แค่ลูกทารกกินนมอิ่ม นอนหลับสบายอาจจะยังไม่พอค่ะ พ่อแม่ต้องสังเกตุพัฒนาการตามวัยของทารกรกด้วย และถ้ามีสัญญาณดังต่อไปนี้อาจบอกได้ว่าลูกของเรากำลังมีพัฒนาการผิดปกติ
พ่อแม่ต้องสังเกต! 5 สัญญานเตือนพัฒนาการทารกที่อาจผิดปกติ
- ลูกทารกหน้าบึ้ง ไม่ยิ้ม เป็นธรรมดาของทารก 0-3 เดือน จะยิ้มเก่งเป็นปกติ เนื่องจากกล้ามเนื้อปากยังไม่ค่อยแข็งแรงค่ะ แต่พอเวลาผ่านไป 3 เดือนลูกเริ่มมองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น ถ้าลูกยังยิ้มเล่นสดใสก็ยังปกติอยู่ค่ะ แต่เมื่อไหร่เวลาพ่อแม่มาเล่นหรือคนแปลกหน้ามาอยู่ใกล้ๆ ลูกทำหน้านิ่ง บึ้งตึงไม่ยิ้มเมื่อตอนแรกเกิดใหม่ ๆ นั่นเป็นเพราะลูกไม่ไว้ใจคนรอบข้าง น้องเลยรู้สึกหวาดกลัวนะคะ
สิ่งเดียวที่พ่อแม่ทำได้คือการสังเกตว่าลูกกลัวอะไร แล้วนำสิ่งนั้นออกไปให้ห่างจากตัวลูกค่ะ ถ้าปล่อยไว้ ลูกจะร้องไห้และหลวดกลัวตลอดเวลา จะส่งผลให้ลูกเติบโตมามีนิสัยก้าวร้าว ขี้กลัว ไม่มั่นใจตนเองและไม่ช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วยนะคะ
- ลูกทารกหน้างอคอหัก คอไม่ตั้ง วัย 4-6 เดือน ทารกจะเริ่มพลิกตัวแล้วนะคะ และเริ่มมีการพลิกคว่ำได้ดี ชันคอได้ เพราะกล้ามเนื้อบริเวณส่วนกลางของลำตัว กล้ามเนื้อคอเริ่มมีความแข็งแรงขึ้นค่ะ เมื่อพลิกตัวคว่ำจะสามารถชันคอโชว์พ่อแม่ได้
ในกรณีที่ลูกถ้ายังชันคอไม่ได้ เวลาคุณแม่อุ้มแล้วคอยังเอียงไปเอียงมา ต้องคอยจับอยู่ตลอด อาจเป็นสัญญาณบอกว่ากล้ามเนื้อมีปัญหา หรืออาจมีปัญหาเรื่องสมองอ่อนแรงค่ะ ส่งผลให้พัฒนาการกล้ามเนื้อล่าช้าด้วย ทางที่ดีคุณแม่ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนะคะ
- ลูกทารกไม่ยอมนั่งเด็กวัย 7-9 เดือน ช่วงวัยนี้เด็กจะเริ่มลุกนั่งได้เองแลล้วค่ะ โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องคอยประคองแล้ว เริ่มยันแขนหมุนตัวเองให้นั่งได้
แต่ถ้าลูกไม่สามารถนั่งเองได้ คุณแม่ต้องระวังนะคะ เป็นสัญญาณบอกว่ากล้ามเนื้อมัดใหญ่บริเวณหลังอาจเกิดความผิดปกติ อาจมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง และจะส่งผลต่อพัฒนาการขั้นอื่นต่อไปต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนะคะ
- ลูกทารกมือเบาหวิว กล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรง เด็กวัย 7-9 เดือน ช่วงวัยนี้ลูกจะหยิบจับหรือคว้าสิ่งของได้แม่นยำมากขึ้นค่ะ สามารถควบคุมนิ้วมือเล็กๆ ให้จับของได้มั่นคง เป็นการเรียนรู้เรื่องระบบประสาทสัมผัสที่ดี
กรณีถ้าลูกยังหยิบจับของเล่นเองไม่ได้ หยิบของเล่นแล้วหล่น หรือมือไม่มีแรงหยิบ อาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรงพอค่ะ ลองหาของเล่นนิ่มให้เขาบีบจับบ่อยๆ เพื่อเป็นการบริหารกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรงขึ้น
- ลูกทารกไม่ยอมยืนเด็กวัย 9-10 เดือน ช่วงนี้เด็กๆ จะเริ่มเหนี่ยวตัวเองเกาะสิ่งของที่อยู่รอบตัว แล้วยกตัวเองขึ้นมาเกาะยืนและค่อยๆ เกาะเดิน จะเป็นช่วงล้มลุกคลุกคลานนะคะ สามารถยืนได้เอง เวลาเดิน จะเดินได้ 2-3 ก้าวแล้วล้มนั่งลง เหมือนตุ๊กตาล้มลุกให้ลูกได้ฝึกลุกนั่ง แต่ต้องหาที่เหมาะๆ นะคะหาหมอนมาวางรอบๆ ตัวด้วยนะคะเพื่อความปลอดภัย
ในกรณีลูกไม่ลุกยืน วัยนี้ยังไม่ผิดปกติอะไรมากค่ะ เพราะพัฒนาการช่วงนี้เด็กแต่ละคนจะช้าเร็วแตกต่างกัน แต่ถ้าเลยขวบครึ่งไปแล้วยังไม่ยอมลุกเดิน แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากกล้ามเนื้อขามีความผิดปกติ หรืออาจเกี่ยวกับระบบประสาทมีความผิดปกติและส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อมีความผิดปกติเกิดขึ้น
ลูกทารกมีพังผืดใต้ลิ้น ลิ้นติด พ่อแม่จะต้องดูแลอย่างไรเพื่อให้ลูกดื่มนมแม่ได้แบบเต็ม ๆ ไม่ขัดขวางพัฒนาการด้านอื่น ๆ
พังผืดใต้ลิ้นทารก พังผืดที่ลิ้นเกิดจากอะไร ต้องตัดขลิบออกหรือไม่
อาการนี้เด็กเป็นกันเยอะนะคะ ลิ้นติด (Ankyloglossia หรือ Tongue-tie) เป็นภาวะที่การเคลื่อนไหวอย่างปกติของลิ้นที่เคยเคลื่อนโดยอิสระ ถูกจำกัดจากการที่ lingual frenulum ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ยึดเกาะระหว่างใต้ลิ้นกับพื้นล่างของช่องปาก เกิดความผิดปกติ ซึ่ง frenulum อาจสั้นไปและยึดติดกับลิ้นแน่นไป หรืออาจเกาะออกไปตามพื้นล่างของลิ้นยาวเกินไป หากยื่นไปถึงปลายลิ้น อาจทำให้เห็นปลายลิ้นเป็นรูปตัว V หรือเป็นรูปหัวใจ ภาวะนี้มักเป็นกรรมพันธุ์และไม่สามารถป้องกันได้
ภาวะลิ้นติดมาก ๆ อาจทำให้แลบลิ้นยื่นออกมาและกระดกลิ้นไม่ได้ ทำให้เชื่อว่าอาจไปขัดขวางการเคลื่อนไหวตามปกติของลิ้นที่เป็นลูกคลื่นเวลาที่ลูกดูดนมแม่ ส่งผลให้หัวนมแม่มีการช้ำ และเกิดปัญหาการได้น้ำนมแม่อย่างพอเพียง และการเพิ่มน้ำหนักตัวของลูก
พังผืดใต้ลิ้นทารกส่งผลอย่างไร
ผลของลิ้นติดต่อทารก ปกติภาวะลิ้นติดจะค่อย ๆ หายไปเมื่อเด็กอายุ 2-3 ปี แต่ในเด็กเล็กอาจเกิดปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น ดูดนมไม่ได้ดี อมหัวนมแล้วมักหลุด น้ำหนักตัวไม่ค่อยขึ้นจากการได้น้ำนมไม่พอ แม่เจ็บหัวนมหรือหัวนมเป็นแผล แม่สร้างน้ำนมน้อยลง ๆ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้อาจจะต้องได้รับการแก้ไขโดยการผ่าตัด ที่เรียกได้หลายอย่างเช่น frenulectomy, frenulotomy, frenectomy, หรือ frenotomy
พังผิดใต้ลิ้นทารก สังเกตอย่างไร
- เจ็บหัวนมหรือมีร่องรอยฟกช้ำหรือเป็นแผล
- หัวนมผิดรูปไปหลังจากให้นมลูกแล้ว
- มีรอยกดหรือรอยเป็นริ้ว ๆ บนหัวนมหลังลูกดูดนมแล้ว
- ลูกมักดูดไม่ได้ หรือดูดแล้วหลุด เลยทำให้ดูดได้แต่ลม
- ได้ยินเสียงคล้ายกระเดาะลิ้นจากปากลูกขณะดูดนมแม่
- น้ำหนักตัวลูกไม่ขึ้นหรือขึ้นช้า
เมื่อลูกมีอาการลิ้นติด มีพังผืดใต้ลิ้น
- ลูกแลบลิ้นได้ไม่พ้นริมฝีปากหรือเหงือกบน
- ไม่สามารถกระดกปลายลิ้นขึ้นไปสัมผัสเพดานปากได้
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวลิ้นไปด้านข้างได้
- เมื่อแลบลิ้น ปลายลิ้นจะแบนไม่มน หรือเป็นเหลี่ยม ไม่แหลมมนอย่างทั่ว ๆ ไป
- ปลายลิ้นอาจเป็นร่องหยักเข้ามา หรือเป็นรูปหัวใจ
พังผืดใต้ลิ้นทารก รักษาอย่างไร
การรักษานั้นขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ ควรปรึกษากุมารแพทย์ และทันตแพทย์ เพื่อรับการประเมินภาวะลิ้นติด หากเป็นในระดับที่มาก แพทย์อาจพิจารณา ให้ขลิบพังผืด เพื่อให้เด็กสามารถรับน้ำนมจากแม่ได้ตามปกติ
ขอบคุณข้อมูลจาก
นายแพทย์วีระพงษ์ ฉัตรานนท์
ลูกทารกวัย 10 เดือนมีพัฒนาการอะไรบ้างที่เด่นชัด และพ่อแม่ต้องส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 10 เดือนอย่างไรให้ถูกต้อง มาดูคำแนะนำตรงนี้เลยค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 10 เดือน พัฒนาการทารก 10 เดือน พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
พัฒนาการทางร่างกายทารก 10 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
พัฒนาการเด็กวัย10 เดือนจะสามารถยืนขึ้นได้ด้วยตนเอง แต่ยังไม่มีความมั่นใจในการก้าวเดิน จะต้องให้คุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ใช้สองมือจับมือลูกในการช่วยก้าวเดิน แต่เมื่อลองทำซ้ำบ่อย ๆ ลูกก็จะมีความมั่นใจและไม่กลัวล้มมากขึ้น ทั้งนี้เด็กบางคนก็อาจจะยังไม่ยืนหรือก้าวให้เห็น แต่อีก 2-3 เดือนต่อไป เขาจะก้าวเดินได้อย่างรวดเร็วแน่นอน
ด้านกล้ามเนื้อนิ้วมือ เด็กจะสามารถถือของได้นานขึ้น ใช้นิ้วจับรายละเอียดของสิ่งของได้มากขึ้น เอี้ยวตัวไปหยิบของที่อยู่ด้านข้างตนเองได้ รวมทั้งกะระยะการหยิบของที่อยู่บนที่สูงหรือที่ต่ำได้
พัฒนาการทางร่างกายของทารก 10 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ยืนโดยมีอะไรช่วยเพียงเล็กน้อย
- เดินไปรอบ ๆ เครื่องเรือน
- ปีนขึ้นลงเก้าอี้ได้
- คลานโดยที่ขาเหยียดตรง
- ก้าวเดินได้ โดยที่มีคนจับทั้งสองมือไว้จูงเดิน
- นั่งลงจากท่ายืนได้
- จากท่านั่งสามารถลงมานอนคว่ำได้
- ถือของเล็กๆ สองชิ้นไว้ในมือเดียว
- ใช้มือข้างหนึ่งถือของ อีกข้างสามารถทำอย่างอื่นได้
- ปล่อยของออกจากมือได้ แต่ยังงุ่มง่ามอยู่
- ถือถ้วยหัดดื่มกินเอง
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจ ทารก 10 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะแสดงอารมณ์ที่หลากหลายมากขึ้น ถ้าไม่พอใจก็จะร้องไห้โวยวาย แต่ถ้าดีใจก็จะยิ้มหัวเราะร่า คิกคัก ตบไม้ตบมือ นั่นเกิดขึ้นเพราะลูกมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นเจ้าของ และความสนุกสนานที่เขารอคอยจะได้รับ สิ่งถ้าลูกได้รับการยอมรับจากพี่น้อง เขาจะดีใจมากเป็นพิเศษด้วย
ลูกเริ่มจะมีเหตุผลในการแสดงความรู้สึกมากขึ้น จากเมื่อก่อนจะร้องไห้เพราะไม่สบายตัว หิว หรือร้อน เท่านั้น แต่ตอนนี้ลูกจะร้องไห้เพราะน้อยใจ สิ่งของที่ตนเองชอบโดนพรากไป หรือว่ากลัวคนแปลกหน้า เป็นต้น
พัฒนาการทางภาษาทารก 10 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
นอกจากการพูดแล้ว ลูกจะเข้าใจคำศัพท์ที่คุณพ่อคุณแม่พูดมากขึ้น อาจจะมีคำเฉพาะส่วนตัวที่ใช้กันภายในครอบครัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่น อาบน้ำ - ไปจ๋อมแจ๋มกัน เพื่อให้ลูกเรียนรู้ถ้อยคำที่ง่ายและมีจังหวะเหมือนเสียงดนตรีด้วย รวมทั้งเริ่มใช้การสื่อสารผ่านภาษากาย เช่น เรียกร้องความสนใจด้วยการเอื้อมมือไปแตะตัวพ่อแม่หรือคนที่เล่นด้วย เพื่อแสดงความพอใจหรือเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ากำลังมีความสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
พัฒนาการทางภาษาของทารก 10 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
เรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงภาษาและท่าทาง อย่างเช่น เมื่อพูดคำว่า “ไม่” พร้อมกับสั่นศีรษะ ชอบพูดตาม และสนใจกับคำที่มีเสียงคล้าย ๆ กัน
พัฒนาการทางสังคมทารก 10 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกต้องการการยอมรับ จะชอบทำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอก อย่างเช่น บ๊ายบาย ส่งจูบ ยิ้มหวาน เพราะทุกครั้งที่ทำลูกจะได้รับการตอบสนองด้วยการชมเชย คนที่อยู่รอบข้างก็ชื่นชมด้วย แต่ว่าหากคนที่อยู่รอบข้างเป็นคนแปลกหน้า หนูน้อยอาจจะไม่โชว์ในสิ่งที่เคยทำได้ให้ดูเลย และไม่ชอบที่จะเล่นด้วยด้วยซ้ำไป
พัฒนาการทางสังคมของทารก 10 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- เลียนแบบท่าทาง สีหน้า และน้ำเสียง
- เริ่มแสดงออกและบ่งบอกความเป็นเพศชายและเพศหญิง
- อารมณ์อ่อนไหว ถ้าสนใจเด็กคนอื่นมากกว่า
- อาจจะแสดงความกลัว ไม่กล้า (เป็นพฤติกรรมถดถอย)
- ชอบของเล่นชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นพิเศษ รู้สึกเป็นเจ้าของ แสดงความรู้สึกกับสิ่งของ เช่น รู้สึกเล่นอ่อนโยนกับตุ๊กตา
พัฒนาการทางสมองทารก 10 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
เด็กหญิงและเด็กชายมีการแยกแยะกันได้มากขึ้น โดยเด็กผู้หญิงจะมีพฤติกรรมที่นิ่งและมีสมาธิกว่าเด็กผู้ชาย และมีการพูดที่พัฒนาเร็วและฟังรู้เรื่องกว่าเด็กผู้ชายด้วย นอกจากนั้นลูกจะใช้วิธีเลียนแบบเป็นการเรียนรู้และเสริมพัฒนาการได้ดีที่สุด อีกทั้งวัยนี้ลูกจะเป็นนักจดจำ ลำดับเรื่องราวได้ดี เพียงคุณพ่อคุณแม่เป็นต้นแบบและใกล้ชิดลูกในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ลูกก็จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ลูกจะสามารถเล่นคนเดียวได้แล้ว (ภายใต้การเฝ้ามองของคุณพ่อคุณแม่) โดยการเล่นคนเดียว ลูกจะเรียนรู้จากตัวเองไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก เริ่มจากอวัยวะต่างๆ ของตัวเอง เราจะเห็นบ่อยๆ ว่าเด็กชอบดูดนิ้ว หรือเด็กบางคนก็ยกนิ้วเท้ามาอม นั่นคือวิธีการหนึ่งของการสำรวจร่างกาย ลูกจะรู้สึกมีอิสระในการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว ได้เรียนรู้เรื่องความถูกผิด เพราะเขาได้มีโอกาสลองจับลองสัมผัสสิ่งของต่างๆ ด้วยตนเอง และเมื่อได้ลองทำเองก็จะจดจำได้ดีกว่ามีคนมานั่งบอกหรือสอนตลอดเวลา
พัฒนาการทางสมองของทารก 10 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- มองของอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถแยกของชิ้นนั้นออกจากกองได้ โดยใช้นิ้วชี้ แตะ หรือเขี่ย
- ค้นหาของที่ซ่อนไว้อย่างมิดชิดได้ ถ้าไม่เจอก็จะไปหาที่อื่น และก็กลับไปมองหาที่เดิมใหม่ รู้สึกว่าตนเองเป็นคน คนละจำพวกกับสิ่งของ
- ชี้บอกอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้
- ชอบใช้มือข้างใดข้างหนึ่ง
- ให้ความร่วมมือในการแต่งตัว
- นอนหลับยากขึ้น


