facebook  youtube  line

ลูกเป็น Perfectionism โรคสมบูรณ์แบบ หรือไม่ อาการที่พ่อแม่ควรเข้าใจ

การเลี้ยงลูก-พัฒนาการ-สอนลูก

เช็ก! ลูกเป็นโรคชอบความสมบูรณ์แบบหรือไม่

Perfectionism โรคสมบูรณ์แบบเป็นโรคที่พ่อแม่ทุกคนควรรู้จักไว้นะคะ เพราะเด็กทุกคนมีโอกาสเป็นได้ ลักษณะของโรคคือมีความเป๊ะเกินไป ในหลาย ๆ เรื่อง ทำอะไรต้องอยู่ในกรอบ ผิดพลาดไม่ได้ หรือหากผิดพลาดจะส่งผลต่ออารมณ์ เศร้าเสียใจหนักมาก โกรธ โมโหรุนแรง หากปล่อยเอาไว้ลูกอาจกดดันตนเองจนสะสมเป็นความเครียด และส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ 

มารู้จักลักษณะเด็ก Perfectionist กันเลยค่ะ

1. คาดหวังสูงกับตัวเอง

 

2. คิดแต่ว่าคนอื่นจะมองยังไง รู้สึกแย่ถึงแย่ที่สุด ถ้าทำอะไรผิดพลาดต่อหน้าคนอื่น

 

3. หวั่นไหวง่ายมาก เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์

 

4. ถ้าต้องทำอะไรที่คิดแล้วว่าทำได้ไม่ดี จะพยายามหลีกเลี่ยงสุดฤทธิ์

 

5. พยายามปกปิดว่าตัวเองรู้สึกยังไง และไม่ค่อยอยากสุงสิงกับคนอื่นเท่าไหร่

 

6. จัดลำดับความสำคัญไม่ค่อยเป็น ลังเลไปมา ตัดสินใจไม่ได้เสียที ไม่เลือกทางไหนไปสักทาง

 

7. ถ้าทำอะไรแล้วผลลัพธ์ออกมาแย่กว่าที่คาด อาจมีอาการ ทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง บ่อย ๆ

 

3090 2

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เด็ก perfectionist มาจากสองอย่างหลัก คือ ติดสมองเด็กมาตั้งแต่เกิด และ จากการเลี้ยงดู

1. ได้รับคำชม “เยอะเกิน” จากคนรอบตัว ซึ่งก็เป็นได้ว่าตัวเด็กเองก็มีบางอย่างให้น่าชมเชยจริงๆ เช่น สองขวบก็อ่านหนังสืออกแล้ว หรือมีทักษะดนตรี กีฬาบางอย่างที่โดดเด่น ใครเห็นเป็นต้องชม 

 

2. พ่อแม่ “เรียกร้อง” จากลูก “เยอะมาก” คาดหวังสูงจากลูก ในลักษณะตึงเครียด ตัวเด็กเองต้องพยายาม “ตะเกียกตะกาย” ไปให้ถึงจุดที่พ่อแม่คาดหวังเอาไว้ จึงจะอยู่ในครอบครัวนี้ได้

 

3. พ่อแม่คนใดคนหนึ่งมีลักษณะ perfectionist ต้นแบบอย่างนี้ทำให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว

 

4. พ่อแม่สร้างเงื่อนไขให้ลูกเข้าใจว่า ลูกจะได้รับความรักจากพ่อแม่ ต่อเมื่อลูกประสบความสำเร็จอย่างที่พ่อแม่หวังไว้เท่านั้น ข้อสุดท้ายนี้ พ่อแม่มักไม่รู้ตัวว่าเราเองพูด หรือแสดงท่าทีอะไรออกไปบ้าง แต่ลูกเข้าใจไปเรียบร้อยแล้วว่าคนไหนไม่เก่งพอ ไม่แจ๋วพอ ไม่ดีพอ พ่อแม่จะรักน้อยกว่าลูกคนอื่น ๆ

การปล่อยให้เด็ก perfectionist โตไปเป็นผู้ใหญ่ perfectionist โดยไม่ช่วยเหลือลูกให้เต็มที่ก่อน ถือเป็นการทำร้ายเด็ก (โดยไม่เจตนา) ใครที่มีลักษณะ perfectionist คงเข้าใจถึงความทุกข์ จากความตึงเครียดเกินไปของตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว

 

พ่อแม่สามารถช่วยปรับลด เพื่อไม่ให้ลูกเป็น perfectionist  ได้ดังนี้

1. พ่อและแม่ต้องปรับทัศนคติตัวเองก่อน

ชีวิตลูกเป็นของเขา พ่อแม่ ผู้ปกครองมีหน้าที่ในการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้าน ให้เขาได้เติบโตสมวัยและรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ทำสิ่งใดได้ดี และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในแบบของเขา อย่าพยายามคิดว่าลูกเป็นของเราหรือยัดเยียดให้ต้องทำตามที่พ่อแม่ต้องการเท่านั้น การทำความเข้าใจและยอมรับในตัวลูกมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างภูมิต้านทานในตัวลูก

2. ฝึกให้ลูกชนะได้ก็แพ้ได้

พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าในทุกเรื่องมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ การชนะในวันนี้ไม่ได้หมายว่าความจะชนะตลอดไป เพราะเมื่อมีคนชนะก็ย่อมต้องมีคนแพ้เสมอ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโอกาสชนะและแพ้ได้เท่าๆ กัน ผู้ชนะก็ควรชื่นชมผู้แพ้ ในขณะเดียวกัน เมื่อแพ้ก็ควรยินดีกับผู้ชนะ ลูกต้องรู้จักการเป็นทั้ง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” แล้วลูกจะเข้าใจความรู้สึกและไม่ยึดติดกับการต้องเป็นผู้ชนะเท่านั้น และเมื่อแพ้ ก็ต้องไม่สิ้นหวัง ต้องมีพลังและทัศนคติที่จะผลักดันให้มีความพยายามในครั้งต่อไป

3. มองลูกด้วยสายตาความเป็นจริง

ต้องประเมินศักยภาพลูกของเราด้วยสายตาที่เป็นจริง ไม่ใช่สายตาที่พ่อแม่อยากให้เป็น เพราะมันจะมีความแตกต่างกันมาก ถ้าลูกของเราไม่ใช่เด็กหัวดีประเภทหน้าห้อง ก็ควรส่งเสริมให้ลูกตั้งใจเรียนให้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ และมีความสุขกับการเรียน อย่าพยายามกดดันเปลี่ยนตัวตนของลูกด้วยการให้ลูกเรียนพิเศษเพื่อจะได้เรียนเก่งเหมือนคนอื่น เปลี่ยนเป็นส่งเสริมให้ลูกเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ไม่กดดัน โดยพ่อแม่เข้าไปมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เขารับผิดชอบต่อการเรียนของตัวเอง ทำให้เต็มที่ และให้ความมั่นใจกับลูกว่า ไม่ว่าผลการเรียนออกมาจะเป็นอย่างไรถ้าลูกทำเต็มที่แล้ว พ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวลูก

4. ลดความคาดหวังลง

กรณีที่ลูกเรียนเก่งอยู่แล้ว ก็มักเป็นที่คาดหวังของพ่อแม่ อยากให้ได้เรียนที่ดีๆ ได้เกรดดีๆ แต่สำหรับคนที่เรียนไม่ดี พ่อแม่ก็ควรลดความคาดหวังลง ไม่ต้องถึงขนาดเคี่ยวเข็ญมาก เพราะจะทำให้ลูกไม่ต้องกดดันมากจนเกินไป เขายังสามารถเดินตามความฝันของเขาได้เต็มที่แบบไม่ต้องเครียด

5. อย่าเปรียบเทียบ

กรณีครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน พ่อแม่ต้องระมัดระวังความรู้สึกของลูกอีกคนด้วย ถ้าจะชื่นชมลูกคนโตก็ควรสอนให้ลูกอีกคนชื่นชมยินดีและให้กำลังใจพี่คนโตด้วย และพยายามทำให้อยู่บนความพอดีพอเหมาะ ไม่ใช่ออกนอกหน้า โดยไม่ได้สนใจความรู้สึกของลูกอีกคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยหรือแม้แต่นำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ก็ไม่ควรทำ เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความสามารถเฉพาะตัว และมีพื้นนิสัยที่แตกต่างกันอยู่แล้ว

6. เรียนรู้แบบมีเป้าหมาย

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่สามารถปลูกฝังและสอดแทรกไปกับการเรียนรู้เรื่องแพ้-ชนะ คือ ความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมาย โดยใส่ใจในรายละเอียดระหว่างทางด้วย ให้เขาได้เห็นความสำคัญของทักษะชีวิตในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ความอดทน ความพยายาม การเรียนรู้ความผิดพลาด ฯลฯ รวมไปถึงการฝึกให้เขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต 

ลูกเป็นต่อมทอลซิลอักเสบ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง เพราะอาจลามไปโรคหัวใจได้

ต่อมทอลซิลอักเสบ-โรคเด็ก-ต่อมทอลซิล

ลูกเป็นต่อมทอลซิลอักเสบ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง เพราะอาจลามไปโรคหัวใจได้

ต่อมทอนซิล เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในลำคอ เป็นต่อมน้ำเหลืองที่ทำหน้าที่จับสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรียที่เข้าสู่ร่างกาย คล้ายกองทหารด่านหน้า ซึ่งมักพบบ่อยในเด็กวัยเรียน ส่วนความรุนแรงของโรคนั้น อาการทั่วไปก็รักษาได้ไม่ยาก แต่ถ้าติดเชื้อเข้าก็มีอาการรุนแรงได้เช่นกัน 

ต่อมทอนซิลเกิดจากอะไร
  1. เชื้อไวรัสเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่กินยาและรักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ ลูกก็จะฟื้นตัวหายดีภายในระยะเวลาอันสั้น

  2. เชื้อแบคทีเรียโดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อเบตา สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เด็กที่ป่วยจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะถ้าได้รับการรักษาไม่ถูกวิธี กินยาไม่ครบขนาด หรือใช้ยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะกำจัดเชื้อชนิดนี้ได้ แม้อาการจะทุเลาลงแต่ก็มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงได้เช่นกัน

 


 

อาการเมื่อลูกเป็นทอนซิลอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
  1. ไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ บางรายอาจมีไข้สูงจนชักได้
  2. อ่อนเพลีย หรืออาจโยเย ร้องกวนไม่ยอมนอน
  3. เบื่ออาหาร
  4. คอหรือต่อมทอลซิลแดง บางรายอาจมีหนองร่วมด้วย
  5. อาจกลืนอาหารและน้ำลำบาก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
  6. อาจอาเจียน ปวดท้อง หรือมีอาการท้องเดินร่วมด้วย
โรคแทรกซ้อนที่สำคัญ

เชื้อเบตา สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อหัวใจของเด็ก โดยที่เชื้อนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของข้อต่างๆ และมักมีอาการอักเสบของหัวใจร่วมด้วย เรียกว่า "ไข้รูมาติก" 

โดยทั่วไปจะพบภายหลังคออักเสบหรือต่อมทอนซิลอักเสบแล้วไม่ได้รับการรักษาภายใน 1 - 4 สัปดาห์ ทั้งนี้หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง หรือปล่อยให้อาการกำเริบซ้ำๆ จะทำให้หัวใจอักเสบเรื้อรัง และในที่สุดหัวใจก็จะตีบและรั่ว หรือที่เรียกว่า "โรคหัวใจรูมาติก" บางรายอาจต้องได้รับการการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ (ซึ่งค่ารักษาแพงมาก) นอกจากนี้เชื้อกลุ่มนี้ยังทำให้เกิดอาการไตอักเสบได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

ข้อแนะนำในการรักษาคออักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย
  1. หลังจากแพทย์วินิจฉัยอาการ และสั่งยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อเบตา สเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ เช่น เพนิซิลิน อีริโทรมัยซิน คลาริโทรไมซิน ให้แล้ว ข้อสำคัญ คือ เด็กป่วยจะต้องกินยาต่อเนื่อง 7 - 10 วันจนครบ แม้อาการจะทุเลาแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไข้รูมาติก หรือไตอักเสบแทรกซ้อน

  2. เช็ดตัว ร่วมกับการให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้สูง

  3. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ

  4. กินอาหารรสอ่อน ๆ และดื่มน้ำหวานบ่อยๆ เนื่องจากเด็กจะเจ็บคอมากทำให้กินได้น้อย

  5. กลั้วคอทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ วันละ 2 - 3 ครั้ง

ข้อระวังคออักเสบ หรือต่อมทอนซิล

หากคนที่บ้านหรือเด็กๆ มีไข้ เจ็บคอมาก ให้นึกถึงโรคคออักเสบ หรือต่อมทอนซิลอักเสบไว้ด้วยเสมอ และควรรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ และปฏิบัติตนตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด

