กที่ไม่มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพ่อแม่ นอกจากนี้พวกเขายังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และประสบความสำเร็จทางการศึกษาอีกด้วย
- พ่อแม่สอนเลขเบื้องต้นให้ลูกตั้งแต่ตอนเด็กๆ
เรื่องนี้พ่อแม่ที่ไม่ต้องร่ำรวยหรือเรียนสูงๆ ก็ทำได้ค่ะ มันเป็นเรื่องการเอาใจใส่ ควรใช้เวลาสอนความรู้ต่างๆ เช่น การคิดเลขง่ายๆ ซึ่งทักษะเบื้องต้นง่ายๆ นี้มีผลต่อการพัฒนาทักษะของลูกเมื่อพวกเขาโตขึ้นอย่างที่พ่อแม่คาดไม่ถึงเลยค่ะ
- พ่อแม่มีการศึกษาสูง
พ่อแม่ที่มีการศึกษาน้อยและมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมไม่ดี อาจจะหมดกำลังใจที่จะเลี้ยงลูกให้ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีเด็กที่ประสบความสำเร็จอีกหลายคน ที่ไม่ได้มาจากครอบครัวที่มีพ่อแม่ร่ำรวยและมีการศึกษาสูง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแรงบันดาลใจด้วย
- พ่อแม่มีความเครียดน้อย
พ่อแม่ที่ฉลาดและเลี้ยงลูกเป็น ต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่สูง ไม่เครียดเกินไปในการเลี้ยงและดูแลลูก จึงจะได้ลูกที่มีสุขภาพจิตดีและมีสติปํญญาที่ดี สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี เข้าสังคมกับผู้อื่นได้ไม่มีปัญหา และทำงานได้ประสบความสำเร็จตามสมควร
- พ่อแม่ที่มีความคิดและยืดหยุ่นทางความคิดเป็น
พ่อแม่ต้องไม่ไปจำกัดความคิดลูก เช่น ต้องเรียนที่นี่ กับครูคนนี้เท่านั้น แบบนี้เรียกว่ามีวิธีคิดที่จำกัด และเมื่อไม่สามารถได้เงื่อนไขตามที่ต้องการ พ่อแม่ที่มีความคิดจำกัดแบบนี้ก็จะคิดว่าหมดหวัง แต่ถ้าพ่อแม่มีแนวคิดยืดหยุ่น เปลี่ยนไปได้ตามสถานการณ์ ลูกก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา ทำให้เขาคิดต่อยอดเก่ง
พ่อแม่ ทั้ง 9 รูปแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ของตนเองได้นะคะ ไม่มีใครจะสมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง ต้องมีบกพร่องกันทุกคน ขอเพียงให้เลี้ยงลูกคนหนึ่งอย่างสุดความสามารถ คิดบวก คิดยืดหยุ่น ให้ความรัก และความใส่ใจให้ลูก ไม่เครียด แค่นี้ก็น่าจะเป็นทุนที่เพียงพอให้ลูกประสบความสำเร็จได้ในอนาคตตามสมควรแล้วค่ะ
ทั้งนี้เป็นข้อมูลย่อย คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านงานวิจัยประกอบ และอ่านบทความเต็มๆ ได้ที่ www.bangkokbiznews.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข , www.bangkokbiznews.com