ลูกใกล้จะ 1 ขวบแล้ว พัฒนาการเด็ก 11 เดือน ลูกอายุ 11 เดือนมีพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสมองเป็นอย่างไร มาเช็กกันตรงนี้พร้อมวิธีส่งเสริมให้สมวัยก่อนอายุ 1 ปีเต็มค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 11 เดือน พัฒนาการทารก 11 เดือน มีอะไรโดดเด่นและต้องส่งเสริมอย่างไร
พัฒนาการทางร่างกายของเด็กทารก 11 เดือน
ลูกสามารถลุกนั่งก้าวเดินได้อย่างมั่นคงขึ้น แต่ก็มีบางครั้งที่อาจจะต้องหาที่เกาะและเหนี่ยวยืนบ้างตามสถานการณ์ แต่โดยรวมแล้วถือว่าเป็นการเดินที่เท้าและขาทั้งสองข้างมีความแข็งแรงมั่นคงมาก ๆ ร่างกายพร้อมที่จะเล่นและเรียนรู้ในโลกกว้างได้แล้ว สำหรับเด็กบางคนที่เดินช้าหรือยืนไม่มั่นคง อาจจะเป็นเพราะว่าเขาถูกอุ้มบ่อย หรือเมื่อชี้สิ่งที่ต้องการแล้วก็มีคนนำมาให้ถึงมือ ทำให้ลูกไม่มีความจำเป็นต้องลุกหรือพยายามขยับร่างกาย ต้องปรับพฤติกรรมและฝึกพัฒนาการของลูกด้วย
พัฒนาการทางร่างกายของเด็กทารก 11 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ยืนเองได้เหยียดขาตรง ใช้มือยันและยกตัวขึ้น หรือหาสิ่งช่วยพยุงและก้มตัวเองได้
- สามารถยืนขึ้นจากท่านั่งยองๆ ได้
- ขึ้นบันไดได้ เดินได้โดยจับมือคนอื่นหนึ่งถึงสองมือ
- สามารถใช้มือตักอาหารอย่างเป็นลำดับขั้นตอนได้
- สามารถทำอะไรในเวลาเดียวกันได้ อย่างเช่น นั่งยองๆ แล้วหยิบของเล่น และส่งให้อีกมือถือไว้ได้
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจทารก 11 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
นอกเหนือจากความน่ารักของลูกน้อยแล้ว เมื่อลูกรู้สึกหงุดหงิดงอแง เรียกว่ามีกำลังเหมือนม้าพยศตัวน้อยๆ ทีเดียวคุณพ่อคุณแม่จะพบว่าปราบยากเสียเหลือเกิน อีกทั้งพัฒนาการของลูกจะเริ่มท้าทายและไม่ยอมง่ายๆ ซึ่งถ้าเขาเอาชนะคุณพ่อคุณแม่ได้ ก็จะรู้สึกว่าได้เอาชนะคนทั้งโลกได้แล้ว วิธีแก้ง่ายๆ คือ เมื่อลูกลงไปดิ้นเมื่อถูกขัดใจ ควรปล่อยให้ลูกดิ้นไปอย่างนั้น หากอยู่ในที่ที่ปลอดภัย และปล่อยให้ลูกร้องจนพอใจ พร้อมยืนกรานคำว่าไม่ กำหนดขอบเขตให้ลูกด้วยประโยคสั้นๆ ง่ายๆ ก่อนเบี่ยงประเด็นชวนลูกเล่นอย่างอื่น
แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่อย่าปล่อยลูกอยู่ตามลำพัง ให้อยู่กับเขาและส่งมอบความรู้สึกว่าคุณจะไม่ทอดทิ้งเขา แต่ไม่สามารถให้ในสิ่งที่เขาต้องการได้จริงๆ การสอนให้ลูกเชื่อฟังมิได้สำเร็จเพียงครั้งเดียว คุณพ่อคุณแม่จะต้องใจแข็ง และมีความอดทนด้วย
พัฒนาการทางภาษาทารก 11 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะใช้อาการสั่นศีรษะไปมาแทนคำว่าไม่ ไม่ค่อยให้ความร่วมมือเวลาอาบน้ำหรือกินข้าว และเข้าใจเวลาคุณพ่อคุณแม่เตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ว่าก็รู้สึกท้าทายและอยากจะทำสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ห้ามไว้ แม้ช่วงแรกจะลังเลก็ตาม
พัฒนาการทางภาษาของทารกวัย 11 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- แม้ว่ายังพูดไม่เป็นภาษา แต่ว่าสามารถฟังได้ออก 2-3 คำได้แล้ว
- เลียนแบบการออกเสียงจังหวะการพูด และเลียนสีหน้าได้ดี
- รู้ความหมายของศัพท์ที่แตกต่างกัน
- เชื่อมโยงสัญลักษณ์และภาษาเข้าด้วยกัน อย่างเช่น เมื่อบอกว่าเครื่องบิน ก็จะมองบนฟ้า
- เข้าใจความหมายของคำว่า ไม่ และคำว่า ได้
พัฒนาการทางสังคมทารก 11 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะเรียกร้องความสนใจของคุณพ่อคุณแม่มากยิ่งขึ้น หากว่าคุณกำลังพับผ้าอยู่ ลูกจะเดินมาใกล้ ๆ และหยิบผ้าขึ้นมาเหมือนจะพับด้วย แต่ความจริงแล้วเหมือนรื้อผ้าที่พับไว้มากกว่า จุดประสงค์ของเขาคืออยากให้เราสนใจและหันมาเล่นกับเขาด้วย ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังไม่ให้ความสนใจลูกอาจจะทำในสิ่งที่ห้ามบ่อย ๆ เช่น เดินไปที่บันได หรือเดินไปที่ประตู เป็นต้น
พัฒนาการทางสังคมของทารกวัย 11 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ชอบเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ กลุ่มพี่ ๆ
- พยายามเรียกร้องความสนใจจากแม่ ติดแม่และอยากให้แม่ยอมรับ
- เชื่อฟังคำสั่งและยับยั้งพฤติกรรมตนเองได้
- ต้องการการยอมรับ โดยไม่ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่เห็นด้วย
- ไม่ชอบการสอนด้วยวิธีบังคับ
- ไม่ชอบให้ใครเอาของเล่นไป รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ
- รู้สึกผิดเมื่อทำผิด
- ท้าทายกฏและข้อห้ามของแม่
พัฒนาการทางสมองทารก 11 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะเลียนแบบทักษะที่สูงขึ้น อย่างเช่น การเลียนแบบการเขียนหนังสือ การระบายสี สามารถต่อบล็อกเป็นชั้นได้บ้างแล้ว เข้าใจการทำงานของกระจกเงา และรู้ว่ากระจกใสกำลังกั้นกลางของที่เขากำลังอยากได้อยู่ แต่ก็พยายามหยิบของจากด้านข้างของกระจก
พัฒนาการทางสมองของทารกวัย 11 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- สำรวจความสัมพันธ์ของวัตถุที่อยู่ระหว่างข้างในกับข้างนอก
- ใช้นิ้วสำรวจและหยิบออกมา
- เปิดฝากล่องหรือขวดเองได้
- เอาของเล็กๆ ใส่เข้าไปในถ้วย ดึงเข้าดึงออกมาได้
- สามารถใช้มือสองข้างทำอะไรที่ไม่เหมือนกันได้
- สนใจดูรูปภาพในหนังสือ
- เชื่องโยงความสัมพันธ์ระหว่างสัญลักษณ์และความหมาย เช่น รู้ว่ารูปแมว ต้องออกเสียง เมี้ยว ๆ
- รู้ขั้นตอนในการใส่เสื้อผ้า ใส่รองเท้าเป็น แกะเชือกผูกรองเท้าได้


พัฒนาการทารก 2 เดือน เด็กอายุ 2 เดือน พ่อแม่ต้องดูแลอะไรบ้าง มีวัคซีนเด็กอะไรต้องฉีด พัฒนาการอะไรที่เด่นชัดกว่าตอนอายุ 1 เดือน มาเช็กกันค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 2 เดือน พัฒนาการทารก 2 เดือน มีเรื่องไหนบ้างที่แม่ต้องดูแลและส่งเสริม
พัฒนาการทางร่างกายของทารกอายุ 2 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกวัย 2 เดือนจะมีตัวหนักขึ้นจากเมื่อตอนอายุ 1 เดือนประมาณ 1 กิโลกรัม เริ่มบังคับศีรษะโงนเงนไปมาได้ สามารถเงยขึ้น 45 องศา เพื่อมองสิ่งแวดล้อมรอบๆ ได้ประมาณ 2-3 นาที ลูกจะกินนมเป็นเวลามากขึ้น ประมาณ 4 ชั่วโมงต่อครั้ง เฉลี่ย 35 ออนซ์ต่อวัน และหากไม่ได้ดั่งใจก็จะแผดเสียงร้องลั่นบ้าน
เด็กบางคนอาจจะนอนหลับเพลินจนลืมเวลากินนม เพราะเมื่อมีอายุเลย 5 อาทิตย์แล้ว จะนอนตอนกลางคืนได้ยาวนานขึ้นรวดเดียวถึง 7 ชั่วโมง และในตอนกลางวันจะอยู่ในภาวะตื่นมากขึ้นเป็น 10 ชั่วโมงต่อวัน เด็กจะเริ่มเรียนรู้ร่างกายตนเอง ชอบถีบขายืดแขน หันหน้าหันหลังพลิกตัวไปมาอย่างสนุกสนาน ยิ่งหากมีคนอื่นๆ อยู่ด้วยเจ้าหนูจะโชว์ท่าทางเป็นพิเศษ
ด้านการมองเห็นในเดือนที่ 2 เลนส์ของตาจะปรับระยะตามความห่างของวัตถุ แต่ประสาทของตากับหูยังไม่สัมพันธ์กันมากนัก อาจจะไม่ค่อยหันตามเสียงแต่จะหันตามของเล่นสีสดใสหรือแสงวิบวับแทน อย่างไรก็ตามลูกจะชอบใบหน้าของคนมากกว่าสิ่งของอยู่ดี และการเรียนรู้ของลูกมักจะเป็นการเรียนรู้ด้วยปากและพอใจกับการได้ดูดนมหรือนำนิ้วเข้าปากมากกว่าเรียนรู้ด้วยสายตา
พัฒนาการทางร่างกายที่เด่นชัดของทารก 2 เดือน ได้แก่
- ตื่นนอนกลางวันราว 10 ชั่วโมง
- แขนขายังกระตุก มีสะดุ้งตกใจบ้าง
- การเคลื่อนไหวนุ่มนวลขึ้นกว่าเดือนแรก
- เมื่อนอนคว่ำผงกศีรษะได้ 45 องศา แต่ได้เพียงชั่วครู่
- เมื่อจับนั่งศีรษะจะตั้งขึ้นแต่โงนเงนอยู่
- การหยิบฉวยจะเป็นตามคำสั่งสมองมากกว่าปฏิกิริยาสะท้อนกลับ
- พยายามคว้าของและหยิบฉวยได้นาน 2-3 นาที
- เริ่มมองเห็นว่าลูกมีความถนัดข้างใด
- สามารถทำได้อย่างเดียวในเวลาเดียว
- มองเงามือตนเองโดยคิดว่าเป็นสิ่งของ
- มองสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาที่เลื่อนลอย
- มองตามแสง และเห็นภาพชัดในระยะ 7-8 นิ้ว
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจของทารก 2 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
อารมณ์ของลูกจะเป็นเหตุผลมากขึ้น เช่น ร้องเพราะได้ยินเสียงดัง โกรธ โมโห หรือหิว เมื่อร้องไห้จะอาละวาดถีบขาและแกว่งแขนจนสั่นไปหมด อีกทั้งจะเริ่มสังเกตความเป็นตัวตนของลูกมากขึ้น เช่น เด็กนิสัยเรียบร้อยก็จะนิ่งๆ เงียบๆ หากเด็กนิสัยกระตือรือล้นก็จะซุกซนกว่าปกติ
เด็กบางคนก็จะมีชั่วโมงแห่งความหงุดหงิด โดยเฉพาะช่วงเย็นและช่วงค่ำ เขามักร้องไห้พร้อมกับกลั้นหายใจหรือเรียกว่า “ร้องดั้น” จนหน้าเปลี่ยนสี แม้จะให้นมหรือปลอบโยนก็มักจะหยุดเพียงชั่วครู่ แล้วก็จะร้องใหม่อีกครั้ง การร้องแบบนี้บ่งบอกถึงความไม่สบายใจและความไม่สบายกาย รู้สึกถึงความไม่สมดุลของระบบประสาทและร่างกายของตนเอง เมื่อลูกโตขึ้นก็จะคลายลง แต่ลูกก็สามารถทำให้ตนเองรู้สึกสงบลงได้ด้วยการดูดนิ้ว สำหรับช่วงเวลาที่ลูกอารมณ์ดีที่สุดคือช่วงที่ลูกเพิ่งกินนมเสร็จประมาณครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง และมีปฏิกิริยาตอบโต้สูง
พ่อแม่ควรดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้ลูกอารมณ์ดี หลีกเลี่ยงเสียงดัง เปิดเพลงเบาๆ หรือแม้แต่การเล่นกับลูกบ่อยๆ ก็เป็นการพัฒนาพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกได้
พัฒนาการทางภาษาของทารก 2 เดือน และการส่งเสริมการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกน้อยยังใช้การร้องไห้เป็นการสื่อสารหลัก เสียงส่วนใหญ่จะออกมาเป็นเสียงอ้อแอ้ คูๆ ไม่เหมือนเสียงพูดของผู้ใหญ่สักเท่าไรนัก แต่ว่าจะสนใจฟังเสียงต่างๆ และจดจำเสียงนั้นไว้ หากคุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกบ่อยๆ ลูกจะอ่านริมฝีปากและหัดพูดไปในตัวด้วย
พัฒนาการทางสังคมของทารก 2 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
เริ่มมองคนและส่งยิ้มหวานให้ และจะยิ้มเป็นพิเศษเมื่อคนๆ นั้นมักตอบสนองในทางบวกได้ เช่น เข้ามาคุยด้วย หรือเอานมมาให้ หรือแม้แต่พี่น้องที่เข้ามาเล่นซุกซนด้วยกันเขาก็จะรู้สึกอยากเล่นด้วย
พัฒนาการทางสังคมที่เด่นชัดของทารกวัย 2 เดือน ได้แก่
- เริ่มแสดงอารมณ์ หงุดหงิด ดีใจ ตื่นเต้น ยิ้มแย้ม
- สงบอารมณ์ตัวเองด้วยการดูดนิ้ว
- ตื่นตัวเวลามีคนจ้องมอง
- หยุดฟังและจับจ้องใบหน้าคน
- จะตื่นนานเมื่อมีคนมาเล่นด้วย
- เมื่อมีคนพูดด้วยจะชะงักและทำหน้าตาว่าได้ยิน
พัฒนาการทางสมองของทารก 2 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะยังไม่สามารถจดจำหน้าแม่หรือแยกใบหน้าแม่ออกจากกลุ่มคนได้ แต่เขาจะสามารถแยกแยะได้จากกลิ่นกายและลักษณะท่าทางการอุ้ม อีกทั้งหากคุณแม่ลองแตะรสชาติเค็ม เปรี้ยว หรือขม ที่ริมฝีปากลูก ลูกจะสามารถตอบสนองความไม่พอใจใจออกมาในรูปแบบปิดปาก สำลัก หน้าแดง ขบกราม แต่หากเป็นสิ่งใดที่ลูกชอบ เขาจะสนใจและกระตือรือล้นยิ้มให้เอง
นอกจากนั้นเด็กบางคนมีลักษณะชอบทำอะไรด้านเดียว เช่น นอนตะแคงขวา ดูดมือขวา เอียงคอทางขวา หรือแม้แต่ดูดนมด้านขวา สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อาการผิดปกติ แต่เป็นลักษณะความถนัดของลูกที่ก่อตัวมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์
ทารกวัย 2 เดือนนี้จะเริ่มเชื่อมโยงพฤติกรรมบางอย่างที่พ่อแม่ทำให้และตีความหมายได้บ้างแล้ว เช่น ถ้าวางลูกลงบนเปลในท่าทางพร้อมนอน แต่ลูกยังไม่อยากนอน เขาก็อาจจะแผดเสียงออกมาได้ การส่งเสริมควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ ตอบสนองความต้องพื้นฐานของเขาโดยเฉพาะเรื่องกินและเรื่องความเปียกชื้น ที่เป็นต้นตอของความหงุดหงิดจนทำให้ลูกเสียเวลาในการเรียนรู้ได้
พัฒนาการทางสมองที่เด่นชัดของทารก 2 เดือน ได้แก่
- แยกความแยกต่างของคน เสียง รส และวัตถุได้
- เชื่อมโยงคนกับการกระทำได้ เช่น แม่กับอาหาร
- เคลื่อนไหวร่างกายตอบโต้การกระตุ้น


ลูกอายุ 3 เดือนมีพัฒนาการเด่นอะไรบ้าง พ่อแม่ต้องดูแลและส่งเสริมพัฒนาการเด็กวัย 3 เดือนอย่างไร เรามีคำแนะนำค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 3 เดือน พัฒนาการทารก 3 เดือน พ่อแม่ต้องรู้และส่งเสริมเรื่องอะไรบ้าง
พัฒนาการทางร่างกายทารก 3 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ทารกวัย 3 เดือนจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก สามารถยกศีรษะได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะมีสิ่งล่อตาให้มองหา เริ่มบังคับกล้ามเนื้อคอได้อย่างมั่นคง หากคุณพ่อคุณแม่จับลูกนั่งพิงลูกจะเริ่มหันซ้ายขวาและชะโงกหน้ามาดูสิ่งที่ลูกสนใจ และหากจับลูกยืนเขาจะทำท่าเหมือนกระโดดจั๊มขาคู่ อีกทั้งมือกับตาเริ่มประสานกันมากขึ้นโดยสังเกตจากลูกหยิบของเข้าปากได้แม่นยำขึ้น
ด้านสายตา ลูกจะหันมองแสง สี รูปร่าง และเสียงของวัตถุ เริ่มมองเพ่งไปที่โมบายที่แกว่งไปมา รวมทั้งจ้องใบหน้าคนอย่างมีจุดหมาย และในเดือนที่ 3 นี้ลูกสามารถมองรอบๆ ห้องได้อย่างเต็มตาแล้ว
