Self - Monitoring คือการติดตามประเมินตัวเองซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของ EF (Executive Functions) ที่จะนำไปสู่การรู้จักตัวเอง การที่เราสะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง
การประเมินตัวเองจะทำให้เรา รู้จักตัวเอง และ เข้าใจตัวเอง
ถ้าเด็กๆ ได้รับการฝึกฝนเรื่อง Self - Monitoring ก็จะมี Self หรือตัวตนในทางบวก เด็กจะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เป็นไปตามแผนงานหรือเปล่า ในขณะที่คนที่มี Self มากเกินไป ก็จะมี ego สูง จะยอมรับคนอื่นไม่ได้ ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นยาก ไม่พัฒนา เพราะว่าไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นความบกพร่องของตนเองได้ และจะรับได้เฉพาะคำชมหรือความสำเร็จเท่านั้นเอง
เมื่อเด็กมี Self-Monitoring
- เด็กจะรับรู้ตัวเองได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ ที่สำคัญคือการรับรู้ด้านลบของตัวเอง รู้จักประเมินตัวเอง รู้ว่าจุดอ่อนของตัวเองอยู่ตรงไหน เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตัวเอง
- เด็กรู้จักสัมพันธ์กับคนอื่น ระมัดระวังด้านที่เราเป็นลบให้พอเหมาะพอดี ไม่ไปกระทบหรือทำร้ายคนอื่น หรือทำให้ความเป็นทีมเสียหาย
- เด็กมีความสุขเป็น เพราะการที่เด็กๆ ค้นพบตัวเอง เด็กก็จะมีความสุข มีความพอใจ ชื่นชมกับมัน หรือมองไปในทางบวก
พ่อแม่สร้าง Self-Monitoring ให้ลูกได้
ตั้งคำถามและคอยกระตุ้น เหมือนเป็นการช่วยให้เขา Monitor ตัวเอง เช่น รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร
บอกเขาในสิ่งที่เขากำลังทำได้ดี เช่น ชม ปรบมือเมื่อเขาทำบางอย่างเองได้ จะทำให้เขาค่อยๆ รู้จักตัวเอง
เข้าใจและยอมรับสภาวะของเด็ก เช่น เด็กไปดึงหางแมว เรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่จะไม่ไปว่าเด็กว่าก้าวร้าว เป็นเด็กไม่ดี รังแกสัตว์ แต่อาจจะพูดว่า ลูกอยากรู้ใช่ไหมว่าแมวรู้สึกอย่างไร ลูกไม่ได้อยากจะรังแกมันใช่ไหมคะ แต่ถึงลูกอยากรู้ เราก็จะไม่ทำแบบนี้นะคะ เพราะแมวมันเจ็บ
การยอมรับสภาวะ ความคิด ความรู้สึก การกระทำของเด็ก จะเป็นตัวที่ช่วยให้เข้าใจเด็ก
อธิบายว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควรอย่างไร ถ้าอยู่ๆ มีคนมาดึงขาลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร ลูกก็ตกใจใช่ไหม แมวก็เหมือนกัน มันตกใจ มันอาจจะกัดได้นะลูก เด็กจะรับรู้ได้ว่าเราเข้าใจเขา และก็ค่อยๆ ทำให้เขาเห็นพฤติกรรมของตัวเอง ให้เขารู้ว่าเรายอมรับ แต่ไม่ใด้แปลว่าเห็นดีเห็นงามด้วย ยอมรับก่อนว่ามันเกิดขึ้นแล้ว มันมีอยู่จริงแล้ว ค่อยๆ ชี้ให้เห็น โดยการสะท้อนกลับมาที่ตัวเขาเอง ว่าถ้าเป็นลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร
Self Monitoring เริ่มสร้างได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยต้องเริ่มจากการให้เด็กรู้จักก่อนว่า "ตัวเขา" เป็นอย่างไร
เด็กเล็ก : เริ่มแรกพ่อแม่ต้องช่วยบอกเขาก่อน เช่น การที่เขากินข้าวเองได้ แล้วพ่อแม่ชมปรบมือให้ เป็นการบอกเขาว่า ตัวเขามีความสามารถ หรือถ้าเขาจะขึ้นมาขับรถ ก็ต้องบอกเขาว่า ลูกยังเล็กอยู่ ยังทำไม่ได้ ต้องบอกเขาไป จนเขาโต ว่ายังขับรถไม่ได้นะลูก กฎหมายไม่อนุญาต
พ่อแม่ต้องช่วยบอกเขาก่อน ช่วย Monitor ว่าเขาทำอะไรได้ ทำอะไรได้ดี แต่พ่อแม่จะคอยบอกฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องให้เด็กฝึกการที่จะบอกตัวเองด้วย
เด็กวัย 2-3 ขวบ : การตั้งคำถามกับเด็ก ถามความรู้สึกของเด็ก ถามความคิดเด็ก เช่น เด็กเล่นของเล่นแล้วแย่งของกัน เราต้องถามเขาว่า ลูกชอบไหมที่เขามาแย่งของของลูก หรือลูกรู้สึกอย่างไรที่ไปแย่งของของเขา ทำไมลูกทำอย่างนั้นล่ะคะ ลูกอยากทำอะไร ทำไมลูกทำอย่างนี้ ลองบอกแม่หน่อยซิ ที่ลูกชอบมันจะเป็นอย่างไร แล้วแบบไหนที่ออกมาแล้วลูกไม่ชอบ
การคุยในลักษณะแบบนี้จะทำให้เขาได้กลับไปทวนความคิด ความรู้สึก การกระทำของตัวเอง เด็กก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า คนเราต้องคอยถามตัวเอง คอยดูตัวเอง คอยสะท้อนตัวเอง
เด็กวัยอนุบาล :การพูดคุยจะทำให้เข้าใจและรู้ว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือตรงไหน เช่น เรื่องการบ้าน ชวนลูกคุยว่ารู้สึกอย่างไรกับการบ้าน การบ้านวันนี้เป็นไงบ้างลูก ถ้าลูกตอบว่า เยอะ ไม่ชอบเลย ไม่อยากการบ้านเลข เราก็ได้รู้ว่า ณ จุดนี้ลูกต้องการความช่วยเหลือ จะได้บอกว่าทำไมเขาต้องทำการบ้านเลข ถ้ามันยาก เรามาลองทำอย่างนี้ดีไหมลูก เราก็ช่วยสอน ช่วยเหลือเขาได้ เมื่อเขาโตขึ้นเรื่อยๆ เด็กก็จะรู้จักช่วยตัวเอง ต่อให้เขาไม่ชอบ เขาก็จะต้องรู้วิธีแก้ปัญหาว่ามันคืออะไร
ในแต่ละวัยกระบวนการ Self-Monitoring ก็จะแตกต่างกันไป และเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การให้เด็กรู้จัก Monitor ตัวเอง เพื่อนำไปสู่อะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่ Monitor ตรวจสอบว่าวันนี้หนูไม่ยิ้มนะ ใครอย่ามายุ่งกับหนู แต่ต้องให้เด็กมีกระบวนการ เช่น เพื่อนๆ ช่วยทำให้เพื่อนร่าเริงหน่อย ทุกคนไปกอดซิ วันนี้เพื่อนไม่สบายใจ แมวที่เลี้ยงตาย เพื่อนๆ ไปกอดให้กำลังใจหน่อย แบบนี้ก็จะนำไปสู่การรู้จักตัวเองที่มีความหมาย
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจ และทำให้เด็กมีกระบวนการอย่างนี้สม่ำเสมอ เด็กก็โตขึ้นแบบรู้จักตัวเอง ได้เห็นปัญหา ไม่กลัวปัญหา และรู้จักแก้ปัญหา ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ และรู้ว่าตัวเองจะต้องแก้อะไรบ้าง ถ้าเป็นลบก็จะระมัดระวัง รักษาสมดุล เพราะบางเรื่องเราแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่เราคอยจัดการกับสถานการณ์นั้นได้ คนที่จะประสบความสำเร็จได้ดีต้องมีสิ่งเหล่านี้ค่ะ
เหตุการณ์ลืมเด็กในรถเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทยเรานะคะ ทางรักลูกมีคำแนะนำดีๆ สำหรับสอนลูกเมื่อต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ต้องทำอย่างไร และคำแนะนำสำหรับคนขับรถนักเรียน รวมถึงผู้ปกครอง เพื่อป้องกันการลืมเด็กในรถ มาฝากค่ะ
ข้อมูลเฝ้าระวังโรคของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่า ในช่วง 5 ปี มีเหตุการณ์ที่เด็กถูกลืมทิ้งไว้ในรถจำนวน 106 เหตุการณ์ เด็กเสียชีวิตทั้งหมด 5 ราย เป็นเพศหญิง 3 ราย เพศชาย 2 ราย อายุอยู่ระหว่าง 3 - 6 ปี โดยเกิดเหตุขึ้นในรถรับจ้างรับส่งนักเรียน 4 ราย และรถยนต์ส่วนบุคคล 1 ราย ทั้งหมดถูกลืมทิ้งไว้ในรถนานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป โดยเกิดขึ้นขณะเด็กนอนหลับและจอดรถไว้หลังจากรับส่งนักเรียนเสร็จ
วิธีสอนลูกเมื่อเกิดเหตุการณ์ลืมเด็กไว้ในรถ ต้องทำอย่างไร
- อันดับแรก สอนให้ลูกตั้งสติ ไม่ต้องกลัว เพื่อแก้ไขปัญหา
- สอนลูกให้รู้จักช่วยเหลือตัวเอง โดยการให้ลูกบีบแตรรถ หรือเปิดกระจกเพื่อขอความช่วยเหลือ (กรณีที่เสียบกุญแจหรือสตาร์ทรถทิ้งไว้)
- สอนลูกให้รู้จักปลดล็อกประตู เมื่อติดอยู่ด้านใน
- เคาะกระจก เรียกคนมาช่วย และตะโกนขอความช่วยเหลือจากคนข้างนอก
3 ข้อควรจำ สำหรับครู คนขับรถ และผู้ปกครอง เพื่อป้องกันการลืมเด็กในรถ “นับ ตรวจตรา อย่าประมาท”
- นับ จำนวนเด็กก่อนขึ้นและหลังลงจากรถทุกครั้ง เมื่อเด็กลงจากรถเพื่อจะเข้าโรงเรียน ครูพี่เลี้ยงควรเช็คชื่ออีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่ามีจำนวนเด็กขึ้นรถและลงรถเท่ากัน เป็นการตรวจสอบย้ำว่าไม่มีเด็กคนไหนถูกลืมทิ้งไว้บนรถ
- ตรวจตรา ก่อนล็อคประตูรถ ตรวจดูให้ทั่วรถ เมื่อเด็กๆ ลงจากรถครบแล้วควรเดินตรวจภายในรถอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตรวจสอบว่ามีเด็กคนไหนหลับหรือหลบอยู่โดยที่ครูไม่ทันสังเกตหรือไม่ รวมถึงจะได้สามารถตรวจสอบสิ่งของที่ลืมไว้บนรถด้วย
- อย่าประมาท อย่าทิ้งเด็กไว้เพียงลำพัง แม้ว่าจะลงไปทำธุระเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม อุ้มหรือพาเด็กลงจากรถด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าคุณจะคิดว่าลงรถไปเพื่อซื้อของเล็กน้อย หรือเพียงแต่เดินไปเก็บของที่กระโปรงหลังรถ เพราะเด็กมักซุกซนและไม่รู้ระบบภายในรถ เด็กอาจจะกดเซ็นทรัลล็อก เบรกมือ หรือเหยียบคันเร่ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ รวมถึงช่วงเวลาอากาศร้อนๆ อาจทำให้เด็กเกิดอาการช๊อค หมดสติ เพราะขาดอากาศหายใจได้นะคะ
หากพบเห็นเด็กถูกลืมไว้ในรถ ขอให้เรียกหาเจ้าของรถ เพื่อให้มาเปิดรถโดยเร็วนะคะ ถ้ากรณีที่ไม่พบเจ้าของรถ ก็ต้องขอให้คนรอบข้างช่วยเหลือค่ะ และรีบโทร.1669 ขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ

ตรุษจีนนี้! มาสอนศัพท์รับ 'อั่งเปา ตั่ว ๆ ไก๊' ให้ลูกกันเถอะ
ใกล้วันตรุษจีนกันแล้ว แม่แอดมินมีคำอวยพรภาษาจีนในวันตรุษจีนมาฝากค่ะ รับรองว่าอวยพรแล้วผู้ใหญ่เอ็นดู ถูกใจ พร้อมยื่นซองอั่งเปามาให้เด็ก ๆ แน่นอน เตรียมตัวนับเงินกันได้เลยจ้า
8 คําอวยพรตรุษจีน ภาษาจีนกลาง
新正如意 新年发财 อ่านว่า ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ ความหมาย : คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปี (ถ้าเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วจะออกเสียงว่า ซิงเจียหยู่อี่ ซิงนี้ฮวกไช้)
新年快樂 อ่านว่า ซินเหนียนไคว้เล่อ ความหมาย : ขอให้มีความสุขในวันปีใหม่
恭喜发财 อ่านว่า กงซีฟาไฉ ความหมาย : ขอให้ร่ำรวย
大吉大利 อ่านว่า ต้าจี๋ต้าลี่ ความหมาย : ค้าขายได้กำไร
龙马精神 อ่านว่า หลงหม่าจินเสิน ความหมาย : ขอให้สุขภาพแข็งแรง
四季平安 อ่านว่า ซื่จี้ผิงอัน ความหมาย : ขอให้ปลอดภัยตลอดปี
家好运气 อ่านว่า เจียห่าวยวิ่นชี่ ความหมาย : มีความโชคดีเข้าบ้าน
幸福如意 อ่านว่า ซิ่งฝูหรูอี้ ความหมาย : ขอให้มีความสุขสมปรารถนา
ที่มา :
1.pasajeen
2.honglaoshi
คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตพฤติกรรมของลูกไหมคะ เด็กบางคนชอบมีอาการชอบขยิบตาบ่อยๆ ย่นจมูก กระตุกมุมปาก ขยับหน้า ยักไหล่หรือศีรษะ หรือกระแอมไอซ้ำ ๆ ตลอดเวลา เราพูดแล้วก็ไม่หยุดทำ จนติดเป็นนิสัย พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากอะไร บทบาทต้องเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง เรามีข้อมูลมาฝาก