โรคซึมเศร้าคือภัยเงียบที่น่ากลัว พ่อแม่ควรทำความรู้จักให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันเด็กมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ทั้งความกดดันตั้งแต่การเรียน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและค่านิยมต่าง ๆ ของสังคมเมื่อโตขึ้น หากพ่อแม่ไม่ทำความเข้าใจและเข้าใจลูกมากกว่านี้ ก็อาจนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้เช่นกันนะคะ มาดูสาเหตุ 9 อย่าง ที่ทำให้จิตใจลูกเปราะบาง จนนำไปสู่ภัยเงียบได้
9 สาเหตุ ที่ทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้าได้
- นิสัยที่ซ่อนไว้ลึก ๆ ของลูก
พ่อแม่อย่ามองแค่นิสัยผิวเผินของลูก ว่าลูกเป็นคนร่าเริงแจ่มใส สามารถเข้ากับเพื่อนได้ง่าย น่ารักกับผู้ใหญ่ แต่ให้มองนิสัยที่ลูกพยายามเก็บไว้ด้วย เช่น มีนิสัยอ่อนไหวง่าย แอบคิดมาก เก็บความรู้สึกเก่ง เก็บสิ่งต่าง ๆ มาคิดเสียใจและผิดหวังที่หลัง เป็นต้น คนเป็นพ่อแม่จึงต้องมีเข้าใจพื้นนิสัยลูก การใกล้ชิดกับลูกจะมีคำตอบให้พ่อแม่เสมอว่าลูกเป็นคนอย่างไร
- การแข่งขันตั้งแต่เด็ก
หากพ่อแม่ให้ลูกใช้ชีวิตแข่งขันตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่การสอบเข้าโรงเรียนอนุบาล การสอบเข้า ป.1 โรงเรียนดัง ต้องเรียนพิเศษทุกเย็นและวันหยุด และผลการเรียนต้องดี เป็นต้น ทุกอย่างที่ให้ทำแม้เป็นด้วยความหวังดี แต่ก็เต็มไปด้วยสภาวะการแข่งขัน มีความกดดัน
- ถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ได้ชอบ
พ่อแม่ที่คอยขีดเส้นให้ลูกเดิน เพราะคิดว่าลูกไม่มีประสบการณ์ชีวิต พ่อแม่ผ่านมาก่อน ลูกต้องทำตามที่พ่อแม่บอก ถึงจะได้ดี แม้จะเป็นการหวังดี แต่รู้ไหมคะ นี่คือการสร้างความกดดันให้ลูกอย่างมาก สิ่งที่ดีสำหรับพ่อแม่ อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดของลูก แบบนี้จะค่อย ๆ สะสมความเครียด นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ง่าย

- การเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กทุกคน เช่น ลูกต้องเข้าโรงเรียน เจอสังคมใหม่ เปลี่ยนโรงเรียน ย้ายบ้าน มีเด็กหลายคนไม่สามารถจัดการอารมณ์และความเครียดได้ พ่อแม่ควรปลูกฝังเรื่องการเปลี่ยนแปลงให้ลูก บอกให้รู้ล่วงหน้า เช่น ลูกจะเข้าโรงเรียนต้องเตรียมตัวแบบไหน เปลี่ยนโรงเรียนจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เป็นต้น
- ถูกตั้งความหวัง
พ่อแม่ที่คอยบอกลูกแบบตั้งความหวัง บางครั้งไม่รู้ตัว เช่น เรียนให้เก่ง ๆ นะ ลูกต้องเข้าโรงเรียนดัง ๆ ต้องเข้ามหาวิทยาลัยดี ๆ นะ เป็นต้น การบอกลูกแบบนี้ แอบสร้างความกดดันในใจให้ลูกไม่น้อย และมีเด็กหลายคนที่กดดันตัวเอง จนรู้สึกว่าไม่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวังเสียใจ แม้ทำไม่ได้ ไม่ใช่ทาง แต่ก็จะดันทุรังเกินตัว จนมีภาวะความเครียดสูง