พัฒนาการสำคัญที่เห็นชัดในทารกวัย 3 เดือนนี้ คือการใช้มือ กุมมือ จับมือ ตีมือ และจ้องมองมือตนเองมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าประสาทตาทำงานได้ดีขึ้นมากแล้วนั่นเอง บางครั้งถึงกับยิ้มคิกคักเมื่อจับมือตนเองได้ แต่หากลูกหยิบสิ่งของที่อยู่ในมือและหล่นไป หากรอแล้วของสิ่งนั้นไม่กลับมาอยู่ในมือ ลูกก็จะละเลยความสนใจนั้นไป ลูกจะไม่ชอบมองสิ่งซ้ำๆ และมองหาสิ่งแปลกใหม่หรือสะดุดตาอยู่เสมอ
พัฒนาการทางร่างกายที่เด่นชัดของทารก 3 เดือน ได้แก่
- ควบคุมการทำงานของร่างกายดีขึ้น
- มองตามและหันตามของที่เคลื่อนไหว
- หากมีเสียงดังขึ้น จะหยุดดูดนิ้วหรือดูดนมและหันหาที่มาของเสียง
- รู้ความแตกต่างของเสียงพูดและเสียงชนิดอื่นๆ
- นอนคว่ำชันคอนาน แต่ชันอกได้ไม่กี่นาที
- ยกแขนทั้งคู่หรือขาทั้งคู่ได้
- เมื่อจับยืนขาจะยันพื้นได้ครู่เดียว
- นั่งพิงได้ ศีรษะเอนเล็กน้อย
- ตี คว้า ดึง สิ่งของเข้าหาตัวเอง
- เชื่อมโยงการเห็นและการเคลื่อนไหวได้
- นอนกลางคืนได้นาน 13-16 ชั่วโมง ตื่นช่วงกลางวันมากขึ้น
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจทารก 3 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะเข้าใจความพึงพอใจ เช่น ถ้าลูกเอามือเข้าปากแล้วจะรู้สึกพอใจ หรือการเอื้อมมือเข้าไปจับโมบายเพราะความพึงพอใจที่อยากจะทำ สามารถรอคอยได้ดีขึ้น เมื่อถึงเวลากินนมลูกจะอารมณ์ดี เพราะลูกจะรู้ว่าถึงช่วงเวลาแห่งความสุขแล้ว
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจที่เด่นชัดในทารก 3 เดือน ได้แก่
- หยุดร้องไห้ทันทีเมื่อเห็นหน้าคน
- ตอบโต้สิ่งเร้าแทบทุกชนิด
- ยิ้มง่ายและยิ้มทันที
- มีเหตุผลมากยิ่งขึ้น และสามารถรอคอยได้บ้าง
พัฒนาการทางภาษาทารกวัย 3 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะเข้าใจกิจวัตรประจำวันและเข้าใจพ่อแม่มากขึ้น ถึงแม้ว่าลูกยังอ้อแอ้อยู่ก็จะใช้ภาษากายเข้าช่วย เช่น เมื่อแม่เอานมมาก็จะโผเข้าหา อ้าปากรอเพื่อดูดนม และเริ่มเรียกอ้อแอ้ให้คุณสนใจ หรือเลือกวิธีร้องไห้ให้คุณพาไปเดินเล่นข้างนอกแทน ลูกจะติดต่อกับพ่อแม่ด้วยวิธีจ้องตา ทำเสียงอืออา แม้ว่าสักพักลูกจะมองไปทางอื่น แต่ก็จะกลับมามองหน้าพ่อแม่อีกครั้งพร้อมส่งเสียงเหมือนทักทายด้วย
พัฒนาการทางภาษาที่เด่นชัดของทารก 3 เดือน ได้แก่
- เงี่ยหูฟังเสียงอื่นๆ
- พูดแบบอือออ อ้อแอ้ หรือเสียงในลำคอตอบรับการได้ยิน
- โต้ตอบคำพูดหรือรอยยิ้มของแม่
- แยกออกระหว่างเสียงต่างๆ และเสียงของแม่
- ใช้การร้องไห้เพื่อบอกความต้องการเป็นหลัก
- หันไปหาเสียงพูดหรือเสียงเพลง
พัฒนาการทางสังคมทารกวัย 3 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะชอบอยู่กับคนอื่นและไม่ชอบที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่คนเดียวหรือเล่นคนเดียวนานๆ ชอบเล่นกับพ่อแม่พี่น้อง และหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะนำสิ่งใหม่ๆ มาให้ดู แต่เด็กบางคนมีบุคลิกเงียบเฉย เรียบร้อยก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ต้องการความสนใจ เด็กทุกคนล้วนต้องการการได้รับความสนใจและเป็นอันดับหนึ่งในใจพ่อแม่เสมอ
พัฒนาการทางสังคมที่เด่นชัดของทารก 3 เดือน ได้แก่
- แสดงอารมณ์ด้วยสีหน้าถ้าเจอคนคุ้นเคยจะแสดงออกทั้งร่างกาย
- เรียกร้องความสนใจ
- ต่อต้านเมื่อต้องอยู่คนเดียว
พัฒนาการทางสมองทารก 3 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
คลื่นสมองของเด็กอายุ 3 เดือน มีลักษณะใกล้เคียงกับสมองผู้ใหญ่ จะเห็นได้ว่าลูกสามารถควบคุมร่างกายและการเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นแล้ว
ลูกจะจดจำเสียงพ่อแม่ได้และสนใจเสียงต่างๆ พร้อมอยากรู้ที่มาของเสียงนั้นด้วย ลูกจะเรียนรู้ผ่านมือมากขึ้นโดยเรียนรู้จากการสัมผัส รูปร่าง ขนาดของสิ่งของ สมองจะแยกแยะความแตกต่างเก็บเป็นข้อมูลชีวิตในภายภาคหน้า ซึ่งจะตามมาด้วยหลักในการเรียนรู้เรื่องเหตุและผล เช่น เมื่อลูกร้องไห้และเมื่อได้ยินเสียงแม่เดินเข้ามาก็จะหยุดร้อง เพราะรู้ว่าสักพักก็จะได้กินนมแล้ว เป็นต้น
ช่วงเวลา 6 เดือนแรกนี้เป็นช่วงเวลาทองที่สภาพแวดล้อม พ่อ แม่ และคนใกล้ชิดมีอิทธิพลต่อลูกเป็นอย่างมาก ซึ่งคนใกล้ชิดควรช่วยดูแลลูกเติมเต็มความต้องการพื้นฐาน เช่น กินอื่ม นอนหลับ ขับถ่ายดี รวมทั้งการดูแลเรื่องการเรียนรู้ โดยสอนให้ลูกได้ลองสัมผัส ดมกลิ่น ชิมรส กับสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวบ้าง เพราะสิ่งใหม่ๆ จะทำให้ลูกมีความกระตือรือล้นในการเรียนรู้โลกใบนี้และพัฒนาสมองได้อย่างดีด้วย
พัฒนาการทางสมองที่เด่นชัดของทารก 3 เดือน ได้แก่
- รู้ความแตกต่างของใกล้และไกล
- สนใจสิ่งหนึ่งๆ ได้นานถึง 45 นาที
- เบื่อเสียงหรือสิ่งซ้ำๆ
- เรียนรู้ผ่านมือและการมองเห็น


เด็กทารกอายุ 4 เดือน ต้องดูแลเรื่องไหนเป็นพิเศษ และมีพัฒนาการเด็กอะไรบ้างที่เด่นให้พ่อแม่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริม เรามีคำแนะนำค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 4 เดือน พัฒนาการทารก 4 เดือน ลูกเริ่มเล่นเก่ง พ่อแม่ควรส่งเสริมอย่างไร
พัฒนาการทางร่างกายทารก 4 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
สิ่งที่เห็นได้ง่ายที่สุดในพัฒนาการทางร่างกายของทารกวัย 4 เดือน คือ การร่วงของเส้นผมและกำลังมีเส้นผมชุดใหม่งอกขึ้นมาแทนที่ ซึ่งจะเป็นสีที่ถาวรตลอดชีวิตเช่นเดียวกับสีตา โดยเฉพาะเด็กฝรั่งจะเห็นสีตาได้ชัดเจนในตอนนี้ เช่น หากลูกตาสีฟ้า และคงที่ไปตลอดจนอายุครบ 6 เดือน เขาก็จะมีดวงตาสีนี้ไปตลอดชีวิต
ลูกสามารถเคลื่อนไหวคอได้อย่างแข็งแรง สามารถยกศีรษะตั้งตรงได้เมื่อนอนคว่ำ เหยียดแขนยกศีรษะหันหน้าตาไปยังทิศต่าง ๆ ได้ แม้แต่นอนหงายก็จะพยายามยกศีรษะมองไปทางปลายเท้า จับนิ้วเท้าเข้าปากได้ ทั้งนี้ ขาของลูกมักจะทำท่าถีบจักรยาน ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมกล้ามเนื้อสำหรับการก้าวยืนเดินต่อไป
กล้ามเนื้อหลังมีการพัฒนาและช่วงลำตัวมีความแข็งแรงขึ้น ช่วงปลายเดือนที่ 4 จะพลิกคว่ำได้ และถ้านอนคว่ำจะทำท่ากางแขนขาเหมือนเครื่องบินกำลังร่อนอยู่ บางคนก็ทำท่าเหมือนว่ายน้ำ ซึ่งจะกลายเป็นท่าทางการคลานในอนาคต อีกทั้งลูกจะชอบนั่งแม้ว่าจะต้องพิงอยู่ก็ตาม กล้ามเนื้อมือใช้งานได้อย่างมีกำลัง จะเห็นว่าชอบจับผมคุณแม่หรือคุณพ่อไว้แน่น ชอบบีบ คว้า ฉีก ซึ่งต้องระมัดระวังความปลอดภัยให้ลูกอยู่เสมอ
ด้านการมองเห็นลูกมีความสามารถเท่ากับผู้ใหญ่และสามารถแยกแยะสีได้และมองเห็นความแตกต่างได้แล้ว
พัฒนาการทางร่างกายของทารก 4 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ตั้งศีรษะได้ตรงพร้อมหันหน้าไปรอบ ๆ ได้
- นอนคว่ำและยกศีรษะได้ 90 องศา
- นอนหงายจะก้มหน้ามองมือจับขา
- สามารถพลิกคว่ำเองได้
- นั่งพิงเองได้ 10-15 นาที ศีรษะและหลังตรง
- จับของได้ด้วยนิ้วชี้และนิ้วโป้ง แต่ยังไม่คล่องนัก
- มองเห็นได้ชัดเจนเท่าผู้ใหญ่
- ใช้มือคว้าวัตถุที่อยู่ใกล้เอาเข้าปาก
- ตากับศีรษะทำงานไปทิศทางเดียวกัน
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจทารก 4 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะเริ่มใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างและยึดสิ่งของใกล้ตัวนั้นเป็นที่พึ่งยามอารมณ์เสีย หรือมักมีไว้ให้อุ่นใจ เช่น หนอมนุ่ม ตุ๊กตาตัวเล็ก อาการติดของเล่นนี้จะช่วยปลอบประโลมจิตใจ คลายเครียด และสามารถทำให้ลูกสงบได้อย่างไม่น่าเชื่อ
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจของทารก 4 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- แยกความแตกต่างระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมได้
- ชอบของเล่นชิ้นใดชิ้นหนึ่งเป็นพิเศษ
- รู้สึกเป็นเจ้าของของเล่นชิ้นโปรด
- จำหน้าแม่และคนคุ้นเคย อาจกังวลกับคนแปลกหน้าใหม่ๆ
พัฒนาการทางภาษาทารกวัย 4 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกยังคงส่งเสียงอือออพูดคุยด้วย สามารถแสดงรอยยิ้มและหัวเราะได้อย่างชัดเจน เป็นการสื่อสารว่าเขากำลังมีความสุข รวมถึงลูกจะร้องไห้แบบดังก้องกังวานหากเขาไม่ได้ดั่งใจหรือไม่สบายตัว เพื่อแสดงว่าอารมณ์ไม่ดี ทำให้เรารู้ว่าปอดและหลอดเสียงมีความแข็งแรงมากขึ้นแล้ว นอกจากนั้นลูกมักจะยิ้ม เลียนเสียงและใบหน้าของคุณด้วย
พัฒนาการทางภาษาของทารก 4 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- อ้อแอ้จากลำคอได้นาน 10-20 นาที
- เล่นน้ำลายและส่งเสียงคล้ายคนพูด
- มีระดับเสียงขึ้นลงคล้ายโต้ตอบ
- ส่งเสียงคิกคัก บางครั้งก็หัวเราะลั่น
พัฒนาการทางสังคมทารก 4 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะเริ่มสนใจคนและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น ซึ่งลูกมักจะส่งเสียงอือออเรียกให้มาเล่นด้วยกัน หรือเรียกเพราะอยากให้คุณพ่อคุณแม่นำของเล่นที่เขาชอบมาอยู่ใกล้ ๆ มือ
พัฒนาการทางสังคมของทารก 4 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- แสดงอารมณ์ไม่พอใจ หงุดหงิด ต่อต้าน สนุก หัวเราะ ได้ชัดเจน
- หยุดฟังเสียงดนตรี สนใจสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
- เล่นตีนิ้ว ปรบมือ
- สนใจมองกระจกยิ้มให้กับตนเองและผู้อื่น
- ชอบโต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่และคนคุ้นเคย
- ชอบให้คนอื่นๆ เข้ามาพูดคุยกับตนเองด้วย แต่บางครั้งก็จะมองหน้าอย่างสงสัย
พัฒนาการทางสมองทารก 4 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
เด็กวัย 4 เดือนสามารถแสวงหาของเล่นที่อยู่รอบๆ ตัวเขาได้อย่างที่คุณคาดไม่ถึง วัยนี้ควรกระตุ้นให้ลูกได้สัมผัสของเล่นที่มีพื้นผิวและวัสดุแตกต่างกัน เน้นประสาทสัมผัสด้านรูปร่าง สี และเสียงของของเล่นนั้นๆ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ความแตกต่างและการเชื่อมโยงของวิธีการเล่น ที่ช่วยเพิ่มให้กระแสประสาทของสมองเชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็วขึ้น
เมื่อสมองเริ่มทำงานสัมพันธ์กันจะสามารถกะระยะลึกตื้นได้ ซึ่งจะกลายเป็นพัฒนาการสำคัญที่จะช่วยให้เขาเอื้อมหยิบของได้แม่นยำขึ้น สามารถย้ายของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้ หรือแม้แต่การให้ลูกน้อยส่องกระจก เขาจะไม่คิดว่าเด็กน้อยที่อยู่ข้างในกระจกนั้นเป็นตัวเขา แต่ถ้าเห็นภาพคุณแม่ด้วย ลูกจะหันมามองและเริ่มเข้าใจว่าคุณแม่ที่อุ้มเขาอยู่กับคุณแม่ในกระจกคือคน ๆ เดียวกัน
พัฒนาการทางสมองของทารก 4 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- เรียนรู้กิจวัตรจากการมองเห็นและได้ยิน
- มองหาและแยกแยะแหล่งกำเนิดเสียงได้
- ชอบออกไปข้างนอกเพื่อมองสิ่งต่างๆ อย่างสนใจ
- ลูกจะเริ่มเลียนแบบสีหน้าและเสียงจากสิ่งที่เขาได้ยินหรือได้เห็นบ่อยๆ


พัฒนาการเด็กอายุ 5 เดือน เริ่มเด่นชัดในหลาย ๆ ด้าน พ่อแม่จะต้องส่งเสริมพัฒนาการทารกวัย 5 เดือนอย่างไร เรามีคำแนะนำค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 5 เดือน พัฒนาการทารก 5 เดือน ลูกโตแค่ไหนและควรส่งเสริมอย่างไร
เดือนที่ 5 เริ่มตั้งตนเป็นนักสำรวจที่สามารถใช้ร่างกายพลิกคว่ำและคืบได้บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทันใจเจ้าหนูนัก คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยจัดท่าทางให้เจ้าหนูรวมทั้งช่วยออกกำลังกายกล้ามเนื้อต่างๆ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในการคืบคลานต่อไปด้วย
พัฒนาการทางร่างกายทารก 5 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
แม้ว่าลูกจะยังคลานไม่ได้แต่ทารกวัย 5 เดือนจะชอบจะเรียนรู้โลกภายนอกด้วยการสังเกตรอบๆ ตัว ด้วยการผงกศีรษะ ดันตัวขึ้นมามอง รวมทั้งหันคอมองตามได้อย่างแข็งแรง เวลาจ้องมองสิ่งต่างๆ ลูกจะมองอย่างมีจุดหมายมากยิ่งขึ้น ต่างจากการมองอย่างลอยๆ เมื่อ 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตอนกลางวันที่ลูกจะเริ่มไม่ยอมนอนสักเท่าไร เหมือนอยากจะเล่นอย่างเดียว แต่ในตอนกลางคืนนั้นก็จะหลับยาวขึ้น และตื่นขึ้นประมาณ 2 ครั้งเท่านั้น
พัฒนาการทางร่างกายของทารก 5 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- นอนคว่ำ ยกศีรษะ ยันหน้าอกได้สูงขึ้น
- นอนคว่ำทำท่าร่อนบินและเหมือนกำลังจะคืบ
- นอนหงายยกศีรษะเท่าไหล่ได้
- ชอบยกนิ้วเท้าขึ้นมาดูดอม
- สามารถดึงเจ้าหนูยืนขึ้นได้ และชอบขย่มตัวด้วย
- นั่งพิงได้นาน 30 นาที หลังและศีรษะตั้งตรง
- นั่งจับคว้าของเล่นได้
- หยิบของด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ได้
- ถ่ายของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจทารก 5 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