แม้ว่าอาการคออักเสบ และต่อมทอนซิลอักเสบ จะเป็นความผิดปรกติที่ไม่รุนแรงต่อสุขภาพมากนัก แต่หากทิ้งไว้ก็อาจเป็นสาเหตุเริ่มต้นของ "ไข้รูมาติก" และ "โรคหัวใจรูมาติก" ดังนั้นถ้าเด็กๆ ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และปฏิบัติตนตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด โอกาสที่จะเกิดความผิดปกติทั้งสองอาการที่กล่าวมาก็จะเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญอย่าซื้อยากินเองเด็ดขาดเด็ดขาด 

 

ที่มา : ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฏสุนทร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ลูกเป็นเด็กขี้อิจฉา ปัญหานี้แก้ยังไงดี

การเลี้ยงลูก-พฤติกรรมเด็ก-ลูกดื้อ-ลูกก้าวร้าว

ครอบครัวไหนที่มีลูกหลาย ๆ คน อาจจะกำลังเผชิญปัญหานี้กันอยู่ใช่ไหมคะ ลูกขี้อิจฉา ลูกมักจะชอบแย่งชิงความรักความสนใจจากพ่อแม่ หรือพี่อิจฉาน้อง น้องอิจฉาพี่ และอีกสารพัดความขี้อิจฉา ปัญหานี้แก้ยังไงก็ไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่เมื่อเห็นลูก ๆ ทะเลาะกันทีไรใจแทบสลายกันทีเดียว วันนี้เรามีวิธีทำให้พี่น้องรักกันและไม่อิจฉากันมาแนะนำค่ะ

 

สาเหตุที่ทำลูกเป็นเด็กขี้อิจฉา

1.ครอบครัวมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้น

การมีสมาชิกเพิ่มขึ้นภายในครอบครัวถือว่าป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง แต่จะเป็นปัญหาก็ตรงที่ลูกคนโตมักจะรู้สึกอิจฉาน้อง เพราะคิดว่าคุณพ่อคุณแม่รักลูกไม่เท่ากัน หรือรักน้องมากกว่าตนเอง บางครั้งรู้สึกน้อยใจ เก็บกด เลยทำทุกอย่างเพื่อให้พ่อแม่กลับมารักตน หากปล่อยลูกให้เข้าใจผิดหรือคิดไปเองแบบนี้นาน ๆ ความรู้สึกหรือความหวาดระแวงทุกอย่างที่มีอยู่ภายในจิตใจของลูกก็จะเพิ่มอัตราขึ้นเรื่อย ๆ จนก่อเกิดเป็นความอิฉาริษยา ทำให้ลูกเป็นเด็กมีปัญหาได้นะคะ

2.รู้สึกว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน

สาเหตุที่ลูกชอบคิดว่าพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน ก็เพราะว่าลูกรู้สึกโดนแย่งชิงความรักไป เช่น พ่อแม่รักลูกคนเล็กมากกว่าคนโต รักลูกผู้ชายมากกว่าผู้หญิง หรือทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจเหมือนคนอื่น ๆ เขา บางทีก็โดนเปรีบยเทียบนู่นนี่นั่นอยู่เสมอ ทำให้ลูกรู้สึกท้อและไม่กล้าลงมือทำอะไร เพราะกลัวผิดและหวาดระแวงไปซะทุกเรื่อง

3.ฐานะครอบครัว

ฐานะครอบครัวก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเลี้ยงดูลูก เพราะเด็กทุกคนย่อมมีเพื่อนในวัยเรียน เวลาเพื่อนเอาของเล่นมาเล่น หรือเสิ่งของที่มีราคาแพง ๆ แน่นอนว่าเด็กที่ไม่มีของหล่านนี้ก็จะรู้สึกอิจฉาตาร้อนขึ้นมาทันที ความอยากได้อยากมีในวัยเด็กมักเป็นเป็นเรื่องธรรมดา เด็กบางคนถึงกับขโมยของคนอื่นมาครอบครองไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดและไม่ควรทำอย่างยิ่ง ดังนั้นทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรแนะนำและพูดจากับลูกให้ดี ๆ นะคะ อาจจะใช้คำพูดที่สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกก็ได้ เช่น ถ้าลูกสอบได้ที่หนึ่งเดี๋ยวพ่อกับแม่จะซื้อของเล่นให้

 

ลูกเป็นเด็กขี้อิจฉา...รู้ได้อย่างไร

1.เริ่มมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเอาแต่ใจ

เด็กขี้อิจฉาเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว มักจะแสดงอาการอิจฉาโดยการร้องไห้โยเยไม่มีเหตุผล ดื้อไม่ยอมเชื่อฟัง เมื่อไม่ได้ดั่งใจมักจะทำลายข้าวของ ทำร้ายตัวเอง หรือชอบแกล้งคนอื่นอยู่เสมอ

2.ขี้งอแงหรือเจ็บป่วยบ่อย ๆ โดยไม่มีสาเหตุ

เด็กขี้อิจฉามักจะเรียกร้องความรักความสนใจจากผู้อื่นเสมอ เช่น แกล้งป่วย แกล้งงอแง ไม่มีแรงเดิน ปวดหัว เวลาที่คุณพ่อคุณแม่พาไปหาหมอก็ไม่พบสาเหตุว่าป่วยป็นอะไร

 

วิธีแก้ไขลูกเป็นเด็กขี้อิจฉา

1.เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมขี้อิจฉาหรือก้าวร้าวออกมาให้เห็น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือลงโทษลูก เพราะลูกจะรู้สึกน้อยใจและก้าวร้าวมากขึ้นกว่าเดิม ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรใช้เหตุผลและค่อย ๆ พูดกับลูกดี ๆ เพราะเด็กทุกคนย่อมมีเหตุผลและความต้องการเป็นของตัวเอง

2.คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลากับลูกให้มากขึ้น ชวนลูกทำกิจกรรม พูดคุย หรือพาลูกไปเที่ยวพักผ่อนบ้างก็ดีนะคะ นอกจากจะช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นแล้ว ยังช่วยให้ลูกรู้จักโลกภายนอกได้มากขึ้นด้วยค่ะ

3.หากแม่กำลังตั้งครรภ์ ควรเปิดโอกาสหรือบอกเหตุผลให้ลูกได้รู้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ลูกได้สัมผ้สและพูดคุยกับน้องในท้อง และหาโอกาสพาลูกไปเลือกซื้อของใช้น้อง เช่น ขวดนม ผ้าอ้อม เสื้อผ้าเด็ก ลูกจะได้มีส่วนร่วมและรู้สึกรักและหวงแหนน้องมากขึ้นค่ะ

 

เป็นยังไงบ้างคะ คุณพ่อคุณแม่ลองสำรวจหรือหาสาเหตุกันดูนะ ว่าลูกของเราเป็นเด็กขี้อิจฉาหรือไม่ จะได้รีบแก้ไขให้ถูกวิธี แต่อย่างไรก็อย่าลืมหาเวลาว่างพูดคุยกับลูกให้มาก ๆ นะคะ เพราะเด็กทุกคนย่อมต้องการความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่เสมอ

 

ลูกเป็นโรคติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia) หรือไม่ มาเช็กกัน!

ติดมือถือ, ติดโทรศัพท์มือถือ, โรคติดมือถือ, โรคติดโทรศัพท์มือถือ, Nomophobia

ลูกเป็นโรคติดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia) หรือเปล่า มาเช็กกัน!

โรคติดโทรศัพท์มือถือ หรือ Nomophobia มาจากคำว่า no mobile phone phobia มีพฤติกรรมติดอยู่กับการเล่นโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา

อาการของโรคติดโทรศัพท์มือถือ

• พกมือถือติดตัวตลอดเวลา ต้องวางไว้ใกล้ตัวเสมอ

• รู้สึกกังวลเมื่อมือถือไม่ได้อยู่กับตัวหรือแบตเตอรี่หมด

• คอยเช็กข้อความจากโซเชียลมีเดีย หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูบ่อยๆ แม้ไม่มีเรื่องด่วน

• ตื่นนอนจะเช็กโทรศัพท์ก่อนและยังคงเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน

• ติดเกม

• ใช้เวลาพูดคุยกับผู้คนผ่านโทรศัพท์ในโลกออนไลน์มากกว่าพูดคุยกับคนรอบข้าง

 

โรคติดโทรศัพท์มือถือพบในกลุ่มเยาวชนอายุ 18-24 ปี มากถึงร้อยละ 70 รองลงมาคือกลุ่มคนวัยทำงาน ช่วงอายุ 25-34 ปี และกลุ่มวัยใกล้เกษียณ 55 ปีขึ้นไป

มีงานวิจัยจากโครงการ The World Unplugged Project ทีมนักวิจัยได้ศึกษานักเรียนกว่า 1,000 คน จาก 10 ประเทศ โดยให้เด็กนักเรียนงดใช้โทรศัพท์มือถือ 1 วัน พบว่ามีเด็กมากกว่า 50 % ที่ไม่สามารถทนอยู่ได้โดยไม่มีเครื่องมือสื่อสารใด ๆ และกลุ่มตัวอย่างทุกคนก็รู้สึกทรมานมาก หลายคนยอมรับว่าติดโทรศัพท์เหมือนติดยาเสพติด ถ้าไม่มีมันก็อยู่ไม่ได้ เขารู้สึกเหมือน สับสน กระวนกระวาย โกรธ โดดเดี่ยว ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ตกใจ หงุดหงิด ฯลฯ

อาการติดโทรศัพท์มือถือส่งผลกระทบกับลูก

Young Asian Thai boy using a smartphone to play game and listen to music without care the surrounding and he has a problem with headache and eye pain.

1.อาการติดโทรศัพท์มือถือทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น

• เกิดนิ้วล็อก เกิดจากการใช้นิ้วกด จิ้ม สไลด์หน้าจอเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อมัดเล็กมีพัฒนาการล่าช้า

• สายตาเสีย ตาล้า ตาพร่า ตาแห้ง เพราะเพ่งสายตาจ้องหน้าจอเล็กๆ ที่มีแสงจ้านานเกินไป อาจส่งผลให้วุ้นในตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม

• ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ จากการก้มหน้า

• เกิดโรคอ้วน เพราะไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย

2.อาการติดโทรศัพท์มือถือทำลูกพูดน้อยลง มีปฏิสัมพันธ์น้อยลง พูดคุยผ่านมือถือมากขึ้น ทำลูกใช้ภาษาแย่ลง

3.อาการติดโทรศัพท์มือถือพาลูกชอบแยกตัวออกจากสังคม

4.อาการติดโทรศัพท์มือถือทำให้ลูกอยู่กับตัวเองไม่เป็น พึงพาตัวเองไม่ได้ แต่ชอบอาศัยพึ่งพิงโลกเสมือนในออนไลน์

5.อาการติดโทรศัพท์มือถือทำลูกขาดโอกาสเรียนรู้สิ่งรอบตัว ทักษะเรื่องสังเกตน้อยลง ทำลูกห่างไกลธรรมชาติ

 

วิธีแก้เมื่อลูกติดโทรศัพท์มือถือ

• หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ต่อหน้าลูก

• กำหนดช่วงเวลาในการใช้แต่ละวัน เด็กเล็กต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรให้ใช้มือถือ ทีวี คอมพิวเตอร์ เด็กอายุ 1-5 ปี จำกัดวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง

• ใช้โทรศัพท์ร่วมกับลูก ดูไปพร้อมกับลูก เพื่อสอดส่องการรับสื่อของเขา

• หากิจกรรมงานอดิเรกทำกับลูก ชวนลูกเล่นต่างๆ ก็สามารถพาลูกออกจากหน้าจอสี่เหลี่ยมได้ค่ะ

 

อันที่จริงไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่ติดโทรศัพท์มือถือ คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องระมัดระวังโรคนี้เช่นกัน เพราะไม่เพียงกระทบกับสุขภาพและการดำเนินชีวิต แต่ยังส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยค่ะ

 

 

อ้างอิง

https://www.rama.mahidol.ac.th/

https://www.dmh.go.th/






บทความแนะนำ

ลูกจะเลิกติดมือถือได้ พ่อแม่ต้องเริ่มจาก 5 ข้อนี้ ทำได้! ลูกพัฒนาการกลับมาดี

​ลูกเราจะ‘ช่วยเหลือแบ่งปัน’กันได้เอง ถ้าพ่อแม่ฝึกฝนด้วย 5 วิธีต่อไปนี้

สอนลูกรู้จักการแบ่งปัน, แบ่งปัน, สอนลูก, พี่น้อง, พี่น้องรักกัน, พี่น้องไม่อิจฉากัน, พี่น้องแบ่งปันกัน 

การสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น คือการเตรียมความพร้อมให้ลูกทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง เพื่อให้ลูกรู้จักปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ มีเพื่อนใหม่ และการเรียนรู้ใหม่ๆ หากไม่เริ่มตั้งแต่เด็กๆ โตไปอาจจะสอนยากขึ้นนะคะ เราจึงมีคำแนะนำในการสอนให้ได้ผลดังนี้ค่ะ

​ลูกเราจะ‘ช่วยเหลือแบ่งปัน’กันได้เอง ถ้าพ่อแม่ฝึกฝนด้วย 5 วิธีต่อไปนี้

  1. ปล่อยให้ลูกคิดและลงมือทำเอง

เด็กๆ อยู่ในวัยอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง คุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ลองคิดและลงมือทำเอง ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่คอยดูแลและสนับสนุนอยู่ใกล้ๆ เพื่อทำให้ลูกมีความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ทุกวันค่ะ