- ไม่รู้จักการยืดหยุ่น
การยืดหยุ่นทางความคิด เป็นหนึ่งในทักษะของ EF (Executive Functions) หากพ่อแม่เครียดเกินไป ตั้งกฎและเคร่งมาก ลูกก็มักจะเป็นคนที่เครียดง่าย ทุกอย่างต้องตามแผน แต่ถ้าหากในอนาคตผิดหวังขึ้นมา ก็จะทำใจยอมรับไม่ได้ง่าย ๆ และรู้สึกล้มเหลวได้

- เวลาเครียด เสียใจ ไม่ไว้ใจที่จะบอกใคร
หากพ่อแม่ไม่ได้ให้เวลาลูก ไม่ได้สนิทกับลูกแต่แรก โตขึ้นมาหน่อย หรือไปเจอสังคมใหม่ ๆ เวลาลูกรู้สึกไม่ดี ทุกข์ใจ ก็จะไม่ยอมพูดกับใคร หากไม่อยากให้ลูกไม่มีที่พึ่งพา พ่อแม่ต้องแสดงออกให้ลูกได้เห็นว่าพร้อมรับฟังลูกทุกเรื่อง และสามารถแบ่งปันเรื่องราวกันได้ หรือต้องพยายามให้ลูกได้ค้นพบวิธีการระบายความเครียด มีงานอดิเรกที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ กินขนม เป็นต้น
- มองข้ามความสุขง่าย ๆ
การมีความสุขง่าย ๆ กับสิ่งรอบตัว มีความจำเป็นมากในสังคมยุคนี้ เช่น ได้กินของอร่อยที่ชอบ ได้ไปเที่ยวในวันหยุด ได้ดูการ์ตูนเรื่องโปรด หากลูกมองข้ามความสุขรอบตัวนี้ไป มองหาแต่ความสุขที่ยังมาไม่ถึง ก็จะทำให้ดาวน์ง่ายมากขึ้น พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักความสุขที่หาได้ง่าย ๆ อย่างทำกิจกรรมกับครอบครัว พุดคุยกันก่อนนอน ก็เป็นความสุขที่มอบให้กันและกันได้
- พ่อแม่คือสาเหตุสำคัญ
พ่อแม่ที่ไม่ชื่นชมลูก แต่หากลูกพลาดก็ดุตลอด และชอบบอกเรื่องที่ทำให้ลูกเครียด เช่น ทะเลาะกันต่อหน้าลูก เอาเรื่องงานมาลงที่ลูก ชอบพูดเรื่องเงินในบ้าน เป็นต้น การให้ลูกรับรู้เรื่องพวกนี้ตั้งแต่เด็ก จะสร้างรอยร้าวบาดแผลในใจไม่น้อย
เด็กควรรู้เรื่องราวไปตามวัย ชมได้เมื่อทำความดี พ่อแม่ควรทำให้ลูกได้มีความสุขแบบเด็ก ๆ ไม่ควรเอาเรื่องเครียดไปใส่หัวของลูก เพราะจะทำให้ลูกมีสภาพอารมณ์ที่ไม่มั่นคง รู้สึกกังวล หรือ ไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา
พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกพัฒนาการดี จึงหาวิธีส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านอย่างสุดความสามารถ แต่เราก็อย่าลืมว่า ลูกยังเป็นเด็ก เขาจึงมีข้อจำกัดหลายอย่างที่อาจจะทำให้ผลออกมาไม่ดีอย่างที่พ่อแม่หวัง เราจึงต้องเข้าใจและให้กำลังใจเพื่อให้ลูกพยายามมากขึ้นทุกวัน แต่รู้หรือไม่ว่าความผิดหวังของพ่อแม่อาจสื่อออกมาด้วยคำพูดที่บั่นทอนกำลังใจลูก และคำพูดแบบนี้เจ็บปวดฝังลึกเหมือนการโดนตีเลยทีเดียว