เด็กวัย 5 เดือนกำลังจะพัฒนาการกล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวของเขาด้วยการคืบและคลาน ซึ่งทำให้บางครั้งเจ้าหนูหงุดหงุดใจเพราะร่างกายยังเคลื่อนไหวได้ไม่เร็วเท่าใจเขาคิด คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกออกกำลังกล้ามเนื้อหรือจัดท่าทางให้ถูกต้องและเหมาะสมในการคลานต่อไป
การส่งเสริมอารมณ์ของวัยนี้ ลูกจะสามารถแยกแยะเสียงได้มากขึ้น ดนตรีและเสียงเพลงก็เป็นส่วนหนึ่งที่เขาจะรู้สึกเพลิดเพลินไปกับมันได้ เจ้าหนูจะอินอารมณ์ไปกับเพลงสนุกๆ เข้าใจอารมณ์ของบทเพลง และสนใจของเล่นที่มีเสียงที่ช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้กับเขาได้ ร่วมทั้งการเล่นของคุณพ่อคุณแม่และคนใกล้ชิด ที่จะช่วยให้เขามีอารมณ์ที่มั่นคง
พัฒนาการทางภาษาทารก 5 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ด้วยสายตาที่เขามองคุณพ่อคุณแม่ได้ละเอียดมากขึ้น ทุกครั้งที่คุณพูดลูกจะคอยสังเกตริมฝีปาก และเลียนแบบตามอยู่เรื่อยๆ ดังนั้นหากจะฝึกพัฒนาการด้านการพูดและภาษาให้ลูก คุณควรพูดกับเขาบ่อยๆ คุยเล่นเหมือนกับเขาเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง โดยอาจจะคุยเรื่องกิจวัตรประจำวันทั่วไปให้ลูกได้เคยชินกับคำพูดต่างๆ ด้วย และแม้คุณแม่จะไม่ได้ตั้งใจพูดด้วยลูกก็จะแอบฟังเหมือนกัน
คุณพ่อคุณแม่ควรนำเสียงที่มีความหลากหลายมาให้ลูกได้ฟังด้วย เช่น เสียงเพลง เสียงนกร้อง เสียงโทรศัพท์เพื่อให้ลูกได้รับรู้เสียงต่างๆ ด้วย จะได้มีพัฒนาการด้านการออกเสียงและภาษาดีขึ้น เพราะลูกได้เลียนแบบนั่นเอง ในมุมกลับกันหากคุณพ่อคุณแม่เป็นใบ้หรือหูหนวก ก็จะทำให้ลูกเมินเฉยต่อการพูดและภาษา รวมทั้งจะทำให้มีสำเนียงที่แปลกประหลาดประหลาดออกไป
พัฒนาการทางภาษาของทารก 5 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ออกเสียงสระต่างๆ ได้ บางครั้งมีเสียง บ. ม. ผ่านออกมาจากริมฝีปากด้วย
- จ้องมองปากคน ขยับปากพูดตาม
- ส่งเสียงเมื่อได้ยินคนอื่นพูด
- เข้าใจชื่อเฉพาะและจดจำชื่อของสิ่งของ
- มีปฏิกิริยาตอบรับเมื่อคนพูด เช่น มองหน้า ยิ้มรับ
พัฒนาการทางสังคมทารกวัย 5 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะมองคนที่เข้ามาแวดล้อมตนเองอย่างมีความหมาย รวมทั้งสามารถแสดงอารมณ์กับเขาได้ด้วย ไม่ว่าจะทำท่ายิ้มแย้ม ทำสีหน้าวอนขอเมื่อเขามีของเล่นที่ตนเองอยากได้ หรือแม้แต่การแสดงความไม่พอใจเมื่อถูกคนอื่นแกล้ง พรากของเล่นชิ้นโปรดของตัวเขาไป
พัฒนาการทางสังคมของทารก 5 เดือนที่เด่นชัดได้แก่
- แสดงความกลัว กังวล และความโกรธได้
- ใช้ร่างกายสื่อสารกับคนอื่นมากขึ้น เช่น ชูแขนเพื่อให้อุ้ม
- ยิ้มและส่งเสียงเมื่อเห็นเงาในกระจกหรือเห็นคนเดินผ่าน
- ส่งเสียงขัดจังหวะเมื่อมีคนคุยกันหรือเดินผ่าน
- แสดงปฏิกิริยาต่อต้านเมื่อเห็นคนอื่นหยิบของเล่นของตนเองไป
พัฒนาการทางสมองทารกวัย 5 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
เด็กกำลังเรียนรู้และเข้าใจตนเองควบคู่ไปกับการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้าง เด็กจะเริ่มเล่นและเริ่มทดลองและสังเกตปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นใกล้ๆ ตัว คุณจะรู้สึกว่าลูกมีนิสัยการเรียนรู้อย่างเป็นตัวเองมากขึ้น จนไม่ยอมนอนเลยทีเดียว และเด็กในวัยนี้เองที่สามารถเชื่อมโยงสิ่งของในรูปแบบ การที่มีอยู่และหายไปได้ เขาจะมองหาของที่หายไป
พัฒนาการทางสองของทารก 5 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- แยกพ่อแม่จากคนแปลกหน้าได้แล้ว
- สายตากับมือทำงานประสานกันได้ด้วยดี
- จ้องสิ่งของเฉพาะบางส่วน ไม่มองภาพรวมของสิ่งของทั้งหมด
- ถือของชิ้นหนึ่ง แต่เมื่อเห็นชิ้นใหม่ก็ทิ้งของในมือเพื่อไปหยิบอีกอัน
- สนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบข้างแบบซ้ำๆ กัน
- สามารถจดจำสิ่งของคล้ายๆ กันได้
- เลียบแบบการเคลื่อนไหวและเสียงบางอย่างได้
- ชอบจับ ถือ เขย่า และชิมสิ่งของ
- ชอบมองไปรอบๆ เมื่ออยู่แปลกที่

ทารก 6 เดือนมีพัฒนาการเด็กอย่างไร พ่อแม่ต้องรู้และส่งเสริมพัฒนาการทารก 6 เดือนอย่างไร ลองมาเช็กกันตรงนี้จะได้ดูแลลูกได้อย่างถูกต้องค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 6 เดือน พัฒนาการทารก 6 เดือน ลูกโตแค่ไหน พ่อแม่ต้องส่งเสริมอย่างไร
พัฒนาการทางร่างกายทารก 6 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเจ้าหนูวัย 6 เดือนคือ การนั่งได้นานยิ่งขึ้น โดยมีสิ่งของให้พิงบ้าง หรือบางครั้งไม่มีของพิงกล้ามเนื้อหลังก็สามารถพยุงตัวให้นั่งคงที่ได้แล้ว เว้นแต่ว่าเมื่อเอื้อมมือหยิบของ เขาจะเอนเอียงจนต้องใช้มืออีกข้างพยุงตัวบ้าง ที่น่าดีใจไปกว่านั้นคือการเริ่มหัดคืบของเขา โดยเขาจะยกขากระดกเพื่อถีบตัวไปข้างหน้า แต่บางครั้งก็เคลื่อนผิดทิศไปด้านหลังแทน นอกจากนั้นเขาชอบให้คุณพ่อคุณแม่จับตัวพยุงเดินเพื่อจะได้เห็นโลกใบใหม่ในมุมมองที่เปลี่ยนไป
พัฒนาการทางร่างกายของลูกจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจลูกมากขึ้นว่าลูกนั้นมีลักษณะนิสัยชอบหรือไม่ชอบอะไร เช่น เด็กบางคนจะชอบเคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่บางคนกลับชอบสนใจของเล่นในมือเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น ดังนั้นการฝึกพัฒนาการของตนเองจะเป็นลักษณะเฉพาะและความถนัดของแต่ละคน
ฟันซี่แรกเริ่มขึ้นแล้ว เจ้าหนูจะมีอาการเข็ดฟันและคันเหงือกบ้าง คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องหายางกัดสำหรับเด็กหรือแตงกวาชิ้นเล็ก ๆ ไว้ให้ลูกขบเล่น เพื่อกระตุ้นการขึ้นของฟันได้ดีขึ้นด้วย และสำหรับคุณแม่ที่ยังให้นมลูกอยู่ เมื่อลูกฟันขึ้นแล้วลูกอาจจะขบกัดหัวนมทำให้เกิดอาการเจ็บปวด คุณแม่สามารถใช้ขวดนมแทนโดยใช้ท่าทางการอุ้มเช่นเดียวกับการให้นมแม่
พัฒนาการทางร่างกายของทารก 6 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- หันหน้าเอี้ยวตัวไปมาได้ดี
- พลิกคว่ำได้คล่องแคล่ว อาจพลิกคว่ำมาเป็นท่าทางกึ่งนั่งได้
- คืบไปข้างหน้าหรือข้างหลัง
- ทรงตัวได้ดีแต่ต้องมีสิ่งช่วยพยุง เพราะอาจจะหน้าคว่ำหรือหงายท้องได้
- ถือขวดนมเองได้
- จับของเล่นและถ่ายของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้
- เอื้อมมือหยิบของทันทีที่อยากได้
- ดื่มนมจากถ้วยได้
- ใช้มือแย่งช้อนเวลาป้อนอาหารเสริมให้ลูก
- นอนหลับสนิทตลอดคืน เฉลี่ยนอนวันละประมาณ 12 ชั่วโมง
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจทารก 6 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
อารมณ์ดี ๆ ของลูกมักมาจากการเล่นที่บ้างครั้งแม้ว่าการเล่นนั้นดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ลูกก็สามารถยิ้มแย้มและเอิ๊กอ๊ากจนน้ำลายไหลได้ บางทีเจ้าหนูก็ร้องไห้อยู่แท้ๆ แต่เมื่อเจอสิ่งที่น่าสนใจเขาก็สามารถพลิกกลับมาหัวเราะได้ทันที สำหรับเกมที่สามารถทำให้เจ้าหนูอารมณ์ดีได้ง่ายๆ คือ เกมจ๊ะเอ๋ ปิดหน้าเราด้วยมือหรือผ้าแล้วเล่นจ๊ะเอ๋กับเขา ลูกจะรู้สึกตื่นเต้นและหัวเราะจนเรามองเห็นเหงือกเกือบทั้งหมดเลย
ร่างกายของลูกก็มีเรื่องเกี่ยวพันกับอารมณ์ของเจ้าหนูได้เหมือนกัน เด็กที่อ้วนจะมีผลทำให้เฉื่อยชา อึดอัดเวลาเคลื่อนไหวทำให้พัฒนาการทางร่างกายพัฒนาไปได้น้อย ความสนุกสนานและการเรียนรู้โลกกว้างก็น้อยตามไปด้วย
พัฒนาการทางภาษาของทารกวัย 6 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
เสียงของคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการฝึกภาษาให้ลูก แม้ว่าลูกจะฟังดนตรีอยู่แต่เมื่อได้ยินเสียงคุณแม่ เขาก็จะหยุดและเพ่งความสนใจมาที่แม่ทันที และตั้งอกตั้งใจฟังสิ่งที่คุณแม่พูดราวกับรู้เรื่องทั้งหมด และบางครั้งอาจจะดต้ตอบด้วยน้ำเสียงอ้อแอ้กลับด้วย หรือมักจะเรียกคุณด้วยน้ำเสียงที่อ้อนแม้ว่าตนเองจะไม่ได้ต้องการอะไรก็ตาม
พัฒนาการทางภาษาของทารก 6 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ส่งเสียงเป็นพยัญชนะได้มากขึ้น
- ควบคุมเสียงได้ดีขึ้น แต่ว่ายังไม่เป็นภาษา
- ชอบส่งเสียงคุย และส่งเสียงจ้อตอบเสียงที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเสียงผู้หญิง
- ส่งเสียงบอกอารมณ์ต่างๆ ของตัวเอง
พัฒนาการทางสังคมทารก 6 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกได้เรียนรู้ว่าจะมีปฏิกิริยาตอบกลับจากสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง มีการปักใจในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวด้วยการมองสังเกต อดทนทดลองเล่นไปเรื่อยๆ เผื่อว่าจะมีสิ่งใดแปลกใหม่สะท้อนกลับมา คุณพ่อคุณแม่บางคนเริ่มให้ลูกนั่งรถเข็นเดินเล่นในระแวกบ้าน ก็จะทำให้เขาพบเจอลุงป้าน้าอามากมาย ที่สำคัญเขาจะเรียนรู้ความแตกต่างของแต่ละบุคคลได้
พัฒนาการทางสังคมของทารก 6 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ยิ้มให้กับเงาตนเองในกระจก สามารถแยกตัวเองกับกระจกเงาได้
- พยายามเลียนแบบการแสดงอารมณ์ทางสีหน้า
- หันหน้ามามองเมื่อได้ยินคนเรียกชื่อตัวเอง
- ยิ้มและเอื้อมไปจับเด็กแปลกหน้า
- ร้องเรียกพ่อแม่เพื่อขอความช่วยเหลือ
- ชอบเล่นกับคนอื่น โดยเฉพาะเมื่อมีเกม
พัฒนาการทางสมองของทารก 6 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะเข้าใจหน้าที่ของของเล่นและของใช้ต่างๆ ได้อย่างดี เรียนรู้และเชื่อมโยงกับกิจกรรมประจำวันได้อย่างรวดเร็ว ลูกจะรับรู้กิจวัตรประจำวันและเรียงลำดับได้อย่างแม่นยำ ส่วนด้านการทำงานของระบบประสาทจะมีความแม่นยำขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการหยิบจับ การเคลื่อนไหว รวมทั้งการเรียนรู้ที่เริ่มเลียนแบบกิริยาท่าทางรวมทั้งภาษาที่ได้ยินอยู่เป็นประจำด้วย
พัฒนาการทางสมองของทารก 6 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- รู้ความสัมพันธ์ระหว่างมือและของที่อยู่ในมือ
- เมื่อถือของอยู่ จะใช้อีกมือหยิบของเล่น และมองของชิ้นที่ 3
- ระบบประสาทสัมพันธ์กันมากขึ้น คว้าสิ่งของด้วยความแม่นยำ ไม่มีกระตุก หรือแกว่งไปมา
- ฮึมฮัมตามเพลง หรือหยุดร้องเมื่อได้ยินเสียงเพลง

พัฒนาการทารก 8 เดือน ลูกวัย 8 เดือนของแม่โตมากแค่ไหน พัฒนาการเด็กวัย 8 เดือนทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสมองของเด็กวัยนี้เป็นอย่างไร มาเช็กพัฒนาการและวิธีส่งเสริมกันค่ะ
พัฒนาการเด็กวัย 8 เดือน พัฒนาการทารก 8 เดือน เช็กพัฒนาการพร้อมวิธีส่งเสริมอย่างถูกต้อง
พัฒนาการทางร่างกายทารก 8 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
วัย 8 เดือนนี้ลูกจะต้องล้มเป็นตุ๊กตาล้มลุกอยู่บ่อยครั้ง เพราะว่าสรีระของลูกนั้นศีรษะยังมีความใหญ่กว่าร่างกาย ทำให้เวลาลุกขึ้นยืนหรือนั่งโดยไม่มีอะไรพิง เด็กจะหงายหรือคว่ำง่ายๆ จวบจนที่กล้ามเนื้อต่างๆ เริ่มพัฒนา ทำให้อวัยวะทุกส่วนมีความแข็งแรงขึ้น แม้จะล้มไปบ้างแต่เขาก็จะเรียนรู้และฝึกฝนทักษะกล้ามเนื้อต่างๆ ด้วย อย่างไรก็ตามการยืนได้ด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ลูกตื่นเต้นมาก และอยากลองอยู่ตลอดเวลา จนทำให้คิดว่าลูกอยู่ไม่สุขเอาเสียเลย
คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมเรื่องพื้นเพื่อป้องกันการล้มของลูก รวมทั้งนำเฟอร์นิเจอร์ที่มีล้อออกไป เพราะว่าลูกอาจจะทำให้ลูกเหนี่ยวจนเกิดอุบัติเหตุได้ ลูกสามารถควบคุมกล้ามเนื้อนิ้วมือได้ดีขึ้น ด้วยการทดลองหยิบ ขว้าง ปา ของลูกเอง เขาจะเล่นสนุกอย่างนี้ได้ทั้งวัน พร้อมกับสังเกตการใช้งานมือของตนเองไปพร้อมๆ กันด้วย
พัฒนาการทางร่างกายของทารก 8 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- คลานได้ เคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยวิธีถัดก้น
- ยืนเกาะเครื่องเรือนและเอื้อมตัวไปพร้อมกับก้าวขาเพื่อทรงตัว
- เกาะเครื่องเรือนและดันตัวยืนขึ้น แต่ต้องใช้คนช่วยจึงจะลงจากท่ายืนได้
- เมื่อจับยืนจะยื่นขาข้างหนึ่งออกไปข้างหน้า นั่งหลังตรงโดยลำพังได้นาน
- ขณะนั่งขาข้างหนึ่งจะเหยียดออก อีกข้างจะงอในท่าพัก
- ลุกขึ้นนั่งได้เองจากการยันแขนขึ้นหรือจากท่าคลาน
- พยายามหยิบลูกปัดเล็กๆ หรือเชือก
- ถือของเล่นเขย่าได้นานอย่างน้อย 3 นาที ถือขวดนมเองได้
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจทารก 8 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
วัยนี้จะเริ่มมีความกลัวเข้ามาครอบงำ ซึ่งแสดงว่าลูกเริ่มมีการนึกภาพในใจมากขึ้น ซึ่งแสดงถึงสติปัญญาและพลังแห่งจินตนาการได้อย่างดี แต่ว่าเวลาที่ลูกกลัวและติดแม่นั้นคุณแม่ไม่ควรทำโทษด้วยการตี แต่ควรสร้างความมั่นใจด้วยน้ำเสียงที่เบาแต่หนักแน่นว่า “เดี๋ยวแม่จะกลับมาตอนเย็น” และต้องรักษาสัญญานั้นเพราะลูกจะจดจำ การรักษาสัญญาเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นคงทางอารมณ์อีกด้วย
หากครอบครัวจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น แม่จะต้องกลับไปทำงาน ควรเตรียมตัวให้มีการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย เพื่อลดความกังวลและความกลัวของลูกได้
พัฒนาการทางภาษาทารก 8 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะพูดคำง่าย ๆ ซ้ำไปซ้ำมา บางครั้งก็ตะโกนแผดเสียงออกมาเมื่อหัวเราะดีใจ เลียนแบบคนที่อยู่ใกล้คิดและเรียนรู้เข้าใจคำศัพท์ได้มากขึ้น
พัฒนาการทางภาษาของทารก 8 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ส่งเสียงเลียนแบบต่าง ๆ
- บางครั้งก็ส่งเสียงพูดคุย แม้อยู่คนเดียว ส่งเสียงดังเหมือนตะโกน
- จีบปากจีบคอเริ่มเคลื่อนไหวกราม
- ใช้คำซ้ำๆ อย่างเช่น มามา จิ๊บจิ๊บ
- จะหันหน้าหรือหันตัวเมื่อได้ยินเสียงคุ้นหู
พัฒนาการทางสังคมทารก 8 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าลูกเป็นเด็กน่ารักเข้ากับคนง่าย แต่เด็กวัยนี้จะระแวงคนแปลกหน้าและร้องไห้โยเยเอาง่ายๆ คุณแม่อาจจะต้องบอกเพื่อนหรือญาติผู้ใหญ่ว่าอย่าเพิ่งพุ่งเข้ามาหาเด็กตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน แต่ควรทำความคุ้นเคย พูดคุยด้วย และรอให้เด็กเป็นผู้เข้าหาเองดีกว่า
พัฒนาการทางสังคมของทารก 8 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- ตีเรียก ยิ้มให้ และหอมภาพในกระจก
- กลัวคนแปลกหน้า
- กลัวการแยกจาก ติดแม่
- ตะโกนหรือทำเสียงดังเรียกร้องความสนใจ
- สนใจแต่การเล่นของเล่น ผลักและปัดสิ่งที่ไม่ต้องการ
พัฒนาการทางสมองทารก 8 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
สมองของลูกมีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยคุณจะมองเห็นได้จากการเล่นที่ลูกจะชื่นชอบการเล่นเชิงปริมาณ เช่น ใส่ของชิ้นหนึ่งในกระป๋องแล้วหยิบออกมา หรือว่าใส่ของลงไปในกระป๋องเรื่อยๆ อีกทั้งลูกจะคอยสังเกตสิ่งแวดล้อมด้วยการนำตนเองเข้าไปสัมผัสมากขึ้น เช่น การดึงเครื่องเรือนเพื่อยันตัวเองขึ้นมา เด็กจะมีการลองก่อนแล้วว่าเครื่องเรือนนั้นมีความมั่นคงแค่ไหน หรือว่าการลองตบโต๊ะหรือเคาะสิ่งของเพื่อให้เสียงดัง ชอบทำซ้ำไปซ้ำมาจนคุณพ่อคุณแม่รำคาญด้วย
นอกจากนั้นลูกยังชอบมองภาพกลับหัว เชื่อว่าเป็นเพราะเขาติดการมองภาพแบบนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารกตัวเล็กๆ ที่ชอบนอนหงายและมองแต่ภาพกลับหัวนั่นเอง
พัฒนาการทางสมองของทารก 8 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- สำรวจสิ่งของ ดูภายนอกภายใน กว้างยาวลึก
- มองมือตนเองเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น หยิบหรือโยนของสำรวจภาชนะต่างๆ ด้วยการนำของใส่เข้าออก
- จะค้นหาของที่ซ่อนเอาไว้ในที่ง่ายๆ ได้ อย่างเช่น หลังม่าน
- เลียนแบบกิริยท่าทางของคน มีลักษณะการเรียนรู้เฉพาะตน
- ชอบการเรียนรู้
- ชอบเล่นน้ำ
- จดจำเวลาได้จากกิจวัตรประจำวันที่ทำสม่ำเสมอ


ลูกวัย 9 เดือนมีพัฒนาการอย่างไร ก่อนจะส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้อย่างถูกต้อง คุณพ่อคุณแม่มาเช็กกันก่อนสักนิดว่าพัฒนาการเด็กวัย 9 เดือนของเราโตแค่ไหนแล้ว
พัฒนาการเด็กวัย 9 เดือน พัฒนาการทารก 9 เดือน พร้อมวิธีส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
พัฒนาการทางร่างกายทารก 9 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกเริ่มคลานมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เวลานี้คือเวลาที่ลูกจะเริ่มตั้งไข่และพร้อมที่จะยืนได้เพียงลำพัง แต่การก้าวเดินยังไม่มั่นคงนัก โดยมากจะเป็นการยืนนิ่งๆ ย่อตัว และนั่งลงมากกว่า ลูกจะมีความสุขมากที่ตัวเองยืนได้แล้ว และนอกเหนือจากการยืนลูกจะชอบการเหนี่ยวและการดึงเพื่อเป็นหลักให้ตนเอง ดังนั้นจึงเป็นช่วงพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยเฉพาะบันได ตู้ และประตู
พัฒนาการทางร่างกายของทารก 9 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- คลานหมุนไปรอบๆ ได้ หรืออาจคลานขึ้นบันไดได้
- คลานโดยแขนขาเหยียดตรงได้ ถือของเล่นด้วยมือหนึ่งขณะคลานไปด้วยได้ จับให้ยืนได้ บางคนยืนค้างได้โดยลำพังครู่หนึ่งได้
- ลุกยืนได้โดยไม่ต้องเกาะเครื่องเรือน นั่งเก้าอี้ได้ดี นั่งหลังตรงโดยไม่ล้ม นั่งลงจากท่ายืนได้ สนุกกับการใช้นิ้วชี้ แคะ และแหย่รู
- ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งหยิบกระดุมหรือเชือกได้
- ต่อบล๊อกได้ 2 ชั้น
- ถือขนมปังหรือผลไม้เข้าปากได้เอง
- ถือขวดนมได้เองและดื่มนมจากถ้วยที่มีหูจับได้
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจ ทารก 9 เดือนและการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
พัฒนาการของเด็กวัย 9 เดือนนี้จะแปลกไปสักนิด เพราะลูกจะเริ่มกลัวโดยไม่มีเหตุผล หรือจากที่เคยไม่กลัวกลับกลายเป็นกลัว ทำให้คุณพ่อคุณแม่ทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน โดยเฉพาะการกลัวความสูงที่ค่อนข้างขัดแย้งกัน เพราะว่าเจ้าหนูชอบปีน แต่ก็จะร้องเพราะตนเองกลัวความสูง หรือกลัวสิ่งของที่เคลื่อนไหวไปมา หากลูกมีอาการกลัวคุณควรอยู่ใกล้ๆ กอดเขาแน่นๆ และบอกว่ามันไม่มีอะไร อาจจะชวนลูกลองจับสัมผัสสิ่งที่ลูกกลัว เพื่อให้ลูกรู้ว่ามันไม่มีอะไรจะสามารถทำอะไรเข้าได้ ค่อยๆ ให้ลูกเอาชนะความกลัวด้วยตัวเขาเอง คุณพ่อคุณแม่จะต้องแยกแยะให้ดีๆ เพราะบางครั้งการที่ลูกร้องไห้อาจจะไม่ได้หมายถึงความกลัวเสมอไป อาจจะเป็นเพราะความตกใจ หรือเพราะความไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรจะไขปัญหาด้วยการกอดและปลอบประโลม พร้อมหาคำตอบไปพร้อมกับเขา แล้วลูกก็จะมีความกลัวลดน้อยลง
วัยนี้ลูกจะมีความมั่นคงทางจิตใจบ้างแล้ว คุณอาจจะสังเกตได้จากการที่ลูกต้องการทำอะไรด้วยตนเอง ทำบางสิ่งซ้ำๆ ต้องการพึ่งตนเองโดยเอาประสบการณ์เก่าเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วย
พัฒนาการทางอารมณ์ จิตใจของทารก 9 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- กลัวความสูง กลัวการอาบน้ำ ทั้งๆ ที่ชอบเล่นน้ำ
- พัฒนาการทางภาษาและการส่งเสริม
- ลูกมีความสามารถในการเรียนรู้ภาษาได้สูงขึ้นมาก ซึ่งการเรียนรู้หลักมาจากการเลียนแบบน้ำเสียงและคำศัพท์ต่างๆ จากคนใกล้ชิด ดังนั้นหากอยากให้ลูกพูดเร็วและพูดชัด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพูดให้ชัดเจน และพูดกับลูกเป็นประโยคสั้นๆ เพื่อให้เขาเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ก็จะช่วยลูกฝึกพัฒนาการด้านภาษาแล้วเช่นกัน
- พัฒนาการทางภาษาของทารกวัย 9 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- จับอารมณ์ตามระดับเสียงของผู้อื่น บอกอารมณ์และความต้องการด้วยการใช้เสียง
- เลียนแบบการส่งเสียงโดยใช้ลิ้นทำเสียง
- เริ่มใช้คำที่มีความหมาย อย่างเช่น ปาปา มาม๊า
- อาจจะพูดได้ 1-2 พยางค์ซ้ำๆ กัน ไม่ สามารถเข้าใจและทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ อย่างเช่น เอาตุ๊กตามาให้หน่อย
พัฒนาการทางสังคมทารก 9 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ด้วยร่างกายที่สามารถขยับเขยื้อนตนเองได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว ลูกน้อยยังชื่นชอบการเข้าสังคม ดังนั้นหากทุกคนตื่นเต้นที่ลูกสามารถตั้งไข่ได้ ส่งเสียงเชียร์เวลาลูกปีน ก็จะทำให้ลูกมีกำลังใจในการฝึกฝนพัฒนาการของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ
พัฒนาการทางสังคมของทารก 9 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
ชอบเป็นคนเด่นในบ้าน ถ้าได้รับเสียงปรบมือหรือคำชมเชยจะทำซ้ำใหม่อีกครั้ง
- เรียนรู้การป้องกันตนเอง และแสดงความเป็นเจ้าของ อย่างเช่น กรณีการถูกแย่งของ มีความอ่อนไหวกับสังคมภายนอก อย่างเช่น ถ้าเห็นเด็กอื่นร้องไห้ก็มักจะร้องไห้ตาม
- ให้ความสำคัญกับอารมณ์และท่าทีผู้อื่น รวมทั้งจะสร้างวิธีเล่นกับคนอื่นขึ้นเอง
พัฒนาการทางสมองทารก 9 เดือน และการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
ลูกจะลำดับความสำคัญและเรียงเหตุการก่อนหลังได้ พร้อมกับเชื่อมโยงการเล่นระหว่างสิ่งของต่างๆ ได้อย่างดีขึ้น สังเกตได้ว่าลูกจะชอบของเล่นที่มีการทำงานของมิติ อย่างเช่น บล๊อกไม้ เล่นซ่อนของ หรือแม้แต่การหยิบของลงภาชนะที่ ลูกจะเพลิดเพลินยิ่งนัก
นอกจากนี้สมองส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum) ยังมีการพัฒนามากขึ้น โดยสมองส่วนนี้มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาสมดุล การทรงตัว และช่วยให้กล้ามเนื้อของเด็กทำงานสัมพันธ์กันในการควบคุมการเคลื่อนไหว สมองส่วนนี้เองที่เมื่อพัฒนาไปด้วยดีจะช่วยให้เด็กสามารถเปลี่ยนจากคว่ำไป เป็นคลาน และจากคลานไปเป็นเดินได้ และประสานการเคลื่อนไหวอย่างอัตโนมัติ รวมถึงไขว่คว้าสิ่งของต่างๆ ได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
พัฒนาการทางสมองของทารก 9 เดือนที่เด่นชัด ได้แก่
- สนใจมิติของสิ่งของ หากหยิบของชิ้นเล็กจะใช้ 2 นิ้วคือนิ้วชี้และนิ้วโป้ง แต่ถ้าของชิ้นนั้นหนักจะใช้สองมือยก
- หาของที่คนแอบเอาไปซ่อนไว้
- เบื่อการเล่นหรือกระตุ้นซ้ำซาก
- จำเกมที่เคยเล่นได้ จะทิ้งของสิ่งหนึ่งหรือใช้ปากคาบแทน เพื่อหยิบของชิ้นที่ 3


ถึงลูกทารกยังพูดกับแม่ไม่ได้ แต่ลูกทารกสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ด้วยสีหน้า ท่าทาง อาการบางอย่างว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เรามาอ่านสีหน้าอาการของลูกทารกกันค่ะ
มาอ่านใจลูกกันค่ะ! 6 อาการ สีหน้า ท่าทางของทารกสื่ออะไรถึงคุณแม่บ้าง
- หนูกำลังมีความสุข
ทารกจะยิ้มหวานกว้างโชว์เหงือกเลยค่ะ แถมส่งเสียงหัวเราะ อ้อแอ้ๆ ยิ่งถ้าคุณแม่ชวนเจ้าตัวเล็กคุยล่ะก็ จะตั้งใจฟังและบางครั้งจะตอบโต้ด้วยเสียงอ้อแอ้ๆ เห็นลูกมีความสุขแม่ก็มีความสุขนะคะ
- นนูสบายอารมณ์
สีหน้านิ่งสงบ อมยิ้มนิดๆ หนูกำลังเคลิ้ม เปิดเพลงเบาๆ กล่อมลูก จังหวะนี้นอนหลับง่ายเลยค่ะ
- หนูรู้สึกไม่สบายตัว
ลูกจะหรี่ตาเล็กลง ขมวดคิ้ว จ้องตาเขม็ง ถ้าคิ้วเริ่มแดงใกล้จะร้องไห้แล้วหล่ะค่ะ
- หนูเหนื่อยจัง อยากพักแล้ว
สีหน้าเหม่อลอย หันไปทางอื่นเมื่อมีคนเล่นด้วย
- หนูเครียด กังวล หรือตกใจ
มือเกร็ง ตาเบิกกว้าง ดวงตาไม่สดใส ย่นหน้าผากเล็กน้อย ริมฝีปากปิดแน่น
- หนูเหงาและเศร้า
ริมฝีปากปิด ลืมตา หัวคิ้วมุ่นเข้าหากัน หรือถ้าคิ้วเริ่มแดงใกล้จะร้องไห้แล้วหล่ะค่ะ
เพียงแค่คุณแม่รู้ก่อน อ่านออกว่าสีหน้าเหล่านี้ของลูกกำลังบอกอะไร ก็จะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกได้ตรงจุดที่สุดค่ะ ลูกมีความสุขแม่สบายใจ ชีวิตแฮปปี้ค่ะ

รถหัดเดิน ไม่ใช่รถหัดเดินอีกต่อไป เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้งแล้ว ยังไม่ใช่การส่งเสริมพัฒนาการเด็กเรื่องการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเดินได้อย่างถูกต้องด้วยค่ะ พญ.สินดี จำเริญนุสิต จะมาไขข้อเท็จจริงเรื่องรถหัดเดินไว้ในบทความนี้ค่ะ
รถหัดเดินช่วยลูกทารกเดินได้ไว เดินเก่ง จริงหรือไม่
พัฒนาการเด็กเรื่องการคลาน ยืน เดิน
เด็กจะเริ่มทรงตัวขณะนั่ง ยืน พยุงตัวเองกับกำแพงหรือสิ่งของต่าง ๆ เพื่อดึงตัวเองขึ้นมายืนได้ตอนอายุประมาณ 7-9 เดือนแล้วค่ะ ซึ่งเด็กบางคนอาจจะคลานก็ได้ ไม่ถือว่าผิดปกติ และควรจะเดินได้ภายในอายุ 18 เดือน การกระตุ้นพัฒนาการการเดินของลูกให้เร็วมากขึ้นนั้น ขึ้นกับการที่พ่อแม่ให้โอกาสลูกได้เคลื่อนไหวตามธรรมชาติ ได้ล้มลุกคลุกคลานในพื้นที่ที่ไม่อันตราย ประกอบกับพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของตัวเด็กเอง พื้นอารมณ์ของเด็ก รวมไปถึงโภชนาการที่ถูกต้องค่ะ
กรณีลูกอายุเกิน 12-15 เดือน แล้วแต่ยังไม่ยอมยืนเอง หรือยังไม่พยายามพยุงตัวลุกขึ้นยืนสักที กรณีนี้น่าเป็นห่วงแล้วค่ะ ต้องรีบพาเจ้าตัวเล็กไปหาคุณหมอเพื่อตรวจความผิดปกติของร่างกาย ปรึกษาขอคำแนะนำจากคุณหมอว่าต้องทำอย่างไร เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการสมวัยนะคะ
รถหัดเดินช่วยทำให้ลูกขาแข็งแรงไวจริงไหม
ไม่จริงค่ะ:รถหัดเดินจะเข้าไปรบกวนท่าเดินที่เป็นพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก และเวลาที่ลูกนั่งลงไปบนรถ เท้าทั้งสองข้างจะหย่อนลงพื้น ทำให้สะโพกและหัวเข่าของเด็กได้รับน้ำหนักผิดท่า และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินของเด็ก บางครั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสะโพกได้ในระยะยาว รถหัดเดินสอนให้เด็กไถไปบนพื้นโดยใช้นิ้วเท้า ซึ่งไปสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อขาที่ผิดที่ค่ะ พฤติกรรมเหล่านี้อาจมีผลต่อการทรงตัวและพัฒนาการของข้อต่อและกล้ามเนื้อโดยทั่วไปของเด็ก รวมทั้งสร้างปัญหากับเท้าและข้อเท้าในระยะยาวอีกด้วยค่ะ