อาการมักเริ่มจาก Motor tics จากกล้ามเนื้อมัดเล็กเช่น กระพริบตา ย่นจมูก กระตุกมุมปาก ไปมัดใหญ่ เช่นยักไหล่ สะบัดคอ และเกิด Vocal tics ขึ้นตามมา ซึ่งอาจเป็นเพียงเสียงกระแอม หากลูกมีอาการเหล่านี้ แสดงว่าลูกของคุณกำลังเป็นโรคทูเร็ตต์ Tourette’s disorder
โรคทูเร็ตต์ (Tourette’s disorder) คือ โรคที่เกิดจากการที่สมองสั่งการให้เกิดการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ (Motor tics) โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือ อาจมีการเปล่งเสียงขึ้น ( Vocal Tics) จากลำคอหรือจมูก โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจ
อาการโรคทูเร็ตต์ (Tourette’s disorder)
อาการเริ่มจาก Motor tics จากกล้ามเนื้อมัดเล็กเช่น กระพริบตา ย่นจมูก กระตุกมุมปาก ไปมัดใหญ่ เช่น ยักไหล่ สะบัดคอ และเกิด Vocal tics ขึ้นตามมา ซึ่งอาจเป็นเพียงเสียงกระแอม ลักษณะสำคัญของโรคคือ
-
ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดอาการเอง แต่บางครั้งจะสามารถกลั้นหรือห้ามการเคลื่อนไหวได้ชั่วคราว
-
ขณะเกิดอาการต้องมีสติรู้ตัวดี (ไม่เหมือนอาการชักซึ่งจะไม่มีสติ) ผู้ป่วยจะมาความรู้สึกและบอกได้ว่ากำลังจะเกิดอาการ โดยบางคนอาจบอกว่าคัน หรือตึงๆ หรือปวด บริเวณที่กำลังจะเกิดอาการ
-
อาการเกิดขึ้นซ้ำๆ วันละหลายๆ ครั้ง เกือบทุกวัน เป็นเรื้อรังนานกว่า 1 ปี แต่อาการอาจเป็นๆหายๆ เป็นช่วง บางครั้งเว้นระยะห่างออกไปแต่ไม่นานเกิน 3 เดือน ก็จะกลับมามีอาการใหม่
-
อาการอาจเป็นหนักมากขึ้นถ้ากลั้นเป็นเวลานาน ถูกทัก ดุว่า หรือห้ามไม่ให้ทำ หรือมีความเครียดความกังวลไม่ว่าทางร่ายกายหรือจิตใจ อาการจะเป็นน้อยลงเมื่อผ่อนคลาย และแทบจะไม่มีอาการเลยขณะนอนหลับ
สาเหตุโรคทูเร็ตต์ (Tourette’s disorder)
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นความบกพร่องในการทำงานของสมองอย่างหนึ่งที่มีสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกันดังนี้
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ถ้ามีประวัติโรคนี้ในครอบครัว จะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคมากขึ้น
- ปัจจัยทางการทำงานของสมอง พบว่ามีความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทบางตัว คือโดปามีน(Dopamine)
- ปัจจัยทางด้านจิตใจ เช่น ความเครียดทางด้านจิตใจ ทำให้อาการเป็นหนักขึ้น

วิธีรักษาโรคทูเร็ตต์ (Tourette’s disorder)
-
พาลูกไปพบกุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่
-
ถ้ามีอาการเล็กน้อย หรือ เป็นมาไม่นาน แพทย์อาจรอดูอาการไปก่อน เพราะอาจเป็นเพียงชั่วคราวและหายเองได้
-
คุณพ่อคุณแม่และครอบครัว ควรเห็นใจและเข้าใจว่าอาการเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของสมองบางส่วน ผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจหรือแกล้งทำ และไม่สามารถควบคุมอาการได้ และอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีภาวะเครียด ดังนั้น พ่อแม่และบุคคลอื่นๆ เช่น ญาติ เพื่อนหรือครูที่โรงเรียน ไม่ควรพูดทัก ห้ามปราบ หรือเพ่งเล็งที่อาการแต่ควรมองหาและแก้ไขภาวะเครียดที่เป็นสาเหตุ
-
ถ้าอาการเป็นมาก เป็นเรื้อรัง หรือส่งผลเสียรบกวนการดำเนินชีวิต เช่น การเรียน การเข้าสังคม แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยยา ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง และใช้เวลาในการรักษาพอสมควร
-
การรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัด ที่เรียกว่า habit reversal training โดยสอนให้ผู้ป่วยรู้ทันอาการขณะเกิด tic (awareness) และฝึกควบคุมอาการด้วยการผ่อนคลาย (relaxation) และทำพฤติกรรมที่ไปด้านการเป็น tic เช่น ถ้ามีอาการคือกระพริบตาถี่ๆ ก็ให้รู้ทันอาการผ่อนคลาย แล้วทอดสายตาไปไกลๆ เพื่อให้ผ่อนคลาย เป็นต้น
-
การช่วยเหลือด้านจิตใจ ลดภาวะเครียด และส่งเสริมให้เด็กรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง ช่วยเหลือให้มีการปรับตัว และแก้ปัญหาในทางที่เหมาะสม เช่น เมื่อถูกเพื่อนล้อเลียน สนับสนุนให้ได้เรียนในโรงเรียนตามความสามารถของเด็ก โดยไม่ต้องกังวลกับอาการมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่อาจโดนเพื่อน ๆ ล้อเลียน หรือโดนเพื่อน ๆ แกล้ง เคสนี้ผู้ปกครองควรสอนวิธีรับมือ หรือทางที่ดีควรแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบถึงโรคที่เขาเป็น หรือหากผู้ป่วยยังเป็นเด็กวัยกำลังเรียนรู้ ผู้ปกครองควรรีบสังเกตอาการผิดปกติของเขา และพาไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางบำบัดรักษา นอกจากนี้ก็ควรให้เขาได้ออกสังคมบ่อย ๆ เพื่อให้เขาปรับตัวอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ได้อย่างปกติ
ที่มา :
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
- วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม สถาบันพระบรมราชชนก
- วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
ลูกน้อยวัยซนคันก้นเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าอาการคันเกิดขึ้นบริเวณทวารหนัก (Anal pruritus) อาจเป็นผลจากการมีการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณรูเปิดทวารหนัก และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งสาเหตุของการคันอาจเกิดได้จาก การได้รับสารที่ฤทธิ์ระคายเคืองเช่น
- การรับประทานอาหารรสจัด
- ยาปฏิชีวนะบางชนิด
- การสัมผัสสิ่งกระตุ้นให้ระคายเคืองเช่น การใช้กระดาษชำระที่มีผลต่อการระคายเคืองเนื้อเยื่อรอบทวารหนัก
- การระคายเคืองจากสารบางชนิดในอุจจาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท้องเสียหรือถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ
- การมีริดสีดวงทวารหนัก
- ผื่นจากโรคทางผิวหนัง
- การติดเชื้ออื่น ๆ บริเวณทวารหนักเช่น พยาธิเข็มหมุด เชื้อรา ยีสต์บางชนิด และหูดเป็นต้น
อาการคันจาก "พยาธิ" สำหรับในเด็ก
การติดเชื้อที่สำคัญและพบบ่อยคือ การติดเชื้อจากพยาธิเข็มหมุด (Pinworm) หรือบางครั้งเรียกว่าพยาธิเส้นด้าย (Threadworm)
พยาธิเข็มหมุด (Enterobius vermicularis) คืออะไร
พยาธิเข็มหมุดคือพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 2-10 มิลลิเมตรสีซีด รูปร่างคล้ายเข็มหมุดหรือเส้นด้ายเมื่อมองด้วยตาเปล่า จึงทำให้เรียกกันว่าพยาธิเข็มหมุดหรือพยาธิเส้นด้าย อาศัยในทางเดินอาหารโดยเฉพาะทางเดินอาหารส่วนล่าง พยาธิชนิดนี้จะแย่งกินอาหารของคน และทำให้เกิดอาการคันรอบทวารหนัก พบมากในเด็กวัยเรียนอายุประมาณ 5-8 ปีและพบมากในกลุ่มเด็กที่อยู่รวมกันเช่นเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนประจำ

พยาธิเข็มหมุดติดต่อได้อย่างไร
เมื่อพยาธิเข็มหมุดเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ในระบบทางเดินอาหารของคนแล้ว พยาธิตัวผู้จะตายไป ส่วนพยาธิตัวเมียจะออกมาวางไข่บริเวณรูเปิดทวารหนักโดยเฉพาะในเวลากลางคืน หลังจากนั้น 4-6 ชั่วโมงไข่จะสามารถเจริญเป็นไข่ระยะติดต่อได้เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม การที่มีไข่พยาธิบริเวณทวารหนักจะกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณนั้น ทำให้คัน เมื่อเด็กหรือผู้ติดเชื้อเกาบริเวณทวารหนัก ไข่ของพยาธิจะติดไปตามเล็บ ง่ามนิ้วมือ หรืออาจตกลงไปบนที่นอน ผ้าห่ม เสื้อผ้าได้ การติดต่อของพยาธิเข็มหมุดเกิดได้หลายวิธีทั้งทางตรงและทางอ้อม
- จากการรับประทาน หลังจากที่เด็กเกาบริเวณทวารหนัก ไข่ระยะติดต่อจะติดอยู่ตามง่ามนิ้วมือ เล็บและสามารถกลับสู่ทางเดินอาหารได้เมื่อเด็กเอามือเข้าปาก อมนิ้ว หรือการหยิบอาหารเข้าปากเป็นต้น นอกจากนี้ไข่พยาธิที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้า ผ้าห่มของใช้ในบ้านก็เป็นตัวกลางให้เด็กจับและนำมาเข้าปากได้เช่นกัน
- จากการหายใจ ไข่พยาธิที่ตกบนเตียง ที่นอนสามารถฟุ้งกระจายในอากาศ และเมื่อสูดดมก็ทำให้ได้รับไข่พยาธิเข้าไปในทางเดินหายใจ เนื่องจากทางเดินหายใจและทางเดินอาหารมีบางส่วนต่อเนื่องกัน ทำให้เด็กกลืนไข่พยาธิลงไปในทางเดินอาหารได้
- จากการติดเชื้อย้อนกลับทางทวารหนัก ในสภาวะที่เหมาะสม ไข่พยาธิสามารถทนอยู่ได้นานถึง 3 สัปดาห์และเจริญต่อเป็นตัวอ่อนซึ่งจะชอนไชกลับเข้าไปทางทวารหนักและทางเดินอาหารต่อไปได้
อาการจากการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดเป็นเช่นไร
ส่วนมากมักไม่ทำให้เกิดอาการ ในกรณีที่มีอาการ อาการที่พบบ่อยคือ
คันบริเวณทวารหนักโดยเฉพาะในเวลากลางคืน ทำให้เด็กนอนหลับไม่สนิท กระสับกระส่าย ร้องกวน เกามากทำให้เกิดแผลถลอกและเป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ถ้ามีพยาธิจำนวนมากชอนไชในเยื่อบุลำไส้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุผนังลำไส้ มีอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร ในบางกรณีที่มีการติดเชื้อย้อนกลับโดยกลับเข้าทางช่องคลอดในเพศหญิง พยาธิจะชอนไชไปในช่องคลอด มดลูกทำให้เกิดการอักเสบทางอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงโดยมีอาการคันและตกขาวร่วมด้วย
วินิจฉัยการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดได้อย่างไร
จากประวัติข้างต้น การตรวจร่างกายที่มีลักษณะการอักเสบบริเวณผิวหนังรอบทวารหนัก และการตรวจทางห้องปฏิบัติเพื่อหาไข่พยาธิ โดยใช้สก๊อตเทปติดบริเวณทวารหนักหลังตื่นนอนตอนเช้าทันที แล้วนำมาตรวจโดยกล้องจุลทรรศน์
รักษาการติดเชื้อพยาธิเข็มหมุดอย่างไร
ให้ยาถ่ายพยาธิ Albendazole 400 mg หรือ Mebendazole 100 mg หนึ่งครั้ง หลังจากนั้นให้ยาซ้ำอีกภายใน 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ สำหรับยาถ่ายพยาธิชนิดนี้ควรหลีกเลี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี นอกจากนี้ควรให้ยารักษาทั้งครอบครัว ถึงแม้ว่าบุคคลในครอบครัวจะยังไม่มีอาการก็ตามเพราะโรคนี้ติดต่อกันได้ง่าย
ป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้อย่างไร
รักษาความสะอาดร่างกายและของใช้ต่าง ๆ เช่นเสื้อผ้า ผ้าห่ม ที่นอน หมอน ตัดเล็บมือให้สั้น ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะเวลาก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ อาบน้ำตอนเช้าเพื่อลดการสัมผัสไข่พยาธิและหลีกเลี่ยงการเกาบริเวณทวารหนัก