  1. สอนให้เข้าใจผู้อื่น

โดยสอนจากเรื่องใกล้ตัวได้ เช่น เวลาหนูโดนเพื่อนตีแรงๆ หนูจะเจ็บและไม่อยากเล่นกับเพื่อนคนนั้น ถ้าหนูไปตีเพื่อน เพื่อนก็จะเจ็บไม่อยากเล่นกับหนูเหมือนกันให้สอนทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ ลูกจะได้เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น

  1. การสอนให้แบ่งปัน

คุณแม่สอนได้ง่ายๆ ด้วยการให้ลูกแบ่งขนมหรือของเล่นกับคุณแม่ก่อน จากนั้นค่อยๆ สอนให้แบ่งกับเพื่อน ซึ่งจะช่วยให้ลูกไม่หวงของ รู้จักแบ่งปัน

  1. สอนให้ช่วยเหลือผู้อื่น

สิ่งเหล่านี้จะได้ติดเป็นนิสัยที่ทำโดยอัตโนมัติ ไม่หวังสิ่งใดตอบแทนใดๆ เริ่มจากให้ลูกช่วยแม่ถือของ ให้ลูกช่วยพ่อรดน้ำต้นไม้ หรือหากไปเจอเหตุการณ์คนอื่นช่วยคนแก่ข้ามถนน ก็ให้สอนว่าลูกว่า เขากำลังทำความดีอยู่ หากลูกมีโอกาสได้ช่วย ก็ควรช่วยนะ

  1. พาทำกิจกรรมจิตอาสา

ให้คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกมาเลือกของเล่น หรือเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาค นอกจากจะช่วยฝึกให้เขารู้จักแยกแยะของที่จำเป็น และไม่จำเป็นแล้ว ยังช่วยฝึกให้ลูกรู้จักกิจกรรมจิตอาสาแบ่งปันผู้อื่น และเมื่อโตขึ้นกว่านี้ ลูกจะเข้าใจได้เองว่าทำไมต้องช่วยเหลือผู้อื่น

 

ไม่ยากเลยใช่ไหมคะที่จะสอนให้ลูกมีน้ำใจ รู้จักแบ่งปัน อีกหนึ่งวิธีที่เด็ดที่สุดคือ พ่อแม่นี่ล่ะค่ะต้องทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นเสมอ เช่น พ่อแม่แบ่งขนมให้ลูก แบ่งขนมกับคนข้างบ้าน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสอนเรื่องน้ำใจแล้ว ยังเป็นการสร้างสังคมเพื่อนที่ดีที่คอยช่วยเหลือกันได้ด้วยค่ะ

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก





 

ลูกไม่ชอบเดิน เสี่ยงกล้ามเนื้ออ่อนแอ

การเลี้ยงลูก-พัฒนาการร่างกาย-การเดิน-สุขภาพ-ปัญหาสุขภาพ-กล้ามเนื้ออ่อนแรง 

วิถีชีวิตของเด็กวัยอนุบาลหลายอย่าง เช่น นั่งรถไปโรงเรียนนานๆ นั่งเรียนจนถึงบ่าย นั่งทำการบ้าน ทำให้ให้การเดินน้อยลง มีผลต่อสมาธิ การวางแผน การจัดการ การควบคุมตัวเอง และผลการเรียนที่ด้อยกว่าเด็กที่เดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอค่ะ


เคลื่อนไหวน้อยมีผลเสีย

  • พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อลดลง เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย กล้ามเนื้อจึงใช้งานน้อย เพราะเด็กๆ จะพัฒนากล้ามเนื้อทั้งมัดใหญ่และเล็กผ่านการเคลื่อนไหว อย่างการเดิน การวิ่ง การปีนป่าย
  • พัฒนาการด้านมิติสัมพันธ์ลดลงเนื่องจากเวลาที่ลูกเดิน สำรวจ และเล่นนั้น การทำงานของร่างกายส่วนต่างๆ จะสัมพันธ์กัน ทั้งการมองเห็น คำนวนระยะทางในสมอง กะแรงของตัวเอง และเมื่อไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย จึงขาดการฝึกฝนและโอกาสเรียนรู้ต่างๆ

การเคลื่อนไหวหรือการเดินเป็นประจำ สม่ำเสมอนั้นจะทำให้ลูกมีสมาธิดีขึ้น นอนหลับสนิทขึ้น มีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการด้านต่าง ๆ ชัดเจน
 
  • กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงการเคลื่อนไหวร่างกายประเภทที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น อย่างการเดินเร็ว หรือการวิ่ง เป็นการบริหารกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ลูกเหนื่อยช้าลง โอกาสที่ลูกจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้น
  • เพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อในผู้ใหญ่คือการยกน้ำหนัก แต่ในเด็กวัยนี้ คือการปีนป่าย ช่วยคุณพ่อคุณแม่ยกของ ถือของ ก็เป็นวิธีเพิ่มกล้ามเนื้อได้เช่นกัน ลูกจะมีระบบเผาผลาญที่ดีขึ้น ช่วยเรื่องการย่อยและการขับถ่ายได้
  • เพิ่มความแข็งแรงของกระดูกอย่างการเคลื่อนไหวร่างกายที่มีแรงกระแทกนั้น จะทำให้ส่วนสูงของลูกเพิ่ม เนื่องจากร่างกายรับรู้ว่าได้รับแรงกระแทก ก็จะเพิ่มแคลเซียมในบริเวณที่โดนกระแทกบ่อย ทำให้ส่วนสูงของลูกเพิ่มขึ้นนั่นเอง

  

ชวนลูกเดินอย่างไรดี

1. การเดินอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ วันละ ½ - 1 ชั่วโมง อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน 

2. เดินให้ลูกเห็น พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็น เรียนรู้ และทำตามก่อน คือสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกค่ะ เช่น การขึ้นลง 1–3 ชั้น ก็เดินแทนการขึ้นลิฟท์หรือบันไดเลื่อน เป็นต้น

3. เดินจากสิ่งที่ลูกชอบ ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ลูกชอบ เช่น ถ้าลูกชอบอ่านหนังสือ ก็พาลูกเดินไปร้านหนังสือ ดูหนังสือจากร้านนี้แล้วไปร้านที่อยู่ใกล้กันต่อ แล้วจะเดินกลับมาร้านเดิมก็ยังได้

4. เปลี่ยนการเดิน เป็นการเล่น การละเล่นของพ่อแม่ตอนเด็กๆ ก็เอามาเล่นกับลูกได้ เช่น เล่นงูกินหาง เก้าอี้ดนตรี ตั้งเต เล่นไล่จับ เล่นซ่อนแอบ รำวงก็ยังได้เลยค่ะ 

 

การเดินไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ให้เข้ากับวิถีชีวิตของแต่ละครอบครัว คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะนอกจากลูกจะมีพัฒนาการตามวัย สุขภาพกายสุขภาพใจดีขึ้น ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วยค่ะ

ลูกไม่สูง ลูกตัวเตี้ยกว่าเด็กคนอื่น เพราะอาจขาดโกรท ฮอร์โมน

 ลูกไม่สูง-ลูกตัวเตี้ย-ลูกเตี้ย-โกรทฮอร์โมน-เด็กตัวเตี้ย-พัฒนาการส่วนสูง-โรคขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต-ฮอร์โมนเจริญเติบโต-ต่อมใต้สมอง-ลูกเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน-เด็กมีภาวะตัวเตี้ย

เด็กที่ฮอร์โมนปกติ จะมีพัฒนาการ ส่วนสูง และน้ำหนักที่สมวัย แต่ถ้าพ่อแม่เห็นว่าลูกตัวเตี้ยผิกปกติ ลูกเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน ลูกอาจจะเป็นโรคขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตก็เป็นได้

ลูกไม่สูง ลูกเตี้ยกว่าเด็กคนอื่น เพราะอาจขาดโกรทฮอร์โมน

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ หน่วยต่อมไร้ท่อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกไว้ว่า ฮอร์โมนเจริญเติบโต หรือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) จะถูกผลิตและสร้างออกมาจากต่อมใต้สมอง ซึ่งอยู่บริเวณกลางของศีรษะ ต่อมใต้สมองขนาดเล็กนิดเดียวแต่สร้างฮอร์โมนออกมาหลายชนิด หนึ่งในนั้นก็คือฮอร์โมนเจริญเติบโต ในเด็กที่มีปัญหาขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตหมายความว่าอาจจะมีความผิดปกติของต่อมใต้สมอง 

ความผิดปกติของต่อมใต้สมองมี 2 ลักษณะ

1. เป็นมาตั้งแต่กำเนิด

ต่อมใต้สมองอาจจะมีขนาดเล็ก มีรูปร่างผิดปกติไป หรือว่าอาจมีพันธุกรรมบางอย่างทำให้การสร้างฮอร์โมนผิดปกติ

2. เกิดขึ้นมาภายหลัง

อาจจะมีก้อนเนื้อไปกดต่อมบริเวณนี้ เด็กอาจจะได้รับอุบัติเหตุ มีการบาดเจ็บในศีรษะชนิดรุนแรง มีการผ่าตัด หรือมีการเอกซเรย์ในศีรษะเพื่อรักษาโรคบางอย่างแล้วไปทำลายหรือรบกวนต่อมใต้สมอง ทำให้ต่อมสร้างหรือผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโตไม่ได้

เด็กกลุ่มนี้ตัวเตี้ย แต่รูปร่างของเด็กจะดูค่อนข้างจ้ำม่ำ ไม่ได้เตี้ยผอม ลักษณะเหมือนกับมีพุงนิด ๆ เพราะมีไขมันไปพอกตามที่ต่าง ๆ เสียงพูดจะเล็กและแหลม ใบหน้าจะดูอ่อนกว่าวัยเดียวกัน รูปร่างใบหน้าเหมือนตุ๊กตา ช่วงกลางของ ใบหน้าจะหวำลึกลงไป


ลูกไม่สูง-ลูกตัวเตี้ย-ลูกเตี้ย-โกรทฮอร์โมน-เด็กตัวเตี้ย-พัฒนาการส่วนสูง-โรคขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต-ฮอร์โมนเจริญเติบโต-ต่อมใต้สมอง-ลูกเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน-เด็กมีภาวะตัวเตี้ย

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต

  1. ถ้ารู้สึกว่าลูกโตไม่เท่าเพื่อน ๆ หรือพี่น้องคนอื่น ๆ โดยเฉพาะพี่น้องท้องเดียวกัน คนพี่ดูตัวเล็กกว่าคนน้อง

  2. วัดความสูงเด็กแล้วความสูงไม่เพิ่มขึ้น โดยมีตัวเลขคร่าว ๆ ว่า ถ้าเด็กอายุ 4-10 ขวบ ปีหนึ่งโตไม่ถึง 5 เซนติเมตร ถือว่าค่อนข้างตัวเล็กกว่าที่ควรจะเป็น

  3. ถ้าพ่อแม่เห็นกราฟการเจริญเติบโตของลูก ซึ่งมักจะมีอยู่ในสมุดคู่มือตรวจสุขภาพ พบว่าความสูงของลูกเบี่ยงจากเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น 

  4. เด็กตัวเตี้ยร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย ๆ  มีปัญหาทางสายตา ปวดศีรษะบ่อย ๆ คลื่นไส้อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์

 

เด็กขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตต้องพาไปพบแพทย์ 

  • เพื่อประเมินการเจริญเติบโตเปรียบเทียบกับกราฟการเจริญเติบโต
  • แพทย์จะซักประวัติของเด็กและครอบครัว  
  • แพทย์จะชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความยาวรอบศีรษะ วัดความยาวของแขนขา เพื่อบันทึกผลในกราฟการเจริญเติบโตของเด็ก
  • อาจมีการเอ็กซเรย์เพื่อประเมินการเจริญเติบโตของกระดูก
  • มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาความผิดปกติ เช่น การตรวจวัดระดับของฮอร์โมนต่าง ๆ

 

เมื่อพบว่าเด็กมีภาวะตัวเตี้ยแพทย์จะรักษาตามสาเหตุของเด็กแต่ละคน เช่น ฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) ให้ยาชะลอความเป็นหนุ่มเป็นสาว (GnRH-analogue) ให้ไทรอยด์ฮอร์โมน ให้วิตามินดี เป็นต้น

 

การดูแลเมื่อลูกตัวเตี้ย 

1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม 

2. ดื่มนมรสจืด อย่างน้อยวันละ 2-3 แก้ว

3. ให้ลูกออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและมวลกระดูก โดยให้พิจารณาความเหมาะสมตามวัยของลูกด้วย เช่น การกระโดดโลดเต้น ปีนป่าย ว่ายน้ำ บาสเกตบอล แบดมินตัน ฟุตบอล ฯลฯ ครั้งละ 30 นาที ประมาณ 3-5 ครั้ง ต่อสัปดาห์ 

4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ฮอร์โมนเติบโตทำงานได้เต็มที่ และไม่ควรนอนดึกเนื่องจากฮอร์โมนเจริญเติบโตจะหลั่งออกมาช่วงกลางดึก ประมาณ 22.00 -02.00 น. ดังนั้นเด็กจึงควรเข้านอนก่อนช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ฮอร์โมนเติบโตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ, โรงพยาบาลสินแพทย์


 

ลูกไม่สูง...ทำไงดี

ส่วนสูง-ความสูง-พัฒนาการ-พัฒนาการด้านความสูง

เห็นเด็กวัยรุ่นสมัยนี้สูงยาวเข่าดีกันไม่น้อย แต่พ่อแม่อีกจำนวนไม่น้อยแอบกังวลว่าลูกไม่สูง อะไรคือตัวกำหนดและส่งเสริมเรื่องความสูงของลูกกัน?