รถหัดเดินช่วยให้ลูกเดินเร็วขึ้นจริงไหม
ไม่จริงค่ะ: รายงานการแพทย์ของต่างประเทศบอกว่า การใช้รถหัดเดินไม่ได้มีความเกี่ยวโยงใด ๆ กับการนั่งหรือการยืนของลูกค่ะ รายงานยังพบว่า ร้อยละ 10.8 ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจำจะมีพัฒนาการด้านการเดินได้ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ โดยหากรวมเวลาที่เด็กอยู่รถหัดเดินแต่ละครั้ง เมื่อรวมได้ 24 ชั่วโมงก็เท่ากับว่า เด็กจะหัดเดินช้าออกไปอีก 3 วัน และทำให้หัดยืนช้าออกไปอีกเกือบ 4 วันค่ะ
รถหัดเดินจะประคองให้เด็กอยู่ในท่าตั้ง แต่ไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักการทรงตัว หรือการเริ่มต้นการเคลื่อนไหว เช่น การคืบคลาน การเกาะยืน เป็นต้น ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของการเริ่มเดิน เด็กที่อยู่ในเก้าอี้หัดเดินจะหมดโอกาสได้เรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว และการกะระยะ
สรุปแล้ว รถหัดเดินไม่ได้ทำให้เด็กเดินได้เร็วขึ้นเลย แต่พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวกลับล่าช้าลงด้วย เพราะการเคลื่อนไหวของเด็กขณะที่นั่งในรถหัดเดินนั้นไม่ใช่ลักษณะการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ เด็กไม่ได้เรียนรู้การคืบคลาน การประคองตัวเพื่อยืน และเพื่อก้าวเดิน ทำให้เมื่อเด็กจะหัดเดินจริง ๆ หลังจากตั้งไข่แล้วจะไม่เข้าใจ เพราะตามหลักแล้ว การเดินที่ถูกต้องคือเด็กต้องก้าวเท้าออกก่อน และเอาส้นเท้าลงก่อนปลายเท้าค่ะ
ในต่างประเทศได้มีการห้ามจำหน่ายรถหัดเดิน ส่วนในประเทศไทย สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก รถหัดเดิน เป็นรถพยุงตัว และให้มีคำเตือนว่าเป็นอุปกรณ์ไม่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการการเดิน และผู้ดูแลเด็กต้องอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา ดังนั้น พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงหรือเลิกใช้รถหัดเดิน เพื่อไม่ให้เป็นการขัดขวางพัฒนาการที่ดีของเด็ก ให้เขาได้เติบโตเต็มที่ตามศักยภาพ ภายใต้บรรยากาศที่อบอุ่นและปลอดภัย
รักลูก Community of Tche Experts
พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม
ปานมีหลายแบบค่ะ โดยเฉพาะที่ติดตัวลูกมาตั้งแต่กำเนิด ปานบางแบบก็ไม่ธรรมดา เพราะอาจเป็นอันตรายแก่ลูกทารกได้เหมือนกัน
รู้จัก 5 ปานที่มักเกิดขึ้นกับทารกแรกเกิด และเด็กเล็ก
- ปานดำแต่กำเนิด (Congenital melanocytic nevus)
ลักษณะ : เมื่อแรกเกิดปานชนิดนี้ของเจ้าตัวเล็กอาจจะสีค่อนข้างแดง แต่ผ่านมาไม่กี่เดือน ปานจะเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลที่เข้มขึ้น (แต่ในทารกบางคนอาจเป็นสีดำเข้มหรือน้ำตาลเข้มตั้งแต่แรกเกิด) ขนาดของปานจะโตกว่าไฝธรรมดา อาจมีผิวเรียบหรือนูน ขรุขระ อาจมีขนอยู่บนปานดำด้วย ปานประเภทนี้ไม่มีอันตราย นอกจากในเรื่องความสวยงาม
Concern : หากปานมีขนาดใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์เพราะในอนาคตอาจกลายมะเร็ง
- ปานมองโกเลียน (Mongolian spot)
ลักษณะ : ปานชนิดนี้พบบ่อยมากที่สุดในปานชนิดที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด ลักษณะเป็นผื่นราบสีฟ้าเทา ฟ้าเข้ม หรือเขียว พบบริเวณก้น สะโพก บางครั้งก็อาจพบที่อื่น เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ หนังศีรษะ เป็นต้น แต่ปานมองโกเลียจะค่อยๆ จางหายไปเองเมื่อลูกน้อยโตขึ้น
- ปานสตรอว์เบอรี่ (Strawberry nevus)
ลักษณะ : เป็นปานที่มีลักษณะเป็นตุ่มก้อนนูนสีแดงหรือม่วงเข้ม มักพบบริเวณใบหน้าและลำคอแรกๆ ที่ลูกเกิดจนถึงอายุประมาณ 1 ขวบปานจะโตเร็วมาก หลังจากนั้นสีจะม่วงคล้ำขึ้น และส่วนใหญ่ประมาณ 85% เมื่อลูกประมาณอายุ 7 ปีปานชนิดนี้จะหายเองจหมด เหลือเพียงแผลเป็นจางๆ
Concern : ถึงปานชนิดนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อโต แต่บางครั้งควรระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อ ถ้าเกิดแผล มีเลือดออกอาจติดเชื้อได้ ในกรณีที่ปานมีขนาดใหญ่มาก อาจเสี่ยงต่อการมีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเกิดเกร็ดเลือดต่ำ(เกิดจากปฏิกิริยาเกร็ดเลือดทำลายกันเอง) ซึ่งหากมีภาวะแทรกซ้อนควรรีบพาลูกพบแพทย์
- ปานแดงจากผนังเส้นเลือดผิดปกติ (Capillary malformation)
ลักษณะ : มักพบตั้งแต่แรกเกิด และจะอยู่ไปตลอดไม่จาง มักขึ้นอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปานชนิดนี้จะขยายขึ้นเรื่อยๆ ตามตัวของเด็กที่โตขึ้น รวมทั้งมีสีเข้มขึ้น นูนและขรุขระเพิ่มขึ้นตามอายุ
Concern : หากพบบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาจมาพร้อมกับความผิดปกติของตาและสมองลูก ควรรีบพาลูกพบคุณหมอค่ะ เพื่อตรวจอาการ
- ปานโอตะ (Nevus of Ota)
ลักษณะ : พบในเด็กแรกเกิดและบางรายอาจมาพบเมื่อตอนเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะคล้ายปาน จุดสีน้ำตาลอมเทา น้ำเงินหรือม่วงที่รวมกันเป็นปื้น มักขึ้นบริเวณรอบตาและโหนกแก้มบนใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง แต่จะไม่จางหายไปได้เองเหมือนปานมองโกเลียน ปานโอตะไม่มีอันตรายเพราะจะไม่กลายเป็นมะเร็ง เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถใช้เลเซอร์ในการรักษาได้ค่ะ
ได้รู้จักปานแต่ละชนิดกันไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกต “ปาน” บนตัวลูกน้อยว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง แต่อย่าเป็นกังวลมากเกินไป เพราะ “ปาน” นั้นอาจไม่ได้อันตรายอย่างที่คิดกลัว แต่ก็ไม่ควรละเลย ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนไปของ “ปาน “นั้นด้วย เพื่อความปลอดภัยของลูก
ทารกคอเอียงเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งคอเอียงแต่กำเนิดและคอเอียงจากวิธีเลี้ยง ทารคอเอียงสามารถรักษาและมีวิธีแก้ไขได้ค่ะ
ลูกทารกคอเอียงผิดปกติไหม วิธีแก้และรักษาทารกคอเอียง
สาเหตุทารกคอเอียง
- คอเอียงแต่กำเนิด (Congenital torticollis)
- กล้ามเนื้อคอผิดปกติ (congenital muscular torticollis)
- คอเอียงจากกระดูกสันหลังส่วนคอเจริญผิดปกติตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้เห็นลักษณะคอเอียงตั้งแต่แรกเกิดหรืออาจค่อยๆ เกิดภายหลังคลอดก็ได้
- ตาผิดปกติ เช่นตาเหล่ ทำให้เวลาเด็กมองต้องเอียงคอตามไปด้วย
- คอเอียงภายหลังคลอด (acquired torticollis)
- กล้ามเนื้อคอหดรัดตัว (muscle spasm)
- กระดูกสันหลังคอแตกหรือเคลื่อน
- เลือดคั่งเหนือชั้นดูรา (epidural hematoma)
- เนื้องอกไปกดทับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อคอ
- การอักเสบของหูและการผ่าตัดต่อม adenoid ออก อาจเกิดการเคลื่อนของข้อกระดูกคอ atlantoaxial
การรักษาอาการทารกคอเอียง
- การยืดกล้ามเนื้อข้างคอที่หดสั้น ได้ผลดีเมื่อทำในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้ดูแลควรเรียนรู้วิธีการยืดที่ถูกต้อง จากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
- การผ่าตัด bipolar release เพื่อแก้ปัญหากล้ามเนื้อหดสั้น ถ้ายืดกล้ามเนื้อหดสั้นไม่ได้ผลหลังอายุ 1 ปีควรรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อให้มีสมดุลของศีรษะและใบหน้าดีขึ้น การผ่าตัดมักได้ผลดีพอสมควร อายุที่เหมาะสมที่สุดคือ 1-4 ปี ในผู้ป่วยที่มีอายุมากขึ้นการผ่าตัดอาจได้ผลไม่เต็มที่
- พบจักษุแพทย์เพื่อแก้ไขอาการคอเอียงที่เกิดจากปัญหาทางสายตา เพราะคอเอียงในเด็กอาจเป็นการปรับตัวให้มองเห็นได้ดีกว่าตอนที่อยู่ในท่าปกติ อาการคอเอียงที่เกิดขึ้นแสดงถึงความผิดปกติในการมองเห็นของตาทั้งสองข้าง เด็กที่มีคอเอียงส่วนใหญ่พบความผิดปกติในเรื่องตาเข ตากระตุก
เบื้องต้นอาจพบว่าอาการทารกคอเอียงไม่ได้เกิดจากสาเหตุความผิดปกติของร่างกาย แต่เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่เอง สามารถดูแลลูกได้ดังนี้
- การวางตำแหน่งของล่อเล่นไม่สูงเกินไป ควรวางหรือแขวนให้อยู่ในระดับสายตาและไม่เน้นการล่อเล่นด้วยการวางของเล่นด้านที่น้องคอเอียงค่ะ อาจล่อเล่นได้แต่ไม่บ่อยมากเพื่อป้องกันการใช้กล้ามเนื้อด้านคอที่เอียงมากเกินไปจนคออีกด้านโดนยืดมากและไม่แข็งแรง
- แนะนำให้คุณแม่อุ้มในท่าตะแคงด้านที่น้องคอเอียง แล้วล่อเล่นคล้ายการทำเครื่องบินล่อนขึ้นล่อนลงช้าๆเพื่อฝึกให้กล้ามเนื่อด้านที่เอียงได้ต้านกับ แรงโน้มถ่วงและได้มีการเกร็งกล้ามเนื้อคอด้านที่เอียงเพื่อการออกกำลังกาย
- แนะนำในท่านอนหรือท่าให้นม แนะนำให้เน้นการนอนตะแคงด้านที่คอไม่เอียงค่ะและไม่ให้น้องมีการแหงนหน้ามาก เกินไปค่ะซึ่งกรณีน้องควรนอนตะแคงด้านขวาค่ะเพื่อให้คอด้านซ้ายได้มีการยืด ของกล้ามเนื้อแต่บางครั้งคุณแม่ก็สามารถให้นอนตะแคงซ้ายได้น่ะค่ะแต่ไม่ควรบ่อยมากค่ะ
- การรักษาในขั้นต้นช่วงเด็กมีอายุ 1-2 ปี คือการพยายามช่วยดัดคอเบาๆ การจับเด็กนอนหันศีรษะไปด้านตรงข้าม
- พาลูกไปปรึกษากับแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดใกล้บ้าน เพราะท่าออกกำลังกายบางท่าคุณแม่อาจต้องได้รับคำแนะนำโดยตรงค่ะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับน้องและน้องจะได้รับท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมมากขึ้นค่ะ
ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็กเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก โดยพบได้อย่างน้อย 6 เปอร์เซ็นต์ของทารกแรกเกิด ลักษณะอาการท่อน้ำตาอุดตันโดยทั่วไป เด็กจะมีตาแฉะ น้ำตาไหลมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ร้องไห้
ลูกทารกเป็นท่อน้ำตาตัน ท่อน้ำตาอักเสบ ต้องดูแลอย่างไร
ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็กเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก โดยพบได้อย่างน้อย 6 เปอร์เซ็นต์ของทารกแรกเกิด ลักษณะอาการท่อน้ำตาอุดตันโดยทั่วไป เด็กจะมีตาแฉะ น้ำตาไหลมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ร้องไห้ ซึ่งในตอนแรกอาการตาแฉะจะมีเพียงน้ำตาใส ๆ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะพบว่าเด็กบางคนจะเริ่มมีขี้ตาเป็นสีเขียวมากขึ้น ซึ่งแสดงว่ามีเชื้อโรคเข้าไปและเกิดอาการติดเชื้อ ซึ่งอาการเหล่านี้คุณพ่อหรือคุณแม่จะสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ลูกน้อยอายุ 2-3 สัปดาห์หลังคลอด
สาเหตุของท่อน้ำตาตัน : "พังผืด" ที่มาของการอุดตัน
ก่อนอื่นคงต้องรู้จักลักษณะทางกายภาพของ ทางเดินท่อน้ำตากันก่อน น้ำตาคนเราจะมีการหลั่งออกมาจากต่อมน้ำตาตลอดเวลาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ ดวงตา น้ำตาที่ออกมานี้จะถูกปั๊มเข้าถุงทางเดินน้ำตา โดยการกะพริบตาแล้วน้ำตาก็จะไหลลงท่อน้ำตาซึ่งเปิดเข้าในจมูก(ถ้าสังเกตดูจะ พบว่าเวลาเราหยอดตาแล้วรู้สึกขมๆในคอ)
โดยส่วนใหญ่เด็กทารกที่มีท่อน้ำตาอุดตัน มักเกิดจากมีแผ่นพังผืดปิดบริเวณปลายรูเปิดท่อน้ำตาในจมูก เมื่อมีแผ่นพังผืดปิดที่รูเปิดของท่อน้ำตาในจมูก จะทำให้น้ำตาขังเอ่อเข้าไปในลูกตา และเอ่อออกมาบริเวณดวงตาของเด็กในที่สุด
โดยตามธรรมชาติแล้ว ภาวะท่อน้ำตาอุดตันมักจะมีอาการดีขึ้นเองได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย แต่ก็มีกรณีที่เป็นแล้วไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง อาการที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถหายได้เอง เหล่านี้จะทำให้น้ำตาที่ขังอยู่ในตานาน ๆ มีเชื้อโรคมาเจริญเติบโต เกิดการติดเชื้อบริเวณทางเดินน้ำตา ซึ่งอาจลุกลามต่อไป เข้าไปในเยื่อบุตา และกระจกตา ทำให้เกิดเยื่อบุตาอักเสบและกระจกตาอักเสบได้
อาการของท่อน้ำตาตัน
แม้ลักษณะของภาวะที่เด็กมีน้ำตาขังอยู่ ในตามากจะเป็นสัญญาณบอกถึงอาการของท่อน้ำตาอุดตัน แต่ก็ไม่ใช่อาการบ่งชี้แค่เพียงโรคนี้เท่านั้นนะครับ เพราะการที่เด็กมีน้ำตามากอาจเกิดจากเยื่อบุตาอักเสบ กระจกตามีรอยถลอก กระจกตาอักเสบ มีเศษผงหรือสิ่งแปลกปลอมในตาหรือภาวะต้อหินในเด็กแรกเกิดก็เป็นได้ โดยเฉพาะภาวะต้อหินนี้นับว่าเป็นอาการที่รุนแรงเพราะหากเกิดในเด็กทารก แล้วจะมีผลทำให้ความดันภายในลูกตาสูงมาก เด็กจะมีอาการกระจกตาบวม และมีน้ำตาไหลมาก ซึ่งภาวะดังกล่าวถ้าทิ้งไว้ไม่ทำอะไร อาจตาบอดได้ ฉะนั้นถ้าลูกน้อยมีอาการเคืองตา น้ำตาไหลมาก ควรรีบพามาพบจักษุแพทย์
ยังมีภาวะท่อน้ำตาอุดตันอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะมีการอุดตันบริเวณรูเปิดในจมูกแล้วยังมีการอุดตันของท่อน้ำตา ก่อนเข้าถุงทางเดินน้ำตา ซึ่งภาวะนี้เรียกว่า Mucocele ของถุงน้ำตา มักพบในเด็กแรกเกิด ซึ่งนอกจากจะมีอาการน้ำตามากแล้วยังจะมีก้อนนูนสีออกน้ำเงินบริเวณหัวตาด้าน ข้างจมูก ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์ซึ่งจะให้การรักษาด้วยวิธีนวด บริเวณหัวตาร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะหยอดและป้ายตา ถ้าไม่ดีขึ้นมักต้องใช้แท่งโลหะ(Probe)แทงเพื่อเปิดรูท่อน้ำตา