10 คำพูดที่ลูกเจ็บปวด ไม่มีความสุข
เปลี่ยนเป็น > ไปพักเติมพลังกันลูก เดี๋ยวค่อยมาลองกันใหม่นะ
เปลี่ยนเป็น > แม่ว่ามันยากไปเนอะ เดี๋ยวเราลองหาวิธีง่ายกว่านี้มาลองกันใหม่นะ
เปลี่ยนเป็น > แม่ชอบแบบที่หนูทำมากเลยลูก คราวหน้าลองทำแบบอื่นเพิ่มดีไหมคะ
เปลี่ยนเป็น > ทำแบบนี้ก็ได้หรอลูก เก่งจัง คราวหน้าแม่ขอทำด้วยได้ไหมเผื่อเราช่วยกันคิดอะไรสนุกๆ ได้อีก
เปลี่ยนเป็น > ไว้เรามาลองกันใหม่นะ หนูอยากลองทำอีกเมื่อไหร่บอกแม่นะคะ
- ทำได้แค่นี้จะสู้เพื่อนได้หรอ
เปลี่ยนเป็น > เก่งจังลูก เพิ่งทำแค่ไม่กี่ครั้งยังดีขนาดนี้เลย แม่ดูแล้วรู้เลยว่าหนูตั้ังใจมากๆ
- คราวหน้าถ้ายังทำไม่ได้จะโดนทำโทษ
เปลี่ยนเป็น > นี่ทำได้ดีกว่าครั้งที่แล้วอีกนะ แม่ว่าคราวหน้าหนูต้องทำได้ดีกว่านี้แน่ๆ
- พ่อแม่ยังทำได้เลยทำไมหนูทำไม่ได้
เปลี่ยนเป็น > เก่งนะเนี่ย ตอนพ่อแม่อายุเท่าหนูยังทำแบบนี้ไม่ได้เลย
- แม่เบื่อจะสอนแล้วนะ ทำไมยังทำไม่ได้
เปลี่ยนเป็น > คราวหน้าแม่ขอทำด้วยได้ไหมตะ เดี๋ยวเราทำพร้อมกันนะ แม่ว่าต้องสนุกแน่ๆ ทำไมสอนไม่จำ เปลี่ยนเป็น > ทำเหมือนที่แม่ทำให้ดูได้หลายอย่างเลย เก่งจังลูก คราวหน้าแม่จะลองทำให้ดูอีกแบบหนึ่งดีไหมคะ
อย่าลืมนะคะว่า เด็กทุกคนมีศักยภาพและความสามารถ พ่อแม่จะต้องมองให้เห็นและส่งเสริมอย่างถูกต้องตามช่วงวัยและความถนัดของเขา เพราะ "ลูกเราไม่เหมือนใคร" ดังนั้นการสอน แนะนำ ส่งเสริม จึงมีความเฉพาะตัว และไม่ควรเอาลูกเราไปเปรียบเทียบกับลูกใครด้วยเช่นกัน
การเลือกใช้คำพูดที่ดี เชิงบวก เป็นอีกหนึ่งวิธรกระตุ้นและสร้างกำลังใจให้ลูกได้พอๆ กับการบอก รัก กอด สัมผัส ก่อนพูดอะไรกับลูกเราจึงต้องตั้งสติ คิดให้รอบคอบเสมอค่ะ

เคยสังเกตไหมคะ ว่าลูกวัยกำลังซนของเรานั้น ฟกช้ำ เลือดออกง่ายมาก ไม่ว่าจะ หกล้ม มีดบาด เลือดกำเดาไหลบ่อย เลือดจะหยุดไหลยากอีก
ทำให้พ่อแม่อดห่วงไม่ได้ว่าลูกอาการเข้าข่ายโรคอะไรหรือไม่ วันนี้เรามีโรคมาให้ทำความรู้จักกันชื่อโรคว่า โรควอนวิลลิแบรนด์ (von Willebrand disease) ที่เด็ก ๆ เลือดออกง่ายอาจเป็นโรคนี้ได้ค่ะ
โรควอนวิลลิแบรนด์ หรือ โรคเลือดออกง่าย คือโรคอะไร
โรควอนวิลลิแบรนด์ คือโรคทางกรรมพันธุ์ชนิดหนึ่งที่มีลักษณะทางคลินิกคือ การมีเลือดออกผิดปกติ โดยเกิดจากความผิดปกติของการเกาะยึดและก่อตัวรวมกันของเกล็ดเลือด ผู้ป่วยโรคนี้จึงมีภาวะการมีเลือดออกง่าย ในบริเวณของผิวหนังหรือเยื่อบุผิวต่าง ๆ หลังจากเกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือด เช่น จากอุบัติเหตุ หรือการผ่าตัด