แท้จริงแล้ว พันธุกรรมรูปร่างของพ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นตัวกำหนดโครงสร้างพื้นฐานของลูกหลาน แต่ระหว่างการเติบโต ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างที่จะส่งเสริมหรือบั่นทอนความสูงของเด็ก ๆ ได้ เช่น...สภาวะแวดล้อม สุขภาพ อาหารการกิน และการออกกำลังกาย ทั้งหมดที่ว่าต้องเป็นไปอย่างสมดุลพอดี ขาดเกินส่วนใดส่วนหนึ่งก็ส่งผลต่อความสูงได้

 

เครียดได้...ก็เตี้ยได้

การที่ลูกเครียดเหลือเกิน เรียนหนัก การบ้านเยอะ นอนก็ไม่หลับสนิท อาหารก็กินบ้างไม่กินบ้าง อย่างนี้ก็เป็นตัวสกัดดาวรุ่งมุ่งความสูงแน่ๆ เพราะเด็ก ๆ วัยเจริญเติบโต อาหารทุกมื้อสำคัญเท่ากัน แต่ที่ขาดไม่ได้คือมื้อเช้า ทั้งเป็นมื้อที่พ่อแม่สามารถกำหนดกะเกณฑ์ได้ว่าจะให้ลูกได้กินแป้ง เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้ น้ำ มากน้อยแค่ไหน

เด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบไปจน 15 ปี หรือวัยเด็กตอนปลายต่อวัยรุ่นตอนต้นจะเจริญเติบโต หรือสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกว่าที่ผ่าน ๆ มา คาร์โบไฮเดรต ข้าวและอาหารพวกแป้งยังคงจำเป็น ควรได้ถึง 50-55 เปอร์เซ็นต์ของอาหารทั้งหมดที่รับประทานในแต่ละวัน โปรตีน 15-20 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 25-30 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งผักผลไม้ที่ให้วิตามินเกลือแร่ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน

ลดอาหารทอด ฟาสท์ฟู้ด เพราะในระยะยาวแล้วมีผลเสียมากกว่าผลดี

 

สาวสูงก่อน หนุ่มสูงทีหลัง

ช่วงเวลาเติบโตระยะสุดท้าย 3-5 ปีของวัยรุ่นตอนต้น เด็กชายหญิงจะสลับวัยกันสูง สาวน้อยจะโตเร็วในสองปีแรก ก่อนที่จะมีประจำเดือน พอ 2-3 ปีหลังจะชลอลง ในขณะที่หนุ่มน้อยจะโตช้าในช่วง 2 ปีแรก จากนั้นจึงโตอย่างสม่ำเสมอ ใน 3-4 ปีหลัง และก็มีไม่น้อยที่จะสูงแบบทะลึ่งพรวดในช่วงวัยรุ่นตอนต้น

การเจริญเติบโตช่วงนี้จะมีฮอร์โมนเพศ และ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต เข้ามามีส่วนด้วย โดยที่การออกกำลังกายและการกินอาหารในปริมาณที่มากพอ ยังคงเป็นหลักสำคัญ

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องโน้มน้าวกันดี ๆ ว่าถ้าลูกรักอยากสวยงามหล่อเหลาสูงสง่าในอนาคต ลูกก็ต้องไม่อดอาหารจนผอมแห้งเกินไป เด็กต้องรับรู้เข้าใจว่า การอดอาหารนั้นส่งผลต่อความสูง...หรือมีผลให้เตี้ยได้ เพราะการที่จะสูงได้ ร่างกายต้องได้รับสารอาหารเต็มที่ น้ำหนักต้องเพิ่มก่อน และ ร่างกายของวัยรุ่นนั้น ควรเจริญเติบโตตามวัย ด้วยการกินอาหาร ไม่ใช่ยา วิตามิน หรืออาหารเสริม

 

สูงด้วยฮอร์โมน

พูดถึงฮอร์โมนเพศที่มีส่วนในการเจริญเติบโตของเด็กๆ มีการค้นพบว่า ไขมันในร่างกายมีส่วนสำคัญเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของระบบฮอร์โมนเพศ เด็กหญิงรูปร่างท้วมเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่าเด็กหญิงรูปร่างผอม และเด็กไทยปัจจุบันก็เข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่ายุคก่อน เด็กหญิง 8 ขวบ หรือเด็กชาย 9 ขวบบางบ้านก็เป็นวัยรุ่นได้เช่นกัน

สำหรับพ่อแม่ ๆ กำลังคิดพาลูกไปฉีดยาให้สูงนั้น ถ้าหมายถึงการใช้ฮอร์โมนการเจริญเติบโตที่สกัดมาจากต่อมใต้สมอง ใช้ฉีดให้คนที่ไม่มีฮอร์โมนดังกล่าว คุณหมอวิเคราะห์แล้วว่าขาดแน่ ก็ใช้ยาได้

แล้วถ้าอยากให้ลูกสูงล่ะ จะฉีดดีไหม ตรงนี้มีข้อชวนคิดว่า การฉีดดังกล่าวอาจเร่งการสูงได้จริงในช่วง 2-3 ปี ต่อ จากนั้นเมื่อหยุดยา ความสูงก็จะช้ากว่าปกติที่สูงตามธรรมชาติ ณ วัยนั้น หรือบางคน พอไม่มียากระตุ้น ก็เลยหยุดสูงเองตามธรรมชาติ เฉลี่ยออกมาแล้วก็เลยไม่ได้สูงมาก น้อยไปกว่าไม่ฉีดสักเท่าไหร่

ที่สำคัญ การพาลูกไปฉีดยาทุกวันๆ อาจทำให้เขารู้สึกว่า ป่วย ก็ได้ รวมทั้งยังเป็นการเร่งสปีดความสูงเป็นเรื่องของทางกาย ทุกวันนี้ เราเร่งเด็กๆทางกายกันมากจน ลืมเรื่องทางใจ หรืออารมณ์ ความรู้สึก ความถนัด

ลองนึกภาพลูก ๆ สูงใหญ่เป็นสาวเต็มตัว เป็นหนุ่มเต็มร้อย แต่การพูดคุยปฏิบัติตน ยังพัฒนาไม่ทันความสูง...แบบนี้คุณหมอช่วยไม่ได้ แต่พ่อแม่ช่วยลูกให้สูงได้เต็มศักยภาพที่มีอยู่โดย :

 

ส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

สุขภาพกายที่ดีเกิดจากการกินอาหารที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ การได้วิ่ง เล่นออกกำลังในที่โล่งแจ้ง อากาศดี สุขภาพจิตที่ดีเกิดจากการไม่ถูกกดดันในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่บ้านและโรงเรียน ไม่เครียดกับการเรียนมากเกินไป มีพ่อแม่ช่วยดูแลการบ้าน สอบถามเรื่องเพื่อน เรื่องเรียนตามสมควร

การพักผ่อนนอนหลับก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะโกรธ์ ฮอร์โมน (growth hormone) ทำงานตอนเด็ก ๆ นอนหลับ การปล่อยให้ลูกทำการบ้านหรือเล่นเน็ตจนดึกดื่นโดยไม่ช่วยจัดเวลาให้ ก็อาจทำให้ลูกไม่สูงได้

 

สูง ไม่ได้แปลว่าสำเร็จเสมอไป

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี สาเหตุบางอย่างอาจทำให้แก้ไขได้ยาก นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะความสูงไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสำเร็จในชีวิต คนสูงเด่นที่เกเรไร้ระเบียบ ไม่พัฒนาสติปัญญาและคุณธรรมในสมอง ไม่ได้หมายความว่าความสูงจะช่วยให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ในทางตรงข้าม คนตัวเล็กที่มีคุณธรรม มีวินัย มีการพัฒนาสติปัญญา ก็สามารถก้าวหน้า มีความมั่นคงถาวรในชีวิต

 

สอนให้ลูกมั่นใจในตนเอง กังวลเรื่องความสูงให้น้อยลง หาจุดเด่นจุดดีในตัวลูก และสร้างกำลังใจให้เขา ทำได้แบบนี้จะส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และส่งผลให้ลูกเจริญเติบโตตามวัย ไม่เครียดกังวลเรื่องสูง ๆ เตี้ย ๆ เมื่อทำไม่สนใจได้แล้ว เวลาผ่านไป เราอาจแปลกใจก็ได้ เมื่อพบว่าลูกเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาเสียอีก

 

วิธีจัดการลูกอารมณ์รุนแรง ชอบทำร้ายตัวเองและคนอื่น

ลูกทำร้ายตัวเอง- ลูกดื้อ- ลูกก้าวร้าว- ลูกงอแง- ลูกโมโห- ลูกเครียด- ปัญหาพฤติกรรม- พัฒนาการทางร่างกาย- พัฒนาการทางอารมณ์- พัฒนาการเด็ก- อารมณ์รุนแรง

วิธีจัดการลูกอารมณ์รุนแรง ชอบทำร้ายตัวเองและคนอื่น

พฤติกรรมเด็กชอบเอามือตีหัวตัวเอง เอาหัวชนฝาผนัง และชอบกัดคนอื่นเวลาไม่ได้ดั่งใจ พ่อแม่ควรทำอย่างไร เรามีคำแนะนำมาฝากค่ะ

การที่เด็กในวัย 1-3 ปี แสดงพฤติกรรมที่ค่อนข้างรุนแรงเมื่อไม่ได้ดั่งใจนั้น มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยค่ะ

ปัจจัยที่สำคัญได้แก่

1.เด็กยังระบายความโกรธไม่เป็น

เพราะการระบายความรู้สึกโกรธที่ดีที่สุด คือการพูด ดังนั้นในเด็กที่อายุยังไม่ถึง 2 ขวบซึ่งภาษาก็ยังไม่ได้พัฒนามากพอที่จะพูดระบายความอัดอั้นตันใจทั้งหมดทั้งมวลออกมาได้ ก็จะระบายความโกรธออกมาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ร้องไห้ ลงไปนอนดิ้นกับพื้น หรืออาจหนักถึงขนาดที่ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่นได้เช่นกันค่ะ

 

2.เด็กใช้พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องต่อรอง

หากเด็ก ๆ ของเราเรียนรู้ว่าเมื่อเขาแสดงพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว ผู้ใหญ่มีท่าทีตระหนกตกใจ หรือกลายมาเป็นยอมตามใจเขา ไม่ว่าจะเพราะกลัวเด็กจะเครียดหรือเพื่อตัดรำคาญก็ตาม เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ว่าหากอยากที่จะเอาชนะเราแล้วละก็ มีเพียงวิธีเหล่าเท่านั้นที่ได้ผล และแน่นอนค่ะว่ายิ่งทำแล้วได้ผลมากเท่าไหร่ เด็กๆ ก็จะยิ่งเกิดความชำนาญ และสุดท้ายเขาอาจกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเอาหัวโขกกำแพง หรือการกัดคนอื่นในที่สุด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดที่จะเป็นโรคอะไรนะคะ นั่นหมายความว่า การดูแลอย่างถูกวิธีสามารถทำให้พฤติกรรมเหล่านี้หายไปได้ค่ะ โดยสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำในตอนนี้ได้แก่

-ควรห้ามลูกทุกครั้งเมื่อเขาทำรุนแรง : การห้ามในที่นี้คงไม่ใช่แต่เพียงพูดกับลูกว่า "อย่ากัดแม่นะลูก มันเจ็บ" หรือ "อย่าตีตัวเองสิคะ" เท่านั้นนะคะ แต่เราต้องเข้าไปจับมือเขาไว้เมื่อเขาตีตัวเอง จับหัวเขาไว้ไม่ให้โขกกำแพง และดันตัวเขาออกไปทุกครั้งเมื่อเขากัดเรา เพราะหากเราเพียงแค่พูดเฉยๆ เด็กๆ จะเข้าใจว่าเราไม่ได้เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ และรับรองค่ะว่าเขาจะทำอีกแน่นอน

-สอนวิธีระบายความโกรธที่ดีกว่านี้ : ดีที่สุดคือสอนให้เด็กรู้จักพูดเมื่อตัวเองโกรธ แม้เด็กจะไม่สาธยายความโกรธเกรี้ยวฉุนเฉียวของตัวเองออกมาได้ทั้งหมด แต่การพูดว่า "ไม่เอา" หรือ "โกรธ" ออกมาได้ ก็อาจจะช่วยให้เขาลดการทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่นลงได้