พญ.เปรมจิต ไวยาวัจมัย ภาควิชาปรสิตวิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สังเกตให้ดี! ลูกเราเป็น ADHD โรคสมาธิสั้นหรือไม่
ปัญหาใหญ่ของเด็กไทยกับการป่วยโรคสมาธิสั้น โดยกระทรวงสาธารณสุขพบว่า เด็กไทยป่วยสมาธิสั้นกว่า 1 ล้านคน และกว่าครึ่งจะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมาค่ะ
โรคสมาธิสั้น (ADHD , Attention Deficit Hyperactivity Disorder)
โรคสมาธิสั้น เป็นปัญหาทางพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กมีปัญหาการเรียน เกิดจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมอง มีอาการหลักเป็นความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมได้แก่ ขาดสมาธิ ซนอยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น ขาดการยับยั้งชั่งใจ ที่เป็นมากกว่าพฤติกรรมตามปกติของ เด็กในระดับพัฒนาการเดียวกัน
วิธีสังเกตอาการของโรคสมาธิสั้น
1.ซน อยู่ไม่นิ่ง
เด็กจะมีอาการซน ยุกยิก นั่งนิ่งไม่ค่อยได้ เคลื่อนไหวตลอดเวลา เล่นโลดโผน
2.ขาดสมาธิ
เด็กไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการเรียน ไม่สามารถตั้งใจฟังครูสอนได้อย่างต่อเนื่อง มีอาการเหม่อลอย วอกแวกง่าย ทำงานไม่เสร็จ เบื่อง่าย ผลงานที่ออกมาไม่เรียบร้อย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เด็กเรียนรู้ไม่เต็มศักยภาพ หลงลืมกิจวัตรที่ควรทำเป็นประจำ หรือทำของหายบ่อย ขาดการยับยั้งใจตนเอง หุนหันพลันแล่น
3.ขาดการยั้งคิด
ทำโดยไม่ไตร่ตรองถึงผลกระทบที่ตามมา อดทนรอคอยไม่ค่อยได้ ไม่สามารถควบคุมตนเองให้ทำในสิ่งที่ควรทำให้จนเสร็จ
8 วิธีดูแลเด็กสมาธิสั้น เพื่อช่วยเด็กรับมือกับโรคได้ดีขึ้น
- จัดมุมที่เงียบสงบไว้ให้เด็กได้ทำงาน หรือทำการบ้าน ห่างจากโทรทัศน์ไม่ให้มีเสียงเข้ามารบกวนสมาธิ และจัดของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดสิ่งเร้าที่ดึงความสนใจของเด็ก
- ใช้การสื่อสารที่สั้น กระชับ ชัดเจน ให้เด็กทวนคำสั่งว่ามีอะไรบ้าง เนื่องจากเด็กสมาธิสั้นมักมีความอดทนในการฟังต่ำ
- ฝึกฝนวินัยในเด็ก สร้างกรอบกฎเกณฑ์ มีตารางเวลาชัดเจน ไม่ปล่อยปละละเลยหรือตามใจจนเคยตัว
- เบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อเด็กดื้อหรือซนมากให้หากิจกรรมอื่นมาแทน
- ให้เด็กออกกำลังกายและทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว เพื่อช่วยลดพลังงานส่วนเกิน ช่วยให้มีสมาธิและลดความเครียด
- การนอนหลับให้เพียงพอก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เด็กมีสมาธิและมีสุขภาพที่ดี
- ลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลง แต่ทำบ่อยขึ้น เน้นเรื่องความรับผิดชอบและอดทน ตั้งเป้าหมายของกิจกรรมให้ง่ายๆ สั้นๆ อย่างชัดเจนและเสร็จเป็นชิ้นๆ ไป
- ควรให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กทำพฤติกรรมที่ดีต่อไป
ทั้งนี้ การเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับกับโรคสมาธิสั้นที่เกิดในเด็กของพ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนช่วยลดความเครียดในครอบครัว และป้องกันโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ที่อาจตามมาในเด็ก ช่วยให้เด็กมีความสุขกับการเรียน การใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสมวัย และทำได้เต็มความสามารถมากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลโดย :
จากข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวทั้ง พี่ฆ่าน้อง ลูกฆ่าพ่อแม่ ทำให้ผู้คนในสังคมหวาดกลัว และหวั่นใจกันว่า สังคมไทยเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ทำไมความก้าวร้าวรุนแรงของคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน เติบโต หรือเลี้ยงดูกันมาจึงมีมากขนาดนี้ ทางรักลูกขอสัมภาษณ์พิเศษ นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่จะมาให้คำแนะนำการเลี้ยงดูลูก ๆ ให้ห่างไกลกับการเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมความรุนแรงเมื่อโตขึ้นค่ะ
เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง เมื่อโตขึ้น มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้างคะ
สาเหตุจากตัวเด็กเองที่เค้ามีพื้นฐานที่ควบคุมตัวเองได้ยาก อันที่สองอาจจะเป็นสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้หล่อหลอมให้เด็กควบคุมตัวเองได้ ทำให้เขามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว คือเด็กบางคนมีโอกาสที่ก้าวร้าว จากยีนส์ จากพันธุกรรม แต่สิ่งแวดล้อมที่ทำให้ก้าวร้าวก็คือสิ่งแวดล้อมไม่ได้หล่อหลอมให้เขามีพฤติกรรมที่ดี หรือสิ่งแวดล้อมอาจจะเป็นตัวกระตุ้น เช่นเขาอาจจะเป็นเด็กที่ควบคุมตัวเองได้ดี แต่สิ่งแวดล้อมอาจจะเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมเหล่านั้น
พฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรง จากสื่อต่างๆ เช่น ทีวี เกม มีผลกับพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กมากน้อยแค่ไหนคะ
สื่อต่างๆ ก็ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่หากเด็กดื่มด่ำ และถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา และมองเห็นว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เด็กก็อาจจะเกิดการเลียนแบบ ยิ่งถ้าเขาไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี ก็จะทำพฤติกรรมเลียนแบบตามสื่อที่เขาได้รับมา ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งแวดล้อม
เรามีวิธีสังเกตสัญญาณความรุนแรงในวัยเด็กอย่างไรบ้าง ที่ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนที่ต้องระวัง
เด็กจะเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ อยากได้อะไรก็ต้องได้ ไม่ได้ดังใจเวลาที่ถูกขัดใจก็จะมีอาการรุนแรงกว่าเด็กคนอื่นทั่วๆ ไป จะเป็นอันหนึ่งที่พอจะบอกได้บ้าง
ถ้าหากโตขึ้น เขายังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองให้มันเหมาะสมได้ ก็มีโอกาสที่จะใช้ความรุนแรง แต่ว่าเด็กหลายคนถ้าหากว่าเขาไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็นก็อาจจะมีความรู้สึกเก็บกด เก็บเอาไว้ แล้วพอวันหนึ่งที่เขามีโอกาสจะแสดงออกจากการถูกกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ รอบตัว ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในภาวะที่เขาถูกกระตุ้นได้เหมือนกันครับ
วิธีดูแลอบรมลูกเกี่ยวกับพฤติกรรมในช่วยวัยเด็ก พ่อแม่มีวิธีสอนลูกอย่างไรบ้างคะ
ถ้าเป็นเล็กๆ อย่าสอนด้วยคำพูดอย่างเดียว ต้องกำกับให้เขาเรียนรู้ด้วยว่าพฤติกรรมแบบไหนที่มันเหมาะสมไม่เหมาะสม เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีความรุนแรง หรือมีความรู้สึกที่ไม่สามารถจะควบความอารมณ์ความรู้สึกตัวเองให้เหมาะสมได้ พ่อแม่ต้องฝึกให้ลูกควบคุม
เราไม่ใช้คำว่าสอน เราใช้คำว่าฝึก เพราะถ้าสอนพ่อแม่มักจะพูดอธิบาย ซึ่งอันนี้จะไม่เพียงพอ ซึ่งวิธีฝึกจะมีการฝึกด้วยกระบวนการต่างๆ ซึ่งเรามักจะใช้หลักการของการปรับพฤติกรรมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นถ้าลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเราก็บอกให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมอันนี้ดี โดยการชื่นชม ใช้วิธีการชื่นชมบอกเขาว่าอันนี้ดีแล้วนะ ควรจะทำต่อ ส่วนพฤติกรรมอะไรที่ไม่เหมาะสมเราก็ต้องตอบสนองอย่างเหมาะสม อย่างเช่น ถ้าหากว่าพฤติกรรมก้าวร้าวของเขาไม่ได้รบกวน ไม่ได้ทำร้ายคนอื่น ไม่ได้ทำลายข้าวของ ไม่ได้ทำร้ายตัวเอง เราก็อาจจะเพิกเฉยเสียให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมแบบนี้ไม่เหมาะสม ไม่สามารถจะเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการได้ แต่ถ้าหากลูกทำร้ายคนอื่น ทำลายข้าวของ เราก็ต้องจับลูก ฝึกให้ลูกควบคุมตัวเอง โดยการจับลูกแยกจากสิ่งตรงนั้นเพื่อไม่ให้ลูกทำลายข้าวของ ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตัวเอง แล้วก็ฝึกให้ลูกควบคุมตัวเองอย่างเหมาะสม พอลูกทำพฤติกรรมได้เราก็ชื่นชมให้ลูกรู้ว่าทำอย่างนี้ถูกต้องแล้ว เวลาพ่อแม่สอนลูกเล็กๆ อย่าใช้คำว่าสอนอย่างเดียว ความจริงการอธิบายให้เหตุผลอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องฝึกและควบคุมให้กระทำในสิ่งที่เราคิดว่าจำเป็นด้วยครับ
สิทธิในความเท่าเทียมกัน เรื่องที่พ่อแม่ต้องสอนลูก
เมื่อความแตกต่างยังเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ การเคารพผู้อื่นและเคารพตนเองก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องปลูกฝังเช่นกัน เพราะเมื่อลูกรู้จักคุณค่าของตนเองลูกก็จะมองเห็นคุณค่าของผู้อื่น และปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนก็จะลดลง
เมื่อต้นปี 2561 มีรายงานที่น่าตกใจจากกรมสุขภาพจิต ว่ามีเด็กนักเรียนไทยถูกรังแกในโรงเรียนกว่า 600,000 คน และมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
การกลั่นแกล้งรังแกหรือล้อเลียนกันในโรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นการปลูกฝังเรื่องความรุนแรงของเด็กๆ การทำร้ายกันส่งผลกระทบทั้งสองฝ่าย เด็กที่ถูกรังแกมักมีความเครียด เกิดภาวะซึมเศร้า อาจมีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หรืออาจนำไปสู่การแก้แค้นและทำร้ายผู้อื่น บางคนหาทางออกไม่ได้ก็ทำร้ายตนเอง และที่รุนแรงกว่านั้นคือการฆ่าตัวตาย
ขณะที่นักเรียนที่รังแกผู้อื่นเมื่อทำบ่อยครั้งจนเคยชิน อาจเป็นคนนิสัยก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี อาจเป็นอันธพาล หรืออาชญากรได้ในอนาคต
แน่นอนว่าคงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเที่ยวไปรังแกผู้อื่น ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกถูกรังแกเช่นกัน เราจะป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนนี้ได้อย่างไร เพราะหากการสอนวิธีรับมือการ Bullying และฝึกทักษะการแก้ปัญหาให้ลูกไม่เพียงพอ การปลูกฝังเรื่องความความแตกต่าง และความเท่าเทียมในสังคม จึงเป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรสอนลูกใช่หรือไม่
คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ได้โพสต์ข้อความใน Facebook ส่วนตัวถึงกรณีข่าวที่เกิดขึ้นว่า
#พวกเขายังเป็นเด็ก ..