โรควอนวิลลิแบรนด์ วินิจฉัยโรคได้จากประวัติการมีเลือดออกผิดปกติของผู้ป่วย และคนในครอบครัว ร่วมกับการตรวจวัดระดับหรือการทำงานของ vWF และสามารถให้การรักษาได้ด้วยยา desmopressin หรือการให้ vWF ในเลือดบริจาค เป็นต้น

โรคเลือดออกง่าย แบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้
ชนิดที่ 1 เป็นชนิดที่พบมากที่สุดโดยจะพบผู้ป่วย 70-80% ของผู้ป่วยทั้งหมด และถ่ายทอดทางพันธุกรรม อาการของภาวะเลือดออกง่ายในผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีตั้งแต่รุนแรงน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรงปานกลาง
ชนิดที่ 2 พบประมาณ 5% ของผู้ป่วยทั้งหมด มีอาการเกล็ดเลือดต่ำ โดยหากมีภาวะที่ก่อให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น ตั้งครรภ์ หรือผ่าตัด ก็จะแสดงอาการเลือดออกง่าย ภาวะเลือดออกง่ายชนิดนี้มีความรุนแรงแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก
ชนิดที่ 3 พบได้น้อยมาก โดยจะพบผู้ป่วยชนิดนี้ 1 ราย ในประชากร 250,000 ราย จากการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ในประเทศอิหร่านชนิดนี้ จำนวน 385 คน พบว่ามีเลือดออกในข้อ กล้ามเนื้อ ช่อง ปาก และเลือดกำเดาไหล คิดเป็นร้อยละ 37, 52, 70 และ 77 ตามลำดับ
วิธีสังเกตว่าลูกเป็น “โรคเลือดออกง่าย” หรือไม่
พ่อแม่สามารถสังเกตอาการผิดปกติได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ ได้ดังนี้
- มีรอยจ้ำฟกช้ำเกิดขึ้นเอง
- มีเลือดกำเดาไหลบ่อย
- ในขณะที่เลือดกำเดาไหล เลือดจะไหลนาน และมีปริมาณมาก
- หากเป็นผู้หญิงจะมีประจำเดือนมามากและนาน
- มีปัญหาเลือดออกง่ายจากเยื่อบุต่าง ๆ และเกิดเป็นซ้ำบ่อย ๆ
หากพบว่าลูกน้อยมีอาการเลือดออกง่าย ตามข้างต้นแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์นะคะ เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไปค่ะ
ข้อมูลจาก :
อ.นพ.สันติ สิลัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล ภาควชิากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวทิยาลัย

เข้าสู่หน้าฝนอย่างเป็นทางการ แต่อากาศบ้านเราก็ยังคงแดดจ้า อากาศร้อน ฝนตก อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย จนอาจทำให้เจ้าตัวน้อยไม่สบายได้ค่ะ เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รับมือกับโรคหน้าฝนและป้องกันไม่ให้ลูกป่วยได้
มาทำความรู้จักกับ 5 โรคหน้าฝนจะมีโรคอะไรที่เป็นโรคยอดฮิตและพ่อแม่ต้องระวังบ้าง ไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ
5 โรค ที่เด็กเสี่ยงเป็นมากที่สุดในหน้าฝน!