 

แต่หากในกรณีที่เขายังไม่สามารถพูดคำเหล่านี้ออกมาได้ คุณแม่อาจต้องยอมปล่อยให้เขาร้องไห้ หรือลงไปดิ้นกับพื้นแทน ต้องจำให้ขึ้นใจเลยนะคะว่าเด็กสามารถที่จะโกรธได้ เพียงแต่ต้องระบายออกมาในวิธีที่เหมาะสม และไม่ควรบอกเขาว่า อย่าร้อง ห้ามโกรธ หรืออย่างอแง เพราะว่านั่นคือการฝืนธรรมชาติของมนุษย์ จะทำให้เขากลายเป็นเด็กเก็บกดในที่สุด

และที่สำคัญห้ามตามใจเด็ดขาด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่หมอย้ำบ่อยมาก เพราะเด็กจะใช้พฤติกรรมเหล่านี้เพื่อมาต่อรองกับเรา

 

ดังนั้นไม่ว่าเขาจะทำสิ่งที่รุนแรงแค่ไหน คุณแม่ก็เพียงแต่จับเขาไว้และก็ต้องยืนยันว่ายังไงเขาก็จะไม่ได้ของที่เขาต้องการ ในกรณีที่น้องอายุไม่มาก เราอาจใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจให้เขาสนใจสิ่งของหรือกิจกรรมอื่นแทนได้ค่ะ

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้การปรับพฤติกรรมลูกสำเร็จหรือไม่ ก็คือผู้ปกครองต้องมีความสม่ำเสมอและห้ามใจอ่อนเด็ดขาด (รวมถึงคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายที่อยู่ที่บ้านด้วยนะคะ) หรือหากคุณแม่ลองทำดูแล้วไม่ประสบผลสำเร็จอาจพาน้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลองมองหาสาเหตุอื่นหรือการรักษาเพิ่มเติมได้ค่ะ

 



วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกชัก

ชัก-อาการชัก-อาการชักในเด็ก-ลูกชัก-ชักกระตุก-ลูกชักทำอย่างไร-วิธีปฐมพยาบาล-วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกชัก

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกชัก

หากเจ้าตัวเล็กเกิดมีอาการชักกระตุก ตัวเกร็ง น้ำลายฟูมปาก ไม่รู้สึกตัว ปากเขียว ใบหน้าเขียว ไม่ว่าจะเป็นเพราะไข้ขึ้นสูง โรคลมชัก การติดเชื้อในสมอง หรืออุบัติเหตุ คุณพ่อคุณแม่สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นของอาการชักได้ด้วยขั้นตอนต่อไปนี้
 


 

  1. ตั้งสติ: ลูกชักจะทำให้พ่อแม่ตื่นตกใจแน่นอน จำให้มั่นว่าพ่อแม่ต้องตั้งสติ ไม่กรี๊ดร้อง ฟูมฟาย หรือช้อกจนทำอะไรไม่ถูก เพราะสิ่งสำคัญคือการเข้าชาร์จและปฐมพยาบาลลูกทันที ให้นึกถึงตอนลูกล้มเรายังวิ่งเข้าไปดูทันที ตอนลูกชักก็ให้ตั้งสติและรีบเข้าปฐมพยาบาลเช่นกัน
     
  2. จับลูกนอนที่โล่งและนอนตะแคง: ให้ลูกนอนในที่โล่งเพื่ออากาศถ่ายเทและหายใจสะดวก จากนั้นจับนอนตะเคง เพื่อป้องกันเสมหะ อาหาร ลิ้น หรือน้ำลายอุดตันหลอดลม ควรให้ลูกนอนตะแคงศีรษะต่ำเล็กน้อย หรือนอนหงายแล้วหันศีรษะไปข้างใดข้างหนึ่ง
     
  3. ห้ามใส่ของงัดปากหรือให้ลูกกัด: ใครที่เคยทำหรือเชื่อต่อกันว่าให้เอาช้อน ผ้าหรืออะไรนุ่มๆ งัดปากให้ลูกกัด ไม่เป็นความจริงเพราะจะยิ่งอันตราย เช่น ฟันหักหลุดไปอุดตันหลอดลมหายใจไม่ออกส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้ รวมถึงห้ามให้ใครมามุงด้วย
     
  4. ปลดเสื้อผ้าลูกให้หลวม: เพื่อระบายความร้อน หายใจสะดวก และง่ายต่อการปฐมพยาบาล
     
  5. เช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง: เมื่อลูกชักเพราะไข้ตัวร้อน ควรเลี่ยงการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น เพราะจะทำให้เส้นเลือดที่ผิวหนังหดตัว และไม่เกิดการถ่ายเทความร้อนออกภายนอก ควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดแรงๆ จนผิวแดง ซึ่งจะช่วยลดไข้ได้
     
  6. รีบพาลูกส่งโรงพยาบาล: ถ้าชักเกิน 10 นาที หรือชักซ้ำ ขณะที่ลูกยังไม่ฟื้นเป็นปกติควรรีบนำลูกส่งโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุและรักษาให้ถูกต้องต่อไป

 

558 2

Don'ts เมื่อลูกชักอย่าทำแบบนี้เด็ดขาด 

  • อย่าอุ้มเด็กขึ้นมากอดไว้ขณะเด็กชัก
  • อย่าเขย่าหรือตีลูก
  • อย่าใช้นิ้วมือของตัวเองสอดเข้าไปในปากลูก
  • อย่าฝืนง้างปากลูก เพราะอาจทำให้ฟันและขากรรไกรหักได้
     

หน่วยฉุกเฉิน 1669 เมื่อลูกชัก

ขณะที่คุณพ่อคุณแม่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นอยู่นั้น หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถโทรศัพท์แจ้งหน่วยฉุกเฉิน 1669 ให้เข้ามาช่วยเหลือได้ค่ะ (มีกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด)

 

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกโดนพิษแมงกะพรุนไฟ

ล้างพิษแมงกะพรุนไฟ, วิธีปฐมพยาบาลพิษแมงกะพรุนไฟ, ล้างพิษแมงกะพรุนไฟยังไง, ปฐมพยาบาลเวลาโดนแมงกะพรุนไฟยังไง, พิษแมงกะพรุนไฟ, อันตรายของแมงกะพรุนไฟ, แมงกะพรุนไฟอันตรายยังไง, พิษแมงกะพรุนไฟทำให้ตายไหม, พิษแมงกะพรุนไฟร้านแรงแค่ไหน, เที่ยวทะเลระวังแมงกะพรุนไฟ, เล่นทะเลยังไงไม่ให้โดนแมงกะพรุนไฟ, แมงกะพรุน, แมงกะพรุนไฟ, ทะเล, เที่ยวทะเล, พาลูกเที่ยวทะเลย, เที่ยวปืเเทอม, พิษแมงกะพรุนไฟ, พิษของแมงกะพรุน
 

คุณพ่อคุณแม่ที่พาลูกไปเที่ยวทะเล ต้องระวังแมงกะพรุนไฟกันหน่อยนะคะ เพราะหากลูกไปสัมผัสแมงกะพรุนตัวร้ายเข้า อาจทำให้เกิดผื่นได้ ยิ่งเด็กๆ ผิวบอบบางมากๆ อาจมีแผลเป็นตามมาได้ค่ะ

วิธีสังเกตแมงกะพรุนที่มีพิษ หรือแมงกะพรุนไฟ

แมงกะพรุนชนิดที่มีพิษจะถูกเรียกรวมๆ กันว่า แมงกะพรุนไฟ ส่วนใหญ่มีลำตัวสีแดงหรือสีส้ม จะมีพิษที่บริเวณหนวดที่มีน้ำพิษ ใช้สำหรับเพื่อล่าเหยื่อและป้องกันตัว สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่สัมผัสได้ บริเวณที่ถูกกัดหรือสัมผัสนั้น จะปรากฏรอยคล้ายรอยไหม้เป็นผื่น

จากนั้นในอีก 20-30 นาทีต่อมา จะบวมนูนขึ้นเป็นทางยาวตามผิวหนัง ต่อไปจะเกิดเป็นแผลเล็กๆ และแตกออกเป็นแผลเรื้อรัง กล้ามเนื้อเกร็งและบังคับไม่ได้ จุกเสียด หายใจไม่ออก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการหลังโดนพิษ

หรือสัมผัสแมงกะพรุน ผื่นสัมผัสแมงกะพรุน เป็นปฏิกิริยาที่ผิวหนังเกิดความระคายเคือง หลังถูกแมงกะพรุนไฟมาสัมผัสร่างกาย ผิวหนังจะเกิดการระคายเคือง ซึ่งสารพิษบางตัวนอกจากจะทำให้เกิดผื่นแพ้แล้ว ยังมีพิษต่อหัวใจอีกด้วย เมื่อโดนแมงกะพรุนไฟ บริเวณที่สัมผัสกับหนวดจะเป็นสีแดง เจ็บ บวม เป็นตุ่มน้ำใส อาจมีเนื้อบางส่วนเน่าตาย และท้ายสุดจะกลายเป็นรอยแผลเป็น

ในคนที่แพ้พิษของแมงกะพรุนจะมีอาการอย่างรวดเร็วภายใน 10 - 15 นาที อาการ คือ ปวดท้อง คลื่นไส้ หายใจลำบาก ชัก หมดสติ ดังนั้น ถ้ามีอาการแพ้รุนแรงควรรีบน้ำส่งโรงพยาบาลทันทีเพราะมีโอกาสเสียชีวิตได้นะคะ

การดูแลแผล ปฐมพยาบาลเมื่อโดนพิษแมงกะพรุน
  1. ล้างแผลด้วยน้ำส้มสายชูนาน 30 วินาที หรืออาจใช้ผักบุ้งทะเลแทนได้
  2. ใช้น้ำทะเลราดบ่อยๆ และใช้สันมีดขูดกระเปาะพิษออก ไม่ควรราดแผลด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำจืด เพราะจะทำให้พิษออกมามากขึ้นค่ะ
  3. ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เนื่องจากแผลจากแมงกะพรุนเป็นแผลหายยาก จึงมีโอกาสที่จะทิ้งแผลเป็นไว้ตลอดชีวิต

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ  เเพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเด็ก

วิธีสังเกตมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กที่พ่อแม่ต้องรู้

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาด-โรคมะเร็ง-มะเร็งในเด็ก-ลูกป่วย-อาการโรคมะเร็ง-วิธีรักษาโรคมะเร็ง 

จากข่าวน้องชะเอม หนูน้อยวัย 6 ปีที่ต่อสู้โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมาตั้งแต่น้องอายุได้ 5 เดือนเท่านั้น ทางรักลูกคลับจึงได้ขออนุญาตทางคุณพ่อ เพื่อนำเรื่องราวของน้อง และความรู้เรื่องโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก มาให้ความรู้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านค่ะ

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่เรียกกันว่าลูคีเมีย โรคนี้จะพบได้ 25–30% ของโรคมะเร็งในเด็กทั้งหมดค่ะ  วิธีสังเกตมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก อาการที่พบบ่อย เด็กจะมีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนพุ่ง ตัวซีด เลือดออกผิดปกติ น้ำหนักลด หรือผู้ป่วยเด็กบางรายอาจมีผื่นหรือปื้นที่ผิวหนังร่วมด้วยค่ะ  

วิธีการตรวจโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย

เจาะตรวจไขกระดูก เพื่อนับจำนวนเซลล์ตัวอ่อน ตรวจย้อมการติดสีจำเพาะเพื่อจำแนกชนิดของมะเร็ง ตรวจโครโมโซมเพื่อประเมินระยะความเสี่ยงของโรค ตรวจเลือดเพื่อนับจำนวนเม็ดเลือดและเกร็ดเลือด รวมไปถึงค่าทางชีวเคมีเพื่อประเมินการทำงานของตับ ไต เกลือแร่ และกรดยูริค ตรวจค่าการแข็งตัวของเลือดในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันบางชนิดที่มักมีความเสี่ยงต่อการเลือดออกง่าย เช่น AML-M3 เจาะตรวจน้ำไขสันหลังในกรณีที่สงสัยภาวะลุกลามเข้าระบบประสาท

การรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย
  1. ยาเคมีบำบัดซึ่งอาจให้ในรูปยาฉีดหรือยากินหรือทั้งสองแบบ ยาเคมีบำบัดจะเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็ง เพื่อให้ไขกระดูกสามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดปกติออกมาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักต้องได้รับเลือดแดงหรือเกร็ดเลือดระหว่างรักษา รวมไปถึงยาปฎิชีวนะหากมีอาการติดเชื้อ

  2. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากเซลล์ผู้อื่น (Allogeneic stem cell transplantation) เป็นการรักษาที่สามารถทำให้โรคหายขาดได้ การรักษาแบบนี้ต้องทำในระยะที่โรคสงบหลังได้รับยาเคมีบำบัดแล้ว ทีมแพทย์จะให้คำแนะนำเรื่องการหาเซลล์ต้นกำเนิดที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเพื่อย่นระยะเวลาการรอปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