การรังแกกลั่นแกล้ง ล้อเลียนให้อาย ในเด็กเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เมื่อเด็กขาดโอกาสเรียนรู้เรื่องพื้นฐาน (จากทั้งบ้านและโรงเรียน) ว่า
“เราเป็นคนเหมือนกัน”
# เขาก็คน เราก็คน เจ็บ ร้อน เหนื่อย หิว อาย... เป็นเหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะแตกต่างอย่างไร เขาก็คนเหมือนกัน
# เราล้วนมีจุดอ่อนจุดแข็งเหมือนกัน เขามี เราก็มี ไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง เขาทำผิด เราก็เคยทำผิด ฯลฯ
ดังนั้น เราไม่มีสิทธิไปละเมิด เหยียดหยาม ดูหมิ่นหรือรังแกใครทั้งนั้น. และนอกจากต้องเคารพความเป็นคนของเขาแล้ว เรามีหน้าที่ชีวิต ที่ควรเมตตาเกื้อกูลเพื่อนร่วมโลกของเรา(ถ้าเราเห็นว่าเขาอ่อนด้อยกว่าด้วย)
สงสารเด็กทั้งสองคน. ไม่มีใครควรถูกประนามตำหนิ
พวกเขายังเป็นเด็ก ..
ระบบของสังคมเราต่างหากที่ตัองถูกตำหนิหนักๆ และต้องเร่งแก้ไขจริงจัง อย่าเอาเด็ก เอาพ่อแม่เป็นเหยื่อ
ทำไมเราไม่ให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องพื้นฐานนี้. ที่บ้านสอนไม่เป็น โรงเรียนต้องสอนเป็น
มีประโยชน์อะไรที่จะ”จัดการศึกษา” แต่เด็กไม่ได้เรียนรู้เรื่องพื้นฐานชีวิต การเป็นพลเมือง และทักษะชีวิต
แต่ก็ขอเน้นว่า อย่าเอาแค่สอนทักษะ; ทักษะการเผชิญปัญหา ทักษะการรับมือ Bullying...ไม่พอค่ะ
ต้องสร้าง mindset เรื่อง”คนเท่ากัน” ให้เกิดขึ้นให้ได้ นั่นคือฐานที่มั่นคงที่สุด ที่ป้องกันให้ปัญหาเหลือน้อยที่สุด
จาก mindset / attitude จึงเติมเรื่องทักษะทั้งหลาย ไม่ใช่มุ่งแต่สอนทักษะ แต่เลี่ยงที่จะพูดเรื่องที่สำคัญที่สุดของความเป็นคน
บ้านเรามันยากก็ตรงนี้. จะสอนเรื่องmindset ชุดนี้อย่างไร..???ในเมื่อสังคมใหญ่ไม่มี
Mindset หรือ Attitude เรื่อง “คนเท่ากัน” ที่คุณสุภาวดีกล่าวถึง ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างไร เพราะสิ่งนั้นก็คือการเคารพซึ่งกันและกัน หรือการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง ชนิกา ตู้จินดา เคยกล่าวเอาไว้ในคอลัมน์ “คลินิกคุณหมอชนิกา” นิตยสารรักลูก ถึงการเลี้ยงลูกให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นหรือ มี Empahty เอาไว้ดังนี้
“Empathy เป็นความเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจกัน นับเป็นก้าวสำคัญแห่งมนุษยสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ (human interaction) Empathy ก่อให้เกิด Humanity ซึ่งเกิดได้กับมนุษย์ ซึ่งมีสมองพัฒนายิ่งนัก เราจะสั่งให้ลูกเป็นคนดีมีจริยธรรมไม่ได้ แต่เราสอนให้เขาเป็นได้ และบทบาทพ่อแม่สำคัญมาก”
แล้วพ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกอย่างไรถึงจะมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
1. ตอบสนองลูกตั้งแต่ยังเล็ก เป็นการสร้าง Family Attachment หรือสายสัมพันธ์ครอบครัวระหว่างพ่อ แม่ ลูก ให้แข็งแรง เมื่อสายสัมพันธ์แข็งแรง ลูกจะมีภูมิคุ้มกันใจตั้งแต่เด็กไปจนโต
2. พูดคุยเล่าเรื่องกับลูก โดยเฉพาะเรื่องดีๆ ที่น่าชื่นชม เช่น การกล่าวชื่นชมผู้อื่นที่ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น หรือมีน้ำใจต่อเพื่อนรอบข้าง
3. สอนลูกพูดไพเราะ มีปิยวาจา รู้จักกล่าวสวัสดี สาธุ ขอโทษเมื่อทำผิด และขอบคุณพร้อมกับพนมมือไหว้สวยๆ และค้อมตัวลง รวมถึงนอบน้อมกับผู้ใหญ่ ลูกจะเป็นที่รักที่นิยมของผู้พบเห็นและชมว่าได้รับการอบรมที่ดี
4.ฝึกงานบ้านให้ลูกตามวัย นอกจากเป็นการฝึกความรับผิดชอบแล้วยังเป็นการฝึกให้ลูกมีจิตอาสาและเมตตาผู้อื่นเมื่อโตขึ้น
5. สอนลูกให้เข้าใจความแตกต่าง แม้ว่าเราจะแตกต่างกันในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา รูปร่างหน้าตา เพศ ผิวพรรณ การศึกษา ฐานะ ฯลฯ แต่เราทุกคนก็มีความเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์ ไม่มีใครเหนือกว่าใคร การที่คนอื่นไม่เหมือนเรา ไม่ได้หมายความว่าเขาจะแปลกแยก
6. สอนลูกให้เข้าใจเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพ ในร่างกายของลูก ใครจะมาจับ ต้อง ทำร้าย หรือล่วงละเมิดไม่ได้ ขณะเดียวกันลูกก็ต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่นเช่นกัน
7. ชายหญิงเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเรื่องบทบาท พ่อแม่สามารถสอนลูกชายให้ทำงานบ้าน ทำอาหาร หรือเย็บผ้าได้ ขณะที่ผู้หญิงเองก็สามารถทำกิจกรรมโลดโผน เล่นกีฬาที่ใช้พละกำลัง เปลี่ยนหลอดไฟ หรือซ่อมของใช้เล็กๆ น้อยๆ ได้
8.สอนลูกรู้จักการให้อาจพาลูกไปทำกิจกรรมจิตอาสา งานบริการสังคม หรือบริจาคสิ่งของให้ผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เขาเกิดความเห็นอกเห็นใจ
9. พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกลูกจะไม่เข้าใจความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์เลยหากพ่อแม่ยังคงมีอคติ เหยียด หรือมีพฤติกรรมกดต่ำผู้อื่น เพราะลูกจะเลียนแบบและเรียนรู้จากพฤติกรรมของพ่อแม่ อยากให้ลูกเป็นแบบไหน พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบนั้น
ที่สำคัญปัญหาเด็กแกล้งกันในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องของเด็กค่ะ พ่อแม่และครูต้องช่วยกันสังเกตและช่วยเด็กแก้ไข อย่าปล่อยให้เขาเผชิญปัญหาเพียงลำพัง
ไวรัส RSV เป็นไวรัสที่ยังไม่มีทั้งยารักษา มักแพร่ระบาดในช่วงฤดูฝน หรือแม้แต่ช่วงปลายฝนต้นหนาวก็ต้องระวังค่ะ เพราะเจ้าเชื้อนี้ชอบอากาศชื้น
ไวรัส RSV คืออะไร
Respiratory Syncytial virus หรือ RSV เป็นเชื้อไวรัสที่รู้จักกันมานานในวงการแพทย์ ซึ่ง RSV เป็นสาเหตุของอาการหรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
สาเหตุ
ไวรัส RSV จะพบมากและเจริญเติบโตได้ดีในช่วงที่มีอากาศชื้นโดยเฉพาะหน้าฝน หรือปลายฝนต้นหนาว แถมยังติดต่อกันได้ง่ายเพียงการสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งทางตาหรือจมูก และทางลมหายใจ
อาการ
- มีน้ำมูกใส
- มีอาการไอ
- จามมีเสมหะมาก
- หอบเหนื่อย หายใจเร็ว หายใจแรง หายใจครืดคราด มีเสียงหวีดในปอด
- ตัวเขียว
ไวรัส RSV กับโรคหวัดต่างกันอย่างไร
หวัดธรรมดาจะมีอาการไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินน้ำ กินนมได้ ซึ่งจะหายได้ใน 5-7 วัน แต่อาการที่เกิดจากไวรัส RSV มีอาการหอบ เหนื่อย บางคนหอบมากจนเป็นโรคปอดบวม หรือหายใจมีเสียงวี้ดแบบหลอดลมฝอยอักเสบ บางรายไอมากจนอาเจียน ซึมลง ตัวเขียว กินข้าว กินน้ำ กินนมไม่ได้
รักษา ไวรัส RSV
- ระวังเรื่องการขาดน้ำ เพราะจะยิ่งทำให้เสมหะเหนียวข้นและเชื้อลงปอด
- อาจต้องใช้ยาพ่นร่วมกับ oxygen เพื่อช่วยขยายหลอดลม
- รับประทานยาลดไข้ตามอาการทุก 4 – 6 ชั่วโมงพร้อมกับเช็ดตัวลดไข้
- นอนพักผ่อนเยอะ ๆ ร่างกายก็จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ใช้เวลาประมาณ 7 – 14 วัน จึงจะหาย
วิธีป้องกัน ไวรัส RSV
- ฉีดวัคซีน
- การล้างมือให้เด็กเล็กบ่อย ๆ และพี่เลี้ยงเด็กก็ต้องล้างมือบ่อย ๆ เช่นกัน
- รับประานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่
- ให้ลูกนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายในที่อากาศถ่ายเท
หลีกเลี่ยงการสัมผัสเด็กที่สงสัยว่าเป็นหวัด และใส่หน้ากากอนามัยป้องกันเอาไว้ เมื่อมีเด็กป่วย หากเป็นไปได้ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน แต่หากไม่สามารถรับกลับบ้านได้ ให้แยกเด็กและแยกเครื่องใช้ของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค หลีกเลี่ยงการจูบและหอมเด็ก เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว ไม่พาบุตรหลานไปที่ชุมชมสถานที่ที่มีคนเยอะ