- โรคไข้หวัดใหญ่
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) อาการที่รุนแรงมากกว่าไข้หวัดธรรมดา โดยสังเกตได้จากอาการที่สำคัญคือ มีไข้สูงติดกันหลายวันโดยเฉพาะในเด็กจะมีไข้สูงลอยเกินกว่า 39-40 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 3-4 วัน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างมาก และเบื่ออาหาร
วิธีป้องกัน ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดประมาณ 1-2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดของโลกในทุก ๆ ปี และสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
- โรคมือเท้าปาก
เกิดจากเชื้อไวรัส (Enterovirus 71, Coxsackie) พบมากในฤดูฝน อาการของโรค เด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางรายอาจมีผื่นที่ขา และก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี (อนุบาลถึงประถม) อาการมักหายได้เองภายใน 3-10 วัน
เมื่อเป็นโรคมือเท้าปากแล้ว เด็กบางคนจะทานอาหาร และน้ำไม่ค่อยได้ เพราะเจ็บปากมาก ซึ่งแม้แต่น้ำลายก็ไม่ยอมกลืน ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นอย่าให้เด็กมีไข้สูงเกินไป เพราะอาจจะชักได้ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น สมองอักเสบ เยื้อหุ้มสมองอักเสบ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการ เมื่อผิดปกติต้องรีบพาพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกัน ผู้ปกครองควรดูแลลูกในเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และถ้าไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกไปอยู่ในสถานที่แออัด และควรมีกระติกน้ำ หรือแก้วน้ำส่วนตัวให้ลูกไปใช้กินที่โรงเรียนด้วย รวมถึงปลูกฝัง และฝึกให้ลูกใช้ช้อนกลางขณะรับประทานอาหารทุกครั้งไม่ว่าจะที่โรงเรียน หรือที่บ้านก็ตาม
- โรคไข้เลือดออก
เป็นโรคที่มี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็ก ถ้าได้รับเชื้อแล้ว จะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตา และหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย และปวดท้อง กินยาลดไข้เท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล ปวดเมื้อยตามตัว
วิธีป้องกันอย่าให้ยุงกัดและอย่าให้ยุงเกิด ด้วยการจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดสิ้น และอย่ารอให้เกิดอาการที่รุนแรงก่อนแล้วจึงมาพบแพทย์ เช่น เป็นไข้สูงเกินไป ช็อก หรือมีปัญหาเลือดออกง่าย ต้องรีบพาลูกมาพบแพทย์ทันที
- โรคอีสุกอีใส
อาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้อง ลามไปตามต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ด และแผลเป็นขึ้นได้ มักหายได้เองประมาณ 2-3 สัปดาห์
วิธีป้องกัน ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และจะกระตุ้นอีกครั้งในตอน 4 ขวบ ซึ่งเป็นวัคซีนเสริม ยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด
- โรคไอพีดี (IPD) และปอดบวม
คือโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื้อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรง และอาจทำให้เด็กพิการ หรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาจเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม และชักได้ ส่วนการติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง งอแง ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อก และเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ดีถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกัน ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เด็กทารกควรเริ่มฉีดเมื่ออายุได้ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุได้ 4, 6 และ 12-15 เดือน โดยเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีโรคประจำตัว หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีความเสี่ยงสูง วัคซีนจึงสำคัญ