  3. การลดจำนวนเม็ดเลือดขาวอย่างรวดเร็วโดยการเปลี่ยนถ่ายพลาสม่า (Leukapheresis) จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงมากหรือมีอาการของเม็ดเลือดขาวอุดตันตามหลอดเลือด (Hyperleukocytosis) เช่น หอบเหนื่อย ซึมสับสน

  4. การให้ยาเคมีบำบัดทางน้ำไขสันหลัง (Intrathecal chemotherapy) เฉพาะในรายมีการภาวะการลุกลามเข้าสมองหรือน้ำไขสันหลัง โดยทั่วไปแพทย์จะพิจารณาให้ยาทางน้ำไขสันหลังจนกว่าจะไม่พบเซลล์มะเร็งในน้ำไขสันหลัง

  5. การฉายแสง (Radiation) จะพิจารณาให้ในผู้ป่วยบางรายที่มีมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันที่มีความเสี่ยงในการลุกลามเข้าสมอง 

ทางเราขอเป็นกำลังใจ และขอให้น้องชะเอม หนูน้อยจอมอึดหายไวๆ นะคะ น้องเก่งและเข้มแข็งมากที่สุด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านได้ศึกษา และเรียนรู้เข้าใจถึงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว วิธีสังเกตทั้งหมด การตรวจ จนถึงขั้นตอนการรักษา รู้ไว้ ป้องกันก่อน เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกเรานะคะ 

 

ขอบคุณเรื่องราวจาก : คุณพ่อน้องชะเอม และ เพจ ชะเอมจอมอึดสู้มะเร็ง

 

ที่มา : โรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งแห่งแรกของประเทศไทย

วิธีเลิกขวดนม ไม่หลับคาขวด ป้องกันปัญหาฟันผุ

5018 

วิธีเลิกขวดนม ไม่หลับคาขวด ป้องกันฟันผุ

วิธีเลิกขวดนมลูกให้ได้ภายใน 1-1 ขวบครึ่ง และฝึกให้กินเป็นเวลา ไม่หลับคาขวด พ่อแม่ทำได้! เพราะคุณหมอตุ๊กตา เจ้าของเพจฟันน้ำนมมีคำแนะนำมาให้ค่ะ

เมื่อลูกนั่งเองได้มั่นคงแล้ว เริ่มฝึกให้ลูกดูดจากหลอดหรือดื่มจากแก้วได้เลย อาจเลือกใช้หลอดเล็ก ๆ ใช้นิ้วปิดปลายหลอดอีกฝั่งแล้วป้อนลูก และให้ลูกออกแรงดูดเอง หรือเลือกใช้แก้วน้ำขนาดเล็กพอดีปากให้ลูกฝึกจิบจากแก้ว

ขวดนมเป็นเครื่องมือในการให้อาหารเด็ก นั่นคือ เมื่อถึงมื้อนมจึงค่อยให้เด็กดูดนม โดยต้องดูดให้หมดภายในครั้งเดียว หมดเวลามื้อนมเก็บขวดนม เอาเวลามาเล่นกับพ่อแม่แบบเต็มที่โดยไม่ต้องมีขวดนมถือติดมือ ดูดติดปากตลอดเวลา หมอเจอหลายครอบครัวมากที่ให้ลูกดูดขวดแบบผิดวิธี

  1. ลูกเดินถือขวดนมไปทั่ว ดูดคาปากตลอด นม 1 ขวดกินทั้งวัน ข้าวปลาไม่ค่อยกิน
  2. ใช้ขวดนมเป็นเครื่องมือให้ลูกหยุดร้องไห้ เลิกงอแง ฯลฯ
  3. ใช้ขวดนมกล่อมลูกให้หลับ ถ้าไม่มีขวดนมหลับเองไม่ได้เลย
  4. นึกอะไรไม่ออกก็ยื่นขวดนมให้ลูก

เด็กไม่จำเป็นต้องอยู่กับขวดนมตลอดเวลานะคะ ขวดนม ใช้เท่าที่จำเป็น เมื่อลูก 1 ขวบเริ่มฝึกลูกหย่าขวดได้เลย หากตลอดเวลา 1 ขวบที่ผ่านมา ให้ลูกกินขวดอย่างถูกวิธี (ให้กินเป็นมื้อ หมดมื้อเก็บขวด ไม่ให้ถือติดมือตลอด) การหย่าขวดนมเมื่อครบ 1 ขวบจะทำได้ไม่ยากเลยค่ะ

เด็กหลับคาขวดนม… เสี่ยงฟันผุ

สาเหตุของฟันผุ เกิดจากการที่เด็กได้รับอาหารที่มีรสหวาน แบคทีเรียที่อยู่ในช่องปากจะย่อยน้ำตาลสร้างกรดขึ้นมาทำอันตรายต่อฟัน เมื่อเกิดซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุได้ เวลาที่เด็กดูดนมจนหลับคาขวดถือเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้ฟันผุเช่นเดียวกัน 

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

รักลูก Community of The Experts

ทพญ. ปวีณา คุณนาเมือง
ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก
เจ้าของเพจ "ฟันน้ำนม"

วิธีแก้ปัญหาเด็กแกล้งกันในโรงเรียน ของประเทศนอร์เวย์

 การเลี้ยงลูก-พฤติกรรมเด็ก-ลูกดื้อ-ลูกก้าวร้าว-ประเทศนอร์เวย์

ปัญหาเรื่องการแกล้งกัน หรือบูลลี่กันในโรงเรียน ไม่ได้มีปัญหาแค่ประเทศไทยเท่านั้นค่ะ ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เรามาดูการแก้ไขปัญหาเรื่องการบูลลี่ หรือแกล้งกันในโรงเรียน ของประเทศนอร์เวย์กันค่ะ ว่าเขาจะมีแนวทางการแก้ไขอย่างไร

 

แผนป้องกันการรังแก ”Olweus” ของนอร์เวย์

เป็นแนวทางที่สู่การลดและป้องกันการรังแกที่ใช้ป้องกันเด็กประถม-มัธยมต้นในนอร์เวย์และสวีเดนมาตั้งแต่ปี 2001

แผนป้องกันนี้กำหนดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม โดยกำหนดให้ในระดับโรงเรียนต้องมี คณะกรรมการป้องกันการรังแก คณะกรรมการที่มีครู ผู้ปกครอง และชุมชน ทำหน้าที่ในการดำเนินนโยบายและฝึกหัดครูให้รับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ต้องมีการออกกฎโรงเรียนเพื่อต่อต้านการรังแก โดยผู้ปกครองและชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ส่วนในระดับห้องเรียนต้องมีการบังคับใช้กฎห้ามรังแกกัน มีการประชุมนักเรียนและผู้ปกครองในเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ

แนวทางนี้ยังได้ลงลึกถึงระดับบุคคล โดยให้ครูดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ของนักเรียนอย่างทั่วถึง เมื่อมีการรังแกกันเกิดขึ้นต้องมีครูอยู่ ณ จุดนั้นทันที หลังจากนั้นกำหนดให้มีการพูดคุยกันระหว่างนักเรียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และเรียกพบผู้ปกครอง หลังจากนั้นก็มีการมุ่งดูแลเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนที่เกี่ยวข้อง

 

ปัจจุบันแผนการป้องกันการรังแกของนอร์เวย์ได้รับความนิยมในประเทศอื่น ๆ ทั้งในแคนาดา โครเอเชีย อังกฤษ เยอรมัน ไอซ์แลนด์ สวีเดน และสหรัฐอเมริกา

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.violencepreventionworks.org

 

ที่มา : workpointnews

สพฐ.กำชับ 2.9 หมื่นโรงเรียน คุมเข้มน้ำหนักกระเป๋าเด็ก

 

การเลี้ยงลูก-พัฒนาการ-โรงเรียน-กระเป๋านักเรียน-สุขภาพ

สพฐ.เล็งออกหนังสือเวียนกำชับ 2.9 หมื่นโรงเรียน คุมเข้มเด็กแบกกระเป๋าหนักมาเรียน ย้ำน้ำหนักกระเป๋าอยู่ที่15 % ของน้ำหนักตัวเด็กชี้ "รมว.ศธ."ห่วงสุขภาพนร.

กรณีนักเรียน โรงเรียนชุมแพศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ สะพายกระเป๋านักเรียนหนัก 10 กิโลกรัม เป็นเหตุให้กระดูกต้นคอหัก นั้น

ล่าสุด ดร.สุเทพ   ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยเรื่องนี้สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจได้กำชับให้ผอ.ร.ร.ชุมแพศึกษา คุมเข้มในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็ให้มาตรการเป็นระยะๆ เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาเฝ้าระวังเรื่องนี้และมีมาตรต่อเนื่อง

"น้ำหนักของกระเป๋านักเรียนที่เด็กสะพายไปโรงเรียนในแต่ละวัน  ตามมาตรฐานโลก กำหนดเอาไว้ว่า น้ำหนักของกระเป๋าอยู่ที่10-20 % ของน้ำหนักตัวเด็ก  ยกตัวอย่างหากนักเรียนน้ำหนักตัว  20 กิโลกรัม ต้องสะพายกระเป๋านักเรียนน้ำหนักไม่เกิน 2- 4กก.ขณะที่ค่าเฉลี่ยเมืองไทยน้ำหนักของกระเป๋าอยู่ที่15 % ของน้ำหนักตัวเด็ก ซึ่งมาตรการนี้ใช้มานานกว่า10ปี" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวอีกว่า ค่าเฉลี่ยเมืองไทยน้ำหนักของกระเป๋าอยู่ที่15 % ของน้ำหนักตัวเด็ก เมื่อแยกเป็นระดับชั้นจะมีสัดส่วนที่ต่างกันดังนี้ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1(ป.1) ป.1- ป.2 น้ำหนักของกระเป๋าเรียนอยู่ที่3 กก. ,นักเรียนชั้นป.3-ป.4 น้ำหนักของกระเป๋าเรียนอยู่ที่ 3.5 กก. ส่วนน้ำหนักของกระเป๋าเรียนชั้นป.5-6 ไม่เกิน 4 กก.เช่นเดียวกับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ตั้งแต่ชั้นม.1-ม.6 น้ำหนักของกระเป๋าอยู่ที่ 15 % ของน้ำหนักตัวเด็ก

 "ฝากครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ดูแลเอาใจใส่น้ำหนักของกระเป๋าเรียนของเด็กๆด้วย ขณะที่คุณครูผู้สอนควรดูแลเรื่องการจัดตารางสอนให้เหมาะสม เพื่อเด็กลดภาระในการแบกกระเป๋าหนัก ถ้าหากโรงเรียนที่มีความพร้อมอาจจจะจัดทำเป็นล็อกเกอร์ หรือตู้เฉพาะเพื่อจัดเก็บหนังสือเรียน ไม่ต้องแบกไป-กลับบ้านทุกวัน" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว 



ที่มา : คมชัดลึก

สมุนไพร ช่วยลูกหายป่วยได้

 สมุนไพร-แพทย์ทางเลือก- ยาสมุนไพร- การใช้ยาสมุนไพร- รักษาด้วยสมุนไพร- ใช้ยาสมุนไพร- พืชรักษาโรค

สมุนไพรไทย มีสรรพคุณมากมาย ทั้งยังช่วยในการลดและบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี สมัยก่อนหากมีอาการป่วยไข้เล็กน้อย ปู่ย่าตายายของเราจะรีบนำเอาสมุนไพรพื้นบ้าน มาบรรเทาอาการป่วยให้เราได้ ลองมาทบทวนกันดูดีกว่าว่าสมุนไพรชนิดใดสามารถนำมาบรรเทาอาการป่วยให้ลูกได้บ้าง

ตอนเด็ก ๆ เวลาเราเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ พ่อแม่ของหรือปู่ย่าตายาย จะบรรเทาอาการป่วยให้เสมอ ถ้าตัวร้อนจะเช็ดตัวให้ พอไอก็โดนกวาดยา หรือปวดท้องก็โดนจับทามหาหิงค์ แป๊บเดียวอาการเหล่านั้นก็หายไป ในเมื่อรู้อย่างนี้แล้วไม่คิดจะลองเป็นคุณหมอประจำบ้านกันดูบ้างหรือครับ

คุณสันติสุข โสภณสิริ คุณหมอแผนไทยจากมูลนิธิสุขภาพไทย เล่าถึงวิธีการรักษาพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงการใช้สมุนไพรไทยอย่างง่ายสำหรับเด็กให้ผมฟัง ผมจึงเรียงร้อยเรื่องราวจากคำบอกเล่านั้นมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านดังนี้ ครับ

คุณหมอบอกกับผมว่า สมัยก่อน พ่อแม่เกือบทุกคนจะมีวิธีสังเกตอาการเจ็บป่วยของลูกและรู้ว่าอาการที่เกิดขึ้นจะรักษาได้อย่างไร