ไวรัส RSV ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น แถมยังมีอาการคล้ายโรคหวัด เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของลูก ซ้ำร้ายเจ้าโรคนี้มีโอกาสเกิดซ้ำได้อีก ถ้าเด็ก ๆ ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งจะกระตุ้นอาการหอบจนทำให้เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังในที่สุดค่ะ

ลูกพูดโกหกต้องทำอย่างไร ก่อนจะไปหาทางแก้ไข พ่อแม่ต้องรู้สาเหตุกันก่อนว่าทำไมลูกชอบพูดโกหก พูดไม่จริง เพราะจริง ๆ แล้ว ลูกอาจจะไม่มีเจตนาโกหกก็ได้นะคะ
หนูไม่ได้อยากโกหก หนูแค่กลัว 4 วิธีป้องกันลูกพูดโกหก
ทำไมลูกชอบพูดโกหก พูดไม่จริง พ่อแม่ต้องรู้และเข้าใจสาเหตุให้ได้ แล้วจึงปรับพฤติกรรมให้ลูกพูดความจริง ไม่โกหก และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำได้ด้วย 4 วิธีง่าย ๆ ต่อไปนี้
ทำไมเด็ก ๆ ถึงพูดไม่จริงจนพ่อแม่ตีความว่าลูกโกหก
ลูกกลัวว่าสิ่งที่ตัวเองทำจะผิด และถูกพ่อแม่ลงโทษ เช่น ทำของตก ทำแก้วแตก ผลักเพื่อนล้ม แกล้งน้อง เป็นต้น จึงพูดไม่จริง เพราะกลัวโดนดุและถูกทำโทษค่ะ
ลูกพูดจากจินตนาการหรือความฝัน บ่อยครั้งที่ลูกบอกว่าเห็น คุย หรือทำอะไรกับใครโดยที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่สำหรับเด็ก ๆ ที่ยังแยกความฝัน จินตนาการและความจริงไม่ออก จึงทำให้พ่อแม่เข้าใจว่าลูกโกหก
ลูกพูดไม่ตรงกับความจริง เพราะเขายังมีประสบการณ์ ความจำ การเรียนรู้จากหลาย ๆ สิ่งน้อยกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้การสื่อสารผิด เช่น เด็กที่ไม่เคยเห็นหรือกินสตรอว์เบอรี่ เมื่อได้กินและเจอ อาจจะเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าได้กินมะเขือเทศ เพราะตัวเองเคยเห็นและกินแต่มะเขือเทศ เป็นต้น
อย่าลืมว่าเด็กเล็ก ๆ ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าโกหก ถึงเราจะรู้ว่าลูกพูดไม่จริงหรือโกหก แต่นั่นไม่ใช่เจตนาของเด็กที่จะหลอกลวง การพูดไม่ตรงความจริงของเขาเป็นแค่วิธีที่เขาเรียนรู้ว่าถ้าทำแบบนี้เขาจะไม่โดนดุหรือโดนตีเท่านั้นเอง
พ่อแม่ช่วยได้! 4 วิธีป้องกันลูกพูดโกหก
1.พูดคุยกันด้วยเหตุผล
คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดและอธิบายว่าทำอะไร เพราะอะไร โดยยังไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด ไม่ดุไปก่อน เมื่อรู้ว่าที่ลูกทำไปเพราะอยากได้ของเพื่อนเลยโกหก ไม่อยากโดนดุที่ทำผิดเลยโกหก จะต้องอธิบายกับลูกด้วยเหตุผล เช่น ถ้าหนูอยากได้อะไรต้องมาบอกพ่อแม่ เพราะถ้าเอาของเพื่อนไป เพื่อนก็จะเสียใจ เพื่อนอาจโดนพ่อแม่ดุที่ของหาย ถ้าหนูทำของตกแตกพ่อแม่จะไม่ดุ แต่จะช่วยกันเก็บไม่ให้หนูโดนบาด และจะสอนให้หนูถือของ เก็บของดีๆ จะได้ไม่ทำของตกอีก
2.รับฟังอย่างตั้งใจ
พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่า พูด อธิบายว่าเขาคิดอะไรอยู่ เพราะการที่เราดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เราจะรู้ได้ทันทีว่าเรื่องที่ลูกพูดเป็นสิ่งที่พ่อแม่เคยสอน เคยทำให้เห็น หรือเคยพาไปเจอแล้วจริงๆ ไหม หรือบางเรื่องที่ลูกเล่านั้นมาจากจินตนาการในนิทานบ้าง มาจากความฝันบ้าง
3.สร้างประสบการณ์และการรับรู้ใหม่ ๆ ให้ลูกตลอดเวลา
พ่อแม่ให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะจะช่วยทำให้ลูกมีความจำ ความคิด และรับรู้สิ่งๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งจากการพาไปเจอจริง การอ่านหนังสือ การดูทีวี ฯลฯ
4.พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ได้ลูกได้แก้ไข
ความรู้สึกของลูกมีความกล้าที่จะเล่า อธิบาย พ่อแม่ต้องเปิดโอกาสให้ได้ลูกได้แก้ไข แล้วลูกจะมีความพยายามปรับตัว กล้าพูดความจริง เมื่อลูกกล้าบอกเล่าสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นและได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ เขาจะเรียนรู้ที่จะยอมรับความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ค่ะ กล้ารับผิดชอบ และพร้อมแก้ไขพัฒนาตัวเองมากขึ้นนะคะ

เป็นกรณีเตือนใจผู้ปกครอง หลังเพจหมอ Infectious ง่ายนิดเดียว ได้เผยแพร่เรื่องราวของหนูน้อยที่มีน้ำหนักตัว โตเกินเกณฑ์ ซึ่งเด็กคนนี้มีอายุ 6 ปี แต่น้ำหนักตัวมากถึง 47 กก.ต้องมานอนโรงพยาบาลด้วยมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน
จึงอยากฝากเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองให้ดูแลลูกน้อย อย่าปล่อยให้อ้วนเพราะเสี่ยงโรคแทรกซ้อนมากมาย ทั้งนี้แนะนำให้ผู้ปกครองดูแลลูกน้อย ใส่ใจในเรื่องอาหาการกิน เลี่ยงของทอด และพาลูกออกกำลังกายบ่อยๆ ด้วย ข้อความจากโพสต์ระบุดังนี้
เตือนภัย...อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน
ทำให้เกิดโรคตับอักเสบจากไขมันพอก เสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็งคล้ายการกินเหล้าในผู้ใหญ่ แต่ภาวะนี้เกิดจากไขมันพอกตับ ตับอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver disease: NAFLD)
เด็ก 6 ปีหนัก 47 กก. เรียนอนุบาล 2
มานอนโรงพยาบาลเพราะมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอ้วน..
-นอนกรน (snoring) หายใจเสียงดัง หยุดหายใจต้องมานอนโรงพยาบาล เพื่อตรวจดูว่าขาดออกซิเจนในเลือดหรือไม่ขณะนอนหลับ (overnight sleep test) ผลเสีย ถ้านอนกรนระยะเวลานาน ออกซิเจนในเลือดต่ำขณะนอน ทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันเลือดปอดสูง ต้องกินยา และมีโอกาสเสียชีวิต แอดเคยเจอเด็กอ้วนอยู่ๆก็นั่งหลับเสียชีวิต
-เมื่อนอนไม่เต็มอิ่ม ทำให้มาหลับช่วงกลางวัน มีผลต่อการเรียนช่วงกลางวัน ซน สมาธิสั้น เรียนไม่ได้เต็มที่
-โรคเบาหวานตั้งแต่เด็ก สังเกตจากรอบคอดำในเด็กอ้วน ชาวบ้านส่วนใหญ่คิดว่าเกิดจากขี้ไคล จริงๆแล้วไม่ใช่ แต่เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน
เรียกภาวะคอดำว่า acanthosis nigrican
-โรคไขมันในเลือดสูง
-โรคความดันเลือดสูง
-ตับอักเสบจากไขมันพอก เสี่ยงต่อโรคตับแข็ง คนไข้เด็กรายนี้ค่าตับ (ALT ได้ 120 (ค่าปกติ 40) .. น่ากลัว
หลักการรักษาโรคอ้วน
1.สำคัญสุด ความตะหนักของผู้ปกครอง ว่าเด็กอ้วน เสี่ยงต่อหลายโรค
2.บางบ้านมีค่านิยมให้ลูกอ้วน น่ารักดี สมบูรณ์ มันอันจะกิน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด และน่ากลัว มีผลเสียมากกว่าผลดี
3.จำกัดอาหาร สำคัญ พ่อแม่คนดูแลต้องทำด้วย กิน 5 หมู่ ไม่กินมัน ของทอด เน้น ผัก ต้ม นึ่ง ย่าง
4.กินผักผลไม้ นมวันละ 2-3 แก้วสำหรับเด็กโต
5.ไม่ซื้อของไม่มีประโยชน์ติดตู้เย็น เช่นขนมถุง น้ำอัดลม ขนมจุกจิก
6.ออกกำลังกาย เช่นพาลูกเดินวันละ 30-45 นาที เล่นกีฬาที่ไม่กระทบกระแทกหัวเข่า เช่น ว่ายน้ำ หรือหากิจกรรมออกแรงให้ช่วยงานบ้านเช่น รดน้ำต้นไม้
รักและห่วงใยลูกหลานอย่าปล่อยให้ลูกหลานอ้วนนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก : Infectious ง่ายนิดเดียว

ช่วงนี้ผู้ปกครองหลายท่าน เริ่มมีความกังวลใจ หลังมีมาตรการผ่านปรนระยะที่ 4 โรงเรียนต่าง ๆ เริ่มเปิดการเรียนการสอนตามปกติแล้วค่ะ
เป็นที่ทราบดีว่า กลุ่มเด็กเล็ก จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันเป็นพิเศษ แต่ด้วยสรีระของทางเดินหายใจ และกลไกการหายใจที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ผู้ปกครองจึงควรเลือกสวมหน้ากากป้องกันให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก
การอธิบายเด็ก ๆ เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยของแต่ละวัย
1.เด็กอายุ < 3 ปี อธิบายง่าย ๆ ว่าทำไมถึงต้องใส่หน้ากากอนามัย และเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อความปลอดภัย เมื่อเด็กเข้าใจก็รู้สึกอุ่นใจที่จะใช้หน้ากาก
2.เด็กอายุ > 3 ปี ควรเน้นอธิบายเรื่องเชื้อโรค เนื่องจากวัยนี้มีความเข้าใจในเรื่องเชื้อโรคมากขึ้นแล้ว
ใส่หน้ากากอนามัยนาน ๆ จะเป็นอันตรายหรือเปล่า ?