รักษาอาการท่อน้ำตาตัน ด้วยการนวดบริเวณหัวตา
ส่วนใหญ่แล้วภาวะท่อน้ำตาอุดตันมักมี อาการดีขึ้นเองได้เมื่อทารกอายุได้ประมาณ 1 ปีดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น เพราะฉะนั้นการรักษาโดยทั่วไปจักษุแพทย์มักจะแนะนำให้คุณพ่อหรือคุณแม่นวด บริเวณหัวตา ซึ่งเป็นตำแหน่งของถุงทางเดินน้ำตาเพื่อรักษาบรรเทาอาการท่อน้ำตาตันในเด็ก
การนวดนี้เพื่อเป็นการเพิ่มความดันภายใน ท่อน้ำตาซึ่งจะดันให้แผ่นพังผืดซึ่งปิดบริเวณรูเปิดในจมูกเปิดออก นอกจากการนวดแล้วแพทย์ก็มักจะให้ยาปฏิชีวนะหยอดและป้ายตาด้วย
การนวดบริเวณหัวตาต้อง นวดบ่อยๆ วันหนึ่งทำหลายๆครั้ง ถ้าวิธีการนวดหัวตาร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล จักษุแพทย์จะใช้แท่งโลหะ(Probe)ใส่ไปในท่อน้ำตาเพื่อเปิดท่อน้ำตาที่อุดตัน ให้เปิดออก ซึ่งถ้าไม่ได้ผลและเด็กยังมีอาการอยู่ จักษุแพทย์มักจะลองให้แท่งโลหะขยายท่อน้ำตาซ้ำอีก 2-3 ครั้ง ร่วมกับการหักกระดูกอ่อนในโพรงจมูก ถ้ายังไม่ได้ผลอีก จักษุแพทย์จะต้องใช้ท่อซิลิโคนคาไว้ในท่อน้ำตา หรือใช้บอลลูนใส่ในท่อน้ำตาแล้วขยายท่อน้ำตา ถ้าทุกวิธีที่กล่าวมาไม่ประสบความสำเร็จ มักลงท้ายด้วยการผ่าตัดเปิดท่อทางเดินน้ำตาบริเวณถุงทางเดินน้ำตาให้มีทาง ติดต่อเข้าไปในจมูก เพื่อให้น้ำตาไหลผ่านเข้าจมูกได้
ความจริงแล้วโรคท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก ถึงแม้จะป้องกันไม่ได้แต่สามารถรักษาให้หายได้ และก็ไม่ได้เป็นโรคที่รุนแรงอะไร คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งกังวลไปครับ วิธีการที่จะดูแลก็อย่างที่แนะนำไปแล้ว ซึ่งเบื้องต้นคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถดูแลด้วยตัวเองได้ เพียงแต่สิ่งสำคัญคือควรจะรีบพาลูกมาพบจักษุแพทย์เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำ ที่ถูกต้องถึงวิธีการปฏิบัติโดยเฉพาะการนวดบริเวณหัวตา ไม่ควรไปหัดทำเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเด็ดขาด
แม้โรคนี้จะไม่ร้ายแรงแต่ก็ควรได้รับการปรึกษาจากจักษุแพทย์ เพราะฉะนั้นถ้าเห็นว่าเจ้าตัวเล็กมีน้ำตาเอ่อในดวงตาก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อจะได้วินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมและถูกต้องต่อไป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ลูกมีสุขภาพของดวงตาที่สมบูรณ์
การล้างจมูกลูกทารกรกจะช่วยเคลียร์สิ่งสกปรก ช่วยให้ลูกหายใจได้ดีขึ้นโดยเฉพาะตอนหลับ รวมไปถึงช่วงที่ลูกไม่สบายมีน้ำมูกและขี้มูกมากด้วยค่ะ
วิธีล้างจมูกลูกทารก ลดน้ำมูกขี้มูกอุดตัน ช่วยลูกทารกหายใจสบายขึ้น
ลองนึกถึงตอนเราเป็นหวัดคัดจมูก มีน้ำมูกมาก ๆ ในรูจมูก ผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ สามารถออกแรงสั่งดังปี้ดป๊าดออกมาในกระดาษทิชชูได้ แต่เด็กทารกไม่สามารถทำได้อย่างนั้น เขาต้องอาศัยการดูแลและหวังให้คุณดูดน้ำมูกไปให้พ้นทางเดินหายใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากมากมายอะไรนัก เพราะเรากำลังจะบอกเทคนิควิธีง่าย ๆ ให้คุณไปเคลียร์จมูกน้อย ๆ ของเจ้าหนูกัน
สังเกตการหายใจของลูกทารกเพื่อล้างจมูก
ทารกแรกคลอดนั้นสามารถหายใจทางจมูกได้แล้ว แต่ทว่าเขายังหายใจทางปากไม่เป็น ดังนั้นเมื่อมีการอุดกั้นของน้ำมูกหรือขี้มูกแข็ง ๆ แล้ว ย่อมสร้างความอึดอัดแก่ลูกน้อยยิ่งนัก ซึ่งคุณอาจเคยได้ยินเวลาลูกน้อยหายใจมีเสียงดังฟืดฟาด หรือเสียงหายใจที่แรงขึ้นเช่นเดียวกับจมูกของผู้ใหญ่ค่ะ
เราสามารถสังเกตง่าย ๆ คือ ลูกจะดูดนมได้น้อย ยอมดูดสักครู่แล้วก็จะโยเยตลอดการกินนม เนื่องจากเขาหายใจไม่ออกนั่นเอง และคุณแม่สามารถตรวจเช็กได้ง่าย ด้วยการเอาไฟฉายเล็ก ๆ ส่องเข้าไปดูในรูจมูก เพื่อดูว่ามีน้ำมูกหรือขี้มูกอุดตันหรือไม่ หรือให้คุณแม่เอาสำลีพันปลายไม้หลวม ๆ และยังใกล้ ๆ รูจมูกเพื่อสังเกตการเคลื่อนไหวของสำลี ว่ามีลมหายใจผ่านหรือไม่ หายใจเบาหรือแรงเพียงใด
วิธีทำความสะอาดจมูก ขี้มูกลูกทารก
เมื่อลูกเกิดปัญหา เพียงแค่แคะขี้มูกออกมา เจ้าหนูก็สามารถกินนมนอนหลับเป็นปกติแล้ว โดยมีหลากหลายวิธีให้คุณเลือกและสามารถปรับใช้ได้ทันที
- สำลีพันปลายไม้ ใช้สำลีพันปลายไม้ที่เตรียมขึ้นเอง เนื่องจากปลายไม้ปั่นหูขนาดปกติจะใหญ่เกินไปสำหรับรูจมูกเจ้าหนู ควรใช้ปลายไม้จิ้มฟันแบบไม่มีปลายแหลม พันสำลีให้พอเหมาะเพื่อไม่ให้ไม้ทำลายเยื่อบุจมูกของลูก ฃบีบสำลีให้แนบไม้มากที่สุด และพันให้เกินปลายไม้เล็กน้อยหรือใช้คัตตั้นบัตขนาดเล็ก จุ่มน้ำเกลือเพื่อเช็ดขี้มูกออกมา
- หยดด้วยน้ำเกลือ ให้เจ้าหนูอยู่ในท่านอนหงาย นำหลอดฉีดยาแบบไม่มีเข็ม ดูดน้ำเกลือประมาณ 1-2 ซีซี แล้วค่อย ๆ หยอดในจมูกข้างละ 3-5 หยด เพื่อให้น้ำเกลือชะความเหนียวของน้ำมูกออกมา เสร็จแล้วใช้ลูกยางบีบลมออกก่อน แล้วจ่อบริเวณรูจมูก จากนั้นปล่อยมือให้แรงลมดูดน้ำมูกออกมา จากนั้นบีบล้างน้ำมูกที่อยู่ในลูกยางลงในน้ำ แล้วเริ่มทำซ้ำอีกครั้ง หากลูกมีน้ำมูกบ่อยให้ทำเช้า-เย็น และก่อนนอน เพื่อลดการสะสมของน้ำมูก
- ดูดน้ำมูกด้วยอุปกรณ์เสริม ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันสร้างความสะดวกสบายให้แก่คุณแม่ โดยประดิษฐ์เครื่องดูดน้ำมูกแบบอัตโนมัติ และแบบพ่นน้ำเกลือเข้าไปในรูจมูก ซึ่งน้ำมูกก็จะค่อย ๆ ไหลออกมาเอง ทั้งนี้เครื่องมือทุกชนิดจะต้องใช้ร่วมกับน้ำเกลือ คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกใช้ได้ตามความพอใจ
- ดูดน้ำมูกด้วยปากคุณแม่ วิธีโบราณที่ยังใช้ได้ทุกสมัย คือการใช้ปากของคุณแม่ ดูดน้ำมูกออกจากจมูกอันแสนบางของเจ้าหนูแล้วบ้วนทิ้ง ซึ่งคุณแม่จะสามารถควบคุมความแรงของการดูดได้ แต่ต้องระวังการติดเชื้อต่าง ๆ ด้วย
อุปกรณ์ล้างจมูกลูกทารก
- น้ำเกลือสำหรับล้างจมูกลูกเป็นน้ำเกลือที่ฆ่าเชื้อแล้ว ไม่ใช่เอาน้ำกับเกลือที่มาผสมเองนะคะ น้ำเกลือที่จะเอามาล้างจมูกของลูกนี้ สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งมีทั้งชนิดที่ไว้สำหรับล้างคอนแทกเลนส์และล้างบาดแผล หลากหลายขนาด แนะนำว่าให้ซื้อขนาดเล็กก็เพียงพอแล้ว
- ส่วนลูกยางดูดน้ำมูกก็มีอยู่มากมายตามห้างสรรพสินค้า แผนกเครื่องใช้เด็ก สามารถซื้อได้ตามคุณสมบัติ ที่ระบุไว้ข้างกล่องได้เลย โดยต้องสังเกตที่ช่วงวัย วิธีการเก็บรักษา และวิธีทำความสะอาดด้วย
ข้อควรระวังเมื่อต้องล้างจมูกลูกทารก
คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยชินกับการทำความสะอาดจมูกของตนเอง ด้วยการใช้นิ้วแคะแกะเกา แต่สำหรับจมูกของลูกน้อยแล้ว ไม่แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ใช้นิ้วของตนเองไปแคะ หรือแกะภายในโพรงจมูกของลูก เพราะนอกจากนิ้วคุณจะใหญ่กว่ารูจมูกของลูกมากแล้ว เรายังมีเล็บที่คม โดยอาจจะขีดข่วนเยื่อบุโพรงจมูกของลูกน้อยโดยไม่รู้ตัว
นอกจากนั้น ยังต้องระวังการนำเอาวัสดุช่วยแคะทั้งหลายเข้าไปในรูจมูกลึกเกินไป อาจจะทำให้เจ้าหนูรู้สึกเจ็บ และเกิดบาดแผลขึ้นได้ ซึ่งตามจริงแล้วคุณควรใส่ลึกเข้าไปประมาณ 0.5 เซนติเมตรก็เพียงพอแล้ว
ทารกคลอดก่อนกำหนดต้องการการดูแลเป็นพิเศษ อะไรคือสาเหตุของการคลอดก่อนกำหนดและการดูแลที่ถูกต้อง เรามีคำแนะนำค่ะ
สาเหตุของทารกคลอดก่อนกำหนด และวิธีดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด
การคลอดก่อนกำหนดคืออะไร
ทารกเกิดก่อนกำหนด คือทารกที่เกิดมาในขณะที่อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถสรุปได้แน่ชัดว่าสาเหตุโดยตรงของการคลอดก่อนกำหนดคืออะไร ข้อมูลทางวิชาการพบปัจจัยมากมายที่ร่วมกันเป็นความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจแบ่งกลุ่มดังนี้
สาเหตุคลอดก่อนกำหนด
ปัจจัยจากคุณแม่ที่ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด
- คุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ
- มีรกลอกตัวก่อนกำหนด
- มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
- เชื้อแบคทีเรียบางชนิดที่ชอบไปอาศัยอยู่ในช่องคลอดหรือทวารหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ บางครั้งเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดการอักเสบในช่องคลอด กระตุ้นให้คลอดก่อนกำหนด หรือกระตุ้นให้เกิดถุงน้ำคร่ำแตกแล้วคลอดก่อนกำหนดตามมาได้เหมือนกัน
ความเครียดของคุณแม่อาจเป็นสาเหตุได้หรือไม่ จริง ๆ แล้วมีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้พอสมควร ซึ่งผลสรุปได้เพียงแต่ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยมักพบปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น คุณแม่ที่มีฐานะทางครอบครัวยากจน คุณแม่ที่ทำงานหนัก คุณแม่ที่สูญบุหรี่ หรือแม้กระทั่งติดยาเสพติด แต่ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญระดับชาติคือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แม้จะมีการรณรงค์เรื่องการคุมกำเนิดอย่างแพร่หลาย แต่การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกลับยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เห็นตัวเลขจากข้อมูลสาธารณสุขแล้วน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า ในจำนวนการเกิดทารกมีชีพทั้งประเทศ มีถึงร้อยละ 15 ที่เกิดจากแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี และในทารกกลุ่มนี้ ร้อยละ 14 เป็นทารกเกิดก่อนกำหนด
ปัจจัยจากตัวทารกเอง
- ทารกที่มีความพิการบางอย่าง
- มีโรคทางพันธุกรรมบางชนิดก็อาจเป็นปัจจัยให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
- ทารกบางรายเจริญเติบโตช้าในครรภ์ อาจเป็นเพราะสุขภาพแม่ไม่แข็งแรง โภชนาการไม่ดี หรือรกเสื่อมสภาพ มีโอกาสเกิดก่อนกำหนดได้เช่นกัน ซึ่งอาจเกิดเองหรือเกิดจากการที่แพทย์จำเป็นต้องยุติการคลอดเพื่อช่วยชีวิตคุณแม่หรือชีวิตทารกไว้ก็ได้
ปัจจัยไฮเทคที่ทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด
ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือผลพวงจากการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีการช่วยเหลือทางการแพทย์ในคู่สมรสที่มีบุตรยากที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้อุบัติการณ์การตั้งครรภ์แฝดเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในกระบวนการการผสมเทียมนั้น จำเป็นต้องมีการใส่ตัวอ่อนที่ผสมแล้วเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิง และเพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จสูติแพทย์มักใส่ตัวอ่อนประมาณ 2-4 ฟอง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์ แฝดได้สูงขึ้น เป็นที่ยอมรับกันมานานแล้วว่าการตั้งครรภ์แฝดนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ประมาณมากกว่าครึ่งหนึ่งของหญิงที่ตั้งครรภ์แฝดมักคลอดทารกเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ และมีถึงร้อยละ 13-14 ที่คลอดทารกที่อายุครรภ์น้อยกว่า 32 สัปดาห์
ปัญหาสุขภาพที่พบของทารกคลอดก่อนกำหนด
- ปัญหาทางระบบหายใจ ปัญหาหลักของทารกในสัปดาห์แรกของชีวิต คือเรื่องการหายใจ ยิ่งอายุครรภ์น้อยเท่าใด ทารกก็จะเสี่ยงต่อการหายใจลำบากหลังคลอด และรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ทารกที่เกิดก่อนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์มีโอกาสหายใจลำบากรุนแรงจนส่วนใหญ่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหลังคลอด กว่าจะสมบูรณ์พอที่แพทย์สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจออกได้ บางรายกินเวลาหลายสัปดาห์เลยทีเดียว
- ปัญหาการรักษาสมดุลด้านต่าง ๆ ของร่างกาย ทารกกลุ่มนี้จะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายตนเองได้ดี เปลี่ยนแปลงได้ง่ายมากตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม จึงเห็นกันเสมอ ๆ ว่าทารกต้องอยู่ในตู้อบตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้น้ำตาล เกลือแร่บางอย่างในเลือดมักต่ำจากที่ร่างกายมี เนื่องจากมีเวลาสะสมระหว่างอยู่ในครรภ์คุณแม่ได้น้อย แม้กระทั่งการรักษาสมดุลน้ำก็ไม่ดี ได้สารน้ำมากเกินก็มีปัญหาบวม น้อยเกินก็อาจทำให้ไตล้มเหลว
- ปัญหาระบบหัวใจ ทารกคลอดก่อนกำหนดยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบและทิศทางการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดได้ตั้งแต่ระยะแรก ทำให้หัวใจอาจทำงานหนักกว่าปกติ มีภาวะปอดขึ้น ยิ่งซ้ำเติมให้หายใจลำบากเพิ่มขึ้นอีก ถ้ามีอาการมากอาจต้องให้ยาหรือทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไข ผลกระทบของการไหลเวียนเลือดที่ไม่พอ ก็อาจทำให้อวัยวะอื่นทำงานบกพร่องไปด้วย เช่น ไตทำหน้าที่น้อยลงทางเดินอาหารเคลื่อนไหวหรือดูดซึมอาหารน้อยลง