ช่วงหน้าฝนนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลป้องกันโรคต่าง ๆ จากลูกได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายเป็นประจำและล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอนะคะ
หากลูกมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง กินอาการได้น้อย อาเจียน อ่อนเพลียง่าย มีภาวะขาดน้ำ หรือมีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอบ่อย หายใจเร็ว และกินอาหารได้น้อย ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที เพราะถ้าวินิจฉัยโรคเร็ว ความรุนแรงของโรค และโอกาสที่รักษาให้หายจะมีแนวโน้มมากยิ่งขึ้นค่ะ
จริง ๆ พ่อกับแม่ทุกคนพยายามเป็นพ่อแม่ที่ดีอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็เผลอเปรียบเทียบลูกแบบไม่รู้ตัวด้วยคำพูดลอย ๆ เช่น “ทำไมลูกกินไม่เก่ง แบบเด็กคนอื่นเลยนะ” “อยู่นิ่ง ๆ ไม่เป็นเลยหรือไง ทำตัวให้มันน่ารักแบบน้องบ้าง” เป็นต้น
รู้ไหมคะ ว่าการพูดเปรียบเทียบลูก จะทำให้ลูกไม่มีความมั่นใจในตัวเอง พัฒนาการถดถอย ขาด EF เมื่อโตขึ้น บางครั้งอาจทำให้ลูกต่อต้านทำตรงกันข้ามได้ หากพ่อกับแม่ไม่ระวังคำพูดนะคะ
สาเหตุที่พ่อกับแม่มักจะเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น
-
เปรียบเทียบเพราะรู้สึกปรารถนาดี อยากให้ลูกเห็นต้นแบบดี ๆ บ้าง
-
เปรียบเทียบเพราะความคาดหวังอยู่ลึก ๆ อยากให้มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น
-
เปรียบเทียบเพราะรู้สึกโกรธ โมโห เพราะลูกไม่ได้ดั่งใจ
หากพ่อกับแม่กำลังมีความรู้สึกว่าอยากให้ลูกเห็นต้นแบบที่ดี อยากให้ลูกมีพฤติกรรมดีขึ้น ด้วยการใช้วิธีเปรียบเทียบ ขอบอกว่าสร้างผลกระทบแย่ ๆ ต่อจิตใจของเด็ก ๆ มากนะคะ ไม่ควรเปรียบเทียบลูกเลย ไม่ว่ากรณีใด ๆ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อจิตใจของลูก
-
ลูกจะรู้สึกแย่กับตนเอง จะรู้สึกว่าตนเองเป็นเด็กไม่ดี ไม่มีความสามารถทำได้เหมือนคนอื่น ทำให้รู้สึกด้อยค่า มองไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ไม่กล้าแสดงออก ไม่มั่นใจในตนเอง นานวันเข้าจะไม่กล้าลงมือทำอะไรเพราะขาดความมั่นใจ
-
ลูกจะรู้สึกโกรธ อิจฉา หรือแสดงพฤติกรรมต่อต้าน รุนแรง ก้าวร้าวตอบโต้กลับไป มีน้อยมากที่อาจจะฮึดสู้กับคำพูดเปรียบเทียบของพ่อแม่ และกลายเป็นแรงผลักดันในการทำสิ่งที่ดี ๆ
สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ผู้ควรมองเห็นคือ เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้ง หน้าตา ท่าทาง พฤติกรรมการแสดงออก รวมทั้งศักยภาพและความสามารถ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่นเลย

หากเคยพลาดเปรียบเทียบลูกแล้ว นี่คือสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
-
ให้เลิกเปรียบเทียบลูกกับพี่น้อง หรือ เด็กคนอื่น เลิกเด็ดขาด
-
พาลูกไปทำกิจกรรมที่ชอบ เพื่อต่อยอดให้ลูกได้ค้นหาศักยภาพในตัวเอง และเปิดโอกาสให้ลูกแสดงศักยภาพเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ เช่น ลูกคนแรกชอบร้องเพลง ลูกคนที่สองชอบเรียนวิทยาศาสตร์ ก็พาลูกไปเรียนเพิ่มเติมได้
-
ให้กำลังใจลูก เมื่อลูกกำลังพยายามทำบางอย่าง ด้วยการกอดลูก ลูบหัวลูก และพูดให้กำลัง เช่น “แม่ภูมิใจมากเลย ที่ลูกพยายามเรียนเปียโน แม้มันจะยากอยู่บ้างนะ” ลูกจะได้มีขวัญกำลังใจดี จะเห็นคุณค่าในตนเองสูง สร้าง Family Attachment ให้ครอบครัวได้ดี ลูกจะมีความเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือเชื่อฟัง มีความพยายามทำสิ่งใหม่ๆ และมีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย
-
ชื่นชมลูก ในสิ่งที่ลูกเป็น ในสิ่งที่เด็กหรือสามารถทำได้ดี แม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ชื่นชมได้ เช่น “ดีมากเลยที่ลูกเป็นเพื่อนเล่นกับน้อง หนูเป็นพี่สาวที่น่ารักมากเลย” “ หนูพยายามดีมากค่ะ รูปวาดสีสันสวยงามมาก”
เห็นไหมคะ ว่ามีอีกหลายวิธีที่ไม่ต้องเปรียบเทียบลูกเพื่อให้ลูกดีขึ้น แต่เรามาใช้วิธีเลี้ยงลูกเชิงส้รางสรรค์กันดีกว่าด้วยการให้ความรัก ให้คำชม กอดสม่ำเสมอ พาไปทำกิจกรรมด้วยกัน และสุดท้ายไม่เปรียบเทียบลูกกับทุกสิ่งบนโลก เท่านี้ลูกก็เป็นเด็กมีความสุขได้แล้วนะคะ