อาจารย์หมอเด็ก โรงพยาบาลรามคำแหง Ramkhamhaeng Hospital ได้ให้คำตอบแล้วค่ะ
" จริง ๆ แล้ว ตัวหน้ากากผ้า หรือหน้ากากทางการแพทย์ที่บ้านเรานิยมใส่กันอยู่เนี่ย มันมีการระบายอากาศได้ดีอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับพวก N95 ที่มันปิดสนิท หายใจได้ยาก ซึ่งถ้าแค่ใส่ไปโรงเรียนมันก็ไม่ต้องถึงขั้นนั้นหรอก เพราะมันหายใจยากจริง ขนาดคุณหมอและพยาบาล ยังใส่ทำงานกันเต็มที่ชั่วโมงนึงก็ต้องถอดออกมารับออกซิเจนโดยตรงแล้ว สำหรับน้องๆไม่ต้องเล่นใหญ่เบอร์นั้นก็ได้นะ "
ฉะนั้นแล้ว เด็กส่วนใหญ่ก็คงใส่กันแค่ Surgical Mask หรือหน้ากากผ้าทั่วไปนี่แหละ ซึ่งพวกนี้มีการถ่ายเทอากาศที่ค่อนข้างดีมากอยู่แล้ว ใส่นานๆก็ไม่ค่อยอึดอัดเท่าไหร่ ถึงแม้ที่โรงเรียนทั้งวันนั้นก็ไม่เกิดอันตรายเหมือนที่เค้าเล่าลือกันแต่อย่างใดหรอก ยกเว้นว่าถ้าใส่แล้วไปวิ่งเล่นจนหอบแฮ่กๆ อันนี้ก็น่าห่วงน่อย เพราะอาจทำให้หายใจลำบากกว่าเดิม ยิ่งหน้ากากเปียกเหงื่อ ก็ยิ่งหายใจยาก ดังนั้นถ้าจะให้สบายใจก็ลองให้น้องพกหน้ากากไปโรงเรียนเผื่อเปลี่ยนสัก 2-3 ชิ้นก็ได้
เอาจริงๆการที่น้อง ๆ ไปโรงเรียน สิ่งที่ผู้ปกครองควรเป็นห่วงมากที่สุดไม่ใช่เรื่องหน้ากากหรือเฟซชิลด์อะไรหรอกนะ แต่เป็นเรื่องการสอนให้น้องรู้จักล้างมืออยู่เป็นประจำมากกว่า อันนี้สำคัญมากๆ เวลาหยิบจับอะไรมา ก็ควรล้างมือก่อนจะเอามาโดนหน้าหรือเอาเข้าปาก หรือถ้าพ่อแม่กังวลว่าน้องจะออกไปล้างมือยาก ก็ให้น้องพกแอลกอฮอล์เจลติดตัวเอาไว้ก็ช่วยได้เยอะแล้วจ้า อีกอย่างการที่โรงเรียนมีความเข้มข้นเรื่องสุขอนามัยแบบนี้น่าจะเป็นผลดีกับน้องด้วยซ้ำ เพราะจะลดการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อโรคอื่นในโรงเรียนทั้ง มือเท้าปาก ไข้หวัด หรือโรคอื่นๆ ได้เยอะเลยแหละ
ข้อมูลโดย : หมอเด็ก www.facebook.com/MhorDekWhen/
อยากให้ลูกสูง หล่อ สมาร์ท ทำได้ไม่ยาก!
ลูกเราตัวเล็ก น้ำหนักน้อย อยากให้ตัวสูงแบบเพื่อนๆ บ้างจังเลย ให้ดื่มนมตลอด ทำไมยังไม่สูงขึ้นบ้าง ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปค่ะ เพราะเรามีเคล็ดลับ 4 ขั้นตอนง่ายๆ รับรองเลยค่ะว่า ลูกคุณจะสูง หล่อสมาร์ท หุ่นดี จนพ่อแม่อดภูมิใจไม่ได้ มาสร้างใบเบิกทางสู่อนาคตที่ดีของลูกกันนะคะ จะมีขั้นตอนอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
ความสูงของลูกเป็นสิ่งที่พ่อแม่คาดหวัง คนที่สูงกว่าย่อมได้เปรียบในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะลูกชายหัวแก้วหัวแหวนแล้ว ความสำคัญของส่วนสูงวิธีเพิ่มความสูง บางอาชีพนั้นมีความจำเป็นต้องใช้ส่วนสูงเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาเกือบทุกประเภท นายแบบ นางแบบ แอร์โฮสเตสหรือสจ๊วต มันจึงเปรียบเสมือนการแข่งขันอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ ดังนั้นคนที่มีร่างกายสูงใหญ่จึงได้เปรียบมากกว่าในแข่งขัน และอีกหลาย ๆ อาชีพ
เคล็ดลับทำให้ลูกตัวสูง หุ่นดี สมาร์ท
- อาหารสำคัญกับความสูง
คนส่วนใหญ่คิดว่าร่างกายต้องการแคลเซียมในการเสริมสร้างให้ตัวสูง แต่ความเป็นจริงร่างกายต้องการอาหารทุกหมู่ในการทำให้ตัวสูง อาหารประเภทแป้งและน้ำตาล จะทำให้มีพลังงานมีแรงในการออกกำลังกายต่อไป หากกินอาหารประเภทนี้ไม่พอ เด็กจะอ่อนเพลียและไม่มีแรงออกกำลังร่างกาย
ไข่และเนื้อสัตว์ ทำให้กล้ามเนื้อเติบโตและยังเป็นส่วนประกอบของกระดูก ในวันที่มีการออกกำลังกายมาก ควรจัดให้เด็กได้กินอาหารมากขึ้นกว่าวันที่ไม่ได้ออกกำลังกาย โดยเฉพาะอาหารประเภทไข่และเนื้อสัตว์ จะช่วยลดอาการปวดเมื่อย และมีการฟื้นตัวหลังการออกกำลังกายได้เร็ว
- ดื่มนมเพิ่มความสูง
นมเป็นอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดีและแคลเซียมสูง โดยเฉพาะนมโคสด 100% มีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่ปรุงแต่งรสและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก แคลเซียมและแร่ธาตุ เป็นส่วนประกอบของกระดูกทำให้กระดูกมีความแข็งแรง แคลเซียมที่หาง่ายที่สุดและราคาไม่แพงได้จากนมและผักต่างๆ
สำหรับเด็กการดื่มนมเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 กล่องขนาด 250 มิลลิลิตร (ซีซี) ช่วยสร้างกระดูกที่มีผลต่อพัฒนาการด้านความสูง
- ออกกำลังกาย กระดูกแข็งแรง กระตุ้นการเติบโต
คุณพ่อคุณแม่สร้างทัศนคติให้เด็กรักการออกกำลังกายเป็นประจำ เริ่มจากเรื่องการออกกำลังกาย 20-30 นาทีต่อวัน หรืออย่างน้อยควรให้มีโอกาสได้ออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้งนะคะ ท่าออกกำลังกายง่ายๆ เด็กๆ และคนในครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกันได้ เช่น วอลเลย์บอล แบดมินตัน เป็นต้น
กีฬาที่มีการวิ่งหรือกระโดดเพื่อให้มีแรงกดที่กระดูกมากกว่า จะช่วยกระตุ้นเยื่อเจริญบริเวณส่วนปลายของกระดูก เร่งให้มีการเพิ่มความยาวของกระดูกมากกว่า ส่วนกีฬาที่มีแรงกระทำในลักษณะการยืด เช่น การโหนตัว แต่มีโอกาสกระตุ้นกระดูกน้อยกว่า
ลักษณะร่างกายเด็กต้องการการออกกำลังกายของทุกส่วนของร่างกาย นั่นคือเป็นการวิ่งเล่นแบบที่เด็กๆ ส่วนใหญ่ทำกันอยู่นั่นเอง การการละเล่นแบบย้อนยุคเช่น ตั้งแต่ ตี่จับ กระโดดหนังยาง รีรีข้าวสาร งูกินหาง กาฟักไข่ การเล่นว่าว เป็นการเล่นที่สนุก มีการวิ่งหรือกระโดดสามารถกระตุ้นการเจริญของกระดูกได้มาก
- นอนเร็ว ตื่นเช้า นอนหลับให้เพียงพอต่อวัน
เมื่อให้ลูกออกกำลังกายแล้วต้องจัดเวลาให้เจ้าตัวน้อย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ขณะที่เรานอนหลับ ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อและเจริญเติบโต ซึ่งร่างกายเด็กต้องการนอนอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงต่อวันนะคะ การนอนเร็ว ตื่นเช้า ดีกว่าการนอนดึกตื่นสาย ถึงแม้ว่าชั่วโมงนอนจะอยู่ตามเกณฑ์แต่ร่างกายอาจไม่เจิญเติบโตค่ะ
การนอนดึกมาก ๆ จะเลยเวลาที่เหมาะสมของการหลั่งโกรทฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สำคัญในการเสริมสร้างร่างกาย เด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ มีการหายใจตอนนอนไม่ดีหรือนอนกรน ควรต้องแก้ไขสาเหตุเพื่อให้การนอนมีคุณภาพดีขึ้น ในวันที่มีการออกกำลังกายมาก ควรจัดให้เด็กมีเวลาพักผ่อนเพิ่มขึ้นด้วย
จะเห็นว่าการส่งเสริมให้เด็กตัวสูงไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นการปรับวิถีชีวิตประจำวันให้มีสภาพที่เหมาะกับการเติบโตของเด็ก เมื่อสร้างให้เด็กมีนิสัยที่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบนี้ไปจนโต นอกจากจะทำให้ลูกของเราตัวสูงแล้ว ก็จะมีสุขภาพดีต่อไปด้วยนะคะ
มีงานวิจัยบอกว่าหากเด็กอ้วนในวัยเรียนอาจมีความเชื่อมโยงกับปัญหาเรื่องการเรียนคณิตศาสตร์และการสะกดคำ ฉะนั้นพ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับความอ้วนของลูก ไม่แพ้เรื่องพัฒนาการตามวัยค่ะ
อ้วน...ส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้
ความอ้วนทำให้ลูกมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และการนอนหลับ ซึ่งส่งผลต่อสมองหรือการเรียนรู้ตามมาได้ค่ะ โดยความอ้วนของเด็กวัยเยาว์ อาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ได้ดังนี้