  1. เป็นไข้ตัวร้อน แก้ได้โดยการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นให้หาผ้าชุบน้ำอุ่น (ห้ามใช้น้ำเย็น นอกจากกรณีเลือดกำเดาออกเท่านั้น) เช็ดให้ทั่วตามซอกพับต่างๆ รักแร้ หน้าอก คอ และวางโปะไว้ที่หน้าผาก หลังจากนั้นคอยสังเกตดูว่าไข้ลดหรือไม่ ถ้าทำซ้ำหลายครั้งแต่ไข้ยังไม่ลด ค่อยนำส่งแพทย์ เพราะบางครั้งการที่เด็กเป็นไข้อาจเกิดจากโรคหัด ไข้หวัด หรือไข้ตามฤดูกาล ซึ่งรักษาเองได้ตามธรรมชาติ แต่ถ้าเด็กทำท่าจะเป็นหวัด คือมีน้ำมูกและคัดจมูกด้วย ให้นำหอมแดงมาบดพอละเอียด ละลายในน้ำอุ่นแล้วเช็ดตัวให้ลูกตามปกติ เสร็จแล้วให้นำหอมแดงที่บดแล้วห่อผ้าขาวบางวางไว้บนอก หรือบริเวณที่ลูกสูดหายใจเอากลิ่นหอมแดงเข้าไปได้ จะช่วยให้ไข้ลดและจมูกโล่งขึ้น

สำหรับอาหารลดไข้ ให้ใช้ฟักเขียวตัดเอาเนื้อบริเวณขั้วลงไปประมาณ 4 นิ้ว นำเจ้าส่วนนั้นมาต้มแล้วบดให้ละเอียด ผสมในน้ำนมให้เด็กดื่มจะช่วยลดไข้ได้เพราะฟักมีคุณสมบัติเย็น ลดไข้ได้เร็วมาก

  1. ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีทั้งยาทาและยากิน ยาทาก็จำพวกมหาหิงค์ ใช้ง่าย เพียงนำมาทาท้องเด็กก็ช่วยได้ แต่ถ้าลูกไม่ชอบเพราะมีกลิ่นเหม็น อาจใช้ขมิ้นผงผสมนม หรือน้ำผึ้งให้ลูกกิน สามารถบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ดีทีเดียวครับ

บางคนอาจคิดว่าลูกคงกินขมิ้นที่มีสีและกลิ่นแปลกๆ ได้ยาก ลองใช้กล้วยน้ำว้าดิบ มาหั่นเป็นแว่น นำไปตากแดด แล้วบดผสมนมหรือน้ำผึ้ง หรือละลายน้ำกิน แบบนี้ช่วยแก้อาการได้เช่นกัน แถมกล้วยน้ำว้านั้นยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกสารพัด คือช่วยไม่ให้เพลีย และแก้ท้องเสียได้ด้วย

  1. ไอและเจ็บคอ หากลูกไอติดต่อเรื้อรัง กลัวว่าจะเป็นหลอดลมอักเสบ รักษาด้วยวิธีไทย ๆ นำใบพลูสัก 4-5 ใบ มาอังไฟจากเตาถ่าน หรือถ้าบ้านใครมีเตาแก๊ส ก็หากระทะเคลือบมารองโดยทาน้ำมันพืชไว้ที่กระทะ เอาใบพลูอังพอร้อนแล้วมาโปะที่หน้าอกเด็ก น้ำมันในใบพลูจะซึมเข้าไปในผิวหนังช่วยให้หยุดไอ และสารที่มีอยู่ในใบพลูยังจะช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น

  2. อาเจียน สังเกตดูว่าลูกอาเจียนแบบใด ถ้าอาเจียนพุ่งแบบนี้อันตรายครับ ต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วนเพราะอาจเกิดจากอาการทางสมอง แต่ถ้าลูกอาเจียนธรรมดา แก้ได้โดย ใช้ลูกยอดิบหรือใกล้สุกมาฝาน ย่างไฟแล้วตำจนละเอียด นำมาผสมน้ำผึ้งหรือนมให้เด็กดื่ม หยุดการอาเจียนได้ดี

นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนเล็กๆที่นำมาเล่าให้ฟัง เชื่อหรือยังครับว่าสมุนไพรไทยมีประโยชน์อย่างมากมาย แถมผลข้างเคียงหรืออันตรายจากการใช้สมุนไพรนั้นแทบจะไม่มีเลย มีที่ต้องระวังบ้างคือ หลักในการดูอาการของลูกและการเลือกยามารักษา พ่อแม่ต้องอาศัยความรู้และการสังเกต ในกรณีที่จะรักษาด้วยพืชสมุนไพร พ่อแม่ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมุนไพรนั้นอยู่แล้ว

อย่าลองใช้ยาหรือสมุนไพรเพราะคำโฆษณาชวนเชื่อ แต่เราต้องศึกษาก่อน จากผู้รู้หรือจากตำรา ผมคิดว่าถ้าเราสามารถรักษาลูกๆ ได้เองเหมือนคนสมัยก่อน ความผูกพันในครอบครัวก็จะเพิ่มพูนขึ้นตามไปด้วย จะดีสักแค่ไหนถ้าลูกรู้สึกว่าเวลาเขาเจ็บป่วย มีพ่อแม่คอยดูแลรักษาได้ และเขาก็จะจดจำภูมิปัญญาไทยเหล่านี้สืบทอดต่อไปครับ

สมุนไพรใกล้ตัวที่พ่อแม่ควรรู้
  1. ใบฝรั่ง ลูกฝรั่งดิบ นำมาบดและต้มกินน้ำ แก้ท้องเสีย
  2. ลูกยอดิบ นำมาฝานย่างไฟ แล้วบดผสมนมหรือน้ำผึ้ง แก้อาเจียน
  3. น้ำมันกะเพรา ช่วยฆ่าเชื้อในกระเพาะอาหาร ส่วนใบกะเพรานำมาต้มกินน้ำ ช่วยแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้
  4. ใบพลู อังไฟวางไว้บนหน้าอกช่วยแก้ไอ
  5. ข่าไม่แก่ไม่อ่อน นำมาโขลกคั้นน้ำ ให้ลูกจิบแก้ไอ อาจผสมน้ำผึ้งด้วยเพื่อกินได้ง่ายขึ้น
  6. กล้วยน้ำว้าดิบ นำมาบดผสมเครื่องดื่มของเด็ก แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  7. อบเชย ต้มน้ำให้ลูกดื่ม แก้คลื่นเหียน วิงเวียน
  8. ดอกแค นำมาต้มกินน้ำ แก้ไข้หัวลม (ไข้ที่เกิดช่วงหมดฤดูฝนเข้าฤดูหนาว)
  9. ยาแสงหมึก นำมากวาดคอ แก้เสมหะ ซาง
  10. ดีปลี นำมาผสมน้ำผึ้งในปริมาณน้อย แก้เจ็บคอละลายเสมหะ
  11. หอมแดง ทุบห่อผ้าดมแก้หวัด (ในการนำสมุนไพรมาปรุงให้เด็กกินต้องคำนึงถึงรสชาติเป็นสำคัญ เพราะเด็กอาจไม่ชอบรสขมของยาไทย พ่อแม่ควรหาทางให้รสชาติดีขึ้นด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น ผสมน้ำผึ้ง นม หรืออาหารมีประโยชน์ที่เด็กชอบ)
ข้อควรระวังในการรักษาเอง

1.พ่อแม่ต้องมั่นใจว่าลูกป่วยเป็นอะไร และรู้วิธีรักษาที่ถูกต้อง

2.มีความรู้เรื่องยา หรือสมุนไพรที่จะใช้เป็นอย่างดี

3.หากรักษาสักระยะหนึ่ง ประมาณวันสองวันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นต้องนำส่งแพทย์

4.อย่าเชื่อคำโฆษณาที่เกินจริงเกี่ยวกับยา

5.การซื้อยาให้ลูกกินต้องอ่านฉลาก หรือรู้สรรพคุณที่แน่นอนรวมทั้งผลข้างเคียงหรือพิษของยานั้น ๆ

6.โรคที่รักษาเองไม่ได้ คือ มีไข้และชัก อาเจียนพุ่ง ไข้ขึ้นๆ ทรงๆ เพราะอาจเป็นไทฟอยด์ หรือไข้เลือดออก ไข้สูงเกี่ยวกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการเกร็งและคอแข็งร่วมด้วย กรณีเหล่านี้ต้องพาส่งแพทย์ด่วน

 

ขอขอบคุณ : คุณสันติสุข โสภณสิริ คุณหมอแผนไทยจากมูลนิธิสุขภาพไทยที่เอื้อเฟื้อข้อมูล

สร้างกองทัพพลังบวกให้ลูกได้ทุกวัน ด้วยการไม่พูด 4 คำนี้

 คำพูดสร้างพลังบวก-พูดกับลูก-คำพูดที่ห้ามพูดกับลูก-ไม่-อย่า-ห้าม-หยุด-Positive energy-ทักษะพ่อแม่-พ่อแม่มีอยู่จริง

สร้างกองทัพพลังบวกให้ลูกได้ทุกวัน ด้วยการไม่พูด 'ไม่' 'อย่า' 'ห้าม' 'หยุด'

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตตัวเองกันไหมคะ? ว่าในแต่ละวัน เราพูดคำว่า ไม่ อย่า ห้าม หยุด กับลูกบ่อยแค่ไหน เรามาลองเปลี่ยน 4 คำพูดพลังลบนี้ด้วยคำพูดกองทัพพลังบวกให้ลูกด้วยคำพูดดี ๆ กันดีกว่าค่ะ

 

ตัวอย่างประโยคพลังลบ!

“อย่าเทน้ำบนพื้น”

“อย่าฉีกกระดาษเล่นซิลูก”

“อย่าเอาดินสอเขียนผนัง ทำไมดื้ออย่างนี้ ถ้าทำอีก แม่จะไม่รักแล้ว !!!”

ไม่ได้หมายความว่าการที่ลูกเล่นเลอะเทอะ ทำบ้านสกปรก หรือเล่นอันตราย แล้วเราสอนเค้าจะเป็นสิ่งผิด ตรงกันข้ามกลับสนับสนุนให้พ่อแม้ได้บอกได้สอน แต่ควรทำในวิธีที่เหมาะสมกับการรับรู้ของเด็กและจิตวิทยาในการเลี้ยงดูลูก หรือแม้กระทั่งการจัดสภาพแวดล้อม สถานที่ และอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับการเล่นแบบเลอะๆ ได้ 

 

ตัวอย่างประโยคพลังบวก!

“แม่รู้ว่า หนูอยากเทน้ำบนพื้นใช่ไหมจ๊ะ แต่เทในบ้านมันจะหกเลอะเทอะ แม่จะเสียเวลาที่จะเล่นกับหนู เพราะต้องมาเช็ดทำความสะอาด เราออกไปเทน้ำข้างนอกบ้านแทนดีไหม”

สังเกตว่า จะมีการสะท้อน ว่าเราเข้าใจความต้องการการอยากเทน้ำเล่นของเขา แต่บอกผลเสียที่ตามมา พร้อมยื่นข้อเสนอใหม่ให้ และสุดท้ายให้เข้าเป็นคนตัดสินเลือกเอง หรือ

“โอ้โห้ ลูกเขียนรูปบนผนังบ้านสวยมาก ๆ เลย แม่ชื่นชมที่หนูวาดรูปได้เก่งมาก แต่ถ้าเราเอากระดาษไปติดที่ผนัง แล้วเขียน พอเขียนครบ เราก็เอากระดาษแผ่นใหม่มาติดแทน ก็จะวาดได้ตลอดไป แบบนี้ดีกว่าไหมลูก”

วิธีการพูดเชิงบวก และให้ได้ผลทางจิตวิทยานั้น มันต้องพูดยาวมากกกกกก… แต่ถ้าเรายอมปรับครั้งเดียว ให้เขาเข้าใจ แล้วต่อไปเขาไม่ทำอีก มันจะประหยัดเวลา ลดอารมณ์หงุดหงิด เซฟพลังงาน ซึ่งจะได้ผลที่ดีกว่าในระยะยาวมากกว่าการบ่นด่าว่าเขาซ้ำ ๆ ซึ่งพฤติกรรมเข้าก็ไม่เปลี่ยนอยู่ดี

ทุกครั้งที่พูดคำว่า “ ไม่” “อย่า” “ห้าม” “หยุด” ก็คือการเด็ดยอดอ่อนแห่งจินตนาการ แห่งพัฒนาการ แห่งความคิดสร้างสรรค์ แห่งพรสวรค์ของลูกทิ้งไป ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเปลี่ยนคำพูดกันใหม่แล้วค่ะ มาลองเปลี่ยนเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกกันนะคะ

 

ที่มา : กรมอนามัย

ส่องเทรนด์อาชีพใหม่ของเด็กเจนใหม่ เมื่อโลกเปลี่ยนควรสนับสนุนลูกอย่างไร?

อาชีพต่างเงินดี-เด็ก เจน y- เด็กยุคใหม่

เด็กยุคใหม่ คือเด็กที่เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาแล้ว ความเจริญนี้ส่งผลต่อทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความคิดของเด็กเจนนี้หลายอย่าง จึงไม่แปลกที่เด็กรุ่นนี้จะมีความคิดและความต้องการคนละแบบกับคุณพ่อคุณแม่ที่เติบโตมาในยุคสมัยที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถเอาความชอบของคนรุ่นเรามาตัดสินความต้องการในอนาคตและสิ่งที่ลูกอยากเป็นได้อีกแล้ว แล้วอาชีพแบบไหนล่ะ ที่เด็กๆ Gen นี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ?  