- ปัญหาทางระบบประสาทใน 2-3 วันแรกของชีวิต ทารกที่มีอาการหายใจลำบากรุนแรง หรือมีปัญหาของหัวใจหรือระบบไหลเวียนเลือด อาจเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในโพรงสมอง ซึ่งอุบัติการณ์จะสูงในทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1,500 กรัม ทารกที่เกิดภาวะนี้จะมีโอกาสเสี่ยงต่อความพิการระบบประสาทระยะยาวได้
- ปัญหาการติดเชื้อ ทารกเกิดก่อนกำหนดมีความบกพร่องของภูมิคุ้มกันด้านต่างๆ เกราะป้องกันตามธรรมชาติของร่างกาย ได้แก่ ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ ทั้งในทางเดินหายใจและทางเดินอาหารก็ไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นทางเข้าของเชื้อโรคที่สำคัญที่สุด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทารกได้รับเชื้อเข้าไปในร่างกายมากที่สุดคือการสัมผัสกับคนรอบข้าง เป็นธรรมดาของมนุษย์ทุกคนที่จะมีเชื้อสะสมตามมือและตามร่างกาย โดยไม่ได้ก่อเรื่องอะไร แต่เมื่อมาสัมผัสกับทารกโดยไม่ได้ล้างมือ ไม่ว่าจะโดยตรง หรือผ่านทางอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ โดยเฉพาะถ้าเกราะธรรมชาติของร่างกายมีช่องทางเข้าได้ง่าย เช่น ผิวหนังที่บางหลุดลอกเป็นแผล หรือบริเวณให้น้ำเกลือเข้าเส้นเลือดหรือที่สะดือของทารก เชื้อก็จะเข้าไปเพิ่มจำนวนแล้วก่อโรคได้
- ปัญหาการมองเห็น ทารกเกิดก่อนกำหนด มีการเจริญพัฒนาของเส้นเลือดที่จอประสาทตายังไม่เต็มที่ เมื่อมีปัญหาของระบบอื่น ๆ ข้างต้น โดยเฉพาะระบบหายใจ ทำให้ส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ด้วยการให้ออกซิเจนเพื่อรักษาชีวิตให้รอดการเปลี่ยนแปลงของระดับออกซิเจนในเลือดมีผลต่อการตึงตัวของเส้นเลือดที่จอประสาทตา โดยระดับออกซิเจนที่สูงขึ้นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว เกิดการขาดเลือดของจอประสาทตาบริเวณที่เส้นเลือดยังงอกไปไม่ถึง เส้นเลือดใหม่ที่งอกใหม่จะมีลักษณะที่ผิดปกติ และมีเยื่อพังผิดดึงรั้งทำให้จอประสาทตาหลุดลอกได้ ยิ่งน้ำหนักน้อยยิ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติทางการมองเห็นซึ่งความรุนแรงน้อยกว่า ได้แก่ สายตาสั้นหรือยาวผิดปกติ ตาเหล่หรือตาส่าย
พัฒนาการเด็กคลอดก่อนกำหนด
เมื่อทารกเหล่านี้รอดชีวิตจนกลับบ้านได้แล้ว สิ่งที่พ่อแม่มักเป็นกังวล ก็คือลูกจะมีพัฒนาการอย่างไร บางคนถามว่าลูกจะเรียนหนังสือได้หรือไม่ จะปัญญาอ่อนหรือเปล่า คงต้องตอบว่าทารกเกิดก่อนกำหนดเหล่านี้มีโอกาสเสี่ยงต่อความพิการทางระบบประสาทระยะยาวไม่มากก็น้อย ที่มักพบได้แก่ ภาวะสติปัญญาบกพร่อง สมองพิการ ชัก ความบกพร่องของทักษะการเรียนรู้โรคซนจากสมาธิสั้น เป็นต้น แต่พ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยที่เกิดก่อนกำหนดได้ไม่ยากค่ะ
อ้อมกอดของพ่อแม่ คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเกิดก่อนกำหนดควรพยายามทำตัวไม่ให้เครียดหรือเครียดกังวล ท่านที่ยังปรับตัวไม่ได้ หรือกลัวที่จะเข้ามาเยี่ยม ยิ่งทำให้ลูกขาดปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว สถานพยาบาลใหญ่ ๆ หลายแห่งยินดีให้คุณพ่อคุณแม่มาเยี่ยมลูกได้อย่างสม่ำเสมอ บางแห่งมีห้องให้คุณแม่นอนค้างคืนได้ เพื่อให้คุณแม่ได้เรียนรู้และฝึกการดูแลลูกด้วยตนเองแม้ขณะที่ลูกอยู่ในตู้อบ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสัมผัสลูกได้ด้วยการลูบไล้ลูกที่ลำตัวหรือแขนขา สัมผัสรักจากพ่อแม่จะเป็นการถ่ายทอดความรักความอบอุ่นให้ลูกรับรู้ได้ ช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางร่างกายและพฤติกรรมอารมณ์ระยะยาวได้ดีอีกด้วย
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ได้เรียนรู้ คือพฤติกรรมของลูก สังเกตและเข้าใจภาษากายของลูก ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกได้อย่างมีความสุขมากขึ้น กังวล เครียดน้อยลง หากลูกสามารถออกจากตู้อบได้ แพทย์และพยาบาลมักส่งเสริมให้คุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะคุณแม่ให้นั่งเก้าอี้โยกและอุ้มลูกไว้แนบอก ให้ผิวกายของลูกนอนแนบชิดกับผิวกายส่วนหน้าอกของคุณแม่ โดยตรงปราศจากเสื้อผ้าหรือสิ่งเกิดขวางอื่น ๆ ใส่เฉพาะหมวกกับผ้าอ้อมเท่านั้น แล้วห่มแล้วลูกพร้อมกับอกแม่ด้วยผ้าห่มที่หนาพอเหมาะหันศีรษะลูกไปด้านข้างเพื่อให้ใบหูแนบกับเสียงหัวใจแม่ อาจพูดคุยหรือร้องเพลงกล่อมลูกเบา ๆ วิธีนี้รู้จักกันดีในชื่อว่า Kangaroo Care ซึ่งไม่ว่าจะทำโดยคุณพ่อหรือคุณแม่ ทำให้ลูกน้อยอบอุ่น หลับได้นานขึ้น หายใจสม่ำเสมอ รับนมได้ดี น้ำหนักตัวเพิ่มเร็ว เป็นการกระตุ้นการเจริญเติบโต และพัฒนาการทางระบบประสาทและพฤติกรรมอารมณ์ของลูกได้ดียิ่ง นอกจากนี้ยังมีผลดีต่อคุณแม่ทำให้คลายกังวล น้ำนมไหลดีขึ้นอีกด้วย
หลับดีสุขภาพดี เวลาลูกอยู่ที่บ้านต้องระวังเรื่องอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม อากาศเย็นเกินไปก็ทำให้ลูกตัวเย็น อากาศร้อนหรือห่มผ้าหนาเกินไปก็ทำให้ลูกมีใช้ได้ ถ้าบ้านอยู่ในตัวเมืองหรือคอนโดมิเนียมติดเครื่องปรับอากาศ ควรตั้งอุณหภูมิไว้ระหว่าง 26-28 องศาเซลเซียส อาจให้ลูกใส่เสื้อผ้าเด็กแขนสั้นหรือแขนยาวที่เนื้อผ้าไม่ต้องหนามากใส่หมวก ถุงมือถุงเท้าขณะนอนหลับ แล้วห่มผ้าสำลีทับอีกหนึ่งชั้นก็พอ สำหรับบ้านที่ที่อยู่ในที่โล่ง เปิดหน้าต่าง ช่วงกลางคืนอากาศมักเย็นลงอีก ควรห่มผ้าให้ลูกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชั้น ต้องระวังไม่วางที่นอนลูกไว้ใกล้หน้าต่าง หรือพัดลมที่เป่าลมโดนตัวลูก
ลูกที่เกิดก่อนกำหนดจะมีพฤติกรรมการนอนที่ต่างจากทารกครบกำหนดบ้างในช่วง 1-2 เดือนแรก คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกว่า ในวันหนึ่ง ๆ ลูกจะใช้เวลากับการนอนค่อนข้างมากกว่าช่วงตื่น แต่ในขณะเดียวกันก็จะเห็นว่าการนอนแต่ละครั้งของลูกก็จะไม่นาน เช่นเดียวกัน เพราะไม่สามารถทนกับสิ่งเร้าต่อประสาทสัมผัสพร้อมกันหลาย ๆ ด้านที่มากเกินไปได้ แสงและเสียงรบกวนมีผลต่อการหลับของลูกค่อนข้างมาก การกอดลูกในอ้อมอก ลูบตัวเบา ๆ เปิดเสียงเพลงในจังหวะช้า ๆ และเบา ๆ น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยให้ลูกนอนหลับได้สนิท หากให้นอนบนเตียงอาจใช้ผ้าห่มผืนใหญ่ม้วนตามยาวโอบล้อมตัวลูก โดยให้แขนขาของลูกงอเข้ามาชิดลำตัวจะช่วยทำให้ลูกสงบและหลับได้ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกรับรู้การเปลี่ยนแปลงของกลางวันและกลางคืน โดยเปิดม่านให้แสงเข้าพอควร พูดคุยหรือร้องเพลงเบา ๆ กับลูก เท่าที่ลูกจะรับได้ในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนควรใช้ไฟสลัว ๆ พยายามจัดให้ลูกนอนในที่ที่มีเสียงรบกวนน้อยที่สุด อาจมีเสียงเพลงกล่อมได้เบา ๆ ต้องระวังเป็นพิเศษอย่าให้ลูกนอนบนหมอนหรือที่นอนที่นุ่มและยวบตัวง่าย เพราะจะเสี่ยงต่อการกดใบหน้าลูกขัดขวางการหายใจได้
ร้องกลั้นเป็นอาการที่พบบ่อยในลูกทารก โดยมีสามารถมาจากความรู้สึกโกรธ ซึ่งพ่อแม่ดูแลและรับมือเมื่อลูกร้องกลั้นได้ดังต่อไปนี้ค่ะ
สาเหตุลูกทารกร้องกลั้น และวิธีดูแลเมื่อลูกมีอาการร้องกลั้น
ภาวะลูกร้องกลั้น ร้องกลั้นคืออะไร
ภาวะลูกร้องกลั้นพบได้ 2-5% ของเด็ก เริ่มพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 5-6 เดือน แต่จะพบมากขึ้นช่วงอายุ 1-2 ปี หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ลดลง และภาวะนี้ไม่ได้เกิดอันตรายต่อสมองหรือทำให้เกิดพัฒนาการช้าแต่อย่างใด
ร้องกลั้นเกิดจากอะไร ทำไมทารกร้องกลั้น
ทารกร้องกลั้นสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่เด็กมีความโกรธ ตกใจ หรือถูกขัดใจ จึงร้องไห้อย่างรุนแรง ตามด้วยการกลั้นหายใจจนทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจ (Apnea) และขาดออกซิเจน (Hypoxia) อาจตามด้วยการหมดสติ หรือแขนขากระตุก ซึ่งเป็นเพียงชั่วครู่ แล้วเด็กจะกลับมาหายใจปกติ
ร้องกลั้นมี 2 ประเภท
- Cyanotic Spells เด็กจะมีอาการร้องไห้อย่างรุนแรง และหยุดหายใจในขณะหายใจออก ทำให้เกิดการขาดออกซิเจนและหน้าเขียว เหตุกระตุ้น เกิดจากการถูกขัดใจ หรือโมโห โกรธอย่างรุนแรง
- Pallid Spells เด็กมักร้องไห้ไม่รุนแรง ไม่มีภาวะเขียวหรือขาดออกซิเจน แต่อาจมีอาการหน้าซีด เหตุกระตุ้น เกิดจากความกลัวหรือตกใจ
การดูแลเมื่อลูกทารกร้องกลั้น
- ควรหลีกเลี่ยงวิธีบังคับหรือขัดใจและเปลี่ยนเป็นใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ โน้มน้าวหรือห้ามด้วยความนุ่มนวล และพ่อแม่ไม่ควรแสดงความตกใจเมื่อลูกแสดงอาการ
- ในขณะที่มีอาการพ่อแม่ควรอุ้มเด็กไว้ หรือให้นอนราบ เพื่อป้องกันการล้มศีรษะฟาดพื้น
อย่างไรก็ดี คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกเป็นภาวะร้องกลั้นหรือลมชัก เพราะถ้าร้องกลั้นมักจะเป็นไม่เกิน 1- 2 นาที และหลังจากนั้นจะรู้สึกตัวดี แต่ถ้าภาวะลมชัก มักจะเป็นนานกว่า 1 นาที และเด็กอาจไม่รู้สึกตัว

เด็กทารกเองก็เป็นรังแคได้ค่ะ เด็กบางคนเป็นมากๆ ก็อาจลามไปที่แก้ม ถึงจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพลูกน้อย แต่ก็เป็นปัญหาหนังศีรษะและสร้างความกังวลใจให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ได้เหมือนกัน
หัวลูกทารกเป็นรังแคต้องแก้ไขยังไง ทารกก็เป็นรังแคได้นะแม่
ทารกเป็นรังแคอาการไม่ต่างกับผู้ใหญ่
รังแค หรือที่คุณหมอเรียกว่าอาการของต่อมไขมันอักเสบ เกิดได้กับเด็กทารกตั้งแต่ 2 สัปดาห์ - 6 เดือน แต่เมื่อผ่านพ้น 6 เดือนไปแล้ว ก็จะไม่เป็นรังแคอีกเลย จนกระทั่งล่วงเลยเข้าสู่วัยเด็กโตหรือวัยรุ่นไปแล้ว
สาเหตุที่ทำให้หัวทารกเป็นรังแค
สาเหตุของรังแคในเด็กนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ที่ไปกระตุ้นต่อมไขมันของลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จึงส่งผลให้ต่อมไขมันทำงานมากกว่าปกติ และมาแสดงออกหลังคลอด
เมื่อไม่สามารถหาสาเหตุได้จึงยากต่อการป้องกัน แต่ก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะรังแคไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กมากนัก เพียงแต่พ่อแม่อาจจะห่วงเรื่องความสวยงามและกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูก
ลักษณะอาการทารกเป็นรังแค
- กลุ่มอาการไม่รุนแรง จะสังเกตเห็นหนังศีรษะของลูกมีสะเก็ดสีขาวออกเหลือง โดยเฉพาะบริเวณกระหม่อมส่วนหน้า ซึ่งมีต่อมไขมันอยู่มาก
- กลุ่มอาการรุนแรง นอกจากหนังศีรษะจะมีสะเก็ดขาวคลุมอยู่ทั่วบริเวณแล้ว ยังมีผื่นหรือเม็ดเล็กๆ ลามบริเวณใบหน้า แก้ม อาจมีอาการคันเล็กน้อย ซึ่งอาการคันไม่ได้เกิดจากรังแค แต่เกิดจากการที่ลูกเป็นผื่นและมีภาวะผิวแห้งร่วมด้วย แล้วพอลูกโดนผ้าห่อตัวหรือผ้าห่มเสียดสีก็จะทำให้เกิดผิวแห้งตึงมากกว่าปกติ จนเกิดอาการคันค่ะ
ทารกมีอาการคันมาก ๆ ก็อาจไม่ใช่รังแค
หากหนังศีรษะลูกมีสะเก็ดเหมือนรังแค แต่ลูกร้องงอแงมากกว่าปกติ ควรพาไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นโรคอื่นได้ เช่น เชื้อราบนหนังศีรษะ ผื่นแพ้ ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคมะเร็งบางชนิด
หัวทารกเป็นรังแคป้องกันไม่ได้ แต่ดูแลได้
ถ้าพบว่าลูกมีรังแคแต่ไม่มาก สามารถดูแลเองโดยใช้น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์หรือออยล์พอกทิ้งไว้ 15 นาทีก่อนสระผมให้ลูก แล้วจึงใช้แชมพูสำหรับเด็กที่มีความอ่อนโยนต่อผิว ทำเช่นนี้บ่อยๆ รังแคก็จะค่อยๆ หลุดออกไปเอง
ข้อห้ามทำเมื่อหัวทารกเป็นรังแค
- ห้ามใช้ยาสระผมสูตรขจัดรังแคหรือขจัดเชื้อราบนหนังศีรษะที่เป็นอันขาด เพราะรังแคในเด็กไม่ใช่โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ อีกทั้งแชมพูเหล่านั้นมีความแรงของตัวยาและส่วนผสมต่างๆ เข้มข้น หากนำมาสระผมลูกจะทำให้ลูกแสบร้อนบริเวณผิวได้ เนื่องจากผิวของเด็กบอบบางกว่าผู้ใหญ่มาก เพราะฉะนั้นแชมพูที่ดีที่สุดในการขจัดรังแคเล็กๆ น้อยๆ ก็คือแชมพูสำหรับเด็กทั่วไป
- ถ้าพ่อแม่ดูแลอย่างดีแล้วอาการลูกยังไม่ดีขึ้น ควรพาลูกไปพบแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปคุณหมอจะแนะนำให้พอกน้ำมันมะกอกหรือออยล์ร่วมกับการใช้แชมพูลอกสะเก็ดซึ่งไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ต่อลูก ในบางรายอาจได้รับยาทาซึ่งมีส่วนผสมของเสตียรอยด์อ่อนๆ ซึ่งก็เบาใจได้ว่ายาเหล่านั้นไม่มีอันตรายต่อลูกแน่นอน เนื่องจากคุณหมอจะเลือกใช้ให้เหมาะกับวัยของลูก อีกทั้งปริมาณที่แนะนำให้ใช้ก็ไม่มากด้วย