- ไม่กระตือรือร้นในการเรียนรู้ ความอ้วนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกอาจเหนื่อยหอบง่าย จึงมักเล่นอยู่กับที่มากกว่าการเล่นที่เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งส่งผลให้มีพัฒนาการการเรียนรู้ไม่รอบด้านได้
เพราะการเรียนรู้ของเด็กวัย 3-6 ปี ต้องอาศัยความตื่นตัว และการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่ว หากพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 สมองก็จะมีความตื่นตัวต่อการเรียนรู้มากกว่าแค่นั่งนิ่งๆ เขียนหนังสือที่โต๊ะในห้องเรียนค่ะ
- สมองพัฒนาไม่เท่ากัน พัฒนาการของสมองทั้ง 2 ซีกสามารถสังเกตได้ตั้งแต่ลูกอายุ 1 ขวบ เมื่อเขาโตขึ้นเข้าสู่ช่วงวัยอนุบาลจะเริ่มใช้สมอง 2 ซีกผ่านการเล่น ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ
ฉะนั้นถ้าลูกอ้วนมากแล้วไม่ได้เคลื่อนไหว ก็เท่ากับว่าลดโอกาสที่ลูกจะได้ใช้สมอง 2 ซีกไปโดยปริยาย เพราะกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เหมาะกับเด็กวัยอนุบาล จะต้องได้ใช้ร่างกายและสมองทั้ง 2 ข้างควบคู่กันไปจึงจะฝึกพัฒนาการได้เต็มที่ และรอบด้าน
- ขาดความมั่นใจ นอกจากนี้เรื่องพัฒนาการทางร่างกายที่เคลื่อนไหวไม่คล่องตัวเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ โดยเฉพาะเด็กผู้ชาย ซึ่งธรรมชาติจะชอบเล่น หรือทำกิจกรรมที่ได้ออกแรง เช่น เล่นกีฬากลางแจ้ง ปั้นจักรยานหรือวิ่ง มากกว่าผู้หญิงที่ชอบทำกิจกรรมแบบที่นั่งอยู่กับที่
หากลูกขาดความมั่นใจ หรือรู้สึกแย่กับตัวเองจนทำให้ไม่กล้าเล่นกับเพื่อน ในวัย 5 ขวบขึ้นไปมักเล่นเกมที่มีกติกา เกมที่มีการแบ่งกลุ่ม หรือเกมที่แบ่งฝ่าย ส่งผลให้ลูกอาจถูกเพื่อนปฏิเสธการเข้ากลุ่มได้ ทำให้ขาดทักษะทางสังคมไป

5 วิธีชวนลูกลดความอ้วน
1.สร้างความมั่นใจให้ลูก ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องยอมรับในตัวลูก ไม่เอาเรื่องอ้วนเรื่องผอมมาเป็นประเด็น ทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างในการดูแลสุขภาพให้ลูกเห็นด้วย ไม่ควรงอน โกรธ หรือตำหนิลูกเรื่องกิน แต่ใช้วิธีชวนลูกมากินอาหารที่มีประโยชน์ อาจให้เขาเข้าครัว ช่วยทำอาหาร ก็เป็นวิธีสร้างแรงจูงใจให้ลูกหันมากินอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยที่ลูกเองก็ไม่รู้สึกว่าถูกกดดัน
2.ชวนลูกออกกำลังกาย หากลูกเป็นเด็กที่อ้วนมาก การออกกำลังกายที่เหมาะสม คือการเดินค่ะ อาจเริ่มที่เดินช้าๆ ก่อน แล้วค่อยเร่งความเร็วเพิ่มขึ้น วันละประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งพ่อแม่ต้องออกกำลังกายเป็นเพื่อนลูกด้วยนะคะ โดยระหว่างเดินในสวนสาธารณะ หรือเดินเล่นกันที่สนามหน้าบ้านก็อาจคิดเกมสนุกๆ ที่ให้ลูกได้เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น ควบคู่กับการฝึกทักษะสมองไปในตัวค่ะ
3.กินเพื่อสุขภาพที่ดี องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ว่าเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันสูง ควรเริ่มควบคุมอาหารตั้งแต่ 2 ขวบ พ่อแม่อาจคุยกับครูที่โรงเรียนให้ช่วยดูแลเรื่องอาหารกลางวันของลูกด้วย เช่น งดน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ เป็นต้น
ส่วนอาหารมื้อหลัก ก็เน้นที่โปรตีนมากกว่าคาร์โบไฮเดรต หรือไขมัน เช่น เมนูข้าวกล้อง ไข่ดาว ผัดผัก ส่วนใหญ่นักโภชนาการจะเน้นให้เด็กวัยนี้ระวังเรื่องอาหารรสเค็ม เช่น ปลากรอบ ปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งพ่อแม่จะต้องจัดเมนูให้ลูกได้กินในสัดส่วนที่สมดุลกับผัก และผลไม้ด้วยนะคะ
4.นอนดี เด็กอ้วนอาจมีปัญหาการนอนกรนได้ พ่อแม่ควรพาไปปรึกษาหมอค่ะ เพราะการนอนกรนทำให้ขาดออกซิเจน ส่งผลต่อสมองและการเรียนรู้ระหว่างวันได้ การควบคุมน้ำหนักให้ลูกนอกจากจะช่วยเลี่ยงอาการนอนกรนแล้ว ยังทำให้ลูกพร้อมต่อการเรียนรู้ด้วย
5.ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวที่โรงเรียน ครูมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เด็กได้เล่นกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากๆ โดยไม่เน้นที่เกมการแข่งขันเพื่อความเร็วอย่างเดียว แต่ควรเลือกจัดกิจกรรมที่กระตุ้นให้มีการออกแรง ก็เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กเกิดความมั่นใจที่จะเล่นกิจกรรมสนุกกับเพื่อนมากขึ้นได้

อย่าให้ลูกโตขึ้นเป็นเด็กมือแข็ง ไม่รู้จักไหว้ การไหว้อย่างสวยงาม ถูกต้อง ถือเป็นการแสดงออกถึงมารยาทที่ดีของของสังคมไทย แสดงออกถึงการมีสัมมาคารวะ อ่อนน้อมถ่อมตน เคารพผู้ใหญ่ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกไหว้อย่างถูกต้องและจริงใจนะคะ อย่าปล่อยให้ลูกไหว้มือเดียวแบบขอไปที และไหว้ไม่ถูกต้อง กลายเป็นเด็กมือแข็ง เดี๋ยวจะไม่น่ารักในสายตาผู้ใหญ่หรือผู้พบเห็นค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองควรสอนการไหว้ดังนี้
- ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักการไหว้ได้ตั้งแต่ลูกอายุ 1 - 3 ปี โดยเริ่มจากการที่คุณพ่อคุณแม่ไหว้ให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งในเด็กเล็กที่ยังพนมมือไม่เป็นนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนโดยจับมือลูกให้พนมมือเข้าด้วยกันอย่างถูกต้อง โดยบอกให้ลูกรู้ว่านี่คือการไหว้ เป็นการแสดงออกที่สวยงามน่ารัก นอกจากนี้ เมื่อลูกได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ยกมือไหว้คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย และผู้อาวุโสบ่อย ๆ ก็จะรู้ว่านี่เป็นพฤติกรรมที่ดีที่ควรกระทำ ซึ่งจะทำให้ลูกเลียนแบบและซึมซับพฤติกรรมนี้ได้ไม่ยาก
- สอนการไหว้อย่างถูกต้อง
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกไหว้ผู้อาวุโสและผู้มีพระคุณ ได้แก่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ญาติผู้ใหญ่ ครู อาจารย์ โดยการพนมมือนิ้วชิดกัน พร้อมกับก้มศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดกับปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว และการไหว้บุคคลที่มีอาวุโสกว่าเล็กน้อยที่เคารพนับถือ โดยการพนมมือนิ้วชิดกันแล้วยกขึ้นพร้อมทั้งก้มศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก
- อย่าปล่อยเมื่อลูกไม่ยอมไหว้
ทุกครั้งที่ลูกมีท่าทีดื้อ หรือต่อต้านที่จะไหว้สวัสดีทักทายผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ยอมที่จะปล่อยตามใจลูกแต่ต้องเอาจริงเอาจังที่จะสอนให้ลูกตระหนักว่าการไหว้เป็นสิ่งสำคัญที่ลูกจะละเลยไม่ได้แต่ต้องปฏิบัติจนติดเป็นนิสัยความเคยชิน
คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกรู้จักไหว้จนเป็นนิสัย เพราะเด็กที่มีนิสัยนอบน้อม ยกมือไหว้ผู้ใหญ่ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอยสั่ง ผู้ใหญ่ก็มักจะให้ความเมตตา เอ็นดู แต่ถ้าเด็กมีพฤติกรรม “มือแข็ง” เมื่อพบเจอผู้ใหญ่แล้วทำกิริยาเมินเฉย ปฏิเสธที่จะยกมือไหว้ เด็กคนนั้นก็จะถูกมองว่าเป็นเด็กที่แข็งกระด้าง ไม่น่ารักค่ะ แต่เด็กที่น่ารักมือไม้อ่อน ใครเห็นใครก็หลงรักค่ะ ถ้าลูกทำได้ คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมชื่นชมลูกด้วยนะคะ เพียงเท่านี้ลูกก็จะรู้สึกดีใจและอยากทำสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ชมลูก..