  1. เกมเมอร์และนักแคสเกม

เรียกได้ว่าเกมคือส่วนหนึ่งของความทรงจำในวัยเด็กของทุกคน เพราะความสนุกทำให้เด็กทุกคนชอบเล่นเกมและเสพติดมันงอมแงม ในมุมมองของคนรุ่นเราอาจมองว่าการที่เด็กๆ ติดเกมคือสิ่งที่ไม่ดี แต่สำหรับเด็กเจนนี้กลับมองในมุมที่ต่างคือพวกเขาสามารถเปลี่ยนความชอบให้เป็นแพชชั่นและทำมันให้กลายเป็นอาชีพในฝันได้ นั่นก็คืออาชีพเกมเมอร์และนักแคสเกมนั่นเอง คนยุคเราอาจมองว่าทั้งสองอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ไร้สาระและไม่มั่นคง แต่ในความเป็นจริงแล้วในช่วงปีที่ผ่านมาทั้งสองอาชีพนี้กำลังเติบโต และสามารถสร้างรายได้จำนวนมากได้อย่างไม่น่าเชื่อ  

 

2. YouTuber

เด็กเจนใหม่นั้น มักจะใช้ชีวิตตามแพชชั่นและความต้องการของตัวเอง เพราะเด็ก Gen นี้มีทั้งพลัง ความรู้ ความสามารถที่เต็มเปี่ยม จึงไม่แปลกที่พวกเขาอยากแสดงความเป็นตัวของตัวเองในด้านที่ไม่เหมือนใครออกมา และเมื่อมีของและความเจ๋งที่พร้อมจะปล่อยออกมาทุกเมื่อ พวกเขาจึงสร้างช่องทางให้ตัวเองได้ปลดปล่อยมันออกมา ซึ่งช่องทางนั้นก็คืออาชีพ Youtuber นั่นเอง เพราะเป็นอาชีพที่สร้างพื้นที่ให้พวกเข้าได้แสดงความเป็นตัวเองออกมาได้เต็มที่ แถมยังสามารถสร้างรายได้จากความชอบของตัวพวกเขาเองได้อีกด้วย  

 

3. เจ้าของธุรกิจ

เด็กยุคนี้นั้นเติบโตมาในสังคมที่เปิดกว้างกว่าอดีตมาก ทำให้พวกเขามีทางเลือกและอิสระในการใช้ชีวิตที่หลากหลาย การประสบความสำเร็จและมีธุรกิจของตัวเองจึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกอาชีพในฝันของพวกเขา เพราะเด็ก Gen นี้รักที่จะใช้ชีวิตอิสระเป็นนายตัวเองมากกว่าเป็นลูกจ้างให้บริษัทต่างๆ ที่ต้องคอยทำตามคำสั่งผู้อื่น แถมการมีธุรกิจเป็นของตัวเองนั้นก็ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้ครบถ้วนคือ ทั้งเรื่องอิสระในการใช้ชีวิต และยังสามารถสร้างรายได้มหาศาลได้อีกด้วย

 

การที่ความคิดและความต้องการของเด็กๆ ยุคนี้แตกต่างไปจากคนรุ่นเราไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะบริบทของโลกที่แตกต่างกันเป็นตัวหล่อหลอมสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา แม้โลกจะเปลี่ยนไป ความต้องการของพวกเขายังคงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขาชอบทำในวันนี้ อย่างเช่น การวาดรูป อาจสามารถต่อยอดให้พวกเขากลายเป็นศิลปินใหญ่ในอนาคตก็เป็นได้  

ในฐานะคุณพ่อและคุณแม่ยุคใหม่สิ่งที่เราทำได้คือ "เชื่อในสิ่งที่เขารัก เพื่ออนาคตที่เขาชอบ” พร้อมกับสนับสนุนพวกเขาอย่างเต็มที่ คุณเองก็ทำได้ด้วยการให้ลูกทานอาหารที่เหมาะสมตามวัยให้ครบ 5 หมู่ ตามด้วยสารอาหารที่สร้างไมอีลิน เช่น สฟิงโกไมอีลิน โคลีน และดีเอชเอ เป็นต้น ซึ่งสฟิงโกไมอีลินเป็นไขมันฟอสโฟไลปิด พบในน้ำนมแม่ รวมทั้งในไข่ ครีม ชีส นม ซึ่งไมอีลินช่วยการทำงานของระบบประสาทให้ส่งกระแสสัญญาณประสาทให้เร็วขึ้น จึงอาจมีผลให้สมองเรียนรู้ได้ไว เพื่อให้ลูกรักของคุณเดินทางตามความฝันได้อย่างเต็มที่ มาเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพวกเขากันเถอะ  

 

 

Source

1.https://www.smefrog.com/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%88/

2. https://www.sanook.com/campus/1388231/

3. Francesca Guiffrida, Cristina Cruz-Hernandez, et al. Quantification of Phospholipids Classes in Human Milk. Lipids (2013) 48:1051-1058 4. Vesper et al., Shpingolipids. In Food and the Emerging Importance of Sphingolipids to Nutrition. 1999    

 

พื้นที่เพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์

 
 

สอนลูก 6 ข้อนี้ ตั้งแต่เด็ก ช่วยให้เป็นคนดี ติดดิน ไม่เห็นแก่ตัวตอนโต

การเลี้ยงลูก-พัฒนาการ-สอนลูก 

อยากให้ลูกให้เป็นคนดี ติดดิน และไม่เห็นแก่ตัว ต้องสอนอย่างไรดี ความคาดหวังของพ่อแม่ทุกคนก็ต้องอยากให้ลูกนั้นเติบโตมาเป็นคนดี แต่การที่ลูกจะเป็นคนดีนั้น ต้องเริ่มสอนกันตั้งแต่เด็กๆ เลยค่ะ แต่จะสอนอย่างไรดี มาเริ่มต้นสอนกันทั้ง 6 ข้อนี้กันก่อนเลยค่ะ

  1. สอนลูกให้ทำงานบ้าน

ฝึกได้ตั้งแต่สามขวบเลยนะคะ ให้ลูกช่วยทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น กวาดบ้าน เช็ดโต๊ะ รดน้ำต้นไม้ พับเสื้อผ้า อย่าให้ลูกเรียนหนังสืออย่างเดียว หรืออยู่กับโลกโซเชี่ยลมากเกินไป คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ต้องสร้างนิสัยให้ลูกเป็นคนมีความรับผิดชอบด้วย

  1. สอนลูกให้รู้จักคุณค่าของทรัพยากรรอบตัว

เริ่มฝึกได้จากเรื่องใกล้ตัว เช่น เข้มงวดให้ลูกปิดไฟเมื่อไม่ใช้ไฟ ปิดก๊อกน้ำหลังใช้งาน ตักข้าวแค่พอทานและทานข้าวให้หมดจาน ไม่กินทิ้งกินขว้าง เป็นการสอนลูกให้เป็นคนรู้จักใช้สิ่งของ และทรัพยากรอย่างประหยัด

  1. สอนลูกให้ใช้เงินเป็น

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักการเก็บออม เริ่มจากอยากได้อะไรให้เก็บเงินซื้อเอง จะได้เห็นคุณค่าของเงิน และไม่ได้อะไรมาง่ายๆ และพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูกในการใช้จ่าย ไม่ฟุ่มเฟือยเกินฐานะ

  1. สอนลูกให้รู้จักหน้าที่ตัวเอง

สอนให้ลูกเห็นความสำคัญของการเรียน มีความรับผิดชอบ การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ เราจะเห็นได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ส่วนใหญ่มีเบื้องหลังมาจากการเป็นคนที่รักการเรียนรู้และมีการศึกษาที่ดี

  1. สอนลูกให้เป็นคนอ่อนน้อม

ควรสอนลูกให้เป็นคนสุภาพเรียบร้อย ให้เกียรติผู้อื่น อ่อนโยน เพราะคนที่อ่อนน้อมถ่อมตนไปอยู่ในสังคมใด ก็มักจะเป็นที่รักใคร่เอ็นดู ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนทั้งทางกายวาจาใจอยู่เสมอ

  1. สอนลูกให้เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว

คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้เป็นคนที่มีจิตใจเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักการเสียสละ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น รู้จักให้ และรับให้น้อย เช่น สอนให้ลูกดูแลสัตว์เลี้ยงและต้นไม้ สอนให้ลูกช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส ปลูกฝังให้ลูกเป็นคนที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลือ

 

สอนลูกเรื่องมารยาทไทย 9 ข้อ ไม่ลืมความเป็นไทยไปไหนใครก็รัก

การเลี้ยงลูก-พัฒนาการ-สอนลูก-มารยาทไทย-ความเป็นไทย-สอนลูกเรื่องมารยาท 

สอนลูกเรื่องมารยาทไทย 9 ข้อ ไม่ลืมความเป็นไทยไปไหนใครก็รัก

เด็ก ๆ ที่เกิดในยุคสมัยใหม่มีความเป็นตัวเองสูง ดังนั้นพ่อกับแม่ควรปลูกฝังเรื่องมารยาทไทยให้ด้วยลูกด้วยนะคะ เพราะไปไหนใครก็รักก็เอ็นดู มารยาทไทยดังไกลทั่วโลกที่มีแต่คนชม มาสอนเด็ก ๆ กันเลยค่ะ

มารยาทไทย 9 ข้อ ไม่ลืมความเป็นไทยไปไหนใครก็รัก
  1. แต่งกายให้ถูกกาละเทศะ ไปสถานที่ต่างๆ ก็แต่งตัวให้เรียบร้อยเหมาะสมกับสถานที่และเวลา ถือว่าเป็นเด็กมีวัฒนธรรมไทย ไปไหนคนก็เอ็นดู

  2. สํารวมกิริยาท่าทาง และคําพูด บอกให้ลูกเคารพสถานที่ และรักษาบุคลิกของตนให้ดูดีเสมอ ต้องสํารวมเรื่องการพูด ไม่พูดคําหยาบคาย ไม่พูดเสียงดังเอะอะโวยวาย จะได้เป็นที่รักของผู้ที่พบเห็น

  3. ต้องรู้จักเกรงใจผู้อื่น ไม่ว่าจะกับเพื่อนหรือผู้ใหญ่จะต้องมีความเกรงใจ เช่น ไม่เข้าห้องผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต ไม่หยิบของของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต รวมถึงต้องรู้จักระวังความรู้สึกของผู้อื่นด้วย

  4. การให้เกียรติผู้อื่น ให้เกียรติด้วยวาจา เช่น ไม่พูดต่อหน้าผู้อื่นจนน้ำลายกระเด็น ไม่ล้อเลียน ไม่เยาะเย้ย และดูถูกผู้อื่น และให้เกียรติด้วยท่าทาง เช่น ไม่นั่งกางขา ไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่นั่งโยกเก้าอี้ ไม่บิดขี้เกียจ หรืออ้าปากหาว ต่อหน้าผู้อื่น

  5. รู้จักกล่าวคําขอโทษ และขอบคุณ หากทำผิดไปทั้งกับเพื่อนและผู้ใหญ่ ต้องกล่าวขอโทษในตอนนั้นไม่ละเลยความรู้สึกของผู้อื่น และหากได้รับสิ่งใดมาจากผู้อื่นควรกล่าวขอบคุณให้ติดเป็นนิสัย แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม

  6. รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น หากเจอสถานการณ์ที่ผู้อื่นกำลังลำบาก ต้องเข้าไปช่วยเหลือหรือถามไถ่ เช่น หากเห็นคนแก่ถือของหนักต้องเข้าไปช่วย เห็นคนท้องยืนบนรถเมล์ต้องลุกให้นั่ง การแสดงความมีน้ำใจจะเป็นที่รักของผู้ที่พบเห็น

  7. มีสัมมาคารวะ ไปลา-มาไหว้ ยกมือไหว้ผู้ใหญ่เมื่อพบเจอ และลาเมื่อกลับ รวมถึงทักทายเพื่อนด้วยรอยยิ้ม เพราะการส่งยิ้มให้กันก็เป็นการแสดงถึงความเป็นคนที่มีอัธยาศัยดี ที่ใครๆ ก็ต้องการคบหาด้วย

  8. อ่อนน้อมถ่อมตน อ่อนโยน เดินผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มโค้ง รับของจากผู้ใหญ่ต้องรับแบบอย่างสุภาพ แสดงออกถึงการอ่อนน้อมถ่อมตน ดูเป็นเด็กดีมีมารยาท ซึ่งจะเป็นที่รักใคร่ของผู้อื่น

  9. รับฟังผู้ใหญ่ หากผู้ใหญ่สนทนากันเด็กไม่ควรพูดแทรก มารยาทแบบไทยเราควรฟังให้มากกว่าพูด เมื่อเป็นเด็กที่รับฟังผู้อื่นจะเป็นที่รักของทุกคน โตไปก็จะพูดแต่สิ่งที่ดีและมีประโยชน์