ขอบคุณข้อมมูลจาก : MGR Online

อย่ามองข้าม! เด็กเลือดกำเดาไหลบ่อย เป็นสัญญาณโรคร้ายได้
เอะอะ! ลูกเลือดกำเดาไหลตลอดเลย ก็ให้ก้มหน้าจนกว่าเลือดจะหยุดไหล แต่เป็นบ่อยๆ ครั้งเข้า มันก็อดห่วงไม่ได้ใช่ไหมคะ เคยได้ยินว่าอาจเสี่ยงโรคร้ายได้ แบบนี้มารู้จักอาการเลือดกำเดาไหลกันเลยค่ะ
สาเหตุ เลือดกำเดาไหล
เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก มักจะเกิดในช่วงฤดูหนาว ช่วงอากาศแห้ง วันที่ร้อนจัด หนาวจัด ร่างกายขาดวิตามินซี เกิดจากการกระทบกระเทือน หรืออุบัติเหตุ ความผิดปกติของร่างกาย แต่ส่วนมากมักจะมีอาการเลือดออกที่ไม่รุนแรง และเลือดมักจะหยุดเองได้ภายใน 10-15 นาที หากคุณแม่พบว่าลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการที่ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อย ก็อาจเป็นอาการของโรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
อาการแบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์
ข้อมูลจากสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย โดย รศ.พญ. ดารินทร์ ซอโสตถิกุล ฝ่ายเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้ปกครองควรทราบในกรณีที่ลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยว่า หากลูกมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย ให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์
เลือดกำเดาไหลนาน ร่วมกับที่ผิวหนังมีรอยเลือดออก เช่น มีจ้ำเขียว มีจุดแดง หรือจุดเลือดออกตามตัวร่วมด้วย มีเลือดออกตามไรฟัน หรือลิ้นร่วมด้วย มีปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ หรืออุจจาระสีดำคล้ายยางมะตอย หรืออุจจาระของลูกมีเลือดปนมาด้วย ลูกมีไข้สูง ลูกมีอาการอาการเวียนศีรษะ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง หรือผิวหนังมีสีซีดลง
การที่ลูกเลือกกำเดาไหลบ่อยอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ได้แก่
- โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ซึ่งทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ เช่น โรควอนวิลล์แบรนด์ (von Willebrand disease – VWD) ซึ่งอาจมีประวัติเลือดออกง่ายหยุดยากในครอบครัวร่วมด้วย
- โรคที่เกิดขึ้นภายหลัง
ทำให้เกล็ดเลือดมีปริมาณต่ำลง เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิต้านทานตนเอง (immune thrombocytopenia – ITP) ซึ่งเป็นภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่พบบ่อยในเด็ก, โรคไขกระดูกฝ่อทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้อย่างพอเพียง ทำให้มีโลหิตจาง ติดเชื้อง่ายเนื่องจากมีเม็ดเล็ดขาวต่ำลง และเกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่าย หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวแทรกซึมอยู่ในไขกระดูก ทำให้สร้างเม็ดเลือดที่ปกติได้ลดลง
นอกจากนี้ หากลูกเลือดกำเดาไหลบ่อยและเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เด็กเกิดภาวะซีดจากการสูญเสียเลือดเรื้อรัง จนเกิดภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอยู่เสมอ หากเด็กมีอาการเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย เหนื่อยง่าย หรือมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกน้อยเลือดกำเดาไหลง่ายนั้น เบื้องต้นมีวิธีการดังนี้
-
พยายามไม่ให้จมูกของลูกแห้ง โดยอาจจะใช้น้ำเกลือหยอดจมูก หรือทาวาสลินเคลือบในรูจมูกก่อนนอน
-
ปรับอุณภูมิในห้องนอนของลูก ไม่ให้อากาศแห้งเกินไปให้ลูกกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซี เพื่อช่วยให้หลอดเลือดฝอยในจมูกแข็งแรง
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างไร
ให้เด็กนั่งตัวเอียงไปด้านหน้า ก้มศีรษะลงเล็กน้อย เพื่อให้เลือดไหลออกทางจมูกแทนที่จะไหลลงคอ ซึ่งอาจทำให้เด็กอาเจียนออกมาเป็นเลือดจากที่กลืนเข้าไป ใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกข้างที่มีเลือดกำเดาไหลเบา ๆ ประมาณ 10 นาที และหากเลือดยังไม่หยุดไหลนานเกิน 30 นาที ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์
คุณพ่อคุณแม่กำลังมองหากิจกรรมดี ๆ ที่ให้ลูกทำช่วงอยู่บ้านใช่ไหมคะ เรามีกิจกรรมมาแนะนำค่ะ ซึ่งเป็นการเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ นอกจากจะได้ใช้เวลาว่างแล้ว ยังเป็นการเพิ่มทักษะภาษาอังกฤษอีกด้วย
โดยในตอนนี้ บริษัท Twinkl (ทวิงเคิล) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสื่อการสอนจากประเทศอังกฤษ ได้จัดทำโค้ดสำหรับการสมัครสมาชิก และดาวน์โหลดทุกสื่อการสอน ฟรี!!! เป็นเวลา 1 เดือน โดยสามารถเลือกได้ตามอายุของผู้เรียน มีตั้งแต่เด็กเล็กก่อนเข้าโรงเรียน อนุบาล ประถม มัธยม และก็มีการศึกษาพิเศษค่ะ
วิธีการสมัครและใช้โค้ด
- คลิกเข้าไปที่ลิงก์ https://www.twinkl.co.th/offer (สำนักงานใหญ่อยู่ที่อังกฤษ แต่เรามีโดเมนสำหรับผู้ใช้ในไทยด้วยค่ะ)
- กรอกข้อมูลในส่วนของ New to Twinkl
- กรอกโค้ด THATWINKLHELPS ในช่อง Offer Code
เพียงเท่านี้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองก็สามารถ เข้าไปเลือกดู และดาวน์โหลดสื่อการสอนของ Twinkl อย่างฟรีๆ ได้มากกว่า 630,000 สื่อการสอน ทุกสื่อการสอนของ Twinkl ออกแบบโดย ครู ในสหราชอาณาจักร ผู้มีประสบการณ์ในการสอนและการใช้สื่อการสอนในห้องเรียน ได้รับมาตรฐานและสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาของสหราชอาณาจักร สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.twinkl.co.th/about-us ค่ะ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการสมัคร+การใช้โค้ด สามารถเข้าไปดูได้ที่ : https://www.facebook.com/twinklresources/videos/709197152952479/

เรียกว่าเป็นของโปรดของเด็ก ๆ เลยก็ว่าได้ ทั้ง ซีเรียล ไส้กรอกแฮม มายองเนส มันฝรั่งถุง พิซซ่า คุกกี้ ช็อกโกแลต แต่อันตรายนะคะถ้ากินอย่างสม่ำเสมอ
ล่าสุดมีผลการศึกษาถึง 2 ชิ้น ได้ยืนยันถึงอันตรายของกาทานอาหารประเภทนี้ ที่เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด ผลการศึกษาจากประเทศสเปน ทีมนักวิจัยได้เก็บข้อมูลของผู้เข้าร่วม ทั้ง ไลฟ์สไตล์ กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน น้ำหนัก สุขภาพ และความถี่ของการบริโภคอาหารประเภทต่างๆ จำนวน 200,000 คน จากโปรเจกต์ Seguimiento Universidad de Navarra (SUN)
แบ่งอาหารแต่ละประเภทได้ดังนี้...
-
อาหารไม่แปรรูปหรือแปรรูปน้อย เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว เนื้อ นม ไข่ ฯลฯ
-
กลุ่มอาหารแปรรูป (Processed Food) เช่น ชีส ขนมปังทำเอง เบียร์ ไวน์ หมูรมควัน เบคอน
-
อาหารแปรรูปสูง (Ultra-Processed Food) เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูปแช่แข็ง ไส้กรอก มายองเนส มันฝรั่งถุง พิซซ่า คุกกี้ ช็อกโกเลต เครื่องดื่มและอาหารประเภทแต่งกลิ่นแต่งสี
อาหารเหล่านี้จัดเป็นอาหารที่มีคุณภาพต่ำ อุดมด้วยไขมันเลวสูง มีปริมาณน้ำตาล และเกลือสูง อีกทั้งวิตามินและไฟเบอร์ต่างๆ ยังมีน้อย
เมื่อนำทุกอย่างมาวิเคราะห์ ก็พบว่าการบริโภคอาหารแปรรูปสูงมากเกินกว่า 4 หน่วยบริโภคต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 62 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่กินน้อยกว่า ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาอีกชิ้นของประเทศฝรั่งเศส เรื่องการกินอาหารแปรรูปสูง มีความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
รู้แบบนี้แล้วก็อย่าทานอาหารแปรรูปสูงบ่อย และหันมาทานอาหารเพื่อสุขภาพ ให้เด็ก ๆ ทานผัก ผลไม้ ที่สะอาดกันด้วยนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.facebook.com/thestandardth

อาการ TICS ภาวะกล้ามเนื้อกระตุก มักเกิดขึ้นในเด็ก ทำให้กระพริบตาบ่อย กระพริบตาถี่มาก ซึ่งนี่คืออีกหนึ่งอาการผิดปกติของสายตา
อาการ TICS ภาวะกล้ามเนื้อกระตุก เด็กเป็นบ่อย พ่อแม่แก้ไขได้
อาการ TICS พบบ่อยในเด็กอายุระหว่าง 4-8 ปี ส่วนใหญ่จะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง สาเหตุมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ถ้าหากพบอาการ TICS ในวัยผู้ใหญ่โดยที่ไม่เคยมีประวัติของภาวะ TICS ในวัยเด็ก อาจเกิดจากความผิดปกติทางสมอง
อาการ TICS เป็นภาวะที่ทำให้รู้สึกต้องเคลื่อนใหวร่างกาย เปล่งเสียง หรือเป็นทั้งสองอย่างซึ่งทำให้มีการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า คอ ใหล่ แขน และมือ หรือเปล่งเสียงซ้ำ ๆ มักเป็น ๆ หาย ๆ อาการ TICS มักควบคุมได้ในบางสถานการณ์
เช่น เวลาออกนอกบ้าน ได้พบปะผู้คน จะสามารถควบคุมอาการได้ชั่วคราว แต่จะมีการแสดงอาการมากกว่าปกติเมื่อกลับมาอยู่บ้าน หรืออยู่คนเดียว
อาการ TICS แบ่งเป็น 2 แบบ
1. การเคลื่อนไหว (MOTOR TICS) อาการที่ต้องขยับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ยักใหล่ หรือกระพริบตา ในบางคนจะมีอาการแสดงทางตรงกันข้ามกล่าวคือ จะมีอาการเกร็ง หรือหยดการกระทำ (Blocking TICS)
2. การเปล่งเสียง (PHONIC TICS) อาการที่ต้องเปล่งเสียงออกมาหรือพูดบางคำพูด เช่น กระแอม พูดคำหยาบ
ทำไมลูกถึงกระพริบตาบ่อย
1. เกิดจากบุคลิกประจำตัวของเด็กเอง
มักพบในเด็กที่ขี้อาย หรือมีความรู้สึกอ่อนไหว ต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือตำหนิจากผู้อื่น กลัวที่จะทำอะไรผิดหรือไม่เป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น เด็กที่พบว่ามีอาการ TICS ส่วนใหญ่พบว่าเป็นเด็กปกติที่ค่อนข้างฉลาด แต่อ่อนไหวง่าย
2. เกิดจากพ่อแม่ และทุกคนรอบข้าง
เด็กจะมีอาการเพราะคนรอบข้าง ที่ส่วนใหญ่จะตั้งความคาดหวังไว้ค่อนข้างสูง เกินกว่าที่เด็กเองจะทำได้ พบว่าผู้ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไช หรือขี้บ่นกับการกระทำของเด็กอยู่ตลอดเวลา หรือคอยที่จะเปรียบเทียบในทางลบอยู่เป็นประจำ

3. เกิดจากการเลียบแบบ
การกระพริบตาบ่อย ๆ หรือการกระตุกของกล้ามเนื้อแก้มที่เกิดขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีการระบายความเครียดของเด็ก ที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว ไม่ได้ตั้งใจทำให้เกิดขึ้น และเป็นไปอย่างไม่ได้กำหนดเอง เพราะเป็นจากจิตใต้สำนึก
ในกรณีที่เด็กเริ่มมีอาการกระพริบตาบ่อย ๆ พ่อแม่ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อให้ช่วยดูว่ามีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองของตาหรือไม่ เช่น ขนตาแยงตา ปัญหาภูมิแพ้ทางตา หรือวินิจฉัยแยกโรคจากปัญหาทางกายอย่างอื่น ๆ
พ่อแม่จะช่วยลูกที่มีอาการ TICS ได้อย่างไร
1. ลดความเครียด ช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลาย
โดยช่วยให้ลูกได้มีเวลาว่าง และพักผ่อนได้เพียงพอ เช่น ได้มีโอกาสเล่นตามประสาเด็กกับเพื่อน ๆ เพราะปัจจุบันหลังเลิกเรียน เด็กมักจะไม่ค่อยได้เล่นที่โรงเรียน แต่กลับต้องเรียนพิเศษต่ออีก จึงควรจัดเวลาให้ลูก ในเรื่องการเรียนพิเศษ ไม่ให้มากจนเกินไป
2. ลดการตำหนิลูก
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกินอาหาร การแต่งตัว การทำการบ้าน การอ่านหนังสือ ดูทีวี หรือเรื่องคะแนนสอบที่อาจจะไม่ได้ดั่งใจ แม้ว่าพ่อแม่อาจจะรู้สึกหงุดหงิด และคิดว่าคุณจำเป็นต้องพูดเตือนลูกอยู่เสมอ ๆ แต่ต้องเลือกใช้วิธีอื่น ที่เป็นในเชิงบวกกับลูก

3. ให้ทำเป็นไม่เห็นเมื่อลูกกระพริบตาบ่อย ๆ
หากคอยดุลูกเรื่องกระพริบตาบ่อย ๆ ลูกก็จะเกิดความเครียดมากขึ้น ยิ่งทำให้กระพริบตาบ่อยขึ้น ให้ทำเป็นไม่เห็นบ้างเพื่อให้ลูกผ่อนคลาย และควรจะบอกคุณครู คุณปู่ คุณย่า และคนอื่น ๆ รอบข้าง ให้ใช้วิธีการเดียวกัน และไม่ล้อเลียนเด็ก
4. หลีกเลี่ยงการลงโทษ
ลูกมีอาการกระพริบตาบ่อย ๆ ลูกไม่ได้แกล้งทำ แต่ที่จริงแล้ว เด็กเองก็ไม่สามารถควบคุมอาการ TICS ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก ที่จะปลดปล่อยความเครียด ดังนั้นอย่าดุหรือทำโทษลูก เพราะจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเครียด ให้กระพริบตามากขึ้นไปอีก
แต่ถ้าพ่อแม่ทำทุกข้อแล้วลูกยังไม่หาายจากอาการ TICS ยังคงมีอาการขยิบตา ย่นจมูก กระตุกมุมปาก บิดคอ ยักไหล่ สะบัดมือ กระตุกมือ ซ้ำ ๆ เป็น ๆ หาย ๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานนท์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์